Thursday, 25 April 2024
QRCode

เปิดตัว Digital Post ID รหัสไปรษณีย์แบบดิจิทัล ส่งของไม่ต้องจ่าหน้า แปะ QR บอกพิกัดแทน

(1 ธ.ค. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ปณท ร่วมกันเปิด โครงการ Digital Post ID (ดิจิทัลโพสต์ไอดี) ที่จะบอกข้อมูลที่อยู่ได้แบบพิกัด GPS โดยผู้ส่งไม่ต้องเขียนจ่าหน้า แต่ใช้เป็นฉลาก QR Code แปะ ผลักดันไปรษณีย์ไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0พร้อมตั้งเป้าเปิดใช้งานจริงไตรมาส 2 ปี 2566 

Digital Post ID เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ระบบที่อยู่ดิจิทัล’ (Location based Digital ID) เป็นการปรับเปลี่ยนการระบุข้อมูลตำแหน่งที่อยู่เดิมให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ เชื่อมโยงข้อมูลผู้รับและผู้ส่งเข้ากับพิกัดที่อยู่ โดยต่อยอดมาจากการใช้รหัสไปรษณีย์ 5 หลัก ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานการส่งไปรษณีย์ที่ไทยใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 มาแปลงเป็นพิกัดที่ตั้งบนพื้นผิวโลกในประเทศไทย โดยมีหลักการทำงานเดียวกันกับระบบ GPS ซึ่งจะทำให้ระบุที่อยู่ได้แม่นยำกว่าเดิม 

“เดิมเลขไปรษณีย์ 5 หลักจะบอกได้ถึงเขตพื้นที่เท่านั้น แต่ Digital Post ID ระบุได้ถึงพิกัดตำแหน่งด้วยการปักหมุด บอกพิกัดแนวดิ่งได้ ทำให้ระบุที่อยู่สำหรับคนที่อยู่ในอาคารสูงได้แม่นยำ และที่น่าสนใจคือ เมื่อไม่ต้องจ่าหน้าเป็นตัวหนังสือ ก็จะทำให้ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้ ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย”

สำหรับวิธีการใช้งาน คือ ผู้รับจะต้องสมัครและกรอกข้อมูลรายละเอียดการจัดส่ง คือ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร พิกัด ของตัวเองลงในแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของไปรษณีย์ไทย (กำลังพัฒนาระบบ) จากนั้นก็ส่ง QR Code ให้ผู้ส่งนำไปพิมพ์ที่ที่ทำการไปรษณีย์ หลังจากนั้นไปรษณีย์จะพิมพ์ข้อมูลดิจิทัลโพสต์ไอดีออกมาเป็นฉลาก QR Code แล้วแปะบนกล่องพัสดุ หรือซองจดหมาย (โดยในอนาคตจะมีเครื่องพิมพ์ QR Code ในที่ทำการไปรษณีย์เพื่อรองรับระบบดิจิทัลโพสต์ไอดี) โดยผู้รับและผู้ส่งมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่หลุด เนื่องจากบนจ่าหน้ากล่อง/ซอง จะไม่ปรากฏข้อมูลส่วนบุคคล และต้องใช้แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์อ่าน QR Code เท่านั้น ถึงจะโชว์ข้อมูลผู้รับ-ผู้ส่ง

ไม่เพียงเท่านั้น QR Code จะเป็นแบบใช้งานได้ครั้งเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังมีการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ตามหลักการของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ใช้ QR Code หลอกดูดเงินผ่านไลน์ ‘ดีอีเอส’ เตือน ปชช. ระวังภัยออนไลน์ - รู้เท่าทันกลโกง

แก๊งคอลเซ็นเตอร์มามุกใหม่ ใช้ QR Code หลอกดูดเงินร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทำทีสั่งอาหาร และให้ร้านแสกนเพื่อรับเป็นเพื่อน แท้จริงคือ Scams วอนประชาชนตระหนัก รู้เท่าทันกลโกง และระวังก่อนสแกน

