Tuesday, 1 July 2025
WORLD

ประณาม Nestle ไม่ยอมถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย โวย 'สนับสนุนสงคราม-ท่อน้ำเลี้ยง' ให้ ศก.หมีขาว

หน่วยงานป้องกันคอร์รัปชันแห่งชาติของยูเครน (NACP) จะไม่ทน ได้ออกแถลงการณ์ประณาม ให้ Nestle เครือบริษัทผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้สนับสนุนสงครามข้ามชาติรายใหญ่ของโลก เนื่องจาก Nestle ไม่ยอมถอนธุรกิจออกจากรัสเซียตามที่รัฐบาลยูเครนกดดัน 

Nestle เป็นบริษัทผลิตอาหารที่มีแบรนด์ชื่อดังในเครือมากกว่า 2,000 แบรนด์ทั่วโลก และติดตลาด เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น Nescafé, Milo, Kit-Kat หรือ Maggi เป็นต้น และเป็นอีกบริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนสร้างฐานโรงงานในรัสเซีย ผลิตสินค้าบริโภคเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ธุรกิจต่างชาติหลายแห่งประกาศยกเลิก แห่ถอนกิจการออกจากรัสเซียหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้วก็ตาม

นี่จึงสร้างความไม่พอใจกับรัฐบาลยูเครน ที่ต้องการให้บริษัทต่างชาติร่วมกันถอนกิจการออกจากรัสเซียเพื่อสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลมอสโก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัท Nestle กลับเพิกเฉย ไม่กล้าสละตลาดรัสเซียที่สร้างผลกำไรให้แก่บริษัทเพียง 2% จากรายได้ทั้งหมดทั่วโลก 

หากย้อนไปช่วงเริ่มต้นสงครามรัสเซีย-ยูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนเคยเรียกร้องให้บริษัท Nestle ถอนกิจการทั้งหมดออกจากรัสเซีย หลังจากที่มีบริษัทข้ามชาติกว่า 400 แห่ง ประกาศปิดกิจการโดยยอมทิ้งสินทรัพย์ และเงินลงทุนหลักหมื่นล้าน เพื่อแสดงจุดยืนร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย

โดยครั้งนั้น Nestle ตอบสนองข้อเรียกร้องของรัฐบาลยูเครนด้วยการระงับการนำเข้า และ ส่งออกสินค้าของ Nestle ไปยังตลาดรัสเซียหลายพันรายการ รวมทั้งยกเลิกการโฆษณาสินค้า และ แผนการลงทุนเพิ่มเติมในรัสเซียทั้งหมด แต่ยังคงดำเนินกิจการในรัสเซียต่อไป โดยจะบริจาคเงินช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์จากสงครามให้แก่ยูเครนแทน ด้านผู้นำยูเครนจึงออกมาตอบโต้ว่า บริษัท Nestle ยังแสดงจุดยืนไม่มากพอ ให้สมกับสโลแกนของบริษัท "Good Food, Good Life" แต่เลือกที่จะคบค้ากับรัสเซีย ที่เป็นรัฐก่อการร้าย

และจนถึงวันนี้ Nestle ก็ยังคงดำเนินกิจการในรัสเซียอย่างต่อเนื่อง แถมยังสร้างความได้เปรียบทางการตลาด หลังจากที่บริษัทคู่แข่งอื่น ๆ ถอนกิจการออกจากรัสเซียไปแล้ว จึงทำให้ทุกวันนี้ สินค้าของ Neslte ครองตลาดในรัสเซีย ทุกชั้นวางสินค้าตามห้างสรรพสินค้า และ ซูเปอร์มาร์เก็ต ล้วนเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ของ Nestle 

เป็นเหตุให้รัฐบาลยูเครนทนไม่ไหว จึงออกแถลงการณ์ออกสื่อผ่านหน่วยงานป้องกันคอร์รัปชัน ประณามการทำธุรกิจของ Nestle ที่มีส่วนสนับสนุนสงครามระหว่างประเทศ ด้วยการเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้แก่เศรษฐกิจของรัสเซีย

อีกทั้งได้ยกประเด็นจุดยืนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแม้สวิตเซอร์แลนด์จะประกาศวางตัวเป็นกลางในสงคราม แต่ก็ทำการค้ากับรัฐบาลนาซีเยอรมัน พร้อม ๆ กับส่งออกสินค้าของตนไปยังประเทศที่ต่อต้านฮิตเลอร์ไปพร้อม ๆ กันด้วย เป็นจุดยืนแบบ 2 หน้าเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ทำให้รู้ว่าบริษัทสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย 

ด้าน Nestle ออกมาตอบโต้ ถึงสาเหตุที่ยังคงดำเนินกิจการต่อในรัสเซีย เพราะโรงงานของตนในรัสเซียมีพนักงานกว่า 7,000 คน และไม่อยากปิดโรงงาน ลอยแพพนักงานเหล่านั้น อีกทั้งประชาชนชาวรัสเซียยังต้องการสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในประเทศ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกิจการสงคราม บริษัทจึงตัดสินใจดำเนินธุรกิจในรัสเซียต่อไป 

