Tuesday, 14 January 2025
WORLD

จีน ยอมให้ผู้ป่วยโควิดกักตัวอยู่บ้าน พร้อมสั่งห้ามขยายพื้นที่เสี่ยงสูงตามอำเภอใจ

ปักกิ่ง, 7 ธ.ค. (ซินหัว) — วันพุธ (7 ธ.ค.) จีนออกหนังสือเวียนว่าด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพและความเหมาะสมของการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพิ่มเติม โดยมีการประกาศมาตรการป้องกันและควบคุม 10 ประการ

หนังสือเวียนจากกลไกร่วมป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แห่งคณะรัฐมนตรีจีน ระบุว่า มาตรการเหล่านี้อ้างอิงสถานการณ์โรคระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสฯ ล่าสุด เพื่อควบคุมโรคระบาดแบบพุ่งเป้าและตามหลักวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นต้องแก้ไขแนวทางเหมารวม และขั้นตอนทางนโยบายที่มากเกินไป ต่อต้านและยับยั้งพิธีการและระบบราชการที่ไร้แก่นสาร และดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างซื่อสัตย์ เพื่อการปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชนขั้นสูงสุด และลดผลกระทบของโรคระบาดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ได้มากที่สุด

หนังสือเวียนสั่งห้ามการขยับขยายพื้นที่เสี่ยงสูงตามอำเภอใจ และเรียกร้องการจำแนกพื้นที่เสี่ยงโรคโควิด-19 แบบพุ่งเป้าและตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยพื้นที่เสี่ยงควรถูกกำหนดตามครัวเรือน ชั้น หน่วยหลัง และอาคาร แทนเขตย่อย (หมู่บ้านและตำบล) ชุมชน และย่านที่อยู่อาศัย

ประชาชนจะไม่ถูกบังคับเข้าร่วมการทดสอบกรดนิวคลีอิกขนานใหญ่ตามภูมิภาคการปกครอง ส่วนขนาดและความถี่ของการทดสอบกรดนิวคลีอิกจะถูกปรับลดลงเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพและความเหมาะสมของการทดสอบกรดนิวคลีอิก

นอกจากนั้นประชาชนจะไม่ต้องแสดงผลทดสอบกรดนิวคลีอิกที่เป็นลบและผ่านการตรวจเช็ก รหัสสุขภาพเพื่อเข้าถึงสถานที่สาธารณะหรือเดินทางสู่ภูมิภาคอื่น ๆ อีกต่อไป ยกเว้นบ้านพักคนชรา สถาบันการแพทย์ โรงเรียนประถมและมัธยมต้น โรงเรียนอนุบาล และสถานที่พิเศษอื่นๆ

รัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิดทั่วประเทศ ผู้ติดเชื้อกักตัวที่บ้านได้ ไม่ต้องไปสถานกักกัน

ทางการจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม โดยยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ผู้ติดเชื้อทั้งหมดจะต้องแยกกักตัวอยู่ในสถานที่ส่วนกลาง ซึ่งหมายถึงผู้ติดโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงสามารถกักตัวที่บ้านของตนเองได้ และให้รายงานผลด้วยตนเอง

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนยังประกาศลดความถี่และขอบเขตของการตรวจ PCR เพื่อหาเชื้อสำหรับการใช้พื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ลงอีกด้วย ยกเว้นในโรงพยาบาลและโรงเรียนที่ยังต้องให้มีการตรวจหาเชื้อต่อไป

คณะกรรมการฯ ยังประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบใหม่ อาทิ ควรใช้ข้อจำกัดอย่างการล็อกดาวน์แบบชี้เป้าพื้นที่ให้ชัดเจนมากขึ้น อย่างการกำหนดอาคาร ยูนิต และชั้นบางชั้น แทนที่จะล็อกดาวน์ทั้งเขตหรือทั้งเมือง

นอกจากนี้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงควรยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ภายใน 5 วันหากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ขณะที่โรงเรียนสามารถเปิดทำการต่อไปได้หากไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง, ห้ามปิดกั้นทางออกหรือทางหนีไฟอย่างเข้มงวดโดยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และประชาชนต้องสามารถเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ได้ในกรณีฉุกเฉิน 

ศาลสหรัฐฯ ยกฟ้อง ‘มกุฎราชกุมารซาอุฯ’ ปมสังหาร ‘คาช็อกกี’ อ้างสิทธิคุ้มกันทางกฎหมาย

ศาลสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีคำพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ กรณีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงตกเป็นจำเลยพัวพันคดีสังหารนักข่าวชาวซาอุฯ จามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi) โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้รับรอง ‘สิทธิคุ้มกันทางกฎหมาย’ ให้แล้ว

จอห์น บาเตส ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ ระบุในคำวินิจฉัยวานนี้ (6 ธ.ค.) ว่า แม้ศาลจะ ‘ลังเล’ ที่จะสั่งยกฟ้องกรณีที่ น.ส.เฮทิซ เซนกิซ คู่หมั้นของ คาช็อกกี ร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหว DAWN เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอาผิดเจ้าชายโมฮัมเหม็ด แต่ก็จำเป็นต้องยอมรับจุดยืนของรัฐบาลอเมริกันที่ประกาศแล้วว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นทั้งมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุฯ ทรงได้รับสิทธิคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีในฐานะที่ทรงเป็น ‘ประมุขรัฐ’

บาเตส ยังระบุด้วยว่า เซนกิซ และกลุ่ม DAWN ได้นำเสนอข้อโต้แย้งที่ ‘มีน้ำหนัก’ และ ‘น่าชมเชย’ ว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงอยู่เบื้องหลังเหตุฆาตกรรมซึ่งเกิดขึ้นที่สถานกงสุลซาอุฯ ประจำนครอิสตันบูล เมื่อปี 2018 ทว่าศาลไม่มีอำนาจที่จะปฏิเสธจุดยืนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งได้ทำหนังสือแจ้งศาลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ว่าเจ้าชายทรงได้รับสิทธิคุ้มกันในฐานะผู้นำรัฐบาลต่างชาติ

'สหรัฐฯ' ปราม 'ยูเครน' ไม่หนุนโจมตีภายในแผ่นดินรัสเซีย หลังฐานทัพเขตชั้นในรัสเซียถูกถล่ม คาดฝีมือเคียฟ

