Monday, 21 April 2025
NEWS FEED

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า อาจมีปัญหาเรื่องเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจมีปัญหา จึงไม่แน่ใจว่าการอภิปรายจะเสร็จทันหรือไม่ ส่วนคืนนี้คาดว่าจะจบกันอภิปรายในเวลาเที่ยงคืนเศษ ซึ่งก็ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นว่าอาจมีการต่อเวลา

เมื่อถามถึงการประท้วงในการอภิปรายที่ฝ่ายค้านโจมตีว่ารัฐบาลบางคนตอบไม่ตรงคำถาม ประธานสภาฯ กล่าวว่า ความจริงแล้วไม่เหมือนกระทู้ถาม ที่ต้องคาดคั้นให้ตอบได้ ยิ่งไม่ตอบก็แสดงว่ารัฐมนตรี ไม่สามารถตอบคำถามได้ ไม่จำเป็นต้องไปคาดคั้น ถ้าไม่ตอบเลยประชาชนก็จะเห็นว่ารัฐมนตรีตอบไม่ได้ ความผิดพลาดก็จะอยู่ที่รัฐมนตรีเอง เขาไม่ตอบก็เป็นสิทธิ์ของเขา

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีรู้สึกผิดหวังกับการอภิปรายในสภา ที่มีการเสียดสี ดูถูก เหยียดหยาม มากขึ้น นายชวน กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นความรู้สึกของนายกฯ ก็เห็นว่าวิธีการอภิปรายบางคน มีถ้อยคำ ก้าวร้าว รุนแรงดูถูกเหยียดหยาม ก็มีมูลความจริงอยู่ สำหรับบางคน ไม่ใช่ทั้งหมด ต้องยอมรับว่าเหมือนบางคนมีเจตนาจะมาแข่งกัน ใช้ถ้อยคำที่แรงกว่ากัน ก็ดีที่ว่าห้ามแล้วฟัง แต่คำเหล่านั้นก็บันทึกอยู่ในที่ประชุมสภาว่าคำใดไม่เหมาะสม

ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย อย่างไรก็ตาม ขออย่ามองว่าส.สในสภาจะเหมือนกันทุกคน พื้นฐานแต่ละคนก็ต่างกัน นิสัยใจคอ กิริยา มารยาท ก็ต่างกัน บางอย่างคุมไม่ได้ ระเบียบข้อบังคับคุมได้ แต่กิริยามารยาทคุมไม่ได้


ที่มา: https://siamrath.co.th/n/221265

เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่ทั่วโลกต่างพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปให้ได้ และอาจนับได้ว่าเป็นการพัฒนาวัคซีนด้วยระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา

จนในวันนี้โลกเราก็ประสบความสำเร็จ เริ่มผลิตวัคซีน Covid-19 ออกมาใช้งานได้จริง และมีผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจมาก จากตัวเลขการติดเชื้อที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในหลายประเทศที่เริ่มโครงการวัคซีนไปแล้ว

แน่นอนว่าหนึ่งในทีมพัฒนาวัคซีนที่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าชื่นชมอย่างมาก คือ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด จับมือร่วมกับ AstraZeneca ซึ่งเป็นบริษัทยาชั้นนำที่ร่วมทุนกันระหว่างอังกฤษและสวีเดน

จุดเริ่มต้นโครงการพัฒนาวัคซีน Oxford/AstraZeneca ริเริ่มโดย ‘ด็อกเตอร์ แอนดี้ พอลลาร์ด’ และ ‘ด็อกเตอร์ ซาราห์ กิลเบิร์ท’ ที่ประจำอยู่ในศูนย์วิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด หลังจากพบว่ามีเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดคร้้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีนเมื่อช่วงปลายปี 2019 และเริ่มแพร่ระบาดในต่างประเทศได้ไม่นาน

