Tuesday, 1 July 2025
WORLD

‘ผู้นำสูงสุดอิหร่าน’ ปลุกกลุ่มประเทศมุสลิม ร่วมกันบอยคอต ‘อิสราเอล’ ระงับการค้าทุกด้าน โต้ตอบสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

(2 พ.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ว่า ‘อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี’ ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าวเมื่อวันพุธ (1 พ.ย.) ที่ผ่านมา เรียกร้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของรัฐบาลในโลกมุสลิม ในการร่วมมือกันระงับการค้าขายกับ ‘รัฐไซออนิสต์’ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง อาหารและสินค้าจำเป็นอื่น

ขณะเดียวกัน คาเมเนอี กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ว่าเป็นประเทศ ‘ที่มีรัฐบาลต่อต้านปาเลสไตน์’

ด้าน พล.จ.เรซา การาอี อัชเตียนี รมว.กลาโหมอิหร่าน กล่าวว่า “บางประเทศในยุโรปที่ช่วยเหลืออิสราเอล ควรขับเคลื่อนนโยบายอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้สร้างความโกรธเคืองแก่ชาวมุสลิม”

ทั้งนี้ นายนาสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน กล่าวเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ถึงการที่ทหารอเมริกันในอิรักและซีเรีย ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางทหารโดยกองกำลังหลายกลุ่มบ่อยครั้งขึ้น เป็นผลจาก ‘นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลวอชิงตันที่ผิดพลาด’ หนึ่งในนั้น คือ การสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส

‘จีน-แทนซาเนีย’ ผนึกความร่วมมือ ปั้น ‘ศูนย์การค้า-ขนส่ง’ ครบวงจร หนุนเป็นศูนย์กลางการค้าข้ามพรมแดน โกยเงินสะพัดกว่าพันล้าน

(2 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานข่าว การสร้างเขตความร่วมมือด้านการบริการที่ครอบคลุมของนิคมอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ และการขนส่งแอฟริกาตะวันออกในประเทศแทนซาเนีย เป็นหนึ่งในรายการผลลัพธ์จากความร่วมมือเชิงปฏิบัติของการ ที่มีการเปิดเผยในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา

เขตความร่วมมือดังกล่าวลงทุนและพัฒนาในปี 2020 โดย ‘เวยไห่ หัวถ่าน ซัพพลาย เชน เมเนจเมนต์ จำกัด’ (Weihai Huatan Supply Chain Management Co., Ltd.) วิสาหกิจจากเมืองเว่ยไห่ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน โดยครอบคลุมพื้นที่รวม 109,700 ตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ในแอฟริกาตะวันออก (EACLC) ศูนย์นิทรรศการ 1 แห่ง คลังสินค้าหัวถ่านในต่างประเทศ 1 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดาร์เอสซาลาม ประเทศแทนซาเนีย และคลังสินค้าทัณฑ์บนและศูนย์ขนส่ง ณ สนามบินแซนซิบาร์ ในเกาะแซนซิบาร์ของแทนซาเนีย อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอีก 1 แห่งด้วย

จากโครงการทั้งหมดนี้ โครงการศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ในแอฟริกาตะวันออก ระยะที่ 1 ได้ให้การรองรับวิสาหกิจของจีนและแทนซาเนียแล้วมากกว่า 200 ราย และโครงการฯ ระยะที่ 2 ซึ่งมีกำหนดเปิดใช้งานในเดือนมีนาคมปี 2024 คาดว่าจะมีการตั้งถิ่นฐานของผู้ค้ากว่า 1,600 องค์กร หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ศูนย์แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแทนซาเนีย

3 ปีหลังจัดตั้ง เขตความร่วมมือดังกล่าวกลายเป็นโครงการความร่วมมือที่โดดเด่นระหว่างจีนและแทนซาเนีย โดยสามารถให้บริการที่ครอบคลุม อาทิ การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ นิทรรศการและการจัดแสดง คลังสินค้าในต่างประเทศ การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และห่วงโซ่อุปทานด้านการเงิน

ในปี 2022 เขตความร่วมมือฯ มีมูลค่าผลผลิตรวม 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.59 พันล้านบาท) หนุนให้เกิดการส่งออกสินค้าทั่วไปที่ผลิตในประเทศเป็นมูลค่ามากกว่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.77 พันล้านบาท)

ปัจจุบัน เขตความร่วมมือดังกล่าวเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจมากกว่า 230 ราย ในจำนวนนี้ 60 รายมาจากประเทศจีน สร้างตำแหน่งงานทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 2,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็นมากกว่า 5,000 ตำแหน่งหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ

‘ระเบิดฟองน้ำ’ ระเบิดเคมีชนิดฟองโฟม อาวุธลับของกองทัพอิสราเอล ใช้ปิดกั้นทางเข้า-ออกอุโมงค์ใต้ดินฉนวนกาซา สกัดเส้นทางกลุ่มฮามาส


ระเบิดฟองน้ำ (Sponge Bomb) จะทำลายกลุ่มฮามาสลงราบคาบได้หรือไม่?

กองทัพอิสราเอล (IDF) เตรียม ‘ระเบิดฟองน้ำ’ เป็นอาวุธปิดกั้นอุโมงค์ฉนวนกาซา ขณะที่กองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอลเริ่มเข้าสู่ฉนวนกาซา การวิเคราะห์จำนวนมากที่เผยแพร่นับตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้ง ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่กองทัพอิสราเอลจะเผชิญในการรุกภาคพื้นดินในฉนวนกาซา คือ อุโมงค์ใต้ดินที่เรียกว่า ‘รถไฟใต้ดินของฉนวนกาซา’

อุโมงค์ใต้ดินเขาวงกตที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มฮามาสในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ใช้เพื่อเก็บจรวดและกระสุนปืน และช่วยให้สมาชิกกลุ่มฮามาสสามารถเคลื่อนที่ได้โดยไม่ถูกตรวจพบ เครือข่ายอุโมงค์เหล่านี้มีขนาดประมาณตั้งแต่ 40–80 เมตร และขยายออกไปกระทั่งหลายร้อยกิโลเมตร อุโมงค์เหล่านี้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มฮามาส และส่วนใหญ่อยู่ใต้พื้นที่พลเรือน

ภายในอุโมงค์ กลุ่มฮามาสเก็บสะสมอาวุธและสามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีของ IDF ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 กลุ่มฮามาสเริ่มสร้างอุโมงค์เหล่านี้ และสามารถสร้างเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อกลุ่มฮามาสเข้าควบคุมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์ในปี 2006 


หนังสือพิมพ์ Telegraph ระบุว่า IDF กำลังพยายามใช้หุ่นยนต์และโดรนในอุโมงค์ เพื่อไม่ให้ทหารของตนตกอยู่ในอันตราย โดยสังเกตว่า จนถึงขณะนี้ยานพาหนะเหล่านี้ยังคงประสบปัญหาในการทำงานในอุโมงค์ใต้ดิน

สำหรับ ‘ระเบิดฟองน้ำ’ ได้รับการพัฒนาโดย IDF เพื่อจัดการกับสงครามอุโมงค์ของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา โดยเป็นอุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบมาเพื่อปิดกั้นอุโมงค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นระเบิดเคมีที่ไม่มีการระเบิด แต่จะสร้างฟองโฟมที่สามารถขยายและแข็งตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีขนาดเล็กพอที่จะใช้โดยทหารเพียงหนึ่งหรือสองคนในการติดตั้ง (คล้ายสเปรย์โฟมที่ใช้อุดรอยหลังคาหรือผนังอาคารบ้านเรือนที่ใช้กันทั่วไป)

