Tuesday, 8 July 2025
ECONBIZ

CPN ปั้น ‘GO Hotel’ ยึดหัวหาด Premium Budget Hotel ผุด 4 ทำเลปัง เจาะกลุ่มคลั่ง ‘Bleisure’ 990 บาทต่อคืน

(18 ก.ย.66) นางสาวสุรางค์ จิรัฐิติกาลโชติ Head of Hotel Development บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า จากความเชี่ยวชาญของเซ็นทรัลพัฒนา และการมี Ecosystem ที่ดีเชื่อมต่อกันอย่างลงตัวภายในเครือทำให้เรามีความมั่นใจในการขยายธุรกิจโรงแรมไปยังทำเลศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ติดหรือใกล้กับศูนย์การค้าเซ็นทรัลหรือโรบินสัน รวมถึงการบุกเบิกพอร์ต Premium Budget Hotel ในชื่อ GO! Hotel โดยเรามุ่งมั่นยกระดับประสบการณ์การพักผ่อน สะท้อนได้จากการดีไซน์และการบริการที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพรองรับแนวโน้มความต้องการพักอาศัยใน Budget Hotel ที่เริ่มได้รับความนิยม

“เราได้เปิดบริการ GO! Hotel แห่งแรกที่บ่อวิน และขณะนี้ได้ขยายเพิ่มอีก 3 แห่งคือ GO! Hotel ชลบุรี, ศรีราชา ทั้งหมดอยู่ในจังหวัดชลบุรี และ GO! Hotel บ้านฉางในจังหวัดระยอง โดยทั้ง 4 โลเคชันเป็นการขยายแบบ Cluster Region ครอบคลุมภาคตะวันออก เจาะเขตเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อสร้างโรงแรม GO! Hotel ให้เป็น Strategic Hotel บน Strategic Location” นางสาวสุรางค์ กล่าว 

นายภูมิ จิราธิวัฒน์ Head of Hotel Investments and Operations บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า “เราตั้งใจปั้นให้ GO! Hotel เป็นโรงแรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แบบ ‘Bleisure’ เป็น Top of Mind ของการเดินทางทั้ง Business และ Leisure สำหรับนักเดินทางทั่วประเทศ GO! Hotel เปิดตัวที่แรกที่บ่อวิน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มี Occupancy Rate มากกว่า 80% ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญและการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจ Premium Budget Hotel และพร้อมตอบรับการเติบโตของธุรกิจและขยายโรงแรมไปทั่วประเทศ”

“GO! Hotel เป็นโรงแรมที่เหมาะสำหรับคนทุกรุ่น ทุกวัย และทุกจุดประสงค์ของการเดินทาง ด้วยการดีไซน์ห้องพักให้ตอบโจทย์ทั้งการพักผ่อน Relax และสะดวกสบายด้วยโลเคชั่นใกล้ศูนย์การค้า หรือนักเดินทางกลุ่ม Business ก็สามารถใช้โรงแรมของเราเป็นที่ทำงาน เพราะมีพื้นที่โต๊ะทำงานและปลั๊กพร้อมใช้งานได้ทั่วทุกมุมห้อง และยังมีจุดแฮงค์เอ้าท์กับเพื่อนร่วมงานบริเวณล็อบบี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถรองรับ กลุ่มนักท่องเที่ยวตาม Music Festival รวมถึงกลุ่ม Corporate หรือหน่วยงานราชการ ต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่อีกด้วย” นายภูมิ กล่าว 

สำหรับ 5 จุดเด่นของ GO! Hotel ที่มากกว่าการพักผ่อน ประกอบไปด้วย…

1. สัมผัสประสบการณ์นอนดี ด้วยเตียงนุ่ม ขนาดใหญ่พิเศษ พร้อมเครื่องนอนระดับพรีเมียม รวมถึงม่านหน้าต่างแบบมืดสนิทไม่รบกวนการพักผ่อน และ ประสบการณ์ผ่อนคลายระดับสปา ด้วยผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำจากแบรนด์ Let’s Relax Lifestyle (LRL), ผ้าขนหนูผ้าฝ้าย 100%, พร้อมไดร์เป่าผมทุกห้อง

2. งานดีไซน์ทันสมัย สไตล์โก! ตัวอาคารมีเอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็น GO! Hotel ได้อย่างชัดเจน ผสานแนวคิดการออกแบบภายใน ด้วยการเลือกชุดสี ที่ให้ความรู้สึกสดใส มีพลัง และสนุกสนาน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์เข้ากันอย่างลงตัว

3. เป็นธุรกิจในเครือ Central Pattana ที่มีความมั่นคงและน่าเชื่อถืออันดับต้นของเมืองไทย และเป็นที่รู้จักในระดับสากล โลเคชันติดศูนย์การค้า และเป็นย่านธุรกิจ จะไปพักผ่อนหรือทำงานก็สะดวกสบาย ครบวงจร

4. Premium Budget ของ GO! ที่ไม่ใช่แค่โรงแรมราคาประหยัดทั่วไป ด้วยความใส่ใจทุกรายละเอียด เลือกใช้วัสดุพรีเมี่ยม เพื่อให้คุณพักสบาย ในราคาสุดคุ้มค่า รวมถึงโปรโมชั่นสุดพิเศษมากมาย เพื่อให้คุณได้พักผ่อนแล้วรู้สึกพร้อม GO! ไปยังจุดหมายหรือกิจกรรมต่อไปด้วยพลังที่เต็มเปี่ยม

5. ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนชอบเที่ยว ไปพักผ่อนทั้งแบบส่วนตัวหรือแบบกลุ่ม มี Co-Working Space และ ชุดโต๊ะทำงานภายในห้องพัก พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และจุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม 24 ชั่วโมง (Grab & GO) ตอบโจทย์คนทำงาน รวมถึง คอนเซปต์ Pet Friendly ตอบโจทย์ คนมีสัตว์เลี้ยง ให้คุณพาเพื่อนรัก 4 ขา มาเช็อินด้วยกัน 

OR ส่งเสริมเกษตรกรปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน เพิ่มผลผลิตที่สม่ำเสมอ ควบคู่รักษ์สิ่งแวดล้อม

OR มุ่งส่งเสริมการปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม พร้อมสนับสนุนโซลาร์เซลล์และพลาสติกคลุมโรงเรือนแก่เกษตรกรอำเภอแม่วางและอำเภอสะเมิงในการปลูกผักอินทรีย์

(18 ก.ย. 66) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) พร้อมด้วย นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และคณะผู้บริหาร ร่วมพิธีเปิดโครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน และเยี่ยมชมพื้นที่กลุ่มเกษตรกรปลูกกาแฟ อ.แม่แจ่ม ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ โดยมีนายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ให้การต้อนรับ