ทีมวิจัยอ็อกซฟอร์ดได้เริ่มต้นโครงการพัฒนาวัคซีน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2020 จากข้อมูลของเชื้อไวรัสของ ‘ด็อกเตอร์ จาง หย่งเจิน’ นักไวรัสวิทยาจากสถาบันวิจัยเซี่ยงไฮ้ที่ได้ถอนรหัสโครงสร้างพันธุกรรมของ Covid-19 ได้เป็นครั้งแรก

และด้วยประสบการณ์ที่เคยทำงานวิจัยวัคซีนป้องกัน ‘ไวรัสอีโบร่า’ และ ‘ไวรัสเมอร์ส’ ที่เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่าเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหมือนทุนความรู้เดิมที่ช่วยให้ทีมงานรู้ขั้นตอนในการพัฒนาวัคซีนเป็นอย่างดี

แต่การแพร่ระบาดไปไกลกว่าที่ทีมวิจัยได้คาดคิดไว้มาก ด็อกเตอร์พอลลาร์ด เล่าว่า การแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างและรุนแรงเป็นข่าวร้ายของทีมวิจัยที่ต้องทำงานแข่งกับเวลายิ่งกว่าเดิม และต้องเปลี่ยนแผนการทำงานที่เคยวางไว้ เช่น การเพิ่มบุคลากรในทีม การร่นเวลาในการทดลองในแต่ละเฟส การขยายกลุ่มอาสาสมัครที่มากกว่าเดิม และนั่นก็หมายความว่าทีมงานต้องใช้ทุนวิจัยมากกว่าเดิมหลายเท่า

และก็ได้บริษัทยา AstraZeneca เข้ามาร่วมทุนสนับสนุน ที่ทำให้ทีมงานของทั้ง 2 ด็อกเตอร์จากสถาบันวัคซีนแห่งอ็อกซฟอร์ด สามารถเดินหน้าโครงการวิจัยได้ในที่สุด

ด็อกเตอร์พอลลาร์ดยอมรับว่าการทำงานแข่งกับเวลา และแรงเสียดทานจากกลุ่มคนผู้ไม่หวังดี สร้างแรงกดดัน และบั่นทอนกำลังใจทีมงานอยู่หลายครั้ง เช่นเมื่อคราวที่ทางทีมงานได้เริ่มทดลองฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครกลุ่มแรก เพียงไม่กี่วัน หลังจากนั้นก็มีข่าวปลอมกระจายทั่วออนไลน์ว่ามีกลุ่มทดลองเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนจากทีมของอ็อกซฟอร์ด

ถึงแม้จะเป็นข่าวปลอม แต่ก็สร้างความกดดันให้กับทีมงาน และกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนชุดแรกไปแล้วไม่น้อย ทางทีมวิจัยต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย ทั้งยังต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และต้องทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนให้รายงานข่าวได้อย่างถูกต้อง

ปัญหาของกลุ่มที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน ก็สร้างความปวดหัวให้กับทีมวิจัยเช่นกัน ด็อกเตอร์พอลลาร์ดได้กล่าวว่า ค่อนข้างเป็นกังวลกับกลุ่มที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน อาจจะด้วยความไม่เข้าใจ ไม่เชื่อมั่น หรือ ไปเชื่อข้อมูลแปลกๆ ที่ทำให้คิดว่าการฉีดวัคซีนเป็นอันตราย และยังไม่ป้องกันตัวเอง ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ทำให้เชื้อไวรัสยังคงแพร่กระจายอยู่ ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของทีมวิจัยที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้คนกลุ่มนี้

หลังจากผ่านการทดลองมาหลายขั้นตอน ในที่สุดทีม Oxford/AstraZeneca ก็สามารถบรรลุการทดลองเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ที่ได้ประสิทธิภาพในระดับที่น่าพอใจที่จะเริ่มฉีดให้กับคนทั่วไปได้แล้ว แต่งานของทีมวิจัยยังไม่จบเพียงแค่นี้