(18 มี.ค. 66) นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนในเรื่องการฉ้อโกงออนไลน์รูปแบบใหม่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยการใช้ QR Code หลอกดูดเงิน วิธีการคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ติดต่อร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชันไลน์ หลอกสั่งข้าวกล่องจำนวน 100 กล่อง เพื่อนำไปจัดเลี้ยงประชุม และโอนมัดจำมาก่อน 2,000 บาท วันต่อมา คนร้ายได้โทรศัพท์บอกให้ร้านอาหารสั่งชุดอาหารพิเศษเพิ่ม 7 ชุด และส่ง QR Code มาให้ร้านแอด และบอกว่าจ่ายเงินเพิ่มให้ภายหลัง โดยอ้างว่าเป็น QR Code แอดไลน์เท่านั้น แต่เมื่อแสกน QR Code พบว่า หน้าจอเหมือนถูกไวรัส เจ้าของโทรศัพท์จึงรีบเข้าแอปฯ ธนาคาร เพื่อโอนเงินส่วนใหญ่ออกไปบัญชีอื่นก่อน และโทรศัพท์ก็เริ่มค้าง ระบบรวนจึงรีบปิดเครื่อง

จากกรณีที่เกิดขึ้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชน จึงขอแจ้งเตือนว่า ในการใช้จ่ายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ร้านอาหารหลายแห่งเริ่มใช้ QR Code ในการชำระเงินแบบไร้เงินสด แต่เหรียญมีสองด้าน การใช้งานที่ค่อนข้างสะดวกของ QR Code ก็ต้องระวังและมีสติในการใช้งานด้วยเช่นกัน เพราะคนร้ายหรือมิจฉาชีพอาจจงใจใช้ QR Code พิมพ์ URL ซึ่งนำไปสู่เว็บไซต์หลอกลวง (Phishing) หลอกให้กรอกข้อมูลหรือบัญชีธนาคาร หรือหลอกให้โอนเงินไปบัญชีคนอื่นที่ไม่ใช่บัญชีของร้านค้าได้ ดังนั้นประชาชนต้องปกป้องตัวเอง และป้องกันภัยจาก QR Code หลอกลวง หรือ QR Code Scams ดังนี้

‘สาวเกาหลี’ เช็กอิน!! สังคมไร้เงินสดไทย ลองกินเที่ยว กทม.แบบไม่ขอพกเงินสด อึ้ง!! ‘ระบบสแกนจ่าย’ กระจายทั่ว สะดวกจนไม่ต้องแลกเงินใช้สักบาทเดียว

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 66 ช่องยูทูบ ‘TopMent Thailand’ ได้ออกมาเล่าเรื่องราวของยูทูบเบอร์สาวชาวเกาหลีใต้ ที่ได้มาเที่ยวเมืองไทย และรู้สึกประทับใจกับวิธีการชำระเงินของเมืองไทยเป็นอย่างมาก โดยได้ระบุว่า…

2-3 ปีมานี้การใช้จ่ายเงินด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) กำลังเป็นที่นิยมมากในประเทศไทย โดยทางรัฐบาลมีความพยายามที่จะทำให้สังคมไทยกลายเป็น ‘สังคมไร้เงินสด’ ... และไม่น่าเชื่อเลยว่า การสแกนคิวอาร์โค้ด ที่คนไทยจำนวนมากเริ่มใช้กันจนชินแล้วนั้น จะกลายเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์สำหรับชาวต่างชาติ จนถึงขนาดที่มีสาวชาวเกาหลีใต้รายหนึ่งตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะขอลองเที่ยวกรุงเทพฯ โดยไม่ใช้เงินสด และจะสแกนแต่คิวอาร์โค้ดเท่านั้น

