Saturday, 14 September 2024
KNOWLEDGE TIMES

ถอดรหัส ‘เกาหลีใต้’ ‘อุตสาหกรรมบันเทิง’ สร้างชาติ ทะยานสู่ระดับโลก | Knowledge Times EP.30

????Knowlegde Times BizView
????ถอดรหัส ‘เกาหลีใต้’ ‘อุตสาหกรรมบันเทิง’ สร้างชาติ ทะยานสู่ระดับโลก

ซีรีส์ ดนตรี ภาพยนตร์ เชื่อว่าในยุคนี้ต้องเคยได้สัมผัสกับความบันเทิงที่ส่งตรงมาจากแดนกิมจิ หรือประเทศเกาหลีใต้กันบ้าง ประเทศที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศล้าหลังแห่งเอเชีย แต่ในวันนี้กลับพลิกโฉมหน้าและพุ่งทะยานสู่สุดยอดอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก....เขาทำได้อย่างไร?

เมื่อย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1950-1970 อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีนั้นถือว่าเจริญรุ่งเรืองไม่น้อยกระทั่งการเผด็จอำนาจของปักจุงฮี ที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงเสื่อมลงจากการถูกเซนเซอร์และโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งทำให้ตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 1988 จนกระทั่งปักจุงฮีเสื่อมอำนาจลง 

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีก็ยังถูกครอบงำด้วยกลุ่มธุรกิจแชโบลมาจนถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้บริษัทใหญ่ในเกาหลีประสบภาวะเสียหายอย่างรุนแรง กลุ่มทุนแชโบลจึงถอยออกจากการครอบงำวงการภาพยนตร์ 

นอกจากนี้วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือที่คนเกาหลีรู้จักกันในชื่อวิกฤต IMF ก็สร้างความเสียหายไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมหนักของเกาหลีใต้ ที่ในขณะนั้นเปรียบเสมือนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักของประเทศ จนต้องชะงักลง

ดังนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้ จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคธุรกิจอื่น ๆ นั่นก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมบันเทิง

โดยในปี 1998 รัฐบาลได้ตั้งกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดองค์การมหาชน และศูนย์วิจัยทางวัฒนธรรม ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ทั้งดนตรี ละคร และภาพยนตร์ เพื่อผลักดันสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้กลายเป็นสินค้า และสามารถส่งออกเพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

‘การวางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง’ คือกลยุทธ์สำคัญที่ใช้ดันอุตสาหกรรมบันเทิงจนสำเร็จ เพราะ ทุกอย่างได้ผ่านการวางแผนเป็นอย่างดี ทั้งผลงาน กลุ่มลูกค้าและเนื้อหา เพื่อสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ให้แข็งแรง

โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้มีจุดเด่นอยู่ 4 ประการหลัก ๆ ประกอบไปด้วย...

ประการที่ 1 ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิง

โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมทางวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นไป โดยมี Korea Creative Content Agency ทำหน้าที่วางแผนนโยบายอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ทั้งดนตรี ละคร และภาพยนตร์ โดยมีการดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจาก

1.) สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อเอื้อให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม   
ด้วยการออกกฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ลงดาบผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ การออกกฎหมายสนับสนุนภาพยนตร์ในประเทศ โดยกำหนดจำนวนวันฉายภาพยนตร์เกาหลีในโรงภาพยนตร์ รวมถึงจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เพื่อให้เป็นแหล่งพบปะ และแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์จากทั่วโลก ทำให้เทศกาลภาพยนตร์ที่ปูซานกลายเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย

2.) จัดตั้งกองทุนด้านวัฒนธรรม Korea Venture Investment Corporation ในปี 2005 เพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือบริษัทเอกชนสร้างสรรค์ผลงานบันเทิงต่าง ๆ โดยรัฐบาลลงทุนในสัดส่วน 20% ส่วนอีก 80% เป็นค่ายเพลง และบริษัทเอกชนต่าง ๆ

3.) สนับสนุนกลุ่มนายทุนผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ก่อตั้งบริษัทที่เน้นด้านธุรกิจบันเทิง โดยบริษัทที่โดดเด่นก็คือ CJ Group ซึ่งได้ก่อตั้งบริษัทในเครือ CJ ENM ในปี 1995 ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นผู้ผลิตสื่อรายใหญ่ของเกาหลีใต้ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของช่องเคเบิลทีวีที่โด่งดัง ได้แก่ Mnet /tvN /OCN 

4.) สร้างบุคลากรที่มีความสามารถ โดยรัฐบาลได้จัดทำโครงการ Broadcast Video Promotion Plan เพื่อสนับสนุนให้มีการเปิดหลักสูตรการสอนนักแสดงและบุคลากรในวงการบันเทิงในรั้วมหาวิทยาลัย และจัดตั้งโรงเรียนสอนการแสดง ที่ร่วมกับค่ายเพลง-บริษัทด้านบันเทิงต่าง ๆ เพื่อปั้น ‘ไอดอล’ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แม้ว่าจะมีกลุ่มคนไม่เห็นด้วยเพราะสัญญาที่ยาวนานและการฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความพร้อมให้กับเหล่าไอดอลได้อย่างมาก

ประการที่ 2 สร้างตัวตนให้โดดเด่น ด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร

เมื่อคนและเงินทุนพร้อม ประการต่อมา คือการสร้างภาพลักษณ์ ให้มีความโดดเด่น และน่าดึงดูดใจ อย่างเช่น วงการ K-pop จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพลง มิวสิกวิดีโอให้มีฉากโดดเด่น เน้นขายคุณภาพการเต้น และท่าเต้นที่พร้อมเพรียง รวมไปถึงการวางแผนการสร้างศิลปิน ที่จะถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างละเอียด ตั้งแต่จำนวนสมาชิก ภาพลักษณ์  สไตล์เพลง กลุ่มตลาด รวมถึงการบริหารจัดการภาพลักษณ์ไม่ให้มีเรื่องอื้อฉาว 

ในขณะที่วงการซีรีส์ ที่กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสังคมเกาหลี เช่น การวางบทตัวละครเพศชาย ให้อบอุ่น อ่อนโยน เพื่อปลูกฝังและลดพฤติกรรม ‘ชายเป็นใหญ่’ ในสังคมเกาหลี รวมไปถึงสอดแทรกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเข้าไปในซีรีส์และภาพยนตร์หลายเรื่อง 

ประการที่ 3 การวางแผนการตลาดในระดับโลก

การที่เกาหลีใต้ต้องการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตีตลาดโลกให้ได้ ซึ่งได้มีการตั้ง ‘ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี’ ไว้ทั่วทุกมุมโลก ที่ปัจจุบันมีกว่า 33 ประเทศ ใน 6 ทวีป เพื่อใช้ในการเผยแพร่วัฒนธรรม รวมถึงการจัดงานต่าง ๆ เพื่อโปรโมตสื่อเกาหลี

นอกจากนั้นการที่จะซื้อใจคนได้ทั่วโลกต้องเข้าใจตลาดของชาตินั้น ๆ เสียก่อน จะเห็นได้ว่า K-pop บางวงจึงมีการเพิ่มสมาชิกที่เป็นชาวต่างชาติเข้าไป อย่างเช่น วง BLACKPINK ที่มีสมาชิกชาวไทย อย่างสาวลิซ่า ที่โด่งดังและสร้างฐานแฟนคลับทั้งเมืองไทยและชาติอาเซียน 

นอกจากนี้ฝั่งซีรีส์เอง ก็มีการพากย์เสียงภาษาต่าง ๆ ก่อนนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศ และหลีกเลี่ยงการออกอากาศในประเทศที่มีธรรมเนียมปฏิบัติทางเพศที่เข้มงวด

