Thursday, 9 May 2024
SDGS

‘ttb’ จัดติวเสริมความรู้ ‘ESG’ ผู้ประกอบการไทย พัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ต่อยอดแข่งขันในเวทีโลก

(6 ธ.ค. 66) ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดงานเสวนาติวเข้มความรู้ ESG ดึงบริษัทชั้นนำแชร์ประสบการณ์ นำองค์กรสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาองค์กรของตนเอง และแข่งขันได้ในเวทีโลก

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ปัจจุบันนี้หลายประเทศเริ่มมีมาตรการทางการค้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism ซึ่งเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าเหล็ก ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย อะลูมิเนียม และจะขยายไปยังสินค้ากลุ่มอื่นในอนาคต และยังมีมาตรการ CCA หรือ Clean Competition Act ที่จะมีการปรับราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย หรือ Thailand Taxonomy ออกมา เพื่อผลักดันภาคธุรกิจสู่แนวคิด ESG และยังได้แสดงเจตนารมณ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของระดับประเทศ โดยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065  

"นอกจากมาตรการระดับโลกและประเทศแล้ว บริษัทชั้นนำระดับโลกและบริษัทใหญ่หลายแห่งในไทย ก็เริ่มมีนโยบายกระตุ้นให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าของธุรกิจ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เช่น มีประกาศที่จะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 100% ครอบคลุมทุกร้านค้าและสำนักงานทั่วโลกภายในปี 2026 หรือ มีกฎให้ผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานวัดและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำความเข้าใจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาและดำเนินการลดอย่างมีนัยสำคัญกับผู้ผลิตในอนาคต และจะมีอีกหลายบริษัทที่ทยอยออกมาตรการออกมา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วอาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้" นายศรัณย์ กล่าว

>> Climate Change เกิดแน่ แนะผู้ประกอบการเร่งประเมินตัวเอง 

ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ กรรมการผู้จัดการกลุ่ม Health Products and Sustainability กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า มิตรผลเริ่มต้นปรับเปลี่ยนองค์กรโดยการวิเคราะห์ธุรกิจของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำคือ การปลูกอ้อย จากนั้นจึงต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆ ของ ESG โดยทางมิตรผลมองว่า Climate Change นั้น มีผลต่ออุตสาหกรรมเกษตรอย่างแน่นอน จึงมีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ และกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นองค์กร Net Zero สิ่งที่ได้ดำเนินการคือ พยายาม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ มีการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าให้สามารถผลิตคาร์บอนเครดิต ขณะเดียวกันก็ทำให้ซัพพลายเออร์หันมาให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

"แต่ละองค์กรควรมีแนวทางในการรับมือกับ Climate Change เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอน สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อเปลี่ยนผ่านในเรื่องนี้คือ การประเมินองค์กรตัวเองว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่รับวัตถุดิบเข้ามาจนถึงการส่งมอบสินค้า จากนั้นให้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละกิจกรรม เพื่อพิจารณาว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละจุดได้" ดร.ศรายุธ กล่าว

>> ตามโลกให้ทัน พิจารณาปัจจัยเสี่ยง มองหาโอกาสใหม่

ดร.ณัฐกร ไกรกุล ผู้จัดการฝ่าย (Vice President) Decarbonization Center of Excellence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสต่างๆ ได้ เช่น ประเด็นความเสี่ยงด้าน Climate Change ที่เป็นประเด็นสำคัญของโลก และมีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ในส่วนของ GC นั้น มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการเข้ากับการดำเนินธุรกิจ จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ เช่น DJSI, CDP และ EcoVadis เป็นต้น จนปัจจุบัน GC ได้ยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ผ่านแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ได้แก่ 1) Efficiency-Driven ผ่านโครงการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ 2) Portfolio-Driven ผ่านการปรับโครงสร้างธุรกิจที่เน้น Sustainable Product ให้มากขึ้น และ 3) Compensation-Driven ผ่านการศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการปลูกป่าต่างๆ นอกจากนี้ GC ยังมีการกำหนดแนวทางการกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลยุทธ์และการดำเนินงานด้าน Decarbonization เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

