Tuesday, 1 July 2025
NEWSFEED

โอบอุ้ม 'วาเลนไทน์' สไตล์ 'Y2K' หรือแท้จริง ‘คนรุ่นใหม่’ เริ่มเห็นคุณค่าแห่งอดีต

วันนี้คำว่า 'Y2K' ดูจะกำลังแพร่สู่ทุกหย่อมหญ้า ถูกพูดถึงทุกตรอกซอกซอย ตั้งแต่ในศูนย์กลางการค้าของเมืองหลวง จนถึงซอกตลาดอันลึกลับที่สุดของหัวเมืองต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มคน 'Gen Z' (เกิดระหว่างปี 1997 - 2010) ที่เหมือนกำลังหลงใหลได้ปลื้มกับคำบอกเหตุการณ์แห่งยุคคำนี้เป็นพิเศษ

อันที่จริงคำว่า 'Y2K' คือ 'วิกฤตการณ์ทางเทคโนโลยี' ซึ่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ในปี ค.ศ. 1999 คาดการณ์ไว้ล่วงหน้านับสิบปี ว่าอาจเกิดปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ 'เลข 2 หลัก' ขึ้น ด้วยวิศวกรสมัยก่อนเขียนโปรแกรมระบบคอมพ์ฯ แสดงปฏิทินรายปีด้วยเลขเพียงสองหลัก เพราะฉะนั้นรอยต่อระหว่าง ค.ศ. 1999 ซึ่งเครื่องทั่วโลกอ่านค่าเป็น 99 พอรุ่งขึ้นสู่ปีใหม่ ค.ศ. 2000 คอมพ์ฯ ทุกเครื่องก็จะเซ็ตระบบเป็น 00

นั่นหมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาทั้งศตวรรษจะหายไปในเวลาแค่เข็มนาฬิกาข้ามวันใหม่ แต่สุดท้ายมนุษย์เรายังโชคดี เพราะไม่มีสิ่งใดที่ว่า เกิดขึ้นจริงกับโลก 

อย่างไรซะ ความสนใจของวันนี้คงไม่ได้วนอยู่กับเหตุการณ์ Y2K (จริง) แต่อย่างใด เพราะวายทูเคของคนรุ่นใหม่เขากำลังหมายถึง Pop Culture

พวกเขากำลังมอง 'Y2K' เป็นแฟชัน เป็นความหอมหวานอันเชื่องช้าต่างจากยุคเทคโนโลยีทันสมัยเช่นวันนี้ แต่ก็ไม่ถึงกับต้องบอกรักด้วยจดหมาย หรือคอลหาหวานใจผ่านตู้โทรศัพท์ (สาธารณะ) เพราะเรื่องนั้นมัน ‘เอ๊าท์’ แล้ว (ปี 2000) รวมถึงการฝากข้อความผ่านเพจเจอร์ หรือแม้แต่นัดเจอกัน ณ ร้านไอศครีมโฟร์โมสต์

‘Red Hot Chili Peppers’ นุ่งกางเกง ‘มวยไทย’ โปรโมตทัวร์

วงดนตรี ‘Red Hot Chili Peppers’ (เรด ฮ็อต ชิลลี่ เปปเปอร์ส) อเมริกันร็อกแบนด์ที่กำเนิดในลอสแองเจลิส ตั้งแต่ยุคสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี (พ.ศ. 2525) มีสมาชิกดั้งเดิมอันประกอบด้วยนักร้องนำ ‘แอนโธนี่ย์ คีดิส’ (Anthony Kiedis) มือเบส ‘ฟลี’ (Flea) มือกลอง ‘แชด สมิธ’ (Chad Smith) และมือกีตาร์ ‘จอห์น ฟูเซียนเต้’ (John Frusciante) โดนแนวดนตรีของ ‘RHCP’ ผสมผสานทั้งอัลเทอร์เนทีฟร็อก ฟังก์ พังก์ร็อก ฮาร์ดร็อก ฮิปฮอป และไซคีเดลิกร็อก ซึ่งแนวเพลงแบบนี้เองได้ส่งอิทธิพลต่อแนวเพลงต่าง ๆ ต่อยอดต่อมาอีกมากมายหลายแขนง อาทิ ฟังก์เมทัล แร็พเมทัล แร็พร็อก และนูเมทัล

