เปิดตัว Digital Post ID รหัสไปรษณีย์แบบดิจิทัล ส่งของไม่ต้องจ่าหน้า แปะ QR บอกพิกัดแทน

(1 ธ.ค. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ปณท ร่วมกันเปิด โครงการ Digital Post ID (ดิจิทัลโพสต์ไอดี) ที่จะบอกข้อมูลที่อยู่ได้แบบพิกัด GPS โดยผู้ส่งไม่ต้องเขียนจ่าหน้า แต่ใช้เป็นฉลาก QR Code แปะ ผลักดันไปรษณีย์ไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0พร้อมตั้งเป้าเปิดใช้งานจริงไตรมาส 2 ปี 2566 

Digital Post ID เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ระบบที่อยู่ดิจิทัล’ (Location based Digital ID) เป็นการปรับเปลี่ยนการระบุข้อมูลตำแหน่งที่อยู่เดิมให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ เชื่อมโยงข้อมูลผู้รับและผู้ส่งเข้ากับพิกัดที่อยู่ โดยต่อยอดมาจากการใช้รหัสไปรษณีย์ 5 หลัก ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานการส่งไปรษณีย์ที่ไทยใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 มาแปลงเป็นพิกัดที่ตั้งบนพื้นผิวโลกในประเทศไทย โดยมีหลักการทำงานเดียวกันกับระบบ GPS ซึ่งจะทำให้ระบุที่อยู่ได้แม่นยำกว่าเดิม 

“เดิมเลขไปรษณีย์ 5 หลักจะบอกได้ถึงเขตพื้นที่เท่านั้น แต่ Digital Post ID ระบุได้ถึงพิกัดตำแหน่งด้วยการปักหมุด บอกพิกัดแนวดิ่งได้ ทำให้ระบุที่อยู่สำหรับคนที่อยู่ในอาคารสูงได้แม่นยำ และที่น่าสนใจคือ เมื่อไม่ต้องจ่าหน้าเป็นตัวหนังสือ ก็จะทำให้ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้ ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย”

สำหรับวิธีการใช้งาน คือ ผู้รับจะต้องสมัครและกรอกข้อมูลรายละเอียดการจัดส่ง คือ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร พิกัด ของตัวเองลงในแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของไปรษณีย์ไทย (กำลังพัฒนาระบบ) จากนั้นก็ส่ง QR Code ให้ผู้ส่งนำไปพิมพ์ที่ที่ทำการไปรษณีย์ หลังจากนั้นไปรษณีย์จะพิมพ์ข้อมูลดิจิทัลโพสต์ไอดีออกมาเป็นฉลาก QR Code แล้วแปะบนกล่องพัสดุ หรือซองจดหมาย (โดยในอนาคตจะมีเครื่องพิมพ์ QR Code ในที่ทำการไปรษณีย์เพื่อรองรับระบบดิจิทัลโพสต์ไอดี) โดยผู้รับและผู้ส่งมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่หลุด เนื่องจากบนจ่าหน้ากล่อง/ซอง จะไม่ปรากฏข้อมูลส่วนบุคคล และต้องใช้แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์อ่าน QR Code เท่านั้น ถึงจะโชว์ข้อมูลผู้รับ-ผู้ส่ง

ไม่เพียงเท่านั้น QR Code จะเป็นแบบใช้งานได้ครั้งเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังมีการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ตามหลักการของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

นอกจากนี้ ในแง่ของการซื้อสินค้าออนไลน์ Digital Post IDจะช่วยทำให้มั่นใจในการสั่งซื้อสินค้า e-Commerce มากขึ้น เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้าทั้งหมดได้อย่างแม่นยำอีกด้วย 

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า Digital Post ID ไม่เพียงแค่สร้างประโยชน์ในภาคการขนส่ง หรือการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาคส่วนและกิจกรรมอื่นๆ ได้อีกหลากหลาย เช่น การพัฒนาเส้นทางขนส่ง / การรองรับระบบการขนส่งในอนาคตที่ไม่ใช้คนขับ (Unmanned Vehicle) / การป้องกันการปลอมแปลงตัวตน / การสนับสนุนสิ่งของช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ ในกรณีที่ทราบพื้นที่ประสบภัย / การสนับสนุนนโยบายด้านสุขภาพ อาทิ ช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน จัดเก็บข้อมูลผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมการแพทย์ทางไกลเพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล / การหาพิกัดสถานที่ท่องเที่ยว / การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร / การวางผังเมืองและบริหารทรัพยากรธรรมชาติ / การกำหนดเขตเลือกตั้ง ข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง / การเงินและการธนาคาร / การโฆษณาสินค้าให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจผลิตภัณฑ์หรือบริการเฉพาะทางเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดิจิทัลโพสต์ไอดีไม่ได้เข้ามาแทนที่ระบบการจ่าหน้าแบบเดิมที่ใช้อยู่ จะให้บริการควบคู่กันไป โดยไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าว่าจะเริ่มเปิดใช้งานในปี 2566 และภายในปี 2567 คาดว่าประชาชนจะมีรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดีของตนเองที่จำได้ง่ายมาแทนการเขียนจ่าหน้าแบบเดิมพร้อมกันทั่วประเทศ


ที่มา: https://www.prachachat.net/ict/news-1135586

https://workpointtoday.com/digital-post-id/