Wednesday, 19 March 2025
NEWS FEED

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (5 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 527 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 8,966 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 65 ราย รักษาหายเพิ่ม 45 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,397 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 4,504 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 527 ราย เป็น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากอินเดีย 2 ราย ,ตุรกี 1 ราย ,ปากีสถาน 1 ราย ,สหราชอาณาจักร 1 ราย ,เดนมาร์ก 1 ราย

ผู้ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 82 ราย

ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุกในชุมชน) 439 ราย.

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 172 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 382 ราย รักษาหายแล้ว 362 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 7.72 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.39 แสน เสียชีวิต 22,991 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.21 แสน ราย รักษาหายแล้ว 98,228 ราย เสียชีวิต 501 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.27 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.1 แสน ราย เสียชีวิต 2,744 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.79 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.48 แสน ราย เสียชีวิต 9,263 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,721 ราย รักษาหายแล้ว 58,497ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,497 ราย รักษาหายแล้ว1,339 ราย เสียชีวิต 35 ราย

ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ขอรัฐบาลผ่อนปรนอนุญาตให้มีการขนส่งข้ามจังหวัด ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง-ผู้ประกอบการแพปลา และรถบรรทุก พื้นที่จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้

ก่อนรถบรรทุก - ที่ดินทำกินจะถูกยึดใช้หนี้ หวังให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเป็นหน่วยงานกลางดูแลการรับซื้ออาหารทะเลจากเกษตรกรสู่โรงงาน

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดระลอกใหม่ จนทำให้มีการจำกัดการเดินทาง และควบคุมโรคในบางพื้นที่ โดยผู้ที่จะเดินทางเข้าพื้นที่นั้นต้องกักตัว 14 วัน

ทั้งนี้มาตรการการป้องกันโรคดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าอาหารทะเลในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และผู้ประกอบการแพปลาที่ต้องรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เมื่อสินค้าไม่สามารถส่งเข้าโรงงานแปรรูปอาหารทะเลได้ ซึ่งพบว่าขณะนี้มีสินค้าอาหารทะเลตกค้างอยู่ในพื้นที่และไม่สามารถขนส่งไปยังโรงงานผู้รับที่ต้องการวัตถุดิบได้เป็นจำนวนมาก

“ผมได้รับข้อร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้ประกอบการประมงแพปลา รถบรรทุก ทั้งในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้ ถึงอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า ทำให้มีสินค้าอาหารทะเลตกค้างอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงขณะนี้ภาคใต้กำลังอยู่ในช่วงมรสุม มีฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดโรคในสัตว์น้ำ โดยหากมีการระบาดรุนแรงอาจทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายอย่างหนักมากขึ้น ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน” นายสัณหพจน์ กล่าว

สำหรับการผ่อนปรนมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19 เบื้องต้นภาครัฐสามารถดำเนินการตามมาตรการป้องกันในระยะแรกที่มีการระบาดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ในทันที โดยให้รถบรรทุกที่จะเดินทางข้ามจังหวัดสามารถขออนุญาตรับใบหนังสือเดินทางจากส่วนราชการในพื้นที่ต้นทางได้ พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการป้องกันโรค ขอให้ผู้ขับขี่รถบรรทุกไม่ออกจากบริเวณที่กำหนดไว้ เมื่อขนส่งสินค้าเสร็จแล้ว พักผ่อนอยู่ภายในรถหรือสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ และเดินทางกลับ

รวมทั้งขอฝากไปยังองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ซึ่งอยู่ในความดูแลของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้ประกอบการประมงแพปลา และโรงงานแปรรูปอาหารทะเล บูรณาการความร่วมมือกันในการดูแลขั้นตอนการรับซื้อสินค้า

นอกจากนี้ยังได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า มีผู้ประกอบการรถบรรทุกอีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังประสบปัญหาขาดรายได้ จนทำให้ขาดส่งเงินกู้และกำลังจะถูกยึดรถจากบริษัทไฟแนนซ์ โดยขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วย

