Tuesday, 1 July 2025
WORLD

‘คามิกาวะ โยโกะ’ รมว.กต.ญี่ปุ่นคนใหม่ เตรียมเยือนไทย 12-13 ต.ค.นี้ จ่อหารือด้านความร่วมมือ-แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างประเทศทุกมิติ

(6 ต.ค. 66) ‘กระทรวงการต่างประเทศ’ ประกาศการเยือนไทยของ ‘นางคามิกาวะ โยโกะ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นว่า นางโยโกะมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 12-13 ตุลาคมนี้

โดยในโอกาสนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและกรอบพหุภาคี และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน

การเยือนครั้งนี้ นับเป็นการเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น หลังจากเข้ารับตำแหน่งใหม่

‘ยูเครน’ เละ!! หลังเปิดฉากทำสงครามกับ ‘รัสเซีย’ โครงสร้างพื้นฐานเสียหายกว่า 1.51 แสนล้านดอลลาร์ฯ

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 66 สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์-ยูเครน อ้างอิงผลการศึกษาล่าสุดจากสถาบันเคียฟ สคูล ออฟ อีโคนิมิกส์ (Kyiv School of Economics) เผยว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งกำลังดำเนินอยู่ได้สร้างความเสียหายทางตรงต่อโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน คิดเป็นมูลค่า 1.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.59 ล้านล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2023

การศึกษาพบว่าภาคส่วนที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความขัดแย้งครั้งนี้ โดยมีบ้านส่วนบุคคล อาคารอะพาร์ตเมนต์ และหอพักประมาณ 167,200 หลังถูกทำลายหรือเสียหายจากสงคราม

นับตั้งแต่เริ่มมีการเผชิญหน้า สนามบินและสนามบินพลเรือน 18 แห่ง รวมถึงสะพานและสะพานลอย 344 แห่งในยูเครนได้รับความเสียหาย ขณะกลุ่มสถานประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลางอย่างน้อย 426 แห่งได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

‘โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ’ ปล่อยน้ำบำบัดชุดที่ 2 ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกวันนี้ ยัน!! น้ำที่ปล่อยอยู่ในระดับปลอดภัย วอน ตปท.เลิกแบนปลาทะเลญี่ปุ่น

(5 ต.ค. 66) ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ’ ของญี่ปุ่น ทำการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกรอบ 2 ในวันนี้

โดย ‘เทปโก’ บริษัทซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะระ คาดว่าจะมีการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วในรอบ 2 นี้ราว 7,800 ตัน จากปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัดทั้งหมด 1.34 ล้านตัน นับตั้งแต่สึนามิพัดถล่มญี่ปุ่นในปี 2011 หลังจากที่ได้ปล่อยน้ำผ่านการบำบัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งสร้างกระแสต่อต้านอย่างหนักในประเทศเพื่อนบ้าน

เทปโกยืนยันว่า น้ำเสียดังกล่าวผ่านการกรองสารประกอบกัมมันตภาพรังสีทั้งหมดออกแล้ว เหลือเพียงทริเทรียม ซึ่งเป็นไอโซโทปที่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย

‘ฮิโรคาสุ มัตสึโนะ’ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการยืนยันแล้วว่าการปล่อยน้ำในครั้งแรกเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ และเกิดขึ้นอย่างปลอดภัย โดยไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ

มัตสึโนะยืนยันว่า รัฐบาลจะยังคงให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสต่อไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมกับเรียกร้องให้จีนยกเลิกการห้ามการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นทันที และดำเนินการต่างๆ บนพื้นฐานเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

สุดช็อก!! เหตุกลั่นแกล้งในโรงเรียนที่ ‘ญี่ปุ่น’ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เผย ปี 2022 พบเด็กขาดเรียน-ถูกแกล้ง-ใช้ความรุนแรงกว่า 6 แสนเคส

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, โตเกียว รายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น รายงานว่ากรณีกลั่นแกล้งอันเป็นที่รับรู้ในโรงเรียนของญี่ปุ่น พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 680,000 กรณีในปีการศึกษา 2022

ผลสำรวจจากกระทรวงฯ พบว่ากรณีกลั่นแกล้งอันเป็นที่รับรู้ในโรงเรียนประถม มัธยมต้น และมัธยมปลายของญี่ปุ่นในปีการศึกษา 2022 ซึ่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม รวมอยู่ที่ 681,948 กรณี เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษาก่อนหน้ามากกว่า 60,000 กรณี และเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 10

กรณีกลั่นแกล้งอันเป็นที่รับรู้ในโรงเรียนของญี่ปุ่นในปีการศึกษา 2022 แบ่งเป็นโรงเรียนประถม 551,944 กรณี โรงเรียนมัธยมต้น 111,404 กรณี โรงเรียนมัธยมปลาย 15,568 กรณี และโรงเรียนการศึกษาพิเศษ 3,032 กรณี

ทั้งนี้ มีกรณีกลั่นแกล้งอันเป็นที่รับรู้ในโรงเรียนของญี่ปุ่นที่ถูกพิจารณาเป็นกรณี ‘ร้ายแรง’ เนื่องด้วยเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งฆ่าตัวตายหรือไม่มาเรียนทั้งหมด 923 กรณี