ปกติแล้ว ‘ระเบิดฟองน้ำ’ จะถูกบรรจุอยู่ในภาชนะพลาสติก โดยมีแท่งโลหะกั้นเพื่อแยกของเหลว 2 ชนิดที่แตกต่างกัน เมื่อมีการใช้งานแท่งโลหะกั้นจะถูกดึงออก และทำให้ของเหลวผสมกันจนเกิดการขยายตัว กระทั่งสามารถปิดกั้นอุโมงค์เป้าหมายที่ต้องการได้


ในปี 2021 มีรายงานว่า IDF ได้ทำการทดสอบระเบิดฟองน้ำในอุโมงค์จำลอง ระหว่างการทดสอบระเบิดเหล่านี้ครั้งแรกพบว่า ‘สารเคมีเหลว’ (liquid emulsion) เป็นอันตรายหากใช้งานไม่อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้ทหารอิสราเอลหลายนายถึงกับตาบอดมาแล้ว

เคยมีการใช้โฟมเหนียวทางการทหารเพื่อเป็นอาวุธทางเลือก โดยมีรายงานว่า กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ใช้โฟมเป็นอาวุธที่ไม่อันตรายถึงชีวิตในการควบคุมฝูงชน หรือควบคุมนักรบที่เป็นฝ่ายศัตรู การใช้ ‘ระเบิดฟองน้ำ’ ทำให้เกิดข้อกังวลด้านศีลธรรมเป็นอย่างมาก การกำหนดเป้าหมายในการทำลายอุโมงค์เหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อชีวิตของพลเรือน กลายเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนสำหรับ IDF ในการต่อต้านภัยคุกคามจากกลุ่มฮามาสโดยไม่ทำอันตรายต่อผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังต้องเผชิญความเสี่ยงเป็นอย่างมากต่อการถูกประณามจากนานาชาติอีกด้วย

‘ญี่ปุ่น’ เตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เกือบ 9 ล้านล้านบาท พยุงเงินเฟ้อครัวเรือน-หนุนเอกชนขึ้นค่าแรง-ลงทุนในประเทศ

(2 ต.ค.66) บลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ วงเงินราว 37.4 ล้านล้านเยน (เกือบ 9 ล้านล้านบาท) เพื่อเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในหลายด้าน ตั้งแต่การช่วยเหลือภาคครัวเรือน ไปจนถึงการลงทุนในประเทศ

หนึ่งในแผนการช่วยเหลือสำคัญภายใต้มาตรการนี้คือการช่วยบรรเทาผลกระทบเงินเฟ้อให้ภาคครัวเรือนญี่ปุ่น ช่วยภาคเอกชนปรับขึ้นค่าแรง และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังคาดว่ารัฐบาลจะประกาศงบการลงทุนก้อนใหญ่  21.8 ล้านล้านเยน (ราว 5.22 ล้านล้านบาท) รวมอยู่ด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เคยเกริ่นถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่เอาไว้ว่า จะมีเรื่องการลดภาษีเงินได้ไปจนถึงการแจกเงินช่วยครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ยังมีขึ้นท่ามกลางคะแนนนิยมของคิชิดะที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดลงมาแตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว โดยผลสำรวจคะแนนนิยมของสถานีโทรทัศน์ เอเอ็นเอ็น พบว่า คะแนนนิยมคิชิดะลดลงมาอยู่ที่ 26.9% ส่วนผลสำรวจของหนังสือพิมพ์นิกเกอิ อยู่ที่ 33% โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึง 58% ยังระบุด้วยว่า ไม่มีความหวังอะไรมากนักกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้

ทั้งนี้ ค่าแรงที่แท้จริงของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงมา 17 เดือนติดต่อกันแล้ว เนื่องจากอัตราค่าแรงไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีการปรับค่าแรงตามฤดูกาลเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีนี้ไปแล้วก็ตาม

‘สหรัฐฯ’ ผุดแผนสร้างระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ พลังทำลายล้างสูงกว่าเดิม 24 เท่า!! เติมเต็มแสนยานุภาพให้กองทัพ เสริมแกร่งหลักประกันความสงบสุขของโลก

(1 พ.ย. 66) ‘กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา’ ชงแผนพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุด ที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงที่สุดที่เคยมีมา รุนแรงกว่ารุ่นที่เคยใช้ถล่มญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 24 เท่า รอเพียงไฟเขียวจากสภาคองเกรซเท่านั้น ก็จะสามารถเดินหน้าโครงการได้ทันที

โดยระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯ นี้ มีชื่อว่า ‘B61-13 Gravity Bomb’ ที่มีน้ำหนักมากถึง 360 กิโลตัน มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับ ‘Little Boy’ ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ที่มีน้ำหนัก 15 กิโลตัน หรือ ‘Fat Man’ ที่ทิ้งลงในเมืองนางาซากิหลังจากนั้นอีก 3 วัน ก็มีน้ำหนักเพียง 24 กิโลตัน แต่ถึงกระนั้น แรงของระเบิดนิวเคลียร์ทั้ง 2 ลูกในครั้งนั้นก็ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และทำให้มีพลเมืองชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตมากกว่า 2 แสนคน

ส่วนงบประมาณในการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล โดยคาดว่าจะผลิตในปริมาณจำกัดไม่เกิน 50 ลูก และจะนำมาใช้แทนหัวรบนิวเคลียร์รุ่นเก่า ‘B61-7’ ที่ผลิตตั้งแต่ช่วงปี 1980 เพื่อให้โควตาคลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ยังคงเท่าเดิม

การใช้งานระเบิด B61-13 Gravity Bomb ก็เป็นไปตามชื่อของมัน คือจะต้องบรรจุระเบิดในเครื่องบินขับไล่พาไปสู่เป้าหมาย และทิ้งลงกลางเป้าโดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลก แทนการบรรจุลงในขีปนาวุธแล้วยิงออกสู่เป้าหมายในการโจมตี

‘จอห์น พลัมบ์’ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมด้านนโยบายอวกาศ กล่าวในแถลงการณ์ว่า การพัฒนาศักยภาพด้านอาวุธของสหรัฐฯ ในวันนี้ เป็นไปตามสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป จากภัยคุกคามจากศัตรูในรูปแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

โดยสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ในการประเมินศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ในการยับยั้งภัยคุกคาม และตอบสนองต่อการโจมตีทางยุทธศาสตร์เมื่อจำเป็น เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรของเรา ซึ่งระเบิดรุ่นใหม่จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้แก่ฝ่ายทำเนียบขาว ในการโจมตีเป้าหมายทางทหารในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นได้

แต่เมื่อมีผู้สนับสนุน ก็ย่อมมีผู้เห็นต่าง โดย ‘เมลิสซา พาร์ก’ ผู้อำนวยการบริหารของการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ของเพนตากอน ว่าเป็น ‘การเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารอย่างไร้ความรับผิดชอบ’ ที่จะนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่

ทางองค์กรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการพัฒนา Gravity Bomb โดยทันที เพราะการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เป็นการสังหารเป้าหมายโดยไม่เลือกหน้า ทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของพลเรือน ซึ่งเข้าข่ายอาชญากรรมทางสงคราม

แต่ข้อเรียกร้องนี้ คงไม่อาจหยุดยั้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาได้ เพราะล่าสุดทางรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่าจะเตรียมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ฐานทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินในรัฐเนวาดา หลังจากเกิดเหตุสงครามระหว่างกลุ่มฮามาส และอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ไม่นานนี้