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ‘ชวน หลีกภัย’ แจง การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากฝ่ายค้านพร้อม ยื่นได้ทันที แต่ถ้าไม่ทันการประชุมสภาสมัยสามัญ ไม่สามารถยื่นในสมัยวิสามัญได้ แต่ไม่ปิดทาง ‘เปิดเป็นกรณีพิเศษ’ หากโควิดยังระบาดรุนแรง

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากไม่ทันการประชุมสภาสมัยสามัญ สามารถยื่นอภิปรายในสมัยวิสามัญได้หรือไม่ ว่า ไม่สามารถทำได้ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในการประชุมสมัยสามัญ ยังมีเวลาอีก 2 เดือนจึงจะปิดสมัยประชุม ทั้งนี้ หากจะเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อไหร่ก็ได้ จะเสนอพรุ่งนี้ก็ได้ถ้าพร้อม

รวมทั้งเรื่องของพี่น้องประชาชน ตนได้สั่งเอาไว้แล้วให้เสนอเข้ามา รัฐสภาก็จะส่งต่อไปให้ฝ่ายบริหารดูแล ดังนั้น ตนจึงบอกว่าอย่าพยายามให้ปัญหาโควิด-19 มาเป็นอุปสรรคในการดูแลปัญหาของประชาชน แต่แน่นอนว่าในช่วงที่ไม่มีประชุมคนที่อยากจะพูด และถ่ายทอดตนเองออกไปอาจจะไม่มี แต่ถ้ามีปัญหาชาวบ้านจริงๆก็สามารถส่งมาได้ตลอด ในขณะนี้ก็มีมาตลอด ซึ่งเมื่อส่งเรื่องมาเราก็ส่งเรื่องไปให้ฝ่ายบริหารทันที

เมื่อถามว่า หากฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนวันที่ 28 ก.พ.นี้ แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย มีโอกาสที่จะเปิดเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีการอภิปรายเป็นไปได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะโรคนี้มีความเสี่ยง แต่ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น

“สมัยประชุมปิดวันที่ 28 ก.พ.นี้ มีเวลาอีก 2 เดือน ซึ่งจะยื่นเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของฝ่ายค้าน ไม่ได้อยู่ที่สภา อาจจะขลุกขลักบ้าง แต่ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของแต่ละฝ่าย ถ้าพร้อมยื่นพรุ่งนี้ก็ได้ ส่วนจะบรรจุระเบียบวาระเมื่อไหร่ก็ต้องหารืออีกครั้ง ระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายที่ยื่นว่าจะเอาวันไหน” นายชวน กล่าว

เมื่อถามถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ หากปิดประชุมไปจะส่งผลต่อความคืบหน้าในการแก้ไข นายชวน กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ได้มีอุปสรรคปัญหา ส่วนนี้เป็นเรื่องความระมัดระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้นเอง

ซึ่งเราต้องยอมรับมาตรการที่กำหนดบ้าง จะปล่อยไม่สนใจเลยไม่ได้ เมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) ก็ต้องเชิญทุกพรรคมา เพราะรู้ว่าถ้าไม่เชิญทุกพรรคก็จะไปพูดในทำนองที่เสียหาย จึงต้องให้ทุกคนได้พูด ได้แสดงความเห็น ส่วนกมธ.ที่แก้ระเบียบข้อบังคับว่าให้ประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะแล้วเสร็จ เพื่อให้กมธ.สามารถประชุมต่อได้

“บิ๊กตู่” ยืนยัน พื้นที่ 5 จังหวัด ที่ยังมีความสับสนและให้ข่าวไม่ตรงกัน ยังไม่ใช่การล็อกดาวน์ พร้อมเผย สั่งจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่ม 35 ล้านโดส ให้พอกับคนไทยเกือบ 60 ล้านคน