ผลสำรวจยังพบโรงเรียนในญี่ปุ่น 29,842 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.1 เผยว่ามีการรับรู้ถึงกรณีกลั่นแกล้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีการศึกษาก่อนหน้า ขณะจำนวนพฤติกรรมใช้ความรุนแรงและการไม่เข้าเรียนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ด้วย

สำหรับปีการศึกษา 2022 ญี่ปุ่นมีเด็กขาดเรียนเป็นเวลา 30 วันขึ้นไป เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 10 อยู่ที่ 299,048 คน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้นกว่า 54,000 คน หรือร้อยละ 22 จากปีการศึกษาก่อนหน้า

‘3 นักวิทย์’ ผู้ค้นพบ ‘ควอนตัมดอท’ วัสดุแห่งอนาคต ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2023

เมื่อวานนี้ (4 ต.ค. 66) Royal Swedish Academy of Sciences ได้ตัดสินให้รางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2023 ตกเป็นของ Moungi G. Bawendi, Louis E. Brus และ Alexei I. Ekimov จากผลงาน ‘การค้นพบและการสังเคราะห์ควอนตัมดอท’

ควอนตัมดอท (Quantum dots) เป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตร (10^-9 m) ซึ่งมีคุณสมบัติที่น่าทึ่งและน่าสนใจมากมาย โดยขนาดที่แตกต่างกันจะเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของพวกมัน ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ ควอนตัมดอทจะมีสีที่แตกต่างกันขึ้นกับขนาดของตัวมันเอง

ควอนตัมดอทมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันมีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย เช่น เทคโนโลยีการแสดงผล (display technology) ทั้งในคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ การพิมพ์ภาพทางชีวภาพ (bioimaging) เพื่อระบุตำแหน่งและติดตามเซลล์รวมถึงสารชีวโมเลกุลภายในร่างกาย เซ็นเซอร์ทางชีวภาพ (biological sensors) ตัวนำสารเคมีเพื่อไปรักษาเฉพาะจุด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ควอนตัมดอทเป็นแหล่งกำเนิดโฟตอนเดี่ยวสำหรับการทดลองทางควอนตัม ฯลฯ

ความสำเร็จของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีทั้ง 3 ท่านในครั้งนี้ นับเป็นแรงกระเพื่อมที่สำคัญให้เกิดการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมดอท โดยนักวิจัยต่างเชื่อว่าวัสดุแห่งอนาคตชนิดนี้จะนำประโยชน์มหาศาลมาสู่มวลมนุษยชาติอย่างแน่นอน

‘บังกลาเทศ’ เจอ ‘ไข้เลือดออก’ เชื้อเด็งกีระบาดหนัก คร่าชีวิตไปกว่า 1,000 ศพ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

(5 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของบังกลาเทศเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจำนวน 11 รายเมื่อวานนี้ ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตตั้งแต่ต้นปีนี้อยู่ที่ 1,017 ราย ขณะที่มีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นอีก 2,564 ราย

จำนวนผู้เสียชีวิตในปีนี้สูงกว่าเกือบ 4 เท่าของปีที่แล้ว ซึ่งมีจำนวน 281 ราย และทำให้ปีนี้เป็นปีที่บังกลาเทศได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากไข้เลือดออกนับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดในปี 2543

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบังกลาเทศ กล่าวว่า การระบาดระลอกล่าสุดเล่นงานพวกเขาโดยไม่ทันตั้งตัว มีสาเหตุจากเชื้อเด็งกีสายพันธุ์ที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งหมอหลายคนระบุว่า อาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกในช่วงไม่นานมานี้ทรุดลงเร็วกว่าเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา โดยทั้ง 64 เขตทั่วประเทศตรวจพบผู้ติดเชื้อเด็งกีครบทั้งหมดแล้ว

ขณะเดียวกันผู้ป่วยจำนวนมากกำลังล้นทะลักโรงพยาบาล เช่น ในกรุงธากามีผู้ติดเชื้อเด็งกีหลายร้อยคนกำลังรอรับการรักษา ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนสารละลายสำหรับให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งสำคัญมากต่อการรักษาผู้ป่วยเด็งกีที่มักเกิดอาการขาดน้ำ

‘ปากีสถาน’ ไล่ตะเพิด ‘ชาวอัฟกัน’ ลี้ภัยผิดกฎหมาย 1.7 ล้านคน เหตุไม่พอใจกลุ่มติดอาวุธ จี้!! ออกนอกประเทศภายใน 1 พ.ย.นี้

รัฐบาลปากีสถานประกาศเส้นตายให้ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่เข้ามาอยู่ในประเทศปากีสถานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งคาดว่ามีมากถึงราว 1.7 ล้านคนนั้น ให้ออกจากประเทศไปในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากปากีสถานมีความไม่พอใจที่กลุ่มติดอาวุธเข้ามาก่อเหตุโจมตีรุนแรงตามแนวชายแดนปากีสถานติดกับอัฟกานิสถานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปากีสถานโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลทาลิบัน ผู้ปกครองอัฟกานิสถานปฏิเสธ

นายซาร์ฟราซ บักติ รัฐมนตรีมหาดไทยของปากีสถาน ประกาศมาตรการข้างต้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมว่า ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานราว 1.7 ล้านคน ที่อยู่ในปากีสถานอย่างผิดกฎหมาย จะมีเวลาถึงวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ในการเดินทางออกนอกประเทศไปโดยสมัครใจหรือไม่จะถูกเนรเทศออกไป แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปอย่างไร

