ความภาคภูมิใจของคนไทย!! เปิดเส้นทางฐานผลิตแบตฯ ใหญ่สุดในอาเซียน ใต้แนวคิดปั้น ‘ศก.-พลังงาน’ แห่งอนาคตจาก EA

“หากวันนี้ประเทศไทย มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าโรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ถึง 1.4 เท่า ด้วยเงินลงทุนที่ถูกกว่า จะทำให้สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้ในราคาที่ถูกกว่า และส่งให้ไทยสามารถเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในการส่งออกแบตเตอรี่ไปต่างประเทศได้ในอนาคต” 

นี่คือความมุ่งมั่นจาก ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA (Energy Absolute) ธุรกิจไทยผู้บุกเบิกและพัฒนาการนำ ‘พลังงานสะอาด’ หรือ ‘พลังงานทดแทน’ มาใช้ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า 

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความมั่นใจหรือแค่คำพูด แต่เป็นภารกิจของ EA ในการพาประเทศไทยเข้าสู่โอกาสใหม่แห่งอนาคต ภายใต้ Gigafactory โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ทันสมัย ซึ่งมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน!!

12-12-2021 หรือวันที่ 12 เดือน 12 ปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งวันที่ประเทศไทยต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อ EA ประกาศตอบสนอง New S-Curve ของประเทศไทย ด้วยการเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ทันสมัย มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ ‘อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)’ ซึ่งจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ (Bluetech City) กิจการของ EA ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

CEO แห่ง EA อย่าง สมโภชน์ ยอมรับว่า การที่เขาเลือกตั้งโรงงานแห่งนี้ เพราะเขามองเห็นว่า แม้ทิศทางของโลกจะหันหาเข้าสู่การใช้พลังงานทดแทน แต่พลังงานทดแทนที่ต้องผลิตให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ชีวิตคน ก็ยังไม่เสถียร

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ EA ภายใต้ สมโภชน์ เบนเข็มเข้าโฟกัสโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เพื่อตอบโจทย์การใช้พลังงานที่มีความเสถียร 

แน่นอนว่า ในปัจจุบันเริ่มมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และราคาต้นทุนก็ถูกลงเรื่อยๆ เรียกว่าถูกจนกระทั่งสามารถผลิตออกมาได้ถูกกว่าการใช้น้ำมัน การใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งถ่านหินเสียอีก แต่ปัญหามันติดอยู่ที่ว่า พลังงานทดแทน เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เวลาไม่มีแดด โซล่าร์เซลล์ ก็ไม่ผลิตกระแสไฟฟ้า หรือแม้แต่เวลาไม่มีลม กังหันลม ก็ไม่ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

“มนุษย์เรา ต้องการไฟฟ้าในเวลาที่เราต้องการ เมื่อกลับถึงบ้าน รู้สึกร้อน ใครๆ ก็อยากเปิดแอร์ เวลากลางคืน ทุกคนก็อยากมีไฟฟ้าใช้ แบตเตอรี่ก็จะทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้าเวลาที่เราไม่ได้ใช้ และจะจ่ายกระแสไฟฟ้าออกมาเวลาที่เราต้องการ ถ้าเราสามารถทำขั้นตอนนี้ได้ถูกลง นั่นคือ เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งถ่านหินอีกเลย และแบตเตอรี่ คือ คำตอบของเรื่องนี้

“ถึงกระนั้น บางคนบอกอาจจะมองว่า แบตเตอรี่ ราคายังแพงอยู่ ไว้เดี๋ยวเวลาพลังงานชนิดนี้ถูก ค่อยไปผลิตเอามาใช้ก็ได้ รอก่อน แต่ผมมองว่าความคิดแบบนี้ทำให้เราเป็นผู้ตามเรื่อยไป และประเทศไทย ถ้ายังคิดแบบนี้ เราก็ยังต้องเป็นผู้ซื้อตลอดไป

“ยิ่งไปกว่านั้น หากเราต้องการจะหลุดพ้นจาก Middle Income Trap มันก็มีแค่ทางเลือกเดียว คือ การพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเราเองขึ้นมาให้ได้ เราต้องมีแรงของตัวเอง เพื่อเพิ่ม Value added หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ เพื่อให้ประชาชน พี่น้องชาวไทย มีรายได้ที่ดีขึ้น ทำให้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศหายไปได้”

จากจุดนี้เอง ที่ทำให้ นิคมฯ บลูเทคซิตี้ ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ได้เข้ามามีบทบาทที่จะช่วยพลิกโฉมประเทศไทยสู่โลกใบใหม่ทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสในการเป็นผู้นำแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานและเทคโนโลยีอันทันสมัย ตอบโจทย์ไทยแลนด์ยุค 4.0 อย่างต่อเนื่อง โดย Gigafactory โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ทันสมัย มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จึงกลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยสร้างระบบนิเวศด้านพลังงานทดแทนอย่างสมบูรณ์ ไปพร้อมๆ กับการเดินหน้าเศรษฐกิจไทยในรูปแบบใหม่

สำหรับการเปิด Gigafactory หรือโรงงานการผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) บริษัทย่อยในกลุ่มของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 12-12-2021 ที่ผ่านมานั้น ได้รับความร่วมมือจากบริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไต้หวันมากว่า 20 ปี มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเทคโนโลยีในการสร้างโรงงาน 

โดยโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกนี้จะมีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งในระยะแรกมีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในทันที และในอนาคตเตรียมแผนขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยในการผลิตขนาด 1 จิกะวัตต์ หรือ 1,000,000 กิโลวัตต์ สามารถนำมาใช้ในรถโดยสารไฟฟ้าขนาด 11 เมตร ซึ่งขับเคลื่อนได้ระยะทางสูงสุด 240 กิโลเมตร ได้ถึง 4,160 คันต่อปี และการใช้รถโดยสารไฟฟ้า 4,160 คัน สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 91,709 ตันต่อปี และลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้ 97,066,667 ลิตรต่อปี เมื่อเทียบกับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล”

ทั้งนี้พื้นที่การผลิตภายในโรงงานรวมกว่า 80,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่เขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีอาณาบริเวณกว่า 90 ไร่ เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell (แบตเตอรี่แบบถุง) ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และวัสดุที่มีความปลอดภัยสูงในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ให้สามารถจุพลังงานได้สูง มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย เช่น กรดหรือตะกั่ว และใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์ เพื่อให้สามารถคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่ายในขั้นตอนของการรีไซเคิลเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงทำให้เป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เห็นภาพโรงงานผลิตแบตฯ ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนแห่งนี้กำเนิดขึ้นแล้ว!! พอจะทำให้เกิดคำถามในหัวขึ้นมาเล่นๆ ว่า…

ทำไมคนไทยจะเป็นผู้ชนะในเวทีเศรษฐกิจโลกกับเขาบ้างไม่ได้?


👍 อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับ Art Of Energy เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/tag/artofenergy