เมื่อวันอังคาร (6 ธ.ค.) ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ระบุไม่สนับสนุนยูเครน ในการโจมตีเข้าใส่ดินแดนรัสเซีย หลังเกิดเหตุยิงถล่มฐานทัพหลายแห่งซึ่งอยู่ในพื้นที่ชั้นในของรัสเซียลึกเข้าไปจากชายแดนหลายร้อยกิโลเมตร และถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นฝีมือของเคียฟ

"เราทั้งไม่สนับสนุนและไม่ได้เปิดทางให้ยูเครนโจมตีภายใต้ดินแดนของรัสเซีย" แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าว "แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่ายูเครน ใช้ชีวิตผ่านพ้นไปทุกๆ วันกับการรุกรานของรัสเซีย" เขากล่าว โดยกล่าวหารัสเซียกำลังใช้ฤดูหนาวเป็นอาวุธ ผ่านการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือน

บลิงเคน ประกาศว่า "เรามีความมุ่งมั่นสร้างความมั่นใจว่าพวกเขา เช่นเดียวกับพันธมิตรอื่น ๆ มากมายทั่วโลก จะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับป้องกันตนเองอยู่ในมือ เพื่อปกป้องดินแดนของพวกเขา เพื่อปกป้องเสรีภาพของพวกเขา"

พวกผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ายูเครนเจาะน่านฟ้าของรัสเซียด้วยโดรนดั้งเดิมยุคสมัยสหภาพโซเวียต ไม่ใช่อาวุธใด ๆ จากความช่วยเหลือด้านการทหารหลายพันล้านดอลลาร์ที่ได้รับมอบจากตะวันตก นับตั้งแต่ถูกมอสโกเปิดฉากรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ด้าน ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับ บลิงเคน หลังพูดคุยหารือกับบรรดารัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย ว่าวอชิงตันจะไม่ห้ามยูเครนจากการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลด้วยตนเอง "คำตอบสั้น ๆ คือ ไม่ แน่นอนว่าเราจะไม่ทำเช่นนั้น เราจะไม่หาทางขัดขวางยูเครนจากการพัฒนาศักยภาพของตนเอง"

รัสเซียเผยว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย และเครื่องบินได้รับความเสียหาย 3 ลำในเหตุโจมตีฐานทัพ 3 แห่งที่อยู่ลึกภายในดินแดนของพวกเขาเมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.)

ก่อนหน้านี้ เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อถูกถามเกี่ยวกับเหตุโดรนโจมตีในดินแดนรัสเซีย โดยเขาไม่ได้พูดอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ จัดหาโดรนเหล่านั้นแก่ยูเครนหรือไม่ ซึ่งเคียฟเองก็ไม่ได้กล่าวอ้างความรับผิดชอบใด ๆ ต่อเหตุโจมตีดังกล่าว

"เราจัดหาแก่ยูเครน ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับใช้ในดินแดนอธิปไตยของพวกเขา ในแผ่นดินยูเครน เพื่อจัดการกับผู้รุกรานรัสเซีย" ไพรซ์กล่าว ขณะเดียวกันเขาก็ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวหนึ่งของวอลล์สตรีท เจอร์นัล ที่อ้างว่าอเมริกาปรับแก้ระบบ HIMARS ที่ส่งมอบแก่ยูเครน ระบบจรวดที่ถูกมองว่าเป็นตัวเปลี่ยนเกมในสมรภูมิรบ เพื่อปกป้องไม่ให้เคียฟยิงเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย

ที่ผ่านมา ประธานาธบดีโจ ไบเดน พูดต่อสาธารณะว่าวอชิงตันจะไม่มอบขีปนาวุธพิสัยไกลแก่ยูเครน ด้วยกังวลว่ามันอาจทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย และผลักให้สหรัฐฯ เผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซียมากยิ่งขึ้น

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ มีขึ้นในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เดินทางไปตรวจเยี่ยมทหารที่อยู่ใกล้แนวหน้าทางตะวันออกของประเทศในวันอังคาร (6 ธ.ค.) พร้อมแสดงความขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องกับความพยายามสู้รบต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย เนื่องในวันกองทัพของประเทศ

หลังจากนั้น เซเลนสกี ได้กล่าวปราศรัยถึงกำลังพล จากทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเคียฟ โดยเผยว่าเขาใช้เวลาร่วมกับบรรดาทหารในดอนบาส สมรภูมิที่มีการสู้รบหนักหน่วงที่สุด และในแคว้นคาร์คิฟ พื้นที่ที่ยูเครนสามารถทวงดินแดนอย่างกว้างขวางคืนมาจากกองกำลังผู้รุกรานยูเครน

เขากล่าวว่า "ชาวยูเครนหลายพันคนเสียสละชีวิตตนเองเพื่อให้วันนั้นมาถึง วันที่จะไม่เหลือทหารผู้รุกรานในดินแดนของเราแม้แต่คนเดียว และวันที่ประชาชนของเราทั้งหมดจะได้รับการปลดปล่อย" เซเลนสกี ระบุ

รายงาน ชี้!! สหรัฐฯ ครองเบอร์หนึ่ง ‘ขายอาวุธ’ มากที่สุดในโลก

(6 ธ.ค. 65) สำนักข่าวซินหัว เผยรายงานจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ของสวีเดน เมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.) ระบุว่า กลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ ครองอันดับหนึ่งของโลกด้านยอดจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์

โดยยอดจำหน่ายอาวุธของบริษัทสหรัฐฯ 40 แห่ง ซึ่งอยู่ในรายชื่อบริษัทค้าอาวุธ 100 อันดับแรกของโลก มีมูลค่ารวม 2.99 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10.46 ล้านล้านบาท) ในปี 2021 ลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปี 2020 ขณะบริษัทค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุด 5 แห่งของโลก นับจากปี 2018 ล้วนตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ส่วนกระแสการควบรวมกิจการของอุตสาหกรรมค้าอาวุธสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไปในปี 2021

หนานเทียน นักวิจัยอาวุโสของสถาบันฯ แสดงความคาดหวังว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะดำเนินการอย่างจริงจังยิ่งขึ้นในการจำกัดการควบรวมกิจการของอุตสาหกรรมค้าอาวุธในอนาคตอันใกล้ โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แสดงความกังวลว่าการแข่งขันที่ลดลงในอุตสาหกรรมค้าอาวุธอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อต้นทุนการจัดซื้อและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์