"เราต้องรู้ให้ทันว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากนั้นพิจารณาว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยง อะไรคือโอกาส เพื่อที่จะได้บริหารจัดการ ทั้งเรื่องความเสี่ยงและเรื่องของการสร้างธุรกิจใหม่ในอนาคต ถ้าเรามองว่า Climate Change จะส่งผลกระทบกับเรา ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้หันมาพิจารณาว่าสินค้าและกระบวนการผลิตขององค์กรเรายังดำเนินต่อไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงแก้ไข อย่ารอช้า เพราะเราอาจเปลี่ยนไม่ทัน" ดร.ณัฐกร กล่าว

>>สินเชื่อสีเขียว-สินเชื่อสีฟ้า รองรับโปรเจกต์ทั้งใหญ่และเล็ก

นายกมลพันธ์ ลักษณา หัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ทีทีบี ช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่น ผ่านการพัฒนาสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Loan ให้มีความหลากหลายมากขึ้นและยืดหยุ่นมากขึ้น มีทั้งอาคารสีเขียว พลังงานหมุนเวียน การจัดการของเสีย การป้องกันมลพิษ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทีทีบี ยังได้ขยายจากสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมไปสู่สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนทางทะเล หรือ Blue Loan และยังมีสินเชื่อที่ส่งเสริมความยั่งยืน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของลูกค้า 

"หลายคนมองว่าการขอสินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องทำในสเกลใหญ่ แต่ความจริงแล้วแค่โปรเจกต์เล็กๆ ก็สามารถขอสินเชื่อได้ ทีทีบี มีความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารสีเขียวทั้งอาคาร หรือต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด แค่เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนหลอดไฟ หรือเครื่องมือบางอย่างที่จะช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น หรือเปลี่ยนเป็นรถยนต์ EV ก็สามารถขอสินเชื่อได้" นายกมลพันธ์ กล่าวปิดท้าย

‘กนอ.’ ยกระดับ ‘เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ’ ปี 66 สำเร็จตามเป้า พร้อมเร่งพัฒนาความร่วมมือภาคอุตฯ-สังคม-สิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ SDGs

(5 ธ.ค. 66) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผย ยกระดับ ‘เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ’ ปี 66 สำเร็จตามเป้า พร้อมลุยต่อแผนปีงบประมาณ 2567 ให้สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 13 เป้าหมาย พร้อมผลักดันสิทธิประโยชน์ทั้งการลดหย่อน / ยกเว้น ค่าบริการอนุญาตในระบบ e-PP

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. มุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรม สู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เพื่อการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันของภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบ 5 มิติ  คือ มิติกายภาพ, มิติเศรษฐกิจ, มิติสิ่งแวดล้อม, มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ

โดยส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ตามวิสัยทัศน์ ‘นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน’

โดยปีงบประมาณ 2566 กนอ. สามารถพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จากระดับ Eco-Champion 39 แห่ง ยกระดับขึ้นเป็นระดับ Eco-Excellence 22 แห่ง และระดับ Eco-World Class 7 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 
กนอ. มีเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามนโยบายเศรษฐกิจ ‘BCG Model’ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

โดย กนอ. ดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับนิคมฯ และโรงงาน เช่น การยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โครงการปรับปรุงค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco Efficiency) โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ยั่งยืน มุ่งเน้นจัดการกากของเสียให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และ Eco Factory for Waste Processor

“ปี 2567 กนอ. ยังคงใช้หลักเกณฑ์การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเดิม แต่จะปรับปรุงให้สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) 13 ข้อ ขณะเดียวกันยังผลักดันสิทธิประโยชน์สำหรับผู้พัฒนานิคมฯ และผู้ประกอบการ ทั้งการลดหย่อน / ยกเว้น ค่าบริการอนุญาตในระบบ e-PP ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.ในอนาคตต่อไป” นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 กนอ. มีแผนงานยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในนิคมอุตสาหกรรม ดังนี้ ระดับ Eco Champion ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิว เอช เอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4, ระดับ Eco Excellence ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี, ระดับ Eco World Class ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิว เอช เอ ตะวันออก (มาบตาพุด), นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้

‘ซีพีเอฟ’ ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสมดุลเพื่อธรรมชาติ ปลูกจิตสำนึก ‘พนักงาน-คู่ค้า’ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

