Tuesday, 1 July 2025
NEWS FEED

คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เห็นชอบ ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนพิการภาคเอกชน 4,359 คน เพิ่มขึ้น 35% จากเดิม 16,552.50 - 35,932.50 บาท เพิ่มเป็น 32,540 - 51,935 บาท ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาและหลักสูตร

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบปรับอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลของนักเรียนพิการในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา

โดยแต่ละคนจะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นจากเดิม 16,552.50 - 35,932.50 บาท เพิ่มเป็น 32,540 - 51,935 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา ประเภทการเรียนและหลักสูตรการเรียน ดังนั้น จึงคิดเป็นเงินอุดนหนุนที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 35 จากฐานเดิม ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สช.มีนักเรียนพิการทั้งที่อยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ และโรงเรียนสามัญทั่วไป จำนวน 4,359 คน โดยข้อมูลเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนพิการพบว่ามีการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนรายบุคคลของนักเรียนพิการปีละประมาณ 100,613,194 บาท ซึ่งหากมีการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลของนักเรียนพิการตามที่เสนอขอก็จะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 30 ล้านบาท

ขณะที่ในส่วนของโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษานั้น ข้อมูลเมื่อปี 2563 มีนักศึกษาพิการระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้รับเงินอุดหนุน รวม 342 คน เบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนรายบุคคลของนักเรียนพิการปีละประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งหากมีการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลของนักเรียนพิการตามที่เสนอขอก็จะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 7 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มเงินงบประมาณดังกล่าวจะเป็นงบประมาณที่สามารถบริหารจัดการกับวงเงินงบทั้งหมดในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ เรามองว่าหากไม่มีการปรับอัตราเงินอุดหนุนนี้อาจทำให้โรงเรียนเอกชนไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาพิเศษได้ ต้องหยุดกิจการงดรับนักเรียนพิการ อีกทั้งโรงเรียนการศึกษาพิเศษของรัฐก็จะต้องแบกรับภาระนักเรียนพิการมากขึ้น รวมถึงเกิดความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงบริการสาธารณจากรัฐ และขาดการเสมอภาคในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับผู้พิการ” รมช.ศธ. กล่าว

ศาลปักกิ่ง​ สั่งสามีจ่ายเงินชดเชยภรรยาร่วม 2 แสนบาท​ ฐานปล่อย​ 'ทำงานบ้านหนัก'​ อย่างโดดเดี่ยว​ ด้านชาวเน็ตท้วง​ จ่ายแค่นี้ยังน้อยไปกับสิ่งที่ภรรยาต้องแบก

นับเป็นคดีแรกภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งใหม่ของจีน เมื่อศาลแห่งหนึ่งของปักกิ่งได้สั่งสามีรายหนึ่งจ่ายเงินหลายหมื่นหยวน แก่ภรรยาที่กำลังหย่าร้างกัน เป็นเงินชดเชยจากการทำงานหนักและชีวิตแสนน่าเบื่อหน่ายตลอดเวลา 5 ปีของชีวิตสมรส ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นคดีที่จุดชนวนการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนบนสื่อสังคมออนไลน์

ข้อมูลจาก China Women’s News ระบุว่าโจทก์แซ่หวัง ซึ่งเป็นภรรยาได้ยื่นขอหย่าจากสามีแซ่เฉินเมื่อปีที่แล้ว​ โดยเธออ้างว่าสามีไม่ใส่ใจหรือไม่มีส่วนร่วมใดๆ​ ในงานบ้านทั้งหลายเลย เขาออกไปทำงานทุกวัน ทิ้งให้เธออยู่บ้านเลี้ยงลูกตามลำพัง

และท้ายที่สุดศาลแขวงในกรุงปักกิ่ง ก็พิพากษาเข้าข้างเธอ สั่งให้ เฉิน จ่ายเงินชดเชย 50,000 หยวน​ (ราว 2.3 แสนบาท) โทษฐานละเลยแบ่งภาระหน้าที่ภายในครอบครัว

ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งใหม่ของจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ระบุว่า​ สามีหรือภรรยา ซึ่งแบกกับความรับผิดชอบมากกว่าอีกฝ่าย ทั้งเลี้ยงลูก ดูแลญาติ ๆ​ คนชรา ทำงานบ้านหรือทำหน้าที่อื่นๆ​ ที่จำเป็น​ โดยบ่อยครั้งกลับเป็นหน้าที่ที่อีกฝ่ายมองไม่เห็นค่า เขาหรือเธอมีสิทธิ์เรียกเงินชดเชยจากอีกฝ่าย เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาคิดหย่าร้างกัน