ผลสำรวจชี้ ‘คนจีนเกินครึ่ง’ ยังเบรกเที่ยวนอก แม้จะ ‘เปิดพรมแดน’ ให้ในวันพรุ่งนี้ก็ตาม

ผลการศึกษาล่าสุดชี้คนจีน ‘เกินครึ่ง’ ยังไม่มีแผนเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า จนกระทั่งถึง 1 ปีขึ้นไป หรือต่อให้รัฐบาลจีนมีการเปิดประเทศในวันพรุ่งนี้ก็ตามที

รอยเตอร์ - จีนเป็นประเทศที่ยังคงมาตรการควบคุมโควิด-19 เข้มงวดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งในแง่ของการตรวจ PCR และการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ แม้กระแสประท้วงคำสั่งล็อกดาวน์และนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ จะทำให้ภาครัฐต้องยอมผ่อนคลายข้อจำกัดในประเทศลงบ้างก็ตาม

ผลการศึกษา China Consumption Recovery ซึ่งสรุปจากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคชาวจีน 4,000 คน โดยบริษัทที่ปรึกษา Oliver Wyman พบว่า สาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้คนจีนหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงนี้ก็คือ ‘กลัวติดโควิด-19’ รองลงมือคือ กังวลว่ารัฐบาลจีนอาจจะปรับเปลี่ยนกฎสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศเมื่อไหร่ก็ได้

“คนจีนระมัดระวังตัวกันมากขึ้น” อิมเค วูเตอร์ส (Imke Wouters) หุ้นส่วนฝ่ายค้าปลีกและสินค้าโภคภัณฑ์ของ Oliver Wyman ให้ความเห็น “ดังนั้นต่อให้พวกเขาสามารถออกนอกประเทศได้ เราเชื่อว่านักท่องเที่ยวจีนก็จะยังไม่กลับมาในทันที”

ชาวจีนผู้ตอบแบบสอบถาม 51% ระบุว่า พวกเขาจะเลื่อนแผนท่องเที่ยวต่างประเทศออกไปก่อน และหากจะเดินทางก็คงเลือกจุดหมายปลายทางใกล้ ๆ บ้านเป็นอันดับแรก ตัวอย่างเช่น ‘ฮ่องกง’ ซึ่งคนจีน 34% บอกว่าเป็นสถานที่แรกที่พวกเขาอยากไปหลังจากที่มีการเปิดพรมแดน

ผลสำรวจความคิดเห็นนี้จัดทำเมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. หลังจากที่มีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีการรับรองตำแหน่งผู้นำจีนสมัยที่ 3 ให้แก่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ท่ามกลางความคาดหมายในขณะนั้นว่ารัฐบาลปักกิ่งคงจะเร่งเปิดประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

จีนเคยเป็นตลาดส่งออกนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก ทว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เคยใช้จ่ายเงินมากถึง 127,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 แทบจะลดลงเป็นศูนย์ หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศปิดพรมแดนเมื่อช่วงต้นปี 2020 และห้ามพลเมืองเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีสาเหตุจำเป็น

การที่ผู้นำปักกิ่งยึดนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างเข้มงวดส่งผลบั่นทอนเศรษฐกิจจีนเองอยู่ไม่น้อย และคาดกันว่ารัฐบาลน่าจะมีการปรับนโยบายเร็ว ๆ นี้ แต่นักวิเคราะห์ก็เตือนว่าการเปิดประเทศจีนจะเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนพอสมควร

'เวนเกอร์' ชี้!! สมาธิกับเกมและนัดแรกสำคัญเสมอ แขวะบางชาติ 'มุ่งการเมืองมาก' จนตกรอบบอลโลก

ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 หลายชาติกำลังโม่แข้งในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ขณะที่ยักษ์ใหญ่บางชาติอย่าง เยอรมนี แชมป์โลก 4 สมัย กระเด็นตกรอบแรกฟุตบอลโลก เป็นสมัยที่ 3

ด้าน อาร์แซน เวนเกอร์ อดีตกุนซือทีม 'ปืนใหญ่' อาร์เซนอล ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการแข่งขันรายการใหญ่อย่าง 'เวิลด์ คัพ' ครั้งนี้ว่า สิ่งสำคัญคือการมีสมาธิกับเกม และนัดแรกสำคัญเสมอ

"รายการใหญ่อย่าง ฟุตบอลโลก สิ่งที่สำคัญที่สุด และทุกคนรู้ดี คือ ไม่สามารถแพ้นัดแรกได้อย่างเด็ดขาด หลายทีมมีประสบการณ์ และผลงานดี อาทิ ฝรั่งเศส อังกฤษ และ บราซิล"

ประสบการณ์แห่งการเงียบที่ทำท้อใจ แต่นานไปกลับพูดได้จนน่าแปลกใจตัวเอง

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าผู้เขียนได้มาที่ตึกนี้แล้วครั้งหนึ่งแล้วเพื่อมาสอบเทียบระดับภาษา ตอนนั้นทั้งใจเสียที่เรามาหลังจากวันโรงเรียนเปิดเทอม ทั้งกลัวที่จะไม่มีที่ซุกหัวนอน และทั้งหัวสมองมึนเพราะต้องปรับตัวกับเวลาที่หมุนช้าจากกรุงเทพฯไปสิบเอ็ดชั่วโมง เราเลยไม่มีเวลาสำรวจว่าสถานศึกษาที่อเมริกากับประเทศเราต่างกันอย่างไร 

งวดนี้มาตัวคนเดียวเป็นหนแรกความอยากรู้อยากเห็นเลยบันดาลใจให้เราสังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น ตึกเป็นตึกค่อนข้างเก่าผสมทั้งอิฐและปูนซีเมนต์ ประตูเข้าเหมือนประตูสำนักงานห้องแถวทั่ว ๆ ไป ความคิดที่แว่บขึ้นมาตอนนั้นเดาว่าตึกนี้คงเคยเป็นของภาควิชาอื่นมาก่อน เมื่อภาคนั้นขยายจำนวนอาจารย์และนักเรียนเลยย้ายไปที่ตึกสร้างใหม่ ตึกนี้จึงยกให้กับโรงเรียนสอนภาษา จึงไม่มีการบูรณะให้เข้ากับสมัย 