เพราะในมุมมองของสหรัฐฯ การยกระดับแสนยานุภาพทางทหารของตน เป็นหนทางที่จะรักษาความสงบสุขของโลกได้นั่นเอง

‘เทสล่า’ ชนะคดี หลังถูกฟ้องเรียกเงิน 400 ล้านดอลลาร์ ปม ‘ระบบขับขี่อัตโนมัติ’ ทำงานพลาดจนคนขับเสียชีวิต

(1 พ.ย.66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เทสล่า (Tesla) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชนะคดีที่เหยื่อในอุบัติเหตุฟ้องร้องว่าระบบขับขี่อัตโนมัติ หรือ ออโต้ไพลอต (Autopilot) ในรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า ได้หักพวงมาลัยเองบนทางหลวง ที่ความเร็ว 105 กม./ซม. ทำให้รถพุ่งชนต้นไม้ข้างทางและเกิดเพลิงไหม้ ขณะที่คนขับยังอยู่ในรถและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนผู้โดยสาร 2 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 

โดยอุบัติเหตุรถชนที่เชื่อว่าเกิดจากระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autopilot) ส่งผลให้ ไมคาห์ ลี (คนขับ) เสียชีวิต ตามเอกสารของศาลระบุ การพิจารณาคดีเกี่ยวข้องกับคำให้การเกี่ยวกับการบาดเจ็บของผู้โดยสารและโจทก์ได้ขอให้คณะลูกขุนเรียกเงินจำนวน 400 ล้านดอลลาร์ บวกค่าเสียหายเชิงลงโทษ

เหตุการณ์นี้ทำให้เทสล่า ปฏิเสธความรับผิด โดยกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขึ้นรถ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายนี้ยังแย้งว่ายังไม่ชัดเจนว่าระบบ Autopilot ทำงานอยู่ในเวลาที่เกิดอุบัติเหตุหรือไม่ และคณะลูกขุนเองก็ตรวจสอบแล้วว่า รถคันดังกล่าวไม่ได้มีข้อผิดพลาดในการผลิต เรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางข้อสงสัยที่เกิดขึ้นกับระบบขับขี่อัตโนมัติ (Autopilot) การชนะคดีครั้งนี้ทำให้เทสล่าสามารถยืนกรานคำพูดของตัวเองได้ว่าระบบ ‘ไม่มีข้อบกพร่อง’

คณะลูกขุน กล่าวกับสำนักข่าวว่า หลังคำตัดสินว่าพวกเขาเชื่อว่าเทสล่าเตือนผู้ขับขี่เกี่ยวกับระบบของมันแล้ว และโทษว่าคนขับเสียสมาธิเอง อย่างไรก็ตาม เทสล่ากำลังเผชิญกับการสอบสวนทางกฎหมายโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จากการอ้างว่ายานพาหนะของตนสามารถขับเองได้

นอกจากนี้ หน่วยงานความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ ยังได้ตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หลังจากตรวจพบการชนมากกว่าสิบครั้ง แม้รถคันอื่นจะจอดอยู่เฉยๆ ก็ตาม 

ลูกเรือ Air Canada บังคับให้ผู้โดยสารพิการ คลานลงเครื่องเอง เพราะไม่อยากรอทีมช่วยเหลือ เนื่องจากต้องเตรียมบินต่อ

ไม่นานมานี้ สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ลูกเรือสายการบิน Air Canada เที่ยวบินจากแวนคูเวอร์ไปลาสเวกัส ได้บังคับให้ผู้โดยสารพิการคลานออกจากเครื่องเอง 

โดย Deanna Hodgins ภรรยาของ Rodney Hodkins ผู้โดยสารชายพิการ ได้โพสต์เล่าผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

"อย่างที่หลาย ๆ คนทราบกันดีว่า สามีของฉันมีรถเข็นคนพิการ เนื่องจากมีอาการอัมพาตสมองพิการ - เขาไม่สามารถเดินได้ เราเดินทาง 1-2 ครั้งต่อปี และฉันรู้สึกเจ็บปวดมากที่สามีของฉันต้องคลานจากแถวที่ 12 เพื่อออกจากเครื่องบิน เพราะลูกเรือไม่ต้องการรอให้ทีมช่วยเหลือมาช่วยพาสามีของฉันออกจากเครื่องบิน"

ทั้งนี้ลูกเรือได้แจ้งเธอและสามีว่า "คุณต้องไปที่บริเวณด้านหน้าเครื่องบิน เพราะเราจะต้องเคลียร์เครื่องบิน เนื่องจากมีผู้โดยสารในเที่ยวบินต่อไป"

ด้วยความตกใจเธอจึงได้ถามลูกเรือว่า "เขาจะไปได้อย่างไร" แต่ลูกเรือตอบกลับมาแบบสุดพีก "ฉันไม่รู้ แต่เราต้องเคลียร์เครื่องบิน เรามีเที่ยวบินอื่น..."

เธอโกรธมากที่ได้เห็นสามีต่อสู้เพื่อลากร่างกายของเขาอย่างช้า ๆ และเจ็บปวด และเมื่อถึงบริเวณด้านหน้าเครื่องบิน เธอได้ให้สามีขึ้นหลังของเธอ พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า "สามีของฉันทนทุกข์ทรมานมาหลายวันแล้ว ในขณะที่เราอยู่ในเวกัส...ฉันรู้สึกแย่กับมาก ๆ...แต่เขาแข็งแกร่งและตั้งใจแน่วแน่มาก เขาต่อสู้กับความเจ็บปวดเพื่อที่เราจะได้เพลิดเพลินกับวันครบรอบของเราที่นั่น..."

สำหรับสายการบินดังกล่าว มีพนักงานทําความสะอาด 8 คน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 2 คน กัปตันและผู้ช่วยกัปตัน ที่ร่วมเฝ้าดูสามีของเธอคลานออกมา เพื่อไปยังด้านหน้าของเครื่องบิน

"เราต้องดิ้นรนต่อหน้าผู้คนหลายสิบคน ในขณะที่บางคนมองออกไปและคนอื่น ๆ มองด้วยความละอายใจ เมื่อเห็นฉันพาเขาลงจากเครื่องบินลํานั้น เขาเจ็บขาและฉันเจ็บหลัง แต่ยิ่งไปกว่านั้นเราทั้งสองเจ็บปวดทางใจ" Deanna เล่าและสะท้อนความรู้สึกต่ออีกว่า...

