Wednesday, 26 March 2025
NEWS FEED

‘ธนาธร’ เฮ! หลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาคำร้องดีอีเอส กรณีระงับคลิปไลฟ์สดวัคซีนโควิด พาดพิงสถาบัน ชี้เนื้อหามุ่งเน้นการ กล่าวหารัฐบาลบกพร่อง ส่วนข้อมูลเรื่องผู้ถือหุ้นเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่ชัดเจนกระทบความมั่นคง

วันที่ 8 ก.พ. ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ พศ.76/2546 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปไลฟ์สดของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กรณีการไลฟ์สดเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลได้มีคำสั่งให้ระงับคลิปตามที่ดีอีเอสยื่นร้องขอ ต่อมานายธนาธรได้ยื่นคัดค้าน โดยศาลได้ไต่สวนคู่ความทั้งสองฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในวันนี้มีผู้แทนดีอีเอสและทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายธนาธรเดินทางมาศาล ส่วนนายธนาธรไม่ได้เดินทางมา

โดยศาลได้อ่านคำสั่ง ซึ่งมีเนื้อหาพิเคราะห์ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงโดยละเอียด เนื้อหาที่นายธนาธร ผู้คัดค้านกล่าว มุ่งเน้นการกล่าวหารัฐบาลบกพร่อง ข้อมูลเรื่องผู้ถือหุ้นเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่เป็นประเด็นหลักในการนำเสนอ ไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนถึงกับกระทบความมั่นคง จึงให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเเละคำสั่งศาลที่ให้ระงับการเผยแพร่คลิปเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 เป็นอันสิ้นผล ยกคำร้อง

ธุรกิจสปาทรุดหนัก จากพิษโควิด-19 ล่าสุดพบเปิดให้บริการแค่ 20% จากจำนวนกว่า 8,000 แห่ง ส่งผลแรงงานที่เกี่ยวข้องตกงานแล้วกว่า 2.4 แสนคน วอนรัฐพยุงการจ้างงานภาคท่องเที่ยว ช่วยจ่ายค่าแรงคนละครึ่งกับเอกชน นาน 6 - 12 เดือน

นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจสปานั้น ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจร้านนวดสปา ซึ่งมีกว่า 8,000 แห่งที่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มีจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 3 แสนคน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนร้านนวดสปาเปิดให้บริการเพียง 20% ของทั้งหมด และแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 80% หรือราว 240,000 คน อยู่ในสภาวะตกงาน

เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ประกอบธุรกิจ สมาคมฯ จึงจัดทำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ โดยเฉพาะการช่วยพยุงการจ้างงานภาคท่องเที่ยว ด้วยการทำโครงการร่วมจ่าย ระหว่างรัฐและเอกชนช่วยกันเงินเดือนให้พนักงานคนละครึ่ง วงเงินต่อรายไม่เกิน 7,500 บาท รวมจำนวน 8 แสนคน เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน รวมทั้งเสนอให้คลายล็อกธุรกิจบริการออนเซ็น ภายใต้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เพราะไม่ได้มีลักษณะเหมือนสถานประกอบการอาบอบนวด

"ขณะนี้ได้รับทราบมาว่า ได้มีกลุ่มทุนจากต่างประเทศหลายรายกำลังเข้ามาหาช่องทางซื้อกิจการในประเทศไทยจำนวนมาก หลังจากธุรกิจหลายประเภทได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยส่วนของธุรกิจสปาเองนั้น ก็มีกลุ่มทุนจากจีนหลายรายที่แสวงหาช่องทางเข้ามาซื้อกิจการของไทยที่ประสบปัญหาด้านรายได้ หรือมีสายป่านทางธุรกิจที่ไม่ยาวพอ และอาจขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ตอนนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก"

หัวหน้าพรรคกล้า ‘กรณ์ จาติกวณิช’ แนะรัฐบาลปรับวิธีเยียวยาผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้แสดงความเห็นถึงการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19ระบาดในกลุ่มผู้สูงอายุของรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊ก กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผู้สูงอายุ กับการเยียวยา

วันนี้ขณะลงพื้นที่หลายเขตในกรุงเทพ มีชาวบ้านจำนวนมากได้ขอพูดคุยในประเด็นความเดือดร้อนต่าง ๆ

ที่น่าเห็นใจที่สุดคือ "ผู้สูงอายุ" เพราะเขาขึ้นทะเบียนไม่ได้ และตั้งคำถามง่ายๆ ฝากผมไปถึงผู้มีอำนาจว่า "ทำไมรัฐบาลไม่ดูแลผู้สูงอายุด้วยการโอนเงินเยียวยาตรงเข้าบัญชีที่เขารับเบี้ยผู้สูงอายุอยู่แล้วเดือนละ 600 - 1,000 บาท?"