นอกจากนี้ เขายังประกาศตั้งคณะทำงานที่มุ่งพิสูจน์และยึดธุรกิจและทรัพย์สินของชาวอัฟกานิสถานที่ลี้ภัยอยู่ในปากีสถานอย่างผิดกฎหมาย พร้อมประกาศว่าจะดำเนินมาตรการเข้มงวดมากขึ้นกับชาวอัฟกานิสถานที่จะเดินทางเข้ามาในปากีสถาน ที่จะต้องเป็นนักเดินทางที่มีวีซ่าและหนังสือเดินทางเท่านั้นถึงได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้

ในการประกาศมาตรการกวาดล้างผู้อพยพลี้ภัยในประเทศอย่างผิดกฎหมาย รัฐมนตรีมหาดไทยของปากีสถาน ไม่ได้กล่าวถึงเหตุโจมตีรุนแรงที่เกิดขึ้นในปากีสถานโดยตรง ที่สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลและนำมาสู่การดำเนินการในครั้งนี้ เพียงแต่กล่าวมามีเหตุระเบิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้นตามแนวชายแดนปากีสถานแล้วถึง 24 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเขากล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการจากอัฟกานิสถาน

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งเกิดเหตุระเบิดโจมตีมัสยิดในเมืองมัสตัง ในจังหวัดบาโลชิสถานของปากีสถาน ติดชายแดนอัฟกานิสถาน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ราย โดยจังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มักเกิดเหตุโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม รวมถึง กลุ่มเตห์รีค-อี ตาลีบัน ปากีสถาน (ทีทีพี) หรือ กลุ่มทาลิบันปากีสถาน และกองกำลังรัฐอิสลามหรือไอเอส (บีบีซี)

‘จีน’ เปิดประสบการณ์ดูหนังแบบใหม่ เปลี่ยนป๊อปคอร์นเป็น ‘ชาบู’ กินไป ดูไป อร่อยแบบฟินๆ สะเทือนวงการโรงหนัง คนสนใจเพียบ!!

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 66 เกิดกระแสไวรัลที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ในประเทศจีน หลังเว็บ Weibo ได้เผยภาพโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในจีน ซึ่งสิ่งที่พีค คือ บริเวณโซนที่นั่งที่โซฟาแต่ละจุด จะมีโต๊ะและเซตหม้อไฟชาบู รวมไปถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ตั้งอยู่ตรงหน้า โดยมีการระบุข้อความว่า “คุณสามารถกินชาบูในโรงหนังที่ประเทศจีนได้แล้ว”

อย่างไรก็ดี โดยปกติในโรงหนัง เราจะกินป๊อปคอร์นกับน้ำดื่มเวลาดูหนัง แต่ครั้งนี้เล่นเสิร์ฟชาบูให้ได้อิ่มท้องระหว่างดูหนัง ส่งให้งานนี้คอหนัง – สายกินทั้งหลายถูกใจ พากันแชร์ภาพโรงหนัง ที่เปิดให้ลูกค้า ‘ดูหนังไป กินชาบูไป’ ได้ด้วย พร้อมอยากเปิดประสบการณ์ใหม่นี้กันล้นหลาม

‘อดีตเจ้าหน้าที่ FBI’ เผย หัวใจหลักในการเอาชีวิตรอดจากเหตุกราดยิง ยกเคสการถอดบทเรียนจากเหตุกราดยิงในโรงเรียน Sandy Hook ที่สหรัฐฯ

จากกรณีเหตุสะเทือนขวัญที่มีคนร้ายเป็น ด.ช.วัย 14 ปี ลักลอบนำอาวุธปืน บุกเข้าก่อเหตุกราดยิงกลางห้างสยามพารากอน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด ทางเฟซบุ๊กเพจ ‘ดร.โญ มีเรื่องเล่า’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความแนะนำวิธีการเอาชีวิตรอดจากเหตุกราดยิง โดยระบุว่า…

หนี-ซ่อน-สู้ : วิธีเอาชีวิตรอดจากเหตุกราดยิง โดยอดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ FBI

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตการเหตุกราดยิงที่สยามพารากอนด้วยครับ เหตุกราดยิงในบ้านเราเริ่มจะมีมากขึ้น เพราะคนบ้าสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายขึ้น ในภาพยนตร์ต่างประเทศเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ถูกพักงานหรือถูกปลดหรือถูกไล่ออก สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้จะต้องทำคือ ส่งมอบตรา บัตรประจำตัว และอาวุธปืนประจำตัว

ในปี ค.ศ. 2023 จนถึงขณะนี้ (11 พฤษภาคม ค.ศ. 2023) มีเหตุกราดยิงมากกว่า 200 ครั้ง ในสหรัฐอเมริกา

ตามรายงานของ ‘Gun Violence Archive’ องค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้ให้นิยามเหตุการณ์กราดยิงครั้งใหญ่ว่า เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บอย่างน้อย 4 คนขึ้นไป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุกราดยิงเหล่านี้เกิดขึ้นในโบสถ์ คลีนิกหรือโรงพยาบาล โรงเรียนประถมศึกษา และสถานที่จัดกิจกรรมกลางแจ้ง

ศ. Alex del Carmen รองคณบดี และศาสตราจารย์ด้านอาชญวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ Tarleton มลรัฐ Texas กล่าวว่า การรู้วิธีโต้ตอบในการกราดยิงเป็นสิ่งจำเป็นในขณะนี้

“ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลังประสบกับสิ่งนี้ในชีวิตของพวกเขา” ศ. Alex del Carmen บอกกับ NPR (National Public Radio) ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “ตอนนี้เราเกือบจะมีหน้าที่ต้องสอนเด็ก ๆ และสมาชิกในครอบครัวว่าควรทำอย่างไรในสถานการณ์เหล่านี้”

ศ. Alex del Carmen บอกกับลูก ๆ ของเขาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ว่า : มีแผนฉุกเฉินเสมอ คำแนะนำทั่วไปได้แก่ : 
- การหลบหนี
- การหลบซ่อน
- การสู้กลับ

จากบทความรำลึกถึงเหยื่อเหตุกราดยิงในโรงเรียน Sandy Hook ครบ 10 ปี Katherine Schweit อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษของ FBI ผู้เขียนเรื่อง ‘Stop the Killing : How to End the Mass Shooting Crisis’ (หยุดการฆ่า : จะยุติวิกฤตการณ์กราดยิงได้อย่างไร) ได้ออกแบบโครงการเผชิญเหตุกราดยิงของหน่วยงานนี้ หลังเหตุกราดยิงที่เหตุกราดยิงในโรงเรียน Sandy Hook ในปี ค.ศ. 2012

“การเตรียมตัวเป็นสิ่งที่ดี” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit บอกกับ NPR “แต่อย่ากลัวจนคิดมากไปว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ดิฉันคิดว่า ถ้าคุณย้อนกลับไปดูว่าอาจจะเป็นการซ้อมดับเพลิงในโรงเรียน เราก็ได้ทำให้การฝึกซ้อมหนีไฟเป็นมาตรฐานแล้ว และเราไม่คิดว่าทุกครั้งที่มีการซ้อมดับเพลิงหรือคำเตือนพายุทอร์นาโดว่า เรากำลังจะถูกไฟครอกตายหรือเสียชีวิตในพายุทอร์นาโด”

อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit กล่าวว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกเมื่อเกิดเหตุกราดยิง สำหรับพลเรือนที่ต้องทำคือ ‘การหลบหนีเสมอ’

แน่นอนว่า การตอบสนองต่อเหตุกราดยิงของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน เช่นเดียวกับเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นใน Uvalde มลรัฐ Texas ที่นั่น มือปืนใช้เวลามากกว่าหนึ่งชั่วโมงในโรงเรียนประถม Robb ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรออยู่ด้านนอก วิธีตอบสนองของเจ้าหน้าที่จะแตกต่างกันเสมอ ตราบเท่าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติตามวิธีการฝึกอบรมที่แตกต่างกันไป (มาตรฐานแห่งชาติที่แนะนำนั้นมีอยู่จริง แต่ก็ยังเป็นเพียงข้อเสนอแนะ)

อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit เสริมว่า สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่า เหตุกราดยิงในที่สาธารณะประเภทนี้คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของการบาดเจ็บจากอาวุธปืนทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ในทุกปีผู้คนถูกฆ่าในบ้านและในละแวกใกล้เคียงมากกว่าในสถานที่สาธารณะ

“ดังนั้น แม้ว่าจะมีข่าวเหตุกราดยิงมากมาย แต่เหตุกราดยิงก็ยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก” อดีตเจ้าหนัาที่พิเศษ Schweit

ถึงกระนั้น กริยาสามคำก็มีคุณค่ามากมาย : หนี ซ่อน สู้ การหนีคือ ทางเลือกที่หนึ่ง ถ้าหนีไม่ได้ก็ต้องซ่อน และถ้าซ่อนไม่ได้ก็ต้องสู้

- หนี ไม่ว่ามือปืนจะใช้อาวุธปืนชนิดใดก็ตาม ยิ่งเราอยู่ห่างจากมือปืนได้มากเท่าไร โอกาสรอดชีวิตก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น “นั่นฟังดูเหมือน ‘เราอยู่ในเขตสงคราม’ มาก แต่ในขณะที่เสียงยิงดังขึ้น เราจะรู้สึกเหมือนอยู่ในเขตสงคราม และการหนีไปจะดีกว่า ถ้าสามารถทำได้” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit กล่าว

เมื่อไปที่ไหนก็ตามให้มองหาทางออกปกติหรือฉุกเฉินไว้เสมอ การอพยพออกไปโดยไม่ลังเลหรือรอรวบรวมข้าวของ และหนีต่อไปจนกว่าจะถึงพื้นที่ที่ปลอดภัย

- ซ่อน “นั่นไม่ได้หมายความว่า จะต้องวิ่งหนีเมื่อมีคนยิงใส่เรา” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit อธิบาย หากไม่มีเส้นทางหลบหนีที่ปลอดภัย FBI แนะนำให้หาที่ซ่อนดี ๆ ล็อกประตูและกั้นประตู รวมทั้งปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ

- สู้ เมื่อต้นปีนี้ Brandon Tsay บรรยายใน Morning Edition ของ NPR ถึงสิ่งที่เขาคิดเมื่อตัดสินใจต่อสู้ และปลดอาวุธมือปืนใน Monterey Park มลรัฐ  California

