1.) ฟ้าทะลายโจร จากการรวบรวมข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ฟ้าทะลายโจรบดเป็นผงแบบรวมๆบรรจุแคปซูล โดยไม่ต้องใช้วิทยาการขั้นสูง มีสรรพคุณเภสัชที่ใช้ในการรักษา “ดีกว่า” การสกัดแยกเอาเพียงแค่สารสำคัญ “แอนโดรกราโฟไลด์” (Andrographolide) ออกมา ซึ่งการสกัดเช่นนี้ต้องอาศัยโรงงานบริษัทยาเท่านั้น
ประเด็นสำคัญคือสำหรับประเทศไทย พืชฟ้าทะลายโจรนั้น ปลูกง่าย ขึ้นง่าย และคนไทยส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการใช้ยานี้มายาวนานอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีสถานะเป็นยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ ยาสามัญประจำบ้าน และอยู่ในบัญชียาหลักของชาติอีกด้วย
แปลว่าบริษัทยาแผนปัจจุบันคงไม่ค่อยอยากส่งเสริมฟ้าทะลายโจรเท่าไหร่ เพราะชาวบ้านและหมอแผนไทยสามารถกลายเป็นคู่แข่งบริษัทยาที่มีราคาแพงได้ อีกทั้งยังเป็นสมุนไพรที่อาจทำให้ยาแผนปัจจุบันที่มีราคาแพงๆหรือมีสิทธิบัตรเสียผลประโยชน์ไปด้วย
2.) ตำรับยาขาว ตามตำรับยาศิลาจารึกของวัดโพธิ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แม้จะมีประสิทธิภาพในการลดสรรพไข้ได้หลายชนิด แต่ก็ต้องจ่ายยาโดยอาศัยแพทย์แผนไทย ในคลินิกการแพทย์แผนไทย หรือสหคลินิกที่มีการแพทย์แผนไทย ซึ่งสามารถใช่คู่กันกับใบฟ้าทะลายโจรแบบบดผงบรรจุแคปซูลได้ เพราะการแพทย์แผนไทยมักจะปรุงเป็นตำรับยาหรือมีสมุนไพรอื่นๆเพื่อลดผลเสียของสมุนไพรเดี่ยวได้
ตำรับยาขาวนี้ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาว่าเป็น “ตำรับยาของชาติ” ตามกฎหมาย แพทย์แผนไทยสามารถจ่ายยาชนิดนี้ได้ทันที โดยไม่ต้องวิจัยใหม่ อย่างไรก็ตามความยุ่งยากของยาขาวที่ใช้รากจากพืชหลายชนิดมาปรุงเป็นยานั้น ทำให้มีสมุนไพรเพื่อมาทำยาอย่างจำกัด ซึ่งแตกต่างจากฟ้าทะลายโจร
3.) สารสกัดกระชายขาว ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ต้องสกัดสารสำคัญออกมาเท่านั้น ไม่สามารถมีสรรพคุณทางยารักษาโควิด-19 ด้วยการรับประทานกระชายขาวแบบบดหยาบได้
ลักษณะเช่นนี้จึงต้องใช้เป็น “สารสกัดกระชายขาว”ในรูปแบบของยาแผนปัจจุบันที่มีการ “จดสิทธิบัตร” เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้สารสกัดยากระชายขาวมีราคาแพงกว่าพืชสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรที่เพียงแค่นำใบมาบดหยาบก็สามารถใช้ได้แล้ว
ด้วยลักษณะเช่นนี้ฟ้าทะลายโจรแบบสกัดหยาบที่ชาวบ้านและแพทย์แผนไทยพึ่งพาตัวเองได้ จึงกลายเป็น “คู่แข่ง” ของผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทุนบริษัทยาหลายกลุ่ม ตั้งแต่ ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ซึ่งนำมาใช้กับการต้านโควิด-19, ผู้ผลิตยาลดไข้, ผู้ผลิตหรือผู้คิดจะจดสารสกัดกระชายขาว, ผู้ผลิตยาวัคซีน ฯลฯ
แม้วันนี้จะเริ่มมีวัคซีนแล้วแต่ก็ยังมีตัวแปรและความไม่แน่นอนอยู่มาก จึงส่งผลทำให้ประชาชนในประเทศที่มีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในการรักษาของตัวเองมาอย่างยาวนานในเอเชียไม่ต้องการจะฉีดวัคซีน และเลือกที่จะรักษาด้วยสมุนไพรมากกว่า (หากมีทางเลือกนี้เปิดช่องให้ชัดเจนได้) ซึ่งแน่นอนว่าการมีสมุนไพรที่รักษาโควิด-19 ได้นั้น ย่อมเป็นอันตรายต่อกลุ่มทุนบริษัทยาและวัคซีนที่มองเรื่องการแสวงหาผลกำไรสูงสุดบนความกลัวและความทุกข์ยากของประชาชน
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ “ฟ้าทะลายโจร” ตลอดปีที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จะฝ่าด่านมาใช้ทดลองกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้เพียง 5 คนเท่านั้น ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 13,000 คนแล้ว (รายงานเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564) ซึ่งตรงกันข้ามกับยาที่มารักษาโควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบันก็ล้วนแล้วแต่ลัดขั้นตอนการวิจัยและเร่งใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 โดยทันทีทั้งสิ้น
