โพสต์ผิดชีวิตเปลี่ยน โพสต์ด่าตัวย่อก็ติดคุกได้

เมื่อก่อนอาจจะได้ยินคำว่า ‘คิดก่อนพูด’ ซึ่งก็เป็นคำที่สามารถใช้ได้กับทุกยุค แต่ปัจจุบันควรเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘คิดก่อนโพสต์’ เพราะตราบใดที่เราโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ลงโซเชียล เราอาจเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เพียงเพราะการไม่คิดก่อน

วันนี้ทีมข่าว The States Times จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับ ข้อกฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท พูดและพิมพ์อย่างไรให้ปลอดภัย เพราะทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่พอดี 

ก่อนอื่นอยากชวนผู้อ่านทำความเข้าใจกฎหมายอาญาก่อน ว่าต้องทำแบบไหนถึงผิด โดยประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ใน มาตรา 326 โดยมีมาตรา 328 ซึ่งเป็นบทเพิ่มโทษบัญญัติไว้ว่า “มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ทว่าการที่เราจะแสดงความคิดเห็นที่อาจเป็นความผิดมาตรา 326 ได้นั้น จะต้องมีบุคคลที่สามมายืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งข้อความอาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ต้องชัดเจนให้บุคคลที่สามรู้ว่าคนถูกใส่ความคือใคร และต้องเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับและน่ารังเกียจ จนทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ดูถูกดูหมิ่น แต่หากเป็นกรณีที่ไม่ได้ตั้งใจกล่าวถึง หรือประมาทเลินเล่อ จะไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญา

ส่วนมาตรา 328 มีไว้เพื่อเอาผิดกับคนที่ทำให้ ข้อความหมิ่นประมาทเผยแพร่เป็นวงกว้าง โดยบัญญัติไว้ว่า “มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการ กระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

พูดง่ายๆ ก็คือ มาตรานี้กำหนดโทษหนักขึ้นเพื่อเอาผิดกับคนที่ทำให้ข้อความหมิ่นประมาทเผยแพร่ไปในวงกว้างนั่นเอง ยกตัวอย่าง เช่น กองทัพเรือฟ้องผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ ที่อ้างว่ากองกำลังทางเรือของไทย ได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา

เพียงแต่คดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า การที่จำเลยอ้างอิงข้อความมาจากรอยเตอร์ ไม่ได้เขียนเอง ไม่ถือว่าเข้าข่ายการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้งไม่ปรากฏว่าข้อความตามฟ้องที่จำเลยอ้างจากรอยเตอร์เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือเป็นข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง นอกจากนี้เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพราะมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 บัญญัติความผิดฐานนี้ไว้แล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง 

หรืออีกตัวอย่าง เช่น การนินทาคนอื่นลงในไลน์กลุ่ม ก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

แม้กระทั่งการโพสต์ด่าคนอื่นโดยระบุชื่อ-นามสกุล ลงรูป โดยมีลักษณะเป็นการเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชน หรือประชาชนทั่วไป ก็จะนับเป็นความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

การทวงถามหนี้ลูกหนี้ทางโซเชียล ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ตามมาตรา11 (3) ที่บัญญัติว่า ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะการแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ ซึ่งมีโทษตามมาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

แล้วถ้าเราพูดอ้อมๆ หรือพูดตัวย่อ หรือด่าแบบไม่ระบุตัวตนจะสามารถทำได้หรือเปล่าในโลกโซเชียล ก็ต้องบอกว่าในความเป็นจริงแล้วนั้น ข้อความลักษณะนี้นับเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาทด้วย เพียงแต่ต้องดูตามบริบทว่าสามารถระบุตัวตนผู้เสียหายได้ไหม หากระบุได้ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องร้องได้

เห็นหรือเปล่าว่าการโพสต์ การแสดงความคิดเห็นที่ไปละเมิดผู้อื่น มันเสียหายขนาดไหน หากโดนฟ้องก็เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ดังนั้นอยากฝากเตือนผู้ที่กำลังจะแสดงความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ ให้คิดก่อนสักพิมพ์สักเล็กน้อย เพราะถึงคุณจะลบโพสต์ไป แต่อย่าลืมว่าโทรศัพท์มันแคปหน้าจอได้นะจ๊ะ


ที่มา: ilaw / thestandard / กระทรวงยุติธรรม