เพราะข้อเท็จจริงแม้แต่เงินพันบาทนั้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจจากโควิดตอนนี้ไม่เพียงพอแน่นอน และลูกหลานที่เคยมีงาน มีเงินดูแลพ่อแม่ ตอนนี้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ตกงานกันก็มาก แถมการเยียวยารูปแบบต่าง ๆ ก็ค่อนข้างล่าช้า

ส่วนการช่วยเหลือนั้น รอบนี้ทุกคนอยากให้เป็น "เงินสด" ผมเองก็คิดอย่างนี้แต่แรก ถึงแม้ผมเข้าใจเจตนาที่ดีของรัฐบาลที่จะให้มีการใช้เงินผ่าน "เป๋าตัง" เพื่อมุ่งสู่การเข้าระบบดิจิตัลทางการเงิน แต่เจตนาดีในกรณีนี้ "ผิดจังหวะ" ครับ

ตอนทำ "คนละครึ่ง" หรือ "เราเที่ยวด้วยกัน" คือบริบทของการฟื้นฟูก่อนระบาดระลอกใหม่ แต่วันนี้คนเดือดร้อนแบบขาดเงินสดหนักมากจากโควิดรอบใหม่

ผู้กำหนดนโยบาย (รวมถึงตัวผมเอง) ไม่มีทางที่จะคิดแทนชาวบ้านได้ทั้งหมดว่าเขาเดือดร้อนที่ต้องใช้เงินอย่างไร วันนี้บางคนเพียงต้องการเงินสดเพื่อให้ลูกมีเงินติดไปโรงเรียน แต่ก็ไม่สามารถใช้เงินเยียวยาตามความต้องการนี้ได้

ผมทำนโยบายมาก็เยอะนะครับ บทเรียนที่สำคัญคือต้องเอาความต้องการของผู้เดือดร้อนเป็นที่ตั้ง เมื่อทำแล้วมีช่องโหว่ต้องรีบปรับทันที อย่าทำอะไรที่สลับซับซ้อนเกินไป สำคัญที่สุดคือ อย่าฟังแต่ข้าราชการและนักวิชาการ ต้องมีทีมลงไปฟังประชาชนคนเดินถนน ชาวบ้านร้านตลาดตัวจริง

เปรียบเทียบกับการออกแบบ App ก็ได้ครับ โปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังต้องทดสอบกับผู้ใช้บริการจริงเพื่อตรวจเช็ค user experience เสร็จแล้วก็เอาข้อมูลมาปรับให้ App ใช้ง่ายขึ้นและตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น

ไม่สายเกินไปที่จะปรับแก้ครับ

เอาใจช่วยเสมอ ประชาชนรออยู่

"ทิพานัน" ยกผลโพลพอใจรัฐคุมโควิดรอบใหม่ ไม่แปลกใจ หาก ‘3 ป.’ จะสอบผ่านซักฟอก เพราะผลงานเป็นที่ประจักษ์ เย้ยศึกอภิปรายครั้งนี้ไม่ห่วงรัฐบาล แต่ห่วงฝ่ายค้านทำประชาชนผิดหวัง อภิปรายแบบตีหัวเข้าบ้าน ซ้ำรอย ‘ธนาธร’ บิดเบือนตัดแปะ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ของนิด้าโพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.13 ค่อนข้างพอใจกับการดำเนินการของรัฐบาลตั้งแต่ ธ.ค. 63 - 31 ม.ค. 64 ในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ เพราะมีการควบคุมที่ไม่เข้มงวดมากเกินไป ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก

ปิดเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ขณะที่อีกร้อยละ 27.60 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการจัดแบ่งพื้นที่เสี่ยงได้ชัดเจน สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติกับพื้นที่ที่ไม่ได้คุมเข้ม ว่า ขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้เห็นถึงผลงานความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความปลอดภัยของประชาชน และปัญหาปากท้อง ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กันไป

การรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย สะท้อนออกมาเป็นความพึงพอใจของพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมาไทยยังได้รับความชื่นชมในระดับโลกอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา จากการจัดอันดับของสถาบันโลวี (Lowy Institute) ของออสเตรเลียที่ยกให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ติดอันดับท็อป 5 ประเทศที่จัดการกับ Covid-19 ได้ดีที่สุดในโลก นี่ยิ่งทำให้เห็นถึงผลงานการดูแลชีวิตประชาชนได้อย่างดียิ่ง

