Thursday, 8 June 2023
POLITICS

"พรรคกล้า" กทม. เรียกร้อง ธนาคารออมสิน ขยายเวลาลงทะเบียนผ่อนปรนหนี้บุคลากรทางการศึกษาสังกัด กทม. ออกไปอีก 1 เดือน หลังมีหนังสือให้เวลาลงทะเบียนเพียง 7 วัน

นายเอกชัย ผ่องจิตร์ เลขานุการกลุ่ม กทม. พรรคกล้า เรียกร้องให้ธนาคารออมสินขยายมาตราการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้สินเชื่อ ข้าราชการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยก่อนหน้านี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ธนาคารมีมาตราการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 31 ธันวาคม 2563 ต่อมางวดชำระตามเงื่อนไขเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ปรากฎว่าข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ยังไม่สามารถชำระหนี้ตามเงื่อนไขของธนาคารฯ ได้ เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป 

แต่ต่อมาธนาคารฯ มีหนังสือถึงสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ลงรับเมื่อวันที่ 22 มี.ค.64 ให้ 
แจ้งลูกหนี้ในสังกัด แสดงความจำนงขอเข้าร่วมมาตรการผ่อนปรน และต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564  นายเอกชัย กล่าวว่า ระยะเวลาการดำเนินการแจ้งความจำนงนั้นกระชั้นชิดมาก มีเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น จึงขอเป็นตัวแทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร วิงวอนไปยังธนาคารฯ ได้โปรดเห็นใจ และขอให้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงความจำนงเข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนออกไปอีกอย่างน้อยหนึ่งเดือนจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564 เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเข้าร่วมมาตราการผ่อนปรนเงื่อนไขชำระหนี้ได้ทัน ตามกำหนดต่อไป

ก.แรงงาน ระดมภาคีเครือข่ายพิจารณาร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการมุ่งขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายหมดจากสังคมไทย

กระทรวงแรงงาน จัดประชุมระดมสมองภาคีเครือข่ายกว่า 200 คนพิจารณาร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ฉบับที่ 3 ให้เกิดความสมบูรณ์และนำไปปฏิบัติใช้เพื่อให้การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายหมดสิ้นไปจากสังคมไทย 

วันที่ 31 มีนาคม 2564 นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบาย ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานดำเนินการเพื่อให้ปัญหาการค้ามนุษย์หมดสิ้นไปจากประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล และยกระดับประเทศไทยสู่เทียร์ 1 ให้ได้นั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับนโยบายดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติ โดยมอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2564 - 2565 เพื่อให้สอดรับการที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก 

อีกทั้งปัญหาการใช้แรงงานเด็กของประเทศไทย เป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาโดยตลอด จากรายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในประเทศไทย ปี 2562 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย 2,696 คน เป็นการใช้แรงงานเด็กในการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้ายาเสพติดมีจำนวนมากที่สุด 2,495 คน รองลงมาคือ การกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้าประเวณี จำนวน 106 คน การกระทำผิดที่เกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานเด็ก จำนวน 59 คน และการให้เด็กทำงานที่มีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือศีลธรรมของเด็ก จำนวน 36 คน 

ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการใช้แรงงานเด็กก็ยังไม่ได้หมดไปจากประเทศไทยแรงงานเด็กบางส่วนยังต้องทำงานเนื่องจากครอบครัวยากจน โดยที่เด็กมีระดับการศึกษาไม่สูงนัก เมื่อเข้าสู่ระบบการทำงานจึงทำให้เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกชักจูงไปกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เด็กอาจทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี หรือทำงานที่เป็นอันตรายขาดการพักผ่อน ทำให้เด็กที่ทำงานมีปัญหาด้านสุขอนามัยและสุขภาพจิต รวมทั้งการขาดโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาอาชีพ

นางโสภา เกียรตินิรชา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบให้ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการศึกษาการประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2563 พร้อมทั้งจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย พ.ศ. 2564–2565 โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ จำนวน 200 คน ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ ฉบับสมบูรณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปจากประเทศไทย

อัยการสั่งฟ้อง "เอกชัย" กับพวก คดี ม.110 ชุมนุมใกล้ขบวนเสด็จ เตรียมหลักทรัพย์คนละ 3 แสนยื่นประกัน

วันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง หรือฟรานซิส นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ หรือตัน ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง (Active Youth), นายชนาธิป ชัยชะยางกูร และนายภาณุภัทร ไผ่เกาะ 5 ผู้ต้องหา เดินทางมารายงานตัวตามที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 นัดสั่งคดี กรณีที่พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต มีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ในความผิดฐาน ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีฯ ตาม ป.อาญา ม.110 กับข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ ให้เกิดความวุ่นวาย ม.215 และกีดขวางการจราจรฯ กรณีชุมนุมใกล้ขบวนเสด็จพระราชินีเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 

