โดยนายไบรอัน เดวิดสัน ได้กล่าวว่า อังกฤษสนับสนุนไทยที่มีความมุ่งมั่นลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือในหลายโครงการ ล่าสุด เป็นโครงการเกษตรสมัยใหม่ผสมผสานกับการลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ Thai Rice NAMA เพื่อปลูกข้าวอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้านดอลลาร์ และดำเนินงานผ่านโครงการ NAMA Facility มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี (2562-2566) มุ่งพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกรจำนวน 100,000 ครัวเรือนในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลางได้แก่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีและสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.8 ล้านไร่ มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนระบบการทำนาในปัจจุบัน ไปสู่ระบบการทำนาแบบยั่งยืน
นายไบรอัน ระบุว่า แนวทางการปลูกข้าวแบบใหม่เน้นประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ตรงตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (Thai Rice GAP ) โดยที่เกษตรกรสามารถปฏิรูปกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจให้ขยายใหญ่ขึ้น นำไปสู่การปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวทั้งระบบให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต
นอกจากนี้ อังกฤษยังยืนยันที่จะสนับสนุนไทยในการปฏิรูปให้เกิดระบบการเงินสีเขียว (Green Financing) ผ่านโครงการ ASEAN Low Carbon Energy Programmed ขณะที่ในเดือน พ.ค.นี้ อังกฤษจะจัดเวิร์คช็อปด้านยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีขับเคลื่อนแห่งอนาคต
ด้าน ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหรัฐฯ มีความพยายามจะช่วยไทยบรรลุเป้าหมายลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ยกตัวอย่างที่น่าสนใจโครงการแรกคือ กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ซึ่งมีโครงการย่อย ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตฐานรากทางเศรษฐกิจ และพลังงานอย่างยั่งยืน
ส่วนโครงการที่สอง ดำเนินการภายใต้องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ยูเสด) ซึ่งสหรัฐฯ สนับสนุนระบบพลังงานที่ทันสมัย เชื่อมโยง และไว้ใจได้ให้กับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 33 ล้านดอลลาร์ ตามข้อริเริ่ม Asia EDGE เพื่อให้มีการซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาคและเข้าถึงเงินทุนมากขึ้น ตลอดจนภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
โครงการนี้ จะช่วยขยายการค้าและการลงทุนด้านพลังงานในภูมิภาคนี้ โดยดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น บนพื้นฐานการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลม พลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุด ไปพร้อม ๆ กับการสร้างเมืองอัจฉริยะที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาแบตเตอรีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น และปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังทำงานร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ในภาคเอกชนด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น ให้การสนับสนุนติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี 33 แห่งในประเทศไทย ทั้งยังสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับบางโรงงานใน จ.ปทุมธานี ซึ่งช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 27 เมกะวัตต์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอากาศถึง 390,000 ตัน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนหน่วยงานในไทยในเชิงเทคนิค เพื่อติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าหลายแห่งทั่วประเทศไทย
อุปทูตสหรัฐ ย้ำว่า ในฐานะเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครั้งประวัติศาสตร์ โดยมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50-52% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2548 หรือในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นจากเป้าเดิมเกือบสองเท่า
ขณะที่เอกอัครราชทูตอังกฤษ เสริมว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศจะออกกฎหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 78% ภายในปี 2578 เมื่อเทียบกับปี 2533 นับเป็นหนึ่งในเป้าด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ท้าทายที่สุดในโลกขณะนี้ และทั่วโลกกำลังเตรียมเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษในเดือน พ.ย.นี้
เอกอัครราชทูตอังกฤษ และอุปทูตสหรัฐ ได้กล่าวปิดท้ายด้วยการ ยกย่องบทบาทของไทยในฐานะผู้นำด้านการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค พร้อมทั้งกระตุ้นให้ทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเพิ่มเป้าการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลกให้เร็วขึ้น
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/938346