การได้รับการรับรองจากรัฐบาล และองค์กรสากล เป็นสิ่งที่การันตีความน่าเชื่อถือของวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมาวัคซีน Oxford/AstraZeneca ก็เคยได้รับผลตอบในแง่ที่ไม่ดีบ้าง แม้แต่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แอมานูเอล มาครง เคยตั้งข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพของตัววัคซีนจากอังกฤษนี้ แต่ในที่สุดวันนี้ วัคซีน Oxford/ AstraZeneca ก็ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกเรียบร้อยแล้ว

ด็อกเตอร์พอลลาร์ดกล่าวว่า ทีมงานของเขามีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ในราคาไม่สูง บริหารจัดการได้ง่าย ทั้งการจัดเก็บ และการขนส่ง ที่จะทำให้วัคซีนของเราสามารถเข้าถึงได้กับประชาชนทั่วทุกมุมโลก และก็ได้วัคซีนที่ตอบโจทย์ตรงตามที่ตั้งใจไว้ทุกประการ

ปัจจุบันอังกฤษได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วถึง 14 ล้านคน ทั้งจากวัคซีนของอ็อกซฟอร์ด และ Pfizer นับเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในโครงการฉีดวัคซีนเป็นอันดับต้นๆของโลก

แต่นั่นยังไม่ทำให้ทีมวิจัยจากอ็อกซฟอร์ดพอใจ เพราะโอกาสที่จะเกิดโรคระบาดครั้งใหม่จากเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในอากาศมีความเป็นไปได้ในอนาคต และยังมีเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่เรายังไม่ค้นพบอีกมากมาย

ด็อกเตอร์กิลเบิร์ท จึงได้ผลักดันให้เกิดศูนย์วิจัยนวัตกรรมวัคซีนแห่งชาติขึ้นในอ็อกซฟอร์ดไชร์น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอังกฤษถึง 158 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6,320 ล้านบาท) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้กับประเทศอังกฤษในการป้องกันภัยจากโรคระบาดชนิดใหม่ คาดว่าศูนย์วิจัยแห่งใหม่นี้จะสร้างเสร็จภายในสิ้นปี 2021 นี้


อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/world/2021/feb/14/life-savers-story-oxford-astrazeneca-coronavirus-vaccine-scientists

ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางมาถึงอาคารรัฐสภาเพื่อร่วมการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นวันที่สาม

โดยท่านนายกฯ มีสีหน้าที่เรียบเฉย และเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงบรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาทั้งสองวัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า

ถ้าถามว่าการที่หาว่าตนตอบตรงหรือไม่ตรง ขอบอกว่าเป็นการตอบด้วยหลักการกว้างๆ หลักการใหญ่ๆ และถ้ามีรายละเอียดอะไรออกมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาจะชี้แจงเองอีกที นายกฯ มีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว แต่บางครั้งตอบไปไม่เกิดประโยชน์ในบางครั้ง

เมื่อถามนักข่าวถามย้ำว่ามีอะไรที่เป็นข้อมูลใหม่บ้าง นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีอะไรใหม่เลย ไม่มีจริงๆ จากที่เคยทราบมาก่อนเลย ถามแล้วถามอีก พูดแล้วพูดอีกก็ยังพูดซ้ำซากอยู่ เมื่อถูกถามว่า สิ่งที่อยากจะขอในการอภิปรายครั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า

ก็อยากขอว่าควรจะพูดจาให้สุภาพเรียบร้อย เป็นคนไทยด้วยกันก็ควรจะมีมารยาทกันบ้าง โดยเฉพาะสภาที่เรียกกันว่าสภาผู้ทรงเกียรติแห่งนี้ ตนให้เกียรติทุกคน ดังนั้นขอให้เกียรติกับสถานที่เขาบ้าง ทำงานก็ดี สะดวกสบายกว่าคนอื่นเขาเยอะ เพราะฉะนั้นก็ควรเป็นสุภาพชน เมื่อเดินเข้ามาในสถานที่แห่งนี้