นายเอกชัย เปิดเผยว่า วันนี้ได้เตรียมหลักทรัพย์มายื่นประกันตัว ส่วนจำนวนเท่าใดไม่ขอเปิดเผย คดีนี้ก่อนหน้านี้ในชั้นฝากขัง ศาลเคยไม่ให้ประกันตัวเพราะโทษสูงกลัวหลบหนี และอยู่ระหว่างการสอบสวน ต่อมาศาลปล่อยตัว วันนี้อัยการส่งฟ้อง การสอบสวนสิ้นสุดแล้ว ซึ่งเวลาผ่านมาเกือบ 5 เดือน หากตนหลบหนีก็ทำได้ง่าย แต่ตนไม่เคยคิดที่จะหนี ส่วนประเด็นที่เคยร้องขอให้อัยการสอบพยานเพิ่มนั้น เท่าที่คุยกับทนายความระบุอัยการรับ แต่ยังไม่จำเป็นต้องพิจารณาตอนนี้  เข้าใจว่าวันนี้ส่งฟ้องไปก่อน ทั้งนี้ ตนไม่ได้มาขอความเมตตาจากศาล แต่ต้องการความเป็นธรรม 

ขณะที่นายบุญเกื้อหนุน ได้อ่านคำแถลงอันมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า เราไม่มีความประสงค์ หรือความพยายามที่จะกระทำตามข้อกล่าวหา และเรายืนยันในความบริสุทธิ์ของพวกเรามาตลอด แต่หลังจาก 5 เดือนผ่านไป พร้อมกับความอัปยศและความยากลำบาก พวกเราได้รับทราบถึงข้อสรุปจากอัยการได้ตัดสินใจเตรียมการส่งคดีฟ้องต่อศาลอาญา และจะเป็นช่วงการดำเนินการยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อไป ถ้าหากไม่สำเร็จ พวกเราทั้ง 5 คนจะต้องถูกขัง และถูกริดรอนเสรีภาพของพวกเราโดยทันที 

"พวกเราได้มีโอกาสต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อความยุติธรรม กับเพื่อนของผมอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ และถึงขนาดนั้นเอง ผมเชื่อว่าเรายังมีอะไรอีกมากที่ยังต้องช่วยเหลือ เกื้อกูลและทำต่อ ถึงจุดนี้ ผมคงเพียงพูดแค่ว่า มันเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนี้ ถ้าหากความเป็นอยู่ของผมต้องจบลงในขณะที่ถูกจองจำ ผมจะเผชิญหน้าต่อไปโดยปราศจากความเสียใจทั้งสิ้น ต่อกรกับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าพร้อมรอยยิ้มและความพึงพอใจ ที่ได้รู้ว่าสิ่งที่เราได้สละชีพให้จะมีความหมาย และชื่อเสียงเรียงนามของผมจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ โดยที่รู้ว่าจิตวิญญาณ จิตใต้สำนึก และความศรัทธาของเราจะไม่มีวันถูกทำลายได้อย่างแน่นอน" นายบุญเกื้อหนุน กล่าว 

ด้าน นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความผู้ต้องหา กล่าวถึงเรื่องการปล่อยชั่วคราวหากถูกยื่นฟ้อง ว่า ตามหลักการตามกฏหมายผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี จะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อพนักงานสอบสวน ถ้าเอาข้อเท็จจริงมาประกอบกับข้อกฎหมาย ผู้ต้องหาทั้ง 5 จะต้องได้รับการปล่อยชั่วคราว 100 เปอร์เซ็นต์ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหาได้เตรียมหลักทรัพย์คนละ 3 เเสนบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวหากถูกฟ้องตกเป็นจำเลย จากนั้นในเวลา 11.00 น. ทางพนักงานอัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา นำตัวไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญา

“บิ๊กป้อม” ห่วงใยนักกีฬาคนพิการ เปิดอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์/ศูนย์ฝึกกีฬาบอคเชีย ชื่นชมผลงานที่ผ่านมา เรียกประชุม คกก.กกท. หนุนไทยเป็นเจ้าภาพ ซีเกมส์ครั้งที่ 33 สร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวภายใต้ New Normal กำชับสมาคมฯ เร่งฝึกซ้อม

เมื่อ 31 มีนาคม 2564  พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานพิธีเปิดอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา และอาคารศูนย์ฝึกกีฬาบอคเชียแห่งชาติ พร้อมทั้งเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.กก. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา  การกีฬาแห่งประเทศไทย