“มันจะต้องจบลงที่นี่ นี่คือจุดสิ้นสุดของชีวิตของผม มันจบลงแล้ว ผมจะตายที่นี่” Tsay กล่าว “แต่ที่สุดผมก็รวบรวมความกล้าที่ไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร ซึ่งก็สรุปได้ว่า ต้องแย่งปืนออกไปจากเขา ไม่งั้นจะมีคนเจ็บอีกเยอะมาก”

การใช้สิ่งของที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ร่วมกับการจู่โจมนั้น ประสบความสำเร็จในการหยุดยั้งมือปืนในสถานที่ต่าง ๆ เช่นที่ Colorado Springs มลรัฐ Colorado และ Noblesville มลรัฐ Indiana

การวิจัยของ FBI แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ไม่มีอาวุธมักจะช่วยชีวิต และยุติเหตุกราดยิงได้มากกว่าผู้ที่มีอาวุธ “ดังนั้น อย่าเชื่อว่า เราไม่สามารถหยุดมือปืนได้ เราทำได้” อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษ Schweit กล่าว “และก็มีคนทำมาตลอด”

Credit : https://www.npr.org/

ส่วนตัว ในฐานะอดีตนักกีฬายิงปืนหลายมหาวิทยาลัย เคยได้เหรียญรางวัลกีฬามหาวิทยาลัยครบทุกเหรียญ อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝึกฝนการใช้อาวุธปืนให้ชำนาญและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจและจราจร ซึ่งมีโอกาสเผชิญเหตุก่อน ในสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะซ้อมยิงปืนพกแทบจะทุกเดือน มีการบันทึกคะแนนที่ซ้อมยิงไว้ด้วย

รถยนต์สายตรวจทุกคันควรมีปืนยิงเร็วและปืนลูกซองอย่างละกระบอก เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีอำนาจการยิงในการเผชิญเหตุมากกว่าผู้ก่อเหตุ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับห้างร้านทางเข้าห้างใหญ่ ๆ มักจะมีซุ้มตรวจจับอาวุธอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ รปภ.ต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยไม่ต้องเกรงใจลูกค้า ตรวจสอบ ตรวจค้น สิ่งของที่อาจจะเป็นอันตราย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าส่วนใหญ่ นอกจากการซ้อมรับเหตุไฟไหม้แล้ว ต่อไปห้างร้านอาคารต่าง ๆ จะต้องมีการฝึกซ้อมการเผชิญเหตุกราดยิงอีกด้วย

‘2 นักวิทย์’ ผู้พัฒนาวัคซีน mRNA ป้องกัน COVID-19 คว้ารางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2023

เมื่อวานนี้ (2 ต.ค.66) รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ประจำปี 2023 ตกเป็นของ Katalin Karikó และ Drew Weissman จากผลงานการค้นพบที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลงนิวคลีโอไซด์เบส (nucleoside base) ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 

จากการค้นพบที่ก้าวล้ำของพวกเขาได้เปลี่ยนความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีที่ mRNA มีปฏิสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้สามารถพัฒนาวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ได้สำเร็จ โดยช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่มวลมนุษยชาติต้องตกอยู่ในภัยคุกคามด้านสุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์

ข่าวดี!! วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้ Professor Dr. Drew Weissman หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปีล่าสุด!! จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘Nucleoside Modified mRNA-LNP Therapeutics’ 

ในงาน ‘การประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://imsed.ipst.ac.th/ 

‘ยูเครน’ สร้างโรงเรียนใต้ดิน ดึงการศึกษาคืนเยาวชน กลายเป็นห้องเรียนในหลุมหลบภัยที่แรกของประเทศ

(3 ต.ค. 66) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กินเวลายาวนานเกือบ 3 ปี ทำวิถีชีวิตของชาวยูเครนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หนีไม่พ้นกลุ่มเด็กเล็กวัยเรียนของยูเครน ที่หลายโรงเรียนจำเป็นต้องหยุดการเรียน การสอน เพราะอยู่ในเขตสู้รบ ในขณะที่อีกหลายแห่งจำเป็นต้องเปิดการสอนผ่านทางออนไลน์เท่านั้น

จึงเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่เด็กๆ ยูเครนต้องจำใจจากบรรยากาศห้องเรียน เสียงกระดาน และฝุ่นชอล์ก เพียงเพราะความขัดแย้งรุนแรงในโลกของผู้ใหญ่

วันนี้ รัฐบาลท้องถิ่นเมืองคาร์คีฟจึงตัดสินใจสร้างโรงเรียนใต้ดิน ที่เปิดการเรียน การสอนแบบชั้นเรียนเต็มรูปแบบ ที่มีห้องเรียนมากกว่า 60 ห้อง ที่สามารถรองรับนักเรียนได้ถึง 1,000 คน นับเป็นโรงเรียนใต้ดินแห่งแรกของยูเครนอย่างเป็นทางการ

โดยทางการเมืองคาร์คีฟได้ดัดแปลงพื้นที่ภายในสถานีรถไฟใต้ดิน มาปรับสร้างเป็นโรงเรียนที่นักเรียนสามารถเข้ามานั่งเรียนได้อย่างปลอดภัย แม้จะมีสัญญาณเตือนภัยการโจมตีทางอากาศบนภาคพื้นดินก็ตาม 

