Monday, 20 May 2024
SDGS

‘3 Steps Plus’ พา ‘GC’ พลิกทำกำไรในช่วง ศก.โลกขาลง ‘ยกระดับการแข่งขัน-สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์-บูรณาการความยั่งยืน’

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พลิกทำกำไร ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอยและตลาดเคมีภัณฑ์ขาลง เป็นผลมาจากการวางแผนเตรียมรับมือล่วงหน้า ทำมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการภายในที่เข้มแข็ง ได้แก่ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ รักษาวินัยทางการเงินเข้มแข็ง และกลยุทธ์ 3 Steps Plus ที่มาถูกทาง ช่วยขับเคลื่อนองค์กรท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจเคมีภัณฑ์ทั่วโลกที่ยังผันผวน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า 

“อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก และ Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ทั่วโลก ในขณะที่ GC ได้มีการวางแผนเตรียมรับมือล่วงหน้า มุ่งเน้นทำสิ่งที่เราควบคุมได้ และดำเนินมาตรการภายในที่เข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ผ่านโครงการกว่า 10,000 โครงการ ส่งผลให้เกิดผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยมากกว่า 6,900 ล้านบาทต่อปี”

มาตรการภายในที่เข้มแข็งดังกล่าว ได้แก่
>>Business Enhancement: การเพิ่มประสิทธิภาพ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต ได้ผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยมากกว่า 5,200 ล้านบาทต่อปี

>>Organization & Digital Transformation: ปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ การปรับโครงสร้างองค์กร และเพิ่มศักยภาพบุคลากร ได้ผลประโยชน์สะสมเฉลี่ยประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี

>>ดำเนินมาตรการทางการเงิน: คงวินัยทางการเงินที่เข้มแข็ง บริหารสภาพคล่อง ควบคุมค่าใช้จ่าย และ บริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

*ลด OPEX ต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2566 คาดว่าจะลดได้ 1,500-2,000 ล้านบาท
*ลด CAPEX ประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยการเลือกลงทุนอย่างชาญฉลาดในโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และในขณะเดียวกันสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
*การลดหนี้และบริหารต้นทุนทางการเงิน โดยการซื้อคืนหุ้นกู้ (US Bond buy back) ทำให้มีกำไรประมาณ 460 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี

>>Asset Light Strategy: ปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดการถือครองสินทรัพย์ที่เป็น Non-core Assets

“ผลจากการดำเนินตามกลยุทธ์ 3 Steps Plus ส่งผลให้ GC มีพื้นฐานที่ดี และมีผลบวกในด้านต่าง ๆ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ GC ได้ทำการทบทวนและจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป โดยกลยุทธ์ 3 Steps Plus ประกอบด้วย 

(1) Step Change ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
(2) Step Out  มุ่งสู่ธุรกิจ High Value (Specialty Chemicals) and Low Carbon ( Bio and Circularity) 
(3) Step Up บูรณาการความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่ง GC มีการดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้”

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2566 ของ GC ปรับตัวดีขึ้น มีกำไรสุทธิ 1,427 ล้านบาท มี Adjusted EBITDA ที่ 12,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2566 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงขาลง มีการปรับตัวลดลงของ EBITDA ในไตรมาสที่ 3/2566 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่ 2/2566 ประมาณ 20 - 40 % 

GC องค์กรยั่งยืนได้รับการยอมรับในระดับสากลและระดับประเทศ
>>GC ได้รับรางวัล DJSI อันดับหนึ่งของโลก ในกลุ่มเคมีภัณฑ์ ต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกัน (2562-2565) และในปี 2566 ได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มเคมีภัณฑ์ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566

>>นอกจากนี้ยังมีรางวัลเกียรติยศอื่น ๆ อาทิ รางวัล Platinum ระดับสูงสุดจาก Ecovadis, ดัชนีชี้วัดความยั่งยืน CDP Water and Climate ได้รับการจัดอันดับ A LIST, องค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับสูงสุด (LEAD) ของโลกจาก UN Global Compact Lead, หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ที่ระดับ AAA

>>ล่าสุดได้ตอกย้ำศักยภาพการเป็น Sustainability Thought Leader จากการจัดงาน GC Sustainable Symposium 2023: We are GEN S ซึ่งเป็นเวทีแบ่งปันองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีผู้ชมการถ่ายทอดสดผ่าน LIVE ใน 125 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังได้ต่อยอดธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็น ‘องค์กรคาร์บอนต่ำ’ และเพิ่มโอกาสในการร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ ที่สำคัญ