พล.อ.ประวิตร ได้เดินทางถึงบริเวณพิธี ณ อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬารับฟังคำกล่าวรายงาน การดำเนินการจากผู้ว่าฯกกท. (นาย ก้องศักด ยอดมณี) รับชมวีดีทัศน์ความเป็นมาของการปรับปรุงศูนย์ฯ และการดำเนินงาน พร้อมเยี่ยมชมการบริการ และเครื่องมืออุปกรณ์ จากนั้น ได้เป็นประธานการประชุม คกก.กกท. โดยรับทราบความคืบหน้า เรื่อง ที่ กกท.ได้ขอความอนุเคราะห์ การขอรับวัคซีนป้องกัน covid-19 จากกระทรวงสาธารณสุข สำหรับ นักกีฬาทีมชาติ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการกีฬา ที่จะเดินทางเข้าร่วมแข่งขัน กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่32 พาราลิมปิกเกมส์ และกีฬารายการนานาชาติอื่น ๆ 

โดยในขณะนี้ มีนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ จำนวน 11 คน ได้รับการฉีดวัคซีน ชุดแรกแล้ว ได้แก่ สมาคมแข่งเรือใบ จำนวน 9 คน และสมาคมวินเซิร์ฟ จำนวน 2 คน โดยทั้ง 2 สมาคมจะเดินทางไปร่วมแข่งขันรายการ มุสสานาห์ โอเพ่น แชมเปี้ยนชิพ 2021 ที่ประเทศโอมาน ซึ่งเป็นการแข่งขัน Qualify Olympic 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จากนั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบ การขอรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 (พ.ศ.2568) โดยนำเสนอ ครม.ให้ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขัน พร้อมเห็นชอบ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา จังหวัด เจ้าภาพเพื่อใช้จัดการแข่งขัน ด้วย

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ กกท.ให้เร่งขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาการกีฬาให้บรรลุเป้าหมาย อย่างเร่งด่วน และการบริหารงบประมาณ จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กีฬาซีเกมส์นั้น จะต้องมีการวางแผนเตรียมการ อย่างเหมาะสม ภายใต้ New Normal และต้องสามารถสะท้อนศักยภาพ ความเชื่อมั่นของประเทศ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร  ยังได้มอบนโยบายให้สมาคมกีฬาต่าง ๆ เร่งวางแผนฝึกซ้อมนักกีฬา พร้อมเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬา ทุกประเภท ให้สามารถก้าวสู่ความเป็นเลิศ และเป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์สมัยหน้าให้ได้ ต่อไป

ภายหลังการประชุม คกก.กกท. พล.อ.ประวิตร ได้เดินทางไปทำพิธีเปิดอาคารศูนย์ฝึกกีฬาบอคเชียแห่งชาติ ณ อาคารศูนย์ฝึกฯ สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์ สำหรับนักกีฬาคนพิการ โดยตรง พร้อมได้กล่าวย้ำว่า นักกีฬาคนพิการถือเป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมาได้สร้างชื่อเสียงให้กับวงการกีฬา ของประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง

‘รมว.คมนาคม’ แบ่งงาน รมช.คนใหม่ คุม 4 หน่วยงาน ขบ. - ทย. - สบพ. - โรงแรมสุวรรณภูมิ

วันที่ 31 มีนาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2546 ได้ลงนามออกคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 183/2564 เรื่อง มอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกำกับดูแลและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทุ้งนี้ ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารราชการของกระทรวงคมนาคม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ.2550 จึงให้ยกเลิกคำสั่งที่ 429/2563 ที่ได้สั่ง ณวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เรื่อง มอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และให้ใช้ดำสั่งนี้แทน

ทั้งนี้ มอบอำนาจให้นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มีอำนาจในกำกับดูแล และปฏิบัติราชการแทนโดยทั่วไป ยกเว้นการบริหารงานบุคคล การอนุมัติงบประมาณ การอนุมัติ การอนุญาต การออกใบอนุญาตใดๆ ที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด หรือมติของ ครม. สำหรับงานของส่วนราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย

1.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
2.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.)
3.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.)
4.)บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด
5.)งานตอบกระทู้ถามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภา

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในการกำกับดูแล และปฏิบัติราชการแทน ที่ได้รับมอบอำนาจนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาจมอบอำนาจการอนุมัติ อนุญาต การออกใบอนุญาตใดๆ หรือการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่น ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด หรือมติของ ครม. อันอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้แก่รัฐมนตรีช่วยการการกระทรวงคมนาคมได้ โดยทำเป็นหนังสือ ขณะที่บรรดาเอกสารใด ๆ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งหรือลงนามในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทน ให้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อทราบในโอกาสแรก

