สธ. เผยผู้ติด 'โอมิครอน' อาการน้อยถึงไม่มี ส่วน 90% ของเชื้ออยู่หลอดลมมากกว่าลงปอด

ที่กระทรวงสาธารณสุข สธ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงฉากทัศน์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย และอัปเดตสถานการณ์เชื้อโอมิครอน ว่า... 

ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. - 18 ธ.ค. 64 เป็นต้นมา สะสม 514 รายที่เป็นต้นเชื้อ กระจายใน 14 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากระบบเข้าประเทศทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบไม่กักตัว (Test and go), ระบบแซนด์บอกซ์ (Sand box) และระบบกักตัว (Quarantine) แล้วเราตรวจจับได้หลังจากนั้นคนเหล่านี้จะกลับไปพื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุม แต่บางส่วนเล็ดลอดออกไป พบเป็นการสัมผัสใกล้ชิดผู้เดินทางจากต่างประเทศประมาณ 20% เช่น ไปเยี่ยมญาติ ก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ จึงต้องระมัดระวังให้มาก

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาการโอมิครอน ของผู้ติดเชื้อมีดังนี้... 

>> อาการน้อยจนถึงไม่มีอาการ 90% 
>> มีอาการเล็กน้อย 10% 
>> อาการมาก 3-4% 

ขณะที่ โอมิครอนพบที่หลอดลมมากกว่าลงปอด 

ดังนั้นอาการที่พบได้มากคือ ‘ไอ’ แต่หากลงปอดก็จะมีความรุนแรงเช่นเดียวกับเดลตา 

ส่วนการศึกษาจากผู้ติดเชื้อโอมิครอน 41 รายที่เราทำการรักษาอยู่ พบว่า อาการไอ 54%, เจ็บคอ 37%, ไข้ 29%, ปวดกล้ามเนื้อ 15%, มีน้ำมูก 12%, ปวดศีรษะ 10% หายใจลำบาก 5% และไม่ได้กลิ่น 2%

ทั้งนี้เราพบอาการไม่ได้กลิ่นน้อย พบเพียง 1 ราย โดยเราให้ยาที่มีอยู่คือ ฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 5 วันตามมาตรฐาน เราจึงพบว่า หากให้ยาตั้งแต่ต้น อาการจะดีขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมง อาการฟื้นกลับมาเป็นปกติได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีเสนอฉากทัศน์พยากรณ์ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดของโอมิครอนใน 3 รูปแบบ…

โดยรูปแบบที่ 1 ระดับรุนแรงที่สุด พบการระบาดของเชื้อโควิด-19 และฉีดวัคซีนใกล้เคียงช่วงเดือนธ.ค. ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย ไม่มีการป้องกัน ขณะทำกิจกรรมรวมคน สถานประกอบการ จัดกิจกรรมไม่สามารถปฏิบัติตาม VUCA ได้ ทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ยากโดยใช้เวลา 3-4 เดือนกว่าจะควบคุมโรคได้ ซึ่งจะมีการติดเชื้อรายวันถึง 3 หมื่นราย และมีผู้เสียชีวิต 170-180 รายต่อวัน 

รูปแบบที่ 2 ระดับปานกลาง โอกาสติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ฉีดวัคซีนใกล้เคียงช่วงเดือนธ.ค. ขณะที่ทุกภาคส่วนยังคงปฏิบัติตามมาตรการ VUCA อย่างเคร่งครัด ก็อาจจะพบผู้ติดเชื้อประมาณ 1.5 - 1.6 หมื่นรายต่อวัน และใน 1-2 เดือนตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ค่อยทรงตัว และจะลดลงมาตามลำดับ โดยมีผู้เสียชีวิต 100 รายนิดๆ ต่อวัน 

และรูปแบบที่ 3 ระดับดีที่สุด ผลจากโอกาสติดเชื้อเพิ่มปานกลาง ฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้นทุกกลุ่ม ลดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก และปฏิบัติ VUCA อย่างเคร่งครัด ตัวเลขสูงสุดจะอยู่ที่ 1.3 หมื่นราย หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อจะทรงตัว และลดลง ส่วนผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 60 - 70 และจะลดลงในที่สุด

ข้อมูลของการเสียชีวิตเป็นไปตามพื้นฐานของการติดเชื้อที่มีการกระจายได้สูง แต่มีความรุนแรงที่ต่ำ เพราะฉะนั้นอัตราการเสียชีวิตอาจจะไม่สูงมากนัก

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลในประเทศอังกฤษที่ได้มีการศึกษาความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอน ลดลงเมื่อเทียบกับเดลตา โดยสายพันธุ์เดลตาโอกาสเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมี 50% และนอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 61% ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ที่ 20-25% และนอนโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป 40-50%

ส่วนการศึกษาในแอฟริกาใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. - 30 พ.ย. 64 พบว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีร้อยละเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ความรุนแรงไม่แตกต่างกัน เนื่องจากเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่แถวหลอดลม มากกว่าลงปอด แต่ถ้าลงสู่ปอดก็จะเกิดอาการรุนแรงพอๆ กันกับเดลตา


ที่มา: https://www.thaipost.net/covid-19-news/53741/