ในช่วงนี้ ชื่อของกลุ่มพันธมิตร Five Eyes หรือ ดวงตาทั้ง 5 กลายเป็นจุดสนใจของสื่อต่างประเทศอีกครั้ง เมื่อมีคำแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่มพันธมิตร Five Eyes ที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ออกมาวิจารณ์ คำสั่งของรัฐบาลจีน ให้ปลดแกนนำฝ่ายค้านในสภานิติบัญญัติของฮ่องกงจำนวน 4 คน ในข้อหาฝ่าฝืนกฏหมายความมั่นคงใหม่ของจีน ที่ทำให้ฝ่ายค้านประท้วงด้วยการลาออกยกสภาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ซึ่งกลุ่มพันธมิตร Five Eyes วิจารณ์ว่า นี่เป็นการปิดปากฝ่ายค้านของรัฐบาลจีน และผิดสัตยาบันที่จีนเคยให้ไว้ว่าจะให้สิทธิเสรีภาพในดินแดนฮ่องกงตามแบบแผน 1 ประเทศ 2 ระบบ ไปจนถึงปี ค.ศ.2047
หลังจากที่กลุ่มพันธมิตร Five Eyes ได้ออกแถลงการณ์ไม่กี่วัน ฝ่ายปักกิ่งก็ส่งโฆษกต่างประเทศ จ้าว หลี่เจียน เจ้าของฉายาหมาป่าพันธุ์ดุของลุงสี่ จิ้นผิง ออกมาตอบโต้ทันทีว่า นี่คือเรื่องภายในของจีนที่ต่างชาติไม่ควรมาก้าวก่าย
และวาทะดุที่ทางปักกิ่งฝากมาบอกกับเหล่าพันธมิตรเบญจเนตรทั้งหลายก็คือ
"หากยังมายุ่งวุ่นวายเรื่องระหว่างจีนและฮ่องกงอีก ไม่ว่าจะ 5 ตา หรือ 10 ตา พ่อจะจิกให้ตาหลุด"
เป็นการตอบโต้ที่ฟาดได้ฟาด สั้นแต่จบ None of your business รู้เรื่อง
ว่าแต่พันธมิตร Five Eyes นี่ มาร่วมลงเรือลำเดียวกันตั้งแต่เมื่อไหร่ อย่างไร วันนี้จะมาเล่าถึงต้นกำเนิดกลุ่มดวงตาทั้ง 5 นี้กันดีกว่า
ต้นกำเนิดของ Five Eyes ในครั้งแรกไม่ได้มาพร้อมกันทั้ง 5 ดวง จุดเริ่มต้นนั้นมีมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกาได้เซ็นข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลลับทางทหารร่วมกัน ที่เรียกว่า 1943 BRUSA Agreements
แต่พอสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติไปแล้ว ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลลับ กลับไม่ได้สิ้นสุดไปด้วย เพราะทั้งสหรัฐ และอังกฤษเห็นตรงกันว่า ต่อจากนี้ไป ภัยคุกคามความมั่นคงจะไม่ใช่ฝ่ายนาซีอีกต่อไป แต่เป็นลัทธิสังคมนิยม และอิทธิพลของสหภาพโซเวียต
ดังนั้นข้อตกลง BRUSA Agreements ฉบับเดิม ก็ได้กลายเป็นข้อตกลงความร่วมมือฉบับใหม่ ที่ชื่อว่า UKUSA Agreement และให้อ่านแบบเกร๋ๆ ว่า ยู-คู-ซา (ไม่ใช่ยากูซ่านะจ๊ะ)
มีพันธมิตรแค่ 2 ชาติ แต่ต้องสอดแนมฝ่ายโซเวียต และ พันธมิตร Eastern Bloc ที่เป็นประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก และอีกหลายชาติในเอเชีย รวมถึงจีน อาจทำไม่ไหว จึงดึงกลุ่มประเทศหลักๆ ในเครือจักรภพอังกฤษมาร่วมด้วย ได้แก่ แคนาดา (1948) ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ (1956) รวมกันกลายเป็น 5 ชาติ
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของกลุ่มพันธมิตร Five Eyes ที่หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการรวมกลุ่มจากประเทศมหาอำนาจที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเหมือนกัน ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะการสื่อสารระหว่างกลุ่มให้เข้าใจตรงกันทุกถ้อยคำเป็นเรื่องสำคัญ แต่เป้าหมายหลัก คือการสร้างโครงข่ายสอดแนมฝ่ายตรงข้าม (โลกสังคมนิยม) ที่ต่อมา กลายเครือข่ายสปายที่ใหญ่ที่สุดในโลก