ไม่ว่าทางยูเครนจะพอใจในคำตอบของ Nestle หรือไม่ แต่ก็ยังมีบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อีกไม่น้อยที่ยังประกอบกิจการในรัสเซีย อาทิ PepsiCo, Unilever และ Procter & Gamble เป็นต้น โดยเน้นผลิตสินค้าบริโภคที่จำเป็นสำหรับประชาชนทั่วไป อย่าง อาหาร เครื่องดื่ม นมผง ผ้าอ้อม เป็นต้น

'โตเกียว' ทุบสถิติ อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แตะ 25 องศา ยาวนานมากถึง 141 วันในปี 2023

(5 พ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเข้าสู่วันที่ 141 ของปีนี้ที่มีอุณหภูมิแตะ 25 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น ซึ่งนับเป็นสถิติที่สูงเป็นประวัติการณ์

รายงานระบุว่าเมื่อ 12.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น (4 พ.ย.) อุณหภูมิในโตเกียวพุ่งแตะ 26.3 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่สอดคล้องกับฤดูกาล เนื่องจากระบบความกดอากาศสูงส่งผลให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกไปสู่ทางตะวันตกของประเทศ

นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 ที่ใจกลางโตเกียวมีอุณหภูมิสูงแตะ 25 องศาเซลเซียสในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์อุณหภูมิที่กำหนดให้เป็น ‘วันในช่วงฤดูร้อน’ ในญี่ปุ่น

อนึ่ง รายงานในปี 2022 ระบุว่าสถิติสูงสุดของจำนวนวันในช่วงฤดูร้อนในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ของโตเกียวคือ 140 วัน

‘สหรัฐฯ’ ชี้ เยาวชนในประเทศ 2.8 ล้านคน ใช้ ‘ยาสูบ’ เกลื่อน พบ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ หนักสุด เตรียมใช้มาตรการควบคุมมากขึ้น

เมื่อวานนี้ (4 พ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ รายงานจำนวนนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายในประเทศที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบรวมอยู่ที่ราว 2.8 ล้านคนในปี 2023 โดยบุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดในหมู่เยาวชนอเมริกัน

รายงานระบุว่า ร้อยละ 25.2 ของนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายในสหรัฐฯ ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวัน และร้อยละ 89.4 สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบปรุงแต่งรสชาติ โดยศูนย์ฯ เตือนว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบในรูปแบบต่างๆ ของเยาวชนนั้นไม่ปลอดภัย

ศูนย์ฯ ระบุว่า การเฝ้าติดตามทางสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบแบบอ้างอิงหลักฐาน เช่น การเข้าช่วยเหลือเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ การรณรงค์ผ่านสื่อมวลชน ระเบียบข้อบังคับของสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ และนโยบายป้องกันยาสูบที่ผ่านการพิสูจน์แล้วอื่นๆ อาจลดการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนได้

‘จีน’ พัฒนา ‘แท่นลอยน้ำ’ ผสมผสานพลังงานลมนอกชายฝั่ง ผันไฟฟ้าได้ 16 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี เอื้อฟาร์มเลี้ยงปลาในทะเลลึก

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฝูโจว รายงานข่าวการก่อสร้างแท่นลอยน้ำผสมผสานพลังงานลม-การประมงแห่งแรกของโลก ได้เสร็จสิ้นที่ฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่งเกาะหนานรื่อ เมืองผูเถียน มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีน เมื่อไม่นานนี้

รายงานระบุว่าโครงการแท่นลอยน้ำเชิงบูรณาการนี้ ช่วยแก้ไขความท้าทายทางเทคโนโลยีของการผสมผสานพลังงานลมนอกชายฝั่งและการเลี้ยงปลาในทะเลลึก ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานลมในทะเลหลวงของจีน

ทั้งนี้ แท่นลอยน้ำสามขาแบบกึ่งจมน้ำ (Semi-Submersible) ที่ดำเนินงานอย่างเป็นทางการ จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 16 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี

‘อิสราเอล’ ถล่มโรงเรียนในกาซา ปชช.ทั้งเด็ก-ผู้หญิง หนีตายระทึก พบผู้เสียชีวิตแล้ว 20 ราย อ้าง!! เป็นฐานปฏิบัติการลับของกลุ่มฮามาส

(4 พ.ย. 66) จากเหตุโจมตีโดยอิสราเอล ที่เล็งเป้าหมายเล่นงานโรงเรียนแห่งหนึ่งทางเหนือของกาซา เบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บหลายสิบคน จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขที่บริหารงานโดยฮามาส ในดินแดนปาเลสไตน์แห่งนี้ ในตอนเช้าวันเสาร์ (4 พ.ย.) แต่ฝ่ายอิสราเอลอ้างว่าโรงเรียนดังกล่าวถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการของพวกนักรบ

“พบผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บหลายสิบคน ที่ถูกส่งมาโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ในกาซา ซิตี หลังมีการเล็งเป้าหมายโดยตรงใส่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่อัล-ซาฟตาวี ทางเหนือของกาซา” กระทรวงสาธารณสุขกาซาแถลง “กระสุนปืนครกยิงจากรถถัง ตกใส่โรงเรียนซึ่งเป็นเป้าหมายโดยตรง”

สำนักข่าวสกายนิวส์ ได้ตรวจสอบวิดีโอ เป็นภาพที่เผยให้เห็นว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในโรงเรียน แต่ไม่สามารถระบุถึงต้นเหตุได้ และเวลานี้กำลังรอถ้อยแถลงชี้แจงจากกองทัพอิสราเอล