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าว ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กไลฟ์ ไทยคู่ฟ้า โดยยืนยันว่า สำหรับพื้นที่ 5 จังหวัด ที่ยังมีความสับสนและให้ข่าวไม่ตรงกัน ยืนยันว่าไม่ใช่การล็อกดาวน์ ซึ่งการล็อกดาวที่เคยทำมาก่อนหน้านี้นั้น คือการห้ามเดินทาง อยู่แต่ภายในบ้าน บ้านเมืองเหมือนบ้านร้าง แต่เรายังไม่ไปถึงตรงนั้นเพราะเรามีมาตรการที่เข้มข้น ทั้งมาตรการการเข้าพื้นที่และมาตรการอื่นๆ ยืนยันว่าไม่ใช่การล็อกดาวน์ แต่หากวันข้างหน้า ยังแก้ปัญหาไม่ได้อีกก็คงต้องล็อกดาวน์ อันนี้ต้องพูดให้ชัดเจน

“อยากให้ทุกคนที่เข้าไปเล่นพนันยังบ่อนการพนันต่างๆ ขอให้เข้าไปสู่ระบบการคัดกรองโรค ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ลงโทษ เพื่อรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม และ ขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานหนักและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกันนี้ได้มีการพิจารณาและอนุมัติงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นการเตรียมเงินงบประมาณรองรับเรื่องของวัคซีนระยะแรกสำหรับการจัดซื้อวัคซีน 2,000,000 โดส โดยในปลายเดือนมีนาคม เราจะได้รับวัคซีนเข้ามา ประมาณ 80,000 โดส สำหรับประชาชนประมาณ 400,000 คน และในเดือนเมษายนเราจะได้เพิ่มอีก 1,000,000 โดส เพียงพอกับประชาชน 500,000 คน และปลายเดือนพฤษภาคม เราจะได้เพิ่มมาอีก 26,000,000 โดส โดยทั้งหมดต้องผ่านมาตรฐานขององค์การอาหารและยา (อย.) ทั้งไทยและต่างประเทศ

และวันนี้มีการสั่งจองเพิ่มวัคซีนไว้อีกจำนวน 35,000,000 โดส รวมทั้งหมดเราจะมีวัคซีนเกือบ 60,000,000 คนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนตามระยะเวลาที่เราได้วัคซีนเข้ามา ซึ่งจะเพียงพอกับประชาชนตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะต้องมีการฉีดจำนวนคนละสองโดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยจะเป็นการทยอยฉีดตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค โดยเฉพาะผู้ที่อยู่หน้างานใกล้ชิด บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ตรวจสอบคัดกรอง หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อรุนแรง กลุ่มประชาชนสูงอายุ กลุ่มประชาชนที่มีโรคเรื้อรัง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของภารเอกชน อาทิ ธุรกิจเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชน เปิดโอกาสให้จัดหาได้แต่จะต้องมีมาตรฐานการรับรอง และภายใต้ควบคุมการใช้จาก อย. ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจกระทรวงการคลังสำนักงบประมาณและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาดูแลเรื่องผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้สื่อข่าวถามนายกรัฐมนตรีว่าที่ไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ 5 จังหวัดเพราะเกรงว่าจะต้องจ่ายเงินเยียวยาตามที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบเพียงว่า พูดไปหมดแล้ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิค-19 ว่า ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ไปพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไรในช่วง 2 เดือนนี้

ส่วนมาตรการที่ช่วยเหลือเดิมอยู่แล้ว ก็ต้องยืดระยะเวลาออกไป เช่น โครงการเที่ยวด้วยกัน ที่มีการจ่ายค่ามัดจำที่พักไปแล้ว ก็ขอให้ยืดระยะเวลา โดยเบื้องต้น ได้มีการปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการแล้ว ทั้งนี้ย้ำว่า จะต้องช่วยเหลือประชาชนทุกคนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะบางพื้นที่ ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาต้องใช้เงินอีกจำนวนมาก และยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลยังมีเงินเพียงพออยู่

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงความสับสนเกี่ยวกับโครงการคนละครึ่งที่มีการเผยแพร่ว่ามีการเก็บภาษีของผู้ที่ได้รับสิทธิ์โดยระบุว่า ไม่ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน เพราะรัฐบาลออกมาตรการออกมาก็เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน จะไปเก็บภาษีได้อย่างไรก็ไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้ทำความเข้าใจให้ดี เพราะวันนี้ต้องร่วมมือกัน

ร้านชาบูดัง ‘ปลาวาฬใจดี’ สาขาซอยมัยลาภ ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ค ยินดีรับชำระด้วย ‘ธนบัตรที่ระลึก’ ทุกชนิด หลังสาขาแกรนด์ โนนม่วง ขอนแก่น ประกาศไม่รับชำระด้วย ‘ธนบัตรที่ระลึก’ แต่กลับรับ ‘แบงค์เป็ด’ ของคณะราษฎร ใช้เป็นส่วนลดได้

โดยทางร้านปลาวาฬใจดี สุกี้&ชาบู "สาขาซอยมัยลาภ" ได้โพสผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า

ประกาศ..จาก "สาขามัยลาภ (กทม.)"

ปลาวาฬใจดี สุกี้&ชาบู "สาขาซอยมัยลาภ" เป็นระบบเฟรนไชน์ ตั้งอยู่ที่ 129 ซอยประเสริฐมนูกิจ 29(รามอินทรา14หรือซอยมัยลาภ) เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร และเป็นคนละเจ้าของกับสาขาที่ขึ้นป้ายเกี่ยวกับธนบัตรที่ระลึก

ปลาวาฬใจดี สุกี้&ชาบู "สาขาซอยมัยลาภ" ขอแจ้งให้ทราบว่า ทางสาขาเรารับธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกชนิด ทุกราคา 1 บาท 10 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาทและ 1,000 บาท ที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายที่ลูกค้านำมาใช้จ่าย ได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ทางร้านปลาวาฬใจดี ยังร่วมแคมเปญ "โครงการคนละครึ่ง" และ "เราเที่ยวด้วยกัน" อีกด้วย

ที่มา : Facebook : ปลาวาฬใจดี สุกี้&ชาบู "สาขาซอยมัยลาภ"

‘หมอธีระ วรธนารัตน์’ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat วอนร้านอาหาร-ภัตตาคาร งดให้นั่งกินในร้าน แม้ภาครัฐไม่สั่งการ ย้ำเพื่อปกป้องกิจการของตัวเองด้วย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เรียนท่านผู้ประกอบกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ภัตตาคาร และผู้บริหารโรงอาหารและศูนย์อาหารทุกท่าน

สถานการณ์ระบาดที่รุนแรงเช่นที่เราเห็นในปัจจุบัน ผมขอเรียนท่านตรง ๆ ว่า หากท่านเปิดให้คนมานั่งรับประทาน ไม่ว่าจะจัดการเช่นไร ก็จะยังคงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ครับ

ทั้งจากผู้ให้บริการ หรือจากลูกค้าไม่ว่าจะเป็นใครก็ล้วนมีโอกาสติดเชื้ออยู่โดยไม่รู้ตัวได้ และหากเกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบอย่างมากทั้งต่อกิจการของท่านเอง ลูกค้า รวมถึงคนอื่น ๆ ในสังคม

สิ่งที่เราควรทำตอนนี้คือ การเปิดบริการโดยขายเฉพาะให้นำกลับไปทานที่บ้าน (take away only) เท่านั้นครับ

ทำแบบนี้ไม่ใช่เพื่อปกป้องลูกค้าและสังคม แต่เป็นการปกป้องกิจการของท่านด้วยครับ

แม้รัฐไม่สั่งการ แต่เรารู้ว่ากำลังระบาดหนัก นี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ท่านรอดได้ครับ มิฉะนั้นการระบาดซ้ำครั้งนี้จะมีโอกาสรุนแรงมาก และส่งผลกระทบในระยะยาว

