Thursday, 9 May 2024
SDGS

3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567 ‘ผลิตภัณฑ์-การระดมทุน’ ไม่เข้าเกณฑ์ อยู่ยาก

(17 ม.ค. 67) ศรชัย สุเนต์ตา CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เผยถึง 3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567 ผ่าน ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ระบุว่า...

สำหรับ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG ประเด็นแรก จะเห็นว่ากฎเกณฑ์ที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มบังคับใช้ รวมถึงประกาศว่าจะออกกฎเกณฑ์ใหม่ปีนี้และเร็ว ๆ นี้มากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) 

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้เพิ่มความเข้มข้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนด้วย เช่น สหภาพยุโรป (EU) บังคับใช้ ข้อบังคับว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 กำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด (ยกเว้นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก) ต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม หากบริษัทใดเข้าข่ายนี้ ต้องรายงานข้อมูลภายใต้มาตรฐานการรายงานความยั่งยืนของยุโรป (European Sustainability Reporting Standards : ESRS) 

ดังนั้นปี 2567 ถือเป็นปีแรกที่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูล เพื่อทำรายงานตามมาตรฐาน ESRS เผยแพร่ในปี 2568

ขณะที่ สหรัฐฯ นอกจากกฎหมาย Clean Competition Act หรือ US-CBAM มาตรการภาษีคาร์บอนที่จะเริ่มบังคับใช้ปี 2568 กับอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ก่อนขยายไปอุตสาหกรรมอื่นในปี 2570 ยังมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. การเปิดข้อมูลสภาพภูมิอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนีย (California’s New Climate Disclosure Rules) 2 ฉบับ คือ SB 253 กฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบขององค์กรต่อข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ และ SB 261 กฎหมายว่าด้วยเรื่องก๊าซเรือนกระจก สภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้อง แม้ พ.ร.บ. นี้ มีผลบังคับใช้ปี 2568 แต่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2567 แต่ก็ต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปลายปี เพราะหากเปลี่ยนขั้วอำนาจ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ESG ได้

ทั้งนี้ มีอีกหลายประเทศเตรียมออกกฎหมายและมาตรฐานการรายงานคล้าย ๆ กัน ซึ่งการรายงานที่เข้มข้นขึ้นจะช่วยให้ผู้ลงทุนเห็นว่า หุ้นหรือตราสารหนี้ที่ลงทุนโดยตรง หรือผ่านกองทุนรวม สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร

ประเด็นต่อมาการจัดพอร์ตโฟลิโอคาร์บอนต่ำ เป็นอีกแนวโน้มสำคัญ ไม่ใช่แค่นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย ก็เริ่มให้ความสำคัญ มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์หรือกิจการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำมากขึ้น เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การลงทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อสังคม หรือหุ้นของบริษัทที่การปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นต้น สอดคล้องกับผลสำรวจ Morningstar ที่ระบุว่า เจ้าของสินทรัพย์ 67% เชื่อว่า ESG สำคัญต่อนโยบายลงทุนมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ประเด็นนี้จะกดดันให้บริษัทที่จะระดมทุนเพิ่ม ต้องพยายามปรับปรุงการดำเนินงานไปสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ มิฉะนั้น อาจระดมทุนยากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน นานาประเทศและองค์กรทั่วโลก ให้ความสำคัญประเด็น ESG โดยเฉพาะมิติสิ่งแวดล้อม สอดรับเป้าหมายที่โลกต้องเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกทำได้เร็วขึ้น โดยเทคโนโลยีที่คาดว่ายังมาแรง จะเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ยานยนต์ไฟฟ้าหรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน เป็นต้น

ทั้ง 3 ประเด็นนี้ ล้วนสำคัญกับการลงทุน ที่มาพร้อมกับโอกาสและความท้าทาย ซึ่งนักลงทุนคงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ESG และ Climate จากองค์กรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ก้าวต่อไป ‘WHA’ ผู้ช่วยสร้างมูลค่าจีดีพีไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท เข้าสู่สนามพลังงานทดแทน เล็ง!! เทรดดิ้งไฟฟ้าเสรี-คาร์บอนเครดิต

(16 ม.ค. 67) 'ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป' เปิด 4 กลุ่มธุรกิจ 'โลจิสติกส์-นิคมฯ-สาธารณูปโภคฯ-ดิจิทัล โซลูชัน' ดำเนินงานมา 21 ปี ช่วยสร้างมูลค่าจีดีพีไทยกว่า 2 ล้านล้านบาท สร้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง 

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จัดกิจกรรม WHA: We Shape the Future Journey เปิดอาณาจักรครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจหลัก โลจิสติกส์, นิคมอุตสาหกรรม, สาธารณูปโภค/พลังงาน และดิจิทัล โซลูชัน โดย นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เผยถึงรายละเอียด ดังนี้...

- กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ : นับเป็นจุดเริ่มต้นของดับบลิวเอชเอ ก่อนที่จะเริ่มขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งดับบลิวเอชเอ เป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่รวมกว่า 2.9 ล้านตารางเมตร บนทำเลจุดยุทธศาสตร์ 52 แห่ง ทั่วประเทศ

- กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม : โครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณูปโภคครบวงจร ได้แก่ การผลิตน้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย การทิ้งและฝังกลบขยะ และการผลิตพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 13 แห่ง บนพื้นที่กว่า 71,300 ไร่ ทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม

- กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า : ให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยกำลังการผลิตน้ำรวมถึง 168 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม 847 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังนำกระบวนการ 'Reverse Osmosis (RO)' มาประยุกต์ใช้ในโรงงานผลิตน้ำระบบอาร์โอ ผลิตน้ำ 2 ประเภท คือ Permeate น้ำที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ และ Concentrate คือน้ำที่มีความเข้มข้นของสารละลายในน้ำสูง

รวมทั้งโครงการ 'Clean Water for Planet' การบำบัดและการจัดการน้ำเสีย ด้วยวิธีการทางชีวภาพมาปรับใช้ ขณะที่การผลิตไฟฟ้า บริษัทเริ่มจากการร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวม 847 เมกะวัตต์

"วันนี้เราขยับเข้าสู่การทำ Renewable Energy โดยเฉพาะ 'Solar Roof Top' ที่เราลงทุนเอง 100% ทั้ง Floating Solar บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ AAT กำลังผลิต 8 เมกะวัตต์

"คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 , Solar Carpark บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) 59,000 ตารางเมตร ขนาดไฟฟ้ารวม 7.7 เมกะวัตต์

"และพร้อมเปิดดำเนินจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในปีนี้เช่นเดียวกันและสุดท้าย Solar Rooftop ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 24.24 เมกกะวัตต์" นายไกรลักขณ์ กล่าวเสริม

- กลุ่มธุรกิจดิจิทัล โซลูชัน : ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมระดับโลก โดยพัฒนาธุรกิจและทางเลือกด้านข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่อสนับสนุนลูกค้านิคมอุตสาหกรรมทั้งจากบริษัทในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาของ WHA ช่วยสร้างจีดีพีให้กับประเทศไทยแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) กว่า 1.6 ล้านบาท และช่วยจ้างงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง

'ฮอนด้า' สานต่อกิจกรรมวิ่งการกุศล 'Honda Run 2024' ระดมทุนมอบแก่โรงพยาบาลในอยุธยาและปราจีนบุรี

(16 ม.ค. 67) บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด สานต่อความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม จัดกิจกรรม 'Honda Run 2024' เป็นปีที่ 4 ชวนพนักงานฮอนด้าพร้อมครอบครัว รวมทั้งตัวแทนผู้จำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าใน จ.พระนครศรีอยุธยา และใกล้เคียง และตัวแทนสื่อมวลชนกว่า 2,000 คน ร่วมวิ่งการกุศล เพื่อนำรายได้จากการจัดกิจกรรม จำนวน 1 ล้านบาท โดยไม่หักค่าใช้จ่าย สมทบทุนให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฯ ดำเนินงานอยู่ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลน โดยมีกำหนดส่งมอบเงินบริจาคในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567

สำหรับกิจกรรม 'Honda Run 2024' เป็นกิจกรรมวิ่งการกุศลที่ฮอนด้าจะจัดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2567 ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา การวิ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร มีจุดปล่อยตัว ณ ศาลากลางเก่า วิ่งผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์ และสถานที่สำคัญของจังหวัดฯ ที่มีความสวยงามจนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก 