‘TopMent Thailand’ ได้เล่าถึงคลิปวิดีโอต้นเรื่อง ซึ่งเป็นคลิปของ ‘คุณแองเจลิน่า ลี’ จากช่องยูทูบ @AngelinaleeTravel ที่ถูกเผยแพร่เอาไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา และจนถึงตอนนี้ก็ผู้คนจากทั่วโลกเข้ามารับชมคลิปวิดีโอของเธอไปมากกว่า 184,000 วิว

แองเจลิน่า ลี ได้เริ่มต้นคลิปของเธอในระหว่างที่เดินออกมาจากเครื่องบิน พร้อมกับบอกว่า...

"ตอนนี้มาถึงกรุงเทพฯ ผ่านไปเพียงแค่ 3 ปี กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปเร็วมาก" จากนั้นสิ่งแรกที่เธอต้องทำก็คือไปรับ 'ซิมการ์ด' ก่อน ซึ่งเธอยังบอกอีกด้วยว่า "ทุกวันนี้สะดวกมากเพราะสามารถดำเนินการซื้อล่วงหน้าได้ผ่านช่องทางออนไลน์"

หลังที่เธอได้รับซิมการ์ดแล้ว เธอก็เดินผ่านมาทางเคาน์เตอร์แลกเงิน ซึ่งที่จริงแล้ว เธอสามารถทำการแลกเงินที่นี่ได้เลย แต่สำหรับทริปนี้ เธอจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะเธอนั้นได้วางแผนมาล่วงหน้าแล้ว ว่าทริปเที่ยวกรุงเทพฯ ในครั้งนี้เธอจะไม่ใช้เงินสดเลยตลอดทั้งทริป

โดย แองเจลิน่า เผยว่า เธอได้ยินชื่อเสียงของระบบการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดที่กรุงเทพฯ ว่ามีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีแต่คนบอกว่าคุณสามารถชำระเงินได้โดยใช้ระบบคิวอาร์โค้ด แม้แต่ในร้านค้าที่เล็กมากๆ ก็ยังรับชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเลย ดังนั้น เธอจึงอยากลองใช้ชีวิตการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดดูบ้าง

หลังจากนั้น เธอก็ได้เดินทางไปที่พัก แล้วหาหลังจากเก็บสัมภาระเรียบร้อย ก็ออกไปหาอะไรกิน โดยเธอบอกว่าร้านที่เธอจะไปเป็นร้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในหมู่คนเกาหลี และอยู่ห่างจากโรงแรมที่เธอพักเพียงแค่ประมาณ 2 นาทีเท่านั้น

โดยในระหว่างทาง ขณะที่เธอกำลังเดินอยู่นั้น เธอก็ได้ชมเมืองไทยด้วยว่า "ข้อดีของเมืองไทยก็คือ คุณสามารถเดินออกมาหาของกินข้างนอกได้อย่างปลอดภัย แม้จะเป็นเวลากลางคืนแล้วก็ตาม"

แองเจลิน่าเดินมาถึงร้านดังกล่าว ชื่อ ‘ร้านโจ๊กโภชนา’ โดยเธอได้สั่งอาหารไปทั้งหมด 3 อย่าง ทั้งหมด ราคา 310 บาท ซึ่งเธอบอกว่า ร้านนี้ไม่รับบัตรเครดิต แต่สามารถจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ดได้ เธอจึงขอลองสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงินทันที ... เธอบอกว่าระบบสแกนคิวอาร์โค้ดนี้ใช้งานง่ายมากๆ เพียงแค่สแกน กดใส่ตัวเลข และกดตกลง จากนั้นก็นำหลักฐานการโอนไปโชว์ให้คนขายดูเพื่อเป็นการยืนยัน เพียงเท่านั้นก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้น เธอได้ไปเดินเล่นเพื่อเที่ยวถ่ายรูปที่ถนนข้าวสารต่อ และที่น่าทึ่งก็คือ บรรดาร้านขายของริมถนนที่เธอเห็น ก็ยังรับชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ด ทำเอาเธออดสงสัยไม่ได้ว่า การชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ดนั้น ได้รับความนิยมในระยะเวลาอันสั้นขนาดนี้ได้อย่างไร ที่สำคัญเธอยังรู้มาว่า การใช้จ่ายแบบนี้ ร้านค้าประเภทนี้ไม่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารอีกด้วย รับเงินแบบเต็มๆ ซึ่งเป็นอะไรที่ทำให้เธอรู้สึกว้าวมากๆ

