จุดยุทธศาสตร์ระดับโลก!! ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ สู่จุดเดือด World War III | Knowledge Times EP.27
???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
????จุดยุทธศาสตร์ระดับโลก!! ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ สู่จุดเดือด World War III
.เมื่อพูดถึงจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกในการขนส่งสินค้า ล้วนมีหลากหลายเส้นทางด้วยกัน ซึ่งในแต่ละเส้นทางล้วนมีความสำคัญในการเชื่อมทวีปแต่ละทวีปเข้าถึงกัน หรือแม้แต่มีบทบาทในการขับเคลื่อนโลกด้วยทรัพยากรต่างๆ ที่มีในแต่ละทวีป
แต่เมื่อถามถึงจุดยุทธศาสตร์ที่เรียกได้ว่า ‘สำคัญที่สุดของโลก’ สำคัญถึงขั้นที่สามารถเป็นชนวนที่อาจก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ นั่นก็คือ ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ที่หากใครได้ครอบครองก็เปรียบเสมือนได้กุมโลกใบนี้
โดยช่องแคบฮอร์มุซนั้น เป็นช่องแคบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ มีความกว้างเพียง 30 ไมล์ ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวโอมานทางตะวันออกเฉียงใต้กับอ่าวเปอร์เซียทางตะวันตกเฉียงใต้ ฝั่งทางตอนเหนือเป็นประเทศอิหร่าน ทางตอนใต้เป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และแหลมมุซันดัม (Musandam) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโอมาน
แล้วอะไรที่ทำให้ช่องแคบฮอร์มุซกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของโลก?
อย่างที่รู้กันดีว่าในปัจจุบันมีพลังงานรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่เข้ามาแทนที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือพลังงานทดแทนเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนา ดังนั้น ‘น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ’ จึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่โลกใบนี้ยังคงต้องพึ่งพาไปอีกหลายสิบปี
และหากย้อนกลับมาดูจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในโลกใบนี้ ก็มีอยู่หลายจุดด้วยกัน ทั้งคลองปานามาที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิก ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันจีนได้เข้าไปแทรกซึมในลาตินอเมริกาหลายๆ ประเทศ
ต่อมาคือคลองสุเอซ ที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ เห็นได้จากการที่เรือเอเวอร์กิฟเวนติดขวางการจราจรเพียงไม่กี่วันก็สร้างความเสียหายไปมหาศาล
ต่อมาคือแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งเป็นเส้นทางทางการค้าที่สำคัญของแอฟริกา และช่องแคบยิบรอลตาร์ ที่เชื่อมการค้าระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
รวมไปถึงช่องแคบเดนมาร์ก ที่เชื่อมระหว่างแอตแลนติกและทะเลเหนือ และช่องแคบมะละกา ช่องแคบสำคัญที่เชื่อมโยงภูมิภาคระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
ฟังดูแล้วเส้นทางต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องแคบหรือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในโลกใบนี้ก็คือ ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ เพราะ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ใช้ขนส่งน้ำมันหรือก๊าซ ที่จำเป็นผ่านเส้นทางที่สำคัญนี้
อีกทั้งที่ตั้งของช่องแคบฮอร์มุซ ที่เชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน โดยบริเวณรอบอ่าวเปอร์เซีย ประกอบไปด้วยประเทศที่สำคัญถึง 8 ประเทศด้วยกัน ตั้งแต่ อิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย บาร์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างต้องร่วมกันใช้ทะเลอาณาเขต ในเขตเศรษฐกิจเฉพาะ บริเวณอ่าวเปอร์เซีย
แน่นอนว่าการที่มีหลายประเทศใช้อ่าวเปอร์เซียร่วมกัน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดการเดินทางออกจากช่องแคบฮอร์มุซ จึงกลายเป็นจุดเปราะบางจุดแรกที่ง่ายต่อการเกิดปัญหาแย่งชิงทรัพยากร