นอกจากนี้ ผู้วิ่งยังได้ลุ้นรับรางวัลของที่ระลึกจากฮอนด้า รวมถึงมีรางวัลสำหรับการแต่งกายแฟนซีในแบบไทย ซึ่งเข้ากับบรรยากาศการวิ่งบนเส้นทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

PTTEP ผนึก 'ภาครัฐ-JOGMEC' ร่วมศึกษาศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยา มุ่งเป้า 'กักเก็บ-ดักจับ' คาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบน

(16 ม.ค. 67) นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลงในการร่วมศึกษาและประเมินศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยาเพื่อกักเก็บคาร์บอน บริเวณอ่าวไทยตอนบน ระหว่าง PTTEP และ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) และ INPEX CORPORATION

โดยการศึกษาดังกล่าวอยู่ภายใต้ความร่วมมือระดับประเทศของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ JOGMEC จากญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีข้อมูลด้านธรณีวิทยาที่จำเป็นต่อการวางแผนพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) ในอ่าวไทย รวมทั้ง เพื่อสนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย

'กระทรวงพลังงาน' ลุย!! 'ไฟฟ้าสีเขียว' แพงกว่าแต่รักษ์โลก เตรียมเปิดขายให้โรงงานอุตฯ ขนาดใหญ่ช่วง ก.พ. 2567

​’พีระพันธุ์’ เดินหน้า ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ต่อเนื่อง ล่าสุดสร้างมาตรฐาน ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ เป็นครั้งแรกในไทย หนุนนโยบายรัฐบาลต้อนรับการลงทุนข้ามชาติขยายฐานเข้าไทย ลดอุปสรรคข้อกีดกันภาษีคาร์บอนข้ามแดนให้ผู้ประกอบการไทย

(16 ม.ค.67) ​นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน มีความพร้อมในการจัดหา ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด อย่างมีมาตรฐาน พร้อมด้วยกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมั่นใจว่าจะมี ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ ในปริมาณเพียงพอสนองตอบต่อความต้องการ และรองรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดและเพิ่มปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

​“เป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีกระบวนการผลิต จัดหา และรับรองไฟฟ้าสีเขียวใช้ และผมมั่นใจว่าประเทศไทย มีความพร้อมด้านการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAM) ได้เป็นอย่างดี” นายพีระพันธุ์ กล่าวระหว่างการแถลงข่าว ‘เดินหน้าพลังงานสะอาด Utility Green Tariff ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการลงทุน’

​นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตระหนักดีถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในขณะนี้สามารถจัดให้มีการให้บริการสองรูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไฟฟ้าสีเขียว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการได้ พร้อมระบบใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวทุกกลุ่ม ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการ กกพ. ที่สนับสนุนและร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

​นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ สร้างโอกาสให้กับประเทศในการเป็นฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

​“กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) และโครงการ UGT ของภาครัฐจะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้มากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

​นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการ

​“ในการเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ. ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) กว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573  ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว” นายเสมอใจ กล่าว

​สำหรับขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวนั้น การไฟฟ้าซึ่งเป็น
ผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่จะประกาศให้ทราบต่อไป

​อย่างไรก็ตาม การประกาศโครงการ UGT นับเป็นจุดเริ่มต้นโดยภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการพลังงานทุกภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ในระยะเริ่มต้นอาจยังมีข้อจำกัด โดย กกพ. เล็งเห็นว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ ในระยะถัดไปได้ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต้องได้รับความเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวด้วย

‘ปตท.สผ.’ ชวนเยาวชนร่วมอนุรักษ์ ‘ทะเลไทย’ ผ่านโครงการ ‘PTTEP Teenergy ปีที่ 9’ 

(15 ม.ค.67) สุศมา ปิตากุลดิลก รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปตท.สผ. กล่าวว่า นอกจากภารกิจหลักของ ปตท.สผ. ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมดูแล รักษาและปกป้องท้องทะเลไทย

โดยผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนในการทำโครงการเพื่อสังคมผ่านกลยุทธ์ ‘ทะเลเพื่อชีวิต’ (Ocean for Life)

