รัฐประหารเงียบในพรรครัฐบาลอังกฤษ เมื่อ 'ลิซ ทรัสส์' กำลังจะโดนยึดอำนาจ

ดูเหมือนว่า รัฐบาลอังกฤษจะยังอยู่ในสภาพง่อนแง่น หาหลักยึดยังไม่ได้จริง ๆ เมื่อมีกระแสข่าวลือที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ภายในพรรคอนุรักษ์ แกนหลักของรัฐบาลอังกฤษว่า ลูกพรรคอนุรักษ์เริ่มจับกลุ่มกดดัน ลิซ ทรัสส์ หัวหน้าพรรคหญิงคนใหม่ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในแผ่นดินพระเจ้าชาลส์ที่ 3 จนถึงขั้นวางแผนยึดอำนาจของเธอ หากจำเป็น!!

สาเหตุเกิดจากความไม่ลงรอยกันในนโยบายของลิซ ทรัสส์ ที่เธอเคยสัญญาไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งภายในพรรค หนึ่งในนั้นคือนโยบาย "45p rate" หรือการลดอัตราภาษี 45% ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งนโยบายนี้ของเธอกลับถูกต่อต้านจากทีมรัฐบาลของเธอเองจนเสียงแตก ที่อาจขั้นจะโหวตคว่ำในสภาเลยทีเดียว 

ข่าวการแตกแยกของรัฐบาลลิซ ทรัสส์ ที่ยังไม่ทันได้เริ่มทำงานอะไรเลย ยิ่งชัดเจนขึ้นอีก หลังงานประชุมพรรคอนุรักษ์ที่เมืองเบอร์มิงแฮม เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ข่าววงในบอกว่าเสียงแตกหนักมาก จน ซูเอลลา เบรฟเวอแมน รัฐมนตรีมหาดไทยหญิง พันธมิตรคนสนิทของลิซ ทรัสส์ ถึงกับออกมาบ่นว่า เธอผิดหวังมาก ๆ ที่ทีมรัฐบาลบางคนมากลับลำกับนโยบายที่คุยกันไว้แล้ว และยังบอกด้วยว่า มีกลุ่ม สส.ของพรรคอนุรักษ์หลายคน วางแผนจะโค่น ลิซ ทรัสส์ ให้ได้

และยังบอกถึงลูกพรรคอนุรักษ์ ที่คิดจะก่อหวอดเพื่อล้มนโยบาย 45p rate นั้นไม่ต่างจากการก่อรัฐประหารเงียบภายในรัฐบาล ซึ่งนโยบายเจ้าปัญหาที่อาจกลายเป็นประเด็นรัฐนาวาแตก คือ 45p Rate หรืองดภาษี 45% สำหรับบุคคล หรือองค์กรที่มีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ต่อปี 

โดยปกติ อังกฤษจะมีอัตราภาษีระดับขั้นบันได โดยคำนวนจากรายได้ต่อปี ในอัตราเรทดังนี้...

- รายได้ต่ำกว่า 12,570 ปอนด์/ปี ไม่ต้องเสียภาษี
- รายได้ตั้งแต่ 12,571 - 50,270 ปอนด์ต่อปี จะเริ่มเก็บภาษีที่ 20%
- รายได้ตั้งแต่ 50,271 - 15,000 ปอนด์ต่อปี เก็บภาษีที่ 40%

แต่ถ้ามีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ต่อปี เมื่อไหร่ จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 45% ซึ่งเป็นเรทสูงสุด

สื่ออังกฤษได้ไปหาข้อมูลพบว่ามีชาวอังกฤษราวๆ 5 แสนคนทั่วประเทศที่มีรายได้เกิน 150,000 ปอนด์ต่อปี คิดเป็น 1% ของประชากรอังกฤษทั้งประเทศ

และหากรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจไม่เก็บภาษีเพิ่ม 45% จากรายได้ที่เกินมาของคนกลุ่มนี้ เท่ากับรัฐจะเสียรายได้จากภาษีถึง 6 พันล้านปอนด์ต่อปี และเมื่อรายได้หายไป หมายถึงต้องการลดรายจ่ายของภาครัฐลงด้วย ซึ่งก็คือแผนค่าใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการสังคมบางส่วนอาจต้องถูกตัดไป 

แต่ทั้งนี้ ลิซ ทรัสส์ มองว่า นโยบายการลดภาษี 45p Rate จะช่วยกระตุ้นการลงทุนของกลุ่มคนที่มีศักยภาพในสังคม ที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ และการแก้ปัญหาด้วยการแจก จ่าย ในรูปแบบสวัสดิการก็ไม่ใช่คำตอบเสมอไป ซ้ำยังเป็นเหมือนกับดักประชานิยม ที่ทำให้ผู้คนคาดหวังแต่สวัสดิการช่วยเหลือจากรัฐ

ซึ่งลิซ ทรัสส์ เคยบอกว่านโยบายนี้ อาจเป็นเหมือนยาขม และเป็นหนทางที่ยาก แต่อังกฤษต้องลองหาทางแก้ปัญหาที่ต่างไปจากเดิม ถ้าต้องการที่จะ "change" เธอเชื่อว่าสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน 

แต่ต่อมา นโยบายนี้ของเธอ ถูกโจมตีอย่างหนักจากพรรคฝ่ายค้าน ว่าเป็นการอุ้มคนรวยเพียงแค่ 1% ของประเทศ แต่กลับรีดเลือดกับปูจากประชาชนส่วนใหญ่อีก 99% ที่ยังต้องจ่ายภาษีในอัตราเกือบเท่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนเกือบจะรวย ในระดับฐานรายได้ 50,271 - 150,000 ปอนด์ คือโดนเต็มๆ 40% โดยไม่มีการลดหย่อน

กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยยังมองอีกว่า สวัสดิการสังคม ก็คือหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสในสังคมไม่ใช่เหรอ และปัญหาที่รัฐบาลอังกฤษควรเร่งแก้ คือ "เงินเฟ้อ" เพราะกลุ่มคนที่เจ็บหนักที่สุด คือกลุ่มคนที่จนที่สุด อยู่ระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดินที่สุดในฐานรายได้ประชากร ไม่ใช่คนกลุ่มที่อยู่ยอดบนสุดของปิรามิด 

ส่วนความเห็นของฟากรัฐบาลก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน แม้จะมองคนละมิติ ซึ่งคนที่จะต้องดูแลนโยบาย 45p Rate ของลิซ ทรัสส์ เต็มๆ คือ ควาซี กวาร์เต็ง รัฐมนตรีคลังผิวดำคนแรกของอังกฤษ ซึ่งลิซ ทรัสส์ เคยอ้างด้วยซ้ำว่านโยบายนี้เป็นไอเดียของ กวาร์เต็ง และเธอก็ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำตาม นโยบายนี้แน่นอน

แต่ ควาซี กวาร์เต็ง กลับพูดผ่านสื่ออังกฤษว่า เรื่องการแผนการลดภาษีของนโยบายชุดใหม่อาจต้องเลื่อนไปก่อน และยังแสดงความเห็นขัดแย้งกับนโยบายของลิซ ทรัสส์ อยู่หลายครั้ง

รวมถึงนโยบาย การปลดล็อคกฏระเบียบการให้โบนัสกับบุคลากรของธนาคาร และสถาบันการเงินหลัง Brexit ซึ่งตามกฏหมายของ EU ระบุว่าธนาคาร สามารถจ่ายโบนัสตอบแทนให้พนักงานของตนได้ไม่เกิน 200% ของเงินเดือน 