นายดิษทัต กล่าวว่า OR ได้พัฒนาโครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายผลองค์ความรู้การทำงานพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟร่วมกับภาคีเครือข่ายในหลายพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ยังขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะความรู้ได้มีองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน และเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกและผลิตกาแฟให้ได้ผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ควบคู่การอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยนำต้นแบบการปลูกกาแฟภายใต้ไม้ร่มเงา (ไม้เศรษฐกิจ) มาส่งเสริมในพื้นที่ ช่วยลดการเผาป่าทำไร่เลื่อนลอย ลดการใช้สารเคมียาฆ่าแมลง ทำให้ลดมลพิษต่าง ๆ ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และยังเป็นช่องทางในการจำหน่ายเมล็ดกาแฟด้วยระบบราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน

ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR SDG ทั้งในด้าน ‘S’ หรือ ‘SMALL’ ที่มุ่งเน้นการให้โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก ด้าน ‘D’ หรือ ‘DIVERSIFIED’ ที่มุ่งสร้างโอกาสเพื่อทุกการเติบโตทุกรูปแบบ และด้าน ‘G’ หรือ ‘GREEN’ ที่มุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของ OR 2030

ทั้งนี้ OR มีโรงแปรรูปและจัดเก็บเมล็ดกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ตั้งอยู่บนถนนเลี่ยงเมืองสันป่าตองหางดง ต.ทุ่งรวงทอง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดรับซื้อผลผลิตเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาในพื้นที่ภาคเหนือจากเกษตรกรผู้ในราคาที่เป็นธรรม และเป็นสถานที่แปรรูปเป็นกาแฟที่มีคุณภาพ ก่อนที่จะจัดส่งให้โรงคั่วกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน เพื่อคั่วและจำหน่ายไปยังร้าน คาเฟ่ อเมซอน ทั่วประเทศ

ในโอกาสนี้ OR ยังได้มอบโซลาร์เซลล์จากโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ปลูกแปรรูปพืชผัก สมุนไพรอินทรีย์ ฮักแม่วาง และมอบพลาสติกคลุมโรงเรือนแก่เกษตรกรจากอำเภอแม่วางและอำเภอสะเมิง ซึ่งอยู่ในโครงการส่งเสริมการผลิตพืชอินทรีย์ ที่ OR ได้ร่วมกับ บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ ‘โอ้กะจู๋’ ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรไทยให้มีผลผลิตทางการเกษตรที่สม่ำเสมอ มีคุณภาพ รวมทั้งมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน 

‘ท่องเที่ยวฯ’ เล่นใหญ่!! ปี 67 ดึง นทท.เข้าไทย 40 ล้านคน เล็งผนึกกำลังทำงานรอบทิศ พร้อมชูวัฒนธรรมถิ่นเป็นจุดขาย 

(18 ก.ย. 66) จากการประเมินแนวโน้มรายได้รวมจากการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ตั้งแต่ปี 2566-2570 ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ไว้เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าในปี 2570 ประเทศไทยจะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 5,599,377 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจีดีพี โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 4,479,502 ล้านบาท และรายได้จากตลาดในประเทศ 1,119,875 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อดูเฉพาะเทรนด์การเติบโตของรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศ จะพบว่า...
- ในปี 2566 คาดอยู่ที่ระดับ 1,620,000 ล้านบาท
- ในปี 2567 คาดอยู่ที่ระดับ 2,292,968 ล้านบาท
- ในปี 2568 คาดอยู่ที่ระดับ 2,930,723 ล้านบาท
- ในปี 2569 คาดอยู่ที่ระดับ 3,656,910 ล้านบาท
- ในปี 2570 คาดอยู่ที่ระดับ 4,479,502 ล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าว นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้เตรียมตั้งเป้าหมายเชิงท้าทาย เพื่อสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศ 4 ล้านล้านบาทให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยแบ่งเป็นรายได้การท่องเที่ยวเฉพาะตลาดต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.8% จากปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดซึ่งมีสร้างรายได้ 1.9 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้ตลาดในประเทศวางเป้าไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง และคณะรัฐมนตรี ต่างเห็นตรงกันว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นกระทรวงสร้างรายได้เข้าประเทศได้รวดเร็ว เป็นควิกวินของเศรษฐกิจไทย โดยนายกฯ เศรษฐา เป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ บูรณาการความร่วมมือกับทุกกระทรวง เห็นได้จากนโยบายยกเว้นวีซ่า (วีซ่า-ฟรี) เป็นการชั่วคราวนานประมาณ 5 เดือนแก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567 ตามที่ ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ก.ย. สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว”

รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุผลที่นำร่องมาตรการวีซ่า-ฟรีเป็นการชั่วคราวกับตลาดจีนก่อน เนื่องจากในยุคก่อนโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2562 ตลาดจีนถือเป็นฐานลูกค้าหลัก เดินทางเข้าประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 จำนวนกว่า 11 ล้านคน แต่พอเข้าสู่ยุคหลังโควิด-19 พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2566 เดินทางเข้ามาน้อยกว่าที่คาดไว้ จากข้อจำกัดเรื่องกระบวนการขอวีซ่า และกระแสข่าวในโซเชียลมีเดียที่มีการเผยแพร่ข่าวลือเชิงลบของประเทศไทย ทำให้หน่วยงานรัฐต้องเร่งกระตุ้นและทำตลาด สร้างความเชื่อมั่นในการดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง

“เบื้องต้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดการณ์ว่าช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนคนต่อเดือน จากนั้นจะประเมินผลการดำเนินมาตรการและอาจพิจารณาเพิ่มประเทศเป้าหมายในการออกมาตรการวีซ่า-ฟรี”

รมว.ท่องเที่ยวฯ เผยอีกว่า ในปีหน้ามีเป้าหมายที่จะสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2567 ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 100% เทียบกับรายได้รวมปี 2562 จากเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 40 ล้านคน ปรับเพิ่มจากเป้าเดิมที่ ททท. ตั้งไว้ว่าจะดึงเข้ามาไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน

ขณะที่เป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2566 ตั้งเป้าไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 80% ของปี 2562 โดยจากแนวโน้มตลอดปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 28 ล้านคน โดยหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นฮับบันเทิงแห่งเอเชีย (Entertainment Hub of Asia) แนวทางส่งเสริมการจัดอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและกีฬาในประเทศไทย จะต้องเป็นงานที่แปลก ใหญ่ ต่อเนื่อง สร้างสรรค์ และใช้พลังของซอฟต์เพาเวอร์ เพื่อแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ ในการชิงเจ้าฮับบันเทิงของเอเชีย ซึ่งต้องบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความสะดวกด้านการเดินทางไปยังสถานที่จัดงาน