ประการที่ 4 การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมบันเทิง

แน่นอนว่าการมุ่งสร้างแต่คอนเทนต์บันเทิงยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะแต่แรกเริ่ม รัฐบาลเกาหลีใต้มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมบันเทิงควบคู่กัน ดังนั้น สถาบันวิจัยด้านอิเล็กทรอนิกส์และสื่อสารทางไกล, ETRI จึงเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีในการประกอบความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น การใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์ โฮโลแกรมประกอบการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ต หรือการออกแบบมิวสิกวิดีโอให้มีความสวยงามล้ำสมัย หรือในวงการภาพยนตร์ ละคร ก็มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกมาสร้างสรรค์ฉากที่สวยงามและล้ำสมัย

ในด้านภาคเอกชนเองก็มีบทบาทไม่แพ้กันโดย บริษัท CJ Group ก็เป็นผู้พัฒนา 4DX System ที่กลายเป็นจุดกำเนิดโรงภาพยนตร์ 4 มิติแห่งแรกของโลก ในปี 2009 ที่ทำให้ผู้ชมสัมผัสความเสมือนจริงไปอีกขั้น ด้วยกลิ่นและการสั่นสะเทือน

นอกจากนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ยังมีการใช้กลยุทธ์ Creative Economy ที่เพิ่มมูลค่าสินค้าหรือพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มากขึ้น หากแต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ สติปัญญา ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทในกลุ่ม อุตสาหกรรมแฟชั่น การออกแบบ สื่อ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ เพลง และงานศิลป์ในแขนงต่าง ๆ

เรียกได้ว่าการข้ามผ่านจุดตกต่ำสู่การกลับมาผงาดอีกครั้งของเกาหลีใต้ แบบไม่ง้ออุตสาหกรรมแบบเดิม แต่หันไปจับอุตสาหกรรมใหม่ที่ผ่านการวางแผนอย่างดีและเป็นขั้นเป็นตอน 

ทำให้การดันอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จและไปไกลถึงระดับโลก ทั้งยังกลายเป็นหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองในการใช้ Soft Power มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและยังแตกแขนงไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ผ่านการวางยุทธศาสตร์ที่เฉียบคมของเกาหลีใต้ ที่หลายชาติยากจะเลียนแบบ

ปมเดือด!! “รัสเซีย” ต้นตอ…วิกฤตพลังงานยุโรปขาดแคลน!! | Knowledge Times EP.29

???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘KnowledgeTimes’ | EP.29
???? ปมเดือด!! “รัสเซีย” ต้นตอ…วิกฤตพลังงานยุโรปขาดแคลน!!

สำนักข่าว Bloomberg รายงานราคาพลังงานที่ปรับตัวพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ส่งออกน้ำมันกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักลงทุนทั่วโลกในเวลานี้ โดยเฉพาะรัสเซีย 

ซึ่งมีรายงานว่า ค่าเงินรูเบิล แข็งค่ามากกว่าค่าเงินของประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางการลงทุนอย่างกะทันหันของนักลงทุนในกลุ่มตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียส่งออกก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ และพลังงานที่แพร่ระบาดไปทั่วทั้งยุโรป โดยกล่าวอ้างว่า “รัสเซียเป็นต้นตอความขาดแคลนพลังงานในครั้งนี้ และจงใจระงับการจัดส่งก๊าซให้ยุโรป จนทำให้ราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้น”

ในขณะที่ยุโรป กำลังเผชิญวิกฤติราคาพลังงาน โดยราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้นถึง 250% นับตั้งแต่เดือนมกราคม โดยสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่การขาดพลังงานหมุนเวียน ไปจนถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติในสต๊อกที่ลดต่ำลงหลังผ่านหน้าหนาวเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ความต้องการพลังงานในหลายประเทศก็กำลังเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19

นักวิเคราะห์บางคนสงสัยว่า นี่คืออาวุธทางการเมืองที่รัสเซียกำลังใช้วิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น…เพื่อเป็นตัวเร่งและกดดันให้ยุโรปอนุมัติโครงการ “นอร์ด สตรีม 2” (Nord Stream 2) หรือไม่ ซึ่งโครงการดังกล่าว จะเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกก๊าซธรรมชาติของรัสเซียสู่เยอรมนีมากกว่าเดิมเป็นสองเท่า และเป็นเส้นทางสำคัญในการส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรปผ่านทะเลบอลติก

ในขณะที่ยุโรปยังไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และฝ่ายคัดค้านเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้ยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากขึ้น ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนบอกว่า เรื่องนี้จะทำให้ยุโรปซื้อก๊าซได้ในราคาที่ถูกลง

ซึ่งล่าสุด “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน” ผู้นำฝ่ายรัสเซีย ได้เข้าร่วมประชุมเรื่องพลังงานในกรุงมอสโกเมื่อวันพุธที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยปูตินออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า รัสเซียกำลังใช้พลังงานเป็นอาวุธทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระ และพร้อมให้ความช่วยเหลือผ่อนคลายวิกฤตพลังงานในยุโรป 

พร้อมกล่าวด้วยว่า “เราไม่ได้ใช้อาวุธใด ๆ เลย แม้กระทั่งในช่วงที่ยากลำบากที่สุดในยุคสงครามเย็น รัสเซียก็ยังคงปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสัญญาและจัดหาก๊าซให้กับยุโรปอยู่เป็นประจำ และไม่มีข้อสนับสนุนใด ๆ ที่จะกล่าวหาว่ารัสเซียใช้พลังงานเป็นอาวุธ เพราะในทางตรงกันข้าม รัสเซียนั้นขยายการจัดส่งพลังงานไปยังยุโรปต่างหาก และขอให้ยุโรปหยุดโยนความผิดให้คนอื่น อันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตพลังงานในภูมิภาคเอง”

พร้อมทั้งได้ตำหนิวิกฤตพลังงานในยุโรปขณะนี้ด้วยว่า หลังจากฤดูหนาวรุนแรงที่ผ่านมา ยุโรปไม่ได้สูบก๊าซในปริมาณที่เพียงพอเพื่อไปเก็บสำรองไว้ในโรงเก็บ ซึ่งถือว่าสำคัญมากและเป็นกลไกระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดพลังงาน

และปูตินย้ำอีกว่า บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ แกซพรอม (Gazprom) ของรัสเซีย ได้จัดส่งก๊าซไปยังยุโรปในระดับที่สูงที่สุดภายใต้ข้อตกลงในปัจจุบัน และพร้อมที่จะจัดส่งเพิ่มให้อีกหากได้รับการร้องขอ โดยรัสเซียจะเพิ่มให้มากเท่าที่หุ้นส่วนร้องขอ ไม่มีการปฏิเสธใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในปีนี้ รัสเซียได้จัดส่งเพิ่มเติมไปแล้วถึง 15%

ด้านโฆษกทำเนียบเครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ ระบุว่า รัสเซียได้จัดส่งก๊าซให้ยุโรป ในปริมาณที่มากที่สุดตามสัญญาแล้ว และย้ำว่า รัสเซียพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณการส่งก๊าซผ่านยูเครน หากยุโรปจะเพิ่มงบประมาณการจัดซื้อ

ทั้งนี้ รัสเซีย ถือเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และจัดส่งให้กับยุโรปมากกว่า 40% จากการนำเข้าพลังงานทั้งหมดของยุโรป ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงนับเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกพลังงานที่สำคัญที่สุดของโลก และมีบทบาทที่จะสร้างความแข็งแกร่งและอ่อนแอให้กับแต่ละภูมิภาคได้