กฎหมายสมรสใหม่นี้​ ถูกนำมาแทนที่ประมวลกฎหมายแพ่งเดิม ซึ่งกำหนดให้คู่สมรสที่กำลังหาทางหย่าร้าง สามารถเรียกเงินชดเชยกันได้ก็ต่อเมื่อทั้งคู่ลงนามในสัญญาก่อนสมรสเท่านั้น โดยสัญญาก่อนสมรสนั้นจะระบุเงื่อนไขต่าง ๆ​ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ปฏิบัติกันนักในหมู่คู่รักชาวจีน

ด้าน จาง หยาน เลขาธิการทั่วไปของคณะกรรมการด้านกฎหมายสมรสและครอบครัวของสมาคมทนายความเสิ่นหยาง ให้ความเห็นว่ากฎหมายเงินชดเชยใหม่จะช่วยปกป้องสิทธิของแม่บ้านมากยิ่งขึ้น

"แม่บ้านไม่ใช่แค่ต้องแบกรับทำงานหนัก แต่การไม่มีงานทำ ก็ทำให้พวกเธอเจอกับปัญหาขาดการติดต่อกับสังคมในระยะยาว" จาง​ หยานกล่าวและว่า "ในแง่ของพลวัตในความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยา โดยทั่วไปแล้วฝ่ายหญิงจะอยู่ในฐานะที่อ่อนแอกว่า"

สำหรับเรื่องดังกล่าวได้หลุดไปถึงสื่อสังคมออนไลน์​ โดยบางส่วนบ่งชี้ว่า​ คำตัดสินของศาลเป็นก้าวย่างในทางบวก เพื่อมุ่งสู่การตระหนักถึงคุณค่าภาระหน้าที่ภายในครอบครัว แต่ก็มีหลายคนที่ประชดประชันว่า​ จำนวนเงินชดเชยที่เสนอนั้นค่อนข้างน้อย ไม่สมเหตุสมผลกับภาระอันหนักอึ้งที่เหล่าภรรยาชาวจีนต้องแบกรับ

ทั้งนี้​ ขัอมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน บ่งชี้ว่าในปี 2018 ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องทำงานบ้านเฉลี่ยแล้ว 3 ชั่วโมง 20 นาทีต่อวัน มากกว่าฝ่ายสามีถึงราว ๆ 1 ชั่วโมงครึ่ง

ขณะเดียวกันจากผลสำรวจทางออนไลน์ของสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง พบว่า 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 40,000 คน บอกว่าฝ่ายโจทก์ควรได้รับเงินมากกว่า 50,000 หยวน สำหรับการตรากตรำทำงานหนักนานหลายปี


ที่มา: https://mgronline.com/around/detail/9640000018222

‘คมนาคม’ ชงแผนฟื้นฟู ขสมก. เล็งเก็บค่าโดยสารตามแผนฟื้นฟู แบ่งตั๋ว 3 ประเภท ‘รายเที่ยว - รายวัน - ประเภทเฉพาะ’ คาดช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องอัตราค่าโดยสารของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านขนส่ง) เป็นประธานฯ เพื่อกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสาร ที่จะจัดนำมาใช้ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดยจะกำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง หรือตามกิโลเมตร (กม.) ประกอบกับการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ก่อนที่จะคำนวณเป็นค่าโดยสารที่แท้จริง

ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง พิจารณาและกำหนดมาตรฐานเรื่องอัตราค่าโดยสารแล้วนั้น ขสมก.จะรวบรวมข้อมูล และจัดทำแผนลงทุนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ให้พิจารณาตามกระบวนการ

ซึ่งคาดว่า ขสมก. จะส่งรายละเอียดดังกล่าวไปยังสภาพัฒน์ภายใน มี.ค. 2564 ส่วนจะสามารถเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ ว่าจะตอบกลับมายังกระทรวงคมนาคมหรือแล้วเสร็จเมื่อไร

นายสรพงศ์ ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบการเก็บอัตราค่าโดยสารตามที่แผนฟื้นฟู ขสมก. กำหนด ซึ่งเป็นรถโดยสารปรับอากาศ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย

1.) ตั๋วรายเที่ยว ราคา 15 บาท/เที่ยว

2.) ตั๋วรายวัน (One Day Pass) ราคา 30 บาท/วัน

3.) ตั๋วประเภทเฉพาะ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ระบุไว้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารตามระยะทางในปัจจุบัน ที่จัดเก็บ 15 - 20 - 25 บาทนั้น ยังคงเก็บตามเดิมอยู่ จนกว่า ครม. จะมีมติอนุมัติปรับอัตราค่าโดยสารทั้ง 3 ประเภทข้างต้น

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลผลการศึกษาของ ขสมก. ยังได้ระบุไว้ว่า เมื่อมีการจัดเก็บค่าโดยสารตามแผนฟื้นฟู ขสมก. จะมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ในการจ่ายค่าโดยสารที่ถูกลงประมาณ 72% เทียบกับการเดินทางตามระยะทาง เนื่องจากในแผนฟื้นฟูได้กำหนดต้นทุนพลังงานการเดินรถของรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.63 บาท/กิโลเมตร (กม.) ในส่วนของรถโดยสารเชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) จะอยู่ที่ 10 บาท/กม.

ทั้งนี้ ขสมก. ยืนยันว่า หากดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ขสมก. จะสามารถเดินหน้าประกอบกิจการได้ และจะมีอัตราการเติบโตปีละ 3% อย่างไรก็ตาม การใช้อัตราค่าโดยสารตามแผนฟื้นฟู ขสมก.ดังกล่าว ถือเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ยังมีมติเห็นชอบในหลักการการปฏิรูปเส้นทางของ ขสมก. จำนวน 108 เส้นทาง ภายใต้แผนฟื้นฟู ขสมก. เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาจราจรติดขัด รวมทั้งให้เส้นทางการเดินรถไม่ทับซ้อนกัน ซึ่งหลังจากการประชุมในครั้งนี้ ขสมก. จะต้องไปรวบรวมและทบทวนแผนฟื้นฟู ขสมก. จากนั้นจะรายงานให้คณะกรรมการนโยบายฯ ขนส่งทางบกกลาง โดยมีนายศักดิ์สยาม เป็นประธานพิจารณา ก่อนที่ ขสมก. จะเสนอไปยังสภาพัฒน์ฯ และ ครม.ต่อไป

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม ส่งสัญญาณชะลอตัว ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดรอบใหม่ ขณะที่ส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน ม.ค.2564 และดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือน ก.พ.2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือน ก.พ. 2564 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลยังชะลอตัว

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค. 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อน เป็นผลจากไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2563 โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่กลับมาติดลบน้อยลง รวมทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ลดลง เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เพราะผู้บริโภคมีความกังวลเศรษฐกิจและการจ้างงาน ด้านการลงทุนภาคเอกชน ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน

ขณะที่เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.4% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และสินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด

ศาลอาญาสั่งจำคุกอ่วม!! แกนนำ กปปส. ชุมนุมขับไล่ รัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์’ สุเทพโดนคุก 5 ปี พุทธะอิสระโดนจำคุก 4 ปี 8 เดือน

ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีกบฏ กปปส. ชุดใหญ่สำนวนหลัก หมายเลขดำ อ.247/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม กปปส. รวม 39 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ โดยนายสุเทพกับพวกจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัวทุกคน

คดีนี้ อัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 - 1 พ.ค. 2557 ต่อเนื่องกัน นายสุเทพ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือกลุ่ม กปปส. มีนายสุเทพเป็นเลขาธิการ โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลังแบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส.

จากนั้น กปปส.จะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย - ญี่ปุ่น ดินแดง) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 ม.ค. - 2 มี.ค. 2557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพฯ รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน

โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 76, 152

สำหรับรายชื่อจำเลยคดีนี้ทั้งหมด 39 คน เรียงลำดับ ประกอบด้วย 1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 2.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 3.นายชุมพล จุลใส 4.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 5.นายอิสสระ สมชัย 6.นายวิทยา แก้วภราดัย 7.นายถาวร เสนเนียม 8.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 9.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 10.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 11.พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ 12.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 13.นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ 14.นายถนอม อ่อนเกตุพล 15.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 16.นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ 17.นายสาธิต เซกัลป์ 18.น.ส.รังสิมา รอดรัศมี 19.พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี 20.พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ

21.นายแก้วสรร อติโพธิ 22.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 23.นายถวิล เปลี่ยนศรี 24.เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ 25.นายมั่นแม่น กะการดี 26.นายคมสัน ทองศิริ 27.พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ 28.นายพิภพ ธงไชย 29.นายสาวิทย์ แก้วหวาน 30.นายสุริยะใส กตะศิลา 31.นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด 32.พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์ 33.นายสำราญ รอดเพชร 34.นายอมร อมรรัตนานนท์ 35.นายพิเชษฐ พัฒนโชติ 36.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 37.นายกิตติชัย ใสสะอาด 38.นางทยา ทีปสุวรรณ 39.นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

วันนี้ นายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. กับพวกจำเลยรวม 37 คน เดินทางมาศาล ส่วน พล.อ.ปรีชา จำเลยที่ 11 เสียชีวิตแล้ว ขณะที่ พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ จำเลยที่ 32 ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำด้วยคดีอื่น ให้รับฟังคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำ ขณะที่บรรยากาศในศาล มีผู้ชุมนุมอดีต กปปส. จำนวนหนึ่ง มามอบดอกไม้ให้กำลังใจจำเลยคดี กปปส. พร้อมร่วมรับฟังคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ศาลจัดแยกไว้ให้ที่ห้องพิจารณา 701 ด้วย ในส่วนการรักษาความปลอดภัย มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ร่วมกันดูแลความสงบเรียบร้อย

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลา 10.51 น. เสร็จสิ้นในเวลา 17.20 น. พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว มีผลพิพากษาจำคุกจำเลยสำคัญคือนายสุเทพ จำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี, นายชุมพล จำเลยที่ 3 จำคุก 9 ปี 24 เดือน, นายพุทธิพงษ์ จำเลยที่ 4 จำคุก 7 ปี, นายอิสสระ จำเลยที่ 5 จำคุก 7 ปี 16 เดือน, นายวิทยา จำเลยที่ 6 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท, นายถาวร จำเลยที่ 7 จำคุก 5 ปี, นายณัฏฐพล จำเลยที่ 8 จำคุก 6 ปี 16 เดือน, นายเอกนัฏ จำเลยที่ 9 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท และนายสุวิทย์ จำเลยที่ 16 จำคุก 4 ปี 8 เดือน เป็นต้น


ที่มา: https://mgronline.com/crime/detail/9640000018524

หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจช่วงหยุดยาววันมาฆบูชา เชื่อตัวเลขตกเหลือ 2.3 พันล้าน ลดลง 9.38% จากเดิม 2,601 ล้านบาท คาดคนกลัวโควิด แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังดีกว่าช่วง ‘ตรุษจีน - วาเลนไทน์’

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุ โควิด-19 ทุบเศรษฐกิจเหลือ 2.3พันล้าน หลังประเมินทัศนคติ พฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้คนในช่วงวันมาฆบูชา

จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,215 ตัวอย่าง สำรวจตั้งแต่วันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ในปีนี้กลุ่มตัวอย่างจะเดินทางไปทำบุญไหว้พระในวันมาฆบูชา 40% ไม่ไป 37.3% และไม่แน่ใจ 22.7% ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ไม่ไป ส่วนใหญ่มาจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 รายได้ลดลง และภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับมูลค่าเงินสะพัดวันมาฆบูชาในปี 2564 นี้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 2,360 ล้านบาท หรือลดลงติดลบ 9.38% ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินสะพัดประมาณ 2,601 ล้านบาท ถือว่ามีเงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 6 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากการใช้จ่ายยังติดลบทุกรายการ อาทิ การทำบุญ และการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งโดยรวมประชาชนมีการใช้จ่ายประมาณ 1,311 บาทต่อคน เท่านั้น

“แม้ในวันมาฆบูชาในครั้งนี้ จะได้หยุดยาว 3 วันแต่ประชาชนยังมีความกังวลกับโควิด-19 อยู่ ส่งผลให้เงินสะพัดอาจไม่มากเท่าที่ควร แต่เศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวและเติบโตดีกว่าช่วงเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เพราะในครั้งนี้ยังมีประชาชนที่ออกมาใช้จ่าย อาทิ ซื้อสัมฆภัณฑ์ ทำบุญ เวียนเทียน และทำทาน กันมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในวันมาฆบูชาไม่ได้สาหัสมาก” นายธนวรรธน์ กล่าว

(Hilight) มองให้เห็นโอกาสจากความบังเอิญ กุญแจลัดสู่ความสำเร็จ | Click on Clear The Word EP.2

Clear The Word สรุปประเด็นคม ๆ จาก Click on Clear the word EP.2 ความบังเอิญ นำไปสู่ความเร็จ โดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of content editor THE STATES TIMES

.