ด้าน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ปรับเพิ่มเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 เป็น 40 ล้านคน จากเป้าเดิมที่ ททท.ตั้งไว้อย่างน้อย 35 ล้านคน มองว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นไปได้ เพราะทั้งนายกฯ เศรษฐา รวมถึงทุกกระทรวงพร้อมสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ททท.จึงพร้อมพุ่งเป้าการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย 40 ล้านคน

โดยได้วางยุทธศาสตร์ ‘PASS’ ขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวซึ่งกำลังถูกจับจ้องในฐานะ ‘ควิกวินเศรษฐกิจ’ ไทยตอนนี้ ประกอบด้วย…

1. Partnership 360 ผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

2. Accelerate Access to Digital Worldพัฒนาองค์กรบนพื้นฐานการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล

3. Sub-Culture Movementการลงลึกถึงระดับความเคลื่อนไหวของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย แม้ประเทศไทยจะเป็นมหาอำนาจการท่องเที่ยว แต่การแข่งขันช่วงชิงนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นสิ่งที่เคยทำอย่างการทำตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มกระแสหลักและกลุ่มความสนใจเฉพาะยังต้องเดินหน้า แต่ต้องเจาะกลุ่มความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมย่อยด้วย เพื่อสร้างความแตกต่างแก่ทั้งองคาพยพท่องเที่ยวไทย จำเป็นต้องลงลึกถึงระดับดีเอ็นเอความชอบของนักท่องเที่ยวที่มีเหมือน ๆ กัน

4. Sustainably NOWมุ่งสู่ความยั่งยืนแบบทันที เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ แต่ต้องเดินเข้าหา ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถยืนอยู่บนโลกธุรกิจได้ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย นับเป็นต้นทุนที่มีเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาสัมผัส แต่เมื่อเกิดภาวะโลกร้อน อย่างภาวะไฟป่าใน จ.เชียงใหม่ ทำให้ไม่สามารถท่องเที่ยวได้หลายเดือน นี่คือสิ่งที่กระทบชัดเจนต่อภาคการท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ ยังได้ดำเนินกลยุทธ์ ‘The LINK : Local to Global’ เชื่อมการทำงานแบบบูรณาการของสำนักงาน ททท.ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ด้วยแนวคิดLocal Experience, Innovation, Networking และ Keep Character อีกด้วย

“เทรนด์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในตอนนี้ ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในแง่ความยั่งยืนอย่างมาก ทำให้ ททท.วางเป้าหมายปี 2567 มุ่งเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย สู่การเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณค่าสูงและความยั่งยืน (High Value and Sustainable Tourism Destination) เพื่อยืนยันว่าภาคท่องเที่ยวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายโลก” นางสาวฐาปนีย์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ เผยข่าวดี ไทยชนะ ‘คดีโฮปเวลล์’ สิ้นสุดมหากาพย์ เอกชนเรียกค่าเสียหายหลายหมื่นล้าน

(18 ก.ย. 66) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แจ้งข่าวว่า ไทยชนะคดี ‘โฮปเวลล์’ แล้ว

เมื่อเวลาประมาณ 14.20 น. ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แจ้งข่าวว่า ‘ไทยชนะคดีโฮปเวลล์’ ซึ่งเป็นมหากาพย์อภิมหาโครงการด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ที่ถูกเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหาย

โดยนายพีระพันธุ์โพสต์เฟซบุ๊กสั้น ๆ มีเนื้อหาว่า “ไทยชนะคดีโฮปเวลล์ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่ายจากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท”

สำหรับกรณีการฟ้องร้อง โครงการโฮปเวลล์ มาจาก บริษัทโฮปเวลล์ เห็นว่าการที่ รฟท. เข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างเดิม ถือเป็นการยึดหรือเวนคืนระบบหรือพื้นที่สัมปทาน จึงเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาจาก กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นเงิน 59,000 ล้านบาท

‘จุลพันธ์’ เตรียมเรียกหน่วยงานฯ ถกแผน ‘พักหนี้เกษตรกร-SME’ ขีดเส้น 14 วัน ต้องได้ข้อสรุปกรอบแนวทาง-วิธีการทำงานทั้งหมด

(18 ก.ย.66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ในต้นสัปดาห์นี้คณะทำงานในโครงการพักหนี้ทั้งในส่วนของเกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับกรอบแนวทาง และวิธีการทำงานทั้งหมด ให้ได้ข้อสรุป เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ สำหรับเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 14 วัน หรือไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย. 2566

ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีลูกหนี้เกษตรกรทั้งสิ้นกว่า 4.2 ล้านบัญชี ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ราว 3 ล้านกว่าบัญชี ก็ต้องมาพิจารณาหลักเกณฑ์ และรายละเอียดว่าจะช่วยเหลืออย่างไร โดยคงไม่ได้ช่วยทั้งหมด เพราะในส่วนนี้เชื่อว่าจะมีรายใหญ่รวมอยู่ด้วย ส่วนว่ามาตรการจะครอบคลุมแค่ไหน หรือจะมีการกำหนดเพดานการช่วยเหลืออย่างไร ขอไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะได้รับคำสั่งจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลังมาแล้ว

“คงต้องดูกรอบวงเงินที่มีความเหมาะสม และต้องดูภาระของงบประมาณที่จะรับได้อีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะตอนนี้กระบวนการงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้านั้น ได้มีการกำหนดกรอบปฏิทินใหม่มาแล้ว โดยในส่วนนี้ก็ต้องไปดูภาระงบประมาณในแต่ละส่วน แต่ละโครงการ ต้องดูกรอบใหญ่ว่างประมาณมีภาระด้านอื่น ๆ อย่างไร ดังนั้นหลักของแนวทางการให้ความช่วยเหลือในโครงการพักหนี้ก็จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสอดคล้องกับงบประมาณด้วย” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ยืนยันว่าการดำเนินการจะไม่ช้าไปกว่าเดือน มี.ค. 2567 อย่างแน่นอน โดยนายกรัฐมนตรีตั้งธงมาแล้วว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ก.พ. 2567 กระทรวงการคลังก็จะต้องทำให้สำเร็จ โดยอาจจะต้องมีการทดสอบระบบก่อนวันเริ่มดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ส่วนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ คงไม่มีการให้ลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เบื้องต้นอาจจะใช้ข้อมูลร้านค้าเดิมที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมาเป็นพื้นฐาน แต่อาจจะต้องให้มีการยืนยันตัวต้นเพิ่มเติมบ้างเท่านั้น

ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้จ่ายในโครงการ โดยเฉพาะการกำหนดรัศมีการใช้จ่ายไม่เกิน 4 กิโลเมตรตามทะเบียนบ้านนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมามีข้อเสนอแนะเข้ามาเยอะว่าเรื่องนี้อาจเป็นข้อจำกัด ซึ่งรัฐบาลเองอาจจะมีการผ่อนปรนหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องรัศมีในการใช้จ่าย โดยอาจจะปรับมาเป็นให้ใช้ได้ภายในอำเภอตามทะเบียนบ้าน เพื่อทำให้กระบวนการใช้เงินของประชาชนผ่านดิจิทัลวอลเล็ตราบรื่นที่สุด

“ยอมรับว่าข้อเสนอที่ให้ปรับมาเป็นใช้จ่ายจากรัศมี 4 กิโลเมตรมาเป็นใช้จ่ายได้ภายในอำเภอตามทะเบียนบ้านนั้น เป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุด แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรอยากให้รอฟังดี ๆ อีกครั้ง โดยรัฐบาลยังคงยึดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนเป็นหลัก ดังนั้นหากจะปรับโดยการปลดล็อกการใช้จ่ายจนอิสระ หรือฟรีไปเลยคงไม่มีทาง เพราะอย่างไรก็ตามคนก็ต้องกลับภูมิลำเนากันอยู่แล้ว ส่วนข้อกำหนดในการซื้อสินค้ายังต้องรอสรุปอีกนิด เพราะมีเรื่องที่ต้องพิจารณาค่อนข้างมาก เช่น กรณีที่เป็นบริการของรัฐ ควรจะให้ใช้ได้หรือไม่ เพราะเงินอาจจะไม่หมุนเข้าระบบเศรษฐกิจตามที่ควรจะเป็น เช่น การจ่ายค่าไฟฟ้า แต่ที่กำหนดชัดเจนแน่นอนแล้ว คือ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าประเภทอบายมุข และการชำระหนี้สินได้อย่างแน่นอน” นายจุลพันธ์ กล่าว

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องกู้อย่างแน่นอน รัฐบาลมีกลไกในการดำเนินการได้ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอดู ตอนนี้ยังตอบอะไรไม่ได้ ส่วนที่มีข้อเสนอว่าให้นำแอปพลิเคชันเป๋าตังเข้ามาใช้นั้น มองว่า แอปพลิเคชันเป๋าตังก็คือเป็นสินทรัพย์ของรัฐบาลอยู่แล้ว หากท้ายที่สุดแล้วสรุปว่าจะนำแอปฯ เป๋าตังไปใส่ในบล็อกเชนของโครงการ ก็มองงว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หากทำจริงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ในมุมมองของรัฐบาลเห็นว่าหากอะไรที่พัฒนาแล้วทำให้ดีขึ้นก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าโครงการจะเป็นประโยชน์กับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเพียงแค่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าโครงการ ก็เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้ว ร้านค้ามีการวางแผนการสั่งซื้อสินค้า วัตถุดิบเพื่อมารอจำหน่าย เรียกว่าเกิดการหมุนเวียนในระบบทันทีตั้งแต่โครงการยังไม่เริ่ม และเรายังมองว่า การใช้จ่ายในโครงการจะได้รับความนิยม ประชาชนจะใช้จ่ายหมด 10,000 บาทภายในไม่เกิน 1-2 สัปดาห์แน่นอน

อย่างไรก็ดี ข้อกังวลเกี่ยวกับการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในโครงการ เช่น การใช้จ่ายแบบผิดวัตถุประสงค์ โดยการฮั้วกับร้านค้าเพื่อนำเป็นเงินสดออกมานั้น ยอมรับว่าอาจเกิดขึ้นได้ แต่กระทรวงการคลังจะพยายามหาทางป้องกันให้มากที่สุด โดยมองว่าระบบการดำเนินงานผ่านบล็อกเชนจะสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะและหาทางแก้ไขต่อไป

‘พีระพันธุ์’ เตรียมลดราคาน้ำมันเบนซิน ระบุ!! ให้ทันสิ้นปีเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 

(18 ก.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีการหารือเรื่องมาตรการการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินหรือไม่ ว่า จะมีการหารือเรื่องราคาน้ำมันเบนซิน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งจะพยายามลดให้ทัน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน แต่จะเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางก่อน โดยจะเร่งคุยกับกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (19ก.ย.) จะไปหารือกับกรมศุลกากร

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีปัญหาในเรื่องของน้ำมันและไฟฟ้าต่างกัน ซึ่งไฟฟ้ามีคณะกรรมการต่างๆ คอยกำกับดูแลอยู่ แต่น้ำมันกลับไม่มีการกำกับดูแล อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจดูเรื่องต้นทุน

แม้ในภาพใหญ่ก็พบว่าเกิดจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ทราบว่าต้นทุนที่ขึ้นมีอะไรบ้าง และขึ้นจริงหรือไม่ โดยตรงนี้จะต้องหาแนวทางแก้ไขตามอำนาจของหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลต่อไป 

“น้ำมันเป็นสินค้าพิเศษ ประเภทอุปโภคบริโภคธรรมดา เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคน และเกี่ยวกับต้นทุนสินค้าต่างๆ รวมถึงเป็นเรื่องของความมั่นคง เพราะฉะนั้นน้ำมันเป็นสินค้าพิเศษ ต้องกำหับดูแลที่รอบคอบรัดกุม และต้องได้ข้อมูลที่ถูกตัองมากกว่านี้” นายพีรพันธุ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า การลดราคาน้ำมันเบนซินจะต้องเกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยจะพยายามทำให้โครงสร้างมีความถูกต้องมากขึ้น

'กรมพัฒนาธุรกิจฯ' เปิดโพย 10 สินค้าสุดปัง ที่ นทท.แห่ซื้อ 'มะขามหวานอบแห้งแกะเมล็ด-ผ้าห่มผ้าฝ้าย' มาแรง!!

(18 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557-2565 กรมได้นำผลิตภัณฑ์ชุมชนจำนวน 2,375 รายการ จากผู้ประกอบการสินค้าชุมชน 112 ราย เข้าไปวางจำหน่าย ณ สนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต และดอนเมือง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อกลับไปเป็นของฝาก ของที่ระลึก หรือใช้เอง

โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สนับสนุนพื้นที่ และบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด ผู้บริหารจัดการร้านค้าในสนามบิน สามารถสร้างยอดขายรวมมากกว่า 630 ล้านบาท แบ่งเป็น สุวรรณภูมิ 490 ล้านบาท ภูเก็ต 119 ล้านบาท และดอนเมือง 21 ล้านบาท และนอกจากช่องทางการขายในสนามบินแล้ว ยังคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.kingpower.com ได้รวมกว่า 4 ล้านบาทด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ มะขามหวานอบแห้งแกะเมล็ด ผ้าห่มผ้าฝ้าย น้ำมันเหลือง กรอบรูปไม้สัก กระโปรงปักเลื่อม น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ยาหม่องเขียว ผ้าไหมคลุมไหล่ แชมพูสมุนไพร (มะกรูด) และก้านไม้หอมระเหย ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมผลิตภัณฑ์ไทยที่ไม่เพียงแค่งดงาม แต่แสดงถึงอัตลักษณ์โดดเด่นที่มีคุณภาพและรสนิยม

“กรมพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนให้มีโอกาสด้านการตลาดที่หลากหลาย โดยช่องทางการจำหน่ายในท่าอากาศยานเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กรมและหน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นตามหลักการ DBD SMART Local ให้มีโอกาสขยายตลาดในระดับสากล รวมถึงเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศให้มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” นายทศพลกล่าว

ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีเป้าหมายสำคัญในการพลิกโฉมการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนตามแนวทาง DBD SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น ด้วยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์และคุณค่า นำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีจุดเด่นและความแตกต่าง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและเชื่อมโยงช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local ที่มีภาพลักษณ์ที่ดี และความพร้อมทางการตลาดให้มีโอกาสได้จำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ สนามบินนานาชาติ และช่องทางออนไลน์

‘รมว.ดีอีเอส’ เล็งดัน ‘Digital Nomad Visa’ ขับเคลื่อนศก. หวังดึงดูดกลุ่มแรงงาน ขยายการรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล

(17 ก.ย. 66) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผย หลังการลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชน ร่วมกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยได้รับข้อมูลจากคนในท้องถิ่นว่า ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจออนไลน์ (Digital Nomad) ที่ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 5-6 พันคน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่จำนวนมาก จึงขอให้นายกรัฐมนตรี สนับสนุนให้มีการขยายตัวกลุ่ม Digital Nomad เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาทำงาน ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้รับปากว่าจะรีบพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า Digital Nomad Visa จะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ และสามารถขยายผล ในวงกว้างให้กับจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยทางดีอีเอสจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบาย Digital Nomad หรือ ‘Remote Worker’ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ในการดึงดูดแรงงานขั้นสูง และกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลน

“ทั้งนี้ จะทำการดึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Top 600 ระดับโลกก่อน และเชื่อว่ามาตรการนี้ จะส่งผลประโยชน์กับทางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยโดยรวมอย่างแน่นอน” รมว.ดีอีเอส กล่าว

‘รองฯ อ้วน’ สาธิตผัดข้าวกะเพรา กลางงาน CAEXPO 2023 ย้ำ!! รัฐฯ หนุนเอสเอ็มอีเต็มที่ ดันสินค้าท้องถิ่นไทยสู้ตลาดโลก

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 66 ที่นครหนานหนิง ประเทศจีน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ใช้โอกาสในการนำคณะผู้บริหารระดับสูง เดินทางเยือนเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2566 เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ ‘China–ASEAN Expo’ (CAEXPO 2023) ครั้งที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมระหว่างประเทศนครหนานหนิง (Nanning International Convention & Exhibition Center) นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน

โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 66 เข้าพบปะหารือกับผู้ประกอบการไทยที่มาออกบูธในงาน CAEXPO จำนวน 76 รายใน 4 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มแฟชั่นและเครื่องประดับ กลุ่มสุขภาพและความงาม และกลุ่มของใช้ในครัวเรือนและของตกแต่งบ้าน โดยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม SMEs และได้ยืนยันกับผู้ประกอบการว่า จะเพิ่มความเข้มข้นในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ ยังได้ใช้โอกาสนี้ เข้าเยี่ยมชมคูหาส่งเสริมข้าวไทย และสาธิตการทำเมนูผัดกะเพราหมู ซึ่งมั่นใจว่าข้าวไทย จะได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อ ผู้นำเข้าชาวจีน และผู้เข้าเยี่ยมชมงานจากประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์แสดงสินค้าดีเด่นจีน-อาเซียน หรือ China ASEAN Merchantile Exchange (CAMEX หรือ คาเม็กซ์) เป็นโครงการสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าจีน – อาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือ ‘One Belt One Road’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทางเขตกว่างซี ลงทุนก่อตั้งและบริหารจัดการโดยบริษัทสิงคโปร์ CSILP (China-Singapore Nanning International Logistic Park) เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 โดยมั่นใจว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายสินค้าจากไทยและอาเชียนเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น โดยจะมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด กับผู้ประกอบการในการนำสินค้ามาจำหน่ายต่อไป

ปัจจุบันมีสินค้าจากประเทศไทยจัดแสดงอยู่ในศูนย์ CAMEX จำนวน 18 บริษัท โดยเป็นสินค้าประเภทอาหาร เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ ข้าวเหนียวมะม่วง จาก จ.ตาก หมอนยางพารา จาก จ.อุตรดิตถ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ เมืองหนานหนิง ได้บูรณาการร่วมกันกับพาณิชย์จังหวัดต่างๆ ในการส่งเสริมและผลักดันสินค้าโดดเด่นจากท้องถิ่นเข้าร่วมจัดแสดงในศูนย์ฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของ SMEs ไทยในการบุกตลาดจีนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม ขณะเยี่ยมชมคูหา Thailand Pavilion ในงาน China ASEAN Expo ได้สาธิตทำข้าวผัดกะเพรา เพื่อให้คนร่วมงานได้ชิม หนึ่งในการโปรโมตข้าวไทยและสมุนไพรไทย

‘นักวิชาการนิด้า’ แนะ ควรวางเงื่อนไขแจกเงินดิจิทัลให้คุ้มค่า ต้องเพิ่มทักษะอาชีพ-เน้น ศก.ฐานรากให้การหมุนเวียนเม็ดเงิน

‘นักวิชาการนิด้า’ แนะแนวทางแจกเงินดิจิทัลคนละ1 หมื่นบาท ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชี้ควรวางเงื่อนไขให้พัฒนาทักษะอาชีพรับทักษะใหม่ๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ แนะวางเงื่อนไขให้เกิดการทยอยใช้จ่ายในเศรษฐกิจชุมชน เน้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินหลายรอบ

รัฐบาล ‘เศรษฐา1’ ได้มีการบรรจุนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ถึงระดับฐานราก

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 66 นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่าการที่รัฐบาลออกมาตรการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยหวังให้เกิดการใช้จ่าย บริโภคของประชาชนเนื่องจากเห็นถึงข้อจำกัดในการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยที่มีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91.6% ซึ่งทำให้กำลังใช้จ่ายของคนไทยมีจำกัด

หากจะให้มีการใช้จ่ายเพิ่มรัฐบาลจำเป็นที่ต้องเอาเงินไปใส่มือประชาชนเพื่อให้ประชาชนไปใช้จ่าย แล้วรัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่าย และคาดหวังให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนคึกคักซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่มาของเงินจำนวนนี้เป็นเงินกู้ซึ่งอาจจะเป็นการกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจมาใช้ก่อนแล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณใช้คืนภายหลัง การกู้ขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งอาจมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินเพิ่มเติมซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ระดับ 61.7% ต่อจีดีพี ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดคือ “เงินมีต้นทุน” จะทำอย่างไรให้เงินจำนวนนี้มีความคุ้มค่ามากที่สุด สามารถหมุนเวียนและสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากที่สุด