จุดต่อมาต้องยอมรับว่าเมื่อช่องแคบฮอร์มุซเป็นทางผ่านอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าแค่ทางผ่านเพราะ พื้นที่รอบอ่าวเปอร์เซีย ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันที่มากที่สุดในโลก
โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันสูงถึง 6% ของโลก และในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย ที่ชิดทางด้านอิหร่าน เป็นที่สำรองก๊าซถึง 40% ของโลกและส่งอิหร่านให้กลายเป็นประเทศที่มีก๊าซสำรองมากที่สุดในโลกอีกด้วย
นอกจากนี้ก๊าซกว่า 1 ใน 3 ของโลก กระจายตัวอยู่รอบ ๆ อ่าวเปอร์เซีย และนั่นทำให้แค่อ่าวเปอร์เซียเพียงที่เดียว ก็กลายเป็นแหล่งพลังงานถึง 15% ของที่มีอยู่ทั้งโลก
ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมันและก๊าซ ที่มีอยู่มหาศาลในบริเวณรอบๆ อ่าวเปอร์เซียนี้เอง จึงทำให้ช่องแคบฮอร์มุซกลายเป็นเส้นทางที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลก
และนอกจากจุดกำเนิดที่สำคัญอันเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างอ่าวเปอร์เซียแล้ว ทางออกของช่องแคบฮอร์มุซก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
แม้ว่าทางออกของช่องแคบจะไม่ได้มีแหล่งพลังงานมากเทียบเท่าบริเวณอ่าวเปอร์เซีย หากแต่ว่าฟากที่จะออกจากช่องแคบฮอร์มุซนั้น เป็นที่ตั้งของเกาะ 8 เกาะ โดยที่ 7 เกาะ อยู่ในการควบคุมของอิหร่าน และ 1 เกาะอยู่ใต้การควบคุม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จึงอาจกล่าวได้ว่าอิหร่านกลายเป็นผู้คุมช่องแคบฮอร์มุซไปโดยปริยาย
และถ้าหากว่าอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การขนถ่ายพลังงานกว่า 67% ของการบริโภคบนโลก ที่ต้องผ่านทางช่องแคบฮอร์มุซจะชะงัก อีกทั้งประเทศจีนที่พึ่งพาน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียกว่า 80% จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทันที
ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหากช่องแคบฮอร์มุซปิด ญี่ปุ่นเองที่อาศัยพลังงานก๊าซจากอ่าวเปอร์เซียถึง 60% และพลังงานอื่นๆ อีก 80% ก็ต้องประสบปัญหาไม่ต่างจากจีนเช่นกัน
รวมถึงประเทศอุตสาหกรรมสำคัญอย่างเกาหลีใต้ที่พึ่งพาพลังงานจากช่องแคบฮอร์มุซกว่า 70% ก็ต้องได้รับผลกระทบจากการปิดช่องแคบเช่นกัน
แน่นอนว่าเมื่อช่องแคบฮอร์มุซนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก จนดูเหมือนจะมากเกินไปย่อมมีผู้ที่ต้องการลดความสำคัญลงอย่างแน่นอน
โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศหนึ่งที่พยายามลดความสำคัญของช่องแคบฮอร์มุซลง ด้วยการวางท่อก๊าซและน้ำมัน จากอ่าวเปอร์เซียไปออกทางทะเลแดง เพื่อหลีกเลี่ยงการขนถ่ายผ่านช่องแคบฮอร์มุซ และเพื่อลดความสำคัญในอำนาจของอิหร่านที่เป็นผู้กุมอำนาจของช่องแคบฮอร์มุซเอาไว้
นอกจากนี้ การที่ช่องแคบฮอร์มุซเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญระดับโลก ย่อมเป็นที่หมายปองของชาติมหาอำนาจ โดยสหรัฐฯ เองก็ได้ตั้งฐานทัพไว้จนทั่ว แม้ว่าจะขัดแย้งกับข่าวการถอนกองกำลังออกไปของสหรัฐฯ แต่แน่นอนว่า นั่นคือการถอนกองกำลังออกไปเพียงแค่จุดเดียวเท่านั้น เนื่องจากสหรัฐฯ ก็ยังคงต้องพึ่งพาก๊าซและน้ำมันไปอีกนานหลายปี
ด้วยเหตุนี้เองช่องแคบฮอร์มุซจึงเป็นจุดสำคัญ ที่สหรัฐฯ เล็งเห็นถึงขนาดเข้าไปตั้งฐานทัพในหลายพื้นที่ รวมไปถึงบริเวณชายหาดของอิหร่าน ที่เรียงรายไปด้วยปืนใหญ่ และพร้อมปะทะกับเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐฯ ได้ทุกเมื่อ ขณะเดียวกันกลุ่ม ICR หรือกลุ่ม Triple Axis อย่างอิหร่าน จีน รัสเซีย ก็เข้าไปซ้อมรบบริเวณช่องแคบฮอร์มุซอยู่เป็นประจำ
และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจุดยุทธศาสตร์อื่นๆ อย่าง คลองปานามา คลองสุเอซ แหลมกู๊ดโฮป ช่องแคบเดนมาร์ก และช่องแคบมะละกา จะเห็นได้ว่าช่องแคบฮอร์มุซนั้นมีความสำคัญมากที่สุด และหากความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจต่างๆ ลุกลามบานปลายจนนำไปสู่การปิดช่องแคบฮอร์มุซ แน่นอนว่าโลกทั้งใบต้องหยุดชะงักและอาจนำมาสู่การเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ไม่ยาก
.
.
แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32