ในชั้นนี้ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าหากสื่อมวลชนต้องการจะสัมภาษณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ใช้ฟ้าทะลายโจรนั้น เป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้ เนื่องด้วยผู้วิจัยต้องมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิ์ของผู้ที่เข้าร่วมการวิจัยตามมาตรฐาน “จริยธรรมในการวิจัยในมนุษย์” จึงย่อมปกปิดชื่อ เบอร์โทรศัพท์ของผู้ป่วยและผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด
แต่ก็น่าเสียดายว่าในยามวิกฤติเช่นนี้ “คุณค่า” ของการทดลองเป็น “กรณีศึกษา” ของการใช้ฟ้าทะลายโจรสกัดหยาบในผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้รับการเปิดเผยจากผู้ป่วยกับสื่อมวลชน เพื่อประโยชน์ของชาติ ว่าฟ้าทะลายโจร “เพียงอย่างเดียว” จะทำให้หายป่วยได้เร็วกว่าการป่วยโรคโควิด-19 หรือไม่ โดยเฉพาะการทดสอบเบื้องต้นเพียง 5 วันเท่านั้น
สรุปผลการทดสอบ 5 ราย ที่ไม่ได้รับยาอย่างอื่นเลยนอกจากฟ้าทะลายโจร มีดังนี้
ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 1 ก่อนให้ยาฟ้าทะลายโจรตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ 90 Copies พอรับประทานถึงวันที่ 3 ตรวจเชื้อได้ 760 Copies (เพิ่มขึ้น 744.44%) แต่พอรับประทานครบ 5 วัน ตรวจเชื้อเหลือ “0” Copies คือไม่พบเลย
เราจะสามารถเรียกได้ว่าฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 1 หายได้ภายใน 5 วันได้หรือไม่
ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 2 ก่อนให้ยาฟ้าทะลายโจร ตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ 725 Copies พอรับประทานถึงวันที่ 3 ตรวจเชื้อได้ 2,072 Copies (เพิ่มขึ้น 185.79%) แต่พอรับประทานครบ 5 วัน ตรวจเชื้อเหลือ “0” Copies คือไม่พบเลย เราจะสามารถเรียกได้ว่าฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 2 เพียงอย่างเดียวว่าหายได้ภายใน 5 วันได้หรือไม่
ความน่าสนใจต่อไปนี้คือผู้ป่วยรายที่ 3 ซึ่งถือว่า “ป่วยหนัก” กล่าวคือ ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 3 ก่อนให้ยาฟ้าทะลายโจร ตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ 9,857,464,593 Copies (ประมาณ 9,857 ล้าน Copies) พอรับประทานถึงวันที่ 3 ตรวจเชื้อได้ 344,507,736 Copies (ลดลงเหลือ 344 ล้าน Copies คิดเป็นจำนวนเชื้อลดลงถึง 96.50% เทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร) และเมื่อรับประทานครบ 5 วัน ตรวจเชื้อเหลือ 31,754,737 Copies (ประมาณ 31 ล้าน Copies คิดเป็นจำนวนเชื้อลดลงถึง 99.68% เทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร)
ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 4 ก่อนให้ยาฟ้าทะลายโจร ตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ 296,466 Copies พอรับประทานฟ้าทะลายโจร จนถึงวันที่ 3 ตรวจเชื้อได้ 308 Copies (เชื้อลดลง 99.8% เทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร) และเมื่อรับประทานครบ 5 วันตรวจเชื้อได้ 13,935 Copies (เชื้อลดลง 95.29% เมื่อเทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร)
ผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 5 ก่อนให้ยาฟ้าทะลายโจร ตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ 15,731 Copies เมื่อรับประทานฟ้าทะลายโจร จนถึงวันที่ 3 ตรวจเชื้อได้ 1,924 Copies (เชื้อลดลงไป 87.77% เทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร) และเมื่อรับประทานครบ 5 วัน ตรวจเชื้อได้ 31 Copies (เชื้อลดลง 99.80% เมื่อเทียบกับก่อนได้รับฟ้าทะลายโจร)