“การกำหนดเทคโนโลยีที่จะมาใช้สำหรับการแจกเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าไหร่สำหรับโครงการนี้เพราะหากจะใช้บล็อกเชน หรือใช้โครงการบาทดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้เริ่มมีการทดลองไปแล้วระยะหนึ่งก็สามารถทำได้ แต่การหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบเนื่องจากหากให้มีการใช้เงินในร้านค้าสะดวกซื้อขนาดใหญ่ หรือซื้อของจากโมเดิร์นเทรดก็จะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช้า เนื่องจากเมื่อผู้ซื้อซื้อสินค้าจากร้านค้ารายใหญ่พวกนี้จะมีอำนาจต่อรองสูง กว่าที่จะเอาเงินที่ได้ไปให้ซัพพายเออร์ก็จะใช้เวลาถึง 3-4 เดือน ต่างจากที่มีการซื้อกันในกลุ่มลูกค้ารายย่อยก็จะทำให้เงินหมุนเวียนได้รวดเร็วกว่า

นอกจากนั้น บางสินค้าก็ไม่ได้มีซัพพายเชนในประเทศไทย แต่เป็นแค่มาประกอบในเมืองไทยทำให้สินค้าบางชนิดไม่ได้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยเท่าที่ควร หากรัฐบาลสามารถกำหนดเงื่อนไขลงไปถึงสินค้าที่มีซัพพายเชนในไทยยาวๆก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และการลงทุนเพิ่มขึ้น”

นายมนตรี กล่าวต่อว่าแนวทางของการแจกเงินดิจิทัลที่จะเกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุดก็คือการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่รับเงินดิจิทัลจากโครงการนี้ต้องเข้าโครงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ ปรับทักษะ (Upskills – Reskills) การทำงานให้สอดคล้องกับตลาดงานสมัยใหม่ที่ต้องการใช้ความรู้และทักษะใหม่ๆ เช่น ทักษะดิจิทัล และทักษะเรื่องการใช้ข้อมูล หากรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินให้ผู้รับเงินต้อง Upskills – Reskills ไปด้วยก็จะเป็นผลดีต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลที่ต้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 และเพิ่มเงินเดือนให้กับแรงงานระดับปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 ซึ่งค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ต้องมาพร้อมกับความสามารถและทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับอีกแนวทางที่สำคัญของการกำหนดเงื่อนไขในการใช้เงินดิจิทัลที่รัฐบาลควรกำหนดคือ ควรทำให้การใช้จ่ายเงินนั้นทยอยลงสู่ระบบเศรษฐกิจ คือให้เกิดการใช้ที่ต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร เช่น สมมุติว่ากำหนดให้การจ่ายใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทเป็นระยะๆ เช่น ไตรมาสละ 3,000 บาท 2 ไตรมาส และไตรมาสสุดท้ายให้ใช้ 4,000 บาท ก็จะทำให้เงินจำนวนนี้หมุนเวียนใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจได้นานทั้งปี

โดยเงินจำนวนนี้แม้จะเป็นอีกกระเป๋าของรัฐที่ให้ประชาชนใช้จ่ายแต่เป็นเงินกู้ที่กู้มาทำโครงการที่คาดหวังให้เศรษฐกิจโต ดังนั้นความเสี่ยงก็คือหากโครงการออกไปแล้วเศรษฐกิจไม่โต หรือเศรษฐกิจคึกคักแค่สั้นๆ ก็จะทำให้จีดีพีโตได้น้อย และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะเพิ่มสูงขึ้นซึ่งก็เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อหนี้สาธารณะสูงขึ้น

“การแจกเงินดิจิทัลจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจนั้นตนไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะพายุหมุนอาจจะเป็นไต้ฝุ่นที่พัดให้บ้านเรือนพังได้ ถ้าหากทำให้เป็นพายุดีเปรสชั่นอาจจะดีกว่าเพราะฝนจะตกแบบเรื่อยๆค่อยๆสม่ำเสมอ เหมือนเงินที่จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปก็จะทำให้เกิดผลดีกับระบบเศรษฐกิจ แล้วหากสามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนในระดับฐานรากของปิรามิดของสังคม ก็จะทำให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น” นายมนตรี กล่าว

‘กองสลาก’ เปิดขาย ‘สลาก L6’ งวดแรก ผ่านแอปฯ เป๋าตัง หนุนคนไทยซื้อเข้าถึงสลากฯ ในราคาที่เป็นธรรม

(17 ก.ย. 66) พันโทหนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สำนักงานสลากฯ ดำเนินโครงการสลากดิจิทัล โดยทำการเปิดขายครั้งแรกในงวดวันที่ 16 มิ.ย. 65 ที่จำนวน 5 ล้านใบ ได้รับความสนใจจากประชาชนผู้ซื้อสลากฯ รวมทั้งตัวแทนรายย่อยผู้ค้าสลากเป็นจำนวนมาก มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ มีปริมาณสลากดิจิทัลทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านใบ และยังคงสามารถจำหน่ายได้หมดทุกงวด สะท้อนให้เห็นถึงความชัดเจนของแนวทางการแก้ปัญหาสลากเกินราคาฯ ที่ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า “สลาก 80 บาทมีอยู่จริง” และภายในปี 2566 สำนักงานสลากฯ ยังคงตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนผู้ซื้อสามารถเข้าถึงสลากฯ ราคา 80 บาท

ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวต่อไปว่า สำหรับสลากงวดวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่จะเริ่มขายในวันที่ 17 กันยายน 2566 นี้ เป็นงวดแรกที่จะจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6 : L6) ทั้งสลากใบ และสลากดิจิทัล รวม 101 ล้านฉบับ แบ่งเป็น สลากใบ 80 ล้านฉบับ และสลากดิจิทัล 21 ล้านฉบับ ทั้งนี้ สลากใบจะมีลักษณะเหมือนกับสลากที่ขายอยู่ในปัจจุบันทุกประการ คือ มีการพิมพ์บนกระดาษป้องกันการปลอมแปลง มีลายน้ำ และเส้นไหมสอดแทรกอยู่ในเนื้อกระดาษ มีการพิมพ์สัญลักษณ์ป้องกันการปลอมแปลงต่าง ๆ รวมถึงพิมพ์ข้อความ L6 แบบใบ ลงบนสลากด้วย ในขณะที่ สลากดิจิทัล ไม่ได้มีการพิมพ์ขึ้นมาเป็นใบ แต่เป็นข้อมูลที่อยู่ในระบบดิจิทัล มีการพิมพ์ข้อความ L6 แบบดิจิทัล บนสลาก และทำการซื้อขายผ่านแอปเป๋าตัง