นอกจากนี้ รัสเซียยังใช้แหล่งทรัพยากรเหล่านี้ เป็นตัวหนุนรายได้หลักของรัฐบาล ซึ่งตอนนี้โลกกำลังเริ่มจะเปลี่ยนแปลงจากการใช้พลังงานฟอสซิล ไปเป็นพลังงานสะอาดแทน และนั่นหมายความว่า อาจมีความต้องการที่ลดน้อยลงในอนาคตก็เป็นได้

“Squid Game” สุดปัง!! ดันหุ้นอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงพุ่งทะยาน | Knowledge Times EP.28

???? KnowledgeTimes BizView
???? “Squid Game” สุดปัง!! ดันหุ้นอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงพุ่งทะยาน 

ปังไม่หยุด! สำหรับซีรีส์เรื่อง “Squid Game” หรือชื่อไทยว่า “เล่นลุ้นตาย” โดยผู้สร้าง “ฮวังดงฮยอก” ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในการสร้างปรากฏการณ์ความฮอตให้คนทั้งโลก รวมถึงทำให้วัฒนธรรมการละเล่น ไปจนถึงการเกิดเทรนด์ใหม่ ๆ ขึ้น จนเป็นไวรัลที่มองข้ามไม่ได้!!

ล่าสุด Squid Game ได้พิสูจน์ความเป็นซีรีส์ยอดนิยมแห่งปี ที่ไม่ใช่แค่เรตติ้งที่พุ่งกระฉูดเท่านั้น แต่ยังสร้างสถิติเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่สามารถคว้าอันดับ 1 ความยอดนิยมบน Netflix ในสหรัฐฯ ไปเรียบร้อย

ที่สำคัญ ซีรีส์เรื่องนี้ ยังส่งผลไปถึงราคาหุ้นของ Netflix รวมไปถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสร้างซีรีส์เรื่องนี้ มีมูลค่าขยับปรับตัวสูงขึ้นกันถ้วนหน้า 

โดย Bucket Studio ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทต้นสังกัดของนักแสดงนำ “อีจองแจ” มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 2% ในช่วงที่ออนแอร์วันแรกในการซื้อขายตลาดหุ้น KOSPI ของเกาหลีใต้ โดยราคาดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 5,290 วอน เมื่อเทียบกับในช่วงก่อนที่ Squid Game จะออนแอร์ที่ระดับ 2,800 วอน ดันมูลค่าหุ้นจาก 114 พันล้านวอน ขึ้นมาเกือบแตะ 2 แสนล้านวอน (หรือ 170 ล้านดอลลาร์) (ณ วันที่ 17 ก.ย.)

ในขณะที่ Showbox ซึ่งถือหุ้นใน บริษัท Siren Pictures ผู้ผลิตซีรีส์เรื่องดังกล่าว พุ่งขึ้นกว่า 50% โดยราคาหุ้นปรับขึ้นอยู่ที่ 5,980 วอน (ณ วันที่ 17 ก.ย.) ขณะที่ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นเคยตกลงไปถึง 10%

“โอแทวอน” นักวิเคราะห์จาก Korea Investment & Securities กล่าวว่า บริษัทสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง Squid Game ยังทำให้หุ้นในกลุ่มสื่อและโฆษณาของเกาหลีใต้ได้อานิสงส์ไปด้วย เช่น Astory เพิ่มขึ้น 15.7%, Next Entertainment World เพิ่มขึ้น 12.7% และ Samhwa Networks เพิ่มขึ้น 10.2% ในช่วง 3 วันหลังซีรีส์เรื่องนี้ออนแอร์

ส่วนหุ้นของ Netflix เอง ก็ได้ทำสถิติสูงสุดใหม่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งปิดการซื้อขายไปที่ 610.34 ดอลลาร์ หลังนักลงทุนให้ความมั่นใจว่าบริษัทยังคงสามารถสร้างฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้นอีก 5.2% โดยมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 640.39 ดอลลาร์ 

“Reed Hastings” CEO ของ Netflix ระบุว่า ความสำเร็จของ Squid Game สร้างความประหลาดใจให้กับ Netflix เช่นกัน เนื่องจากบริษัทไม่ได้คาดหวังว่าจะมีผู้ชมทั่วโลกมากมายขนาดนี้ นอกเหนือจากนั้น สินค้าอย่างรองเท้าสลิปออนสีขาว ที่นักแสดงใช้ใส่ในฉากการเล่นเกม ยังมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 7,800% เลยทีเดียว 

ขณะที่ ผู้ชมที่ชื่นชอบซีรีส์เรื่องนี้ยังพยายามหาซื้อชุดวอร์มและรองเท้าผ้าใบสีขาว ที่คล้ายกับที่ผู้เข้าแข่งขันในซีรีส์สวมใส่ ตามข้อมูลของ Lyst Insights พบว่า ยอดขายชุดวอร์ม เพิ่มขึ้น 97% ส่วนรองเท้าผ้าใบสีขาวมียอดขายเพิ่มขึ้น 145% ขณะที่ชุดที่มีลักษณะคล้ายผู้คุมในซีรีส์ ยังมียอดขายเพิ่มขึ้น 35%  

นอกจากนี้ในโลกโซเชียล อย่าง TikTok ยังมีกระแสนำเกมที่ปรากฏในซีรีส์ไปเล่นตาม โดยเฉพาะเกม “AEIOU” ซึ่งมาสคอตเด็กผู้หญิงผมแกะได้รับความนิยมสูงมาก จนถูกนำไปวางตามสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ที่สร้างกระแสอย่างมากคือ เกมแกะน้ำตาล หรือขนมทัลโกนา ที่กลับมาฮิตอีกครั้ง เนื่องจากเป็นเกมที่เด็ก ๆ เกาหลีใต้ ยุค 80- 90 นิยม ก่อนที่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา

ไม่เพียงในต่างประเทศเท่านั้น ในไทยเราเองก็ไม่น้อยหน้ากัน เราได้เห็นเหล่าคนบันเทิง มาแต่ง Cover ตามตุ๊กตาเด็กผู้หญิงตัวยักษ์ใหญ่ในเกม AEIOU หรือแม้แต่ขนมทัลโกนาน้ำตาลเคี่ยว ก็ต่างฮิตทำตาม ๆ กัน รวมไปถึงเปิดให้บริการเกมบนมือถือชื่อ “Squid Game Challenge” ที่ดัดแปลงจากซีรีส์ บนระบบ Android ใน Google Play Store ของไทยด้วยเช่นกัน 

ทำให้เห็นว่า Squid Game เป็นเหมือนเครื่องตอกย้ำว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้มีความต้องการจากทั่วโลกไม่น้อย และเป็นที่น่าจับตามองว่า กระแสการตอบรับซีรีส์จากเกาหลีใต้ครั้งนี้ อาจจะทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญของ HOLLYWOOD ในอนาคตก็เป็นได้ 

จุดยุทธศาสตร์ระดับโลก!! ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ สู่จุดเดือด World War III | Knowledge Times EP.27

???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
????จุดยุทธศาสตร์ระดับโลก!! ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ สู่จุดเดือด World War III
.เมื่อพูดถึงจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกในการขนส่งสินค้า ล้วนมีหลากหลายเส้นทางด้วยกัน ซึ่งในแต่ละเส้นทางล้วนมีความสำคัญในการเชื่อมทวีปแต่ละทวีปเข้าถึงกัน หรือแม้แต่มีบทบาทในการขับเคลื่อนโลกด้วยทรัพยากรต่างๆ ที่มีในแต่ละทวีป

แต่เมื่อถามถึงจุดยุทธศาสตร์ที่เรียกได้ว่า ‘สำคัญที่สุดของโลก’ สำคัญถึงขั้นที่สามารถเป็นชนวนที่อาจก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ นั่นก็คือ ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ที่หากใครได้ครอบครองก็เปรียบเสมือนได้กุมโลกใบนี้

โดยช่องแคบฮอร์มุซนั้น เป็นช่องแคบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ มีความกว้างเพียง 30 ไมล์ ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวโอมานทางตะวันออกเฉียงใต้กับอ่าวเปอร์เซียทางตะวันตกเฉียงใต้ ฝั่งทางตอนเหนือเป็นประเทศอิหร่าน ทางตอนใต้เป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และแหลมมุซันดัม (Musandam) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโอมาน

แล้วอะไรที่ทำให้ช่องแคบฮอร์มุซกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของโลก?