ผู้สื่อข่าวได้ถามต่อว่า ได้เห็นหลวงพ่อป้อม หรือห้อยหลวงพ่อป้อมเหมือน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ห้อยหรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบคำถามดังกล่าว ก่อนเข้าลิฟต์เพื่อร่วมประชุมสภาทันที


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/93423

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้ วัดบ้านไร่ได้ลิขสิทธิ์คุ้มครอง 'ผ้ายันต์หลวงพ่อคูณ' 50 ปี หากมีหลักฐานยืนยันการสร้าง ระบุ ก่อนนำภาพผ้ายันต์ไปใช้ ต้องขออนุญาตก่อน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า หลังจากมีกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอแบรนด์สินค้าแฟชั่นชื่อดัง เปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ โดยใช้ยันต์หลวงพ่อคูณ พระเกจิชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา ไปสกรีนบนเสื้อ เบื้องต้นได้ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องของลิขสิทธิ์ ก็ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับผ้ายันต์รูปหลวงพ่อคูณ แต่หากวัดบ้านไร่เป็นผู้จัดทำผ้ายันต์รูปหลวงพ่อคูณนี้ขึ้นมา โดยมีหลักฐานยืนยันการสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์นี้ ก็สามารถแจ้งข้อมูลได้ เพื่อได้รับความคุ้มครองเป็นเวลา 50 ปีนับตั้งแต่วันที่สร้างสรรค์ขึ้น ดังนั้น หากมีผู้นำยันต์ดังกล่าวไปใช้ ก็ต้องขออนุญาตจากวัดบ้านไร่ด้วย

ทั้งนี้จากการตรวจสอบในฐานข้อมูลลิขสิทธิ์ พบว่ามีผู้มายื่นแจ้งข้อมูลงานลิขสิทธิ์เกี่ยวกับหลวงพ่อคูณไว้ 21 รายการ ประกอบด้วย ผลงานเพลง 15 รายการ งานวรรณกรรม 1 รายการ คือ หนังสือเจาะลึกข้อมูลเหรียญรุ่นพิเศษ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ ปี 2517 งานโสตทัศนวัสดุ 1 รายการ คือ สารคดีเรื่องแรงศรัทธาแด่หลวงพ่อคูณ และงานศิลปกรรม 4 รายการ ได้แก่ รูปปั้น รูปหล่อ และเหรียญ

นายวุฒิไกร ยอมรับว่า ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในกรณีของรูปหลวงพ่อคูณในผ้ายันต์ ถือเป็นงานศิลปกรรม และจัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทหนึ่ง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีเมื่อสร้างสรรค์ผลงานขึ้น

ซึ่งกฎหมายจะให้สิทธิเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว เช่น ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณะ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นนำงานไปใช้ประโยชน์ หากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

กลายเป็นอีกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไทยที่น่าสนใจ หลังจาก ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ (ดร.นิว) นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เล่าถึงความเป็นมาของเพลงชาติไทยในอีกมุมที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้

#เพลงชาติไทยที่ถูกปล้น

ทำไมเพลงชาติอังกฤษสรรเสริญสมเด็จพระราชินีทั้งเพลง แต่เพลงชาติไทยกลับไม่กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เลยแม้แต่คำเดียว?

หลักฐานจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ยืนยันชัดเจนว่า ‘คณะราษฎร’ จงใจลบสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากเพลงชาติไทย เพราะเมื่อก่อนเพลงชาติไทย คือ ‘เพลงสรรเสริญพระบารมี’ ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกับเพลงชาติอังกฤษที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของระบอบการปกครองแบบ Constitutional Monarchy

แต่คณะราษฎรกลับปล้นเพลงชาติไทย แล้วสร้างจุดเริ่มต้นของเพลงชาติที่ไม่กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เลยแม้แต่คำเดียว อีกทั้งยังมีความเจาะจงมุ่งหวังให้เพลงชาติไทยมีเนื้อหารุนแรงเหมือนกับเพลงชาติฝรั่งเศส ซึ่งไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของระบอบการปกครองแบบ Constitutional Monarchy