ส่วนการขึ้นเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6 : L6) แบบใบ สามารถขึ้นเงินรางวัลได้ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสินทุกสาขา โดยนำสลากใบที่ถูกรางวัลพร้อมด้วยบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6 : L6) แบบดิจิทัล ระบบจะตรวจสอบการถูกรางวัลให้อัตโนมัติ โดยผู้ซื้อสามารถเลือกรับเงินรางวัลโดยการโอนเข้า บัญชีธนาคารกรุงไทย หรือเข้า G-Wallet ของผู้ซื้อได้ภายในไม่เกิน 2 ชั่วโมง

ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า สำนักงานสลากฯ ยังคงตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนผู้ซื้อ สามารถเข้าถึงสลากฯ ราคา 80 บาท ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัล เป็น 30 ล้านใบ หรือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 ล้านใบต่องวด ตามภาวะตลาดในแต่ละงวด และไม่กระทบสลากแบบใบในระบบที่มีอยู่ 80 ล้านใบ โดยจะทยอยเชิญรายย่อยที่ลงทะเบียนเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัลมาทำสัญญา

รวมทั้งยังมีการเปิดให้ตัวแทนประเภทบุคคลรายย่อยทั่วไป คนพิการ สมาคม องค์กร มูลนิธิ และผู้มีสิทธิ์ทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล แจ้งความประสงค์โดยสมัครใจเข้าร่วมเป็น ตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัล (Lottery 6 หรือ L6) ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.2566 – 28 ต.ค.2566 ผ่านเว็บไซต์ www.glo.or.th อีกด้วย

‘สภาอุตฯภาคเหนือ’ ชี้ ฝุ่นควันเชียงใหม่ทำสูญ 3 หมื่นลบ. หวังโครงการ ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’ แก้ปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืน

อย่างที่ทราบกันดีว่า ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน ต้องเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อเวลาพูดถึงเชียงใหม่ คนส่วนใหญ่พูดถึงหมอกควัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างประเทศ ต่างมุ่งไปที่จุดเดียวกันว่า เชียงใหม่ในวันนี้ มาพร้อมกับคําว่า “ฝุ่นควัน” แน่นอนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบทั้งเรื่องด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจ

นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควัน PM2.5 ว่า จากผลการวิจัยและเก็บข้อมูล พบว่า เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่เสียหายประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเรื่องแรกที่ได้รับผลกระทบ เป็นเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ เกิดการเจ็บป่วย มีค่าใช้จ่ายในการรักษาตลอดในช่วงเวลาสามเดือนที่เกิดฝุ่นควัน และยังเกิดความเสียหายต่อประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ หากภาคแรงงานในช่วงนั้น เกิดการเจ็บป่วย แน่นอนว่า ย่อมทำให้ภาคการผลิตต้องชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ความเสียหายส่วนที่สอง เป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งระบบนิเวศเชิงเศรษฐกิจและเชิงเกษตร เนื่องจากภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ มีอุตสาหกรรมที่สําคัญ นั่นก็คืออุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เมื่อระบบนิเวศเปลี่ยน ย่อมส่งผลให้หลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไปมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากผลผลิตภาคการเกษตรที่ลดลง จากผลกระทบในเรื่องของโลกร้อน

และไม่เพียงแต่ความเสียหายจากผลผลิตที่ลดลงเท่านั้น ในด้านสิ่งแวดล้อมยังต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการที่จะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเช่นเดิม

และแน่นอนว่า เรื่องที่ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนที่สุด ก็คือเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ โดยในช่วงปกตินั้นจังหวัด เชียงใหม่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 10,000 หมื่นล้านบาทต่อเดือนนะครับ แต่ทว่าในช่วงสามเดือนที่เกิดวิกฤตฝุ่นควันนั้น ไม่ว่าคนไทยหรือชาวต่างชาติ แทบจะไม่มาเยือนเชียงใหม่เลย ทำให้รายได้หายไปราว 30%

นอกจากนี้ วิกฤตฝุ่นควันที่เกิดขึ้น ยังลามไปถึงภาคการค้าการลงทุนด้วย โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจโรงแรม และโรงเรียนหลายโครงการได้ชะลอการลงทุน เนื่องจากมองว่า จะเกิดความเสียหายต่อธุรกิจหากสถานการณ์ฝุ่นควันยังเกิดขึ้นทุกปี

“ความไม่แน่นอนเป็นเรื่องสําคัญมากในการที่นักลงทุนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจ ทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การลงทุนธุรกิจโรงเรียนและโรงแรม ได้หยุดชะงักไปหลายโครงการมาก และบางส่วนเปลี่ยนไปลงทุนที่อื่น ซึ่งภาคการลงทุนถือว่าสำคัญมาก และเราต้องสูญเสียเม็ดเงินส่วนนี้ไป 3-4 หมื่นล้านทุกปี เป็นระยะเวลานับ 10 ปีแล้ว ซึ่งเราต้องหันมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และเชื่อว่าโครงการที่เป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ที่เปิดโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ เพื่อนำเศษตอซังข้าวโพดและเศษใบไม้ ไปต่อยอดเป็นพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นโครงการที่ดีที่ได้ภาคเอกชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูสภาพอากาศของเชียงใหม่ได้อย่างยั่งยืน”

'ไทย' หวัง!! รัฐบาลใหม่ ฟื้น FTA 'ไทย-อียู' อีกฟันเฟืองกอบกู้เศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น รัฐบาลใหม่ กับการฟื้นสัมพันธ์ FTA ไทย-อียู เมื่อวันที่ 17 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สหภาพยุโรป (European Community) เป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ทั้งในด้านความกว้างและความลึก กล่าวคือ มีประเทศสมาชิก 27 ประเทศ GDP รวมกันเป็นประมาณ 15 % และคิดเป็นอันดับ 3 ของโลก ในเชิงลึก ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยอมสูญเสียอธิปไตยทางการเงิน โดยใช้เงินสกุลเดียว คือ ยูโร และมี European Central Bank เป็นธนาคารกลาง

แม้ว่าจะเป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ในทางปฏิบัติได้ก่อเกิดวิกฤตและผลกระทบทางเศรษฐกิจมากมาย...วิกฤตหนี้ยูโร เช่นปี 2015 และ Brexit ในปี 2016 ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ติดตามเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของยุโรปอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะหลังปี 2000 เป็นต้นมา เมื่อจีนเปิดเสรีและประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้ภาคธุรกิจของยุโรปกลับถูกทิ้งห่างในอุตสาหกรรมใหม่ แม้จะยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเก่าบางสาขา

เดิมทีไทยกับยุโรปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมายาวนาน ยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย (รองจากจีนและสหรัฐฯ) ยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ในไทย (รองจากญี่ปุ่นและจีน) แต่ไทยยังไม่สามารถทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปได้สำเร็จ โดยการเจรจา EU-Thailand FTA ซึ่งเริ่มต้นกว่า 10 ปีมาแล้ว ถูก EU สั่งระงับไปเนื่องจากมีการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย ขณะที่ เวียดนามได้บรรลุความตกลง FTA กับ EU สำเร็จแล้ว เมื่อ 2020  ทำให้อุตสาหกรรมเวียดนามสามารถส่งออกไปยัง EU แบบปลอดภาษี และได้เปรียบในเชิงการแข่งขันเหนืออุตสาหกรรมไทย

ถึงกระนั้น ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยและ EU กำลังเริ่มกลับมานั่งโต๊ะเจรจา FTA ใหม่ น่าจะถือเป็นผลงานสำคัญชิ้นแรกของรัฐบาลใหม่ที่จะผลักดันให้ FTA กับ EU เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว

‘กรณ์’ เตือน!! ‘แจกเงินดิจิทัล’ รัฐบาลต้องแบกดอกเบี้ยเพิ่ม ชี้!! กลไกเศรษฐศาสตร์ ทุกอย่างมีต้นทุน มี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’

(17 ก.ย. 66) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij’ ระบุว่า...

ว่าด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ กับ ภาระทางการคลัง

ระหว่างที่ถกเถียงกันเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขอให้สังเกตประมาณการสถานะทางการเงินล่าสุดของประเทศให้ดีครับ

กระทรวงการคลังเสนอประมาณการชุดนี้ในการประชุมครม.แรกของ #รัฐบาลเศรษฐา สำหรับใครที่ไม่ชอบดูตารางข้อมูลแบบนี้ ผมขอสรุปประเด็นสำคัญให้ดังนี้…

1.) รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น

2.) แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่า

3.) รัฐบาลเลยจะขาดดุลมากขึ้น (3% ของ GDP จากที่เดิมคาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8% ในปีหน้า)

4.) ในขณะที่เศรษฐกิจโตช้ากว่าที่คาดไว้เดิม

5.) ดังนั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงสูงขึ้นมาก (64% vs. เดิม 61.35%)

แล้วไง?

ประมาณการใหม่นี้กำลังสร้างความกังวลให้นักเศรษฐศาสตร์อย่างมาก เพราะอะไร?

เพราะทุกอย่างมีต้นทุน คือมี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ซึ่งราคาที่ว่านี้ปรากฏชัดเจนในส่วนของต้นทุนดอกเบี้ยของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น อย่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ทะลุ 3% ไปแล้ว เพิ่มขึ้นมากว่า 50bps ในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา

… และประมาณการนี้ยังไม่ได้รวมนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งอย่างไรรัฐบาลก็ต้องกู้ หรือยืมรัฐวิสาหกิจมาแจก

วันนี้หนี้รัฐบาลมีอยู่ 11 ล้านล้านบาท

รัฐบาลต้องออกพันธบัตรใหม่มาชำระชุดเก่าตลอดเวลา ซึ่งต้นทุนก็จะมีแต่สูงขึ้น เป็นภาระต่องบประมาณมากขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยเราจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหลากหลายปัจจัย เช่นการส่งออกที่ซบเซา ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น รวมไปถึงรายจ่ายภาครัฐจากนโยบาย ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ของรัฐบาลใหม่

จุดแข็งของไทยเราคือ เราแทบไม่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศ แต่อย่างไรเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของโลก ไม่ระวังไม่ได้ครับ

'กทพ.' สานต่อเมกะโปรเจกต์ เล็งศึกษา 'ทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง' ช่วยลดระยะเวลาเดินทาง-เพิ่มทางเลือกนอกเหนือจากเรือเฟอร์รี่

(16 ก.ย.66) ที่ผ่านมา ‘กทพ.’ เร่งผลักดันทางด่วนในภูมิภาคหลายแห่งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางและคนในพื้นที่สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหารถติดในอนาคต

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้กทพ.ประสานงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในการดำเนินการศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 กทพ.ได้ประสานขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 2567 ระยะเวลาศึกษาประมาณ 2 ปี เนื่องจากโครงการอยู่ในพื้นที่ของอุทยานฯ คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2569  

หากโครงการฯ ศึกษาแล้วเสร็จ เบื้องต้นกทพ.จะเสนอรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯพร้อมรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบอนุมัติโครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณปี 2570 ใช้ระยะเวลาเร็วสุดประมาณ 1 ปี และเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปี 2569-2570

“หากโครงการดังกล่าวสามารถขออนุมัติได้ภายใน 1 ปี กทพ.ประเมินว่า โครงการจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลได้ภายในปี 2571 ซึ่งคาดว่าการประมูลอาจจะใช้ทางเลือกในรูปแบบการประมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2572 ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2576”

รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่กทพ.ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ เพราะได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการรับโอนโครงการดังกล่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.)  

ขณะเดียวกันในปัจจุบันการเดินทางข้ามเกาะช้างโดยเรือเฟอร์รี่ที่นำรถยนต์ข้ามเกาะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน โดยเฉพาะการรอขึ้น-ลงเรือเฟอร์รี่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสำคัญที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้มากขึ้น

ที่ผ่านมาพบว่าทางจังหวัดตราดได้ขอความอนุเคราะห์ให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ศึกษาออกแบบโครงการฯแต่กรมได้พิจารณาแล้วเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณก่อสร้างมาก ซึ่งต้องใช้เทคนิคและข้อกำหนดพิเศษทางด้านวิศวกรรมในการออกแบบก่อสร้าง จำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ประกอบกับแนวก่อสร้างโครงการพาดผ่านทะเลอ่าวไทย, ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

ทั้งนี้ จังหวัดตราดได้ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยแจ้งผลให้ทราบเพื่อประกอบการพิจารณาของโครงการฯ เชื่อมเกาะช้าง ซึ่งจังหวัดตราดได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง โดยเป็นการทำแบบสำรวจภาคประชาชน ใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย อ.เกาะช้าง, อ.แหลมงอบ และพื้นที่อื่น ๆ พบว่า เห็นด้วย 95.19% ที่ไม่เห็นด้วย 4.81% เห็นว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้จะเสียหาย ส่วนพื้นที่ อ.เกาะช้าง เห็นด้วย 98.63%

สำหรับโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (กม.) มีจุดเร่งต้นโครงการบริเวณพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราดเชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยไปสิ้นสุดโครงการที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางซึ่งส่งผลดีต่อการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่เกาะช้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top