‘อิฮอร์ เทเลคอฟ’ นายกเทศมนตรีเมืองคาร์คีฟ ได้โพสต์ข้อความลงใน Telegram กล่าวว่า มั่นใจในความปลอดภัยของโรงเรียนใต้ดินแห่งแรกในคาร์คีฟมาก และโรงเรียนในหลุมหลบภัยแห่งนี้จะช่วยให้เด็กๆ นับพันคน มีโอกาสเรียนหนังสือในบรรยากาศที่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับเพื่อนร่วมชั้น และ ครู ได้อีกครั้งหนึ่ง

‘คาร์คีฟ’ เป็นเมืองทางภาคตะวันออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยูเครน และตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนรัสเซียเพียง 35 กิโลเมตรเท่านั้น เมืองนี้เคยมีประชากรถึง 1.4 ล้านคน ก่อนเกิดสงครามระหว่าง 2 ชาติ อีกทั้งยังเคยเป็นเป้าหมายสำคัญของกองกำลังรัสเซีย ถึงแม้วันนี้คาร์คีฟจะสงบลงมากแล้ว แต่ยังมีสัญญาณเตือนภัย และการโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นไม่เว้นในแต่ละวัน

ส่วนระบบขนส่งทางรถไฟใต้ดินของเมืองนี้ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1975 นับเป็นเมืองที่ 2 ของยูเครนถัดจากกรุงเคียฟ ที่มีระบบรถไฟใต้ดินใช้ ปัจจุบันมีสายรถไฟ 3 สาย เปิดบริการ 30 สถานี โดยสถิติผู้ใช้งานรถไฟใต้ดินเมืองคาร์คีฟในปี 2018 มีมากถึง 223 ล้านคน

ต่อมาในปี 2022 ระหว่างที่เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพยูเครน และรัสเซีย ในเมืองคาร์คีฟอย่างหนัก รถไฟใต้ดินถูกนำมาใช้เป็นหลุมหลบภัยของชาวเมืองนับแสนคน ทำให้ อิฮอร์ เทเลคอฟ นายกเทศมนตรี เกิดความคิดที่จะปรับเอาพื้นที่สถานีรถไฟใต้ดินบางส่วนมาเปิดสอนเด็กๆ ระหว่างหลบภัย

ก่อนจะพัฒนากลายเป็นชั้นเรียนทดลอง ที่นำหลักสูตรในโรงเรียนมาสอนอย่างจริงจังซึ่งนอกจากวิชาหลักที่ใช้สอนอย่าง คณิตศาสตร์ ภาษายูเครน ภาษาอังกฤษ และกิจกรรมสันทนาการเสริมแล้ว ยังเพิ่มทักษะการป้องกันตัวด้วยการเชิญตำรวจเข้ามาอธิบายวิธีการหาที่หลบอย่างปลอดภัย เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัยการโจมตีทางอากาศอีกด้วย

‘โอฮา เดเมนโก’ ผู้อำนวยการสำนักงานด้านการศึกษาของเมืองคาร์คีฟ กล่าวว่า การที่เด็กเล็กๆ ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน หรือกับบรรดาครูอาจารย์ที่โรงเรียนนานๆ อาจส่งผลต่อทักษะทางสังคมของเด็ก นอกจากนี้ เด็กๆ ยังมีภาวะเครียด จากผลกระทบของสงคราม จึงมีความจำเป็นที่ต้องดึงเด็กๆ กลับสู่ชั้นเรียนแบบปกติให้เร็วที่สุด

หลังจากที่ทดสอบห้องเรียนในหลุมหลบภัยมาแล้วหลายเดือน วันนี้ทางการเมืองคาร์คีฟจึงตัดสินใจเดินหน้า ขยายชั้นเรียนนำร่องโรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนใต้ดินเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศ และจะนำหลักสูตรที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งนายกเทศมนตรีให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่ตัดงบประมาณด้านการพัฒนาโรงเรียนแม้แต่เหรียญเดียว อีกทั้งยังตั้งเป้าผลักดันให้คาร์คีฟเป็นเมืองอัจฉริยะที่สุดในยูเครนอีกด้วย

แม้เสียงสงคราม และ สนามรบยังไม่จบ แต่อนาคตของเด็กๆ ชาวยูเครนยังต้องดำเนินต่อไป ที่ไม่อาจรอจนถึงวันสิ้นสงครามได้ แต่การศึกษาของเด็กๆ ในวันนี้สำคัญเสมอ

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

‘ญี่ปุ่น’ ทุบสถิติ!! เผชิญอากาศร้อนที่สุดในรอบ 125 ปี คาด เป็นผลพ่วงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนฉับพลัน

(3 ต.ค. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ญี่ปุ่นเผชิญอากาศร้อนที่สุดของเดือน ก.ย. นับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติเมื่อ 125 ปีที่แล้ว ทั้งยังเกิดขึ้นในปีที่คาดว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เนื่องจากเกิดการเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเผยว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือน ก.ย.ของปีนี้สูงกว่าปกติ 2.66 องศาเซลเซียส นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี ค.ศ. 1898 หรือปี พ.ศ. 2441 ซึ่งวัดอุณหภูมิจากสถานที่ 385 แห่งจาก 914 แห่งทั่วประเทศมีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า

และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.6 องศาเซลเซียส นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี ค.ศ. 1982 หรือ ปี พ.ศ. 2525

“เรารู้สึกเหลือเชื่อที่อุณหภูมิสูงถึงขนาดนี้” เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นกล่าวและว่า กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำลายสถิติ หลังจากหลายปัจจัยทับซ้อนกันนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