นอกจากนี้ ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นว่า เรื่องใดเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลหรือมีผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาล หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความไม่ยุติธรรมแก่ประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสามารถสั่งการในเรื่องนั้นได้โดยตรง อีกทั้งในกรณีที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ อำนาจในการกำกับดูแลและปฏิบัติราชการแทนให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรวมถึงในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ได้รับมอบอำนาจนี้ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยึดมั่นในระเบียบกฎหมาย และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2556 นอกจากนี้ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 รวมทั้งหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

“วิษณุ” แจง ประมวลจริยธรรม ขรก.การเมือง แตกต่างจากลงโทษ ส.ส. เปรียบมาตรฐานชี้วัดความผิดอะไรทำได้หรือไม่ได้ ก่อนส่งไปจัดการตามกม.ที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 31 มีนาคม 2564 นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึง สาระสำคัญ ภายหลัง ครม.เห็นชอบร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มี พ.ร.บ. มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญ 60 กำหนด ซึ่งกำหนดว่าให้มีคณะกรรมการมาตรฐานจริยธรรมเพื่อกำกับกับสอดส่องให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทไปจัดทำประมวลจริยธรรมของตัวเองขึ้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งดูแลข้าราชการประมาณ 3 แสนคน ไปจัดทำประมวลจริยธรรมของข้าราชการพลเรือนซึ่งขณะนี้ยังไม่เสร็จ ยกตัวอย่างครู ก็ต้องไปทำประมวลจริยธรรมครู ซึ่งขณะนี้กำลังทำอยู่ ซึ่งทั้งหมดที่กำลังทำอยู่จะต้องเสร็จในวันที่ 6 เมษายน 2564

นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนข้าราชการการเมือง ครม. จะเป็นผู้จัดทำประมวลจริยธรรม โดย ครม.ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฎีกาเป็นผู้ทำ ซึ่งฉบับเมื่อวันที่ 30 มีนาคม เป็นของข้าราชการการเมือง ที่ สำนักงานคณะกรรมการกฎีกา ทำแล้วเสร็จ โดยข้าราชการการเมืองคือผู้มีตำแหน่ง ตามที่กฎหมายระเบียบข้าราชการการเมืองกำหนดไว้ ไล่ตั้งแต่ นายกฯ รองนายกฯ จนถึง เลขานุการรัฐมนตรี และ ผู้ช่วยรัฐมนตรี แต่ไม่รวม ส.ส. และ ส.ว. เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง แต่ส.ส.และ ส.ว. มาตรฐานจริยธรรมต่างหาก ซึ่งรัฐธรรมนูญแยกออกมา โดยการกำหนดให้องค์กรอิสระทั้งหลายรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำเพื่อใช่เป็นประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งหลาย เช่น กกต. ป.ป.ช. และ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นต้น ซึ่งรวมถึง ครม. ส.ส. และ ส.ว.ด้วย โดยจัดทำเสร็จมาและประกาศใช้แล้วมา 2 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า โทษของข้าราชการการเมืองเหมือนกับ ส.ส. หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เหมือน เพราะจะไล่ไปตามกฎหมายของตัวเอง ประมวลจริยธรรมจะบอกแค่เรื่องมาตรฐานในความประพฤติ และ ปฏิบัติเท่านั้นว่าพึงกระทำอะไร และ พึงละเว้นอะไร แต่กรณีที่มีการฝ่าฝืนเกิดขึ้นจะไล่ไปใช้กฎหมายต่างๆเช่น ข้าราชการการเมืองจะมีจริยธรรมตามประมวลที่เข้าครม.เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่หากฝ่าฝืนต้องไปดูว่าผู้กระทำฝ่าฝืนมีตำแหน่งอะไร เช่น เลขานุการรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี กรณีนี้ใช่วิธีปรับครม.เอาออก และ ตั้งคณะกรรมการสอบ เป็นการไล่ไปใช้กฎหมายอื่น ส่วนความผิดอาญาก็ไปที่ ป.ป.ช. หรือไปที่ตำรวจ ดังนั้นอย่ามาดูว่าไม่เห็นบอกว่าผิดอะไรแล้วทำอย่างไร แต่บอกว่าทำอย่างไรเรียกว่าผิด  แค่นี้ก็มีสะพานจะเดินอีกเยอะแล้ว ส่วนข้อห้ามตามร่างประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง ขอให้ไปดูรายละเอียด ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้มีประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า มีตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ก็เลิกไปแล้ว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญ ของร่างประมวลจริยธรรมร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ...มีสาระสำคัญดังนี้ 