ล่าสุดวงร็อกอายุงานสี่สิบปีปล่อยภาพโปรโมตทัวร์ทวีปอเมริกาเหนือ และยุโรป ‘Return of the Dream Canteen’ ในคอนเซปต์สุดเฟี้ยวไม่เคยตกแนวเหมือนเดิม แต่จุดโฟกัสที่ติดอกติดใจแฟนเพลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไทยเรา ก็ตัวนักร้องนำวัยเก๋า ‘แอนโธนี่ย์ คีดิส’ มาด้วยลุคนักมวยไทย เปลือยท่อนบนโชว์กล้ามเนื้อไร้ไขมันบนวัยแซยิด กางเกงมวยโทนแดงสด ปักคำ ‘มวยไทย’ สีทองอร่ามชัดเจน แบบเห็นได้จากดาวอังคาร

“อิทธิพลของภาพนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น Soft Power อย่างหนึ่ง แต่คือ Soft Power ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากน้ำมือคนไทยเรา เป็นพลังซอฟต์ ซึ่งส่งมาจากวงร็อกระดับโลก ที่อาจมีความหลงใหลคลั่งไคล้กีฬาไทยชนิดนี้เป็นทุนเดิม โดยเฉพาะคีดิส ซึ่งแกเองก็ถอดเสื้อเล่นคอนเสิร์ตเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว ภาพลักษณ์ในการถอดเสื้อของเขาจึงเหมาะสมกับชุดกีฬา หรือกางเกงมวยไทยเป็นที่สุด” ผู้สันทัดกรณีเรื่องเพลงและมวยไทยท่านหนึ่งให้ความเห็น

หวนคิดถึง ‘วิทนีย์ ฮูสตัน’ ราชินีเพลง R&B 'คีรีบูนดำ' ผู้มีเสียงไพเราะสะกดสวรรค์

เธอคือศิลปินเพียงคนเดียวบน ‘พิภพเพลง’ ที่มีซิงเกิลครองอันดับหนึ่งติดต่อกันถึง ‘เจ็ดครั้ง’ บน ‘Billboard Hot 100’ จาก ‘Saving All My Love for You’ ในปี ค.ศ. 1985 จนถึง ‘Where Do Broken Hearts Go’ ปี 1988 ราชินีแห่งวงการอาร์แอนด์บีตัวจริงเสียงจริง เธอคือ ‘วิทนีย์ ฮูสตัน’ (Whitney Houston)

ในยุคแรกนักร้องสาวผิวสีหนึ่งเดียวคนนี้ได้รับฉายาจากสื่อตะวันตกว่า ‘คีรีบูนดำ’ (Black Canary) เปรียบเปรยสำเนียงของเธอกับเสียงร้องของนกคีรีบูนอันไพเราะเพราะพริ้งดุจราวปักษากำลังขับกล่อมปวงเทพเทวาบนสวรรค์วิมาน

ฮูสตันเริ่มร้องเพลงในโบสถ์ตั้งแต่ยังเด็ก และยังต่อยอดเป็นนักร้องประสานเสียงของโรงเรียนถึงมัธยมปลาย ต่อมาเธอเมื่อได้ถ่ายปกนิตยสาร 'Seventeen' (1981) จนมาเจอกับกัลยาณมิตรนาม ‘ไคลฟ์ เดวิส’ (Clive Davis) ประธาน Arista Records การจรดปากกาเซ็นสัญญาระหว่างเธอกับค่ายจึงเกิดขึ้นขณะอายุเพียง 19 ปี

นับแต่นั้นชีวิตของวิทนีย์ก็วุ่นวายอยู่กับคำเพียงไม่กี่คำ เช่น ‘อันดับหนึ่ง’, ‘ประสบความสำเร็จ’, ‘รับรางวัล’, ‘สร้างปรากฏการณ์’ หรือ ‘รายได้สูงสุด’ แทบตลอดเวลายามสื่อมวลชนและสังคมเอ่ยถึงเธอ