ข้างล่างเป็นห้องโถงโล่ง ๆ กลิ่นเก่าชื้น ๆ มีโปสเตอร์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและโปรแกรมภาษาอังกฤษแปะเต็มไปหมด ไม่มีพนักงานหรือยามคอยให้ข้อมูลนักเรียนที่มาใหม่ มีป้ายอธิบายแผนกต่าง ๆ ในแต่ละชั้นแต่ไม่เด่น เนื่องจากเราเคยมาแล้วถึงรู้ว่าสำนักงานและห้องเรียนนั้นอยู่บนชั้นสอง

เมื่อเดินขึ้นบันไดขั้นสุดท้าย ข้างหน้ามีเคาน์เตอร์ยาวซึ่งพนักงานกำลังง่วนให้ข้อมูลต่าง ๆ กับนักเรียนอยู่ บนบอร์ดไม้ข้าง ๆ พนักงานมีกระดาษแปะเลขที่ห้องเรียนและชื่อนักเรียน เรามองหาชื่อตัวเองซึ่งไม่ยากนักเพราะว่าทั้งชื่อทั้งนามสกุลนั้นขึ้นด้วย C จึงเป็นคนต้น ๆ ของนักเรียนในห้อง พอเรารู้เลขที่ห้องเรียนแล้วเลยจรลีไปหาที่นั่งหลังห้อง เพื่อนร่วมห้องก็มองอย่างแปลกใจเพราะวันแรกไม่เห็นเราในห้อง เราก็ยิ้มเขิน ๆ ให้พวกเขาและนั่งรอจนครูเข้าห้องมา 

ครูของเราเป็นผู้หญิงรูปร่างสันทัดชื่อเอเดรียน ซัลส์ (Adrienne Saltz) อายุประมาณสามสิบปีผมดำหยักศกตัดสั้นประคอดูกระฉับกระเฉง เนื่องจากเป็นวันแรกที่เราเข้าเรียนครูก็แนะนำตัวเองโดยใช้ชื่อ,นามสกุล,ชื่อที่ต้องการให้คนในห้องเรียนเรียก, และเมืองและประเทศที่มา 

เมื่อได้ยินครูบอกว่าให้เรียกเธอว่าเอเดรียน เราก็รู้สึกแปลกใจมากเพราะเท่าที่ได้ฟังมาจากภาพยนตร์อเมริกันนั้น ครูส่วนใหญ่จะให้นักเรียนเรียกคำนำหน้ามิสเตอร์ มิส หรือมิสซิสแล้วตามด้วยนามสกุล ในกรณีอย่างครูเอเดรียนนี่ควรจะเป็นมิสซิสซัลส์ เพราะเธอใส่แหวนแต่งงานนิ้วนางซ้ายแล้ว แต่ตอนหลังถึงเข้าใจว่าครูสอนภาษาส่วนใหญ่ให้เรียกชื่อต้นเพื่อความเป็นกันเองนักเรียนจะได้สนทนาภาษาอังกฤษอย่างไม่เคอะเขิน 

ส่วนตัวเราเองนั้นชาวต่างชาติเรียกว่าโจมาตั้งแต่อายุเก้าขวบตอนที่มาเยี่ยมพี่ชายคนโตที่รัฐโอไฮโอ ตอนนั้นมาอยู่ที่อเมริกาสามเดือน คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้อยู่บ้านเฉย ๆ เลยส่งให้ไปเรียนกับเด็กอนุบาลเพื่อให้เราได้ภาษา คุณพ่อก็กลัวว่าเด็ก ๆ จะเรียกชื่อจริงหรือชื่อเล่นไทยไม่ได้ เลยเอาชื่อหมาที่เฝ้าบ้านที่กรุงเทพฯ มาตั้งให้ เพราะเป็นชื่อที่มาจากภาษาอังกฤษอยู่แล้ว หลังจากที่เราแนะนำตัวเองเพื่อน ๆ แต่ละคนก็แนะนำตัวเอง เพื่อน ๆ ในห้องนั้นมาจากหลากประเทศทั่วโลก แต่คนที่เราสนิทด้วยก็คือ เพื่อนสาวชาวไทยชื่อเหมียวและชาวฝรั่งเศสชื่อกาเบรียล (Gabrielle)

เนื่องจากเราเรียนภาษาระดับสูง ตอนบ่ายเราสามารถจะเลือกเรียนวิชาที่เตรียมตัวไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ ตอนนั้นมีให้เลือกสามสายคือ การเมือง วรรณคดี และธุรกิจ ตัวเราเองนั้นตั้งใจจะมาเรียนต่อทางด้านโฆษณาจึงเลือกสายธุรกิจ ซึ่งครูเอเดรียนจะเอานิตยสารทางด้านธุรกิจ เช่น Forbes หรือ Businessweek มาให้อ่าน แล้วเหล่านักเรียนก็จะตอบคำถามของครูเพื่อเช็กความเข้าใจบทความที่อ่านไป 

ชาวอังกฤษ 85% อาการหนัก หลังรัฐยังหนุนยูเครนไม่เลิก ‘ค่าครองชีพพุ่ง-เริ่มกินอาหารสัตว์เลี้ยง-เทียนไขทำอาหาร’

(4 ธ.ค. 65) World Update เผยว่า ภายหลังรัฐบาลสหราชอาณาจักร เดินตามแนวทางของสหรัฐฯ ร่วมคว่ำบาตรพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย...ผ่านมา 9 เดือน ผลปรากฏเศรษฐกิจเละ เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3 คนพร้อมคณะรัฐมนตรีอีก 300 ตำแหน่ง (ครม.อังกฤษมี 100 ตำแหน่ง/ชุด)

อัตราเงินเฟ้อทะยานอวกาศเป็น 11.1% เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบ 41 ปี เกิดม็อบสหภาพแรงงานต่าง ๆ นัดหยุดงานประท้วงไม่เว้นแต่ละวัน เมืองใหญ่คราคร่ำไปด้วยม็อบเผาบิลค่าไฟฟ้าที่แพงจัดจนจ่ายไม่ไหว กลายเป็นฝันร้ายสำหรับคนนับล้าน

มีการคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออังกฤษแท้จริงคือ 13.8% ไปแล้วแต่เมื่อรัฐบาล เยียวยาบางส่วนจึงอยู่ที่ 11.1% ส่งผลให้ลักลั่นกับค่าครองชีพที่ทะยานโด่งลิ่วไปก่อน