เพลงชาติไทย จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คณะราษฎร ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็น Constitutional Monarchy อย่างถูกต้อง แต่กลับสร้างระบอบเผด็จการของคนส่วนน้อยที่เป็นลัทธิรัฐธรรมนูญขึ้นมาหลอกลวงประชาชน เป็นเหตุผลว่าทำไมประชาธิปไตยที่แท้จริงยังไม่เคยเกิดขึ้น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนแค่ในกระดาษ และประเทศไทยไม่เคยมี Constitutional Monarchy ที่ถูกต้อง

ความจริงเหล่านี้คือสิ่งที่ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ หรือ ‘ฟายบูด’ รวมถึงเครือข่ายทั้งหมดที่ถือแนวทางผิดของคณะราษฎรไม่เคยพูดถึง เพราะคนเหล่านี้มุ่งเน้นแต่ความบิดเบือน สานต่อความบ้าคลั่งการปฏิวัติฝรั่งเศสตามรอยคณะราษฎร สร้างความแตกแยก บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติและประชาชน บิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์

แค่เพลงชาติที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด สถาบันมหากษัตริย์ไทยยังถูกคณะราษฎรกำจัดออกไป จนถึงทุกวันนี้เพลงชาติไทยก็ยังไม่มีการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แม้แต่คำเดียว แล้วแบบนี้ฟายบูดยังมีหน้ามาใส่ร้ายว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกหรือ?

คณะราษฎรตลอดจนผู้ถือแนวทางผิดของคณะราษฎรเองมิใช่หรือ ที่บิดเบือนและบ่อนทำลายความถูกต้องของระบอบ Constitutional Monarchy มาโดยตลอด?


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3907320779330531&id=100001579425464

‘อนุทิน’ ย้ำ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนทีมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากจุฬาฯ อย่างเต็มที่ เผย ข่าวดีผลการทดลองในสัตว์ผ่านฉลุย เตรียมทดลองในอาสาสมัครเดือนพฤษภาคมนี้ ได้ที เกทับ “ไม่แทงม้าตัวเดียว แต่เป็นเจ้าของคอกม้า”

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน Chula Cov19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและความพร้อมในการทดสอบในอาสาสมัคร

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนและกระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ ในทุกวิถีทาง เพื่อให้ประสบความสำเร็จโดยเร็วที่สุด ให้คนไทยปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อส่งเสริมฐานที่แข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขของประเทศเรา ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการที่สามารถผลิตวัคซีนได้ในประเทศ ถึงแม้ จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ แต่ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเห็นโครงการฯ ประสบความสำเร็จ พร้อมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในทุกด้านที่ได้รับการร้องขอ เปรียบเสมือนทีมเดียวกัน

ที่สำคัญ นี่คือเครื่องพิสูจน์ ว่า ไทยไม่ได้แทงม้าแค่ตัวเดียว แต่เราพยายามทำทุกทางอย่างเหมาะสม เพื่อให้ไทย ได้วัคซีนโควิด-19 ได้เร็วที่สุด และต้องปลอดภัยที่สุด กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีนมาก มิได้เพิกเฉย เหมือนที่ฝ่ายการเมืองนำมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะตั้งแต่ได้ยินคำว่าโควิด-19 ครั้งแรก ก็นึกถึงในหัวคือ วัคซีน จะต้องหามาให้ได้ และเชื่อมั่นในศักยภาพของระบบการแพทย์ไทยว่าวันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนในประเทศ ไทยต้องยืนบนขาตัวเอง ไม่แทงม้าตัวเดียว แต่เราจะเป็นเจ้าของคอกม้า