"สิทธิมนุษยชนของสามีดิฉันถูกเหยียบย่ำและสายการบินแอร์แคนาดา ไม่ตอบสนองอะไรต่อเราและไม่เคยเอื้อมมือออกมาช่วยเหลืออย่างที่พวกเขาสัญญาไว้ สามีของฉันเป็นมนุษย์ที่งดงามที่สุดในโลกและไม่สมควรได้รับสิ่งนี้เลย...โปรดแบ่งปันและแท็ก Air Canada หากคุณทําได้"

ภายหลังที่ Deanna Hodgins ได้โพสต์เรื่องราวนี้ลงเฟซบุ๊ก ต่างมีผู้ใช้รายอื่น ๆ เข้ามาแสดงความคิดเห็นพร้อมวิพากษ์วิจารณ์ลูกเรือสายการบินดังกล่าวกันอย่างมากมาย

'ผลสำรวจ' ชี้!! 'ต่างชาติ' พอใจสภาพแวดล้อมในจีน 'ภาษี-ตลาด-กฎหมายต่างๆ' เอื้ออำนวยต่อการลงทุน

(1 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลสำรวจจากสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (CCPIT) ประจำไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ของปีนี้ พบบริษัทที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่ในจีนพึงพอใจกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยประโยชน์ของจีน

รายงานระบุว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอันเกี่ยวข้องกับการชำระภาษี การเข้าถึงตลาด และการระงับข้อพิพาทในจีน ได้รับเสียงชื่นชมเป็นวงกว้างจากกลุ่มบริษัทต่างชาติที่ดำเนินงานในจีน โดยเกือบร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการต่างชาติกลุ่มสำรวจ 700 ราย พอใจกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในจีน

กลุ่มบริษัทต่างชาติมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจในจีน โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 80 คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนจะยังคงทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นในปี 2023 ด้านสภาฯ จะเดินหน้าเกื้อหนุนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในจีนที่มุ่งเน้นตลาด อิงกฎหมาย และเป็นสากลมากขึ้น

‘คำสั่งฮันนิบาล’ ไพ่ลับของกองทัพอิสราเอล เส้นแบ่งระหว่าง ‘ความมั่นคง’ กับ ‘ศีลธรรม’

เมื่อพูดถึงยุทธศาสตร์ทางทหารและความมั่นคงของชาติ ‘คำสั่งฮันนิบาล’ ของอิสราเอลถือเป็นหนึ่งในปฏิบัติการที่มีการโต้เถียงและเป็นความลับมากที่สุด ซึ่งเต็มไปด้วยความลับและความคลุมเครือทางศีลธรรม 

‘คำสั่งของฮันนิบาล’ ถูกตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งระหว่าง ‘ความมั่นคงของชาติ’ และ ‘ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์’ ซึ่งมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อทหารอิสราเอลและคนในสังคมทั่วไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่ซับซ้อนของยุทธศาสตร์และจริยธรรมทางการทหาร

คำสั่งฮันนิบาล (ฮีบรู: נוהל שניבעל) (หรือ ‘ระเบียบปฏิบัติ’ หรือ ‘พิธีสาร’) เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้ง ซึ่งใช้โดยกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) เพื่อป้องกันการจับกุมทหารอิสราเอลโดยกองกำลังศัตรู 

ชื่อของคำสั่งนี้ไม่ใช่เพื่อการแสดงความเคารพต่อ ‘ฮันนิบาล’ นายพลชาวคาร์ธาจิเนียน (Carthaginian) ในตำนาน ซึ่งเป็นที่เลื่องลือในเรื่องความฉลาดและเก่งกล้าสามารถทางการทหาร แต่เป็นคำย่อในภาษาฮีบรู ย่อมาจาก 'Hurry, Neutralize, Abduction, Locale' ซึ่งเป็นลำดับคำที่สรุปความเร่งด่วนและความรุนแรงของสถานการณ์ ซึ่งไม่ใช่แค่กลยุทธ์ทางการทหารเท่านั้น แต่เป็นคำแถลง การประกาศว่า IDF จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องตนเอง 

IDF เริ่มใช้คำสั่งนี้เป็นครั้งแรกในปี 1986 หลังจากมีการลักพาตัวทหาร IDF ในเลบานอนหลายครั้ง และมีการแลกเปลี่ยนนักโทษในเวลาต่อมา ข้อความฉบับเต็มของคำสั่งนี้ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ และจนกระทั่งปี 2003 ได้มีการเซ็นเซอร์จากทหารอิสราเอล ห้ามไม่ให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสื่อ 

ทั้งนี้ คำสั่งฮันนิบาลมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง และครั้งหนึ่งมีการกำหนดไว้ว่า "การลักพาตัวต้องยุติทุกวิถีทาง แม้จะแลกด้วยการโจมตีและทำร้ายคนของเราเองก็ตาม" 

หลายฝ่ายเชื่อว่า คำสั่งฮันนิบาลมีอยู่ 2 แบบซึ่งแตกต่างกัน แบบแรกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นความลับสุดยอด สามารถเข้าถึงได้เฉพาะนายทหารระดับบนของ IDF เท่านั้น และอีกแบบหนึงคือ ‘กฎหมายปากเปล่า’ ใช้สำหรับผู้บังคับกองพลและนายทหารระดับต่ำกว่า 

ในแบบหลัง มักใช้การตีความ ‘โดยทั้งหมด’ ตามตัวอักษร เช่น ‘ทหาร IDF ตายดีกว่าถูกลักพาตัว’ แต่ในปี 2011 Benny Gantz เสนาธิการของ IDF ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้อนุญาตให้สังหารทหารของ IDF

>>กำเนิดของคำสั่งฮันนิบาล

คำสั่งฮันนิบาล (Hannibal Directive) ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนถึงความเร่งด่วนและความรุนแรง มีต้นกำเนิดมาจากยุคแห่งความสับสนอลหม่านในทศวรรษ 1980 หากย้อนไปเมื่อปี 1948 ประเทศอิสราเอลถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างมากมายในภูมิภาคนี้ 

อิสราเอลพยายามคิดค้นยุทธศาสตร์ที่จะทำหน้าที่เป็นเครื่องป้องปรามการลักพาตัวทหาร เพื่อยุติชะตากรรมที่อาจนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในทุก ๆ ด้าน ทำให้กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) ที่รู้จักในด้านความกล้าหาญและความสามารถในการฟื้นตัวทางยุทธศาสตร์ ต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติที่จะปฏิบัติภารกิจเพื่อปกป้องตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง 

ผลลัพธ์ที่ได้คือ ‘คำสั่งฮันนิบาล’ ซึ่งเป็นระเบียบการที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยผ้าคลุมแห่งความลับและความมุ่งมั่นสุดเคร่งครัด วัตถุประสงค์ของคำสั่งนี้ชัดเจน คือ ป้องกันการจับกุมทหารอิสราเอลโดยกองกำลังศัตรูไม่ว่าจะด้วยวิธีใด แม้ว่าจะหมายถึงการทำให้ชีวิตของเชลยต้องตกอยู่ในอันตรายก็ตาม เชลยที่เป็นทหารอิสราเอลถือเป็นเดิมพันที่มีราคาสูงอย่างยิ่ง

ทาง IDF จะไม่เจรจา และจะไม่ยอมให้ทหารอิสราเอลที่เป็นเชลยถูกใช้เป็นหมากในการเจรจาต่อรอง คำสั่งดังกล่าวจึงถูกปกปิดไว้เป็นความลับ ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนในกองทัพเท่านั้นที่ทราบ เป็นไพ่ที่ IDF จับไว้ใกล้หน้าอก พร้อมที่จะจั่วเล่นในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

>>การประหารชีวิตและข้อโต้แย้ง

‘คำสั่งฮันนิบาล’ ไม่ใช่เป็นเพียงโครงสร้างในทางทฤษฎี แต่เป็นแง่มุมที่เกิดขึ้นจริงและถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่งของยุทธศาสตร์ทางทหารของอิสราเอล ทั้งนี้มีผู้พบเห็นเหตุการณ์ที่เกิดจากคำสั่งฮันนิบาล และการประหารชีวิตหลายครั้ง 

กรณีที่น่าสังเกตและเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดเกิดขึ้นระหว่างการรุกรานฉนวนกาซาของอิสราเอลในปี 2014 ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ทำให้คำสั่งฮันนิบาลตกเป็นที่จับตามองไปทั่วโลก และต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด 