“ความสำเร็จของ GC ไม่เพียงตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบต่อโลก แต่ยังสะท้อนถึงความร่วมมือของคณะผู้บริหารและบุคลากรทุกคนที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตให้กับองค์กร ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน รวมถึงการสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” ดร.คงกระพัน กล่าวสรุป

‘ดอยคำ’ เปิดตัวไอศกรีม ICE POP ‘รสฟรุตแอ๊บพันซ์’ มาพร้อมบรรจุภัณฑ์พิเศษ!! เก็บในอุณหภูมิห้องได้ ไม่ง้อตู้เย็น

‘ดอยคำ’ เปิดตัวไอศกรีมหวานเย็นรักษ์โลกสูตรใหม่ล่าสุด เอาใจคนรักสนุก กับดอยคำ ICE POP ‘ฟรุตแอ๊บพันซ์’ หวานเย็นเต็มรส 4 ผลไม้แท้ อร่อย หวาน หอม ซ่อนเปรี้ยว สไตล์ฟรุ้ตตี้สุด ๆ พร้อมแชร์ความสนุกให้กับทุกปาร์ตี้

หลังจากเปิดตัว ICE POP กลุ่มแรกออกไปไม่นาน กระแสตอบรับดีเกินคาด ถูกปาก ถูกใจ ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ ด้วยรสชาติที่ดึงจุดเด่นของผลไม้แต่ละชนิด แต่ละสายพันธุ์ออกมาช่วยชูรสชาติที่แตกต่าง แต่ลงตัว มาในรูปแบบหวานเย็น ที่สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องได้ จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ลดการใช้พลังงานไปโดยปริยาย โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบ หรือกระบวนการผลิต ที่เน้นความยั่งยืนและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัล ‘Creative Sustainable Product Award’ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ที่ครองใจชาวโซเชียลมีเดีย เกณฑ์ตัดสินจากการค้นหาบนโลกออนไลน์

สำหรับ ICE POP ‘ฟรุตแอ๊บพันช์’ ดอยคำคัดเลือกผลไม้ 4 สายพันช์ มะม่วง เสาวรส ส้ม และทับทิม ที่พัฒนาและวิจัยจนได้อัตราส่วนที่เหมาะสมและลงตัวที่สุด ภายใต้เงื่อนไขผลผลิตคุณภาพจากเกษตรกรไทย บนมาตรฐานดอยคำ จึงเชื่อได้ว่าทุกการ ‘แช่ ฉีก ป๊อป’ ต้อง อร่อย ปลอดภัย มีมาตรฐาน และยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรไทย

ICE POP ‘ฟรุตแอ๊บพันช์’ มาในรูปแบบซอง ขนาด 85 มล. ราคาซองละ 20 บาท หาซื้อได้แล้ววันนี้ ที่ร้านดอยคำ ทุกสาขา และทาง Doi Kham Shop ออนไลน์

พิเศษสุด ดอยคำชวนรักษ์โลกกับ กิจกรรม ‘แกะ ล้าง เก็บ’ เพียงนำกล่องน้ำผลไม้ UHT ตราดอยคำ หรือซองดอยคำ ICE POP ที่ผ่านการทำความสะอาดด้วยการ ‘แกะ’ ตัดมุมบรรจุภัณฑ์ทั้งสี่ด้าน ‘ล้าง’ ทำความสะอาด เพื่อง่ายต่อการ ‘เก็บ’ รักษา และนำไปแปรรูป นำมาใช้แลกเป็นส่วนลด 1 กล่อง/ซอง มีมูลค่า 1 บาท สำหรับซื้อสินค้าดอยคำ ที่ร้านดอยคำ ทุกสาขา รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.doikham.co.th

‘สาธารณสุข’ เผย ‘โซลาร์’ บนหลังคา รพ. คืบหน้า ช่วยลดปล่อยคาร์บอน เซฟค่าไฟกว่า 300 ล้านต่อปี

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ระบุถึง ความคืบหน้าการขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบาย Smart Energy and Climate Action 

ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่ง ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 35,420 tCO2-eq /ปี ประหยัดค่าไฟได้กว่า 322 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งจากโรคต่างๆ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น โดยผลการศึกษาในปี พ.ศ.2565 พบว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วน 9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ หรือ 33,766,720 tCO2-eq /ปี

โดยกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุดคือ การเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย และญาติ และการใช้ไฟฟ้าในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลการจัดการพลังงาน ปี 2564 พบว่า มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าถึง 1,217 ล้านกิโลวัตต์/ปี คิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 4,730 ล้านบาท/ปี

สำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลระดับต่างๆ ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ต.ค.2566 มีหน่วยบริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่งจากทั้งหมด 1,857 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 62,245.80 กิโลวัตต์

‘พีระพันธุ์’ ร่วมศึกษางานบริษัทพลังงานชั้นนำของ ‘จีน’ เล็งพัฒนาความร่วมมือ หนุนพลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน

(11 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ขณะเข้าร่วมการประชุม Communist Party of China (CPC) in Dialogue with Political Parties from Southeast and South Asian Countries (ในหัวข้อ Enhancing the Pillars of High-quality Development, Embracing a Brighter) ณ WYNDHAM GRAND Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming ประเทศจีน ระบุว่า…

ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมที่นครคุนหมิงตามคำเชิญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่บริษัท Yunnan Energy Investment Group จำกัด (YEIG) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน และได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน ‘บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน’ ติดต่อกัน 7 ปี

ผมได้รับทราบข้อมูลว่า บริษัท YEIG นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เดิมชื่อ ‘บริษัท การลงทุนไฟฟ้ามณฑลยูนนาน จำกัด’ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของรัฐบาลมณฑลยูนนาน (State-owned Assets Supervision and Administration Commissionof Yunnan Provincial People's Government) โดยมีธุรกิจหลัก คือ การผลิตพลังงานสะอาด (น้ำ ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซธรรมชาติ และชีวภาพ) และยังดำเนินธุรกิจด้านการเงิน โลจิสติกส์ สารสนเทศ (Big Data) และกิจการอื่นๆ ผ่านบริษัทในเครือกว่า 100 บริษัท 

นอกจากนี้ YEIG ยังได้นำยุทธศาสตร์ ‘ก้าวออกไป’ ของรัฐบาลจีนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการในต่างประเทศ โดยการก่อตั้งบริษัท Hong Kong Yunnan Energy International Investment จำกัด เพื่อลงทุนโครงการสถานีไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังไอน้ำในเมียนมา และโรงงานปูนซีเมนต์ในลาวและอินโดนีเซีย รวมทั้งได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ และเนปาล รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านพลังงาน รวมทั้งมุ่งดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลยูนนาน และรัฐบาลมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวให้เป็นอุตสาหกรรมหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาใหม่ที่ยั่งยืนของมณฑลต่อไป

ผมขอขอบคุณท่าน หู จวิน ประธานบริษัทฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน ที่ให้การต้อนรับผมและคณะเป็นอย่างดี และทาง YEIG ยังพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในภารกิจต่างๆ ด้านพลังงาน โดยจะให้ตัวแทนในประเทศไทยติดต่อผม เพื่อประสานงานแนวทางต่าง ๆ กันต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ

‘พีระพันธุ์’ เข้าร่วมประชุม-แสดงวิสัยทัศน์ ตามคำเชิญจีนที่ยูนนาน กร้าว!! จุดยืนไทย มุ่งมั่นพลังงานสะอาด สอดรับทิศทาง BRI

‘พีระพันธุ์’ นำผู้บริหารพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมประชุม ‘ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง’ ตามคำเชิญของจีน ย้ำความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา และสร้างความยั่งยืนของพลังงานสะอาดของประเทศสมาชิกและของโลก

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พร้อมด้วยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค, พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร สส.นครปฐม, นายพงษ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรค และ นายปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัณ เหรัญญิกพรรค เข้าร่วมการประชุม Communist Party of China (CPC) in Dialogue with Political Parties from Southeast and South Asian Countries (ในหัวข้อ Enhancing the Pillars of High-quality Development, Embracing a Brighter) โดยมี นายหลิว เจี้ยนชาว รมว.วิเทศสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และ นายหวาง หนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และผู้แทนจากพรรคการเมืองหลายประเทศ เข้าร่วมประชุมด้วย ณ WYNDHAM GRAND Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming ประเทศจีน

นายพีระพันธุ์ ได้รับเกียรติให้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้มาร่วมประชุมพร้อมกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคและคณะผู้บริหารพรรค และให้โอกาสตนกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมร่วมของพรรคการเมืองจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในหัวข้อเรื่อง ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (One belt one road initiative – BRI)