(4 ธ.ค. 66) นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสุงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า วันที่ 4 ธันวาคม เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก  ทาง ซีพีเอฟ ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันลดผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  (Climate Change) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG (Environment Social Governance) และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคที่ประชาชนทุกคนในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งทรัพยากรป่า ไม้ น้ำ และได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน  สนับสนุนความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

"เราตระหนักดีว่า ในการดำเนินธุรกิจ ต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซีพีเอฟ มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Business) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำ อากาศต้นไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างธรรมชาติที่ดีให้กับสังคม และสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ " นางกอบบุญ กล่าว

ซีพีเอฟ กำหนดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสู่ความยั่งยืนของบริษัทฯ อาทิ  การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Management) การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ( Biodiversity and Ecosystem) การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Climate Change Management and Net-Zero)

การดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต พัฒนามาตรฐานฟาร์มสีเขียว (Green Farm) บริหารจัดการฟาร์มสุกรรักษ์โลกที่เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิดที่ทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำหรือระบบอีแวป (EVAP) ใช้ระบบบำบัดน้ำด้วยไบโอแก๊ส (Biogas) ช่วยลดกลิ่น กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ลดผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และระบบอัตโนมัติมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตอาหารสัตว์ กระบวนการผลิตอาหาร ให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดยร่วมมือกับ กลุ่ม SCG พัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้  บริษัทฯได้จัดทำนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน  โดยตั้งเป้าหมายร้อยละ 100 ของการจัดหาวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ข้าวโพด  ปลาป่น น้ำมันปาล์ม กากถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ต้องไม่มาจากแหล่งที่มีการตัดไม้ทำลายป่า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยึดแนวทาง ‘ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ’ พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ในการจัดหาผลผลิต รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเพิ่มผลผลิต ปลอดการเผาตอซัง แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5  บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย

ซีพีเอฟ ยังได้ส่งเสริมความตระหนักของพนักงาน รู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ปกป้องและดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป๋าชายเลน โครงการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั้งกิจการในประเทศไทยและกิจการต่างประเทศ กิจกรรมกับดักขยะทะเล ในโครงการ CPF Restore the Ocean  ที่นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ ด้วยการนำฝาขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ อาทิ  กระถางต้นไม้ และถาดใส่ของ ซึ่งโครงการดังกล่าว สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจ คือ สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ด้านสังคม สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ และด้านสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก รักษาระบบนิเวศทางทะเล

นางกอบบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ส่งเสริมให้คู่ค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความรู้ให้คู่ค้า SMEs ช่วยพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการนำส่วนของผลประหยัดที่เกิดขึ้น  มาลงทุนกับโครงการลดการปล่อยคาร์บอนฯของตัวเอง ขณะเดียวกัน ได้จัด โครงการ ‘ปันรู้ ปลูกรักษ์’ โดยร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ที่ซีพีเอฟเข้าไปดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมให้ความรู้กับเยาวชนเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมมือกันอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

‘พีระพันธุ์’ ดัน ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชน

‘พีระพันธุ์’ ดันพลังงานแสงอาทิตย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชน มุ่งลดต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ

(4 ธ.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการลดรายจ่ายให้แก่กลุ่มเกษตรกรในการนำแผง โซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ที่ต้องการน้ำในภาคเกษตรกร

โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ทั้งระบบสูบน้ำจากบ่อบาดาลและการสูบน้ำจากแหล่งน้ำ ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลได้ค่อนข้างมาก 

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนนำเทคโนโลยีด้านพลังงานมาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้นั้นสามารถลดระยะเวลาในการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมากขึ้น และผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความสะอาด ผ่านมาตรฐานจนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ชุมชนดีเด่น

“เป้าหมายสำคัญนอกจากการลดรายจ่ายด้านพลังงานทั้งค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไปแล้ว ยังต้องการให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีพลังงานมาใช้ ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน”

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานก็ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีพลังงาน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าเซลล์ในการสูบน้ำ รวมทั้งเทคโนโลยีโรงอบแห้งที่ใช้อบผลิตภัณฑ์ชุมชน 

นอกจากจะลดรายจ่ายค่าเชื้อเพลิงซึ่งต้นทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้ยังมีความสะอาดได้มาตรฐาน จนหลายผลิตภัณฑ์ได้รับรางวัล OTOP และ ไทยเด็ด 