ที่ผ่านมาประเทศไทย พยายามปรับใช้ประสบการณ์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาด ณ ปัจจุบัน ปัจจุบัน ไทยมีความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ป้องกันได้เอง อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันส่วนบุคคล(PPE) รวมถึงยารักษาด้วย ปัจจุบัน ไทยมีวัคซีนโควิด-19 ในมือแล้ว 63 ล้านโดส และในอนาคต หวังว่าจะมีวัคซีนที่ผลิตในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุด ผ่านการทดลองในหนูและลิง สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระดับสูง และกำลังจะเข้าสู่การทดลองในคนระยะที่ 1

เบื้องต้น วัคซีนของจุฬาฯ สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2 - 8 องศาเซลเซียส และอย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ คาดว่าจะผลิตเสร็จเพื่อนำมาทดลองในอาสาสมัครได้ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้

ขณะเดียวกันก็กำลังเตรียมการพัฒนารุ่น 2 เพื่อทดสอบในหนูทดลองเพื่อรองรับเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคตเพราะเนื่องจากมีเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในหลายประเทศและบางสายพันธุ์ ซึ่งวัคซีน mRNA มีจุดเด่นคือสามารถออกแบบวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อตอบโต้เชื้อดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

โดนแล้ว!! ผู้ใช้งาน Facebook ในออสเตรเลียไม่สามารถเข้าถึง และแชร์เนื้อหาข่าวของสำนักข่าวทุกแห่งบนโลก ไม่เว้นแม้แต่สื่อในประเทศตัวเอง เช่นเดียวกันกับผู้ใช้งานในต่างประเทศ ที่จะไม่สามารถเข้าถึง และแบ่งปันเนื้อหาของสำนักข่าวจากออสเตรเลีย

นี่ถือเป็นการตอบโต้รัฐบาลแคนเบอร์รา (เมืองหลวงของเครือรัฐออสเตรเลีย) ที่ผลักดันกฎหมาย 'เก็บค่าข่าว' จาก Facebook

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เพจบน Facebook ของหน่วยงานรัฐหลายแหงในออสเตรเลีย รวมถึงสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ และสำนักงานสาธารณสุขของหลายรัฐ ไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน

ขณะที่สำนักข่าวทุกแห่งในออสเตรเลียพร้อมใจกันวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหนัก ต่อมากระทรวงการสื่อสารในกรุงแคนเบอร์รา ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าว่า Facebook จะตัดสินใจแบบนี้ และเรียกร้องอีกฝ่ายกลับมาเชื่อมต่อระบบโดยเร็วที่สุด

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ Facebook เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลีย ‘อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย’ ของการพิจารณาและลงมติรับรองกฎหมายว่าด้วยการที่บริษัทเทคโนโลยีต้องบรรลุข้อตกลงเรื่องผลตอบแทนกับสำนักข่าว หรือบริษัทผู้ผลิตเนื้อหาในประเทศ ก่อนนำข้อมูลไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยกฎหมายมีแนวโน้มได้รับความเห็นชอบสูงมาก เมื่อพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ส่งสัญญาณสนับสนุน

นอกจาก Facebookแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ‘อัลฟาเบ็ต’ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ก็ได้ขู่ว่าจะระงับการให้บริการในออสเตรเลียเช่นกัน แต่ต่อมามีรายงานว่า ผู้บริหารของกูเกิลบรรลุข้อตกลงกับ นิวส์ คอร์ปอเรชั่น อาณาจักรสื่อสารมวลชนของตระกูลเมอร์ด็อก ซึ่งเป็นเจ้าของสื่อใหญ่หลายแห่ง รวมถึง ฟ็อกซ์ นิวส์ และ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เกี่ยวกับการซื้อขายข่าวแล้ว

อย่างไรก็ตามรัฐบาลสหรัฐยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการต่อการดำเนินการของ Facebook กับรัฐบาลออสเตรเลียในครั้งนี้ มีเพียงก่อนหน้าที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยประสานมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของออสเตรเลีย เพื่อขอมีการให้ระงับการพิจารณากฎหมายนี้เท่านั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/foreign/826081