แต่เหรียญแห่งชีวิตย่อมมีสองด้านเสมอ

'รอยยิ้ม' สว่างไสวของ ‘ควีน ออฟ โซล’ ท่ามกลางผู้คนห้อมล้อมหน้าเวทีคอนเสิร์ต หรือการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ เปรียบเสมือนผ้าม่านกำมะหยี่เนื้อหนาสีดำทะมึนที่คอยปกปิด ‘น้ำตา’ อีกด้านไว้อย่างมิดชิดและเงียบงัน กระทั่งเติบโตเป็นปมเขื่องกลางใจ นั่นคือสาเหตุหลักหรือจุดเริ่มของความพังพินาศต่อมา

อย่างที่รู้กัน ‘วิทนีย์ ฮูสตัน’ เติบโตมากับครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งเคร่งศาสนา และเธอเองก็มีความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างแรงกล้า แต่รสนิยมเรื่องคบหาผู้ชายของเธอกลับดูจะตรงกันข้าม เพราะหนุ่ม ๆ เข้ามาพัวพันส่วนใหญ่ถูกตีตรายี่ห้อ 'Bad Boy' แทบทุกคน

ประดาเงินทองที่หามาได้จึงโดนสื่อประเภทก็อสซิปขุดคุ้ยว่านำไปปรนเปรอผู้ชายเหล่านั้นในลักษณะการกินอยู่อู้ฟู่หรูหรา เพชร นิล จินดา รถยนต์สปอร์ตราคาแพง และท้ายสุดก็จบลงตรงความมึนเมา ยาเสพติด และความรุนแรง

ยุคปาปารัสซี่ครองเมืองเหล่าแฟนเพลงจะเห็นภาพวิทนีย์สวมแว่นดำและผ้าคลุมผมปิดบังรอยช้ำเขียวบนใบหน้าตามปกนิตยสาร นสพ. บ่อยครั้งจนชินตา

ข่าว ‘Whitney Houston’ ถือว่ามีมูลค่าทางการตลาดสูง มีองค์ประกอบด้านดีด้านร้ายพอกัน เป็นเรื่องราวซึ่งมีความขัดแย้งกันในตัว เหมือนฉากละครเวทีที่หญิงสาวร่างบอบบางคนหนึ่งกำลังถูกยื้อยุดฉุดแขนกันไปมาระหว่าง 'พระเจ้า' กับ 'ซาตาน' นี่แหละอาหารอันโอชะของแร้งกาที่เรียกตัวเองว่า ‘สื่อ’

เจ้าฟ้าสุดอินดี้ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา พระราชอนุชาในรัชกาลที่ ๑ เจ้าของวังที่ปัจจุบันเหลือแต่ 'ประตู-เศษรั้ว-ศาลบูชา'

ตอนผมยังเด็ก ๆ ผมชอบเดินเลียบถนนฝั่งตรงข้ามชุมชนบางลำพู (ฝั่งตรงข้ามวัดสังเวช) เดินเลาะมาเรื่อยๆ จนไปพบ ศาลบูชาขนาดย่อม ๆ อยู่ภายในซุ้มประตูวังก่ออิฐถือปูน ย่อมุม ซึ่งดูเคร่งขรึม ซึ่งผมสงสัยมาตลอดว่าคือศาลอะไร ? และเป็นกำแพงวังของใคร? จนโตขึ้น จึงทราบว่านั่นคือประตูวังของ 'สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา' พระนามเดิมว่า 'เจ้าฟ้าลา' พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา 'มา' ในปี พ.ศ. 2303 ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 7 เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กใน “สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก” 

ซึ่งพระประวัติของท่านนั้นมีบันทึกอยู่ไม่มากนัก ที่พอจะปรากฏและเล่าถึงประวัติตอนทรงพระเยาว์ของพระองค์ได้นั้นอยู่ใน 'หนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ' ความว่าเมื่อครั้งทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ทรงติดเล่น ทรงชอบเล่นทอยกอง ขว้างหลุม และเล่นว่าว ถ้าได้เล่นอะไร แล้วก็เพลิดเพลินจนลืมเวลาเสวยทุกครั้งไป เจ้าจอมมารดา 'มา' พระมารดา หรือใครก็ตามที่จะเชิญเสด็จฯ ในเวลาเล่นอยู่ ต้องพูดล่อว่า จะให้เป็น 'เจ้า' ถึงจะรีบเสด็จฯ ไปตามคำบอกนั้นๆ ว่ากันว่าพระองค์มีพระทัยอยากเป็น 'เจ้า' เป็นอย่างยิ่ง