ในตอนนั้นหลายคนเชื่อว่าร้อยโท Hadar Goldin ถูกกลุ่มติดอาวุธฮามาสจับกุมไป และทางกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) ก็ไม่ลังเลใจที่จะนำคำสั่งฮันนิบาลมาใช้งาน หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการยิงอย่างหนักหน่วงเพื่อป้องกันการลักพาตัว พื้นที่ดังกล่าวถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่ ถือเป็นการแสดงพลังทำลายล้างที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

แต่ผลพวงของปฏิบัติการครั้งนั้นถือเป็น ‘หายนะ’ พื้นที่แห่งนั้นมีแผลเป็นจากเศษซากของการโจมตี บริเวณใกล้เคียงทั้งหมดเหลือเพียงซากปรักหักพัง และพลเรือนชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกทหารอิสราเอลสังหาร ชีวิตของพวกเขาต้องจบลงอย่างกะทันหันและน่าเศร้า 

เหตุการณ์ดังกล่าวทิ้งรอยเปื้อนอันดำมืดไว้ในบันทึกของ IDF และคำสั่งฮันนิบาลก็ถูกผลักไสให้กลายเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลายฝ่ายกลับมาตั้งคำถามถึง ‘จริยธรรมและศีลธรรม’ ของคำสั่งฮันนิบาลมากขึ้น

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสั่งฮันนิบาลรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง โดยมีคำแย้งว่าคำสั่งฮันนิบาลเป็นนโยบายโหดร้ายที่อนุมัติการสังหารทหารอิสราเอลโดยพี่น้องทหารร่วมกองทัพกันเอง โดยให้เหตุผลต่อการกระทำว่าเพื่อป้องกันการถูกจับกุม มันเป็นระเบียบปฏิบัติที่ท้าทายความสนิทสนมกันและความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์ ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับค่านิยมที่ IDF อ้างว่าจะยึดถือ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ออกคำสั่งดังกล่าวมีมุมมองที่แตกต่างออกไป พวกเขาปกป้องคำสั่งฮันนิบาลว่าเป็น ‘ความชั่วร้ายที่จำเป็น’ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่รุนแรงแต่จำเป็นในการยับยั้งกองกำลังศัตรูจากการลักพาตัวทหารของอิสราเอล

ในสายตาของพวกเขา คำสั่งดังกล่าวเป็นเครื่องป้องปราม ซึ่งเป็นอาวุธทางจิตวิทยาที่ส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังศัตรูของอิสราเอลว่า การจับทหารอิสราเอลจะไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ใด ๆ แต่กลับจะเป็นการปล่อยพายุแห่งการแก้แค้นแทน 

การถกเถียงต่อเรื่องคำสั่งฮันนิบาลดำเนินไปอย่างดุเดือด โดยก้าวข้ามขอบเขตของยุทธศาสตร์ทางทหาร และเจาะลึกขอบเขตของจริยธรรมและศีลธรรม 

คำสั่งของฮันนิบาลได้จุดประเด็นขัดแย้งทางศีลธรรมที่ฝังลึก ซึ่งมาพร้อมกับการดำรงอยู่ของอิสราเอล ทำให้สังคมต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงอันโหดร้ายของความขัดแย้งและราคาของการคุ้มครอง

>>ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทหารและสังคม

คำสั่งฮันนิบาล มีแนวทางการทำสงครามที่เคร่งครัดและไม่ยอมแพ้ เหมือนเงาที่ทอดยาวเหนือกองทัพและสังคมอิสราเอล กำหนดรูปแบบการรับรู้ ทัศนคติ และโครงสร้างหลักในการสร้างความสมดุลระหว่างความปลอดภัยและจริยธรรม 

ทหารที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อปกป้องชาติของตนด้วยความทุ่มเทอย่างแน่วแน่ พบว่าตัวเองต้องต่อสู้กับปัญหาทางศีลธรรมที่ซับซ้อน การรู้ว่าชีวิตของพวกเขาอาจจงใจทำให้สหายของพวกเขาตกอยู่ในอันตรายเพื่อขัดขวางการจับกุม ทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนแอและความขัดแย้งภายในอย่างลึกซึ้ง 

ความวุ่นวายภายในนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกองทัพเท่านั้น มันแพร่กระจายไปทั่วจนถึงประชากรพลเรือน จุดประกายให้เกิดการถกเถียงอย่างรุนแรงและการค้นหาจิตวิญญาณเกี่ยวกับการแบ่งสาขาทางจริยธรรมของคำสั่งดังกล่าว

แรงวิจารณ์ในสังคมรุนแรงมากขึ้น พร้อม ๆ กันการต้องต่อสู้กับความเป็นจริงในเรื่องความมั่นคงของชาติ หรือศีลธรรม จริยธรรม คำสั่งฮันนิบาลในรูปแบบดั้งเดิมเผยให้เห็นทางเลือกอันโหดร้ายที่มาพร้อมกับหมอกแห่งสงคราม บีบบังคับให้ประเทศต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกที่โหดร้าย เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ

การตรวจสอบข้อเท็จจริงของสาธารณะและการถกเถียงภายในแวดวงทหารทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ IDF ดำเนินการประเมินคำสั่งใหม่อย่างครอบคลุม

ในปี 2016 การใคร่ครวญนี้สิ้นสุดลงด้วยการแก้ไขคำสั่งฮันนิบาลครั้งสำคัญ เพื่อให้มีจุดกึ่งกลางของความมั่นคงของชาติและความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์ IDF พยายามที่จะสร้างสมดุลที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น ระเบียบการฉบับปรับปรุงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อทหารที่ถูกจับกุม 

ขณะเดียวกันก็รักษาท่าทางที่แข็งแกร่ง เมื่อเกิดการลักพาตัวทหาร การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลต่อคำสอนในกองทัพอิสราเอล สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงค่านิยม และยอมรับถึงความจำเป็นในการทำสงครามที่มีจริยธรรมมากขึ้น 

ผลกระทบของคำสั่งฮันนิบาลและการแก้ไขในภายหลัง ตอกย้ำความซับซ้อนของความขัดแย้งสมัยใหม่ และการต่อสู้เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความต้องการด้านความมั่นคงกับความจำเป็นของมนุษยชาติ เป็นเครื่องเตือนใจว่า แม้ในช่วงสงครามอันดุเดือด คุณค่าของชีวิตมนุษย์ก็ไม่ควรถูกบดบังด้วยหมอกแห่งสงคราม

Tzvi Feldman

“ไม่มีแม่คนไหนอยากให้ลูกชายของเธอถูกฆ่ามากกว่าถูกจับเป็นเชลย...เราเลือกที่จะรอจนกว่าเขาจะกลับมา แม้ว่ามันจะกินเวลาหลายปีก็ตาม” Pnina Feldman มารดาของ Tzvi Feldman หายตัวไปในเลบานอน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1982 ยังไม่มีการค้นพบร่างของ Tzvi Feldman จนทุกวันนี้

Yossi Fink

“ฝันร้ายที่เราเผชิญมาตลอด 10 ปีนั้นไม่อาจอธิบายได้ แต่ถึงอย่างนั้น ฉันก็ไม่ยอมให้เพื่อนของทหารที่ถูกลักพาตัวพยายามช่วยชีวิตเขาแม้จะต้องแลกมาด้วยการฆ่าเขาก็ตาม ตราบใดที่ยังมีชีวิตก็ยังมีความหวัง ฉันยังมั่นใจด้วยว่าทหารจะปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งและจะไม่สังหารทหารอิสราเอล คำสั่งดังกล่าวส่งผลต่อขวัญกำลังใจของทหารอย่างไรบ้าง? ทหารที่ถูกจับเข้าคุกต้องรู้ว่าจะต้องทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือเขาโดยไม่ฆ่าเขา” Mordechai Fink พ่อของ Yossi Fink ซึ่งถูกลักพาตัวในปี 1986 ทำให้เกิดการกำหนดคำสั่งฮันนิบาลขึ้นมา ร่างของ Yossi Fink ถูกนำกลับมาฝังในอิสราเอลเมื่อ 22 กรกฎาคม 1996 กินเวลา 10 ปีหลังจากการหายไป