ภาพในวิดีโอพบเห็นความตื่นตระหนกเกิดขึ้นทั่วจุดเกิดเหตุ บางส่วนพยายามวิ่งหนี ทั้งนี้พบเห็นชายคนหนึ่งเอามือกุมศีรษะในอารมณ์ช็อกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนผู้หญิงอีกคนพบเห็นกำลังคลุ้มคลั่งมอบไปรอบๆ เอามือปิดปากไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง

สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากมีการยิงระเบิดทิ้งบอมบ์ถล่มพื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างหนักในช่วง 2 วันก่อนหน้านั้น

“ในวันเดียวกัน ค่ายพักพิงอีกแห่ง Beach Refugee Cam ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน มีรายงานเด็กเสียชีวิต 1 ราย ทั้ง 2 จุดต่างตั้งอยู่ในทางเหนือของฉนวนกาซา” ถ้อยแถลงระบุว่า “ลงไปทางใต้ โรงเรียน 2 แห่งที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวก็ถูกโจมตีเช่นกัน มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 31 ราย”

ที่ผ่านมา กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล อ้างความชอบธรรมในการโจมตีอาคารต่างๆ อย่างเช่นโรงพยาบาล โรงเรียนและสุเหร่าในกาซา โดยอ้างว่า ฮามาสใช้สถานที่แห่งนี้สำหรับจุดประสงค์ในด้านปฏิบัติการ

เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนในวันเสาร์ (4 พ.ย.) เกิดขึ้นไม่นาน หลังจากปฏิบัติการทางอากาศของอิสราเอลโจมตีใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งกำลังอพยพผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากทางเหนือของกาซาที่ถูกปิดล้อม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บ 60 คนในวันศุกร์ (3 พ.ย.)

กองทัพอิสราเอลรุดชี้แจงว่า พวกเขาตรวจพบและโจมตีเข้าใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งถูกใช้งานโดยเครือข่ายก่อการร้ายฮามาสในเขตสู้รบ กองทัพบอกว่าพวกนักรบฮามาสถูกปลิดชีพในเหตุโจมตีดังกล่าว พร้อมกับกล่าวหาว่ากลุ่มนักรบกำลังใช้รถฉุกเฉินคันดังกล่าว ลำเลียงกำลังพลและอาวุธ

นอกจากนี้ เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนยังเกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังจากอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในเมืองจาบาเลีย ทางเหนือของกาซา ซิตี สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 195 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ออกมาเตือนว่า การกระทำของกองทัพอิสราเอลครั้งนี้อาจเข้าข่ายเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’

ย้อนอดีตการยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศอิหร่าน เมื่อ ‘เตหะราน’ เชื่อ ‘สหรัฐฯ’ กำลังเข้ามาแทรกแซง ปท.

มองต่างมุม ‘กรณีการยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน’

การยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน ของนักศึกษาอิหร่าน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 นั้น รัฐบาลสหรัฐฯได้ยืนยันว่า กิจกรรมของสถานทูตสหรัฐฯในอิหร่านเป็นเรื่องปกติ โดยอธิบายว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอิหร่านที่ยึดสถานทูตว่าไร้เหตุผลและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ อ้างตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ในอนุสัญญาเวียนนาปี 1963 มีข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสถานทูตต่างประเทศ และเอกสิทธิ์คุ้มครองของสถานทูตต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม อนุสัญญายังได้ระบุด้วยว่า เมื่อสถานทูตของประเทศใดที่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองนี้ จะต้องปฏิบัติตามในสองประเด็นนี้ด้วย

อุปกรณ์สื่อสารภายในสถานสหรัฐฯซึ่งทางการอิหร่านเชื่อว่า 
มีขีดความสามารถในการดักฟังการสื่อสารของทางการอิหร่าน

ประเด็นแรกคือ การเคารพต่อกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านที่สถานทูตนั้น ๆ ตั้งอยู่ ดังนั้นแม้ว่า สถานทูตสหรัฐฯจะมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานทูตสหรัฐฯจะสามารถละเมิดกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านได้

Operation Eagle Claw ยุทธการกรงเล็บอินทรี เพื่อช่วยเหลือตัวประกันอเมริกัน
แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และกลับต้องประสบความสูญเสียอย่างหนักแทน
อ่านได้ที่ https://www.facebook.com/doctoryothin/posts/pfbid0PS3swT2M1fRC5JnuEFE3APpDQjagekjPAf7XM8wMNo93ZX5Go2cv3VBad8rtvmJal

ประเด็นที่สองคือ เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศเจ้าบ้าน เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันได้ละเมิดประเด็นเหล่านี้ในอิหร่านมาหลายปีแล้ว (เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันยังคงปฏิบัติอยู่จนทุกวันนี้)

เริ่มจากประการแรกรัฐบาลสหรัฐฯให้การสนับสนุนการก่อรัฐประหารในอิหร่าน ปี พ.ศ. 2496 จนเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลของอิหร่าน ประการต่อมา มีเอกสารหลายร้อยฉบับที่พิสูจน์ถึงการแทรกแซงกิจการภายในของอิหร่านโดยรัฐบาลสหรัฐฯ