หากท่านทำได้ โปรดช่วยกันทำเถิดครับ

ด้วยรักต่อทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณข้อมูลและภาพ เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินหน้าเร่งดำเนินการทางกฎหมาย กับคนโพสต์ข้อความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันฯ ทางสื่อออนไลน์ หลังแจ้งความนานกว่า 2 เดือน แต่ยังไม่คืบหน้า

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา ตนไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อกรณีการกระทำความผิดโพสต์ข้อความมีเนื้อหาและภาพไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันฯ ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้เน้นย้ำให้กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ(ปท.) กระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งขอคำสั่งศาลส่งไปยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินการทางกฎหมาย ไปแล้วนานกว่า 2 เดือน จึงอยากให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการสืบสวนนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

ขณะที่พบว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2563 มีผู้โพสต์เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14(3),(5) รวมทั้งสิ้น 638 URLs (รายการ) พนักงานเจ้าหน้าที่พิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลแล้ว 26 บัญชี ซึ่งได้แจ้งความให้ทาง ปอท.แล้ว และทราบว่าต้นเดือนนี้ปอท. เตรียมเรียก 9 รายมาสอบสวน ซึ่งพบว่าเป็นคนเดิมที่กระทำผิดซ้ำหลายครั้ง เจ้าหน้าที่จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะเรียกรายอื่น ๆ ที่พิสูจน์ตัวบุคคลได้แล้วและจะเรียกพบเจ้าหน้าที่ในลำดับต่อไป

ขณะเดียวกัน ดีอีเอส ยังคงเดินหน้า แจ้งความเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มต่างชาติ 2 ราย ที่ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการปิดกั้นหรือลบข้อความไม่เหมาะสม ตามคำสั่งศาลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งไป รวม 7 ชุด ทั้งหมด 8,443 URLs(รายการ) โดยFacebook มากสุด 5,494 URLs ลบข้อความบางส่วน แต่ยังคงเหลือ 2,387 URLs และTwitter คงเหลือจำนวน 611 URLs ซึ่งเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย 15 วัน โดยกระทรวงดิจิทัลฯได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับผู้ให้บริการทั้ง 2 รายต่อ ปอท.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามกระบวนการกฎหมาย และประสานอัยการสูงสุด กรณีเฟซบุ๊ก ที่ล่าสุด อัยการสูงสุดได้รับเป็นคดีนอกราชอาณาจักรแล้ว

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ประกาศล็อกดาวน์อังกฤษและสก็อตแลนด์ทั่วประเทศรอบใหม่ หลังโควิด-19 กลายพันธุ์ ดันยอดติดเชื้อพุ่ง

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศรอบใหม่แล้ว เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นและกำลังคุกคามระบบสาธารณสุขของอังกฤษอย่างรุนแรงในขณะนี้ โดยคำสั่งดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ในทันที

นายจอห์นสัน ได้ออกแถลงการณ์ ถ่ายทอดสดทั่วประเทศในวันจันทร์ (4 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า ขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และจะออกนอกบ้านได้ก็ต่อเมื่อต้องซื้ออาหารและของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปิดทำการ นอกจากนี้ ร้านค้าที่ไม่จำเป็น และธุรกิจบริการที่พักอาศัยจะต้องปิดทำการเช่นกัน

ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลอาจจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงครึ่งหลังของเดือนก.พ. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดหวังว่าผู้ที่อยู่ในบ้านพักคนชราทุกคน, ประชากรที่มีอายุเกิน 70 ปี และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าด้านสาธารณสุข จะได้รับการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด

อย่างไรก็ดี นายจอห์นสันยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับช่วงเวลาในการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเรียกร้องให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างเข้มงวด

ไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุ่งขึ้นเกือบแตะระดับ 27,000 รายในอังกฤษ ซึ่งสูงกว่าในช่วงแรกเริ่มของการแพร่ระบาดในเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว ล่าสุดนับจนถึงวันจันทร์ อังกฤษมีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น 58,784 ราย เเละเป็นวันที่เจ็ดติดต่อกันที่พบผู้ติดเชื้อใหม่เกิน 50,000 คน ที่ผ่านมาอังกฤษพบผู้ติดเชื้อเเล้วกว่า 2.6 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดมากกว่า 75,000 คนตามรายงานของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์

ทั้งนี้ การประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่อังกฤษประเดิมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเป็นประเทศแรกเมื่อวานนี้

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 มกราคม 2564 สำนักงบประมาณ เตรียมเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 1.859 แสนล้านบาท

การประชุมครม. ผ่านระบบ Video Conference สำนักงบประมาณ เตรียมเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หลังจากผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มี สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กำหนดกรอบวงเงินไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 1.859 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66% เป็นไปตามประมาณการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงเหลือ 2.4 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3.5% โดยยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งในโครงสร้างของงบประมาณนี้ ส่วนใหญ่กว่า 75% เป็นงบประจำ โดยมีกรอบวงเงินงบประจำ อยู่ที่ 2.354 ล้านล้านบาท และมีงบลงทุนอยู่ที่ 6.49 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 19% ของวงเงินงบประมาณรวม

ส่วนวาระอื่นๆ กระทรวงพาณิชย์ เสนอร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน และร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง รวม 2 ฉบับ

ขณะที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ออกไปอีก 45 วัน หรือประมาณสิ้นเดือน ก.พ. เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ตามมติของที่ประชุมศูนย์ ศบค. และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง

‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ลั่น ประชาชนไม่ใช่ภาระของประเทศ แต่คือประเทศ แนะแนวทางรับมือโควิด-19 จี้ รัฐเร่งเยียวยาทั่วถึง ‘ยึดหลักความได้สัดส่วนและเสมอภาค’ ชี้ ระยะสั้นใช้ 4 แสนล้าน ชดเชยถ้วนหน้า 3 พัน 3 เดือน

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดรายการเฟซบุ๊กไลฟ์พิเศษ ในหัวข้อ "ประเทศไทย 2021: ข้อเสนอจัดการโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ" เพื่อนำเสนอทางเลือกในการจัดการกับวิกฤติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ

โดยระบุว่า สถานการณ์ในขณะนี้มีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก ถึงวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ล่าสุดมากถึง 745 คน วิกฤติดังกล่าวทำให้ตนต้องมาพูดถึงข้อเสนอในการจัดการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางไหนและจะใช้ชีวิตอย่างไรในปี 2564 นี้ ซึ่งในทางหลักการแล้ว การออกมาตรการต่างๆ ของภาครัฐจำเป็นจะต้องยึดหลักการที่สำคัญสองหลักการ นั่นคือ 1.ความได้สัดส่วน และ 2. การตั้งอยู่บนความเป็นธรรมและความเสมอภาค

ความได้สัดส่วน หมายความว่ามาตรการที่ออกมาจะต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่รุนแรงจนเกินเหตุ หรือไม่อ่อนจนเกินเหตุ เช่น ถ้าเราขอให้ประชาชนหยุดงานเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนและให้ค่าชดเชยเพียงวันละ 100 บาท สิ่งนี้ไม่ได้สัดส่วน เพราะการเสียเวลาและโอกาสทางเศรษฐกิจต่อวันทีค่าสูงกว่านั้น

ส่วนเรื่องของความเสมอภาคเท่าเทียม หมายถึงการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ให้คุณหรือไม่ให้โทษกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ ยกตัวอย่าง ถ้าบริเวณเดียวกันมีสถานที่สองแห่ง ที่หนึ่งถูกสั่งปิด แต่อีกที่หนึ่งมีลักษณะการใช้พื้นที่แบบเดียวกันแต่ไม่ถูกสั่งปิด นี่คือความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม

นายธนาธร กล่าวว่า การจะฝ่าฟันวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ด้วยกัน จะต้องรักษาความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นระหว่างรัฐบาลกับประชาชนให้เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้สังคมไทยก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยความสามัคคี จะยึดหลักเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดรัฐบาลต้องทำให้เห็น

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในปี 2563 นั้น มาตรการต่างที่รัฐบาลออกมาดูเหมือนจะยังไม่เคร่งครัดบนหลักความได้สัดส่วนและความเท่าเทียมเป็นธรรม เช่น กรณีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้าดิวตี้ฟรีในสนามบิน มาตรการนี้ออกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการสินค้าปลอดภาษีในสนามบินได้รับการชดเชย ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันกว่าที่ประชาชนจะได้รับเงินเยียวยา ก็ตกไปเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนเข้าไปแล้ว นอกจากนี้ การออกมาตรการในช่วงที่ผ่านมายังทำให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค เช่น ในเขตปทุมวัน เราเห็นห้างสรรพสินค้าหลายห้างที่ยังได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ แต่เราเห็นสถานศึกษาหลายแห่งถูกสั่งให้ปิดการเรียนการสอน ทั้ง ๆ ที่สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ในบริเวณเดียวกัน

นอกจากนี้ การปิดโรงเรียน 28 จังหวัดยังทำให้เกิดผลกระทบกับนักเรียนถึง 4.4 ล้านคน เป็นอย่างที่พวกเราทราบกันดี ว่ากลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดที่ได้รับผลกระทบจากการปิดการเรียนการสอนนี้ คือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จะทำให้โอกาสได้รับการศึกษา ในช่วงการเรียนออนไลน์ รวมทั้งกรณีในจังหวัดนครนายก ที่โรงเรียนและสถานศึกษาอื่น ๆ ถูกสั่งให้ปิด แต่โรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไม่ถูกสั่งปิด

ในส่วนของปัญหาวัคซีน นายธนาธร กล่าวว่า ตอนนี้ที่เป็นข่าวอยู่คือทางรัฐบาลได้ร่วมมือกับ Siam Bioscience และบริษัท AstraZeneca ในการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทยจำนวน 26 ล้าน dose 1 คนใช้ 2 dose เพียงพอสำหรับคน 13 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แผนนี้เราไม่เคยได้รับรู้รายละเอียดเลยว่าคนที่เหลือจะทำอย่างไร จะจัดสรรด้วยงบประมาณอย่างไร ที่จะทำให้คนได้วัคซีนอย่างถ้วนหน้าและเป็นธรรม ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำทันทีคือสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ ว่าวัคซีนในประเทศไทยจะเข้าถึงคนทุกคน จนทำให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ขึ้นในประเทศไทยได้ เพราะประชาชนไม่ใช่ภาระของประเทศ ประชาชนคือประเทศ

นายธนาธร กล่าวต่อไปว่า ประการต่อมาจำเป็นที่เราจะต้องดูแลเรื่องความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ในขณะที่ประชาชนกำลังดูแลกันเองอย่างเต็มกำลัง เพื่อทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ การเสียสละของประชาชนเป็นไปเพื่อส่วนรวม แต่กลับเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบและได้รับผลกระทบมากที่สุด

ดังนั้น เราจึงเสนอว่าการเยียวยาจะต้องไม่เป็นไปแบบเฉพาะกลุ่ม เราเสนอให้การเยียวยาเป็นไปอย่างถ้วนหน้า นั่นคือการเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าชั่วคราว (Temporary Universal Basic Income) 3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน คิดเป็นวงเงิน 4 แสนล้านบาท งบประมาณในส่วนนี้ จากข้อมูลล่าสุดที่เรามีอยู่ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติมาจากสภา มีการอนุมัติโครงการได้แล้ว 4.9 แสนล้านบาท เราเสนอว่าจำนวนเงินที่เหลือ 4 แสนล้านบาทเอามาตั้งเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ส่วนที่เหลือกันไว้เพื่อนำไปซื้อวัคซีนสำหรับทุกคน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top