‘ซาอุฯ’ เต็งหนึ่ง!! ขึ้นแท่นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 หลังคู่แข่งถอนเกลี้ยง รอคอนเฟิร์มผลอีกทีปลายปีหน้า

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 ‘ซาอุดีอาระเบีย’ ได้รับการยืนยันอย่างไม่เป็นทางการ ได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 เรียบร้อย หลังบรรดาคู่เเข่งพาเหรดถอนตัวไปหมด

การเเข่งขันลูกหนังโลกในอีก 11 ปีข้างหน้าจะวนกลับมาเเข่งบนเเผ่นดินเอเชียอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ชาติเเดนน้ำมันเป็นตัวเต็งที่จะคว้าสิทธิ์อยู่เเล้ว เเต่ก็เเอบมีหลายชาติให้ความสนใจทั้ง อินโดนีเซีย รวมถึงไทยด้วย เเต่ทั้ง 2 ชาติก็เปลี่ยนใจหันไปหนุนซาอุฯ เเทน

ล่าสุดชาติที่ถูกมองว่ามีความพร้อมเเละน่าจะเป็นคู่เเข่งได้ดีที่สุดอย่าง ‘ออสเตรเลีย’ ก็ประกาศถอนตัวออกไปเช่นกัน ทำให้ตอนนี้เหลือเพียงเเค่ซาอุดีอาระเบียชาติเดียว เท่ากับว่าพวกเขาจะรับสิทธิ์ไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตามขั้นตอนต่างๆ ยังไม่เสร็จสิ้น ซาอุดีอาระเบียจะต้องยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการเข้าไปให้ฟีฟ่าภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน นอกจากนั้น จะมีการตรวจสอบข้อบังคับของฟีฟ่าเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือความเท่าเทียมต่างๆ หลังจากปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นในครั้งล่าสุดที่ประเทศกาตาร์มาเเล้ว

ซาอุดีอาระเบียมีเวลาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2024 เพื่อยื่นข้อเสนอฉบับเต็มเเละยืนยันเรื่องสิทธิมนุษยชน หลังจากนั้นจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการภายในปลายปีหน้า

'เมสซี่' ยกย่อง 'โรนัลโด้' จากใจ ชี้!! เบื่อที่ถูกเปรียบเทียบให้เป็นอริกัน

‘ลิโอเนล เมสซี่’ กัปตันทีมอินเตอร์ ไมอามี่ มองว่าการแข่งขันระหว่างเขากับ ‘คริสเตียโน่ โรนัลโด้’ แนวรุกของอัล-นาสเซอร์ เป็นการต่อสู้ที่ดีมาก ๆ และไม่ควรนำมาเปรียบเทียบให้เป็นอริกัน หลังจากเพิ่งคว้าบัลลงดอร์สมัยที่ 8

เมสซี่ เอาชนะทั้ง เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ และ คีเลี่ยน เอ็มบัปเป้ คว้ารางวัลลังลงดอร์ สมัยที่ 8 ไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งนั่นทำให้เขาหนีห่างคู่ปรับอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่คว้ารางวัลนี้แล้ว 5 สมัย โดยห่างออกไปเป็น 3 ครั้ง หลังจากต่อสู้กันมานานหลายปี

กัปตันทีมชาติอาร์เจนติน่า ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ ‘L'EQUIPE’ ในกรณีที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ โดยระบุว่า…

"ผมไม่ชอบการเปรียบเทียบเลย ก่อนที่ผมจะได้แชมป์ฟุตบอลโลก, ผมเคยถูกเปรียบเทียบกับตำนานอย่าง ดิเอโก้ (มาราโดน่า) ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรรมเลยสำหรับคนคนหนึ่งที่ต้องถูกเปรียบเทียบ"

"สำหรับผมกับ คริสติอาโน่ ก็ไม่ควรถูกเปรียบเทียบเช่นกัน มันเป็นการต่อสู้ที่ยอดเยี่ยมจากมุมมองของกีฬา เราเบื่อที่ต้องมาเป็นคู่ปรับกัน เพราะเราทั้งคู่เป็นนักแข่งขันที่ยอดเยี่ยม"

"ทุกวันนี้เขายังต้องการจะชนะทุกสิ่งตลอดเวลา คุณไม่สามารถหาคนที่มีแพชชั่นสูงขนาดนี้ได้, แม้แต่ผมเองก็ไม่คิดว่าจะสู้เขาได้ในเรื่องนี้ มันเป็นช่วงเวลาที่เอ็นจอยมาก ๆ สำหรับพวกเราทั้งคู่และสำหรับทุกคนที่รักฟุตบอล"

"ผมคิดว่าเราสมควรได้รับเครดิตมากมายจากการที่สามารถอยู่บนจุดสูงสุดมาเป็นเวลานาน เพราะอย่างที่พวกเขาพูดกัน มันง่ายที่จะก้าวไปถึงจุดนั้น แต่สิ่งที่ยากคือการรักษาความสม่ำเสมอให้ได้ต่างหาก และเราอยู่บนจุดสูงสุดเป็นเวลา 10-15 ปี"

"มันยากมาก ๆ ที่จะรักษาระดับนั้นไว้ได้ และมันน่าทึ่งมาก ๆ ผมคิดว่ามันยังคงเป็นความทรงจำที่ดีสำหรับทุกคนที่ติดตามเรา"

สำหรับ เมสซี่ ทำลายสถิติชาติที่คว้ารางวัลบัลลงดอร์มากที่สุดด้วยตัวคนเดียว อาร์เจนติน่า 8 สมัย (2009, 2010, 2011, 2012, 2015, 2019, 2021 และ 2023) ได้อย่างยิ่งใหญ่

‘อดีตบิ๊ก TSMC’ ชี้!! อุตสาหกรรมชิปจีน กำลังรุดหน้าแบบก้าวกระโดด แนะ ‘สหรัฐฯ’ รักษามาตรฐานตัวเองให้ดี อย่ามัวจ้องสกัดความก้าวหน้าของจีน

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 ผู้เชี่ยวชาญเผย บริษัท เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเทอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (SMIC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน และ หัวเว่ย (Huawei) ยังคงรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่องในด้านเทคโนโลยีการผลิตชิปชั้นสูง แม้จะถูกสหรัฐฯ กีดกันทุกวิถีทาง และคาดว่าเครื่องจักรลิโธกราฟีของ ASML ที่ทาง SMIC มีใช้งานอยู่แล้วจะสามารถช่วยให้ผู้ผลิตจีนรายนี้พัฒนาชิประดับ 5 นาโนเมตรได้สำเร็จในที่สุด

‘เบิร์น เจ. ลิน’ (Burn J. Lin) วิศวกรไฟฟ้าซึ่งเป็นอดีตรองประธานบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ให้สัมภาษณ์กับสื่อบลูมเบิร์ก โดยระบุว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐฯ จะปิดกั้นอย่างสมบูรณ์แบบไม่ให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีชิปของตัวเอง”