ความอยากเป็น 'เจ้า' ของ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา นั้นถูกทดสอบจากพระมารดาว่าอยากเป็นขนาดไหน โดยเป็นเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่ง พระมารดาได้หยิบเบี้ยใส่โถลงไว้ 10 เบี้ย เสร็จแล้วก็ร้องเรียกเด็กที่เล่นกันอยู่กับรวม 'กรมหลวงจักรเจษฎา' เข้ามาหา แล้วใช้ให้เด็กที่เล่นอยู่นั้นไปซื้อน้ำปลาโดยสำทับว่า “ใครรีบมาก่อนจะให้เป็นเจ้า” ไม่ต้องเดาเลยครับท่านผู้อ่าน กรมหลวงจักรเจษฎา คว้าเอาโถน้ำปลา (น้ำมีตัวปลาจริง ๆ อยู่ในโถคล้ายปลาร้าแต่ไม่เป็นถึงแบบนั้น) วิ่งตื๋อออกไปหน้าบ้านซึ่งขายน้ำปลาอยู่ เจ้าของร้านก็สงสัยว่าทำไม ? บุตรชายคนเล็กของ 'พระอักษรสุนทรศาสตร์' ('สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก' เมื่อครั้งรับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา) จึงออกมาซื้อน้ำปลาด้วยตัวเอง เป็นถึงลูกคุณพระ บ่าวไพร่ก็มี ทำไมถึงไม่ใช้ออกมาซื้อ เป็นผม ผมก็สงสัย แต่ก็คงเป็นเรื่องดีนะครับ เพราะเจ้าของร้านน้ำปลานั้น ได้ตักน้ำปลาใส่โถมากกว่าทุก ๆ ครั้ง พอเรียบร้อยแล้ว กรมหลวงจักรเจษฎาก็รีบถือโถน้ำปลามาส่งให้พระมารดา อยากเป็น 'เจ้า' อะไรก็ทำได้ 

เคสต่อเนื่องครับท่านผู้อ่าน ดูพระมารดาจะวัดใจสุด ๆ พอเห็นลูกชายกลับเข้ามาพร้อมโถน้ำปลา พระมารดาจึงแกล้งพูดว่า ถ้าอยากเป็น 'เจ้า' ก็ซดน้ำปลาที่ถือมาให้หมด กรมหลวงจักรเจษฎาเมื่อครั้งยังเป็น 'คุณลา' ก็ซดจนหมดโถ คุณพระ !!! อยากเป็น 'เจ้า' ขั้นสุด 

จนเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระองค์ได้ติดตามพระชนกไปกับพระมารดาขึ้นไปอยู่เมืองพิษณุโลก ครั้นพระชนกสวรรคต ได้ปลงพระศพแล้ว เชิญพระอัฐิมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก่อนจะได้รับสถาปนาเป็น 'สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา' และรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในพระนคร

เมื่อท่านได้เป็น 'เจ้า' สมใจแล้ว ว่ากันว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา นั้นมีความดุเฉพาะพระองค์ที่อาจจะเรียกว่า 'แรง' ทีเดียว คือ ถ้าผู้ใดเดินลอยชายผ่านหน้าวัง หรือขึ้นไปเล่นบนกำแพงพระนครด้านคลองรอบกรุง หรือผู้ใดไปเป่าขลุ่ย หรือส่งเสียงดัง หน้าวังของพระองค์ ก็จะรับสั่งให้ข้าหลวงในกรมไปจับตัวมาเฆี่ยน 30 ที (โหดแท้) แต่จะจริงหรือไม่จริงอันนี้ผมไม่ยืนยันนะครับ เขาแค่บันทึกไว้แบบนี้ แต่เห็นกำแพงวังแล้วผมว่าไม่น่าจะได้ยินหรือได้เห็นใครมาเดินลอยชายง่าย ๆ หรอกครับ แต่ก็มีความย้อนแย้งอีกอย่างที่บันทึกไว้ซึ่งตรงข้ามกับ “ความดุ” เลยคือ ถ้าเกิดมีใครมาเล่นว่าวที่หน้าวัง ถ้าพระองค์ทอดพระเนตรเห็น ก็จะเสด็จ ฯ ออกมาชักเล่นด้วยไม่กริ้วกราดแต่อย่างใด เอ้า!!! ชอบเล่นไปซะอย่างนั้น