1.) กำหนดนิยามคำว่า ข้าราชการการเมือง หมายความว่า ข้าราชการการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และให้หมายความรวมถึงกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย 

2.) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหาษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

3.) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดีและรับผิดชอบต่อหน้าที่  

4.) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องกล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม 

5.) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม และมีจิตสาธารณะ 

6.) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยต้องดำรงตน ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

7.) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

8.) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ

"วิษณุ" ย้ำคำบิ๊กตู่ อย่าให้ พ.ร.บ. ประชามติ พลาดอีก พร้อมปัด! ถกเตรียมขึ้นภาษีVAT ชี้ ต้องดูจังหวะเวลา

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายกรัฐมนตรีกำชับ ให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลให้ความสำคัญต่อ การพิจารณาร่างกฎหมายในสภาว่า นายกรัฐมนตรีหมายถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ห่วงแค่จะผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะถึงอย่างไรก็ผ่านอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ ถ้าผ่านแล้ว ไม่ได้เป็นไปตามร่างที่รัฐบาลเสนอไว้ ซึ่งได้พิจารณามาโดยรอบคอบ และหากโหวตแพ้เพียง 4-5 คะแนน ก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่าก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่าสภาไม่พร้อม

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำในที่ประชุม ครม. ถึงกรณี การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยืนยันว่าเดินหน้าแก้ไขใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี พูดในที่ประชุม ครม. ว่ารัฐบาลเสนอให้เดินหน้าต่อไป ขอให้ไปคิดแนวทางกันให้ตกผลึก และให้นำกลับมาบอก ให้ทราบ เมื่อถามต่อว่า หากตกผลึกแล้ว รัฐบาลไม่ขัดข้องที่จะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่กล้าแปลเป็นอย่างอื่นเพราะนายกฯพูดเพียงเท่านี้ พวกคุณก็จ้องกันอยู่เรื่อย

นอกจากนี้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าในที่ประชุมครม เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา มีการพิจารณา เรื่องการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ว่าไม่มีการพิจารณาและไม่มีใคร พูดถึงเรื่องดังกล่าว เมื่อถามว่า การจัดเก็บภาษี ของไทยลดลงน้อยมากจริงหรือไม่ และส่งผลกระทบต่องบประมาณหรือไม่นายวิษณุกล่าวว่า ขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ทางด้านภาษีน่าเป็นห่วงหรือไม่ ทางนายวิษณุ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม พร้อมย้อนถามกลับว่าอยากให้ขึ้นอย่างนั้นหรือ เขาก็ต้องดูจังหวะเวลา เพราะจากเดิม ประกาศให้จัดเก็บภาษีที่ 10% แต่ลดลงมาเหลือ 7% และพอคิดจะขึ้น ในครั้งใดก็มักจะเจอปัญหา เช่นครั้งนี้เจอกับ covid-19 และสภาพเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตกบ้าง

“เทพไท" ฟังธง 3 ทางออกของ พรบ. ประชามติ ที่รัฐบาลจำใจเลือก

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญวันที่ 7 - 8 เมษายน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประชามติ ที่กำลังพิจารณาค้างคาอยู่ ว่า หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประชามติ ในมาตรา 9 และมีการลงมติแพ้โหวตให้แก่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสียงข้างน้อย ทำให้รัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาเสียหน้า และไม่สามารถที่จะเอาคืนได้ แม้จะพยายามที่จะเสนอทบทวนให้ลงคะแนนใหม่ ในมาตรา 9 แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นผล จึงจำเป็นให้การพิจารณา พรบ. ประชามติต้องนำเดินหน้าต่อไป 

สำหรับทางออก หรือจุดจบของพรบ.ประชามติฉบับนี้ น่าจะมีอยู่ 3 แนวทางคือ

1.) เมื่อพิจารณา พรบ.ประชามติ ในวาระ 2 เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะลงมติคว่ำร่าง พรบ.ฉบับนี้ในวาระ3 ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะ พรบ.ประชามติ เป็นกฎหมายสำคัญ ที่เสนอโดยรัฐบาล ถ้ากฎหมายฉบับนี้ถูกคว่ำไป รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง โดยการยุบสภาหรือลาออกเท่านั้น

2.) เมื่อที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา พรบ.ประชามติ ฉบับนี้เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่  และมีความเป็นไปได้สูง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ จะทำให้ พรบ.ประชามติ ตกไป จะมีผลกระทบต่อการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องล่าช้าออกไป

3.) มีมติผ่านวาระ3ไปก่อน เมื่อมีการประกาศใช้พรบ.ประชามติฉบับนี้แล้ว รัฐบาลก็จะรีบเสนอ พรบ.แก้ไขในทันที ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาแบบศรีธนญชัย ซึ่งจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวางแน่นอน

