‘พิธา’ เยือน ‘เมืองสองแคว’ บุกถิ่น ‘มะม่วงวังทอง’ ส่งออกระดับประเทศ แสดงวิสัยทัศน์เกษตรก้าวหน้า ส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง ปลดล็อกศักยภาพการแปรรูปสินค้าเกษตรหลุดจากการผู้ขาดของทุนใหญ่ พร้อมเปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พิษณุโลก
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค, ปดิพัทธิ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันลงพื้นที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและสำรวจสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“จังหวัดพิษณุโลกมีของดีอย่างผลผลิตมะม่วงในเขตอำเภอวังทองและอำเภอเนินมะปราง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ในขณะนี้ จากการมาในพื้นที่ได้รับทราบมาจากเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผลผลิตมะม่วงไม่สามารถจำหน่ายได้ และมีราคาตกต่ำมาอยู่ที่เพียงกิโลกรัมละ 5 บาทเท่านั้น”
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อไปว่า ภาคเกษตรของไทย หากจะสรุปปัญหาได้ในคำเดียวคือ เราขาดอำนาจต่อรอง แต่จะรวมตัวกันให้ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองก็ทำไม่ได้หรือทำได้ยาก เพราะรัฐบาลไม่ได้สนับสนุน
“รัฐบาลตั้งงบประมาณกรมส่งเสริมสหกรณ์ปี 65 ทั้งหมดเป็นเงิน 2,500 ล้านบาท โดยเป็นงบพัฒนาสหกรณ์เกษตรแปรรูปทั้งประเทศเพียง 13 ล้านบาทเท่านั้น และตั้งงบส่งเสริมเกษตรอินทรีย์จำนวน 6.7 ล้าน แต่กลายเป็นค่าอบรมสัมมนาทั้งหมด หรือในกรณีงบจังหวัดพิษณุโลกจำนวน 233 ล้านบาท เป็นงบพัฒนาด้านการเกษตรจำนวน 81 ล้านบาท แต่เมื่อไปดูในรายละเอียดพบว่าจาก 81 ล้านบาท ใช้เงินสูงถึง 75 ล้านบาทไปกับการสร้างถนน”
พิธา กล่าวด้วยว่า ในด้านมาตรการสนับสนุนสินค้าเกษตร ตนเห็นว่ามีวิธีการบริหารจัดการ 3 ระดับตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล โดยขั้นพื้นฐานที่สุดคือประกันราคา ซึ่งมีความจำเป็นเฉพาะหน้า แต่ประกันราคาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ยั่งยืน ระดับถัดมาคือ อุดหนุนต้นทุน เช่น อุดหนุนต้นทุนปุ๋ย เครื่องจักร และในระดับที่ยั่งยืนที่สุดคือ การส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง เช่น เกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปสินค้าเกษตร
นอกจากนี้ ตัวแทนเกษตรกรอำเภอเนินมะปรางและตัวแทนเกษตรกรอำเภอวังทองยังได้ร่วมสะท้อนปัญหาด้วยว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลผลิตไม่สามารถขายได้ ไม่สามารถส่งออกได้ ราคาตกต่ำ และเงินเยียวยาจากรัฐก็ไม่ได้เพราะที่ดินมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ
“หากเอาแผนที่มากางจะเข้าใจ ต้องมีสมองกับมีใจ สมัยนี้มันทันสมัย เราดูได้จากภาพถ่ายดาวเทียม ของ GISTDA และระวางคร่าวๆ ของ DSI Map ระบุไว้ชัดว่าเป็นป่าสงวนเท่าไร เป็นที่อยู่อาศัยเท่าใด สมัยก่อนมันยังไม่มีเทคโนโลยีชัดเจน ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ คนเปลี่ยนไปเยอะ หากถ้ามีใจที่จะทำให้ อะไรก็เป็นไปได้ รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับวิธีคิดของผู้นำว่า ชาติเป็นของใคร หากชาติเป็นของประชาชนก็ทำได้ แต่ถ้าชาติเป็นของกลุ่มคนเพียงหยิบมือก็ทำไม่ได้ และ ONE MAP คือแผนที่อันเดียวที่จะบ่งบอกว่าที่ตรงนี้เป็นที่ทำกินไม่สามารถไล่พี่น้องประชาชนออกจากตรงนี้ได้” พิธา กล่าว