ถอดรหัส ‘เกาหลีใต้’ ‘อุตสาหกรรมบันเทิง’ สร้างชาติ ทะยานสู่ระดับโลก | Knowledge Times EP.30

????Knowlegde Times BizView
????ถอดรหัส ‘เกาหลีใต้’ ‘อุตสาหกรรมบันเทิง’ สร้างชาติ ทะยานสู่ระดับโลก

ซีรีส์ ดนตรี ภาพยนตร์ เชื่อว่าในยุคนี้ต้องเคยได้สัมผัสกับความบันเทิงที่ส่งตรงมาจากแดนกิมจิ หรือประเทศเกาหลีใต้กันบ้าง ประเทศที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศล้าหลังแห่งเอเชีย แต่ในวันนี้กลับพลิกโฉมหน้าและพุ่งทะยานสู่สุดยอดอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก....เขาทำได้อย่างไร?

เมื่อย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1950-1970 อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีนั้นถือว่าเจริญรุ่งเรืองไม่น้อยกระทั่งการเผด็จอำนาจของปักจุงฮี ที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงเสื่อมลงจากการถูกเซนเซอร์และโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งทำให้ตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 1988 จนกระทั่งปักจุงฮีเสื่อมอำนาจลง 

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีก็ยังถูกครอบงำด้วยกลุ่มธุรกิจแชโบลมาจนถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ทำให้บริษัทใหญ่ในเกาหลีประสบภาวะเสียหายอย่างรุนแรง กลุ่มทุนแชโบลจึงถอยออกจากการครอบงำวงการภาพยนตร์ 

นอกจากนี้วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือที่คนเกาหลีรู้จักกันในชื่อวิกฤต IMF ก็สร้างความเสียหายไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมหนักของเกาหลีใต้ ที่ในขณะนั้นเปรียบเสมือนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักของประเทศ จนต้องชะงักลง

ดังนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้ จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคธุรกิจอื่น ๆ นั่นก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมบันเทิง

โดยในปี 1998 รัฐบาลได้ตั้งกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดองค์การมหาชน และศูนย์วิจัยทางวัฒนธรรม ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ทั้งดนตรี ละคร และภาพยนตร์ เพื่อผลักดันสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้กลายเป็นสินค้า และสามารถส่งออกเพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

‘การวางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง’ คือกลยุทธ์สำคัญที่ใช้ดันอุตสาหกรรมบันเทิงจนสำเร็จ เพราะ ทุกอย่างได้ผ่านการวางแผนเป็นอย่างดี ทั้งผลงาน กลุ่มลูกค้าและเนื้อหา เพื่อสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ให้แข็งแรง

โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้มีจุดเด่นอยู่ 4 ประการหลัก ๆ ประกอบไปด้วย...

ประการที่ 1 ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิง

โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมทางวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นไป โดยมี Korea Creative Content Agency ทำหน้าที่วางแผนนโยบายอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ทั้งดนตรี ละคร และภาพยนตร์ โดยมีการดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจาก

1.) สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อเอื้อให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม   
ด้วยการออกกฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ลงดาบผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ การออกกฎหมายสนับสนุนภาพยนตร์ในประเทศ โดยกำหนดจำนวนวันฉายภาพยนตร์เกาหลีในโรงภาพยนตร์ รวมถึงจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เพื่อให้เป็นแหล่งพบปะ และแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์จากทั่วโลก ทำให้เทศกาลภาพยนตร์ที่ปูซานกลายเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย

2.) จัดตั้งกองทุนด้านวัฒนธรรม Korea Venture Investment Corporation ในปี 2005 เพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือบริษัทเอกชนสร้างสรรค์ผลงานบันเทิงต่าง ๆ โดยรัฐบาลลงทุนในสัดส่วน 20% ส่วนอีก 80% เป็นค่ายเพลง และบริษัทเอกชนต่าง ๆ

3.) สนับสนุนกลุ่มนายทุนผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ก่อตั้งบริษัทที่เน้นด้านธุรกิจบันเทิง โดยบริษัทที่โดดเด่นก็คือ CJ Group ซึ่งได้ก่อตั้งบริษัทในเครือ CJ ENM ในปี 1995 ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นผู้ผลิตสื่อรายใหญ่ของเกาหลีใต้ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของช่องเคเบิลทีวีที่โด่งดัง ได้แก่ Mnet /tvN /OCN 

4.) สร้างบุคลากรที่มีความสามารถ โดยรัฐบาลได้จัดทำโครงการ Broadcast Video Promotion Plan เพื่อสนับสนุนให้มีการเปิดหลักสูตรการสอนนักแสดงและบุคลากรในวงการบันเทิงในรั้วมหาวิทยาลัย และจัดตั้งโรงเรียนสอนการแสดง ที่ร่วมกับค่ายเพลง-บริษัทด้านบันเทิงต่าง ๆ เพื่อปั้น ‘ไอดอล’ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แม้ว่าจะมีกลุ่มคนไม่เห็นด้วยเพราะสัญญาที่ยาวนานและการฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความพร้อมให้กับเหล่าไอดอลได้อย่างมาก