แม้ว่า การยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน จะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แต่ขบวนการนักศึกษาอิหร่านเชื่อว่า อาคารนั้นไม่ใช่สถานทูตจริง ๆ เพราะกิจกรรมมากมายหลายอย่างในอาคารนั้นบ่งบอก และหลายคนเชื่อว่าหากไม่ยึดสถานทูตสหรัฐฯ อาจเกิดการรัฐประหารในอิหร่านขึ้นซ้ำอีก ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอเมริกันยังคงสนับสนุนชาห์ปาเลวีต่อ แม้หลังจากการล่มสลายของระบอบการปกครองของพระองค์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์

‘เกาหลีใต้’ แจง!! ปมดรามา #แบนเที่ยวเกาหลี รับ ตม.บางคนอาจเข้มเกิน พร้อมเร่งหาทางแก้ปัญหาแรงงานผิด กม. ยัน!! ไม่ได้รังเกียจ ‘นทท.ไทย’

(4 พ.ย. 66) ตามที่มีข่าวกระแสแบนเที่ยวเกาหลีใต้ในสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากกรณีคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ใช้โอกาสการประชุมประจำปี ระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทยและเกาหลีใต้ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 หารือกับฝ่ายเกาหลีใต้ในประเด็นคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองเกาหลีใต้ และมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดของ ตม.เกาหลีใต้

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความกังวลต่อปัญหานี้ว่า ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมาก ที่ประสงค์ไปท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้อย่างบริสุทธิ์ใจ และกำลังกลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย ที่อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ของชาวไทยในภาพใหญ่ได้

ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวแสดงความเสียใจที่ได้ทราบปัญหาดังกล่าว และไม่ประสงค์ให้ปัญหานี้มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวไทย รวมถึงต่อมิตรภาพที่ดีระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย และย้ำว่า เกาหลีใต้ไม่มีนโยบายที่จะปฏิเสธนักท่องเที่ยวไทยเข้าเมืองแต่อย่างใด โดยการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดอาจเป็นเรื่องความเข้มงวดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่ ตม.บางคน

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ยังชี้แจงด้วยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาคนไทยทำงานอย่างผิดกฎหมายซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และได้ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการทำงานอย่างผิดกฎหมาย เช่น ‘Voluntary departure programme’ หรือ โครงการให้ผู้ทำงานอย่างผิดกฎหมายสมัครใจไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ เพื่อให้ส่งกลับประเทศต้นทาง โดยไม่ต้องรับโทษและไม่ถูกขึ้นบัญชีดำในการเข้าประเทศเกาหลีใต้ในอนาคต

นอกจากนี้ ในปีนี้ เกาหลีใต้ได้เพิ่มโควตาแรงงานไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ EPS (Employment Permit System) จำนวน 4,800 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับแรงงานจากไทย

ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย อาทิ ตม.เกาหลีใต้และกระทรวงแรงงานไทย อย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาทั้งสองด้านคือ การปฏิเสธคนไทยเข้าเมืองเกาหลีใต้ และการทำงานผิดกฎหมายของคนไทยในเกาหลีใต้ โดยได้สั่งการให้เร่งจัดการประชุมกลไกหารือด้านการกงสุลไทย-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 6 ที่เกาหลีใต้ เพื่อให้อธิบดีกรมการกงสุลนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่ายร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและโดยเร็วที่สุด

‘นครเดลี’ ของอินเดีย ประกาศสั่งปิดโรงเรียนทุกแห่งในเมือง 2 วัน หลังฝุ่นพิษ PM 2.5 พุ่งสูง กระทบชีวิต-สุขภาพ ปชช.กว่า 30 ล้านคน

(3 พ.ย. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางการของกรุงเดลี เขตขนาดใหญ่ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ได้มีการสั่งปิดโรงเรียนต่างๆ ทั่วเมืองหลวงทั้งหมดเป็นเวลา 2 วัน เนื่องจากหมอกควันพิษที่แผ่ปกคลุมไปทั่วเมืองใหญ่แห่งนี้ ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ราว 30 ล้านคน

โดยจากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลี พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สูงกว่า 35 เท่าจากค่ามาตรฐานปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

‘นายอาร์วินด์ เกจรีวัล’ มุขมนตรีเดลี โพสต์บน X (ทวิตเตอร์) ว่า “จากระดับมลพิษที่สูงขึ้น โรงเรียนรัฐและเอกชนทั้งหมดจะยังคงปิดเรียนต่อไปอีก 2 วัน”

ด้านรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเดลี ยังได้เรียกประชุมฉุกเฉิน เพื่อทบทวนสถานการณ์หมอกควันพิษที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ กรุงเดลี ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยกลุ่มหมอกควันพิษที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการเผาพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ไอเสียรถยนต์และการปล่อยมลพิษของโรงงานรวมกัน

‘โรงเรียนภาคค่ำ’ สถานที่รวมตัว ‘พนักงานออฟฟิศเซี่ยงไฮ้’ ใช้เวลาหลังเลิกงาน เรียนรู้วัฒนธรรม-ดนตรี-ศิลปะของจีน

เมื่อวานนี้ (3 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลังจากถึงเวลาเลิกงาน เหล่าพนักงานออฟฟิศจำนวนมากในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีนต่างเร่งรีบไป ‘โรงเรียนภาคค่ำ’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาใช้เรียนรู้วิชาศิลปะหลากหลายแขนง นอกเหนือจากการเรียนรู้อ่านเขียนดังเช่นในอดีต