โครงการ PTTEP Teenergy ถือเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมของ ปตท.สผ. ที่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

“ทั้งนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย และสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชุมชนรอบชายฝั่ง ปตท.สผ. จึงจัดการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิดทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ด้วยการเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ถึงระดับปริญญาตรีมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากจะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน รวมถึงยังเป็นการปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลไทย และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป”

สำหรับผลงานจากการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลก่อนหน้านี้ ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดย ‘อัครพันธ์ ทวีศักดิ์’ หรือ ‘น้องไอซ์’ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนทีม Green Grove รองชนะเลิศอันดับ 1 หัวข้อ ‘Preserve’ ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 1 ปี 2564 จากผลงาน IMPOT ชุดปลูกโกงกางอัจฉริยะเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างมีระบบ

‘อัครพันธ์’ เล่าถึงไอเดียเล็ก ๆ ใน Proposal ที่ตอนนี้ได้รับการพัฒนาเพื่อต่อยอดทำให้ทุกคนได้เห็นคุณค่า และเข้าใจในเรื่องการปลูกป่าชายเลนมากยิ่งขึ้น ว่าตัดสินใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการ โดยได้แนวคิดมาจากถุงเพาะกล้าไม้พลาสติก ที่ส่วนใหญ่ถูกทิ้งไว้หลังจากปลูกป่าชายเลนเสร็จแล้ว

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียที่อยากจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการให้คนที่ปลูกป่าชายเลนเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากร ที่ทุกคนสามารถช่วยทำให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพียงเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาผลิตเป็นกระถางสำหรับบรรจุต้นไม้พร้อมปลูก เพื่อนำไปใช้แทนถุงพลาสติกแบบเดิม

ขณะที่ ‘อพินญา คงคาเพชร’ หรือ ‘น้องตาล’ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนทีม Scraber ผู้ชนะเลิศ หัวข้อ Provide ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 1 ปี 2564 จากผลงาน The Automatic Warning of Crab Molting Detection by Application

เล่าด้วยความภาคภูมิใจถึงจุดเริ่มต้นที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ชุมชน และเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์น้ำในเชิงเศรษฐกิจว่าความคิดแรกเริ่มคือต้องการช่วยเหลือธุรกิจของครอบครัวเพื่อนซึ่งทำฟาร์มปูนิ่มเท่านั้น

“แต่เมื่อส่งผลงานเข้าประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้ได้รับโอกาสที่ดีจาก ปตท.สผ. ในการต่อยอดผลงาน เนื่องจากปูนิ่มเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเศรษฐกิจของชุมชนในจังหวัดสตูล สำหรับ Application ระบบการแจ้งเตือนการตรวจจับการลอกคราบปูที่คิดค้นขึ้นนั้น สามารถนำไปช่วยเหลือในการดูและจับการลอกคราบของปูด้วยตาเปล่าในช่วงกลางคืน

ซึ่งเครื่องมือนี้จะช่วยชุมชนประหยัดเวลา กำลังคน และสามารถบริหารจัดการฟาร์มได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งในอนาคตยังสามารถต่อยอดนำไปใช้กับปูชนิดอื่น ๆ เพื่อขยายตลาดและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

สำหรับ ‘กวินธิดา ปิ่นทอง’ หรือ ‘น้องฟอร์แทรน’ นิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนทีม Sea the Future ผู้ชนะเลิศหัวข้อ Provide ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 2 ปี 2565 จากผลงาน Fisherman’s Friend Application เชื่อมโยงเครือข่ายชาวประมงชายฝั่ง ให้มุมมองในฐานะที่ตนเองเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ PTTEP Teenergy และได้ประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก

“อยากจะเชิญชวนทุกคนส่งผลงานเข้ามาประกวดกันเยอะ ๆ ถึงแม้จะไม่ได้รับรางวัล แต่มั่นใจได้เลยว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี ได้รับความรู้ คำแนะนำ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมากมาย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดไอเดีย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้ หรือหากเป็นทีมที่ได้รับรางวัลในการต่อยอดแบบพวกเรา ก็เป็นโอกาสที่ผลงานจะได้รับการพัฒนา และนำมาใช้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปช่วยชุมชนของเราได้อีกด้วย”

