‘รุสลัน เจ๊ะมะ’ จากมหาบัณฑิต สู่ ‘เกษตรกร’ สายผสมผสาน แสวงสุขที่แท้จริง ตามรอยหลัก ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ 

อย่างที่เราทราบกันดี ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย 

ซึ่งแนวคิดนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นทางสายกลางที่เหมาะสมกับการยึดถือในการดำเนินชีวิต โดยมีหลักความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี ‘สติ ปัญญา และความเพียร’ ซึ่งจะนำไปสู่ ‘ความสุข’ ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

แน่นอนว่า พระองค์ไม่ได้พระราชทานปรัชญานี้สำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนชนชั้นใด ก็สามารถประยุกต์เอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตได้

เช่นเดียวกันกับ ‘รุสลัน เจ๊ะมะ’ อดีตเยาวชนสานใจไทยสู่ใจใต้ รุ่นที่ 1 ชาว อ.บันนังสตา จ.ยะลา ผู้มีความเชื่อมั่นต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้ว่าเขาจะจบการศึกษา มหาบัณฑิตด้านนิติศาสตร์อิสลาม จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย แต่เขาก็กลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งเป็น ‘บ้านเกิด’ เพื่อทำเกษตรผสมผสานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

“เคยมีคนถามเยอะเลยครับว่าเรียนจบสูง ทำไมไม่ทำในด้านที่จบมา ผมก็เลยบอกว่า บางคนถนัดไปเรียนด้านนี้ แต่กลับมาทำด้านอื่นได้ เพราะว่า ความรู้ที่ได้มา ก็เอามาทำในส่วนนี้ก็ได้เหมือนกัน”

หาก ‘รุสลัน’ เลือกที่จะทำงานตามสายที่จบมา เขาอาจจะได้มีโต๊ะนั่งทำงานที่สบายกว่านี้ แต่เขากลับเลือกที่จะเดินตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่เขาศรัทธาและเดินเข้าสวนเกษตรที่เป็นมรดกตกทอดจากพ่อของเขา 

“ผมจบนิติศาสตร์อิสลามที่ประเทศมาเลเซียครับ เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ส่วนตอนนี้ก็ทำสวน เป็นเกษตรกร ใช้เศรษฐกิจพอเพียง มีปลูกข้าวโพด ข่า ขมิ้น สัปปะรด และอีกหลายๆ อย่าง เป็นเกษตรผสมผสาน ทำมาประมาณ 2 ปีแล้วครับ”

การที่ ‘รุสลัน’ เลือกเส้นทางนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเขารู้ดีว่า อาชีพของชาวบันนังสตาคือการทำสวน ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าหรือมากกว่านั้น และเขารู้อยู่เต็มอกว่า อาชีพนี้ไม่ใช่อาชีพที่น่ารังเกียจ อีกทั้งเขายังเต็มใจและพร้อมที่จะใช้ความรู้ที่เรียนมา นำมาต่อยอดให้สวนเกษตรของเขา และสร้างความมั่นคงให้คนในครอบครัว

“อยากสืบทอดสวนเกษตรของพ่อครับ พ่อผมเป็นเกษตรกรมาก่อน แต่ใจจริงก็อยากทำงานด้านที่จบมานะครับ แต่ก็คืออยากสืบทอดมรดกนี้ อยากให้สวนที่บ้านมีต่อๆ ไป ก็เลยทำในจุดนี้ครับผม”

“ทำเกษตรก็คือเลี้ยงตัวได้เพราะว่ายังมีอย่างอื่นด้วย สวนยางพาราประมาณ 3-4 ไร่ ส่วนที่ทำเสริมก็เป็นพืชผักสวนครัว ภูมิใจครับผมได้อยู่ที่บ้าน ได้ช่วยงานที่เราชอบ เพราะเป็นคนชอบอิสระครับ ไม่ชอบโดนบังคับ”

นอกจากความปลื้มใจที่เขาได้อยู่ใกล้ชิดกับคนในครอบครัวแล้ว ‘รุสลัน’ ยังเล่าอีกว่า บันนังสตามีดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือผลไม้ที่ขึ้นชื่อ

“บันนังสตามีดีหลายอย่างครับ เด่นๆ ก็คือ บ้านสันติสุข เพราะเป็นที่ตั้งแคมป์ มีทั้งนักศึกษา นักเรียน ผู้ใหญ่ที่มาตั้งแคมป์ ส่วนอีกที่ก็คือเขื่อนบางลาง คนจะไปท่องเที่ยวล่องแพ นั่งเรือ และก็แคมป์ปิ้ง ก็อยากให้ผู้ใหญ่มาช่วยเกษตรกรอย่างเราครับผม”

“ในบันนังสตา ถ้าพูดถึงที่ขึ้นชื่อก็มี ทุเรียน เพราะว่าเป็นผลไม้ส่งออก แล้วก็มีมังคุด ลองกอง และอื่นๆ ครับ แต่ทุเรียนเป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้ของที่นี่”

นอกจากฉากหน้าที่เป็นเกษตรกรแล้ว ‘รุสลัน’ ยังทำหน้าที่คุณครูสอนอัลกุรอานด้วย ซึ่งสถานที่ที่ใช้สอนนั้น ก็สร้างจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อของเขา ซึ่งภารกิจนี้เป็นภารกิจของครอบครัวที่สืบทอดต่อกันมา และเป็นงานที่ไม่มีค่าตอบแทนเป็นเงินอีกด้วย

“ปัจจุบันก็สอนเด็กที่เรียนประถม-มัธยมระแวกบ้าน ประมาณ 50-60 คน จะสอนตั้งแต่ 18.00 น. - 20.30 น. ไม่คิดค่าเรียนค่าอะไรเลยครับ เป็นการแบ่งปันความรู้ที่เรียนมา การสอนนี้จะทำให้จิตใจเราสงบ สำหรับผมสอนมา 3 ปีกว่าแล้ว แต่ว่าที่นี่เปิดมา 20 กว่าปีแล้วครับ”

‘รุสลัน’ ตระหนักและรู้ดีกว่า ภารกิจหลักของเขานั้นเป็นเส้นทางอีกยาวไกล และถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่มีคนที่เข้าใจเขา อย่างน้อยๆ ก็คือครอบครัวของเขา และคนในชุมชนที่มองเห็น ‘คุณค่า’ และ ‘ศักยภาพ’ ของเขา

เรื่องราวของ ‘รุสลัน เจ๊ะมะ’ คงเป็นตัวอย่างที่พิสูนจ์แล้วว่า ‘ความสุขอยู่ที่ใจ’ เราเป็นผู้กำหนดความสุขให้ตัวเราเอง และหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็เป็นแนวทางที่จะนำพาไปสู่ความสุขได้ ไม่ว่าจะทั้ง ‘ทางกาย’ หรือ ‘ทางใจ’


ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=ixsldPOmUIg