Friday, 17 May 2024
ตะคริว

“ตะคริว” ตอนกลางคืน…ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม

เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหาการเป็นตะคริวตอนกลางคืนขณะนอนหลับ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมากจนต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก ทั้งนี้อาการ “ตะคริว” ยังเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพในร่างกายอีกด้วย

อาการ “ตะคริว” ที่ขาช่วงเวลากลางคืน เป็นการหดเกร็งเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นฉับพลัน มักเกิดความเจ็บปวดมากอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนอาการจะทุเลาลง โดยมักจะเกิดกับกล้ามเนื้อด้านหลัง ต้นขา (Hamstrings) หรือ ด้านหลังน่อง (Calf) 

การเป็นตะคริวนี้อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ และอาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลายๆ มัดพร้อมกันก็ได้ พบได้บ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงหญิงตั้งครรภ์

❤️ สาเหตุการเกิดตะคริวตอนกลางคืน ❤️
1.) การนั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งประชุมทั้งวันและไม่ได้ขยับร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดตะคริวที่ขาขณะนอนหลับได้ 
2.) ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอย่างหนักที่ต้องใช้แรงขามาก เช่น การเล่นกีฬา หรือ ปีนเขา ทำให้กล้ามเนื้อขาทำงานหนัก เป็นปัจจัยนำไปสู่การหดเกร็งของกล้ามเนื้อขาและอาการตะคริวขณะนอนหลับ
3.) การนอนหลับในท่าเหยียดขาตรง ข้อเท้าและปลายเท้าชี้ลง ช่วยส่งเสริมให้กล้ามเนื้อน่องอยู่ในท่า      หดสั้น อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นตะคริวได้ง่าย
4.) อากาศเย็นหรือฤดูหนาวเป็นช่วงที่มีอาการตะคริวเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืนระหว่างนอนหลับอุณหภูมิในร่างกายจะลดต่ำลง ทำให้ปวดมากขึ้น 
5.) การทำงานผิดปกติของเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
6.) การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี 

❤️ ตะคริวตอนกลางคืน อาจเกี่ยวข้องกับภาวะต่างๆ ดังนี้ ❤️
- หญิงตั้งครรภ์อาจเป็นตะคริวได้บ่อย เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำหรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่กล้ามเนื้อขาไม่สะดวก
- ภาวะผิดปกติของต่อมไทรอยด์
- ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน
- โรคทางระบบประสาท เช่น โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) หรือ โรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Motor neuron disease)
- ความผิดปกติของการเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน (Peripheral vascular disease)
- โครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal stenosis)
- การใช้ยาเพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่ใช้ลดระดับคอเลสเตอรอล ยาขับปัสสาวะ และยาลดความดัน
- การดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
- ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียม ได้แก่ ท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมาก ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวรุนแรงได้
- ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ก็อาจเป็นตะคริวได้บ่อย
- กล้ามเนื้ออ่อนล้าหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง จากการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการทำงานหนัก จะทำให้เกิดตะคริวได้บ่อย
- การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ตึงจะเกิดตะคริวได้บ่อย
- ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือหลอดเลือดตีบตัน เช่น ผู้สูงอายุอาจเป็นตะคริวขณะที่เดินนานๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี

❤️ การรักษาและการบรรเทาอาการตะคริวตอนกลางคืน ❤️
1.) หยุดพักการใช้กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวทันที
2.) ยืดกล้ามเนื้อน่อง โดยเหยียดขาให้ตรงแล้วค่อยๆ กระดกข้อเท้าขึ้นให้ปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัวหรือหันหน้าเข้ากำแพง ยืนห่างจากกำแพงออกมาประมาณ 1 ก้าว แล้วก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหลัง พร้อมกับเอียงตัวไปข้างหน้า โดยวางส้นเท้าให้แบนราบไปกับพื้น ใช้มือดันกำแพงทั้ง 2 ข้าง จะรู้สึกตึงบริเวณน่อง ทำค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง โดยอาจประคบด้วยความร้อนบริเวณที่เป็นตะคริวเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top