หลังจากได้ทดลองใช้คิวอาร์โค้ดในการจ่ายเงินในหลายๆ ร้าน แองเจลิน่า ก็รู้สึกทึ่งกับนวัตกรรมการชำระเงินของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเธอบอกว่า...

"ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสดจริงๆ การที่ไม่ต้องพกเงินสดแบบนี้ มันทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นอย่างมาก และยังช่วยยกระดับการท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะเมื่อ 3 ปีก่อนที่มา ไทยยังไม่มีอะไรแบบนี้ และมันก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ด้วย เนื่องจากระบบการชำระเงินที่แสนสะดวกสบายนี้ ทำให้เราเพลิดเพลินและสนุกสนานไปกับการเดินทางได้ โดยไม่ต้องกังวลกับการหาสถานที่แลกเงินเลย"

ทั้งนี้ หลังจากที่คลิปของคุณแองเจลิน่าได้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีผู้คนเข้ามารับชม พร้อมแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก อาทิ...

- มันช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนเงินไปได้เยอะเลยนะ และมันก็ปลอดภัยกว่า อีกทั้งยังง่ายกับร้านค้าในการชำระเงินด้วย ตัวลูกค้าเองนั้นก็สะดวกสบาย เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด แถมยังป้องกันการเลี่ยงภาษีได้อีกด้วย ฉันหวังว่า สักวันหนึ่ง ประเทศของฉันจะทำแบบนี้บ้าง
- ฉันดีใจที่คุณชื่นชอบที่พักนั้น รวมถึงสระว่ายน้ำก็มีเอกลักษณ์และดูสวยงามมาก
- ดูเหมือนว่าที่นั่นจะสะดวกมากๆ เพราะสามารถใช้จ่ายเงินได้ โดยไม่ต้องใช้เงินสด
- การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแบบนั้นดูสะดวกสบายมาก และมันก็ดูน่าทึ่งมากๆ ที่ประเทศไทยสามารถสร้างสังคมไร้เงินสดด้วยระบบคิวอาร์โค้ดได้แบบนั้น
- กรุงเทพฯ และโลกของพวกเรากำลังเปลี่ยนไป พวกเราจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดกันอีกต่อไปแล้ว