กล่าวกันว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกคน เพื่อช่วยกันดูแลให้ทรัพยากรทางทะเลได้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

ดังนั้น ผู้สนใจสามารถสมัครและส่งผลงานเข้าร่วมประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการ ‘PTTEP Teenergy ปีที่ 9’ ได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 มกราคม 2567 หรือที่ https://www.eventsonlinecenter.com/pttep_teenergy/ รวมถึงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และติดตามข่าวสารที่ www.facebook.com/pttepcsr 

‘รัฐ’ เร่งปลดล็อก ‘โซลาร์รูฟท็อป’ ไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน ตอบรับความต้องการใช้พลังงานสะอาด แทนพลังงานฟอสซิล

(15 ม.ค. 67) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการประสานข้อมูลกับภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 

ขณะที่ต้นทุนการติดตั้งโซล่าเซลล์มีราคาที่ถูกลง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ประสงค์จะติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท๊อป (Solar Rooftop) เป็นจำนวนมาก เช่น อาคารโรงงาน ศูนย์การค้า โรงแรม มหาวิทยาลัย เป็นต้น 

ซึ่งตามกฎหมายโรงงานเดิมกำหนดว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิตโซล่าเซลล์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากโดยใช้จำนวนแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงกว่าเดิมถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2557 อีกทั้งยังมีมาตรฐานควบคุมด้านความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"การปลดล็อคดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจจากการติดตั้ง Solar Rooftop ได้ง่ายขึ้น ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น นับเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 4 มิติ ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ ส่งเสริมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การได้รับการยอมรับจากสังคม ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อโอกาสทางธุรกิจตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และการกระจายรายได้สู่ชุมชนจากการขยายตัวของธุรกิจติดตั้งโซล่าเซลล์"

นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศไทยต่อไป

‘บางจาก’ เดินหน้ารุก ‘ธุรกิจสีเขียว’ หวังช่วยยับยั้งคาร์บอนด์ ตั้งเป้า!! 5 ปี เร่งเครื่องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนมากกว่า 50% 

(15 ม.ค.67) นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าบริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า บริษัทมีแนวทางจะมุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจสีเขียวให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนด์

ทั้งนี้ บางจากฯ ได้วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนธุรกิจสีเขียว 5 ปีนับจากนี้ (ปี 2567-2571) ให้เพิ่มเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของพอร์ตการลงทุนรวม และยังกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนแผนงานระยะยาวเป็นไปตามที่วางไว้

อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมาบางจากฯ ได้ปรับวิสัยทัศน์และพันธกิจองค์กร สู่วิสัยทัศน์ใหม่รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว เพื่อให้สามารถมุ่งสู่ช่วงเวลาสำคัญครั้งใหม่ที่ท้าทาย ภายใต้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ. 2593

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบางจากฯ ได้ดำเนินโครงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต) โดยบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (Smart EV Bike) บริษัทร่วมทุนของบริษัท วินโนหนี้ จำกัด (Winnonie) บริษัทสตาร์ตอัปในกลุ่มบริษัทบางจาก 

และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเช่าซื้อ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส เพื่อสร้างบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง หรือ Feeder ที่สะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี เพื่อลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์การเข้าสู่ธุรกิจรถไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทบางจาก และเป็นการสร้าง Net Zero Ecosystem ตามแผนงานที่วางไว้

‘มอริส ลาครัวซ์’ เปิดตัว ‘นาฬิการักษ์โลก’ ผลิตจากขวดพลาสติก ลวดลายไม่ซ้ำ-ฟังก์ชันครบครัน มั่นใจ!! ยอดขายหมดใน 1 เดือน

(14 ม.ค.67) นายรวิศ เหตานุรักษ์ Manager Area Sales Indochina of Maurice Lacroix เปิดเผยว่า มอริส ลาครัวซ์ เปิดตัวนาฬิกา AIKON #tide Camo (ไอคอน ไทด์ คาโม) ปี 2567 ซึ่งเป็นคอลเลกชันใหม่ล่าสุดเพื่อจัดจำหน่ายทั่วโลก โดยผลิตออกมาเพียงรุ่นละ 1,000 เรือน จำนวน 4 สี ได้แก่ สีฟ้า storm blue, สีเขียว green park, สีน้ำตาลอ่อน frappucino beige และ ชมพู arctic pink ในประเทศไทยนำเข้ามาจัดจำหน่ายเพียงรุ่นล่ะ 30 เรือน ราคาเรือนละ 29,900 บาท