ผมเห็นว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะเดินหน้า พรบ.ประชามติ ในแนวทางไหนก็ตาม ความเสียหายทางการเมือง ก็จะเกิดขึ้นกับรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ที่จะสร้างความเสียหายทางการเมืองให้กับรัฐบาลน้อยที่สุด

“ธนกร” เชื่อ ศาลปกครอง ให้ความเป็นธรรม ปม “ยิ่งลักษณ์” ฟ้อง “บิ๊กตู่” พร้อมขอให้เพิกถอนคำสั่งชดใช้ 3.5 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 9 คน และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์  ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ในขณะนั้น ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 35,000 ล้านบาท ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่ เป็นเหตุให้กระทรวงการคลัง ได้รับความเสียหาย 

ซึ่ง ศาลปกครองกลาง ได้นัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 2 เมษายน 2564 เวลา 9.00 น.นี้ จึงขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม อย่าไปก้าวล่วง และระวังอย่าไปละเมิดอำนาจศาลที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนเสมอ หากมีความพยายามที่จะแทรกแซงก็จะเป็นเหมือนกรณีคดีในอดีต ที่ทนายความบางคนซึ่งพยายามแทรกแซงถูกตัดสินให้จำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ในคดีถุงขนม 2 ล้านบาท ที่เป็นตัวอย่างของการละเมิดศาล ซึ่งเอาไว้เตือนใจให้กับคนที่คิดจะทำไม่ดีได้เป็นอย่างดี

นายธนกร กล่าวว่า ส่วนที่นายมนัส สร้อยพลอย นายอัฐฐิติพงศ์ หรืออัครพงศ์ ทีปวัชระ หรือช่วยเกลี้ยง นายทิฆัมพร นาทวรทัต นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และ นายภูมิ สาระผล ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองกลาง ที่ให้ทั้ง 5 คน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 

ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าผู้ฟ้องทั้ง 5 แบ่งหน้าที่ในลักษณะจงใจทำให้เกิดความเสียหายในโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกว่า 20,000 ล้านบาท ไม่อาจขายข้าวสอดคล้องกับการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีการส่งมอบหน้าคลังสินค้า ทำให้มีการนำข้าวหน้าคลังมาเวียนขายในประเทศ เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม คำสั่งที่ให้ชดใช้สินไหมทดแทน 20 เปอร์เซ็นต์ของความเสียหายรวมเกือบ 15,000 ล้านบาท จึงชอบแล้ว

ดร.พิมพ์รพี แนะ มท. ทบทวนคำสั่งห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาวัคซีนเอง หวังเพิ่มทางเลือกปชช. - ลดภาระรัฐฯ ชี้! เอกชนพร้อมจ่าย เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ ปชช. ดึงดูดนักท่องเที่ยว เปิดประเทศอย่างเป็นระบบ จี้ รัฐเร่งวางแผนร่วมเอกชน หวั่นยิ่งช้า ยิ่งเสียโอกาส

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายเงื่อนไขการเปิดประเทศ นำร่องที่ภูเก็ต เริ่มวันที่ 1 เมษายนนี้ ว่า ถือว่ารัฐบาลเริ่มเดินมาถูกทางแล้ว ที่เริ่มมีการเปิดประเทศอย่างเป็นระบบ แต่ที่อยากให้เร่งรัดดำเนินการให้เร็วคือ แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งควรเร่งนำเข้ามากระจายให้เอกชน ที่พร้อมจะแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณให้กับรัฐบาล พร้อมควักเงินตัวเองร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีน ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น เป็นการสูญเสียโอกาสที่ประชาชนจะได้ฉีดวัคซีนเร็วขึ้น และยังตัดทางเลือกวัคซีนของประชาชนด้วย  ซึ่งจะช่วยลดภาระรัฐบาลกลางได้ด้วย จึงอยากให้มีการทบทวนหนังสือฉบับดังกล่าว เปิดทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนมาบริหารจัดการภายในจังหวัดตัวเองได้ 

“ดิฉันคิดว่ารัฐต้องหยุดผูกขาดวัคซีนโควิด-19 แต่ควรหารือร่วมกับภาคเอกชน กำหนดแผนกระจายวัคซีนในส่วนของภาคเอกชนให้ชัดเจน คู่ขนานไปกับแผนเดิมของรัฐบาลที่จะฉีดวัคซีนฟรีให้กับประชาชนวางบทบาทเป็นผู้เจรจาแทนภาคเอกชน เพราะวัคซีนหลายยี่ห้อจะเจรจากับรัฐบาลเท่านั้น บางประเทศถึงขั้นใช้การฉีดวัคซีนเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว ยิ่งช้าเท่าไหร่ เศรษฐกิจไทยก็ยิ่งเสียโอกาสเท่านั้น อย่าลืมว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยคิดเป็นร้อยละ 16-17 ต่อจีดีพี ถ้าวัคซีนยังล่าช้า การฟื้นเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ยาก” ดร.พิมพ์รพี กล่าว