เครื่องดนตรีแบบดั้งเดิม การวาดภาพสีน้ำและหมึก อุปรากรปักกิ่ง และการสานไม้ไผ่ ล้วนแล้วแต่เป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่หลักสูตรศิลปะจีนหลากหลายประเภท

การรวมกลุ่มคน 9-5 คนเพื่อมาโรงเรียนภาคค่ำกำลังกลายเป็นไลฟ์สไตล์ทันสมัยสำหรับหนุ่มสาวในเซี่ยงไฮ้

“โรงเรียนภาคค่ำแห่งนี้อยู่ใกล้บ้านมาก ๆ ค่ะ มันช่วยให้พนักงานออฟฟิศอย่างฉันได้เรียนชั้นเรียนเหล่านี้ด้วยราคาสมเหตุสมผล” หวัง นักเรียนโรงเรียนภาคค่ำคนหนึ่งกล่าว

คณะอาจารย์ในโรงเรียนภาคค่ำส่วนใหญ่มีประสบการณ์และอาจเป็นถึงศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น อาจารย์สอนอุปรากรปักกิ่งบางคนที่เป็นนักแสดงระดับชาติ ขณะชั้นเรียนงานฝีมือบางวิชาถูกสอนโดยผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

“ผมเริ่มสอนจงร่วน (เครื่องดนตรีสายประเภทหนึ่งของจีน) ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ผมเล่นเครื่องดนตรีหลายประเภทได้ดี เลยสอนกลองแอฟริกัน อูคูเลเล่ และกีตาร์ในโรงเรียนภาคค่ำด้วย นักเรียนทั่วไปของที่นี่มีอายุ 18-50 ปี และส่วนใหญ่มีอายุ 25-35 ปี” หลิวอวิ๋นฉี อาจารย์ประจำโรงเรียนภาคค่ำกล่าว

การเข้าเรียนชั้นเรียนภาคค่ำซึ่งผสมผสานการศึกษาเข้ากับวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ไม่ได้เป็นเพียงวิธีการสร้างความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีหนึ่งในการดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์และเข้าใจคุณค่าของมันด้วย

หลักสูตรที่ครอบคลุมหมวดหมู่ศิลปะมากกว่าสิบประเภท พร้อมด้วยเหล่าอาจารย์ผู้สอนระดับมืออาชีพ ทำให้โรงเรียนภาคค่ำในเซี่ยงไฮ้กำลังเป็นกระแสจนยากจะจับจองที่นั่ง โดยช่วงสูงสุดมีผู้ลงทะเบียนเพื่อจองเรียนออนไลน์พร้อมกันกว่า 650,000 คน

“ชาวเน็ตหลายคนบอกว่าโรงเรียนภาคค่ำกลายเป็น ‘ไนต์คลับ’ สำหรับพนักงานออฟฟิศในเซี่ยงไฮ้ไปแล้ว ผมคิดว่านอกเหนือจากการไปโรงหนัง บาร์ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอื่น ๆ พวกเราสามารถเลือกมาโรงเรียนภาคค่ำที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ด้วย ที่นี่พวกเราสามารถทำความรู้จักเพื่อนใหม่ไปพร้อมกับสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ไปด้วย” หลิวบอกเล่า

“เซี่ยงไฮ้เป็นมหานครระดับนานาชาติ ผมเลยคิดว่าชั้นเรียนพวกนี้มีประโยชน์มาก ๆ ต่อการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงพวกเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิมด้วยนะครับ” สวี นักเรียนโรงเรียนภาคค่ำคนหนึ่งกล่าว

‘แอมเนสตี้ฯ’ อัด ‘อิสราเอล’ ใช้อาวุธ ‘ฟอสฟอรัสขาว' ในกาซา ควรถูกสืบสวนตามข้อกล่าวหา ‘ก่ออาชญากรรมสงคราม’

(3 พ.ย. 66) ‘โดนาเทลลา โรเวรา’ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการรับมือภาวะวิกฤตของ ‘แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล’ (Amnesty International หรือ Amnesty หรือ AI) เปิดเผยว่า ผลการสืบสวน 4 เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 และ 16-17 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งในฉนวนกาซาและเลบานอน พบว่าอิสราเอลใช้ ‘ฟอสฟอรัสขาว’ เป็นอาวุธในพื้นที่ชุมชน

“เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก่อความกังวลอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากฟอสฟอรัสขาวเคยถูกใช้โดยกองกำลังอิสราเอลในอดีต ซึ่งก่อผลกระทบเลวร้ายแก่ประชากรที่เป็นพลเรือน” โรเวราระบุ “มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้ในพื้นที่ที่มีพลเรือน มันไม่ใช่อาวุธต้องห้าม มันสามารถใช้ในสมรภูมิและกับกองกำลังต่างๆ สามารถใช้มันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันไม่ควรถูกใช้ในที่ที่มีพลเรือน” เธอบอกกับอัลจาซีราห์ “เราพบเห็นมีการใช้มันในกาซาและเลบานอน และมันไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก”

ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ‘องค์การนิรโทษกรรมสากล’ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (31 ต.ค.) ที่ผ่านมา ว่ามีพลเรือนในทางภาคใต้ของเลบานอน ได้รับบาดเจ็บในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หลังกองทัพอิสราเอลใช้กระสุนปืนใหญ่ที่บรรจุฟอสฟอรัส กระสุนอันเป็นที่ถกเถียง ยิงเข้าใส่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายแดน

องค์กรแห่งนี้เปิดเผยว่าด้วยว่า มีการสืบสวนตรวจสอบกรณีตัวอย่างอื่นๆ ของความเป็นไปได้ที่กองทัพอิสราเอลทิ้งระเบิดฟอสฟอรัสขาวใส่พื้นที่ต่างๆ ตามแนวชายแดนเลบานอนในเดือนที่แล้ว แต่นิรโทษกรรมสากลบอกว่า ในกรณีเหล่านั้นไม่พบว่ามันก่ออันตรายแก่พลเรือน

ฟากทนายความด้านสิทธิมนุษยชน บอกว่า การใช้ฟอสฟอรัสขาวเป็นเรื่องผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ หากว่ามีการใช้สารเคมีร้อนสีขาวชนิดนี้ยิงเข้าสู่พื้นที่ชุมนุม มันสามารถทำให้อาคารต่างๆ ไฟลุกไหม้และเผาไหม้ผิวหนังมนุษย์เหลือแต่กระดูก นอกจากนี้ พวกผู้รอดชีวิตก็อาจเสี่ยงติดเชื้อ อวัยวะหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว แม้ว่าถูกเผาไหม้เพียงแค่จุดเล็กๆ ก็ตาม

ทั้งนี้ หลังจากอิสราเอลโจมตีหมู่บ้านดูไฮรา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ทำบ้านเรือนและรถเกิดไฟลุกไหม้ มีพลเรือน 9 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ในอาการหายใจติดขัด องค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่า พวกเขามีภาพถ่ายที่ผ่านการยืนยันความถูกต้องแล้ว เป็นภาพที่กระสุนฟอสฟอรัสถูกวางเรียงอยู่ใกล้กับปืนใหญ่ของอิสราเอล ใกล้แนวชายแดนเลบานอน-อิสราเอล

องค์การนิรโทษกรรมสากลประณามเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการ “โจมตีแบบไม่เลือกหน้า” ที่ทำร้ายพลเรือน และควรถูกสืบสวนตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม

‘ฝรั่ง’ เฉลย!! ทำไมต่างประเทศถึงไม่มีการ ‘เรียกพี่ เรียกน้อง’ เพราะ ‘วัยวุฒิ-อยู่บนโลกมานาน’ ไม่สำคัญเท่า ‘การกระทำ’

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 ผู้ใช้งานติ๊กต็อก ชื่อ ‘jpex.official’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอตอบกลับคอมเมนต์ที่เข้ามาถามว่า “ทำไมเพื่อนพ่อ หรือคนที่โตกว่าเรา ถึงเรียกเราว่าเป็นเพื่อนของเขาครับ? ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่าที่ต่างประเทศเขาเรียกกันแบบไหนครับ”

เจ้าของช่องจึงได้ตอบกลับคอมเมนต์ดังกล่าว โดยระบุว่า…

ทําไมฝรั่งถึงไม่มีคําว่า ‘พี่น้อง’?

วัฒนธรรม ‘พี่น้อง’ หรือว่าการเรียกผู้อื่นตามวัยวุฒินั้น จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่เรามักจะพบเห็นได้ในวัฒนธรรมของประเทศแถบเอเชียมากกว่าที่อื่นๆ เช่น ที่สหรัฐอเมริกา ไม่มีคําว่า “มาก่อนเรียก พี่ มาทีหลังเรียก น้อง” เพราะทุกคนเท่ากันหมด

วัฒนธรรมของฝรั่ง เขาจะตั้งคําถามว่า “ทําไมเราจะต้องเคารพใครบางคน เพียงเพราะว่าเขาอยู่บนโลกนี้มานานมากกว่าเรา?”

ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นวัฒนธรรมที่แฟร์ดีเหมือนกัน เพราะมันคือการวัดคนจากการกระทํา ไม่ได้วัดจากวัยวุฒิ

เพราะฉะนั้น เวลาผมไปอยู่ที่อเมริกา พ่อของเพื่อนผม ก็ถือว่าเป็นเพื่อนผม เด็กที่แคมป์ในอเมริกา ต่อให้เขาจะอายุแค่ 7-8 ขวบ ผมก็ถือว่าเขาเป็นเพื่อนผม หรือแม้แต่คุณลุงคนนึงที่ผมสนิทด้วยที่อเมริกา เขาก็คือเพื่อนผม

ซึ่งบางทีสิ่งเหล่านี้มันก็ชวนให้ผมตั้งคําถามว่า “ถ้าหากสังคมไทยของเรานั้น เลิกคิดถึงแต่เรื่องของวัยวุฒิ และหันมาให้ความสําคัญผู้อื่นโดยวัดจากการกระทํา หรือตัวตนจริง ๆ ของคนคนนั้น สังคมไทยของเรา จะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน?”