สำหรับนาฬิการุ่นดังกล่าวอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ต้องการให้โลกยั่งยืน มีคุณสมบัติเดียวกันกับนาฬิการุ่นอื่นๆ ในตระกูล AIKON โดยเฉพาะคุณภาพแบบสวิส มีความเที่ยงตรง สะดวกสบาย และให้ความคุณค่าแก่ผู้สวมใส่สูงสุด สะท้อนผ่านการเปิดตัวเป็นนาฬิการักษ์โลกมาแล้ว 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2565-2566 เมื่อครั้งประกาศความร่วมมือกับ #tide ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ประโยชน์ของขยะพลาสติกในทะเล ทั้งได้เข้าร่วมกับ #tide ในโครงการระยะยาวเพื่อเก็บขยะพลาสติกจากท้องทะเลรอบหมู่เกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมถึงในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทำให้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 อัตราการเติบโตเฉพาะในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 400% ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุด

สำหรับนาฬิกา AIKON #tide Camo ต้องใช้ขวดพลาสติกจำนวน 17 ขวดในการผลิตนาฬิกาไอคอน ไทด์ คาโม หนึ่งเรือนพร้อมบรรจุภัณฑ์ จะใช้เทคนิคทำพิเศษด้วยการอัดเม็ดวัสดุ #tide แยกแต่ละสีในการสร้างลวดลายบนสายนาฬิกา ฉะนั้นลายคาโมในแต่ละเรือนจึงไม่ซ้ำกัน ที่สำคัญสุดคือ สีสันและลวดลายไม่ลบเลือนหายไป แม้ผ่านการใช้งานไปตามกาลเวลา บนตัวเรือนมีขนาด 40 มม. หน้าปัดของทุกเรือนมีรายละเอียดบนพื้นผิวเป็นเอกลักษณ์ ที่เรียกกันว่า ‘vagues du Jura’ (วากส์ ดู ฌูรา) เพื่อระลึกถึงที่มาจาก Franches Montagne ส่วนเข็มชั่วโมงและนาทีพร้อมหลักชั่วโมง เคลือบสารเรืองแสง Super-LumiNova ช่วยอ่านค่าในที่แสงน้อยได้ พร้อมแสดงช่องวันที่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา ถือเป็นฟังก์ชันการใช้งานอย่างครบครัน

“กระแสการตอบรับของนาฬิการุ่นนี้ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดี คาดว่าทั้ง 30 เรือนในแต่ละรุ่นในประเทศไทยน่าจะขายหมดโดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และปีนี้จะได้เห็น มอริส ลาครัวซ์ ผลิตนาฬิกาโดยใช้วัสดุพิเศษมากขึ้น โดย AIKON ยังเป็นตัวหลักที่จะทำการตลาดให้เติบโตต่อไปได้อีก” นายรวิศ กล่าว

นายรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นาฬิกาไอคอน ไทด์ คาโม มาพร้อมกับสายนาฬิกายางประทับตัว M มีลวดลายไม่ซ้ำกันในแต่ละสาย ทำให้นาฬิกาแต่ละเรือนมีความโดดเด่นในตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีระบบ Easy Strap Exchange ของมอริส ลาครัวซ์ ทำให้สามารถสลับสายนาฬิกาได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์

นายสเตฟาน วาเซอร์ (Stéphane Waser) กรรมการผู้จัดการบริษัทมอริส ลาครัวซ์ กล่าวว่า AIKON #tide Camo เป็นนาฬิกาธีมคาโมที่มีสไตล์อย่างมาก เมื่อได้รวมเอาเทคโนโลยีการผลิต #tide ที่แปลกใหม่เข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด และลวดลายผ้าในแบบลายพรางหรือคาโมมักจะนำมาใช้บนแคทวอล์คทั่วโลกเป็นประจำ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในเมืองใหญ่หลายเมือง เมื่อได้เห็นลายคาโมแพร่กระจายไปทั่วรู้สึกได้ว่านาฬิกาไอคอน ไทด์ คาโม จะสามารถเสริมลุคผู้สวมใส่ได้อย่างโดดเด่น ยิ่งไปกว่านั้นในการเปิดตัวนาฬิการุ่นนี้ ยังสามารถแสดงถึงวิถีแห่งความยั่งยืนในการผลิตนาฬิกา และความเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาแบบสวิสของมอริส ลาครัวซ์