แต่ถึงกระนั้นนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก แห่งอังกฤษ ก็ยังคงสานต่อนโยบายรัฐบาลชุดเดิม คือ คว่ำบาตรพลังงานราคาถูกรัสเซีย น้ำเข้าราคาแพงจากสหรัฐฯ และเป็นปฏิปักษ์จีน ด้วยการประกาศว่าความสัมพันธ์ยุคทองระหว่างอังกฤษกับจีนได้จบลงแล้ว เนื่องจากจีนมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกล้ำหน้าอังกฤษเกินไป

นอกจากนี้อังกฤษ ยังคงยื้อความขัดแย้งสงครามในยูเครนต่อไป เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นผู้ให้เงินช่วยเหลือ (เงินกู้) ค่าอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน รองจากสหรัฐฯ มูลค่า 2,300 ล้านปอนด์ (99,568 ล้านบาท)

ขณะที่ปัจจัยค่าพลังงานแพง ซ้ำเติมด้วยเงินคลังไหลออกติดหล่มสงครามที่ไม่รู้จะได้เงินคืนเมื่อใด ยิ่งซ้ำเติมให้เงินหมุนเวียนภายในชาติหดหายลงไปอีก 

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ ได้ประเมินว่าครัวเรือนต้องจ่ายค่าเครื่องทำความร้อนและแสงสว่างสูงกว่าปีที่แล้วถึง 88.9% 

และภายในสิ้นปีนี้ จะมีค่าใช้จ่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตเฉลี่ย 4,960 ปอนด์/ครอบครัว ซึ่งมากกว่าปีก่อนถึง 380 ปอนด์

โพลสำรวจความคิดเห็นยังระบุอึกว่า ชาวอังกฤษมากถึง 85% หรือเกือบทั้งประเทศ วิตกกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในชีวิตความเป็นอยู่ 

ชาวอังกฤษทั่วประเทศต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในช่วงคริสต์มาสปีนี้ และมีการขาดแคลนไก่งวงและนกในฤดูหนาว อาหารค่ำวันคริสต์มาสกลายเป็นภาระที่น่าเป็นห่วงสำหรับครอบครัวชาวอังกฤษจำนวนมาก

โพลระบุอีกว่า 20% ของครอบครัวในอังกฤษ จะขอให้แขกมาบ้านช่วยจ่ายค่าอาหารค่ำวันคริสต์มาส รวมถึงวางแผนที่จะใช้จ่ายของขวัญในปีนี้น้อยลงมากกว่า 36.3% และไม่สามารถจ่ายเงินฟุ่มเฟือยได้เหมือนที่ผ่านมา 33%

หากย้อนไปในเดือนที่ผ่านมา ราคาวัตถุดิบในครัวเรือน เช่น นม, เนย, ชีส, เนื้อ และขนมปัง เพิ่มขึ้นสูงถึง 42% ทำให้ชาวอังกฤษต้องพึ่งพาธนาคารอาหารบริจาคมากขึ้นกว่าเดิม

จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแพง และอาหาร ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นสาเหตุหลักของภาระค่าครองชีพที่สูงเป็นประวัติการณ์ ชาวอังกฤษกำลังดิ้นรนอย่างสุดชีวิตเพื่อเอาตัวรอด ผลกระทบต่อหลายพื้นที่ของเวลส์อย่างหนัก 

ชาวเวลล์บางส่วนไม่ได้รับค่าจ้างมากพอที่จะซื้อสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพที่ไม่สามารถจ่ายไหว ต้องใช้ชีวิตมาตรฐานระดับต่ำสุดเพื่อเลี้ยงครอบครัว

ชุมชนที่ยากไร้มากที่สุด 6 แห่งของเวลส์อยู่ในเมืองคาร์ดิฟฟ์ ครอบครัวจำนวนมากขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ คือ 'อาหาร'

จริยธรรมบิดเบี้ยว ยุคขี้เมาลงแดงในอเมริกา คนสุจริตร่ำสุราเท่ากับบาป ส่วนคนบาปหากินกับเหล้าเถื่อน ต่างได้รับการยกย่อง

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งอเมริกาเคยห้ามขายเหล้าเป็นเวลาถึง 13 ปี 

สังคมเมืองลุงแซมในช่วงปี ค.ศ. 1890-1920 เป็นช่วงที่เรียกว่า 'ยุคก้าวหน้า' หรือ Progressive Era ที่กำลังสับสนกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม   

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเช่นกัน ผู้ชายดาหน้าเข้าทำงานในโรงงานต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ใด ๆ หรือแม้แต่ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ชายยุโรปโดยเฉพาะยุโรปตะวันออกอย่างชาวโปแลนด์หรือฮังกาเรียน หลั่งไหลเข้ามาในอเมริกาเพื่อทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ บางคนพาลูกเมียมาด้วยเพื่อลงหลักปักฐานในอเมริกา 

เมื่อเข้ามาเป็นคนงานโรงงาน ด้วยพื้นฐานดั้งเดิมที่รักการดื่มจึงอดไม่ได้ที่จะแวะข้างทางเพื่ออุดหนุนน้ำเมา แต่เรื่องนี้กลับกลายมาเป็นปัญหาครอบครัว  ทำให้เกิดการโทษเหล้าและน้ำเมาต่าง ๆ ว่าสร้างปัญหาสังคมร้ายแรง ประกอบกับช่วงนั้นมีนักเทศน์ร่อนแร่เดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ แล้วโทษสุรายาเมาเสมอ เหล่าภรรยาที่ถูกสามีขี้เมาทุบตีเป็นนิจสินก็เพ่งโทษไปที่เหล้าแต่เพียงอย่างเดียว จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้สังคมจัดการเรื่องนี้

ดังนั้นในปี ค.ศ. 1920 จึงเกิดการปฏิรูปทางจริยธรรมขึ้น โดยหนึ่งในกระบวนการชำระสะสางสังคมทั้งหลายทั้งปวงข้อหนึ่งคือ แนวคิดเรื่องห้ามผลิตและซื้อขายเหล้าอย่างเด็ดขาด อเมริกันเคร่งศาสนาบางกลุ่มเชื่อว่าการดื่มเหล้าถือเป็น 'บาป' บางคนสรุปเหมารวมว่าการเสพสุราฮะกึ๋นเป็นต้นเหตุปัญหามากมายในสังคม ทั้งการติดเหล้า อาชญากรรม อาการทางจิตประสาท ความยากจน รวมถึงการใช้ความรุนแรงกับเด็กและผู้หญิง