และเมื่อมีข้อตกลงแล้วว่าจะมีการแชร์ข้อมูลข่าวลับร่วมกัน ดังนั้นการมีอยู่ของกลุ่ม Five Eyes ในช่วงแรกๆ จึงเป็นความลับมากๆ แม้แต่คนในรัฐบาลของประเทศนั้นๆ หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคงระดับสูงยังไม่รู้เลย
ในกลุ่ม Five Eyes ก็ร่วมพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เรียกว่า ECHELON ขึ้นมาใช้งาน แล้วก็ดำเนินการสอดแนมความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการดักฟังโทรศัพท์ ติดตามตัวบุคคลเป้าหมาย แกะรอยท่อน้ำเลี้ยง จารกรรมข้อมูลระดับสูง และต้องป้องกันการล้วงข้อมูลจากฝ่ายตรงข้ามด้วยเช่นกัน
การแชร์ข้อมูลในระบบ ECHELON แบ่งออกเป็น 4 หมวด แบ่งงานชัดเจนว่าหน่วยงานไหนรับผิดชอบเรื่องไหน
1. ข่าวกรองสัญญาณ เป็นข้อมูลที่ได้จากการดักฟัง จับสัญญาณเครือข่าย ที่ปัจจุบันมีการสอดแนมผู้ใช้ออนไลน์ด้วย หน่วยงานที่รู้จักกันดีเช่น NSA หรือสำนักงานหน่วยข่าวกรองสหรัฐ GCHQ หรือ Government Communications Headquarters ของอังกฤษ
2. ข่าวกรองด้านการทหาร ที่ฝ่ายกลาโหมของแต่ละประเทศก็รับผิดชอบข้อมูลในส่วนนี้ไป
3. ข่าวกรองด้านความปลอดภัย ที่คอยส่องหาข้อมูลภายในของแต่ละประเทศ หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ที่รู้จักกันดี ก็มี FBI และ MI5
4. ข่าวกรองส่วนบุคคล นี่แหละคืองานของสายลับจริงๆ ที่ต้องเข้าไปคลุกวงใน เข้าพื้นที่ แทรกซึม เพื่อให้ได้ข้อมูลด้วยตัวเอง หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ได้แก่ CIA MI6 เป็นต้น
ฟังดูอาจคล้ายๆ หนังสายลับแฟรนไชส์เรื่องดัง ก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะช่วงนั้นตรงกับยุคสงครามเย็นพอดี ที่ต่างฝ่าย ต่างจ้องสอดแนมความลับของกันละกัน บนพื้นฐานของความไม่ไว้ใจกัน
แต่เมื่อสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายไป บรรยากาศของสงครามเย็นก็เริ่มผ่อนคลาย พันธมิตรเบื้องหลังอย่าง Five Eyes จึงเริ่มถูกเปิดเผยให้คนทั่วไปทราบ ที่เข้าใจว่า พันธมิตรเบญจเนตรก็คงได้เวลาพักกิจกรรมสอดแนมไปทำอย่างอื่นกันได้แล้ว
แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น การสอดแนมข่าวกรองของ Five Eyes กลับยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น และยิ่งมากขึ้นไปอีกหลังสหรัฐโดนโจมตีในเหตุการณ์ 9/11
จากเดิมที่สอดแนมแค่ จีน รัสเซีย และประเทศในโลกสังคมนิยม กลับขยายวงออกไป กลายเป็นสอดแนม ดักฟังการสื่อสารจากรัฐบาลทั่วโลก และยังขยายลงไปถึงการสื่อสารภายในองค์กรเอกชน และระบบสื่อสารของประชาชนทั่วไปในประเทศ
เอ็ดเวิร์ด สโนเดน คืออดีตหนึ่งในทีมเทคนิคของ NSA ได้ออกมาแฉงานสอดแนมของรัฐบาลสหรัฐ ที่เข้าถึงทุกข้อมูลของประชาชนได้ทุกคน ไม่อาจหลบได้ และยังนำยุทธศาสตร์การสอดแนม ที่ก็เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจค Five Eyes ออกมาเปิดเผย จนตอนนี้ตัวสโนเดน ก็อยู่ในสหรัฐอเมริกาไม่ได้แล้ว ต้องลี้ภัยไปอยู่ถาวรที่รัสเซีย
