วันที่ 18 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมรับฟังผลงานของกระทรวงแรงงานรอบ 1 ปี ในรูปแบบการประชุมผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน , ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน , นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน , นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน , นางธิวัลรัตน์ อังกินันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน , นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน
พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องแสงสิงแก้ว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า วันนี้ เป็นโอกาสดีที่ได้มารับฟังผลงานของกระทรวงแรงงาน ในรูปแบบประชุมผ่านระบบ Video Conference เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ผมขอชื่นชมกระทรวงแรงงาน ที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่เร่งด่วนและสำคัญ และให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานได้อย่างทันท่วงที
โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญเป็นเชิงประจักษ์ ขอแสดงความห่วงใยสำหรับบุคลากรกระทรวงแรงงานทุกท่านที่ทุ่มเทกำลังความสามารถในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ขอบคุณกระทรวงแรงงานที่เร่งกระจายวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยง ขอให้ดำเนินการต่อไปอย่างครบถ้วนและครอบคลุม เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลได้กำหนด ให้การฉีดวัคซีนโควิด -19 เป็นวาระแห่งชาติ โดย พล.อ.ประวิตรยังได้เน้นย้ำการทำงานในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
1) การบริหารวัคซีน ให้เร่งดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงานให้ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สีแดงเข้ม สำหรับศูนย์ฉีดวัคซีนแคมป์คนงาน ขอให้เร่งดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนด
2) มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการ Lockdown พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ทั้งนายจ้าง ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 ขอให้ดำเนินการตามกำหนดระยะเวลา เพื่อช่วยให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว
3) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มแรงงาน ป้องกัน ดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด -19 รวมทั้งบุคลากรของกระทรวงแรงงาน
4) โครงการ Blue Factory ให้บริหารจัดการอย่างครบวงจร โดยสำรวจความสมัครใจของสถานประกอบการ ตรวจคัดกรองให้ครอบคลุม หากพบผู้ติดเชื้อให้เร่งดูแลและช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีตามมาตรการด้านสาธารณสุข
5) แรงงานต่างด้าว ให้กำกับ ดูแล บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
6) ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและองค์การระหว่างประเทศ และต้องกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยเด็ดขาด หากพบมีพฤติการณ์ให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทั้งทางวินัยและอาญาทุกราย
7) ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเน้นหลักสูตรในการพัฒนาทักษะดิจิทัล เช่น การผลิตสื่อโฆษณาและหนังสั้นด้วยสมาร์ทโฟน เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์
การประชุมในวันนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้ Video Conference ไปยังสำนักงานแรงงานจังหวัด และสำนักงานแรงงานในต่างประเทศด้วย รวมทั้งให้กำลังใจให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคโควิด-19 และขอให้ตรวจสอบและช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งขับเคลื่อนมาตรการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงแรงงานในทุกมิติ และขอให้ทุกท่านร่วมกันพัฒนาประเทศก้าวข้ามวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน
ก่อนการประชุม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้นำผู้แทนกลุ่มแรงงาน ได้แก่ นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าแท็กซี่ไทย นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคาร และ นางญาดา พรเพชรรัมภา นายกชมรมหาบเร่แผงลอย มอบของที่ระลึกและกล่าวขอบคุณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผ่านทาง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในโอกาสที่ได้ให้ความช่วยเหลือ เยียวยาแรงงานทั้ง 3 กลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากนั้นที่ประชุมได้รับฟังการรายงานผลงานของ ก.แรงงานในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา
ซึ่งมีผลงานที่สำคัญ อาทิ การยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ สามารถผ่านการอบรมแล้ว 110,110 คน มีงานทำแล้วคิดเป็น ร้อยละ 69.79 มีรายได้เฉลี่ย 14,152 บาทต่อเดือน การส่งเสริมการมีงานทำสามารถบรรจุงานได้ 1,313,591 คน ก่อให้เกิดรายได้ 75,728 ล้านบาท เศษ การคุ้มครองและแก้ไขปัญหาแรงงานถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้ลูกจ้าง 16,000 คน วงเงิน 850 ล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพ การบังคับใช้กฎหมายโดยมีการตรวจสถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ 1,211 แห่ง และจากสถานการณ์โควิด-19 ก.แรงงาน โดยนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของ รอง นรม. สามารถเยียวยาแรงงาน ผู้ประกันตน ลดเงินสมทบกว่า 12 ล้านคน นายจ้างกว่า 480,000คน เยียวยาเหตุสุดวิสัย 50% ให้ผู้ประกันตน 198,432 คน โครงการ ม.33 เรารักกัน 8,140,000 คน รวมทั้งการเยียวยาในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ในการตรวจเชิงรุก และการรักษาโควิด-19 อย่างทั่วถึง เป็นต้น
พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวชื่นชม รมว.แรงงาน รมช.แรงงาน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของ ก.แรงงาน ทุกคน ที่ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม มีผลงานเชิงประจักษ์ และได้ให้กำลังใจการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งได้มอบนโยบายให้ ก.แรงงาน เร่งช่วยเหลือทั้งนายจ้าง และผู้ประกันตน ม.33 ,39 และ 40 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังรอการช่วยเหลือให้ครบถ้วน และทั่วถึง ต่อไป รวมทั้งขอให้มีการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และเน้นย้ำป้องกันการค้ามนุษย์โดยมีการบังคับใช้ กม.อย่างจริงจัง และมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยเด็ดขาด