อย่างไรก็ตาม จะพยายามเร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีการสำรวจความต้องการของเกษตรกรผ่านพลังงานจังหวัด คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

'เอสซีจี เซรามิกส์' คว้ารางวัลความเป็นเลิศด้วยนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและ ESG เวที Thailand Corporate Excellence Awards 2023

(1 ธ.ค. 66) นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนบริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) รับมอบ 2 รางวัลดีเด่น สาขาความเป็นเลิศด้านสินค้า-การบริการ Thailand Corporate Excellence Awards 2023 จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเชิดชูองค์กรองค์กรต้นแบบที่มีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการในสาขาต่าง ๆ โดยมีนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ซูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล

เอสซีจี เซรามิกส์ ผู้นำอุตสาหกรรมกระเบื้องปูพื้น กระเบื้องบุผนัง และวัสดุตกแต่งพื้นผิว ในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายและครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกระดับ ภายใต้ 3 แบรนด์หลัก คือ แบรนด์คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) ดำเนินธุรกิจทั้งด้านการผลิต การตลาดและการจัดจำหน่าย รวมถึงส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในธุรกิจเซรามิกและตอบสนองลูกค้าเป้าหมาย ในฐานะ ‘Decor Surfaces Leader’ ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพสูงในราคายุติธรรม 

ขณะเดียวกันก็บรรลุเป้าหมายทางการเงินของบริษัทและการเติบโตอย่างยั่งยืนจนได้รับการยอมรับจากรางวัลการันตีทั้งในประเทศและภูมิภาค โดยล่าสุด เอสซีจี เซรามิกส์ สามารถคว้ารางวัลดีเด่น Thailand Corporate Excellence Awards 2023 ในสาขาความเป็นเลิศด้านสินค้า-การบริการ สำหรับกลุ่มสินค้า Health & Clean Collection นวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีผ่านกระบวนการผลิตและการให้บริการที่มุ่งสู่ ESG PLUS อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กระเบื้อง COTTO HYGIENIC ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสและแบคทีเรียตลอดอายุการใช้งาน กระเบื้อง COTTO AIR ION ดักจับฝุ่น PM2.5 ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า กระเบื้องกันลื่น (Anti Slip) COTTO R11 เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุจากการลื่นโดยเฉพาะในพื้นที่เปียก

OR คิกออฟ!! จำหน่ายน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ ‘พีทีที สเตชั่น’ 226 แห่ง ค่ากำมะถันต่ำกว่า 10 PPM ลดการปล่อยไอเสียและฝุ่นขนาดเล็ก

(1 ธ.ค. 66) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘OR’ เปิดเผยว่า OR ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และในฐานะผู้บริหารแบรนด์สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น (PTT Station) ซึ่งเป็นผู้นำการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง OR จึงพร้อมสนองนโยบายภาครัฐในการช่วยลดปัญหาดังกล่าว

โดยปรับสูตรน้ำมันดีเซลทุกชนิด น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเบนซิน พร้อมจ่ายให้สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 226 สถานี ด้วยน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 โดยปรับลดปริมาณกำมะถันให้มีปริมาณกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm (หรือต่ำกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน) เพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ก่อนการประกาศใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ที่กระทรวงพลังงานได้กำหนดไว้เป็นวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นเวลา 1 เดือน รวมทั้งจำหน่ายน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 นี้ให้กับกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานราชการ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซไฮโดรคาร์บอนและออกไซด์ของไนโตรเจน ลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบรายชื่อสถานีบริการ พีทีที สเตชั่นที่มีน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ได้ที่เว็บไซต์ www.pttor.com

นอกจากนี้ OR ยังจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเกรดพรีเมียม ‘ซูเปอร์ พาวเวอร์’ (Super Power) น้ำมันเกรดพรีเมียมสูตรที่ดีที่สุดจาก พีทีที สเตชั่น ซึ่งมีทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซินและดีเซล เพิ่มสาร Super Booster สูตรพิเศษจากบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก

โดยน้ำมัน ซูเปอร์พาวเวอร์ ดีเซล บี7 เป็นน้ำมันที่มีความบริสุทธิ์สูง มีกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm รับรองด้วยมาตรฐานยูโร 5 และมีค่าซีเทนสูง ช่วยให้การเผาไหม้สมบูรณ์ เครื่องยนต์สะอาดและทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีจำหน่ายใน พีทีที สเตชั่น กว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.1365 Contact Center

‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ เปิดตัว ‘บรรจุภัณฑ์กระดาษ’ ครั้งแรกในไทย ลดใช้พลาสติก 204 กก.ต่อปี หวังเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่รักษ์โลก

(29 พ.ย.66) บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมแล้วที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก ด้วยการเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ใหม่ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์กระดาษเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ชูจุดเด่น อร่อย รักษ์โลก เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยมี ‘AjiPanda’ ทำหน้าที่เป็น Brand Ambassador หรือทูตสื่อสารความอร่อยจากธรรมชาติ เพื่อส่งต่อความ กินดีมีสุข และช่วยดูแลโลกไปด้วยพร้อมๆ กัน

นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ ในฐานะผู้นำและเจ้าตลาดเครื่องปรุงรส ที่ได้เพิ่มรูปแบบบรรจุภัณฑ์ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ ซึ่งซองผลิตจากกระดาษ FSC เพื่อทดแทนการใช้พลาสติก ทำให้สามารถช่วยลดการใช้พลาสติกได้ 204 กิโลกรัมต่อปี โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารให้ได้ 50% ภายในปี พ.ศ. 2568 รวมถึงลดขยะพลาสติกเป็น 0 ภายในปี พ.ศ. 2573

ด้านกระดาษที่นำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ เป็นกระดาษรักษ์โลก ซึ่งได้รับการรับรองจาก FSC หรือ Forest Stewardship Council เพราะมีที่มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์หรือป่าที่มีการจัดการดูแลอย่างรับผิดชอบ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่า ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ ทุกซองผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

ด้านดีไซน์ของซองกระดาษ มีการออกแบบใหม่ให้มีความสดใส เพื่อทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย โดยใช้ภาพลายเส้นสีแดงของ ‘AjiPanda’ (อายิแพนด้า) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือมีความรักในการทำอาหาร สนุกกับการได้กินอาหารที่อร่อย ชอบใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ชอบช่วยเหลือผู้อื่นและอยู่เคียงข้างกับทุกคน พร้อมเปิดประสบการณ์ด้วยการท่องเที่ยวและลิ้มลองอาหารใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยได้เดินทางมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่ ‘AjiPanda’ เดินทางมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอายิโนะโมะโต๊ะในประเทศไทย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับ ‘รสชาติอูมามิ’ หรือที่มาของความอร่อยจากผลิตภัณฑ์ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ และการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’

ด้านโรงงานที่ใช้ผลิต ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ เป็นต้นแบบโรงงานสีเขียวของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การดำเนินการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน การจัดการของเสีย และการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งหมดนี้ ช่วยตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) เพื่อสอดรับกับนโยบาย ‘การสร้างคุณค่าร่วมกับสังคมของอายิโนะโมะโต๊ะ’ (ASV) อันเป็นสิ่งที่กลุ่มบริษัทฯ ยึดปฏิบัติเสมอมา ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ในฐานะ ‘ผู้นำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน’ ผ่านการดำเนินการส่งเสริม ‘สุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คน’ ควบคู่ไปกับการลด ‘ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม’ ในทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ด้วยการใช้ศาสตร์แห่งกรดอะมิโน อันเป็นความเชี่ยวชาญหลักของ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ และจะไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทุกคน ‘กินดี มีสุข’ ตลอดไป

เพื่อสร้างความอร่อยและส่งเสริมสุขภาพที่ดี สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ได้ทางสื่อออนไลน์ภายใต้กลุ่มบริษัทฯ ในทุกช่องทาง สำหรับผลิตภัณฑ์ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ซองกระดาษ สามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ ที่ร้านค้าชั้นนำ​ทั่วประเทศ

‘ซีพี’ ผนึก ‘อัลเตอร์วิม’ รุกธุรกิจพลังงานสะอาดครบวงจร สานต่อภารกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593