ประการที่ 2 สร้างตัวตนให้โดดเด่น ด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร

เมื่อคนและเงินทุนพร้อม ประการต่อมา คือการสร้างภาพลักษณ์ ให้มีความโดดเด่น และน่าดึงดูดใจ อย่างเช่น วงการ K-pop จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพลง มิวสิกวิดีโอให้มีฉากโดดเด่น เน้นขายคุณภาพการเต้น และท่าเต้นที่พร้อมเพรียง รวมไปถึงการวางแผนการสร้างศิลปิน ที่จะถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างละเอียด ตั้งแต่จำนวนสมาชิก ภาพลักษณ์  สไตล์เพลง กลุ่มตลาด รวมถึงการบริหารจัดการภาพลักษณ์ไม่ให้มีเรื่องอื้อฉาว 

ในขณะที่วงการซีรีส์ ที่กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสังคมเกาหลี เช่น การวางบทตัวละครเพศชาย ให้อบอุ่น อ่อนโยน เพื่อปลูกฝังและลดพฤติกรรม ‘ชายเป็นใหญ่’ ในสังคมเกาหลี รวมไปถึงสอดแทรกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเข้าไปในซีรีส์และภาพยนตร์หลายเรื่อง 

ประการที่ 3 การวางแผนการตลาดในระดับโลก

การที่เกาหลีใต้ต้องการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตีตลาดโลกให้ได้ ซึ่งได้มีการตั้ง ‘ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี’ ไว้ทั่วทุกมุมโลก ที่ปัจจุบันมีกว่า 33 ประเทศ ใน 6 ทวีป เพื่อใช้ในการเผยแพร่วัฒนธรรม รวมถึงการจัดงานต่าง ๆ เพื่อโปรโมตสื่อเกาหลี

นอกจากนั้นการที่จะซื้อใจคนได้ทั่วโลกต้องเข้าใจตลาดของชาตินั้น ๆ เสียก่อน จะเห็นได้ว่า K-pop บางวงจึงมีการเพิ่มสมาชิกที่เป็นชาวต่างชาติเข้าไป อย่างเช่น วง BLACKPINK ที่มีสมาชิกชาวไทย อย่างสาวลิซ่า ที่โด่งดังและสร้างฐานแฟนคลับทั้งเมืองไทยและชาติอาเซียน 

นอกจากนี้ฝั่งซีรีส์เอง ก็มีการพากย์เสียงภาษาต่าง ๆ ก่อนนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศ และหลีกเลี่ยงการออกอากาศในประเทศที่มีธรรมเนียมปฏิบัติทางเพศที่เข้มงวด

ประการที่ 4 การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมบันเทิง

แน่นอนว่าการมุ่งสร้างแต่คอนเทนต์บันเทิงยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะแต่แรกเริ่ม รัฐบาลเกาหลีใต้มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมบันเทิงควบคู่กัน ดังนั้น สถาบันวิจัยด้านอิเล็กทรอนิกส์และสื่อสารทางไกล, ETRI จึงเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีในการประกอบความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น การใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์ โฮโลแกรมประกอบการแสดงบนเวทีคอนเสิร์ต หรือการออกแบบมิวสิกวิดีโอให้มีความสวยงามล้ำสมัย หรือในวงการภาพยนตร์ ละคร ก็มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกมาสร้างสรรค์ฉากที่สวยงามและล้ำสมัย

ในด้านภาคเอกชนเองก็มีบทบาทไม่แพ้กันโดย บริษัท CJ Group ก็เป็นผู้พัฒนา 4DX System ที่กลายเป็นจุดกำเนิดโรงภาพยนตร์ 4 มิติแห่งแรกของโลก ในปี 2009 ที่ทำให้ผู้ชมสัมผัสความเสมือนจริงไปอีกขั้น ด้วยกลิ่นและการสั่นสะเทือน

นอกจากนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ยังมีการใช้กลยุทธ์ Creative Economy ที่เพิ่มมูลค่าสินค้าหรือพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มากขึ้น หากแต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ สติปัญญา ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทในกลุ่ม อุตสาหกรรมแฟชั่น การออกแบบ สื่อ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ เพลง และงานศิลป์ในแขนงต่าง ๆ

เรียกได้ว่าการข้ามผ่านจุดตกต่ำสู่การกลับมาผงาดอีกครั้งของเกาหลีใต้ แบบไม่ง้ออุตสาหกรรมแบบเดิม แต่หันไปจับอุตสาหกรรมใหม่ที่ผ่านการวางแผนอย่างดีและเป็นขั้นเป็นตอน 

ทำให้การดันอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จและไปไกลถึงระดับโลก ทั้งยังกลายเป็นหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองในการใช้ Soft Power มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและยังแตกแขนงไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ผ่านการวางยุทธศาสตร์ที่เฉียบคมของเกาหลีใต้ ที่หลายชาติยากจะเลียนแบบ

.

.


.
แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32