แม้สหรัฐฯ จะทั้งคว่ำบาตรและควบคุมการส่งออกเพื่อสกัดการพัฒนาทางเทคโนโลยีของจีน แต่มันกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ SMIC สำแดงความยืดหยุ่น (resilience) และความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น (ingenuity) ด้วยการพัฒนาชิป 7 นาโนเมตรรุ่นที่ 2 ออกมา และยังมีกำลังผลิตมากพอที่จะทำให้หัวเว่ยนำไปใช้เป็นขุมพลังให้กับสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ได้ถึง 70 ล้านเครื่อง

ว่ากันว่า SMIC ใช้เครื่องจักรลิโธกราฟีของ ASML รุ่น Twinscan NXT:2000i ซึ่งมีเทคโนโลยี deep ultraviolet (DUV) และสามารถยิงชิปขนาด 7 นาโนเมตร และ 5 นาโนเมตรได้ ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เพิ่งจะประกาศห้ามส่งออกเครื่องจักรดังกล่าวให้กับจีนเมื่อต้นปีนี้เอง

ทั้งนี้ ความละเอียดของเครื่อง Twinscan NXT:2000i นั้นอยู่ที่ระดับ ≤ 38nm ซึ่งดีพอที่จะใช้พิมพ์ลายบนแผ่นเวเฟอร์แบบ single-patterning สำหรับการผลิตชิป 7 นาโนเมตรในปริมาณมากๆ ได้ แต่หากจะก้าวไปถึงกระบวนการผลิตระดับ 5 นาโนเมตรนั้นจำเป็นต้องใช้ความละเอียดที่สูงขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นผู้ผลิตชิปสามารถใช้กลวิธีที่เรียกว่า ‘การถ่ายแบบลายวงจรหลายครั้ง’ หรือ ‘multi-patterning’ เพื่อให้ได้ลวดลายจุลภาคระดับนาโนเมตรที่แม่นยำและละเอียดขึ้น แต่เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนทำให้ไม่เอื้อต่อการผลิตในปริมาณมากๆ

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ทำให้ SMIC ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้วิธี ‘multi-patterning’ เพื่อให้ได้ความละเอียดที่สูงขึ้น และก็ดูเหมือนว่ากำลังผลิตจะอยู่ในระดับสูงพอที่หัวเว่ยรับได้ด้วย ดังนั้น จึงเป็นคำถามที่น่าคิดว่า มาตรการกีดกันของสหรัฐฯ ต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนนั้น ‘เวิร์ก’ จริงหรือไม่?

“สิ่งที่สหรัฐฯ ควรจะทำก็คือ พยายามรักษาความเป็นผู้นำในด้านการออกแบบชิป มากกว่าพยายามสกัดกั้นความก้าวหน้าของจีน ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะจีนใช้ยุทธศาสตร์หลอมรวมทั้งประเทศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชิปของตัวเอง และ (สิ่งที่สหรัฐฯ ทำ) ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกด้วย” ลิน ระบุ

มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ยังดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับ SMIC โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการที่วอชิงตันออกข้อจำกัดต่างๆ จนทำให้ TSMC ไม่สามารถทำธุรกรรมกับองค์กรจีนบางแห่ง ส่งผลให้คำสั่งซื้อจำนวนมากตกไปอยู่ในมือของ SMIC แทน และเอื้อให้บริษัทแห่งนี้สามารถพัฒนาเทคนิคการผลิตและศักยภาพทางเทคโนโลยีมากขึ้นตามไปด้วย

‘FBI’ เตือน 'สหรัฐฯ' เสี่ยงขั้นสูงถูกโจมตี  ผลพวงจากสงคราม 'อิสราเอล-ฮามาส'

(1 พ.ย.66) สงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำให้ความเสี่ยงเกิดเหตุโจมตีต่างๆ นานาในสหรัฐฯ พุ่งสูง ท่ามกลางความกังวลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับชุมชนชาวยิวและชาวมุสลิม จากคำเตือนของคริสโตเฟอร์ เรย์ อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ)

"เราประเมินว่าการกระทำต่างๆ ของฮามาสและพันธมิตรของพวกเขา จะถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจ ในแบบที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่พวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) เริ่มดำเนินการในสิ่งที่เรียกว่าสถาปนาการปกครองแบบกอหลิบเมื่อปลายปีก่อน" เรย์บอกกับคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของวุฒิสภา

"มันเป็นเวลาที่ต้องกังวล เราอยู่ในช่วงเวลาที่อันตราย" เขากล่าว "มันไม่ใช่เวลาแห่งความตื่นตระหนก แต่มันเป็นเวลาแห่งการระแวดระวัง"

ผู้อำนวยการเอฟบีไอรายนี้ ระบุว่า พวกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย "ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ที่พวกนักรบฮามาสหรือองค์กรก่อการร้ายต่างชาติอื่นๆ อาจใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งในปัจจุบัน ดำเนินการโจมตีที่นี่ ในแผ่นดินของเรา"

"ความกังวลปัจจุบันทันด่วนที่สุดของเราคือพวกหัวรุนแรง บุคคลหรือกลุ่มต่างๆ อาจได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ต่างๆ ในตะวันออกกลาง และทำการโจมตีเล่นงานชาวอเมริกาที่ออกไปใช้ชีวิตประจำวัน" เขากล่าว "ในนั้นไม่ใช่แค่พวกหัวรุนแรงท้องถิ่นที่ได้แรงบันดาลใจจากองค์กรก่อการร้ายต่างชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพวกหัวรุนแรงภายในประเทศ ที่เล็งเป้าเล่นงานประชาคมชาวยิวและชาวมุสลิมด้วย"

เรย์ ได้อ้างถึงเหตุจับกุมชายคนหนึ่งในฮิวสตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่ชายคนนี้ได้ทำการศึกษาวิธีการผลิตระเบิดเป็นอย่างดี และได้โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการ ‘สังหารยิง’ รวมถึงเหตุเด็กชายชาวมุสลิมวัย 6 ขวบในอิลลินอยส์ ถูกฆ่าโดยเจ้าของห้องเช่า และเวลานี้กำลังถูกสอบสวนโทษฐานก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง

"สงครามที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เพิ่มความเสี่ยงเหตุโจมตีเล่นงานพลเมืองอเมริกาในสหรัฐฯ สู่อีกระดับ" เรย์กล่าว

อัลกออิดะห์, รัฐอิสลาม (ไอเอส) และฮิซบอลเลาะห์ ต่างเรียกร้องให้สมุนโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เรย์ บอกว่า เอฟบีไอ ยังไม่ได้พบภัยคุกคามอย่างปัจจุบันทันด่วนที่น่าเชื่อถือ จากองค์กรก่อการร้ายต่างชาติใดๆ

แต่กระนั้นภัยคุกคามที่มีต่อประชาคมชาวยิวในสหรัฐฯ "อยู่ในจุดที่ไม่ไกลจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์" ผู้อำนวยการเอฟบีไอระบุ "ความจริง คือ ประชาคมชาวยิวเป็นเป้าหมายโดยเฉพาะของเกือบทุกๆ องค์กรก่อการร้ายในทุกมิติ" เรย์กล่าว พร้อมบอกว่าชาวยิวมีสัดส่วนคิดเป็นแค่ 2.4% ของประชากรสหรัฐฯ แต่ในบรรดาอาชญากรรมจากความเกลียดชังทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาในศาสนาเลย มีถึง 60% เลยทีเดียวที่เกี่ยวข้องกับชาวยิว