อย่างที่รู้กันดีว่าในปัจจุบันมีพลังงานรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่เข้ามาแทนที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือพลังงานทดแทนเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนา ดังนั้น ‘น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ’ จึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่โลกใบนี้ยังคงต้องพึ่งพาไปอีกหลายสิบปี

และหากย้อนกลับมาดูจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในโลกใบนี้ ก็มีอยู่หลายจุดด้วยกัน ทั้งคลองปานามาที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิก ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันจีนได้เข้าไปแทรกซึมในลาตินอเมริกาหลายๆ ประเทศ

ต่อมาคือคลองสุเอซ ที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ เห็นได้จากการที่เรือเอเวอร์กิฟเวนติดขวางการจราจรเพียงไม่กี่วันก็สร้างความเสียหายไปมหาศาล

ต่อมาคือแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งเป็นเส้นทางทางการค้าที่สำคัญของแอฟริกา และช่องแคบยิบรอลตาร์ ที่เชื่อมการค้าระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

รวมไปถึงช่องแคบเดนมาร์ก ที่เชื่อมระหว่างแอตแลนติกและทะเลเหนือ และช่องแคบมะละกา ช่องแคบสำคัญที่เชื่อมโยงภูมิภาคระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

ฟังดูแล้วเส้นทางต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องแคบหรือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในโลกใบนี้ก็คือ ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ เพราะ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ใช้ขนส่งน้ำมันหรือก๊าซ ที่จำเป็นผ่านเส้นทางที่สำคัญนี้

อีกทั้งที่ตั้งของช่องแคบฮอร์มุซ ที่เชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน โดยบริเวณรอบอ่าวเปอร์เซีย ประกอบไปด้วยประเทศที่สำคัญถึง 8 ประเทศด้วยกัน ตั้งแต่ อิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย บาร์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างต้องร่วมกันใช้ทะเลอาณาเขต ในเขตเศรษฐกิจเฉพาะ บริเวณอ่าวเปอร์เซีย

แน่นอนว่าการที่มีหลายประเทศใช้อ่าวเปอร์เซียร่วมกัน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดการเดินทางออกจากช่องแคบฮอร์มุซ จึงกลายเป็นจุดเปราะบางจุดแรกที่ง่ายต่อการเกิดปัญหาแย่งชิงทรัพยากร 

จุดต่อมาต้องยอมรับว่าเมื่อช่องแคบฮอร์มุซเป็นทางผ่านอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าแค่ทางผ่านเพราะ พื้นที่รอบอ่าวเปอร์เซีย ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันที่มากที่สุดในโลก 

โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันสูงถึง 6% ของโลก และในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย ที่ชิดทางด้านอิหร่าน เป็นที่สำรองก๊าซถึง 40% ของโลกและส่งอิหร่านให้กลายเป็นประเทศที่มีก๊าซสำรองมากที่สุดในโลกอีกด้วย

รู้จัก ‘Teddy Park’ เบื้องหลังความสำเร็จ ‘ลิซ่า - BLACKPINK’ | Knowledge Times EP.26

????Knowledge Times BizView
????รู้จัก ‘Teddy Park’ เบื้องหลังความสำเร็จ ‘ลิซ่า - BLACKPINK’

ทราบหรือไม่ว่า ก่อนที่ Solo เดี่ยว ‘LALISA’ ของสาว ‘ลิซ่า BLACKPINK’ จะไต่ขึ้นอันดับหนึ่งในหลายแพลตฟอร์มชาร์จเพลงทั่วโลกและสร้างปรากฏการณ์สะเทือนวงการ K-POP อย่างทุกวันนี้ มีชายคนหนึ่งที่เป็นเบื้องหลังสำคัญอยู่

ชายคนนั้น คือ ‘Teddy Park’

Teddy Park คือ ชาวเกาหลีที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอเมริกา และซึมซับพร้อมศึกษาวัฒนธรรมเพลงในฟากตะวันตกไว้กับตัวอย่างมากมาย โดยเฉพาะแนวฮิปฮอป

ตอนอายุได้ 17 ปี Teddy ได้ตัดสินใจเดินทางกลับมาที่เกาหลี เพื่อออดิชันกับค่าย YG Entertainment ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงค่ายระดับกลางที่เต็มไปด้วยศิลปินฮิปฮอป และยังไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในตอนนี้

แน่นอนว่าด้วยความสามารถที่หาตัวจับอยากของ Teddy จึงได้โอกาสเซ็นสัญญากับทาง YG Entertainment ทันที และได้กลายมาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงฮิปฮอปที่ชื่อว่า ‘1TYM’ 

ด้วยความเจ๋งของ ‘1TYM’ ทำให้วงดังกล่าว เจ๋งพอจะคว้ารางวัล Rookie of the year จากเวที Golden Disc Awards และกลายมาเป็นต้นแบบไอดอลสายฮิปฮอปของหลายๆ วงใน YG ยุคต่อมา

อย่างไรก็ตามในปี 2006 ‘1TYM’ ก็ได้ยุติบทบาทลง แต่บทบาทของ Teddy ไม่ได้จบตาม ด้วยความสามารถที่มี เขาได้ถูกดึงมาเป็น Producer ให้กับ YG อย่างเต็มตัว ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก่อนหน้า เขาก็เคย Produce ให้กับศิลปินใน YG มาก่อนแล้วทั้ง SE7EN และ Jinusean (จีนูฌอน) 

นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสร่วมงานกับวง Idol Boy Group วงแรกของ YG อย่าง BIGBANG ในเพลง We belong together ซึ่งผลงานส่วนใหญ่มักเป็นเพลงประกอบในอัลบั้ม หรือเพลง Solo ของสมาชิกในวงเสียมากกว่า

จากนั้นพอเข้าปี 2009 เมื่อ YG ได้เดบิวต์วง Girl Group วงแรกอย่าง ‘2NE1’ ขึ้นมา ตัวเขาก็ได้รับโอกาสมาโชว์ของอย่างเต็มตัว โดย Teddy ได้เป็น Producer หลักทั้งอัลบั้ม ผ่านแนวดนตรี เรกเก้/ป็อป/แดนซ์/เฮาส์ 

แน่นอนว่า ‘2NE1‘ ได้กลายเป็นสุดยอดวงไอดอลหญิงแห่งยุคนั้น โดยมี Teddy เป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานระดับตำนานกับวงไว้มากมาย ตั้งแต่เพลง Fire / I Don’t Care / I Am the Best หรือแม้แต่เพลง Come Back Home