ไหน ๆ ก็ออกนอกวังมาแล้ว เขาบันทึกไว้อีกว่าทุกครั้งที่พระองค์เสด็จ ฯ ออกมานอกวัง เมื่อทรงพระเสลี่ยงผ่านตลาด เห็นสิ่งใดน่าเสวยก็จะรับสั่งขอชาวตลาด ชาวตลาดก็นำไปถวายถึงบนเสลี่ยง แหม่!!! ก็ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายของเจ้านาย ได้หน้าได้ตากันไป ของไม่ต้องมาก ไม่ต้องแพง เพราะพระองค์เป็น 'เจ้า' ที่ค่อนข้างติดดิน ทรงชอบกล้วยน้ำว้ามากกว่าสิ่งอื่น ๆ สามารถเสวยได้จนหมดหวี พอได้ของเสวย เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ก็เสวยบนเสลี่ยงมาตามทางนั่นแหละ เป็นไงล่ะครับ อินดี้ไหมล่ะ 

ยกกรณีติดดินอีกอย่างของพระองค์ก็คือ ถ้าปวดลงพระบังคนหนักก็จะรับสั่งร้องบอกคนหามพระเสลี่ยงให้รอไว้ แล้วท่านก็กระโดดลงมานั่งผินพระขนอง (หลัง) เข้ากำแพงเมืองหรือกำแพงพระราชวัง ผินพระพักตร์ออกมาทางถนน มหาดเล็กก็จะเชิญพระกลดกั้นถวายจนเสร็จ แล้วเสด็จ ฯ ขึ้นพระเสลี่ยงไปต่อ เอาสิ เป็นไงล่ะ 

ส่วนงานราชการนั้น 'สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา' ได้สนองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยพระองค์มีความสามารถในด้านการทัพ (อันนี้น่าจะยืนยันความดุ และความกล้าได้พอควร) โดยทรงรับราชการเป็นยกกระบัตรทัพในสงครามเก้าทัพเมื่อปี พ.ศ. 2328 และร่วมตีเมืองเชียงใหม่กับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เรียกว่าถ้าไม่เก่งจริงคงไม่สามารถไปร่วมรบกับ 'วังหน้าพระยาเสือ' ได้เป็นแน่ 

สนามกีฬาแห่งชนชาติสยามที่คุ้นกันในชื่อ... 'สนามศุภชลาศัย'

พุทธศักราช 2478 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ต้องการจัดหาสถานที่ตั้งสนามกีฬากลางกรมพลศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง และสโมสรสถานลูกเสือ กระทั่งได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเช่าที่ดินขนาด 77 ไร่ 1 งาน ที่ตำบลหอวัง บริเวณวังวินด์เซอร์เดิม เป็นระยะเวลา 29 ปี

โดยเมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 จึงมีพระราชพิธีก่อพระฤกษ์ (วางศิลาฤกษ์) จากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เริ่มลงมือก่อสร้างจนสำเร็จลุล่วงเป็น 'กรีฑาสถานแห่งชาติ' (The National Stadium of Thailand) สนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทยจวบทุกวันนี้

การใช้งานกรีฑาสถานแห่งชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481

สนามศุภชลาศัย (ชื่อลำลอง - จากผู้ดำริสร้าง 'หลวงศุภชลาศัย') มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ 'อาร์ตเดโค' หรือ 'อลังการศิลป์' ที่เน้นการออกแบบเล่นกับเส้นสายแนวตั้งที่ชัดเจน กันสาดแผ่นบาง ๆ หน้าต่างเข้ามุมอาคาร หรือการออกแบบแนวเสาอิงให้แสดงออกถึงเส้นแนวตั้ง มีซุ้มประตูทางเข้าใหญ่ มีอาคารรูปทรงเรขาคณิตหนักแน่นเป็นมวลทึบ