‘รัฐมนตรีสเปน’ จี้ ‘อียู’ ตัดขาด-คว่ำบาตร ‘อิสราเอล’ ชี้!! รีบทำก่อนสายและกลายเป็นผู้ร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

(31 ต.ค. 66) อิออเน เบลาร์รา รัฐมนตรีสิทธิสังคมของสเปน เร่งเร้าบรรดาผู้นำยุโรป ให้จัดการกับอิสราเอลในทันที ในนั้นรวมถึงตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทูตและกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หลังรัฐยิวยังทิ้งบอมบ์ถล่มกาซาอย่างหนัก และยกระดับปฏิบัติการทางภาคพื้นเล่นงานนักรบฮามาส ในฉนวนปาเลสไตน์ที่ถูกปิดล้อมแห่งนี้ พร้อมเตือนถ้าไม่ดำเนินการใด ๆ อียูก็เสี่ยงกลายเป็นผู้สมคบคิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นอกจากนี้แล้วรัฐมนตรีหญิงรายนี้ยังเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับ เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ตามคำกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงครามกับพลเรือนในกาซา "ตามหลังค่ำคืนแห่งความโหดเหี้ยมในกาซา ฉันมีสารง่าย ๆ แต่เป็นสารที่สำคัญมาก ๆ ส่งถึงพวกผู้นำยุโรป อย่าทำให้เรากลายเป็นผู้สมคบคิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การกระทำนี้ ไม่ใช่ในนามของเรา" เบลาร์รา กล่าวในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์)

มีชาวปาเลสไตน์มากกว่า 8,000 ราย ในนั้นเป็นเด็ก 3,342 คน ที่เสียชีวิตในฉนวนกาซา นับตั้งแต่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลเริ่มต้นขึ้น ปฏิบัติการแก้แค้นดังกล่าว มีขึ้นหลังจากพวกนักรบฮามาส บุกจู่โจมเข้าไปในอิสราเอลอย่างไม่คาดคิด พร้อมๆกับยิงจรวดเข้าใส่ดินแดนอิสราเอลหลายร้อยลูกเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราวๆ 1,400 ราย และจับตัวประกันทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติ ไปประมาณ 230 คน

ในการพูดถึงความรุนแรงของสถานการณ์ในกาซาในปัจจุบันและการตอบโต้ที่ไม่สมเหตุสมผลของอิสราเอล รัฐมนตรีสิทธิสังคมของสเปน ได้ยกตัวอย่างกรณีที่มีการตัดอินเทอร์เน็ตและบริการโทรศัพท์ในฉนวนแห่งนี้โดย ชี้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าว มีเป้าหมายที่ชัดเจนมาก ๆ นั่นคือรับประกันว่าอิสราเอลจะสามารถก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติโดยไม่ต้องเผชิญกับผลสนองใด ๆ

"การนิ่งเฉยของเรา กำลังเปลี่ยนเราให้กลายเป็นผู้สมคบคิด" รัฐมนตรีหญิงรายนี้เน้นย้ำ โดยอ้างว่า "อิสราเอลกำลังเชื่อว่าพันธมิตรนานาชาติจะรับประกันเอกสิทธิ์คุ้มครองพวกเขา"

"เราจำเป็นต้องดำเนินการในตอนนี้ พรุ่งนี้อาจสายเกินไป" เธอกล่าวต่อ พร้อมส่งเสียงเรียกร้องไปถึงพวกผู้นำยุโรป "ตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐอิสราเอล ทำการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับพวกที่อยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง และโดยปราศจากข้อสงสัยเลย ต้องนำตัว เนทันยาฮู ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อที่เขาจะถูกดำเนินคดีในสิ่งที่เขาเป็น นั่นคืออาชญากรสงคราม"

นอกจากนี้แล้ว เธอยังเรียกร้องไปยังเหล่าพลเมืองอียู ให้ออกมารวมตัวบนท้องถนนสายต่าง ๆ และส่งเสียงดังมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้สิ้นสุดลง

กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล ยกระดับปฏิบัติการโจมตีทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นเล่นงานอิสราเอลในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้การติดต่อสื่อสารเกือบถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง และเพิ่งสามารถเชื่อมโยงการติดต่อกลับมาได้บางส่วนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปิดล้อมฉนวนกาซายังคงมีต่อไป โดย เนทันยาฮู ประกาศในวันเสาร์ (28 ต.ค.) ว่าสงครามกับฮามาส 'เข้าสู่เฟส 2' แล้ว

'การท่องเที่ยวอิหร่าน' ผงาด!! หลังโควิดซา เติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3 เท่า

ไม่นานมานี้ Ezzatollah Zarghami รัฐมนตรีกระทรวงมรดกทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และศิลปะ-หัตถกรรมของอิหร่าน กล่าวว่า การเติบโตของการท่องเที่ยวของอิหร่านนั้นสูงกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกในยุคหลังโควิด

โดยข้อมูลจากองค์การการท่องเที่ยวโลกระบุว่า ในปี 2022 มีนักท่องเที่ยวไปเยือนอิหร่านทั้งหมด 4.1 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 31.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน

นอกจากนี้ สถิติโดยกระทรวงมรดกทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และศิลปะ-หัตถกรรมของอิหร่านแสดงให้เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศอิหร่านมากกว่า 3.3 ล้านคนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้าอิหร่านในปี 2022 พบว่า 55% เป็นชาวอิรัก ขณะที่นักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานและตุรกีอยู่ที่ 6% และอันดับถัดไปที่ 5% คือ ปากีสถาน

ไม่เพียงเท่านี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติมียอดการใช้จ่ายมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ในอิหร่านในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นราว 73% เมื่อเทียบกับปีก่อนกันเลยทีเดียว

ด้าน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมรดกทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และศิลปะ-หัตถกรรมของอิหร่าน กล่าวว่า ระยะเวลารอในการออกวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจะลดลงเหลือเพียงหนึ่งสัปดาห์ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เตหะราน ยังแสวงหากลยุทธ์เพื่อผ่อนคลายชายแดน โดยอาจยกเลิกข้อกำหนดวีซ่าสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางของ 60 ประเทศเพียงฝ่ายเดียวด้วย

สำหรับ อิหร่าน นั้น ถือเป็นประเทศที่มีแหล่งมรดกโลกอยู่ในรายชื่อขององค์การยูเนสโกถึง 27 แห่ง และถูกจัดอยู่ในรายชื่อประเทศ 10 อันดับแรก ที่ผู้คนจะต้องเดินทางมามากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อไปเยี่ยมมรดกของพวกเขาทั้งหมด เนื่องจากมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

โดยฤดูใบไม้ผลิ ถือเป็นฤดูที่น่ารื่นรมย์ในการไปเยือนอิหร่าน ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นสำหรับการเดินทางไปอิหร่าน ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคมและต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ส่วนผู้ที่สนใจเพลิดเพลินกับกีฬาฤดูหนาว เช่น สกีทางตอนเหนือของเตหะราน สามารถเดินทางได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์


ยิ่งไปกว่านั้น อิหร่านยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพอีกด้วย โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอิหร่าน ได้เคยระบุไว้ว่า ในปี 2022 มีผู้ป่วยชาวต่างชาติมากกว่า 1.2 ล้านคน ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของอิหร่าน ภายใต้ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในด้านการแพทย์ต่างๆ ที่มีราคาไม่แพง อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ดึงดูดผู้ป่วยชาวต่างชาติให้มายังประเทศแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top