หลังจากนั้น ความเจิดจรัสในฐานะ Producer มือทอง ก็ทำให้เขากลายมาเป็นตัวเลือกให้กับอีกหลายโปรเจกต์ของ YG โดยในปี 2012 Teddy ได้เข้ามามีบทบาทกับวง BIGBANG อีกครั้ง ซึ่งหนนี้เขาเป็น Producer หลักของอัลบั้ม Alive ที่นำดนตรีแนว Electronic เข้ามาผสมผสาน จนได้สร้างผลงานระดับตำนานให้ BIGBANG ผ่านผลงานเพลง Fantastic Baby และถูกยกสถานะให้กลายเป็น Producer คนสำคัญที่ BIGBANG ขาดไม่ได้อีกต่อไป 

และ YG ก็ไม่ผิดหวัง เมื่อ Teddy เขย่าฟอร์ม BIGBANG ในโปรเจกต์ MADE ที่เขย่าวงการ K-POP ด้วยการทำยอดขายอัลบั้มกว่า 2 ล้านชุด และติดชาร์จเพลงอันดับ 1 ทั้งในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ส่งเจ้าตัวให้กลายเป็น Producer ระดับตำนานของวงการไปโดยปริยาย

และแน่นอนว่า ความสำเร็จของไอดอลหญิงรายใหม่กระฉ่อนโลกของ YG อย่าง BLACKPINK ก็ไม่หลุดมือ Teddy เช่นกัน เขาคือผู้ชายคนสำคัญของสาวๆ ผู้ตระหง่านในวงการ K-POP อย่างรวดเร็ว หลังปล่อยเพลงเดบิวต์ไปเพียง 2 เพลงเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังได้สร้างสุดยอดความสำเร็จผ่านมินิอัลบั้มชุดแรก SQUARE UP ของสาวๆ BLACKPINK ด้วยการทะยานขึ้นระดับโลกผ่านเพลง DUU-DU-DUU-DU รวมไปถึงเพลง Solo ของพี่รองของวง อย่าง ‘เจนนี่’ ในเพลง ‘SOLO’ ตามด้วย Solo ของ ‘โรเซ่’ ในเพลง ‘On The Ground’ จนดัน BLACKPINK กลายเป็น ไอคอน กลุ่มใหม่ของโลกไม่แพ้ BIGBANG กับ 2NE1 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องเล็กสุดของวง ‘ลิซ่า BLACKPINK’ สาวไทยหนึ่งเดียวในวง ที่เพิ่งจะปล่อย Solo เดี่ยวเพลง ‘LALISA’ ออกมาและได้สร้างปรากฏการณ์ยอดวิวในยูทูบทะลุ 10 ล้านวิว ภายใน 1 ชั่วโมง แน่นอนว่าเบื้องหลังบทเพลงเขย่าวงการ K-POP นี้ก็ไม่ใช่ฝีมือใครที่ไหนนอกจาก Teddy Park Producer มือทอง ที่มีส่วนร่วมในการสร้างตำนานในครั้งนี้ด้วย

อันที่จริงแล้ว ถ้าลองถอดรหัสความเป็น Teddy และความสำเร็จในทุกโปรเจกต์ที่ได้เข้าไปดูแลแล้วล่ะก็ จะพบว่าจุดสำคัญ คือ เขาเก่งในการสลัดภาพเก่าของไอดอล ทั้งชาย-หญิง ออกไป ไม่ได้สนใจภาพลักษณ์เดิมของไอดอลแบบเกาหลี แต่สนใจที่จะนำเพลงดีๆ ซาวนด์ติดหู และมีความเป็นสากลมาเติมเต็มให้กับไอดอลทุกคนที่เขาต้อง Produce ให้ทั้งนั้น 

งานของเขาจึงเรียกว่ามีทั้งความเป็นสากล ร่วมสมัย และยังมีครีเอทีฟ ที่สะท้อนตัวตนของเพลงและศิลปินนั้นๆ ออกมาได้อย่างลงตัว

แม้ในปัจจุบัน ผลงานเพลงของ YG จะไม่ได้มีออกมามากมาย แต่ Teddy ก็ถือเป็นโปรดิวเซอร์มือทองที่ยุ่งที่สุดในวงการ เพราะแค่ใช้ชีวิตในฐานะ ‘หัวใจ’ ของ YG ที่ตอนนี้ หมดไปกับ BLACKPINK,BIGBANG ก็เกินกลืน

ฉะนั้นในวันนี้  Teddy จึงเป็นบุคคลที่ YG และประธาน หยาง ต้องง้อยิ่งกว่าใครในปฐพีเกาหลี…

โลกพร้อมคว่ำบาตรโตโยต้า!! หลังฝืนค้าน 'รถยนต์ไฟฟ้า' อ้าง!! สร้างมลพิษยิ่งกว่าน้ำมัน - ตกงานกว่า 5 ล้านคน | Knowledge Times EP.25

???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
???? โลกพร้อมคว่ำบาตรโตโยต้า!! หลังฝืนค้าน 'รถยนต์ไฟฟ้า' อ้าง!! สร้างมลพิษยิ่งกว่าน้ำมัน - ตกงานกว่า 5 ล้านคน

“โมเดลทางธุรกิจของอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังจะพังลง” ประโยคนี้ ถูกกล่าวโดย “Akio Toyoda” ประธานบริษัท “TOYOTA” หลังได้รับทราบ นโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่สั่งห้ามขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป

Toyoda ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะเขามองว่าความเป็นจริง รถยนต์ไฟฟ้าล้วนสร้างมลพิษมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และมองว่ารถยนต์ Hybrid ตอบโจทย์มากกว่าในตอนนี้ 

เขาได้พยายามพูดถึงข้อเสียต่าง ๆ จากการผลักดันให้เกิดรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีวาทะเด็ดเรียกแขกคนทั่วโลกว่า "ศัตรูของเรา คือคาร์บอนไม่ใช่เครื่องยนต์ ฉะนั้นควรหันไปพัฒนาเครื่องยนต์ให้ลดการปล่อยคาร์บอนจะดีกว่าการที่จะยกเลิกผลิตเครื่องยนต์น้ำมัน ในขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นจะขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนทั้งประเทศหากรถทุกคันต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน” 

นอกจากนี้ Toyoda ยังเผยอีกว่า หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศนโยบายมุ่งสู่การเป็น ประเทศปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral) และรถพลังงานไฟฟ้า (EV) อาจจะกระทบการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน และแรงงานกว่า 5.5 ล้านคน

เพราะประเทศญี่ปุ่นผลิตรถยนต์ปีละ 10 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 5 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อส่งออก หากตามเป้าหมายภายในปี 2030 ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นมุ่งสู่รถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเราคาดการณ์ว่าจะผลิต EV ถึง 2 ล้านคัน (BEV และ FCEV) นั่นเท่ากับว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน 8 ล้านคัน จะหายไปเลย และส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในระบบกว่า 5.5 ล้านคน 

ฉะนั้นการที่นักการเมืองบางคนบอกว่า เราจำเป็นต้องเปลี่ยนรถยนต์ทุกคันให้กลายเป็น EV เพราะตอนนี้อุตสาหกรรมการผลิตของเราล้าสมัยนั้น ในมุมของ Toyoda จึงมองว่าไม่ถูกต้องทั้งหมด และวันนี้โตโยต้า ยังมีหน้าที่ปกป้องการจ้างงาน และชีวิตของคนญี่ปุ่น จึงมองแนวทางใหม่ที่จะแก้ปัญหานี้แทน

ซึ่งใครหลายคนที่ได้ฟัง ต่างก็งงไปตาม ๆ กัน เนื่องจากเหตุผลนั้นค่อนข้างย้อนแย้ง เพราะว่าแม้โตโยต้า จะพัฒนาเครื่องยนต์ Hybrid ได้ดีแค่ไหน มันก็ยังคงปล่อยคาร์บอนอยู่ดี ซึ่งต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าล้วน