(28 พ.ย.66) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด (ALTERVIM) ธุรกิจในเครือฯ ด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เปิดตัว ‘Total Clean Energy Solution’ โครงการต้นแบบการจัดการพลังงานสะอาดแบบครบวงจร นำร่องที่สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดซึ่งถือเป็นภารกิจครั้งสำคัญ ในการสนับสนุนยุทธศาสตร์เป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2593

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับประชาคมโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ได้มากที่สุด โดยภายในงานมีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน พร้อมด้วยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้เปิดงาน และนายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของอัลเตอร์วิม เป็นผู้กล่าวรายงานโครงการ รวมทั้งผู้บริหารในเครือซีพี และกลุ่มธุรกิจในเครือฯ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะ ‘โลกร้อน’ คือ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของโลก เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตระหนักในประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นภารกิจสำคัญในกระบวนการสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือฯ จึงได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2573 

ทั้งนี้เครือซีพีได้ผลักดัน สนับสนุน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ โดยยกระดับแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โครงการต้นแบบการบูรณาการการจัดการพลังงานโดยใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจร ณ สถาบันผู้นำฯ ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญสู่การเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน เป็นต้นแบบที่ดีในการใช้พลังงานสะอาด

“เครือฯ มีความมุ่งมั่นจะขยายผลโครงการบูรณาการ การจัดการพลังงานโดยใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจรไปยังทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ รวมถึงคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเป็นแบบอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่ชุมชน สังคมและประเทศไทย” ซีอีโอเครือซีพี กล่าว

นายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัลเตอร์วิม กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องของพลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยอัลเตอร์วิมก็เป็นบริษัทที่ยึดมั่นในเรื่องค่านิยม 3 ประโยชน์ของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ และมองว่าจะนำพลังงานสะอาดมาใช้อย่างไรให้ประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งสร้างรูปแบบการให้บริการซึ่งสามารถให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น ต้องมีต้นทุนที่ต่ำ เข้าถึงง่าย และมีรูปแบบการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ แล้วถึงคิดในเรื่องขององค์กรเป็นลำดับสุดท้าย

โดยโครงการต้นแบบการจัดการพลังงานสะอาดแบบครบวงจร (Total Clean Energy Solutions) ซึ่งทางอัลเตอร์วิมได้ผนึกกำลังความร่วมมือกับสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมาจากนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นกลางในปี 2573 รวมทั้งเป็นผู้นำในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดนั้น ทางทีมงานได้ลงลึกศึกษาและร่วมมือกับทางสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการนำนโยบายมาต่อยอดเป็นโครงการจริง

นายสมบูรณ์ ขยายความถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่

1.ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 832 กิโลวัตต์ หรือเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าได้มากกว่า 670 ครัวเรือน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.2 ล้านหน่วยไฟฟ้าต่อปี คิดเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 17,500 ตันตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งเป็นต้นน้ำในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด เพื่อนำมาใช้ภายในสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั้งหมด

2. สถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยในช่วงเริ่มต้นเรามีการติดตั้งเครื่องชาร์จแบบที่เหมาะกับการใช้งานของสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ สำหรับรถที่ใช้ไฟฟ้า 100% จำนวน 4 ช่องจอด และเครื่องชาร์จที่รองรับรถไฮบริดที่ใช้ได้ทั้งน้ำมัน และไฟฟ้า จำนวน 2 ช่องจอด รวมเป็น 6 ช่องจอด ซึ่งคิดเป็น 7% จากพื้นที่ที่จอดรถทั้งหมดภายในอาคาร และมีแผนในการติดตั้งเพิ่มเติมตามสัดส่วนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นในปีหน้า

และ 3. พัฒนาระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยปัจจุบันใช้ระบบจัดการวางแผน การผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบตรวจติดตามประสิทธิภาพ และการจัดการงานซ่อมบำรุงรักษาของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำในโครงการนี้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ที่พัฒนาบนเมฆ และทางอัลเตอร์วิมมีการใช้งานจริงสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 2,500 จุดทั่วประเทศไทย

สำหรับเครือซีพีได้ออกแบบการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานให้มีประสิทธิภาพ โดยได้มีการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงานให้ได้มากที่สุด โดยบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด (Altervim) เป็นบริษัทพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยเป็นส่วนหนึ่งของเครือฯ ซึ่งมีปณิธานที่จะจัดหาโซลูชันแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน (Energy Transition) และทำให้ผู้คนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากยิ่งขึ้น เช่น