***นอกจากนี้ ยังได้มีคนไทยเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า...

- ในประเทศไทย คุณสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายเงินได้ตามปกติเกือบทุกที่ แม้แต่ร้านค้าริมทาง ตลาดสด อาหารริมทางของชาวบ้านตามชนบท ตามจังหวัดก็ใช้ได้ทั้งหมด แต่ต้องเป็นเงินบาท โดยปัจจุบันคนต่างจังหวัด หรือคนชนบทก็รับการชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ด คุณแทบไม่จำเป็นต้องพกเงินสดอีกต่อไปในประเทศไทย เพราะแม้แต่คนแก่ หรือผู้เฒ่าในชนบทก็ยังสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อใช้จ่ายได้อย่างง่ายดาย สะดวกสบายมาก
- คุณสามารถชำระเงินด้วยรหัสคิวอาร์โค้ดได้เกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย แม้แต่ร้านอาหารข้างทาง ก็ยังมีรหัสคิวอาร์โค้ดให้คุณได้ใช้ชำระเงิน
- ใน เซเว่น อีเลฟเว่น ที่ประเทศไทย จะแตกต่างไปหน่อย เพราะเขามีระบบกระเป๋าเงินเป็นของตัวเอง คุณจึงไม่สามารถชำระเงินผ่านรหัสคิวอาร์โค้ดในเซเว่น อีเลฟเว่นได้ ต้องใช้บัตรเครดิตหรือเงินสดแทน
- มันช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนเงินไปได้เยอะเลยนะ และมันก็ปลอดภัยกว่า อีกทั้งยังง่ายกับร้านค้าในการชำระเงินด้วย ตัวลูกค้าเองนั้นก็สะดวกสบาย เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด แถมยังป้องกันการเลี่ยงภาษีได้อีกด้วย ฉันหวังว่า สักวันหนึ่ง ประเทศของฉันจะทำแบบนี้บ้าง
- ชาวต่างชาติที่ได้มาเที่ยวที่เมืองไทย จะไม่รู้สึกผิดหวังกับเมืองไทยของเราอย่างแน่นอน คุณจะได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะทำให้คุณประหลาดใจ ทั้งผู้คน ภาษาพูด ภาษากาย อาหาร และวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ... ตัวตนของเราชาวไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้ และนั่นก็ทำให้คุณหลงรักเมืองไทย จนต้องกลับมาเที่ยวที่เมืองไทยอีกแน่นอนมัน เพราะเอกลักษณ์นั้น คือ มิตรภาพ และรอยยิ้มอันบริสุทธิ์ที่เราทุกคนมี และมอบให้เพื่อต้อนรับแขกเสมอ

*** หลังจากนั้น ก็มีผู้ชมต่างชาติเข้ามาชื่นชมถึงความน่ารักของเมืองไทย กรุงเทพฯ รวมถึงคนไทย และอยากจะมาเที่ยวไทยในเร็ววัน ผ่านการรีวิวของ แองเจลิน่า และข้อคิดเห็นจากคนไทยผ่านในคลิปนี้อีกด้วย ว่า...

- ฉันสนุกไปกับวิดีโอของคุณมาก และฉันก็รู้สึกแบบนี้ทุกครั้งที่ได้มาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งดูเหมือนว่าที่นั่นจะมีเวทมนตร์สักอย่างที่ดึงดูดใจผู้คนได้มากมายขนาดนี้ และฉันก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ตกหลุมรักเมืองไทย ราวกับโดนเวทมนตร์สะกดเอาไว้ ทำให้ฉันได้อาศัยอยู่ที่นั่นนานถึง 15 ปี และทุกวันนี้ ฉันก็ยังคงเดินทางกลับไปท่องเที่ยวที่เมืองไทย เพื่อให้รู้สึกว่าได้เหมือนอยู่บ้านของตัวเอง ฉันเคยไปเที่ยวมาแล้วทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมืองไทยเป็นสถานที่โปรดของฉัน
- ไปเที่ยวที่เมืองไทยนั้นคุ้มค่ามาก และปลอดภัยมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ฉันจึงรู้สึกปลอดภัยมาก ไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนในเมืองไทยก็ตาม
- ฉันชอบกรุงเทพฯ ครั้งต่อไป ฉันต้องลองไปเที่ยวที่กรุงเทพฯ บ้างแล้ว
- คนไทยน่ารักมาก!!
- กรุงเทพฯ เป็นที่เที่ยวที่ฉันชอบมาก ซึ่งฉันได้จองทริปไปเที่ยวที่กรุงเทพฯ เอาไว้แล้วในเดือนมีนาคมปี 67 ดีใจมากที่เรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่และบรรยากาศของที่นั่นจากคลิปของคุณ แถมยังได้รู้วิธีการใช้เงินที่ฉันไม่เคยรู้มาก่อนอีกด้วย

‘หญิงจีน’ ช็อก!! เจอบิลค่าอาหารกว่า 2 ล้านบาท หลังโพสต์รูปติด ‘คิวอาร์โค้ด’ แล้วเจอชาวเน็ตแกล้งสั่ง