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ที่สำคัญที่ประชาชนเห็นว่า มีการผ่อนคลายมาตรการของรัฐที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.พ. 64 ก็พบว่าร้อยละ 43.57 เห็นด้วยมาก เพราะทำให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้ เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ดีขึ้น และสามารถกลับมาประกอบอาชีพ การเรียนการสอน หรือกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ทำให้ตนไม่ห่วงในประเด็นที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะผลการทำงานที่ผ่านมามีประสิทธิภาพ และโปร่งใสคาดว่าจะได้รับความไว้วางใจในการบริหารประเทศต่อไป ดังที่จะเห็นได้จากผลสำรวจความเห็นของซูเปอร์โพล พบว่าประชาชน ร้อยละ 86.3 เชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ละพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะสามารถผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ เพราะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์

“ที่น่าสังเกตคือ ผลสำรวจของซูเปอร์โพล ประชาชนร้อยละ 98.3 มองว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านเพื่อประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าชาติ และร้อยละ 90.9 ของประชาชนคาดหวังข้อมูลของฝ่ายค้านน่าเชื่อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนจึงอยากให้ฝ่ายค้านตระหนักในความคาดหวังของประชาชน ขอให้การบ้านอย่างรอบคอบรอบด้าน อย่าทำให้ผิดหวังในการทำหน้าที่ เช่นการนำข้อมูลเลื่อนลอยมาพูดในสภาอันทรงเกียรติ แล้วตีหัวเข้าบ้าน ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนที่มีต่อฝ่ายค้านเองเหมือนอย่างที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าโชว์ซักฟอกรัฐบาลนอกสภาฯ ไปก่อนหน้านี้ด้วยข้อมูลที่เข้าข่ายบิดเบือนตัดแปะ ปะติดปะต่อกับความมโนและเจตนาไม่สุจริต จนถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้” น.ส.ทิพานัน กล่าว

“นิด้าโพล” เผยคนไทยกลัวติดโควิดเพิ่มขึ้น 63% ขณะที่ 42.13% ค่อนข้างพอใจมาตรการคุมโควิดรอบใหม่ของรัฐบาล ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด พบส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.12 จะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล แต่ยังมีอีกร้อยละ 23.57 ที่ระบุว่า จะไม่ฉีดวัคซีน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “COVID-19 รอบใหม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 25.86 ระบุว่า มีความกลัวมาก เพราะ เชื้อไวรัส COVID-19 มีการเเพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาก ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ประชาชนบางกลุ่มยังละเลย ในการป้องกันตนเอง และยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาให้หายขาด ร้อยละ 37.79 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกลัว เพราะ ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีจำนวนมากกว่ารอบที่แล้ว พบผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการมากขึ้นทำให้ติดกันง่ายกว่าเดิม จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานและต้องเจอกับผู้คนจำนวนมาก ร้อยละ 18.86 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ดูแลและป้องกันตนเองดี หลีกเลี่ยงไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และมั่นใจในการทำงานของบุคลากรทางการเเพทย์ในการรักษาให้หาย และร้อยละ 17.49 ระบุว่า ไม่มีความกลัวเลย เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่มีการป้องกันตนเองอย่างดีมาก และไม่ได้อาศัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว และไม่มีความกลัวเลย มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า มีความกลัวมาก และค่อนข้างมีความกลัว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินการของรัฐบาลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ พบว่า ร้อยละ 27.60 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการจัดแบ่งพื้นที่เสี่ยงได้ชัดเจน สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติกับพื้นที่ที่ไม่ได้คุมเข้ม ร้อยละ 42.13 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะ มีการควบคุมที่ไม่เข้มงวดมากเกินไป ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก ปิดเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ร้อยละ 20.99 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะ การคุมเข้มกับกิจกรรมบางอย่างยังไม่รัดกุม เช่น ให้มีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การเดินทางข้ามจังหวัด และการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวยังขาดการควบคุมที่รัดกุม ทำให้ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่จำนวนมาก และร้อยละ 9.28 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะ ต้องการให้มีการควบคุมที่เข้มข้นเหมือนครั้งก่อน และต้องการให้มีการล็อคดาวน์ทั้งประเทศ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการผ่อนคลายมาตรการของรัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ร้อยละ 43.57 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ทำให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้ เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ดีขึ้น และสามารถกลับมาประกอบอาชีพ การเรียนการสอน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ร้อยละ 34.68 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ประชาชนได้ผ่อนคลายบ้าง มีการรับมือทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ประชาชนดำรงชีวิตสะดวกมากขึ้น และประกอบอาชีพ หารายได้ได้เหมือนเดิม ร้อยละ 14.75 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ การใช้ชีวิตแย่ลงกว่าเดิม รายได้จะหายไปมากกว่าเดิม และต้องการให้เลื่อนระยะเวลาการเปิดสถานศึกษาออกไปอีก ร้อยละ 6.39 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ประชาชนบางกลุ่มยังละเลยการป้องกันตนเองโดยเฉพาะเด็กนักเรียน และจำนวนของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่ลดลง และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.12 ระบุว่า จะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 23.57 ระบุว่า จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ร้อยละ 7.98 ระบุว่า จะยอมเสียเงินเองในการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐ และร้อยละ 5.33 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดยุทธการสาวแกร่งชุดปฏิบัติการพิเศษ ‘กองร้อยน้ำหวาน’ ช่วยงานพิทักษ์ป่า

นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหญิงจำนวน 30 คน เพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หรือที่เรียกว่าชุดปฏิบัติการพิเศษ “กองร้อยน้ำหวาน” ทั้งนี้จากการปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นงานที่ต้องใช้ความเข้มแข็งแต่ก็ต้องมีความยืดหยุ่นในตัว การใช้เจ้าหน้าที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ชาย ก็อาจจะดูแข็งกร้าวเกินไป

การมีชุดปฏิบัติการพิเศษ “กองร้อยน้ำหวาน” จะทำให้งานด้านเข้าพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ เข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จะทำได้เป็นอย่างดี สถานการณ์ที่ดูรุนแรง คับขัน สามารถคลี่คลายไปในทางที่ดี จากความอ่อนโยนของผู้พิทักษ์ป่าหญิงที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีนั้น เมื่อได้เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ทำให้ความรุนแรงที่มีทีท่าว่าจะบานปลายในตอนแรกก็จะสามารถผ่อนคลายลงในบางเหตุการณ์ต้องเผชิญหน้ากับชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงและเด็ก รวมทั้งเรื่องการค้นตัวผู้ต้องหาที่เป็นผู้หญิง “กองร้อยน้ำหวาน” จะสามารถปฏิบัติการได้อย่างไม่ติดขัด จึงเป็นการสนับสนุนการทำงาน ลดความขัดแย้ง ช่วยคลี่คลายปัญหาและอุปสรรค ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นได้

“โดยได้ทำการฝึกอบรมยุทธวิธี บุคคลท่ามือเปล่า การใช้อาวุธปืน การหาข่าว การควบคุมตัวผู้ต้องหา และการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น จากครูวิทยากรผู้มีความรู้ความชนาญจากส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน่วยฯ พญาเสือ) ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กองร้อยน้ำหวาน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในครั้งนี้ ซึ่งในอนาคตจะนำเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหญิงจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี สามร้อยยอด และอื่นๆมาร่วมทีม” นายพิชัย กล่าว


ภาพ/ข่าว นิพล ทองเก่า

‘พลังประชารัฐ’ ยืนยันมติพรรคไม่ส่งตัวแทน สู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ตามรอยมติเดิมที่เคยมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง อบจ. ก่อนหน้านี้

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้งสภาเทศบาล นายกเทศมนตรี ขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2564 โดยกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2564 ที่จะถึงนี้ ทางพรรคพลังประชารัฐ ยังคงยืนยันตามมติพรรคเดิม ที่มีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น หรือสนับสนุนกลุ่มการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนในนามของพรรค เช่นเดียวกับที่ผ่านมาในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด

“ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มการเมือง หรือบุคคลใดๆ ในการลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งการเลือกตั้งสภาเทศบาล หรือนายกเทศมนตรี โดยพรรคยังคงยืนยันมีตามมติเดิมที่เคยมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง อบจ. สำหรับผมนั้นยืนยันปฏิบัติตามมติของพรรคที่จะไม่ให้การสนับสนุน หรือช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราชด้วยเช่นกัน” นายสัณหพจน์ กล่าว

'นักรบชุดขาวชาวเชียงใหม่' ออกเดินทางสนับสนุน สับเปลี่ยนกับบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ต่อสู้โควิด -19 จ.สมุทรสาคร ญาติพี่น้องร่วมส่ง พร้อมให้กำลังใจคับคั่ง

ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการส่งทีมบุคลากรสาธารณสุขอาสาสมัครเดินทางไปช่วยปฏิบัติงานในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งทีมที่เดินทางในวันนี้เป็นทีมแรกจากทั้งหมด 4 ทีม โดยทีมนี้ประกอบด้วย พยาบาล, นักวิชาการสาธารณสุข และพนักงานขับรถ จากโรงพยาบาลสันป่าตอง, โรงพยาบาลอมก๋อย, โรงพยาบาลไชยปราการ, โรงพยาบาลวัดจันทร์, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านปางเฟือง อำเภอเชียงดาว และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว