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่ากังวลคือภาครัฐยังมีการประมาณการสถานการณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ดีเกินความจริง ไม่เว้นแม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้ว่าจะมีมากถึง 3 ล้านคน ซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ตราบใดที่การเปิดประเทศยังล่าช้า การฉีดวัคซีนยังไม่ได้ตามเป้าหมาย  ล่าสุดมีการทำโกดังหนี้ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นเรื่องดี แต่ปัญหาคือถ้าไม่รีบสร้างรายได้ให้เร็วที่สุด แม้มีโกดังเก็บหนี้แต่ผู้ประกอบการก็ไม่มีกำลังจ่ายหนี้อยู่ดี สุดท้ายก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี คนที่รอดทุกสถานการณ์กลายเป็นสถาบันการเงิน

“บิ๊กป้อม” ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าสะเมิง สั่งเข้มเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายพวกเผาป่า

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก ประจำ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับทราบและแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมกับชื่นชมและให้กำลังใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และอุทยาน ฝ่ายปกครองและทหาร รวมทั้งส่วนราชการและอาสาสมัครในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ร่วมกันควบคุมสถานการณ์ไฟป่าที่ลุกลามขยายเป็นวงกว้างในพื้นที่ อ.สะเมิงใต้ ต่อเนื่องที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ ขอให้ยังคงเข้มเฝ้าระวังพื้นที่ไฟไหม้ป่า ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้วอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลุกลามจากพื้นที่ที่ยังระอุใต้ดินและซากตอไม้ที่ยังไม่ดับ สำหรับพื้นที่ทางเหนือ ขึ้นไป 2 ไมล์ ซึ่งเป็นภูเขาสูงชันและกำลังเกิดไฟลุกไหม้ป่าขยายเป็นวงกว้าง  ขอให้ กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า โดยการนำของ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้บูรณาการกำลังภาคพื้นและอากาศยานของกองทัพอากาศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยให้ระมัดระวังอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บและสูญเสียของเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ที่อาจเกิดขึ้นจากความอ่อนล้าในการปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะเวลากลางคืน

พล.อ.ประวิตร ยังได้ย้ำ ขอให้เร่งสอบสวนสาเหตุการเกิดไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้น โดยขอให้ทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่โดยเน้นมาตรการป้องกัน  ทั้งนี้ต้องเข้มบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มบุคคลและนายทุนที่อยู่เบื้องหลังการบุกรุกแผ้วถางและเผาป่า เพื่อครอบครองพื้นที่ทำการเกษตรอย่างต่อเนื่องและจริงจัง  โดยถือเป็นความเห็นแก่ได้ ที่นำมาซึ่งความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ รวมทั้งสร้างปัญหามลภาวะหมอกควัน PM 2.5 กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในภาพรวม

รมว.ยุติ ยืนยัน กำชับจนท. ดูแลนักโทษอย่างใกล้ชิด ปัดตอบ ‘เต้น’ ลุยการเมือง หลังถอนกำไลอีเอ็ม

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณี ร.ต.ธนกฤติ จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประสานมารดานายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร ให้เลิกอดอาหารเพราะเป็นห่วงสุขภาพว่า…

ทุกคนให้ความเป็นห่วง นายพริษฐ์ เพราะถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะเกิดปัญหา ตนกำชับไปแล้วต้องไม่มีเหตุอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น โดยสัปดาห์นี้จะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ให้ผอ.เรือนจำทั้งหมดรับทราบนโยบายและเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นให้ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่ว่าช้า ถามข้อมูลอะไรก็ไม่ทันการ มันจะเกิดความเสียหาย และต้องปฏิบัติตามระเบียบเป็นไปตามสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องมีความละเอียดไม่ให้มีเรื่องของความไม่เข้าใจเกิดขึ้นและต่อความยาวสาวความยืดกัน

เมื่อถามว่าหากนายพริษฐ์ เจ็บป่วยขึ้นมาโรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์จะมีมาตรฐานเพียงพอหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องมาตรฐานของโรงพยาบาลดีเหมือนกันหมด ไม่มีปัญหา เพียงแต่เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์มีจำกัดเพียง 1 คน ต่อนักโทษ 33 คนซึ่งตนจะกำชับให้ดูแลละเอียดขึ้น

