‘ท่องเที่ยวฯ’ เล่นใหญ่!! ปี 67 ดึง นทท.เข้าไทย 40 ล้านคน เล็งผนึกกำลังทำงานรอบทิศ พร้อมชูวัฒนธรรมถิ่นเป็นจุดขาย 

(18 ก.ย. 66) จากการประเมินแนวโน้มรายได้รวมจากการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ตั้งแต่ปี 2566-2570 ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ไว้เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าในปี 2570 ประเทศไทยจะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 5,599,377 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ของจีดีพี โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 4,479,502 ล้านบาท และรายได้จากตลาดในประเทศ 1,119,875 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อดูเฉพาะเทรนด์การเติบโตของรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศ จะพบว่า...
- ในปี 2566 คาดอยู่ที่ระดับ 1,620,000 ล้านบาท
- ในปี 2567 คาดอยู่ที่ระดับ 2,292,968 ล้านบาท
- ในปี 2568 คาดอยู่ที่ระดับ 2,930,723 ล้านบาท
- ในปี 2569 คาดอยู่ที่ระดับ 3,656,910 ล้านบาท
- ในปี 2570 คาดอยู่ที่ระดับ 4,479,502 ล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าว นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้เตรียมตั้งเป้าหมายเชิงท้าทาย เพื่อสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศ 4 ล้านล้านบาทให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยแบ่งเป็นรายได้การท่องเที่ยวเฉพาะตลาดต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.8% จากปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดซึ่งมีสร้างรายได้ 1.9 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้ตลาดในประเทศวางเป้าไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง และคณะรัฐมนตรี ต่างเห็นตรงกันว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นกระทรวงสร้างรายได้เข้าประเทศได้รวดเร็ว เป็นควิกวินของเศรษฐกิจไทย โดยนายกฯ เศรษฐา เป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ บูรณาการความร่วมมือกับทุกกระทรวง เห็นได้จากนโยบายยกเว้นวีซ่า (วีซ่า-ฟรี) เป็นการชั่วคราวนานประมาณ 5 เดือนแก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567 ตามที่ ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ก.ย. สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว”

รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุผลที่นำร่องมาตรการวีซ่า-ฟรีเป็นการชั่วคราวกับตลาดจีนก่อน เนื่องจากในยุคก่อนโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2562 ตลาดจีนถือเป็นฐานลูกค้าหลัก เดินทางเข้าประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 จำนวนกว่า 11 ล้านคน แต่พอเข้าสู่ยุคหลังโควิด-19 พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2566 เดินทางเข้ามาน้อยกว่าที่คาดไว้ จากข้อจำกัดเรื่องกระบวนการขอวีซ่า และกระแสข่าวในโซเชียลมีเดียที่มีการเผยแพร่ข่าวลือเชิงลบของประเทศไทย ทำให้หน่วยงานรัฐต้องเร่งกระตุ้นและทำตลาด สร้างความเชื่อมั่นในการดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง

“เบื้องต้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดการณ์ว่าช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนคนต่อเดือน จากนั้นจะประเมินผลการดำเนินมาตรการและอาจพิจารณาเพิ่มประเทศเป้าหมายในการออกมาตรการวีซ่า-ฟรี”

รมว.ท่องเที่ยวฯ เผยอีกว่า ในปีหน้ามีเป้าหมายที่จะสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2567 ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 100% เทียบกับรายได้รวมปี 2562 จากเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 40 ล้านคน ปรับเพิ่มจากเป้าเดิมที่ ททท. ตั้งไว้ว่าจะดึงเข้ามาไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน

ขณะที่เป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2566 ตั้งเป้าไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 80% ของปี 2562 โดยจากแนวโน้มตลอดปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 28 ล้านคน โดยหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นฮับบันเทิงแห่งเอเชีย (Entertainment Hub of Asia) แนวทางส่งเสริมการจัดอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและกีฬาในประเทศไทย จะต้องเป็นงานที่แปลก ใหญ่ ต่อเนื่อง สร้างสรรค์ และใช้พลังของซอฟต์เพาเวอร์ เพื่อแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ ในการชิงเจ้าฮับบันเทิงของเอเชีย ซึ่งต้องบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความสะดวกด้านการเดินทางไปยังสถานที่จัดงาน

ด้าน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ปรับเพิ่มเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 เป็น 40 ล้านคน จากเป้าเดิมที่ ททท.ตั้งไว้อย่างน้อย 35 ล้านคน มองว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นไปได้ เพราะทั้งนายกฯ เศรษฐา รวมถึงทุกกระทรวงพร้อมสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ททท.จึงพร้อมพุ่งเป้าการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย 40 ล้านคน

โดยได้วางยุทธศาสตร์ ‘PASS’ ขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวซึ่งกำลังถูกจับจ้องในฐานะ ‘ควิกวินเศรษฐกิจ’ ไทยตอนนี้ ประกอบด้วย…

1. Partnership 360 ผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

2. Accelerate Access to Digital Worldพัฒนาองค์กรบนพื้นฐานการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล

3. Sub-Culture Movementการลงลึกถึงระดับความเคลื่อนไหวของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย แม้ประเทศไทยจะเป็นมหาอำนาจการท่องเที่ยว แต่การแข่งขันช่วงชิงนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นสิ่งที่เคยทำอย่างการทำตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มกระแสหลักและกลุ่มความสนใจเฉพาะยังต้องเดินหน้า แต่ต้องเจาะกลุ่มความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมย่อยด้วย เพื่อสร้างความแตกต่างแก่ทั้งองคาพยพท่องเที่ยวไทย จำเป็นต้องลงลึกถึงระดับดีเอ็นเอความชอบของนักท่องเที่ยวที่มีเหมือน ๆ กัน

4. Sustainably NOWมุ่งสู่ความยั่งยืนแบบทันที เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ แต่ต้องเดินเข้าหา ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถยืนอยู่บนโลกธุรกิจได้ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย นับเป็นต้นทุนที่มีเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาสัมผัส แต่เมื่อเกิดภาวะโลกร้อน อย่างภาวะไฟป่าใน จ.เชียงใหม่ ทำให้ไม่สามารถท่องเที่ยวได้หลายเดือน นี่คือสิ่งที่กระทบชัดเจนต่อภาคการท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ ยังได้ดำเนินกลยุทธ์ ‘The LINK : Local to Global’ เชื่อมการทำงานแบบบูรณาการของสำนักงาน ททท.ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ด้วยแนวคิดLocal Experience, Innovation, Networking และ Keep Character อีกด้วย

“เทรนด์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในตอนนี้ ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในแง่ความยั่งยืนอย่างมาก ทำให้ ททท.วางเป้าหมายปี 2567 มุ่งเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย สู่การเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณค่าสูงและความยั่งยืน (High Value and Sustainable Tourism Destination) เพื่อยืนยันว่าภาคท่องเที่ยวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายโลก” นางสาวฐาปนีย์ กล่าว