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการดำเนินการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาตั้งแต่สมัยที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในความเป็นจริงคือการเชื่อมโลกเชื่อมประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาความเจริญของแต่ละประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้เดินหน้าไปพร้อมกัน โดยมีประเทศจีนเป็นแกนกลาง

ทั้งนี้ ในอดีตประเทศจีนก็เป็นผู้นำในด้านนี้มาก่อนตามที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘เส้นทางสายไหม’ แต่ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในครั้งนี้ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่าเส้นทางสายไหมในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเชื่อมประเทศ เข้าต่างๆ ด้วยกันกว่า 100 ประเทศ ทั้งประเทศในทวีปเอเชีย, ยุโรป และแอฟริกาโดยเฉพาะ เมื่อมีการนำเอาเรื่องพลังงานสะอาดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางด้วย ยิ่งทำให้ข้อริเริ่มนี้มีความยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อโลกมากยิ่งขึ้น 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่าความจริงใจและเป็นมิตรของจีนจะเป็นแรงผลักดันให้ทุกโครงการของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในทุกประเทศสมาชิก ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายทุกโครงการได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนรับผิดชอบดูแลภารกิจด้านพลังงานของประเทศไทยจะเดินหน้าพัฒนาพลังงานสะอาดของประเทศไทยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จตามเป้าหมายโดยเร็ว 

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนและประเทศสมาชิก จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและความยั่งยืนของพลังงานสะอาดของโลกไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น ผมในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมผู้บริหารพรรคที่มาร่วมงานในวันนี้ ขอขอบคุณพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ให้โอกาสมาร่วมงานในครั้งนี้” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ พร้อมคณะได้เดินทางไป ศึกษาดูงานด้านพลังงานที่ Yunnan Energy Investment ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน ถือเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของรัฐบาลมณฑลยูนนาน (State-owned Assets Supervision and Administration Commission of Yunnan Provincial People's Government) ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน ‘บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน’ ติดต่อกัน 7 ปี

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมหารือทวิภาคีก่อนการประชุม ‘ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง’ ร่วมกับนายหวาง หนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำมณฑลยูนนาน ประธานสภาประชาชนมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรค คอมมิวนิสต์จีน ประจำสภาประชาชนมณฑลยูนนาน

‘EA’ ได้รับการจัดอันดับหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ระดับ AA ปี 66 ตอกย้ำ!! ความใส่ใจ-รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม-ดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้รับการจัดอันดับ ‘หุ้นยั่งยืน ระดับ AA’ ประจำปี 2566 (SET ESG Ratings : AA) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายและการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) การเปิดเผยกระบวนการดำเนินธุรกิจและมีแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและเกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้นและทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งในปีนี้ EA ได้รับการคัดเลือกต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2560

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด กล่าวว่า “EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เป็น ‘Green Product’ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมในทุกมิติด้านพลังงานสะอาด ทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ยกระดับนวัตกรรมฝีมือคนไทยสู่ระดับนานาชาติ 

นอกจากนี้ EA มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร เดินหน้าพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมระบบขนส่งทั้งรถหัวลากไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน ได้แก่โดยสารไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า ยกระดับการเดินทางระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของไทยที่มีความสะดวก ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

‘เอสซีจี’ ขยายผลความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนในอาเซียน จัด ESG Symposium 2023 ที่อินโดนีเซียเป็นครั้งแรก

(8 พ.ย. 66) เอสซีจีจัดงาน ESG Symposium 2023 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก เป็นการต่อยอดความร่วมมือด้านความยั่งยืนสู่ภูมิภาค จากเวที ESG Symposium ในประเทศไทย โดยงาน ESG Symposium 2023 Indonesia จัดภายใต้แนวคิด ‘ความร่วมมือเพื่ออินโดนีเซียที่ยั่งยืน’ (Collaboration for Sustainable Indonesia)

เพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เร่งการบรรลุเป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ลดความเหลื่อมล้ำ ตามกลยุทธ์ ESG 4 Plus และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ตามเป้าหมาย Nationally Determined Contributions (NDC) ของอินโดนีเซีย

