“ตะคริว” ตอนกลางคืน…ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม

เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหาการเป็นตะคริวตอนกลางคืนขณะนอนหลับ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมากจนต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก ทั้งนี้อาการ “ตะคริว” ยังเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพในร่างกายอีกด้วย

อาการ “ตะคริว” ที่ขาช่วงเวลากลางคืน เป็นการหดเกร็งเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นฉับพลัน มักเกิดความเจ็บปวดมากอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนอาการจะทุเลาลง โดยมักจะเกิดกับกล้ามเนื้อด้านหลัง ต้นขา (Hamstrings) หรือ ด้านหลังน่อง (Calf) 

การเป็นตะคริวนี้อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ และอาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลายๆ มัดพร้อมกันก็ได้ พบได้บ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงหญิงตั้งครรภ์

❤️ สาเหตุการเกิดตะคริวตอนกลางคืน ❤️
1.) การนั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งประชุมทั้งวันและไม่ได้ขยับร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดตะคริวที่ขาขณะนอนหลับได้ 
2.) ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอย่างหนักที่ต้องใช้แรงขามาก เช่น การเล่นกีฬา หรือ ปีนเขา ทำให้กล้ามเนื้อขาทำงานหนัก เป็นปัจจัยนำไปสู่การหดเกร็งของกล้ามเนื้อขาและอาการตะคริวขณะนอนหลับ
3.) การนอนหลับในท่าเหยียดขาตรง ข้อเท้าและปลายเท้าชี้ลง ช่วยส่งเสริมให้กล้ามเนื้อน่องอยู่ในท่า      หดสั้น อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นตะคริวได้ง่าย
4.) อากาศเย็นหรือฤดูหนาวเป็นช่วงที่มีอาการตะคริวเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืนระหว่างนอนหลับอุณหภูมิในร่างกายจะลดต่ำลง ทำให้ปวดมากขึ้น 
5.) การทำงานผิดปกติของเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
6.) การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี 

❤️ ตะคริวตอนกลางคืน อาจเกี่ยวข้องกับภาวะต่างๆ ดังนี้ ❤️
- หญิงตั้งครรภ์อาจเป็นตะคริวได้บ่อย เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำหรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่กล้ามเนื้อขาไม่สะดวก
- ภาวะผิดปกติของต่อมไทรอยด์
- ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน
- โรคทางระบบประสาท เช่น โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) หรือ โรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Motor neuron disease)
- ความผิดปกติของการเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน (Peripheral vascular disease)
- โครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal stenosis)
- การใช้ยาเพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่ใช้ลดระดับคอเลสเตอรอล ยาขับปัสสาวะ และยาลดความดัน
- การดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
- ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียม ได้แก่ ท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมาก ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวรุนแรงได้
- ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ก็อาจเป็นตะคริวได้บ่อย
- กล้ามเนื้ออ่อนล้าหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง จากการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการทำงานหนัก จะทำให้เกิดตะคริวได้บ่อย
- การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ตึงจะเกิดตะคริวได้บ่อย
- ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือหลอดเลือดตีบตัน เช่น ผู้สูงอายุอาจเป็นตะคริวขณะที่เดินนานๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี

❤️ การรักษาและการบรรเทาอาการตะคริวตอนกลางคืน ❤️
1.) หยุดพักการใช้กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวทันที
2.) ยืดกล้ามเนื้อน่อง โดยเหยียดขาให้ตรงแล้วค่อยๆ กระดกข้อเท้าขึ้นให้ปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัวหรือหันหน้าเข้ากำแพง ยืนห่างจากกำแพงออกมาประมาณ 1 ก้าว แล้วก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหลัง พร้อมกับเอียงตัวไปข้างหน้า โดยวางส้นเท้าให้แบนราบไปกับพื้น ใช้มือดันกำแพงทั้ง 2 ข้าง จะรู้สึกตึงบริเวณน่อง ทำค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง โดยอาจประคบด้วยความร้อนบริเวณที่เป็นตะคริวเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

3.) สามารถรับประทานยาแก้ปวดหรือนวดด้วยยานวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อได้
4.) ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดน้ำของร่างกาย 
5.) หากมีการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย
6.) ไม่นั่งในท่าเดิมนานๆ หมั่นกระดกข้อเท้าขึ้นลงหรือขยับร่างกายบ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
7.) ไม่ใส่รองเท้าที่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป 
8.) รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม (โยเกิร์ต ชีส นมถั่วเหลือง) โพแทสเซียม (โกโก้ เมล็ดทานตะวัน กล้วย ผักโขม) และแมกนีเซียม (ถั่วลันเตา ผักโขม ข้าวโพด เมล็ดฟักทอง งา)
9.) นอนในท่าที่ผ่อนคลาย ยกปลายเท้าให้สูงเล็กน้อยโดยใช้หมอนรองและควรห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น

เนื่องจากอาการตะคริวตอนกลางคืนสามารถบ่งบอกถึงสัญญาณของโรคบางชนิดได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไตวาย รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดอาการตะคริวตอนกลางคืนบ่อยๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรดูแลตัวเองในเบื้องต้น ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- Chloé Delacour. (2021). Association between physical activity and Nocturnal Leg Cramps. Scientific Reports.
- Richard J Coppin. (2005). Managing nocturnal leg cramps — calf-stretching exercises and cessation of quinine treatment: a factorial randomized controlled trial. British Journal of General Practice. P.186–191.
- นพ.พรชัย อนิวรรตธีระ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- นพ.โชติวุฒิ ตันศิริสิทธิกุล โรงพยาบาลสมิติเวช


👍 ติดตามผลงาน กภ.คณิต คล้ายแจ้ง เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/กภ.คณิต%20คล้ายแจ้ง