การติดตั้งระบบจัดการพลังงานผ่านระบบอัจฉริยะเรียลไทม์บนคลาวด์ การติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า Altervim Super Charge ทั่วประเทศกว่า 100 สถานี ผ่านการใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน Altervim Super Charge เป็นแอปที่ไว้สำหรับใช้ติดต่อสื่อสาร และควบคุมระบบสถานีจ่ายไฟฟ้า สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ปัจจุบันมีผู้ติดตั้งแอปมากกว่า 2 หมื่นรายจากผู้ใช้รถมากกว่า 7 คัน

‘WHA’ ผนึก ‘บ.จีน’ ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มบนหลังคาโรงงาน จ.ชลบุรี ช่วยลดปล่อยคาร์บอน 3 หมื่นตัน-การใช้ถ่านหิน 1.5 หมื่นตัน/ปี

(27 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานจากจังหวัดชลบุรี ระบุว่าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของไทยตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) ในจังหวัดชลบุรี ร่วมก่อสร้างโดยผู่หลิน เฉิงซาน บริษัทของจีน และดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (WHA Group) นักพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทย

กำลังการผลิตติดตั้งของโครงการฯ ระยะที่ 1 อยู่ที่ 19.44 เมกะวัตต์ เริ่มต้นดำเนินงานเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2022 ส่วนระยะที่ 2 คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นภายในปีหน้า โดยกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดจะอยู่ที่ 24.24 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไฟฟ้ารายปีสูงเกิน 30 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดของไทยแห่งนี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 30,000 ตัน และการใช้ถ่านหินมาตรฐาน 15,000 ตัน ในแต่ละปี หลังดำเนินงานและเชื่อมต่อกับโครงข่ายการไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ

‘การบินไทย’ ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าสู่ ‘Net Zero 2050’ ยก 3 หลักสำคัญ บริหารทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่กระทบแผนฟื้นฟูองค์กร

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TG’ เปิดเผยว่า การบินไทยกำลังเดินหน้าปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

ภายใต้แนวคิด ‘Zero Waste Living’ ซึ่งประกอบด้วย หลักการหลัก 3 ประการได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม, FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าแผนธุรกิจด้านความยั่งยืน จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เทียบง่าย ๆ แค่การเปลี่ยนขวดนํ้าพลาสติก PET สู่วัสดุที่รีไซเคิลได้ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นราว 20% แล้ว เพราะฉะนั้น การทำงานของการบินไทย ต้องเดินหน้าภายใต้กรอบจำกัดเรื่องของแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยด้วย

“ถ้าเอาเงินมาใส่ตรงนี้ทั้งหมด มันไม่ได้ เราจะทำในสิ่งที่ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท แต่ถ้าต้นทุนเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ เราต้องทบทวนก่อน มิฉะนั้นจะกระทบกับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย” นายชาย กล่าว

จากแผนธุรกิจของการบินไทยปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ประกาศไปล่าสุดว่า จะเดินหน้าลุยหาเงิน 1.2 แสนล้านบาท คืนเจ้าหนี้ทุกรายครบภายใน 8 ปี โดยมั่นใจว่า 2566 จะสามารถทำกำไรได้ 2 หมื่นล้านบาท มีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 การบินไทยมีเงินสดสะสมแล้ว 51,153 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิได้ 14,795 ล้านบาท

- ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน หลายอย่างการบินไทยได้ดำเนินการมานานแล้ว เช่น การบริหารจัดการขยะอาหารและขยะพลาสติก ที่เดินเน้นการคัดแยกแล้วส่งต่อให้ผู้รับซื้อ แต่ปัจจุบันการบินไทยเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากร ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก

ล่าสุด ได้พัฒนาเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง ที่ผลิตมาจากวัสดุเหลือใช้ขวดนํ้าพลาสติกที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกผสมผสานกับเส้นใยไหมธรรมชาติในอัตรา 70:30 ซึ่งเครื่องแบบดังกล่าวใช้ขวด PET จำนวน 54 ขวด ต่อการผลิตชุดไทย 1 ชุด เริ่มใช้ 1 มกราคม 2567 กับพนักงานต้อนรับหญิงที่รับเข้ามาใหม่ และคาดว่าประมาณกลางปี 2567 จะปรับเปลี่ยนได้ครบทั้งหมด ซึ่งชุดเครื่องแบบใหม่นี้ นอกจากมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลแล้ว ยังมีความคงทน และไม่ต้องซักแห้งเหมือนชุดผ้าไหม ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มได้อีก