ทั้งนี้งานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และคนรุ่นใหม่กว่า 500 คน รวมพลังนำอินโดนีเซียสู่ความยั่งยืน ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ นโยบาย และนวัตกรรมเทคโนโลยี อาทิ โครงการด้านพลังงานสะอาด เชื้อเพลิงทดแทนจากขยะมูลฝอย โซลูชันพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ นวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสีย และแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการจัดการป่าไม้และการวัดปริมาณคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากวิกฤตการณ์โลก เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันอินโดนีเซียกำลังเผชิญกับปัญหาระดับชาติ เช่น มลพิษทางอากาศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การจัดการขยะ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

“ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจึงเป็นภารกิจที่จำเป็นต้องทำไม่ใช่ทางเลือก อินโดนีเซียมีเป้าหมาย NDC การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060 องค์กรธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว”

‘EA’ จัดโชว์นวัตกรรมฝีมือคนไทย ในงาน 4th iTIC FORUM 2023 ชู ‘รถโดยสารไฟฟ้า-เรือไฟฟ้า’ หนุนการขนส่งสาธารณะแบบไร้มลพิษ

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำพลังงานสะอาด หนุนมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) ร่วมจัดแสดงผลงานและให้การต้อนรับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในงาน ‘4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility’ พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่การเดินทางสาธารณะด้วยไทยสมายล์บัส และ ไทยสมายล์โบ้ท ที่ช่วยขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านคมนาคม ด้วยฝีมือคนไทย บริการด้วยใจ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย ร่วมให้การต้อนรับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในโอกาสเยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานของนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบชาร์จ แบบ ‘EV Smart Building ภายใต้แนวคิด EA’s Electric Public Transportation: Solutions for Smart Cities’ ในงาน ‘4th iTIC FORUM 2023: Power of Connectivity and Smart Mobility’ ซึ่งงานดังกล่าวได้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Connectivity and Smart Mobility) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนยกระดับการพัฒนาระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะในประเทศไทย พร้อมระดมพลังความร่วมมือและขับเคลื่อนข้อมูลในการแก้ปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ นายสมโภชน์ อาหุนัย ยังได้ร่วมบรรยายพิเศษ ภายใต้แนวคิด ศักยภาพของเอกชนไทยในการขับเคลื่อนสมาร์ทโลจิสติกส์ รถ-เรือ-ราง ‘The Potential of Thai Private Sector in Driving Smart Logistics’ ที่จะมีส่วนในการส่งเสริมระบบขนส่งของไทยให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย ด้วยยานยนต์ไฟฟ้ายกระดับขนส่งไทยไร้มลภาวะ 

นอกจากนี้ EA ร่วมกับ ไทย สมายล์ กรุ๊ป ต้อนรับคณะจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (iTIC) เปิดประสบการณ์ (Technical Tour) การเดินทางด้วยรอยยิ้มใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไปกับบริการขนส่งสาธารณะ รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus และ เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry โดยปัจจุบัน รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus ให้บริการแล้วกว่า 2,200 คัน ในพื้นที่ 123 เส้นทาง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry ที่ให้บริการผู้โดยสารตั้งแต่ ท่าเรือสาทร - ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า มีเรือไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 35 ลำ สร้างมิติใหม่แห่งการขนส่งด้วยนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยฝีมือคนไทย โดยล่องแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อชมวิววัดวาอารามและฟังบรรยายที่มาของรถ-เรือโดยสารไฟฟ้า ยกระดับการขนส่งมวลชนด้วยยานยนต์ไฟฟ้าไร้มลพิษครบวงจร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศ

KFC ช่วยเด็กนอกระบบ สู่โลกการศึกษา จุดเริ่มต้นสังคมเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.66) เศกไชย ชูหมื่นไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และประธานมูลนิธิเคเอฟซี กล่าวว่า การทำธุรกิจมายาวนานกว่า 39 ปี มาจากความเชื่อของผู้พันแซนเดอร์สที่ว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ทุกฝ่ายในสังคมต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน 

KFC จึงมุ่งมั่นร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคมในหลากหลายมิติ แทนคำขอบคุณคนไทยที่สนับสนุนแบรนด์เป็นอย่างดีเสมอมา เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องมีส่วนช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะนับจากปี 2566-2568 ต่อจากนี้ เราจะมุ่งผลักดันศักยภาพครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ผู้คน (people), โลก (planet) และอาหาร (food) 

