7 ทศวรรษ ฤาสงครามกะเหรี่ยงอันยาวนาน จะจบในยุคของ 'นายพลเนอดา'

ฤาสงครามกองทัพกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมาที่รบกันมาอย่างยาวนาน จะจบลง!!

จุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่าในอดีต (เมียนมา) กับบรรดาชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 เมื่อสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (เมียนมา) ได้รับเอกราชจากอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร แต่โครงสร้างของรัฐบาลในพม่าขณะนั้นเองยังคงอ่อนแอ 

กระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ชาวกะเหรี่ยงจำนวนกว่า 400,000 คน ได้ประท้วงโดยสงบเพื่อแสดงความสามัคคี ในการจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยง 

สามเดือนหลังจากได้รับเอกราช พรรคคอมมิวนิสต์พม่า เริ่มก่อการกบฏจับอาวุธขึ้นต่อสู้ และกลุ่มกะเหรี่ยงที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนได้เริ่มการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช 

การเกิดขึ้นขององค์กรป้องกัน แห่งชาติกะเหรี่ยง เช่น กองทัพสหภาพกะเหรี่ยง (Karen National Union : KNU) ทำให้ความร่วมมือของชาวกะเหรี่ยงต่อรัฐบาลลดลง และความตึงเครียดเก่าๆ ระหว่างชาวกะเหรี่ยงและรัฐบาลเกิดขึ้นอีก 

การสู้รบระหว่างทหารกะเหรี่ยงและพม่าเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 รัฐบาลสันนิบาตเสรีภาพฯ พยายามเจรจากับกลุ่มกบฏ คอมมิวนิสต์ และเปิดทางให้กลุ่มคอมมิวนิสต์ เข้าร่วมในการเมืองระดับชาติ 

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2491 ได้มีการประชุมเพื่อหาทางแก้ไข ปัญหาที่กองทัพกะเหรี่ยงเติบโตขึ้น และหยุดการก่อกบฏของฝ่าย คอมมิวนิสต์ 

ในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ระหว่างกะเหรี่ยงและพม่า เพราะทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมากในพม่า แต่ละกลุ่มต่างมีกำลังทหารเป็นของตนเอง และพยายามเพิ่มพื้นที่ปกครองโดยใช้ความรุนแรง ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 กลุ่ม คือ...

กลุ่มฝ่ายขวาและนิยมตะวันตก ได้แก่ กองทัพกะเหรี่ยง องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง กองโจรสันติภาพ กะเหรี่ยง ตำรวจ และกองกำลังสหภาพส่วนใหญ่ 

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นฝ่ายซ้าย และต่อต้านประเทศอังกฤษ ได้แก่ รัฐบาลสันนิบาตเสรีภาพฯ ทหารพม่า บางส่วนในกองทัพ ซึ่งเป็นตำรวจที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านกองทัพกะเหรี่ยงและ ตำรวจที่นิยมฝ่ายขวา 

กระทั่งในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2491 เกิดความ รุนแรงขึ้นทั่วพม่า เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษบางส่วนที่อยู่ในพม่าตะวันออก สนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศพม่า ในขณะที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลทหารพม่า 

เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2492 ความขัดแย้งได้ดำเนินเรื่อยมา 

>> จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็นับ 74 ปีแล้ว 

จนกระทั่งเมื่อมีการรัฐประหารของนายพลมินอ่องหล่าย พม่าหรือเมียนมา ก็ยังใช้วิถีเช่นเดิม คือ การเจรจาหยุดยิง แม้ว่าทาง KNU จะปฏิเสธที่จะเข้าเจรจาสันติภาพตามคำเชิญของกองทัพเมียนมา และมีการสู้รบอย่างต่อเนื่องของกองทัพกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมา รวมถึงการเป็นฐานพักพิงและฝึกการต่อสู้ให้กับกลุ่ม PDF ที่เลือกจะจับอาวุธสู้กับกองทัพ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ค่ายกะเหรี่ยงที่เคยประกาศสนับสนุนร่วมต่อสู้กับกองทัพเมียนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็เริ่มจะหยุดต่อสู้และเลือกจะอยู่อย่างสงบ รวมถึงการเริ่มตัดความช่วยเหลือ 'นายพลเนอดา เมียะ' ที่ยังตัดสินใจต่อสู้อยู่ท่ามกลางมติของ KNU ว่าจะไม่รบกับกองทัพเมียนมาอีก จนมาสู่การถูกขับออกจาก KNU และ DKBA แล้วมาตั้งกองกำลัง Kaw Thu Lei ซึ่งในช่วงแรกก็ยังมีการผนวก PDF เข้าไปกับกลุ่มทหารกองกำลังส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพยัคฆ์ขาวหรือจงอางศึกที่ยังติดตามนายพลเนอดาร่วมรบ แต่สุดท้าย PDF ก็เริ่มแยกตัวออกจาก Kaw Thu Lei มาตั้งกองกำลังของตัวเองใกล้ๆ กับชายแดนแม่ฮ่องสอนซึ่งไว้เอย่าจะเล่าให้ฟังในตอนหน้า

ผลที่ตามมาเมื่อ PDF แยกตัวออกจากกองกำลัง Kaw Thu Lei ทำให้เงินสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ลดลง และปกติการรบระหว่างกะเหรี่ยงกับเมียนมาไม่ใช่สงครามที่ยืดเยื้อ เพราะทุกครั้งทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิงในช่วงฤดูมรสุม  

แต่ครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายเลือกที่จะไม่หยุด ทำให้ผลกระทบตกไปที่ประชากรชาวกะเหรี่ยงที่ลี้ภัยเข้ามาไม่จบไม่สิ้น  

จนถึงวันนี้เสียงระเบิดยังดังข้ามชายแดนจนเป็นที่เคยชินของคนที่แม่สอด 

แม้สงครามจะยังไม่จบ แต่หลายคนก็หวังว่าสงครามนี้จะจบเสียที เพราะสงครามการค้ายังไงก็ดีกว่าสงครามที่จับปืน

และเรื่องนี้คนที่รู้ดีที่สุดก็ไม่ใช่ใคร เขา คือ 'นายพล โบ เมียะ' ผู้เป็นบิดาของ 'นายพลเนอดา' ในปัจจุบันนั่นเอง


เรื่อง: AYA IRRAWADEE