อย่างไรก็ตาม แม้การยืนหยัดของโตโยต้าจะดุเดือดเพียงใด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ สั่นคลอนกับมุมมองนี้ และพร้อมเดินหน้าประกาศหยุดผลิตรถยนต์สันดาปในเวลาอันใกล้ หันไปมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% ไม่ว่าจะเป็น Mercedes-Benz หรือแม้แต่ Nissan

ความคิดอันสุดโต่งของประธานโตโยต้าครั้งล่าสุด ดูจะไปกระทบใจนักสิ่งแวดล้อม ที่ตอนนี้เริ่มออกมาเรียกร้องให้โลกคว่ำบาตรโตโยต้า เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ยังคงใช้เงิน และอิทธิพลในการชะลอความก้าวหน้าของรถยนต์ไฟฟ้า

เพราะในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ เริ่มตระหนักว่าอนาคตของโลก คือ รถยนต์ไฟฟ้า แต่โตโยต้า กลับดันทุรังสู้ต่อในตลาด Hybrid และเซลล์เชื้อเพลิง ส่อเจตนาชะลอความก้าวหน้าของรถยนต์ไฟฟ้า แม้ Toyoda จะเคยบอกว่าเขาจะสนใจรถยนต์ไฟฟ้า แต่ต้องไม่ใช่เร็ว ๆ นี้

สำหรับการประกาศคว่ำบาตรโตโยต้า มีแกนนำอย่าง “Paul Scott” ผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้สนับสนุน EV Plug In America และอีก 15 กลุ่ม ที่ลงนามสนับสนุนการจัดการประท้วงเพื่อประกาศคว่ำบาตรผู้ผลิตรถยนต์ ยังสถานที่ตั้งของโตโยต้าในเมือง Santa Monica โดย “Paul Scott” กล่าวว่า “นาฬิกาสภาพอากาศกำลังเดินไปข้างหน้า และเราต้องเริ่มโจมตีผู้ก่อมลพิษ แม้ว่าจะไม่ใช่โตยาต้าก็ตาม” 

ซึ่งเขามองว่านี่คือโอกาสที่ดีที่สุด สำหรับการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับกฎหมายของรัฐบาลกลาง นอกจากนั้นพวกเขายังได้เขียนจดหมายถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโตโยต้า มอเตอร์ อเมริกาเหนือ โดยในจดหมายสรุปใจความได้ว่า... 

“เราขอให้โตโยต้าหยุดพยายามขัดขวางนโยบายผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า ตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี และแนะนำให้โตโยต้าหันมาสนับสนุน - ลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้า 100% อย่างเต็มรูปแบบ รวมไปถึงเรื่องของสถานีชาร์จซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้วย

สุดท้ายแล้ว การคว่ำบาตรครั้งนี้จะส่งผลต่อโตโยต้ามากแค่ไหน ก็ยังบอกยาก ขนาดผู้ผลิตยานยนต์ในญี่ปุ่นนั้น ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะดันเครื่องยนต์ Hybrid ให้ไปต่อหรือไม่อย่างไรในอนาคต

แต่ในส่วนของประเทศไทยที่อุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่ล้วนขับเคลื่อนด้วยแบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่น คงพอเห็นภาพอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าที่อาจจะยังก้าวช้ากว่าเทรนด์โลกอย่างแน่นอน

อานิสงส์โควิด!! ดันอนาคตค้าปลีกออนไลน์ 'อินเดีย' พุ่ง โตก้าวกระโดด 3 เท่าในอีก 10 ปี | Knowledge Times EP.24

เกือบสองปีแล้วที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้า วิถีชีวิต พฤติกรรมผู้บริโภค ฯลฯ จนถึงขั้นที่ธุรกิจมากมายต้องล้มหายตายจากไปและผู้คนก็รู้สึกสิ้นหวังไปตาม ๆ กัน 

แต่ทุกวันนี้มุมมองของผู้คนทั่วโลก เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยตั้งตาคอยว่าเมื่อไหร่โควิด-19 จะหมดไปจากโลกนี้เสียทีนั้น ก็เริ่มเปลี่ยนมาถามตัวเองว่า นับแต่นี้ไปเราจะอยู่กับโควิด-19 กันอย่างไร เพราะดูแล้วโควิด-19 คงจะอยู่กับเราไปอีกนาน มนุษย์ต่างหากที่ต้องปรับตัวเองเพื่ออยู่กับโควิด-19 ให้ได้ตามวิถีปกติใหม่หรือ New Normal

ถ้าย้อนกลับไปดูตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว จะพบว่าอินเดียเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่ผู้คนทั่วโลกจับตามองด้วยความเป็นห่วง เพราะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตรายวันเป็นจำนวนสูงมาก ถึงขนาดว่าเผาศพกันไม่ทันเลยทีเดียว 

แต่มาถึงวันนี้ก็พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศอินเดียกลับดีขึ้นมาก มาตรการที่เคยเข้มงวดต่าง ๆ ก็ได้รับการผ่อนคลาย และล่าสุดก็มีข่าวว่ารัฐบาลอินเดียกำลังจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 

ล่าสุดรัฐบาลอินเดีย ได้มีการอนุญาตให้ร้านอาหารเปิดบริการให้ลูกค้าเข้าไปรับประทานที่ร้านได้แล้วจนถึง 4 ทุ่ม และร้านอาหารทุกร้านต่างก็ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า มียอดขายดีกว่าช่วงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกต่างหาก เพราะคนอินเดียนิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน

โดยตอนนี้ทางสมาคมที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารในอินเดีย กำลังต่อรองกับรัฐบาลเพื่อขอขยายเวลาปิดร้านจาก 4 ทุ่มเป็นถึงเที่ยงคืน เนื่องจากธรรมชาติของผู้บริโภคชาวอินเดียมักจะชินกับการรับประทานอาหารค่ำในช่วงเวลาที่ค่อนข้างดึก 

ฉะนั้นการที่ร้านอาหารต้องปิดร้านแค่ 4 ทุ่มตามระเบียบของราชการ จึงกลายเป็นปัจจัยกดดันให้คนอินเดียต้องรับประทานอาหารค่ำเร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งถ้าสมาคมฯ สามารถเจรจาให้เปิดร้านอาหารได้จนถึงเที่ยงคืน ก็จะยิ่งทำให้ขายดีมากยิ่งขึ้น เพราะร้านอาหารจะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างน้อยสองรอบ 

ผู้ประกอบการร้านอาหารจึงต้องรอลุ้นการตัดสินใจจากรัฐบาลอินเดียว่าจะโอนอ่อนผ่อนตามตามเสียงเรียกร้องหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ร้านอาหารกลับมาขายดิบขายดีแบบคาดไม่ถึง แต่ถ้าไปส่องดูที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่าง ๆ กลับพบว่า “เงียบเป็นป่าช้า” 

นั่นก็เพราะผู้บริโภคยังไม่กล้าเข้าไปเดินช็อปปิ้งสักเท่าไหร่ 

ซึ่งหากมาลองวิเคราะห์ดูแล้ว จะพบว่า สาเหตุสำคัญก็คือ ผู้บริโภคชาวอินเดียมีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะกับการช็อปปิ้งผ่านระบบออนไลน์

โดยในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวอินเดียเคยชินกับการช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น จนกระเทือนไปถึงโครงสร้าง 'ตลาดค้าปลีก' ในอินเดียให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย

ทั้งนี้  หากย้อนไปเมื่อปี 2554 จะพบว่า ตลาดค้าปลีกของอินเดีย ประกอบไปด้วยธุรกิจค้าปลีกอยู่สองประเภทหลัก คือ... 

>> ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Retailing/Unorganized Retailing) หรือ “Kirana” ถ้าเรียกภาษาบ้าน ๆ แบบประเทศไทยก็คือ “ร้านโชห่วย” นั่นเอง โดยร้านโชห่วยประเภทนี้มีสัดส่วนสูงถึง 95% 

>> ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกอีกประเภทหนึ่ง คือ ธุรกิจค้าปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade Retailing/Organized Retailing) มีสัดส่วนอยู่แค่เพียง 5% 

>> แต่ถัดมาอีกประมาณ 4 ปีคือ ในปี 2558 ก็พบว่าสัดส่วนในตลาดค้าปลีกของอินเดียก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยร้านโชห่วยมีสัดส่วนลดลงเหลือ 92% และร้านค้าปลีกแบบสมัยใหม่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 8% 

หลังจากนั้น จนถึงปี 2562 ก็พบว่าโครงสร้างในธุรกิจค้าปลีกของอินเดียได้เริ่มเปลี่ยนไปอีกรอบ โดยครั้งนี้เริ่มมี 'ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์' เพิ่มเข้ามา

ส่งผลทำให้สัดส่วนของร้านโชห่วยลดลงเหลือ 88% สัดส่วนของธุรกิจค้าปลีกแบบสมัยใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 9% และสัดส่วนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์แทรกเข้ามา 3% ภายใต้มูลค่าตลาดค้าปลีกรวมของอินเดียปี 2562 ที่มีตัวเลขประมาณ 790,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ยิ่งไปกว่านั้น มีการคาดการณ์กันว่า ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในอินเดียน่าจะเติบโตต่อไปอีก!!

จบกันแค่นี้!! 'อินเดีย'​ หยุดซื้อ​ '​Pfizer -​ Moderna'​ หันมาพึ่งพาวัคซีนตัวเอง | Knowledge Times EP.23

???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
????จบกันแค่นี้!! 'อินเดีย'​ หยุดซื้อ​ '​Pfizer -​ Moderna'​ หันมาพึ่งพาวัคซีนตัวเอง

รัฐบาลกลางอินเดียตกลงใจที่จะไม่ซื้อวัคซีนเจ้าดังของสหรัฐอเมริกาอย่าง Pfizer และ Moderna เพิ่ม โดยให้เหตุผลว่า วัคซีนที่พัฒนาเองในประเทศก็เพียงพอที่จะให้ฉีดให้กับประชาชนในประเทศแล้ว แถมยังมีราคาถูกกว่า สามารถจัดเก็บ และขนส่งด้วยตู้แช่ทั่วไป ในขณะที่วัคซีน mRNA ของสหรัฐฯ ต้องเก็บในอุณหภูมิระดับติดลบ ซึ่งในอินเดียยังมีความพร้อมตรงนี้ไม่มากพอ 

สำหรับวัคซีนสัญชาติอินเดีย ที่ผลิตได้เองในประเทศตอนนี้มีอยู่ 2 ตัวหลักๆ คือ Covishield หรือที่รู้จักอีกชื่อ คือ AstraZeneca ผลิตโดยบริษัท Serum Institute of India ที่พึ่งจะได้รับการรับรองจากอังกฤษ โดยสามารถเดินทางเข้าประเทศได้แบบไม่ต้องกักตัว หากฉีดครบ 2 โดส และ Covaxin วัคซีนสัญชาติอินเดียแท้ๆ ที่พัฒนาโดย Bharat Biotech

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์อินเดียเพิ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน DNA ตัวแรกของโลก ที่ชื่อว่า ไซคอฟ–ดี (ZyCoV-D) ผลิตโดยบริษัท ไซดัส คาดิลา (Zydus Cadila) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อ อยู่ที่ร้อยละ 66.6 เมื่อรับวัคซีนครบ 3 เข็ม โดยต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ ในการผลักตัวยาเข้าผิวหนังด้วยความเร็วสูง

อินเดีย จัดเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดในโลก และเคยได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นผู้กู้วิกฤติด้วยวัคซีน Covishield ที่จะสมทบเข้าโครงการ Covax ขององค์การอนามัยโลก แต่อินเดียมาเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของ Covid-19 ในประเทศเสียก่อน รัฐบาลอินเดียจึงออกกฎหมายระงับการส่งออกวัคซีน Covid-19 ชั่วคราว

แต่ตอนนี้อินเดียสามารถควบคุมการแพร่ระบาดรุนแรงมาอยู่ในระดับที่รับมือได้แล้ว และได้ทยอยฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 800 ล้านโดสทั่วประเทศ ขณะที่กำลังผลิตวัคซีนเริ่มกลับมาเข้าที่ จนคาดว่าอินเดียจะสามารถกลับมาส่งออกวัคซีนได้ภายในเดือนตุลาคม 2021 นี้ 

จากเหตุผลที่ว่ามา ทำให้อินเดียไม่จำเป็นต้องซื้อวัคซีนของผู้ผลิตรายใหญ่จากสหรัฐฯ และมองว่าการใช้ของในประเทศก็น่าจะเพียงพอต่อความต้องการแล้ว

ทางแยก!! 'ธุรกิจการศึกษาจีน' จะ 'รักชาติ' หรือ 'ข้ามชาติ' ต้องเลือก!! | Knowledge Times EP.21

???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
???? ทางแยก!! 'ธุรกิจการศึกษาจีน' จะ 'รักชาติ' หรือ 'ข้ามชาติ' ต้องเลือก!!

จีนจัดระเบียบการศึกษา ปฏิรูปอุตสาหกรรมติวเตอร์สอนพิเศษนอกโรงเรียน ต้องปฏิบัติตามนโยบายการศึกษาของรัฐบาลจีนอย่างเคร่งครัด เพื่อปลูกฝังให้คนจีน ‘รักชาติ-รักแผ่นดิน’ เข้าใจอุดมการณ์หลักในการนำพาประเทศประสบความสำเร็จ และเป็นไปตามผลลัพธ์ดังที่คาดหวังไว้

โดยกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมของจีน ได้มีการร่วมออกกฎระเบียบดังกล่าว ที่อยู่ระหว่างทดลองบังคับใช้ ซึ่งกฎระเบียบไม่อนุญาตครูประถม มัธยม และอนุบาล ทำงานทั้งที่โรงเรียนและสถาบันกวดวิชานอกสถานศึกษาควบคู่กัน

ขณะเดียวกัน สถานที่สอนพิเศษ ซึ่งสอนวิชาเดียวกับที่เรียนอยู่ในโรงเรียนจำเป็น ต้องได้รับใบอนุญาต และต้องจ้างครูที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นโรงเรียนสอนพิเศษต่าง ๆ ยังถูกห้ามสอนออนไลน์นอกเวลา ไม่ว่าจะผ่านการส่งข้อความ วิดีโอออนไลน์ หรือไลฟ์สตรีมมิ่ง อีกด้วย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลจีน ยังได้ออกกฎระเบียบให้ธุรกิจด้านการศึกษา บริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษา โรงเรียนและสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ ในจีนให้เป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก่อนจะเกิดปัญหาสังคมอย่างรุนแรง

ทันทีที่รัฐบาลจีนประกาศให้โรงเรียนติวเตอร์เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร หุ้นกลุ่มธุรกิจการศึกษาของจีนก็ร่วงอย่างหนัก 

ส่งผลให้ธุรกิจสถาบันกวดวิชา ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับงบประมาณประเทศไทยทั้งปี (หรือ 3 ล้านล้านบาท) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และขนาดของอุตสาหกรรมติวเตอร์นอกเวลาเรียน จะลดลงถึง 30% 

นอกจากนี้ บริษัทที่เกี่ยวเนื่องและกำลังหาโอกาสเติบโตในอนาคต ก็มีอันต้องได้รับผลกระทบเช่นกัน อาทิ... 