นอกจากนี้ หลายประเทศต่างเผชิญอากาศร้อนที่สุดของเดือน ก.ย. รวมถึงออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์

ในฝรั่งเศส อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือน ก.ย. 2566 อยู่ที่ราว 21.5 องศาเซลเซียส สูงกว่า 3.5-3.6 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงที่ใช้ในการอ้างอิงปีค.ศ.1991-2020 และในสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เจออากาศร้อนที่สุดของเดือนก.ย.นับตั้งแต่บันทึกสถิติในปีค.ศ.1884

ด้าน Copernicus Climate Change Service หรือ ‘C3S’ ซึ่งเป็นหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป หรือ ‘อียู’ รายงานว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยในเดือน มิ.ย., ก.ค.และ ส.ค. คือ 16.77 องศาเซลเซียส ซึ่งเกินสถิติในปี ค.ศ. 2019

ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติหรือ ‘ยูเอ็น’ กล่าวกับผู้นำโลกในห้วงการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศได้เปิดประตูสู่นรก

และในการกล่าวเปิดการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ นายกูแตร์เรส กล่าวปลุกใจถึงความร้อนที่น่ากลัวในปีนี้ แต่เน้นย้ำว่า “เรายังคงสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส” เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางสภาพอากาศในระยะยาว

‘ฟิลิปปินส์’ เผชิญเงินเฟ้อหนัก ทำค่าครองชีพประชาชนพุ่งสูง ฉุดฐานความนิยมของประธานาธิบดี ‘บองบอง มาร์กอส’ ร่วง 15%

(3 ต.ค. 66) ‘นายเฟอร์ดินานด์ บองบอง โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์’ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เผชิญกับการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของคะแนนนิยมในตัวเขา เนื่องจากราคาผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้นในประเทศที่บ่อนทำลายการสนับสนุนจากประชาชน

‘Pulse Asia’ องค์กรสำรวจความนิยมได้เผยแพร่ผลสำรวจครั้งล่าสุดในวันที่ 2 ตุลาคม โดยเป็นผลจากการสำรวจที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 10-14 กันยายน ซึ่งชี้ว่า 65% ของผู้ตอบแบบสำรวจ 1,200 คน ให้ความเห็นชอบกับผลงานของประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์

แม้ดูเหมือนว่าจะยังเป็นตัวเลขให้การรับรองที่ค่อนข้างสูง แต่ถือว่าลดลงอย่างมากถึง 15% จากผลสำรวจในเดือนมิถุนายน ที่ประชาชนพอใจกับการทำงานของเขาสูงถึง 80% และยังเป็นการลดลงครั้งแรกในการสำรวจผลการทำงานของบุตรชายอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส พ่อผู้โด่งดังอีกด้วย

‘โรนัลด์ โฮล์มส์’ ประธาน Pulse Asia กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และบริการขั้นพื้นฐาน รวมถึงคำมั่นสัญญาว่าจะลดราคาสินค้าเหล่านี้ลง ดูเหมือนจะเป็นต้นเหตุให้การให้การเห็นชอบในการทำงานของประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

‘มาร์กอส จูเนียร์’ ซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรด้วย พยายามที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศ แต่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่างๆ ยังเกินเป้าหมายของรัฐบาลที่ 2-4% แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการแทรกแซง เช่นการลดภาษีอาหารแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อต่อปีของฟิลิปปินส์อยู่ที่ 6.6% ณ สิ้นเดือนสิงหาคม

‘ซารา ดูแตร์เต’ รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ก็ประสบปัญหาคะแนนนิยมลดลงเช่นกัน โดยลดลง 11% มาอยู่ที่ 73%

‘ฝรั่งเศส’ เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกให้ ‘เป็ด’ หวังหลีกเลี่ยงการฆ่าหมู่สัตว์ปีกนับล้านตัวทิ้ง

(3 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ฝรั่งเศสเริ่มการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดนกให้กับเป็ดในวันนี้เป็นวันแรก โดยหวังว่าจะสามารถช่วยป้องกันมิให้ต้องฆ่าหมู่สัตว์ปีกเป็นจำนวนหลายล้านตัว ที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การฉีดวันซีน 2 เข็มสำหรับเป็ดจะเริ่มต้นตั้งแต่เป็ดอายุ 10 วัน และจะเป็นข้อบังคับที่ฟาร์มทุกแห่งที่เลี้ยงเป็ดตั้งแต่ 250 ตัวขึ้นไปต้องปฎิบัติตาม โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป อุตสาหกรรมการเลี้ยงเป็ดของฝรั่งเศสที่เลี้ยงเพื่อใช้เนื้อเป็ดและตับมาทำอาหาร มีความอ่อนไหวต่อเชื้อไข้หวัดนก และมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดติดต่อกันทั่วทั้งฟาร์มเลี้ยงได้ ฝรั่งเศสประสบปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกในปี 2015-2017

และหลังจากปี 2020 ก็มีการระบาดต่อเนื่องทุกปี แม้ว่าจะไม่มีจุดที่ทำให้เกิดการระบาด แต่หากมีการค้นพบก็มักจะต้องมีการฆ่าหมู่สัตว์ปีกทั้งฟาร์มที่พบและในบริเวณใกล้เคียงเพื่อควบคุมการระบาด สร้างความเสียหายทางการเงินให้กับเจ้าของฟาร์มอย่างรุนแรง