.

Link คลิปเต็ม : ความบังเอิญ อาจนำไปสู่ความสำเร็จ | Click on Clear The Word EP.2  

มติ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เห็นพ้องลดจำนวน ‘นายพล’ ปิดอัตราผู้ชำนาญการ - นายทหารปฏิบัติการ - ผู้ทรงคุณวุฒิฯ เริ่มโผโยกย้ายกลางปี คาดทุกเหล่าทัพ ลดได้ 5 - 10% พร้อมเดินหน้าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เน้นผลิตเอง ลดการพึ่งพาต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ2564

โดยมี พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และพล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์รอง ผบ.ทบ. แทน พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ติดภารกิจในการติดตามรับเสด็จเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ที่ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ลพบุรี เข้าร่วม

โดยภายหลังการประชุม พล.ท. เชาวลิตร สังฆฤทธิ์ โฆษกกองทัพไทย กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมพล ผบ.ทสส. ได้เน้นย้ำให้ทุกเหล่าทัพ - สตช. เพิ่มสมรรถนะ และ ขีดความสามารถของหน่วย ในการพึ่งพาตนเอง เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ และ อุตสาหกรรม ป้องกันประเทศ ตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายกลาโหม และ เตรียมกำลังพลให้พร้อมตามแผนป้องกันประเทศและการตั้งกองอำนวยการยุทธร่วมในทุกมิติให้ประสานสอดคล้องกัน และการติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ในการช่วยเหลือประชาชนและ ปลูกฝังวัฒนธรรมทัศนคติค่านิยมการเป็นทหารและตำรวจที่ดีของประชาชนมีระเบียบวินัยและรับผิดชอบต่อหน้าที่และปฏิบัติตามข้อบังคับ

ด้านพล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองทัพไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะผู้บัญชาการทหาร ว่า ได้หารือ เรื่องการปรับโครงสร้าง ระบบงานของ กองบัญชาการกองทัพไทย ตามแนวทางของกลาโหมหากได้รับภารกิจใหม่ จะให้หน่วยที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน รับทำหน้าที่ไป และให้ยุบหน่วยที่ไม่จำเป็น

และให้ชะลอการตั้งหน่วยใหม่ ที่ผบ.หน่วยระดับ พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี ขึ้นไปลดการแต่งตั้ง นายทหารปฏิบัติการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษอย่างเคร่งครัด เมื่อเกษียณราชการแล้วก็ไม่บรรจุเพิ่มที่คาดว่าจะสามารถลดจำนวน นายทหารชั้นนายพลได้ 5 - 10 %

พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เตือนเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตของสื่อมวลชนรายใดก็ตาม ที่ยังคงใช้คำว่า 'คณะรัฐประหาร' หรือ​ 'รัฐบาลทหาร' และ 'ระบอบ'

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการสื่อสารของเมียนมาเคยส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงสมาคมสื่อแห่งชาติ ว่ารายงานข่าวด้วยการใช้คำว่า "รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร" กับรัฐบาลทหารนั้น "ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณสื่อ" พร้อมทั้งเตือนการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย และการถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ของกฎหมายด้านข่าวสาร ที่ระบุแนวทางปฏิบัติงานของสื่อมวลชนทุกแขนงในเมียนมา ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ "อย่างเคร่งครัด"

ขณะที่สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของเมียนมา รายงานว่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐ กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่ากองทัพ "ส่งคำเตือน" ไปยังสื่อทุกแห่งในประเทศ ว่าจะใช้มาตรการ "เด็ดขาด" ที่รวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาต หากสื่อมวลชนรายใดก็ตามยังคงรายงานว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา "คือการรัฐประหาร"

ทั้งนี้​ มีรายงานด้วยว่า ผู้สื่อข่าวอาวุโสหลายคนของเมียนมา ไทม์ส ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเพียงไม่กี่ฉบับของเมียนมา พร้อมใจยื่นใบลาออก หลังได้รับคำสั่งจากฝ่ายบริหาร ให้ใช้คำว่า "การถ่ายโอนอำนาจ" แทน "การรัฐประหาร"


ที่มา: https://www.dailynews.co.th/foreign/827268


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top