เมื่อเรื่องแดงเช่นนี้ หลายชาติก็เริ่มไม่พอใจ ว่าขอบเขตการสอดแนมของ Five Eyes ชักจะล้ำเส้นเกินไปแล้ว แต่จะบอกให้หยุดคงเป็นไปไม่ได้ แทนที่จะถูกสอดแนมแต่เพียงฝ่ายเดียว ก็เข้าร่วมวงแชร์ข้อมูลกันเสียเลยน่าจะดีกว่า
และจาก Five Eyes ก็ขยายวงกลายเป็น Nine Eyes เพิ่มมาอีก 4 ตา คือ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และ นอร์เวย์
ต่อมาจาก 9 ตา ก็กลายเป็น 14 ตา เมื่อ เยอรมัน เบลเยี่ยม อิตาลี สวีเดน และสเปน กระโดดเข้ามาร่วมวงด้วย
และจาก Fourteen Eyes ก็มีแนวโน้มที่จะขยายหูตาสับปะรดออกไปอีก เมื่อมีบางประเทศสนใจขอแชร์ข้อมูลด้วย ก็คือ อิสราเอล ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้
แต่การที่จะสอดแนมข้อมูลของประชาชนทั่วไปได้ทุกระดับ และใช้อำนาจรัฐบังคับเอาข้อมูลผู้ใช้จากหน่วยงานเอกชน จะไม่ขัดกับกฏหมายว่าด้วยเรื่องสิทธิส่วนบุคคลหรือ
เรื่องนี้มีปัญหาแน่นอน บางประเทศทำไม่ได้ด้วย เพราะผิดกฏหมาย ดังนั้นสิ่งที่กลุ่มสมาชิกตาสับปะรดทำคือ สมาชิกจะสอดแนมกันเองในกลุ่ม แล้วนำข้อมูลมาแลกกัน
ซึ่งเรื่องนี้ ก็เคยมีในหลักฐานเอกสารที่เอ็ดเวิร์ด สโนเดน เคยนำข้อมูลออกมาแฉว่า NSA ฝ่ายความมั่งคงสหรัฐ เคยให้เงินทุนก้อนใหญ่สนับสนุนให้ GCHQ ของอังกฤษ ให้สอดแนมประชาชนเป้าหมายของตัวเอง ที่หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐไม่อาจทำได้เพราะติดปัญหาทางกฏหมาย
และนี่คือการทำงานในกลุ่มพันธมิตรตาส่องโลก ที่เชื่อมโยงกันจนกลายเป็นเครือข่ายสายลับที่มีขอบเขตกว้างใหญ่ที่สุดในโลก เพียงแต่ข้อมูลสำคัญระดับสูง ที่เป็น Top of the top secret ยังคงแชร์กันแค่ในกลุ่ม Five Eyes ที่ถือว่าเป็นพันธมิตรเสาหลัก ที่มักจะเคลื่อนไหวสอดรับกันตลอด ไม่มีแตกแถว
จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พันธมิตร Five Eyes ที่ร่วมด้วยช่วยกันกดดันจีนทุกมิติ ไม่ใช่เฉพาะการสอดแนมเท่านั้น แต่เปิดสมรภูมิจากทุกมิติ ทั้งเรื่องการแบน 5G ดำเนินคดีผู้บริหาร Huawei เปิดโปงค่ายกักกันชาวอุยกูร์ การจับกุมสายลับจีนในสหรัฐ กีดกันการค้าจีน และก็มาถึงประเด็นการแทรกแซงในฮ่องกง ที่ทางจีนออกมาประกาศกร้าวว่า จะกี่ตาก็มาครับ จ้องนัก เดี๋ยวจะควักให้ตาหลุด
และนี่ก็คือเรื่องราวเบื้องหลังการก่อตั้งพันธมิตร Five Eyes ตาส่องโลกของพี่ใหญ่ We are watching you. แอบมองดูอยู่นะจ๊ะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย ถึงขู่จกตาอยู่ยิกๆ แต่เธอก็ยังเฉยเมย นาจ๊า
แหล่งข่าว
-The Guardian
https://www.theguardian.com/world/2020/nov/20/china-says-five-eyes-alliance-will-be-poked-and-blinded-over-hong-kong-stance
https://www.theguardian.com/uk-news/2013/aug/01/nsa-paid-gchq-spying-edward-snowden
-The Diplomat
https://thediplomat.com/2020/11/five-eyes-countries-issue-joint-statement-on-hong-kong/
-Wikipedia
https://en.m.wikipedia.org/wiki/UKUSA_Agreement