สัตวแพทย์คาดว่า เป็ดจำนวน 60 ล้านตัว จะได้รับวัคซีนครบถ้วนในช่วงฤดูร้อนปีหน้า

‘ญี่ปุ่น’ พบปัญหา นทท.ล้นโตเกียว ทำค่าที่พักพุ่ง เหตุขาดแคลนแรงงาน เตรียมหามาตรการกระจายตัวไปยังเมืองอืน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น

(2 ต.ค.66) ญี่ปุ่นได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าไปอย่างรวดเร็วทันทีที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อปลายเดือนเมษายน 2023 โดยใน 8 เดือนแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าญี่ปุ่นแล้วราว 15 ล้านคน แต่ปัญหาที่ญี่ปุ่นเจอ คือ นักท่องเที่ยวไม่ไปเมืองอื่น นอกจากเมืองหลวง โตเกียว  

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2023 อ้างอิงข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization: JNTO) ว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่น 2.16 ล้านคนในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว คิดเป็นประมาณ 86% ของปี 2019 หรือระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติยังกระจุกตัวเที่ยวในกรุงโตเกียว โดยยอดเข้าพักในโตเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 56.2% จากเดือนเดียวของปี 2019 

โนริโกะ ยากาซากิ (Noriko Yagasaki) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการท่องเที่ยวที่ โตเกียว วูแมน คริสเตียน ยูนิเวอร์ซิตี้ (Tokyo Woman’s Christian University) บอกว่า ผู้คนจำนวนมากที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นในปีนี้เป็นคนที่เที่ยวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นธรรมดาที่การเที่ยวครั้งแรกจะเที่ยวในเมืองหลวงก่อน

“ผู้ที่เลื่อนการมาเยือนเนื่องจากโรคระบาดกำลังแห่กันมาที่ญี่ปุ่น และส่วนใหญ่ก็มาที่โตเกียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” 

อาจารย์ยากาซากิบอกอีกว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่นักท่องเที่ยวเน้นเดินทางเที่ยวโตเกียว คือ เที่ยวบินตรงระหว่างประเทศไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ ยังไม่ฟื้นกลับมาเท่าไรนัก 

“แม้ว่าดีมานด์ขาเข้าจะสูง แต่ดีมานด์ขาออกจากสนามบินในภูมิภาคยังคงต่ำ เนื่องจากคนญี่ปุ่นยังไม่กล้าเดินทางไปต่างประเทศ หากดีมานด์ไม่เท่าเทียมกันทั้งสองด้าน การกลับมาเปิดเส้นทางบินเหล่านั้นก็จะถูกจัดอยู่ในลำดับความสำคัญท้ายๆ ของสายการบินต่างประเทศ”  

ขณะที่ความนิยมเที่ยวโตเกียวช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในโตเกียวได้เงินมากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็เป็นข้อเสียสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะค่าที่พักเพิ่มขึ้นมาก โดยข้อมูลจาก โคสตาร์ (CoStar) บริษัทในสหรัฐที่ให้บริการข้อมูลและการวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ค่าโรงแรมในโตเกียวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 23,077 เยน (ประมาณ 5,688 บาท) เพิ่มขึ้น 28% จากเดือนเดียวกันในปี 2019

“ค่าโรงแรมในโตเกียวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าในเมืองอื่นๆ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวท่ามกลางปัจจัยต่างๆ มากมายทำให้ราคาขึ้น” ตัวแทนของสมาคมโรงแรมออลนิปปอน (All Nippon Hotel Association) กล่าว และบอกอีกว่า “การขาดแคลนแรงงานในธุรกิจโรงแรมไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย” ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าที่พักเพิ่มสูงขึ้น 

ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงกระจุกตัวอยู่ในโตเกียว รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยแผนการพื้นฐานที่รัฐบาลจัดทำขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนวันเฉลี่ยที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักในพื้นที่ชนบทให้เพิ่มจาก 1.4 คืนในปี 2019 เป็น 2 คืนในปี 2025 

Japan Tourism Agency (JTA) หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้เลือกสถานที่ต้นแบบ 11 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น เพื่อรับการสนับสนุนอย่างเข้มข้น รวมถึงการให้เงินทุนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่เพื่อที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น 

JTB บริษัทเอเจนซี่ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นกำลังส่งเสริมเส้นทางการเดินทางใหม่จากโตเกียวผ่านภูมิภาคโฮคุริคุ ที่อยู่ตอนกลางฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู (เกาะใหญ่สุดของญี่ปุ่น) ไปยังเมืองโอซาก้า นอกจานั้น ในปีนี้บริษัทได้เริ่มนำเสนอแพ็กเกจทัวร์บนเกาะคิวชูและชิโกกุเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกด้วย 

“การกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่างๆ จะช่วยแก้ปัญหา ‘การท่องเที่ยวล้นเกิน’ ความแออัด และปัญหาอื่นๆ จากนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป” ชิน ฟูจิโมโตะ (Shin Fujimoto) หัวหน้าฝ่ายธุรกิจท่องเที่ยวขาเข้าของ JTB กล่าว

นอกจากนั้น เขากล่าวว่า การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในโตเกียวมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปตลอดทั้งปีนี้ แต่จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวไปเยือนจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในภูมิภาคมากขึ้นในปีหน้าหรือราวๆ นั้น เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับไปเที่ยวซ้ำเพิ่มขึ้น 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top