‘บางจาก’ จับมือ ‘บีทีเอส’ เปิดตัว 'PINTO' เสิร์ฟตลาดเช่าซื้อสองล้อพลังงานสะอาด

(12 ม.ค. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต) โดยบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (Smart EV Bike) บริษัทร่วมทุนของบริษัท วินโนหนี้ จำกัด (Winnonie) บริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มบริษัทบางจาก และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

เพื่อสร้างบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง หรือ Feeder ที่สะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ

โดยมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายกวิน กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมงาน ณ ลานจอดแล้วจร สถานีบีทีเอสหมอชิต อีกทั้งยังมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มาเยี่ยมชมการสาธิตการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในภายหลัง

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วินโนหนี้เป็นสตาร์ทอัพภายในองค์กรของบางจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563

ด้วยการนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มายกระดับคุณภาพชีวิตของจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์การเข้าสู่ธุรกิจรถไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทบางจาก และเป็นการสร้าง Net Zero Ecosystem หรือระบบนิเวศเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทในปี 2593

วินโนหนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากวันเริ่มต้นดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ราย ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติจำนวน 120 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถือเป็น Win-Win Solution ใน 3 ด้าน คือ

ช่วยให้ชีวิตผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ดีขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย จากการเช่าใช้จักรยานยนต์ ประมาณเดือนละ 4,000 บาท หรือ 48,000 บาทต่อคนต่อปี รวม 48 ล้านบาทต่อปี

โลกดีขึ้น จากการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด วินโนหนี้วิ่งใช้งานแล้วมากกว่า 42 ล้านกิโลเมตร ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปประมาณ 2 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดการเกิดฝุ่น PM2.5 และมลภาวะทางเสียง

ประเทศดีขึ้น จากการที่วินโนหนี้ พัฒนาโดยคนไทยในประเทศไทย ทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรม การพัฒนาคนและการสร้างงานในประเทศ

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า “ในวันนี้ นับเป็นอีกความก้าวหน้าทางธุรกิจที่สำคัญของวินโนหนี้ ในการร่วมเริ่มต้นธุรกิจให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติของวินโนหนี้ที่ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะสถานีที่จะตั้งเพิ่มเติมตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อให้เกิดความสะดวกและเพียงพอต่อการใช้งานมากขึ้น

เพื่อให้ผู้โดยสารบีทีเอสมีประสบการณ์การเดินทางแบบ First Mile to Last Mile ด้วยพลังงานสะอาด คือสามารถเดินทางออกจากบ้านจนถึงกลับเข้าบ้านด้วยการบริการขนส่งสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้าตลอดเส้นทาง”

“การใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าในราคาพิเศษสำหรับสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ การจัดตั้งหน่วยงานกลางแบบ One Stop Service ในการขออนุมัติการติดตั้งมิเตอร์ หรือ การพิจารณากฎหมาย เช่น กฎหมายขนส่ง การจดทะเบียนป้ายเหลือง การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กฎหมายเกี่ยวกับวินเพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า”

“รวมถึงการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและการทำ Carbon Credit Certificate และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ อาทิ การทำประกันภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การให้ใช้พื้นที่หน่วยงานภาครัฐหรือกรุงเทพมหานคร เพื่อทำจุดติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่หรือในอัตราพิเศษ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และทุนวิจัยและพัฒนา”

สำหรับ วินโนหนี้ ที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Battery as a Service (BaaS) สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานจากกว่า 1,000 รายและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 120 แห่ง ณ สิ้นปี 2566 เป็นผู้ใช้งาน 60,000 ราย และสถานี 3,000 แห่งในปี 2573

เดินหน้าส่งเสริมการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศและของโลก ผ่านประสบการณ์การขับขี่ที่ดีต่อเราและต่อโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top