‘นักวิทย์จีน’ พัฒนา ‘แบตเตอรี่’ ชาร์จเร็ว 90% ภายใน 10 นาที!! ชี้ ประสิทธิภาพสูง-ทนทาน-คุ้มค่า เดินหน้าสายการผลิตเต็มสูบ

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. สำข่าวซินหัว, อู่ฮั่น รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จเร็ว ซึ่งสามารถทำให้ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือแตะ 90 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาเพียง 10 นาที

ผลการศึกษาจากวารสารเนเจอร์ เอ็นเนอจี (Nature Energy) เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่า แบตเตอรี่กราไฟต์นี้มีชั้นฟอสฟอรัสแบบบางพิเศษบนพื้นผิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนอินเทอร์เฟสอิเล็กโทรไลต์ของแข็งด้วยการนำไฟฟ้าของไอออนสูง

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง ได้ทดสอบแบตเตอรี่ชนิดเพาช์เซลล์ที่มีขั้วบวกกราไฟต์นี้ และพบความจุแบตเตอรี่แตะ 80 เปอร์เซ็นต์ใน 6 นาที และ 91.2 เปอร์เซ็นต์ใน 10 นาที

ผลการศึกษาเสริมว่า ความสามารถเก็บประจุของแบตเตอรี่นี้ยังคงอยู่ที่ 82.9 เปอร์เซ็นต์ในการชาร์จกว่า 2,000 รอบ ณ อัตราการชาร์จระยะ 6 นาที

คณะนักวิจัยเผยว่า การผลิตแบตเตอรี่ที่มีคุณสมบัติทางเคมีไฟฟ้าอันยอดเยี่ยมนี้ สามารถทำได้ง่ายและคุ้มทุน จึงมีศักยภาพทางการตลาดอย่างมาก

‘ผู้นำสูงสุดอิหร่าน’ ปลุกกลุ่มประเทศมุสลิม ร่วมกันบอยคอต ‘อิสราเอล’ ระงับการค้าทุกด้าน โต้ตอบสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

(2 พ.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ว่า ‘อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี’ ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าวเมื่อวันพุธ (1 พ.ย.) ที่ผ่านมา เรียกร้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของรัฐบาลในโลกมุสลิม ในการร่วมมือกันระงับการค้าขายกับ ‘รัฐไซออนิสต์’ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง อาหารและสินค้าจำเป็นอื่น

ขณะเดียวกัน คาเมเนอี กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ว่าเป็นประเทศ ‘ที่มีรัฐบาลต่อต้านปาเลสไตน์’

ด้าน พล.จ.เรซา การาอี อัชเตียนี รมว.กลาโหมอิหร่าน กล่าวว่า “บางประเทศในยุโรปที่ช่วยเหลืออิสราเอล ควรขับเคลื่อนนโยบายอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้สร้างความโกรธเคืองแก่ชาวมุสลิม”

ทั้งนี้ นายนาสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน กล่าวเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ถึงการที่ทหารอเมริกันในอิรักและซีเรีย ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางทหารโดยกองกำลังหลายกลุ่มบ่อยครั้งขึ้น เป็นผลจาก ‘นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลวอชิงตันที่ผิดพลาด’ หนึ่งในนั้น คือ การสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส

‘จีน-แทนซาเนีย’ ผนึกความร่วมมือ ปั้น ‘ศูนย์การค้า-ขนส่ง’ ครบวงจร หนุนเป็นศูนย์กลางการค้าข้ามพรมแดน โกยเงินสะพัดกว่าพันล้าน

(2 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานข่าว การสร้างเขตความร่วมมือด้านการบริการที่ครอบคลุมของนิคมอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ และการขนส่งแอฟริกาตะวันออกในประเทศแทนซาเนีย เป็นหนึ่งในรายการผลลัพธ์จากความร่วมมือเชิงปฏิบัติของการ ที่มีการเปิดเผยในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา

เขตความร่วมมือดังกล่าวลงทุนและพัฒนาในปี 2020 โดย ‘เวยไห่ หัวถ่าน ซัพพลาย เชน เมเนจเมนต์ จำกัด’ (Weihai Huatan Supply Chain Management Co., Ltd.) วิสาหกิจจากเมืองเว่ยไห่ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน โดยครอบคลุมพื้นที่รวม 109,700 ตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ในแอฟริกาตะวันออก (EACLC) ศูนย์นิทรรศการ 1 แห่ง คลังสินค้าหัวถ่านในต่างประเทศ 1 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดาร์เอสซาลาม ประเทศแทนซาเนีย และคลังสินค้าทัณฑ์บนและศูนย์ขนส่ง ณ สนามบินแซนซิบาร์ ในเกาะแซนซิบาร์ของแทนซาเนีย อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอีก 1 แห่งด้วย

จากโครงการทั้งหมดนี้ โครงการศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ในแอฟริกาตะวันออก ระยะที่ 1 ได้ให้การรองรับวิสาหกิจของจีนและแทนซาเนียแล้วมากกว่า 200 ราย และโครงการฯ ระยะที่ 2 ซึ่งมีกำหนดเปิดใช้งานในเดือนมีนาคมปี 2024 คาดว่าจะมีการตั้งถิ่นฐานของผู้ค้ากว่า 1,600 องค์กร หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ศูนย์แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแทนซาเนีย

3 ปีหลังจัดตั้ง เขตความร่วมมือดังกล่าวกลายเป็นโครงการความร่วมมือที่โดดเด่นระหว่างจีนและแทนซาเนีย โดยสามารถให้บริการที่ครอบคลุม อาทิ การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ นิทรรศการและการจัดแสดง คลังสินค้าในต่างประเทศ การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และห่วงโซ่อุปทานด้านการเงิน

ในปี 2022 เขตความร่วมมือฯ มีมูลค่าผลผลิตรวม 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.59 พันล้านบาท) หนุนให้เกิดการส่งออกสินค้าทั่วไปที่ผลิตในประเทศเป็นมูลค่ามากกว่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.77 พันล้านบาท)