เมื่อถามว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะล่าสุดน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร ประกาศจะอดอาหารบ้าง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ป้องกันอะไรไม่ได้ แต่เราระมัดระวังอย่าให้เขาเป็นอันตรายก็ทำให้ดีที่สุดและไม่ปล่อยปะละเลย โดยเฉพาะข้อมูลต้องประสานกันให้รวดเร็วเพื่อป้องกันความไม่เข้าใจเพราะบางครั้งก็เป็นข่าวไปหลายวันสร้างความสับสนทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่มีอะไรรุนแรง

เมื่อถามว่าลำบากใจหรือไม่ที่นักโทษในเรือนจำอดอาหารซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการเช่นนี้มาก่อน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้คุมก็ต้องดูเพราะเป็นความารับผิดชอบ

เมื่อถามถึงกรณี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถอดกำไลอีเอ็ม นายสมศักดิ์ กล่าวว่า มีอีเอ็มมันก็เป็นเครื่องเตือนใจ ถอดแล้วก็แสดงว่าหมดเวลาของพันธนาการแล้วเข้าสู่โหมดการใช้ชีวิตไปไหนมาไหนได้ปกติ ส่วนจะไปทำกิจกรรมทางการเมืองได้หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ต้องไปดูคำสั่งศาล

อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนมีแนวคิดเรื่องการปล่อยนักโทษร้ายแรงก่อนเวลาแล้วใช้ระบบใส่กำไลข้อเท้าติดตามตัว ซึ่งได้แลกเปลี่ยนประชาชนไป 3 ครั้งแล้วเป็นบวกและตรงกันที่กระทรวงอยากดำเนินการ แต่ก็ต้องฟังเสียงประชาชนอีกสักระยะ เพราะถ้าเราปล่อยปะละเลยเหมือนในอดีตก็จะเกิดการกระทำผิดซ้ำ


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ครม.เคาะ! ให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะ - สิทธิเด็ก - บุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบในหลักการ การให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักเรียบร้อยแล้วจำนวน 5,203 คน ซึ่งครอบคลุมบริการด้านสาธารณสุขได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ครม.อนุมัติ ใช้งบประมาณในการดำเนินการจำนวน 12.76 ล้านบาท

ครม. เห็นชอบ ร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง กำหนดให้ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ - คำนึงผลประโยชน์ของชาติ - ปชช.

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวไตรศุลี​ ไตรสรณกุล​ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ ว่า ครม.เห็นชอบร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์​ ในการประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของข้าราชการการเมือง​ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ยกร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองขึ้นมาและให้ทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการการเมืองไปแล้ว

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ซึ่งร่างประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง  ประกอบด้วย​ การกำหนดนิยามคำว่า ข้าราชการการเมือง หมายความถึง ข้าราชการการเมือง​ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และให้รวมถึงกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย​ โดยกำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศอันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต​ มีจิตสำนึกที่ดีและรับผิดชอบต่อหน้าที่​ ต้องกล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม​ ข้าราชการการเมืองต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม และมีจิตสาธารณะ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานโดยต้องดำรงตน ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ​ ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ​ รวมทั้งต้องดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ

ครม. เห็นชอบ “ร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ” ช่วยแรงงานในระบบ มีเงินสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ เพื่อเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ ลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ 

โดยรายได้ของ กบช. ไม่ต้องนำส่งคลัง และกำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและไม่เกิน 60 ปี ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องเป็นสมาชิกของ กบช. ทั้งนี้กำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบแต่ละฝ่าย แบ่งเป็น ปีที่ 1 - 3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ปีที่ 4 - 6 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ปีที่ 7 - 9 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของค่าจ้าง ปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 - 10 ของค่าจ้าง โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน กรณีลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว หากลูกจ้างและนายจ้างต้องการส่งเพิ่ม สามารถส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง

สำหรับการรับเงินจาก กบช. เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปี สามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือน เป็นระยะเวลา 20 ปี กรณีเลือกบำเหน็จ ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่ง เงินสมทบจากนายจ้าง รวมผลตอบแทน กรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จก็สามารถทำได้  เช่น รับบำนาญแล้ว 5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นบำเหน็จ จะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญ 15 ปีที่เหลือ กรณีที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อออกจากงานแล้ว จะขอรับเงินสะสม เงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

นางสาวรัชดา กล่าวว่า นอกจากนั้นเห็นชอบร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... สาระสำคัญ เป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (คนบ.) มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในภาพรวมของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีคณะกรรมการฯ  13 คน โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top