แต่การสนับสนุนแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างโปร่งใสและสะอาดบริสุทธิ์เท่าไหร่นักหรอก เพราะกลุ่มพ่อค้าที่ขายชากาแฟและน้ำอัดลมต่างตีปีกสนับสนุนกันกระหึ่ม เนื่องจากเชื่อว่าธุรกิจตนจะโกยกำไรอื้อซ่าอย่างแน่นอน หากเหล้าเบียร์หมดไปจากท้องตลาด

ไม่ว่าแรงสนับสนุนให้เลิกขายเหล้าเบียร์จะมาจากกลุ่มไหนก็ตาม แต่แรงกดดันมหาศาลทำให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการลงโทษขี้เมาโดยเฉพาะ โดยในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1919 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ ครั้งที่ 18 กำหนดห้ามไม่ให้มีการขายผลิตขนส่งหรือจัดจำหน่ายเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทั่วทั้งประเทศอย่างเด็ดขาด 9 เดือน

หลังจากนั้น สภาคองเกรสได้ผ่านร่างกฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ Volstead Act ถือเป็นการเริ่มต้นยุคแห่งการห้ามซื้อขายและผลิตเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1920

ตั้งแต่นั้นมา อเมริกาก็เข้าสู่ 'ยุคมืดของขี้เมา' แบบนี้ก็ตายกันพอดีสิจ๊ะ ของเคยกระดกขวดทุกค่ำเช้า แต่อยู่ ๆ รัฐบาลเอาไม้ไล่หวดขวดเหล้าแตกกระจายก็ย่อมเปรี้ยวปากเป็นธรรมดา ผลคือเกิดมาเฟียค้าเหล้าเถื่อนเพียบ แต่ขาใหญ่สุดเห็นจะเป็น 'อัล คาโปน' ที่หากินในย่านชิคาโกและสร้างตัวเองเป็นเจ้าพ่อมาเฟียที่โลกไม่ลืมมาจนทุกวันนี้  

เพราะผลพวงของการห้ามขายเหล้านี่แหละที่ทำให้อัล คาโปนพบช่องทางทำมาหากินอันโชติช่วง ด้วยการลักลอบนำเข้าและขนส่งเหล้าเถื่อนจนร่ำรวย การลักลอบขายเหล้าเถื่อนกลายเป็นช่องทางที่ทำกำไรมหาศาลให้เหล่าผู้มีบารมีนอกกฎหมาย เลยทำให้จำนวนประชากรมาเฟียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แถมยังขยายสาขาไปทั่วประเทศ สร้างปัญหาสังคมอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าสาหัสกว่าเดิมไว้เป็นของแถม

เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เริ่มปรับเปลี่ยนงานในพระราชวัง และพระราชินีอังกฤษจะไม่มีนางสนองพระโอษฐ์

พระเจ้าชาร์ลส์เริ่มปรับเปลี่ยนงานในพระราชวัง พระราชินีอังกฤษจะไม่มีนางสนองพระโอษฐ์

แม้จะเป็นเพียงข่าวเล็ก ๆ แต่ก็น่าสนใจไม่น้อย และถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติของฝ่ายในของพระราชวงศ์อังกฤษที่มีมาตั้งยุคกลางก็ว่าได้ สำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมเปิดเผยว่า พระราชินีคามิล่าของอังกฤษจะไม่มีนางสนองพระโอษฐ์คอยติดตามและช่วยงานเหมือนกับพระราชินีอังกฤษองค์อื่น ๆ ที่ผ่านมา หากแต่ว่าจะมีผู้ที่ติดตามหรือเป็นเพื่อนในระหว่างออกงานในตำแหน่งใหม่ที่เรียกว่า ‘Queen Companion’ แทนตำแหน่งเดิมคือ ‘Lady-in-Waiting’

การประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อและหน้าที่การงานของผู้ช่วยฝ่ายหญิงของพระราชินีคามิล่าครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงว่าพระราชวงศ์อังกฤษกำลังมุ่งไปสู่ยุคใหม่ของการที่จะลดจำนวนข้าราชบริพารและหน้าที่ที่จะคอยรับใช้ให้มีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ในกรณีนี้พระราชินีคามิล่าจะมี Queen Companion เพียง ๖ คนและจะไม่ต้องมาบ่อยจะมาก็เมื่อจำเป็นจริง ๆ และหน้าที่ใหม่นี้จะไม่รวมถึงการต้องตอบจดหมายที่ประชาชนส่งมาถึงพระราชินีหรืองานธุรการต่าง ๆ เช่นการเตรียมแผนงานต่าง ๆ เหมือนเช่นเคย (เดิมนั้นจดหมายที่ประชาชนส่งมาถึงพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ จะมีการตอบรับซึ่งมีจำนวนมาก แต่จากนี้ไปอาจจะมีพนักงานกลุ่มอื่นรับหน้าที่ไปแทน)

Queen Companion (น่าจะเรียกว่าผู้ติดตามและยังเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติอยู่) ทั้ง ๖ ท่านนี้จะมาจากบรรดาเพื่อน ๆ เก่าแก่ของพระราชินี ทั้งหมดจะไม่ได้รับเงินเดือนแต่จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรืออื่นๆที่เกิดขึ้นจากการมาทำงานได้

สำหรับนางสนองพระโอษฐ์ (Lady-in-Waiting) ที่เคยทำงานถวายสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๒ ผู้ล่วงลับนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงมอบหมายให้มาช่วยงานที่พระราชวังบัคกิ้งแฮมในตำแหน่ง ‘ladies of the household’ เมื่อมีงานเลี้ยงพระราชทานแขก การเปลี่ยนแปลงผู้ช่วยฝ่ายในของพระราชินีดังกล่าวเหมือนกับเป็นการตัดขาดกับอดีตที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายร้อยปีที่บรรดานางสนองพระโอษฐ์พระราชินีมักจะมาจากสตรีสูงศักดิ์ ครอบครัวขุนนางที่มีอำนาจราชศักดิ์และจากความใกล้ชิดเช่นนี้บางครั้งก็นำไปสู่การวางแผนร้ายต่าง ๆ เช่นโค่นราชบัลลังก์หรือโค่นขุนนางด้วยกัน

