‘รมว.เฮ้ง’ มอบ 10 นโยบายให้สปส. ดูแลผู้ประกันตน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต-สร้างหลักประกันที่มั่นคงยั่งยืน

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการให้กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม อำพล สิงหโกวินท์ ชั้น 6 อาคารอำนวยการ สำนักงานประกันสังคม

นายสุชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมทุกท่าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ทำงานหนัก ทุ่มเท เสียสละ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยมีเป้าหมาย สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ในทุกมิติ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และผมมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายด้านแรงงานต่าง ๆ การพัฒนาระบบประกันสังคมและสิทธิประโยชน์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย จนกระทั่งก้าวผ่านพ้นวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปได้ ซึ่งในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ตนได้มีโอกาสมาประชุมพร้อมตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ทุกภาคส่วนได้ใช้ความรู้ความสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติราชการแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม 
เพื่อขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับของลูกจ้าง ผู้ประกันตนและสังคมโดยรวมในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.) พัฒนาสิทธิประโยชน์ โดยแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยเพิ่มหลักการ 3 ขอ คือให้ผู้ประกันตนสามารถ 
(1) ‘ขอเลือก’ รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ 
(2) ‘ขอคืน’ ในกรณีเกิดเหตุการณ์อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของผู้ประกันตน ให้สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้
(3) ‘ขอกู้’ โดยการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้และมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ เพิ่มเงินสงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตรเป็น 98 วัน (เดิม 90 วัน) และเพิ่มเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพเป็นร้อยละ 70 (เดิม ร้อยละ 50)

2.) การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้ประกันตน โดยขอให้ศึกษาความเป็นไปได้และสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกันตน เพื่อกำหนดแนวทางในการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ

3.) จัดตั้งสถาบันการแพทย์เฉพาะทางสำหรับผู้ประกันตน รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ประกันตน สำหรับโรคเฉพาะทาง โดยไม่ต้องไปรอการรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ โดยใช้โมเดลเดียวกันกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

4.) การส่งเสริมสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ เพื่อให้การดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเข้าถึงได้โดยง่าย โดยให้คำแนะนำและคำปรึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง และป้องกันการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

5.) ขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานอิสระภาคสมัครใจ สร้างการรับรู้ให้ผู้ประกันตนให้ความสำคัญในการส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มช่องทางชำระเงินสมทบ

6.) จัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อผู้ประกันตนจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยราคาถูกได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ได้ฝากผู้ประกันตนให้เชื่อมั่นในรัฐบาล เชื่อมั่นสำนักงานประกันสังคมที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ผู้ประกันตนต่อไป

7.) การประชาสัมพันธ์ สิทธิประโยชน์ของการประกันสังคม ผลการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการรับบริการประกันสังคม รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อสำนักงานประกันสังคม

8.) การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาบริการ และระบบงานประกันสังคม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและอำนวยความสะดวก แก่นายจ้าง ผู้ประกันตน และผู้มีส่วน ได้ส่วนเสีย ให้ได้รับบริการที่ดี รวดเร็ว

9.) การบริหารการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทน ขอให้สำนักงานประกันสังคมเตรียมการและจัดทำแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ รัดกุม มุ่งสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงของกองทุนเป็นหลักสำคัญ

10.) การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้มีความทันสมัย (Modernizing SSO) มีความคล่องตัวโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และสร้างองค์กรที่เป็นสุข Happy Workplace ต้อง Balance ชีวิตให้สมดุล ทั้งการงาน ครอบครัวและสุขภาพ 

“ผมขอขอบคุณและให้กำลังใจในการทำงานของผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ที่ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการทำงานที่สำคัญยิ่ง พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนทุกกลุ่ม ลดความเลื่อมล้ำทางสังคม เป็นเสาหลักและเป็นที่พึ่งอันมั่นคงของลูกจ้างผู้ประกันตนอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุชาติ กล่าวท้ายสุด