สนามกีฬาแห่งชาตินี้เคยถูกใช้เพื่อการกีฬาทุกระดับ อาทิ กีฬาเอเชียนเกมส์ 3 ครั้ง (พ.ศ. 2509, 2513 และ 2521) กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2502 กับ ซีเกมส์ ครั้งที่ 13  พ.ศ. 2528 หรือฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพและควีนสคัพ รวมถึงฟุตบอลโลกหญิง รอบคัดเลือกโซนเอเชีย / ฟุตบอลในกีฬามหาวิทยาลัยโลก (2550) และงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ กับฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งจัดประจำทุกปี เช่นเดียวกับพิธีทบทวนคำปฏิญาณตนและสวนสนาม ของลูกเสือและเนตรนารี เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ (1 กรกฎาคม)

รำลึก 9 กุมภา สุขสันต์วันเกิดบนสรวงสวรรค์ 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' นักเขียนหนุ่มแห่งกลุ่มนาคร ในวัยครบ 57 ปีเต็ม

ในหมู่ชาวตะวันตก (ฝรั่ง) ยังคงธรรมเนียมอวยพรวันคลัายวันเกิดแก่ผู้วายชนม์ไปแล้วว่า “Happy Heavenly Birthday” ประมาณ “สุขสันต์วันเกิดบนสรวงสวรรค์” อันคล้ายกับคติบ้านเราเกี่ยวแก่การนับ 'ชาตกาล' โดยครบกี่ปีก็ว่าต่อไป เพื่อยกย่องคุณงามความดีของผู้นั้นเสมือนยังคงชีวิตหลังความตาย

ว่ากระนั้นแล้ว กระผมก็เห็นดีงามในวันที่ '9 กุมภาพันธ์' ที่ต้องขอกล่าว “Happy Heavenly Birthday” แก่นักเขียนหนุ่มตลอดกาล 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' โดยหากเขายังดำเนินชีวิตต่อจนปัจจุบัน ก็จะมีอายุ 57 ปีเต็ม

ถนนงานเขียนของกนกพงศ์เริ่มจากการสนใจ 'อ่าน' ตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะมีบิดารักการอ่านและท่านยังบอกรับหนังสือทุกประเภทเข้าบ้าน จนเมื่อเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษา กนกพงศ์มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกับนักเขียนชาวใต้นาม 'กลุ่มนาคร' จนจุดประกายงานเขียนเขาขึ้น กระทั่งมีผลงานบทกวีชิ้นแรก 'ความจริงที่เป็นไป' ตีพิมพ์ใน 'สยามใหม่' ขณะศึกษาเพียงชั้นมัธยมต้น (พ.ศ. 2523) เท่านั้น

จนเมื่อลาออกจากรั้วมหาวิทยาลัย กนกพงศ์จึงหันหน้าสู่งานประพันธ์อย่างเต็มเวลา โดยเริ่มงานด้านสำนักพิมพ์ช่วงสั้น ๆ แล้วจึงเดินทางบ่ายหน้าสู่เทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ถิ่นนักเขียนเปี่ยมพลังในกลุ่มนาคร (ซึ่งวิวัฒน์ต่อเป็น - สำนักพิมพ์นาคร) เขาท่องเที่ยวเดินทางยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเขตปักษ์ใต้ เพื่อศึกษาและทำงานเขียนหนังสืออย่างเอาจริงเอาจัง จนมีงานตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่องกว่าสามสิบปี

โดยนับต่อจากเรื่องสั้นแรก 'ดุจตะวันอันเจิดจ้า' ใน 'มติชนสุดสัปดาห์' แล้ว ก็มีเรื่องสั้นทยอยรวมชุดออกมาถึง 7 ชุด จาก พ.ศ. 2534 - 2549 อันไอ้แก่ สะพานขาด (ชุดที่ 1) คนใบเลี้ยงเดี่ยว (2) แผ่นดินอื่น (3) โลกหมุนรอบตัวเอง (4) นิทานประเทศ (5) รอบบ้านทั้งสี่ทิศ (6) คนตัวเล็ก (7) และ กวีตาย (เรื่องสั้นเล่มเล็ก) คั่นก่อนปิดท้าย