ทั้งนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้นำกราบไหว้พระพุทธรูปประจำสำนักงานสาธารณสุข เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมทั้งกล่าวให้โอวาทและกำลังใจ ตลอดจนเน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติงานด้วยว่านอกจากมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ต้องคำนึงถึงการดูแลป้องกันตัวเองด้วยเพื่อให้ยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปได้ ขณะที่ครอบครัวและญาติของบุคลากรสาธารณสุขอาสาสมัคร รวมทั้งประชาชนพื้นที่อำเภออมก๋อยที่แต่งกายในชุดประจำชนเผ่าได้มาร่วมกันส่งและให้กำลังใจทีมบุคลากรสาธารณสุขอาสาสมัครด้วย โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น

น.ส.มัณฑณี ราชพิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ โรงพยาบาลไชยปราการ หนึ่งในทีมบุคลากรสาธารณสุขอาสาสมัครซึ่งมีครอบครัวมาร่วมส่งด้วย เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดสมุทรสาคร รู้สึกเป็นห่วงเป็นอย่างมาก และตั้งใจอย่างยิ่งที่ต้องการจะลงพื้นที่ไปช่วยเหลือ เมื่อมีการเปิดรับอาสาสมัครจึงเข้าร่วมทันที ทั้งนี้ ครอบครัวมีความเป็นห่วงแต่เข้าใจดีและให้การสนับสนุน ขณะที่นางบุญนำ ใจดี อายุ 56 ปี แม่ของ น.ส.มัณฑณี บอกว่ารู้สึกเป็นห่วงลูกสาวที่ต้องลงพื้นที่ แต่เข้าใจดีและสนับสนุนลูกเป็นอย่างดี โดยเชื่อมั่นและภูมิใจในตัวลูกที่เสียสละในครั้งนี้

ด้านนางพราวเดือน เนตรวิชัย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าทีมที่ 1 เปิดเผยว่า ติดตามสถานการณ์ที่จังหวัดสมุทรสาครอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นห่วงเป็นใย ทั้งประชาชนและเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่อย่างหนักในพื้นที่ ทั้งนี้ เมื่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เปิดรับอาสาสมัครจึงไม่ลังเลใจที่จะเข้าร่วมทันที เพราะเดิมมีความตั้งใจอยู่ตั้งแต่แรกแล้วที่อยากจะไปช่วยแบ่งเบาภาระให้เพื่อร่วมวิชาชีพ ซึ่งได้มีการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมทุกอย่างไว้แล้วอย่างดี ส่วนความเป็นห่วงของครอบครัวนั้น เข้าใจดีและมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถดูแลทำงานและดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดีแน่นอน

สำหรับบุคลากรสาธารณสุขอาสาสมัครของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธาณสุข นักจิตวิทยา และพนักงานขับรถ จำนวน 33 คน แบ่งเป็น 4 ทีม ทีมละ 8-9 คน เพื่อส่งไปช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยทีมที่ 1 กำหนดปฏิบัติหน้าที่ระหว่าง 8-14 ก.พ. 64 ขณะที่ทีมที่ 2 กำหนดปฏิบัติหน้าที่ระหว่าง 15-21 ก.พ. 64, ทีมที่ 3 กำหนดปฏิบัติหน้าที่ระหว่าง 22-28 ก.พ. 64 และทีมที่ 4 กำหนดปฏิบัติหน้าที่ระหว่าง 1-6 มี.ค. 64


ที่มา : https://mgronline.com/local/detail/9640000012182

แท็กซี่จอดต่อแถวเรียงราย บริเวณถนนตัดใหม่ พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ขาเข้า รอรับของจากผู้ใจบุญ มาแจกให้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เพจ “FM91 Trafficpro” เผยภาพแท็กซี่จำนวนมากจอดต่อแถวเรียงราย บริเวณถนนตัดใหม่ พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ขาเข้า ก่อนถึงแยกไฟฉาย หลังมีผู้นำของมาแจกให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ขณะของใกล้จะหมดแล้ว พร้อมระบุข้อความว่า “ถนนตัดใหม่ พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ขาเข้า ก่อนถึงแยกไฟฉาย มีผู้ขับขี่แท็กซี่ต่อแถวรอรับของช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผู้นำมาช่วยเหลือจำนวนมาก ทำให้รถชะลอตัว มีจราจร สน.บางขุนนนท์ คอยอำนวยการจราจร”


ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000012209

https://www.facebook.com/172059279471277/posts/4210454625631702/v


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top