ความหน้าด้านของตะวันตก เมื่อ 'ผู้นำอังกฤษ' กดดัน 'อินเดีย' ต้านรัสเซีย แต่เมื่อถูกทวงคำขอโทษสังหารหมู่ 'จลิยานวาลาบาค' กลับเพิกเฉย

'ครูแพท-พัฒนพงศ์ แสงธรรม' อาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ความหน้าด้านของตะวันตก ท้้งเยอรมนี, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา เป็นสิ่งที่มนุษยชาติจะได้จดจำไปตลอดกาล เป็นการยืนยันความเห็นแก่ตัวและกักขฬะที่ไม่ได้ต่างจากสัตว์ที่ชัดเจนที่สุดในประวัติศาสตร์

อินเดียซึ่งนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียและเป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก งดออกเสียงในการลงคะแนนเสียงของสหประชาชาติที่ประณามรัสเซียสำหรับการบุกรุกยูเครน และไม่ได้ร่วมมือกับชาติตะวันตกในการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งแม้ว่าอินเดียจะใกล้ชิดกับตะวันตกมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากรัสเซีย ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีนและปากีสถาน

บอริส จอห์ฺนสัน ไปเยือนอินเดีย เพื่อพูดคุยเรื่องการให้อินเดียงดซื้อพลังงานจากรัสเซีย และคว่ำบาตรรัสเซีย หลังจากที่สหรัฐฯ ได้พยายามมาแล้ว และยังกดดันอินเดียตลอดมา

อินเดียจึงทวงคำขอโทษจากอังกฤษสำหรับเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่จลิยานวาลาบาคเมื่อกว่า 100 ปีก่อนอีกครั้ง เพราะตลอดมาอังกฤษเพิกเฉย

Zee News เว็บไซต์ข่าวของอินเดียรายงานในเดือนนี้ว่า ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จลิยานวาลาบาค ในปี 1919 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน อินเดียยังไม่เคยได้รับคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากอังกฤษ และยังคงเป็นบาดแผลบนความสัมพันธ์ของอินเดียและอังกฤษจวบจนทุกวันนี้ แม้ว่าจะผ่านมานานกว่า 103 ปีแต่เหตุการณ์นี้ยังคงเป็น "วันที่มืดมนที่สุด" ในหน้าประวัติศาสตร์ของอินเดีย

เหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 1919 ที่สวนสาธารณะจลิยานวาลาบาค ในเมืองอมฤตสระ รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย เมื่อนายพลเรจินัลด์ ไดเยอร์ สั่งการให้กองกำลังทหารของกองทัพบริติชอินเดียเปิดฉากกราดยิงเข้าใส่พลเมืองชาวอินเดียผู้ปราศจากอาวุธ

โดยในวันนั้นชาวอินเดียหลายพันคนรวมตัวกันที่สวนสาธารณะจลิยานวาลาบาค เพราะหลายคนไม่พอใจกับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมโดยจักรวรรดิอังกฤษ และการจับกุมผู้นำท้องถิ่น 2 คน ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงเมื่อ 3 วันก่อน แม้นายพลไดเยอร์ได้ออกประกาศห้ามประชาชนรวมกลุ่มชุมนุม แต่ประกาศนี้ไม่ได้ถูกเผยแพร่ไปอย่างทั่วถึงจึงมีชาวบ้านจำนวนมากรวมตัวกันที่สวนสาธารณะแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่มาที่นี่เนื่องในวันเวสาขี เทศกาลสำคัญของชาวฮินดูและซิกข์ ส่งผลให้ขณะนั้นมีผู้คนอยู่ที่นั่นราว 20,000 คน ตามรายงานของ Aljazeera

นายพลไดเยอร์ไปถึงที่นั่นพร้อมกับทหารหลายสิบนายพร้อมปิดกั้นทางออก และสั่งการให้ยิงปราบปรามประชาชนมือเปล่าโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของประชาชนที่พยายามหนีตาย บ้างก็ปีนกำแพง บ้างก็กระโดดลงบ่อน้ำ


ที่มา: Pat Sangtum
https://www.posttoday.com/world/681141