ซึ่งทั้ง ลิซ ทรัสส์ และ ควาซี กวาร์เต็ง เคยเสนอที่จะปลดล็อคมาตรการนี้เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินเข้ามาลงทุนในอังกฤษมากขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของภาคธุรกิจการเงิน การธนาคาร ที่จะนำไปสู่การสร้างงานเพิ่มขึ้นในอังกฤษ 

นโยบายนี้ก็โดนโจมตีเละเทะจนอาจต้องกลับลำเช่นกัน ในประเด็นที่ว่า ลิซ ทรัสส์ จะช่วยคนรวย ให้รวยยิ่งขึ้นไปทำไม โดยความเชื่อที่ว่า ถ้ารัฐสนับสนุนกลุ่มนายทุน แล้วจะมีเม็ดเงินกระจายเผื่อแผ่ลงมาสู่ประชาชนระดับรากหญ้านั้น จากหลายๆคดีฟอกเงินที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปหรอกเธอ

แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่าตอนนี้ อาจไม่ใช่เรื่องที่ว่าลิซ ทรัสส์ จะสามารถผลักดันนโยบายของเธอได้หรือไม่แล้วในตอนนี้ แต่เป็นการบริหารจัดการความแตกแยกภายในพรรคได้อย่างไร กลับกลุ่มที่ไม่เอาลิซ ที่มองว่าเธอทำคะแนนเสียงของพรรคเสียหาย และกลุ่มเสียง 1% ที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายของเธอ ไม่เพียงพอที่จะทำให้พรรคชนะเลือกตั้งในสมัยหน้าได้ 

จนล่าสุดมีโพลสำรวจความเห็นชาวอังกฤษเบื้องต้นแล้ว และมีแนวโน้มว่าพรรคแรงงาน ที่เป็นฝ่ายค้านอยู่ตอนนี้ มีโอกาสชนะเลือกตั้งได้ในระดับ "แลนด์สไลด์" ทีเดียว ถ้าคณะรัฐบาลพรรคอนุรักษ์ยังง่อนแง่นอยู่แบบนี้ 

อดีตรัฐมนตรีในพรรคอนุรักษ์ให้ความเห็นว่า นับจากวันนี้ ลิซ ทรัสส์ จะมีเวลาเหลืออีก 10 วัน ที่ต้องปรับปรุงนโยบายของเธอ และดึงทีมรัฐบาลของเธอกลับมาให้ได้ มิฉะนั้นแล้ว ตำแหน่งผู้นำพรรคอาจมี "การเปลี่ยนแปลง" อีกครั้งก็ได้ ก่อนคะแนนความนิยมของพรรคจะแย่ไปกว่านี้ 

แต่ "การเปลี่ยนแปลง" ที่ว่านี้มันจะมาในรูปแบบใด จะแค่เลื่อยขาเก้าอี้ หรือยึดทั้งเก้าอี้เลย ก็ต้องมาติดตามกันอย่างใกล้ชิดทีเดียว


ที่มา: หรรสาระ By Jeans Aroonrat
https://www.facebook.com/HunsaraByJeansAroonrat/posts/pfbid0abE4wvkTQey77FCBrCmbHbXy3Zt1i8mLLrpb72hVMTZnZAgPqWeEhDneXCXqeNmcl

อ้างอิง: https://www.ft.com/content/bf4582ad-b278-4591-b9d7-677fcb0893b2

https://www.theguardian.com/politics/2022/oct/02/tory-mps-threaten-rebellion-against-liz-truss-over-mini-budget

https://www.theguardian.com/politics/2022/oct/04/kwasi-kwarteng-fiscal-plan-date-thrown-into-confusion

https://www.dailymail.co.uk/news/article-11274465/45p-tax-rate-explained-Q-Kwasi-Kwarteng-scraps-plan-remove-45-rate-income-tax.html

https://www.lemonde.fr/en/economy/article/2022/09/24/london-removes-the-cap-
on-bankers-bonuses_5998072_19.html

https://www.bbc.com/news/uk-politics-62968072