หญิงชาวจีนแชร์ประสบการณ์ถูกแจ้งบิลค่าอาหาร 430,000 หยวน หรือราวๆ 2.1 ล้านบาท หลังจากที่เธอเผลอโพสต์รูปที่มี ‘คิวอาร์โค้ด’ สั่งอาหารลงในสื่อออนไลน์ จนทำให้ชาวเน็ตจำนวนมากแกล้งใช้มันกดสั่งเมนูต่างๆ ในชื่อของเธอ

เมื่อไม่นานนี้ หญิงจีนสกุล ‘แซ่หวัง’ คนนี้เล่าว่า เธอตั้งใจโพสต์รูปอาหารที่เธอกับเพื่อนไปนั่งรับประทานด้วยกันที่ร้านหม้อไฟแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่ทันสังเกตว่ามีคิวอาร์โค้ดที่ถูกแปะอยู่ข้างๆ โต๊ะ สำหรับกดสั่งอาหารและชำระเงินติดอยู่ในรูปด้วย

แม้เธอจะโพสต์รูปลงใน ‘WeChat Moments’ ซึ่งถูกตั้งค่าให้มองเห็นได้เฉพาะเพื่อนเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีคนจำนวนมากเริ่มนำโค้ดไปใช้กดสั่งอาหาร

หวัง เพิ่งมารู้ตัวว่า ‘พลาด’ ไปแล้ว หลังพนักงานของร้านเดินมาขอคำยืนยันว่า “เธอต้องการสั่งอาหารมูลค่า 430,000 หยวนจริงหรือไม่?”

หวัง ตัดสินใจลบโพสต์ดังกล่าวทันที แต่ยังคงมีออเดอร์ถูกสั่งในนามโต๊ะของเธอไม่หยุด ซึ่ง หวัง เข้าใจว่าคงจะมีใครสักคนดาวน์โหลดภาพดังกล่าวไปแล้ว ก่อนที่เธอจะลบมันทิ้ง

จากภาพสกรีนช็อตที่ หวัง นำมาแชร์เป็นอุทาหรณ์ ออเดอร์ที่พวกชาวเน็ตตะลุยสั่งในนามของเธอประกอบด้วยเลือดเป็ดสด 1,850 ชิ้น, ปลาหมึก 2,850 จาน และกุ้งบดอีก 9,990 จาน ซึ่งแต่ละจานก็มีสนนราคาหลายสิบหยวน

โชคยังดีที่ทางร้านไม่ได้บังคับให้ หวัง ต้องจ่ายเงินตามออเดอร์เหล่านั้น โดยหลังจากที่ทราบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น พนักงานก็ได้ย้ายเธอกับเพื่อนไปนั่งโต๊ะใหม่ และมองข้ามออเดอร์ทั้งหมดที่ถูกสั่งเข้ามาเพิ่ม

หวัง ยอมรับว่านี่เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับเธอ พร้อมเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และใช้ความระมัดระวังมากขึ้นก่อนจะโพสต์ภาพหรือข้อมูลต่างๆ ลงในสื่อออนไลน์

‘หลิน เสี่ยวหมิง’ ทนายความจากบริษัทกฎหมาย ‘Sichuan Yishang Law Firm’ ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนว่า เนื่องจาก ‘ออเดอร์ปลอม’ ที่ถูกส่งเข้ามาไม่ได้เกิดจากเจตนาของ หวัง ดังนั้น จึงถือว่าเป็น ‘โมฆะ’ และร้านอาหารที่เผชิญปัญหาลักษณะนี้มีสิทธิ์ปฏิเสธออเดอร์ หรือแม้กระทั่งฟ้องเรียกเงินจากชาวเน็ตเหล่านั้น หากทำให้ทางร้านเกิดความเสียหาย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top