ปัจจุบัน เขตความร่วมมือดังกล่าวเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจมากกว่า 230 ราย ในจำนวนนี้ 60 รายมาจากประเทศจีน สร้างตำแหน่งงานทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 2,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็นมากกว่า 5,000 ตำแหน่งหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ

‘ระเบิดฟองน้ำ’ ระเบิดเคมีชนิดฟองโฟม อาวุธลับของกองทัพอิสราเอล ใช้ปิดกั้นทางเข้า-ออกอุโมงค์ใต้ดินฉนวนกาซา สกัดเส้นทางกลุ่มฮามาส


ระเบิดฟองน้ำ (Sponge Bomb) จะทำลายกลุ่มฮามาสลงราบคาบได้หรือไม่?

กองทัพอิสราเอล (IDF) เตรียม ‘ระเบิดฟองน้ำ’ เป็นอาวุธปิดกั้นอุโมงค์ฉนวนกาซา ขณะที่กองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอลเริ่มเข้าสู่ฉนวนกาซา การวิเคราะห์จำนวนมากที่เผยแพร่นับตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้ง ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่กองทัพอิสราเอลจะเผชิญในการรุกภาคพื้นดินในฉนวนกาซา คือ อุโมงค์ใต้ดินที่เรียกว่า ‘รถไฟใต้ดินของฉนวนกาซา’

อุโมงค์ใต้ดินเขาวงกตที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มฮามาสในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ใช้เพื่อเก็บจรวดและกระสุนปืน และช่วยให้สมาชิกกลุ่มฮามาสสามารถเคลื่อนที่ได้โดยไม่ถูกตรวจพบ เครือข่ายอุโมงค์เหล่านี้มีขนาดประมาณตั้งแต่ 40–80 เมตร และขยายออกไปกระทั่งหลายร้อยกิโลเมตร อุโมงค์เหล่านี้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มฮามาส และส่วนใหญ่อยู่ใต้พื้นที่พลเรือน

ภายในอุโมงค์ กลุ่มฮามาสเก็บสะสมอาวุธและสามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีของ IDF ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 กลุ่มฮามาสเริ่มสร้างอุโมงค์เหล่านี้ และสามารถสร้างเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อกลุ่มฮามาสเข้าควบคุมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์ในปี 2006 


หนังสือพิมพ์ Telegraph ระบุว่า IDF กำลังพยายามใช้หุ่นยนต์และโดรนในอุโมงค์ เพื่อไม่ให้ทหารของตนตกอยู่ในอันตราย โดยสังเกตว่า จนถึงขณะนี้ยานพาหนะเหล่านี้ยังคงประสบปัญหาในการทำงานในอุโมงค์ใต้ดิน

สำหรับ ‘ระเบิดฟองน้ำ’ ได้รับการพัฒนาโดย IDF เพื่อจัดการกับสงครามอุโมงค์ของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา โดยเป็นอุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบมาเพื่อปิดกั้นอุโมงค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นระเบิดเคมีที่ไม่มีการระเบิด แต่จะสร้างฟองโฟมที่สามารถขยายและแข็งตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีขนาดเล็กพอที่จะใช้โดยทหารเพียงหนึ่งหรือสองคนในการติดตั้ง (คล้ายสเปรย์โฟมที่ใช้อุดรอยหลังคาหรือผนังอาคารบ้านเรือนที่ใช้กันทั่วไป)

ปกติแล้ว ‘ระเบิดฟองน้ำ’ จะถูกบรรจุอยู่ในภาชนะพลาสติก โดยมีแท่งโลหะกั้นเพื่อแยกของเหลว 2 ชนิดที่แตกต่างกัน เมื่อมีการใช้งานแท่งโลหะกั้นจะถูกดึงออก และทำให้ของเหลวผสมกันจนเกิดการขยายตัว กระทั่งสามารถปิดกั้นอุโมงค์เป้าหมายที่ต้องการได้


ในปี 2021 มีรายงานว่า IDF ได้ทำการทดสอบระเบิดฟองน้ำในอุโมงค์จำลอง ระหว่างการทดสอบระเบิดเหล่านี้ครั้งแรกพบว่า ‘สารเคมีเหลว’ (liquid emulsion) เป็นอันตรายหากใช้งานไม่อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้ทหารอิสราเอลหลายนายถึงกับตาบอดมาแล้ว

เคยมีการใช้โฟมเหนียวทางการทหารเพื่อเป็นอาวุธทางเลือก โดยมีรายงานว่า กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ใช้โฟมเป็นอาวุธที่ไม่อันตรายถึงชีวิตในการควบคุมฝูงชน หรือควบคุมนักรบที่เป็นฝ่ายศัตรู การใช้ ‘ระเบิดฟองน้ำ’ ทำให้เกิดข้อกังวลด้านศีลธรรมเป็นอย่างมาก การกำหนดเป้าหมายในการทำลายอุโมงค์เหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อชีวิตของพลเรือน กลายเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนสำหรับ IDF ในการต่อต้านภัยคุกคามจากกลุ่มฮามาสโดยไม่ทำอันตรายต่อผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังต้องเผชิญความเสี่ยงเป็นอย่างมากต่อการถูกประณามจากนานาชาติอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top