โดยจะมุ่งเน้นเรื่องของผู้คนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของเรา หรือคนในสังคม ทั้งการผลักดันศักยภาพผู้คน และพนักงานด้วยการมอบโอกาส และการจัดการด้านอาหารผ่านโครงการ Harvest & Colonel’s Kitchen ที่ช่วยลดเรื่องของอาหารส่วนเกินที่ยังอุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพสูงให้กับองค์กรการกุศลที่ต้องการความช่วยเหลือ และ Planet ที่จะมุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืน โดยเริ่มจากบรรจุภัณฑ์ในร้าน และ Green Store Concept ที่จะเริ่มต้นดำเนินการในปีหน้า โดยทุกแผนงานจะเดินหน้าไปพร้อมกันทุกแฟรนไชส์

“สำหรับแผนความยั่งยืน เราอยากโฟกัสไปที่เรื่องคนเป็นหลักก่อน โดยเฉพาะเรื่องของเด็กและการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำในสังคมเห็นได้ชัดมาก เราจึงร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แก้ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาผ่านโครงการ KFC Bucket Search”

เศกไชย กล่าวต่อว่า เมื่อมองไปถึงระดับประเทศพบว่าเด็กไทยอายุ 15-23 ปี มีแนวโน้มออกจากระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นปีละเกือบ 1 แสนคน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงานหรือการฝึกอบรมพัฒนาใดๆ หรือกลุ่ม Not in Education, Employment, or Training (NEET) มากถึง 1.4 ล้านคน คิดเป็นราวร้อยละ 10 ของประชากรฐานภาษี

ประชากรกลุ่มนี้ถือเป็นทุนมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ แม้บางส่วนจะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบ ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ จึงเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคม

“ปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง เป็นโจทย์ที่ซับซ้อน และต้องได้รับการแก้ไข จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบของ กสศ. พบว่าเมื่อออกจากระบบกลางคัน เด็กส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาสูญเสียความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แพ้ ถูกตีตราจากสังคม จนเป็นชนวนไปสู่ปัญหาเชิงพฤติกรรม หากปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนาน การช่วยเหลือเยียวยาจะยิ่งทำได้ยาก หนึ่งในภารกิจของ กสศ. คือการส่งเสริมระบบการศึกษาที่มีเส้นทางรองรับเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้ก้าวต่อไปได้บนวิถีทางของตน”

หากแก้ปัญหาเด็กนอกระบบได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีมูลค่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นปีละประมาณ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ KFC Bucket Search เป็นโครงการระยะยาวตลอดปี 2566-2568 โดยมอบโอกาสทางการศึกษา พัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มต้นจากการให้โอกาสพวกเขาทำความเข้าใจตัวเอง และวางแผนชีวิตผ่านการศึกษาทางเลือกที่สอดรับกับความต้องการของตน ทำให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเอง และกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้

สำหรับเด็กและเยาวชนภายใต้โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะการดำรงชีวิตและเงินทุนตั้งต้น เติมเต็มทักษะและศักยภาพในด้านที่พวกเขาตั้งใจ โดยไม่กระทบกับชีวิตประจำวันที่บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปด้วย

ด้วยทางเลือก work & study ที่ช่วยแบ่งเวลาและรายได้ และทางเลือกเงินทุนเพื่อวิชาชีพ หากน้อง ๆ ต้องการเป็นช่างตัดผม ช่างสัก หรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ก็พร้อมมอบให้ทั้งองค์ความรู้และเงินทุนตั้งต้นอีกด้วย

“อย่างไรก็ตาม สิ้นปีนี้ตั้งเป้าปลดล็อกศักยภาพน้อง ๆ กว่า 200 คน และขยายขึ้นในทุก ๆ ปี ผ่านโครงการ KFC Bucket Search คาดว่าจะมีน้อง ๆ ทั้งสิ้นกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ที่จะเปลี่ยนสถานะจากเด็กนอกระบบการศึกษาสู่การเป็นเด็กนอกกรอบที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพ” เศกไชย กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วง 2-3 ปีนี้ถือว่าวิกฤตหนัก จากงานวิจัยพบมี 2 รูปแบบคือ…