ในการทดสอบเบื้องต้นทั้ง 5 รายนี้ ปรากฏว่าอาสาสมัคร 1 รายมีค่าการทำงานของตับ Alanine Aminotransferase (ALT) เพิ่มสูงเป็น 1.7 เท่าของค่าปกติ ในวันที่ 5 ของการรับประทานยา ขณะที่อาสาสมัครอีก 1 ราย ที่มีแนวโน้มของค่าการทำงานของตับ คือ Aspartate aminotransferase และ Alanine Aminotransferase (ALT) สูงขึ้น แต่ไม่เกินค่าปกติ ส่วนที่เหลือไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ในอาสาสมัคร
ผลการทดสอบเบื้องต้นจึงสรุปได้ว่า
“การรับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรซึ่งมี สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) 180 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่าประมาณฟ้าทะลายโจรสกัดหยาบ 48 เม็ดแคปซูล) อาจมีผลช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการแสดงของโรคโควิด-19 ได้แก่ ความรุนแรงของอาการไอ ความถี่ของการไอ ความรุนแรงของอาการเจ็บคอ ปริมาณเสมหะ และความรุนแรงของความปวดศีรษะ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05) ส่วนปริมาณน้ำมูกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในวันที่ 5 ทั้งนี้พบว่า ในการรักษามาตรฐาน อาสาสมัครทุกรายไม่ได้รับยาแผนปัจจุบันอื่นร่วมด้วย
ความหมายของอาการที่ลดลงจนเกือบหายหรือหายนั้น คือ กรณีศึกษาที่ ‘หายป่วย’ หรือ ‘เกือบหายป่วย’ ได้ในภายใน 5 วันเท่านั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือไม่?
อย่างไรก็ตามการรับประทาน “สารสกัด”ฟ้าทะลายโจรขนาดสูงอาจมีผลต่อค่าการทำงานของตับ ควรเฝ้าระวังค่าการทำงานในการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง
สำหรับข้อแนะนำเพิ่มเติมของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกคือ
1.) สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ สามารถพิจารณาให้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรขนาดที่มีปริมาณ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) 60 มิลลิกรัมต่อวัน (ฟ้าทะลายโจร 16 เม็ดต่อวัน) แบ่งให้สามเวลาก่อนอาหาร เป็นเวลา 5 วัน
2.) สำหรับการใช้เพื่อการป้องกัน ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการให้ฟ้าทะลายโจรเพื่อการป้องกัน แนะนำให้ใช้หลักธรรมานามัย ในการดูแลตนเองแบบองค์รวม
มิได้แปลว่าลำพังเพียงแค่วิจัยเบื้องต้น 5 คนนี้จะเพียงพอ เพราะยังต้องวิจัยทางคลินิกแบบเปรียบเทียบกับยาหลอกต่อไปด้วยจำนวนผู้ป่วยมากกว่านี้
อย่างไรก็ตามแม้ผู้วิจัย หรือกรมการแพทย์แผนไทยจะไม่สามารถเปิดเผยชื่อและการติดต่อของผู้ป่วยที่เข้าวิจัยเพื่อให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ได้ แต่อย่างน้อย.…
“กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ก็ควรเป็นเจ้าภาพประสานถามความสมัครใจกับผู้ป่วยเหล่านี้เพื่อแสดงความจริงใจว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ถูกกดดัน หรือครอบงำจากคู่แข่งของฟ้าทะลายโจรจากกลุ่มทุนบริษัทยาอื่นๆ”
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใครรู้ว่าหลังจากนี้ “ฟ้าทะลายโจรสกัดหยาบ”เพียงอย่างเดียว โดยปราศจากยาแผนปัจจุบันอื่นๆ จะได้มีโอกาสทดลองทางคลินิกได้จริงเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยปราศจากอุปสรรคจากกลุ่มทุนบริษัทยา หรือแพทย์ที่มีผลประโยชน์กับบริษัทยาอีกหรือไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวนี้กำลังจะกระทบต่อกลุ่มทุนบริษัทยายักษ์ใหญ่อย่างหนัก
แต่สำหรับผู้เขียนจะไม่รอให้ถึงจุดนั้น เพราะจะขอเชิญชวนให้ผู้ป่วยที่ตรวจพบโควิด-19 ที่ได้เป็นอาสาสมัครมาใช้ฟ้าทะลายโจรสกัดหยาบทั้ง 5 ท่าน หากเห็นแก่ประโยชน์ของชาติในการที่หายป่วยโดยปราศจากการใช้ยาอื่นๆ แล้ว ขอให้ท่านที่สมัครใจในการเปิดตัวเพื่อสัมภาษณ์ส่งข้อความมาใน inbox ของแฟนเพจนี้ แจ้งชื่อ หลักฐาน และเบอร์ติดต่อกลับ จักเป็นพระคุณยิ่ง
ที่มา:
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3795068330553108/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000007293