พี่ลอง 'จำลอง ฝั่งชลจิตร' เจ้าของนามปากกา 'ลอง เรื่องสั้น' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ บนฐานะพี่ใหญ่ของนักเขียนเมืองนครฯ เคยยกย่องนักเขียนรุ่นน้องนาม 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' ในวันที่ปราศจากเขาไว้ว่า "...นักเขียนตัวจริง ที่มีความจริงจัง ทุ่มเทชีวิตในการทำงานเขียน รวมถึงมีความพิถีพิถันต่อการทำงานอย่างสูง พยายามพัฒนาหามุมมอง และวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้งานออกมาอยู่ในระดับที่เยี่ยมยอด"

นอกจากรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2539 ที่เขาได้รับจากผลงานรวมเรื่องสั้น 'แผ่นดินอื่น' รวมถึงรางวัลช่อการะเกดอีกสองครั้งจากเรื่องสั้น 'สะพานขาด' และ 'โลกใบเล็กของซัลมาน' แล้ว กนกพงศ์ยังมีความสามารถทางกวีนิพนธ์อันเยี่ยมยอดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งงานรวมเล่ม ป่าน้ำค้าง (2532) ในหุบเขา (2549) หมื่นปีกนก (2552) กวีนิพนธ์ทั้งสามเล่มคงยืนยันได้ดี

'ชีวี ชีวา' หรือ 'จตุพล บุญพรัด' บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ เพื่อนรักอีกคนผู้เคยร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันจาก 'กลุ่มนกสีเหลือง' ก็เคยกล่าวถึงกนกพงศ์ด้วยความคำนึงและชื่นชม “...กนกพงศ์มีอิทธิพลกับนักเขียนรุ่นน้อง และคนรุ่นหลัง ในการใช้ชีวิตเพื่อเขียนหนังสือ และผลิตงานที่ดี ๆ ออกมา เขาพยายามเป็นแกนหลักและเป็นตัวประสานงานอยู่เสมอในกิจกรรมพวกนี้"

โศกนาฏกรรมตุรเคีย-ซีเรีย

สะเทือนฟ้ามหาวิปโยค
ความเศร้าโศกบรรเลงเพลงงานศพ
รายเรี่ยเสียชีวิตทุกทิศทบ   
จุดจบกลบกลายสู่วายชนม์

อาคารโค่นทรุดทับลงกับพื้น   
หยิบยื่นความตายในห้วงหน
ผู้สูญหายในท่ามความมืดมน   
แขวนบนเส้นแดงแห่งความตาย

‘สหพรรค’ รบ.วิบากกรรมของ ‘หม่อมคึกฤทธิ์’ ดั่งถูก ‘สหบาทา’ จากผลประโยชน์อันมิลงรอย

ณ ปัจจุบันนี้ เราจะเห็น ส.ส. ในพรรคต่าง ๆ ย้ายพรรคกันอย่างสนุกสนาน เพื่ออนาคตหลังการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนต่างก็หวังจะได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฟากฝั่งของรัฐบาล โดยเฉพาะได้อยู่ในพรรคอันดับหนึ่งที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคใหญ่อันดับรอง ๆ ที่มีโอกาสต่อรองสูง 

แต่หากย้อนกลับไปในอดีต มีพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส.เพียง 18คน ที่สามารถเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ ส.ส. ทั้งสภามีที่นั่งรวม 296 คน 

ผมนั่งเขียนเรื่องนี้แล้วก็คิดตามว่า...มันต้องมีพลังในการประสานประโยชน์เบอร์ไหนถึงทำได้ ว่าแล้วก็ลองไปติดตามกันดูครับ 

ในการเลือกตั้งเมื่อ วันที่ 26 มกราคม 2518 เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 10 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการปกครองของระบอบเผด็จการทหาร พร้อมเปลี่ยนจากการเลือกตั้งจากเขตจังหวัด มาเป็นหลายอำเภอรวมกันเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง และมีจำนวน ส.ส. ได้เขตละ 3 คน 

การเลือกตั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ประชาธิปไตยมีความเบ่งบานอย่างมาก จึงทำให้มีพรรคเข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเป็นประวัติการณ์ และผลจากการเลือกตั้งก็ได้พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เข้าสภาฯ ถึง 22 พรรค โดยชัยชนะตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค โดยได้ ส.ส. ไป 72 คน ตามมาด้วยพรรคธรรมสังคม 45 คน, พรรคชาติไทย 28 คน, พรรคเกษตรสังคม 19 คน, พรรคกิจสังคม 18 คน ทั้งนี้มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าพรรคต่ำสิบอีก 13 พรรค และมีพรรคที่ได้เพียง 1 คน อีก 5 พรรค ซึ่งหากจะตั้งรัฐบาลได้จะต้องมี ส.ส. 135 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 269 คน 

ในฐานะพรรคอันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ได้สิทธิ์รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์สร้างไว้เองคือ คำสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงว่าพรรคจะไม่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ ‘อดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย’ ซึ่งเคยเป็นพรรคของ จอมพล ถนอม กิตติขจร โดยเด็ดขาดเพราะเป็นพรรคเชื้อสายทรราช (คุ้น ๆ อีกแล้ว) ด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้ไม่สามารถจับมือกับพรรคธรรมสังคมซึ่งมี ส.ส. 45 คน รวมไปถึงพรรคสังคมชาตินิยมอีก 16 คน นอกจากนี้ ยังไม่สามารถตกลงจับมือกับพรรคชาติไทยซึ่งนำโดย พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร ได้ เพราะพรรคชาติไทยเรียกร้อง 3 กระทรวงใหญ่คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ถ้ามองกันรวม ๆ แล้ว ที่การตกลงกันไม่ได้นั้น น่าจะเกิดจากความไม่ตั้งใจจริงที่จะเจรจากันมากกว่า รวมถึงความไม่สนใจที่จะไปเจรจาจับมือกับกลุ่มพรรคต่ำสิบ 

ทำให้สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องไปรวมกับพรรคเกษตรสังคมที่มี 19 คน และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม รวมมีคะแนนเสียงสนับสนุน 103 คน ซึ่งไม่ถึงครึ่งของสภาที่ต้องมี 135 คน เลยต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อยขึ้น แต่ก็ล้มเหลว เพราะเมื่อ เมื่อถึงวันแถลงนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจในการจัดตั้งรัฐบาลต่อสภา ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 111 เสียง ไม่ได้รับการไว้วางใจให้จัดตั้งรัฐบาล จึงต้องสละสิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาลไป แม้ประชาธิปัตย์จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่ก็ล้มเหลวในการรวมเสียงตั้งรัฐบาล แท้งตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นช่องที่ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส.เพียง 18 คน ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ‘สหพรรค’ ขึ้น

หลังความล้มเหลวของ ‘หม่อมพี่’ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้ ก็ถึงคิวของ ‘หม่อมน้อง’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม โดยเริ่มต้นการเจรจาไปที่พรรคการเมืองที่มีอดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย (ซึ่งหม่อมพี่ไม่เอา) รวมกลุ่มกันในชื่อ ‘กลุ่มรวมชาติ’ เป็นแกนนำของ ‘พรรคธรรมสังคม’ ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 มี ส.ส. 45 คน ได้เจรจากับพรรคกิจสังคม โดยหวังใช้ชื่อเสียงและบารมีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มาช่วยเรื่องภาพลักษณ์ในอดีตของกลุ่มตน

แม้พรรคกิจสังคมจะมี ส.ส. เพียง 18 ที่นั่งในสภา แต่ด้วยกลวิธีการเจรจาต่อรอง สร้างแรงจูงใจจากความสามารถของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ทำให้สามารถตั้งรัฐบาลได้ !!! โดยมีพรรคหลัก ๆ อย่าง พรรคกิจสังคม พรรคไท พรรคพลังประชาชนและพรรคอื่น ๆ ที่เรียกกันอย่างสุภาพว่า ‘รัฐบาลสหพรรค’ หรือฉายาที่มีคนตั้งให้ว่า ‘รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่’ เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นจาก 12 พรรค ได้ 135 เสียง เท่ากับครึ่งหนึ่งพอดี (ก่อนจะดึงพรรคอื่นมารวมเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 16 พรรค) 

ที่สุดแล้วการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2518 ผลการลงมติออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง ส.ส. 135 คน และ พ.อ. สมคิด ศรีสังคม ได้ 59 คน งดออกเสียง 88 คน และคณะรัฐบาลได้รับการไว้วางใจไปด้วยคะแนน 140 ต่อ 124 เสียง ไม่มาก ไม่น้อย 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top