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า หลังจากพบประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟนไปลงทะเบียนรับสิทธิโครงการเราชนะที่ธนาคารกรุงไทยจำนวนมาก ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ขยายจุดให้บริการเพิ่มตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.นี้

โดยสามารถใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนที่ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ว่าการอำเภอ หรือผู้ใหญ่บ้าน โดยใช้มือถือเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนเพื่อจดเลขบัตรประชาชน เพื่อส่งให้ธนาคารกรุงไทยต่อไป

"กระทรวงการคลังต้องขออภัยที่ประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจนในเรื่องระยะเวลาการลงทะเบียน ทำให้ทุกคนมาในวันแรกวันเดียว แต่คลังได้ขยายเวลาในการลงทะเบียนแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. - 25 มี.ค.นี้ และประสานผู้ว่าราชการทุกจังหวัด กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตร ช่วยกันให้บริการและอำนวยความสะดวก แต่ผู้ให้บริการหลัก ยังเป็นพนักงานธนาคารกรุงไทยอยู่"

'อานนท์ นำภา’ ติดอันดับ TIME 100 NEXT เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนอนาคต

เว็บไซต์ ไทม์ (TIME) ได้เผยแพร่ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคต ในปี 2021 TIME 100 NEXT โดยมีรายชื่อของ นาย อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ที่กำลังถูกคุมขังในความผิด ม.112 และไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

โดย ไทม์ ได้ระบุว่า นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้ขึ้นอภิปรายในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ สร้างความสั่นสะเทือนให้กับประเทศไทย ซึ่งไทยนับเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐ ในเอเชีย แต่ประชาธิปไตยของไทย ได้ถูกกัดกร่อน หลังจากการขึ้นมามีอำนาจของจีน

อานนท์ ได้ปลุกพลังคนไทยรุ่นใหม่ ด้วยการถอดรากของอำนาจทางการเมืองในไทย และแก้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหาร ทำให้เขาถูกจับกุมถึง 3 ครั้งในช่วงไม่กี่เดือน และการปลุกระดมฝูงชนให้ต่อต้านรัฐบาล แม้ว่าโควิด 19 จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ แต่คนรุ่นใหม่ ก็ยังคงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งนับได้ว่าใหญ่ที่สุดนับแต่การรัฐประหารปี 57 ที่ ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า สร้างความกดดันให้กับรัฐบาลทหาร

“ประชาชนป่วย และเหนื่อยในการใช้ชีวิต ภายใต้ระบบการปกครองแบบอดกลั้น” อานนท์ เปิดเผยกับไทม์ เมื่อปีที่แล้ว

ทั้งนี้ นอกจากนายอานนท์ นำภา แล้ว ไทม์ยังได้เลือกบุคคลผู้มีชื่อเสียง เข้ามาอยู่ในลิสต์ 100 รายชื่อครั้งนี้ อาทิ ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งฟินแลนด์ ซึ่งอายุน้อยที่สุดในโลก, ดูอา ลิปป้า นักร้องชื่อดัง, จอห์น เดวิด วอชิงตัน นักแสดงชาวอเมริกัน อดีตนักฟุตบอลอเมริกัน, เรกเก้ ฌอง เพจ นักแสดงจาก บริดเจอร์ตัน, อะแมนดา กอร์แมน กวีหญิงวัย 22 ปี ผู้ได้รับรางวัลกวีเยาวชนแห่งชาติคนแรกของสหรัฐ, อันยา เทย์เลอร์ จอย นักแสดงชื่อดัง จาก ควีน แกมบิต, โคโยฮารุ โกโตเกะ ผู้เขียนการ์ตูนชื่อดังแห่งปี ดาบพิฆาตอสูร และ มาร์คัส แรชฟอร์ด จาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด


ที่มา: https://www.matichon.co.th/politics/news_2583813


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top