แต่นับแต่นี้ต่อไป ผู้ที่ช่วยงานพระราชินีอังกฤษจะมีหน้าที่เพียงติดตามเมื่อท่านออกงานและไม่ได้ใกล้ชิดมากเหมือนเช่นเคย ถ้าจะพูดตามภาษาคนธรรมดาก็คือพระราชินีจะมีเพียงผู้ติดตามเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อจะเป็นการเตรียมหรือแสดงให้เห็นว่าราชวงศ์อังกฤษกำลังมุ่งไปสู่ความเป็นธรรมดามากขึ้นหรือเพื่อประหยัดงบประมาณที่ต้องมีข้าราชบริพารมากเกินไป

'ฟีฟ่า' ยันลูกประตูชัยทีมชาติญี่ปุ่น ยังไม่ออกหลัง ส่งผลให้ทีมแซงชนะ 2-1 พร้อมควบแชมป์กลุ่ม

‘สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ’ หรือ ‘ฟีฟ่า’ ได้ออกมาอธิบายว่าเหตุการณ์ที่ ‘ทีมชาติญี่ปุ่น’ ทำประตูเอาชนะ ‘ทีมชาติสเปน’ 2-1 จนเกิดข้อกังขาว่าลูกบอลออกหลังไปแล้วนั้น ทำให้พวกเขาต้องพิจารณาดูภาพช้าจากกล้องทุกมุมมองของ VAR และ จากภาพมุมสูงของกล้องจะเห็นว่ายังมีส่วนโค้งของลูกบอลอยู่บนเส้น จึงตัดสินให้ ญี่ปุ่น ได้ประตูชัยเหนือ สเปน พร้อมปาดหน้าเข้ารอบเป็นแชมป์กลุ่ม และได้เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในศึก ฟุตบอลโลก 2022 ต่อไป 

ประตูชัยของญี่ปุ่น ได้จาก ‘อาโอะ ทานากะ’ เริ่มจากจังหวะที่ คาโอรุ มิโตมะ เปิดบอลจากเส้นหลังกลับเข้ามาหน้าประตู ซึ่งหลังจากนั้นผู้ตัดสินในสนามใช้เวลาเช็ค VAR อยู่นาน จนตัดสินใจยืนยันให้เป็นประตู

อย่างไรก็ตาม จากภาพช้าที่ถูกฉายระหว่างเกม ทำให้การตัดสินดังกล่าวได้รับการตั้งข้อสงสัย โดย อัลลี่ แมคคอยส์ต กูรูฟุตบอลได้แสดงความเห็นต่อจังหวะนี้ว่า "ผมคิดว่าบอลออกหลังไปแล้ว แต่กรรมการให้เป็นประตู ซึ่งเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อจริง ๆ ตอนที่จังหวะนั้นเกิดขึ้น, ภาพช้าที่ปรากฏแสดงให้เราเห็นว่าบอลออกไปแล้ว

‘อียู’ เสนอยึดทรัพย์รัสเซียที่ถูกอายัด ชดเชยความเสียหายแก่ยูเครน

(1 ธ.ค. 65) สำนักข่าวซินหัว เผยว่าเมื่อวันพุธ (30 พ.ย.) ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เสนอแผนการยึดทรัพย์สินของรัสเซียที่ถูกอายัด เพื่อชดเชยความเสียหายแก่ยูเครนที่เกิดจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

แถลงการณ์จากอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่าทรัพย์สินที่ถูกอายัดจะถูกมอบให้ยูเครน ‘เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดกับประเทศ’ ซึ่งมีการประเมินอยู่ที่ราว 6 แสนล้านยูโร (ประมาณ 21.87 ล้านล้านบาท)

ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ปิดกั้นเงินสำรองของธนาคารกลางรัสเซีย จำนวน 3 แสนล้านยูโร (ราว 10.93 ล้านล้านบาท) และอายัดเงินของอภิมหาเศรษฐีรัสเซีย จำนวน 1.9 หมื่นล้านยูโร (ราว 6.92 แสนล้านบาท)

สื่อผู้ดี เผย ‘แจ็ค หม่า’ อาศัยที่ญี่ปุ่นนาน 6 เดือนแล้ว หลัง ‘รัฐบาลจีน’ เข้ากวาดล้างธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี

‘แจ็ค หม่า’ ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลก อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นมาเกือบ 6 เดือนแล้ว หลังจากไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะ ภายหลังจากที่ทางการจีนกวาดล้างภาคธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า ‘แจ็ค หม่า’ ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลก ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมากับครอบครัวของเขาที่กรุงโตเกียวและเมืองอื่น ๆ ของญี่ปุ่น และบอกว่าหม่าแวะเวียนไปที่โมสรส่วนบุคคลหลายแห่งในกรุงโตเกียวอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นผู้สนใจสะสมศิลปะสมัยใหม่ของญี่ปุ่นรวมถึงการหาแนวทางขยายผลประโยชน์ทางธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนั้น ยังมีผู้พบเห็นเขาไปปรากฏตัวในสถานที่อื่น ๆ อีกเช่น เกาะมายอร์กาในสเปนเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ และอิสราเอล

นายกหนุ่มแห่งอังกฤษ เลือกวิ่งชนกำแพงเมืองจีน หลังลั่น!! ยุคทองความสัมพันธ์ 'จีน-อังกฤษ' จบลงแล้ว

ในคำปราศัยของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายริชชี่ ซูแน็กเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ได้สร้างความงงๆ ให้กับคนทั่วไป แม้แต่นักการเมืองและนักข่าวของอังกฤษเองถ้วนหน้า เมื่อนายซูหนักบอกว่า “ยุคทองของความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีนได้สิ้นสุดลงแล้ว และอังกฤษจะปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่กับจีนให้เข้มแข็งจริงจังเหมือนคู่แข่งขันที่แท้จริง” 

นายซูแน็กยังวิจารณ์ต่อไปว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างอังกฤษกับจีนนั้นเป็นเรื่องอ่อนหัด