1.เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน จากปัญหาความยากจน ซึ่งพบว่าสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้น ประชาชนเกือบ 3-4 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นรายได้ของประเทศ หรือมีรายได้ 1,370 บาทใน 1 เดือน รวม 1 ปีไม่เกิน 2 แสนบาท แต่มีหนี้สินถึง 147,707 บาท ซึ่งเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำสูง โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อของ ป.6 จะขึ้น ม.1 หรือ ม.3 จะขึ้น ม.4 ซึ่งการเรียนฟรีไม่มีอยู่จริง เพราะสุดท้ายแล้วก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอีกเยอะ

กลุ่มที่สองคือ กลุ่มเด็กที่ถูกผลักออกจากการศึกษา ซึ่งมาจากปัญหาเชิงพฤติกรรมที่โรงเรียนไม่สามารถรักษาไว้ได้ เช่น เด็กตั้งครรภ์ ยาเสพติด ความรุนแรง ส่วนใหญ่ออกช่วง ม.2 ครึ่ง หรือช่วงมัธยมต้น หรือติดศูนย์ ติด ร. กลุ่มนี้มีจำนวนมากถึงปีละ 6-7 หมื่นราย เฉพาะช่วงโควิด-19 ระยะเวลา 2-3 ปีรวมราว 237,700 ราย แต่ถ้ารวมทั้งหมดตอนนี้มีประมาณ 1.4 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือ 4 ใน 5 ของเด็กกลุ่มนี้ ไม่มีเป้าหมาย หรือแรงจูงใจในการศึกษาที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เขาอยู่ไปวัน ๆ นี่คือกลุ่มที่ใหญ่ของสังคมไทย แล้วเรายังมีเด็กนอกระบบ เด็กด้อยโอกาสอีก 15 กลุ่ม ทั้งเด็กเร่ร่อน ตอนนี้จาก 3 หมื่น พุ่งเป็น 5 หมื่น จากแรงงานเด็ก ที่ทะลุจากชายแดนเมียนมาก็เยอะ เด็กไร้สัญชาติก็มาก ปัญหาใหญ่คือประเทศเพื่อนบ้านเด็กหนีสงครามเข้ามา กลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ อยู่ตามแม่สอด เชียงราย แม่ฮ่องสอนเต็มไปหมด พวกนี้ค่อย ๆ ทะลักเข้ามา สุดท้ายมากองรวมที่ กทม.เป็นหลัก

“แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นบ้าง แต่ไม่ได้ลงไปถึงคนระดับรากหญ้าเท่าไหร่นัก การจะทำให้การศึกษาไปต่อยากมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น จัดโครงการ หรือช่วยกันยกระดับอย่างไรก็ได้ เพราะลำพัง กสศ.หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด แต่เราจะมีหน้าที่ชี้เป้า สร้างต้นแบบ บทเรียน ถ้าเราช่วยกันมากขึ้น อีก 10-15 ปี ความเหลื่อมล้ำจะค่อย ๆ ลดลง หรือดีขึ้นตามลำดับ”

'สุริยะ' รับลูก 'นายกฯ' สั่งหน่วยงานคมนาคม โละหมด 'รถยนต์สันดาป'  ชี้!! 'หมดสัญญาเช่า' เปลี่ยนใช้ 'EV' ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

(7 พ.ย.66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญแทนรถยนต์ที่หมดอายุนั้น กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญ และขานรับข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจรวบรวมรายละเอียด และพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) ที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า สอดคล้องเป้าหมายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573 โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5

ทั้งนี้ จากการรายงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ทอท. จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดการใช้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งในปัจจุบัน รถส่วนกลางของ ทอท. ส่วนใหญ่เป็นรถเช่าระยะเวลา 3 ปี ดังนั้น หากหมดสัญญาเช่าแล้ว ให้ ทอท.พิจารณาเริ่มสัญญารถเช่าใหม่ เปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก ประสานไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมายให้สรุปรายละเอียดและพิจารณารถยนต์ที่ใช้ภายในของแต่ละหน่วยงาน และจะหมดสัญญาเช่าให้เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาตามความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น ในเบื้องต้นจะให้เปลี่ยนรถยนต์ที่วิ่งใช้ภายในจังหวัด หรือระยะทางไม่ไกลมากนัก หากเป็นรถยนต์ที่ใช้วิ่งข้ามจังหวัด อาจจะยังคงเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันไปก่อร เนื่องจากติดปัญหาเรื่องระยะทางวิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานทั้งหมดสรุปรายละเอียดและแผนการดำเนินงานเสนอมายังกระทรวงฯ โดยเร็วที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top