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับชุดยูนิฟอร์มเก่าจากพนักงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้ยูิฟอร์มเก่ามาเกือบ 10 ตัน จากเบื้องต้นตั้งเป้าเพียง 2 ตัน ทำให้สามารถนำไปปันเป็นเส้นใยใหม่ ผลิตเป็นยูนิฟอร์มใหม่ได้อีก โดยเสื้อ 1 ตัว ใช้ผ้าเก่า 2 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ได้เสื้อยูนิฟอร์มใหม่ 500 ตัว ซึ่งนำไปแจกจ่ายให้กับพนักงานการบินไทยทุกคน และอนาคตมีแผนที่จะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อลดขยะบนเครื่องบินให้ได้มากที่สุด

อีกหนึ่งแนวคิด เป็นการต่อยอดเศรษฐกิจหมุนเวียนของการบินไทย คือ การจับมือกับจิม ทอมป์สัน จัดทำ ‘Travel Kit Bag’ ที่นำอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (Biodegradable) ผลิตออกมาเป็นกระเป๋าผ้าพิมพ์ลายไทยพิเศษ 6 ลาย และในกระเป๋า ยังบรรจุอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เช่นกัน อาทิ แปรงสีฟัน ถุงเท้า ลูกกลิ้งนํ้ามันหอมระเหย ลิปบาล์ม โลชั่นทามือ ยาสีฟัน ผ้าปิดตา และไม้ช้อนรองเท้า

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินอื่น ๆ ที่คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ช้อนส้อมอะลูมิเนียม ใช้ทดแทนช้อนส้อมพลาสติก แก้วนํ้า ถาดใส่อาหาร และอื่น ๆ

- ลุยเชื้อเพลิง SAF ปี 2030
ส่วนทางด้านการบิน ได้เปลี่ยนมาใช้รถบัสไฟฟ้าในการขนส่งพนักงานหรือลูกเรือจากศูนย์ปฏิบัติการไปยังสนามบิน รวมทั้งมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดภายใน 5 ปี และอีกหนึ่งโครการที่การบินไทยดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วและมีผลเป็นที่น่าพอใจคือ การใช้นํ้ามันอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการคือ ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล จากสถิติเก่า ๆ นำมาวิเคราะห์ จะได้ค่าตัวหนึ่ง ที่นำมาใช้งาน ไปใช้เป็นส่วนประกอบการวางแผนการบิน วางแผนการใช้นํ้ามัน และจัดเส้นทางการบิน เพื่อให้ใช้นํ้ามมันอย่างแม่นยำไม่น้อยหรือมากเกินไป

“เรื่องของวิธีการบิน เทคนิคการบิน เช่น เครื่องบินแลนดิ้ง เข้าหลุมจอด ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่อง เป็นการลดใช้นํ้ามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ และเครื่องยนต์ยุคใหม่ ที่ใช้นํ้ามันลดลง”

ส่วนนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) การบินไทยมีแผนที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในเครื่องบืนของการบินไทย ได้มีการใช้นํ้ามัน SAF อยู่บ้าง จากการบินเข้ายุโรป ที่เริ่มบังคับใช้กับผู้ผลิตและบริษัทนํ้ามันแล้ว

“การใช้นํ้ามัน SAF ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เราต้องมีการผลักดันในหลาย ๆ ภาคส่วน จะให้ผู้ใช้เป็นคนผลักดันฝั่งเดียวเกิดได้ยาก นโยบายการใช้ SAF ผู้คุมนโยบาย ผู้ใช้ ผู้ผลิต ก็ต้องมาคุยกัน มันไม่ใช่แค่การบินไทยบอกอยากจะใช้ มันต้องกลับไปดูถึงซัพพลายเชนว่า วัตถุดิบในการผลิต SAF มาจากไหน จะบริหารจัดการกันอย่างไร มีนโยบายอย่างไร”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top