เรื่องนี้ดูท่า นายซูแน็กดู จะเอาจริง!! เพราะที่ที่เขาพูดคืองานเลี้ยงประจำปีที่เรียกว่า The Lord Mayor’s Banquet ในกรุงลอนดอน ซึ่งแขกผู้ฟังของเขาก็คือบรรดาผู้นำทางธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การพูดในงานเลี้ยงครั้งนี้เป็นการประกาศนโยบายต่างประเทศครั้งแรกของนายซูแน็กหลังจากเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะประเด็นที่เฉพาะเจาะจงกับจีน

แน่นอนว่า การพูดเช่นนี้ออกมา เจ้าตัวเองก็คงจะรู้ดีว่า ต้องถูกวิจารณ์ว่านี่เป็นพูดให้ดูสวยหรูดูดี แต่เขาก็ดักคอไว้ว่าสิ่งที่เขาพูดออกไป ไม่ใช่วาทศิลป์ที่ให้ฟังเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ประทับใจเท่านั้น

นั่นก็เพราะในปีใหม่ที่จะมาถึงในไม่ช้านี้นั้น นายซูแน็ก บอกว่า รัฐบาลอังกฤษจะประกาศถึงแผนการที่เขาเรียกว่า 'การทบทวนแผนรวมความมั่นคงของประเทศกับนโยบายต่างประเทศ' ที่เรียกว่า The Integrated Review ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีหน้าตาอย่างไรและต้องคอยดูว่าจะกล้าหาญเด็ดเดียวเหมือนในยุคของนางลิส ทรัสส์เป็นนายกรัฐมนตรีแค่ไหน 

เนื่องจากมีรายงานว่าในระหว่างที่เป็นนายกรัฐมนตรี 45 วันนั้น นางทรัสส์กำลังวางแผนที่จะจัดประเภทของจีนให้อยู่ในประเทศที่ 'คุกคาม' ต่ออังกฤษ แต่เธอยังไม่ได้ทำเรื่องนี้ ก็ต้องลาออกไปเสียก่อน กลับกันคำปราศัยของนายซูหนักในงานเลี้ยงดังกล่าวเขาเพียงแต่กล่าวว่าจีนมีความท้าทายที่เห็นได้ชัดเจนต่อความเชื่อและผลประโยชน์ของอังกฤษ และจีนได้เพิ่มความท้าทายไปสู่การเป็นเผด็จการมากขึ้นกว่าเดิม โดยนายซูหนักใช้คำว่าจีน 'ท้าทาย' แทนคำว่า 'คุกคาม' ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ว่าอ่อนไป 

อย่างไรก็ตามการกล้าออกมาประกาศว่ายุคทองของความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีนหมดสิ้นแล้วก็ถือได้ว่า แข็งกร้าวใช้ได้ไม่น้อย ในขณะที่จีนกำลังมีบทบาทเด่นชัดในเวทีโลกทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจขณะนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษหมาดๆ และหนุ่มที่สุด และมีเชื้อสายอินเดียผู้นี้ ย่อมตระหนักดีว่าจีนมีบทบาทอย่างสำคัญต่อโลกในด้านต่างๆ เช่นเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกหรือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก (ฟังๆ ดูก็ขัดแย้งกันอยู่ว่าอังกฤษจะเอาอย่างไงกับจีน)

>> ทีนี้เมื่ออังกฤษ จะไม่ให้ความสำคัญกับจีน แล้วอังกฤษจะให้ความสำคัญกับใคร?

นายซูหนักประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะยังคงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับสหรัฐฯ, แคนาดา, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อผนึกกำลังทางการทูตและธุรกิจให้เกิดการแข่งขันที่มีพลังยิ่งขึ้น (ในการสู้กับจีน) 

กลับมาที่คำถามว่า ทำไมจู่ๆ นายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้นี้จึงออกมาประกาศเปรี้ยงว่า ยุคทองกับจีนจบสิ้นลงแล้ว!!

ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนายซูแน็กถูก ส.ส. พรรคคอนเซอเวทีฟด้วยกันกดดันว่าอังกฤษควรมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีนตั้งแต่เขาเข้ามาเป็นนายกฯใหม่ๆ อีกด้านหนึ่งนายซูแน็กก็ถูกคณะกรรมการด้านต่างประเทศของสภาผู้แทนตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ของอังกฤษที่มีต่อจีนหลังจากที่คณะกรรมการชุดนี้ไปพบกับประธานาธิบดีของไต้หวัน และมีคำถามต่อไปอีกด้วยว่านโยบายต่างประเทศของอังกฤษต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิคเป็นอย่างไรและอังกฤษจะสามารถเพิ่มอิทธิพลของตนในภูมิภาคนี้ได้หรือไม่

เพราะฉะนั้นนายซูแน็กจึงใช้โอกาสที่พบพูดจากับนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศในงานเลี้ยงของนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนประกาศถึงท่าทีของอังกฤษที่มีต่อจีนอย่างแข็งกร้าว ว่าต่อจากนี้ไปความสัมพันธ์นั้นจะเปลี่ยนเป็นการแข่งขันที่อังกฤษเอาจริง ไม่เหมือนกับท่าทีของรัฐบาลอังกฤษเมื่อสิบปีที่แล้ว ที่อดีตนายกฯ ยุคนั้นอย่างนายเดวิด แคมเมอรอน พยายามที่จะดึงจีนให้มาเป็นมิตรทางเศรษฐกิจและคู่ค้าที่สำคัญ โดยไม่เป็นศัตรูทางการเมือง

ทว่าคำประกาศที่ดูจะตัดญาติขาดมิตรไม่ยี่หระกับจีนของนายซูแน็ก ก็ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจาก ส.ส. พรรคเดียวกัน เช่น อดีตหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟ เซอร์ เอียน ดังคั้น สมิท ที่เป็นผู้หนึ่งที่ผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายไม่อ่อนกับจีนว่า "กระทรวงต่างประเทศอังกฤษจะใช้วิธีการอย่างไรที่จะสร้างความตื่นตระหนกวิตกให้จีนบ้างในคำประกาศว่าจะกระทำอย่างจริงจังนี้ช่วยขยายความหน่อย" ส่วนแน่นอนพรรคฝ่ายค้าน คือ เลเบอร์ วิจารณ์ว่า "คำพูดนี้จืดเหมือนโจ๊ก และใช้วาจาเปลี่ยนไปมากับนโยบายที่มีต่อจีน"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top