บริษัท Gaotu (บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก) ได้ประกาศเลิกรับสมัครนักเรียนอายุ 3-6 ปี และเลิกจ้างพนักงานถึง 1 ใน 3 ส่วน

ด้าน VIPKid ที่ได้รับการสนับสนุนโดย Tencent ได้ประกาศเลื่อนการ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ออกไป 

ด้าน Andrea Previtera ที่ปรึกษาการลงทุนด้านอุตสาหกรรม EdTech ให้ข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนไว้ว่า ผลกระทบครั้งนี้ ทำให้บรรดานักลงทุนหลายราย หันไปลงทุนในตลาดที่ธุรกิจบริการทางการศึกษากำลังเติบโตแทน เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย และไทย

ทว่า จีนก็ยังคงเชื่อมั่นในเนื้อนโยบาย โดยมองว่า ยิ่งธุรกิจการกวดวิชานอกระบบเติบโตมากเท่าไร ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการศึกษาในระบบ ที่ไม่สามารถผลิตผู้สอนและสร้างระบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ 

ทำให้ผู้ปกครองที่กังวลต่ออนาคตของบุตรหลานต้องดิ้นรนเพื่อให้ลูกได้เรียนพิเศษ และอาจจะนำไปสู่การรับองค์ความรู้และวัฒนธรรมที่พร้อมจะทำให้ชาตินิยมและความรักในชาติเสื่อมคลาย

ถึงกระนั้น ด้านสื่อมวลชนจีน ได้มีการรายงานถึงวิธีต่าง ๆ ที่บรรดาผู้ปกครองและครูสอนพิเศษจะใช้เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการคุมเข้มของรัฐ โดยเฉพาะการสอนพิเศษแบบ "ใต้ดิน" เพื่อเลี่ยงกฎหมาย เช่น การจ้างครูสอนพิเศษโดยอ้างว่าเป็นคนทำความสะอาดบ้าน แต่ใช้วิธีคิดเงินเดือนให้มากถึงราว 30,000 หยวน หรือประมาณ 150,000 บาทต่อเดือน

เมื่อทางการจีนต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เหมาะสมกับค่านิยม วัฒนธรรม และขนบแห่งความเป็นชาติจีน แต่ยุคสมัยนิยม ที่เริ่มแสวงหาองค์ความรู้จากทุกซีกโลก ก่อให้เกิดการจัดระเบียบครั้งสำคัญที่สะเทือนต่อแวดวงธุรกิจการศึกษาจีนและพลเมืองจีนบางส่วน

จะทำให้ภาพของชาวจีนต่อจากนี้ เป็นอย่างไรต่อไป 'รักชาติ' หรือ 'ข้ามชาติ' ดี ต้องรอดูกัน... 

ค่ายรถสะเทือน 'Xiaomi' ทุ่มหมื่นล้าน ลุยตลาด 'รถยนต์ไฟฟ้า' พร้อมปล่อยรถ 2023 I Knowledge Times EP.20

???? KnowledgeTimes BizView 
???? ค่ายรถสะเทือน!! 'Xiaomi' !! ทุ่มหมื่นล้าน ลุยตลาด 'รถยนต์ไฟฟ้า' พร้อมปล่อยรถ 2023 !

“Xiaomi” แบรนด์เทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ที่เรารู้จักกันในฐานะเจ้าของแบรนด์ Smartphone และอุปกรณ์เทคโนโลยีที่มีสินค้าและบริการอีกมากมาย ประกาศเปิดตัวธุรกิจ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 1 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท

โดย “Lei Jun” CEO และผู้ก่อตั้ง Xiaomi ได้ออกมาประกาศว่าตอนนี้เขาได้จดทะเบียนตั้งบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการแล้ว โดยใช้ชื่อว่า “Xiaomi EV Inc.” พร้อมเผยความมั่นใจผ่านคำกล่าวด้วยว่า “ยินดีที่จะนำชื่อเสียงของตัวเองมาเสี่ยง และต่อสู้เพื่ออนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะของเรา”

ทั้งนี้หากย้อนไปเมื่อราว ๆ ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Xiaomi ได้เข้าซื้อบริษัทสตาร์ทอัพ ผู้พัฒนาในด้านเทคโนโลยีการขับรถยนต์แบบอัตโนมัติจากจีนที่ชื่อ “DeepMotion” ด้วยเงินกว่า 77 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมของ Xiaomi อย่างชัดเจนถึงการเข้ามาสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

โดยนักวิเคราะห์มองว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่ Xiaomi จะพัฒนาขึ้นนั้น อาจมาพร้อมเทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติใน Level 4 คือระดับที่รถสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Self Driving Mode) ได้อย่างสมบูรณ์รวมถึงสามารถรับมือกับการขับในเขตเมืองได้ด้วยตัวเอง เรียกได้ว่าเทียบเคียงกับ Full Self Driving อย่าง ‘Tesla’ ของ ‘อีลอน มัสก์’ เลยก็ว่าได้ 

สำหรับ “Xiaomi EV Inc.” ในปัจจุบัน มีพนักงานแล้วกว่า 300 ตำแหน่ง จากผู้สมัครทั้งหมดกว่า 20,000 คน และยังได้วางแผนอัดฉีดเงินลงทุนเพิ่มเติมอีกกว่า 50,000 ล้านบาท ภายในเวลา 10 ปี 

ขณะที่ทาง Xiaomi ก็ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงปี 2023 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยรถยนต์ดังกล่าวจะมากับความสามารถที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Smart Devices เพื่อตอบสนองประสบการณ์การใช้งานทุกผลิตภัณฑ์ของ Xiaomi ทั้งหมดได้อีกด้วย 

สำหรับสิ่งที่เข้ามาสนับสนุนก้าวครั้งใหม่ของ Xiaomi ในครั้งนี้ เชื่อกันว่ามาจากแรงส่งของผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่บริษัทมีรายได้สุทธิสูงถึง 87,790 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า 64% จนส่ง Xiaomi ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเบอร์ 2 ของโลก แซงหน้า Apple ได้สำเร็จ

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า Xiaomi คือ แบรนด์ที่สามารถทำได้ดีในทุกอุตสาหกรรม! หากคิดจะออกตัวทำ แถมทำได้ดีในเชิงคุณภาพสูง แต่ราคาต่ำกว่าผู้เล่นรายอื่น ๆ เสมอในทุกผลิตภัณฑ์สินค้าด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ค่ายสมาร์ทโฟนอย่าง Xiaomi เท่านั้นที่ก้าวเข้าสู่ตลาดนี้แบบเต็มตัว แม้แต่ Apple ก็เล็งเห็นถึงโอกาส โดยได้ลงทุนร่วมกับ Hyundai และ Kia Motor Corp กว่า 3,600 ล้านดอลลาร์ไปก่อนหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า Apple Car รุ่นแรกจะเป็นรถไฟฟ้าที่มี Performance สูงกว่ารถยนต์ไฟฟ้าปกติทั่วไปในตลาดปัจจุบัน และตั้งเป้าเปิดตัวในปี 2025

ก็เรียกได้ว่า ตลาดรถยนต์ในนาทีนี้ อาจจะไม่ใช่เวทีของค่ายรถยนต์เหมือนในอดีตอีกต่อไปเสียแล้ว...

.

.


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
- ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
- รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
- สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
- แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top