Thursday, 9 May 2024
SDGS

ผุด ‘Thai ESG Found’ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน  สะท้อน!! สังคมไทยใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

(25 ธ.ค.66) พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึง ‘กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน’ ว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนตลาดทุนให้ตอบโจทย์ส่งเสริมการทำ ESG ให้กับผู้ลงทุนและผู้ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งเป็นเหมือนผลตอบแทนจากการทำสิ่งที่ดีและจะได้รับสิ่งที่ดีกลับไป โดย กองทุนรวม Thai ESG เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินด้านความยั่งยืนที่มีความหลากหลายที่ผู้ออกทรัพย์สินนั้นเป็นภาครัฐหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

ทั้งนี้ ก.ล.ต สนับสนุนให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศไทย และจัดการกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน รวม 11 ฉบับ โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สามารถจัดตั้งกองทุนรวม Thai ESG Found ได้ทันที ซึ่งชุดแรก จำนวน 25 กองทุน จาก บลจ.16 แห่ง

โดยผู้ลงทุน เป็นกลุ่มการลงทุนสินค้าสีเขียว กลุ่มคนที่สนใจและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนที่พอเหมาะพอสม อย่างผู้ที่จะลงทุนเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็สามารถลงทุนได้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนมากขึ้น สามารถนำเงินลงทุนในกองทุน Thai ESG Found

สามารถมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน ในเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีที่มีการลงทุน

รวมทั้งเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีถ้าการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด 

โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นการเสริมสร้าง Social lmpact ผ่านการลงทุน Thai ESG Found ซึ่งเกิดประโยชน์เป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ยังยกเว้นให้ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า บริษัทที่จดทะเบียนด้านความยั่งยืนมีการรายงานผลโดยส่งข้อมูลให้ตลาดหลักทรัพย์ จนทำให้มีผลิตภัฑณ์ที่เกี่ยวกับ ESG มากมาย ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศซึ่งเป็นจุดขายในการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยปัจจุบันไทยมีเรตติ้งสำคัญระดับโลกซึ่งบริษัทไทยอยู่ในดัชนีมากที่สุดในอาเซียนและอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ESG เป็นกระแสที่เข้มข้นมากขึ้น การลงทุนสีเขียวต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนจึงจะสามารถลงทุนได้ และการที่ไทยมีกองทุน Thai ESG Found ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ทั้งโลกให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เป็นอย่างมาก โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้น้ำหนักสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่การเป็น Ageing society (สังคมผู้สูงอายุ) ในไทยทำให้เรื่องการออมต่ำกว่าประเทศในเอเชีย ถ้าสิ่งเสริมทางด้านการออมด้วยกองทุน Thai ESG Found ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนไทยมีความสนใจในการออมได้มาก รวมถึงสามารถเพิ่มนักลงทุนได้อย่างมหาศาล

โดยรายละเอียดของกองทุน Thai ESG สามารถลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุน ในประเทศไทยเท่านั้น โดยตราสารทุนมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้คะแนนจากตลาดหลักทรัพย์ที่มีเรตติ้งขึ้นไปประมาณ 200 ตัว โดยจากรายงานนั้นบริษัทมีการสนับสนุนการลดการใช้ก๊าซ เรือนกระจกที่ลดลงเรื่อยๆ และบางบริษัทมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะเป็นบริษัทที่ได้รับเลือกในการลงทุนในส่วนของกองทุนหุ้น

ในส่วนของการลงทุนในตราสารหนี้จะใช้เกณฑ์ในการลงทุนของ ก.ล.ต เป็นหลัก และใช้มาตรฐานสากลเป็นหลักโดยต้องมีส่วนของ

Green bond ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถลงทุนได้เช่นกัน

‘กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน’ หรือ ‘Thai ESG Found’ นอกจากทำหน้าที่ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืนของไทยแล้วผลพลอยได้ที่น่าจับตามองคือ ช่องทางการออมและการลงทุนของคนไทยที่มีสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขที่เอื้อต่อทุกคนที่สนใจทั้งการออมและความยั่งยืน 

‘GULF-AIS’ ลุย ‘ติดแผงโซลาร์-ต่อเสาสื่อสาร’ ให้ชุมชนห่างไกล หวังเพิ่มโอกาส ‘ทางการศึกษา-การเข้าถึงบริการสาธารณสุข’

(21 ธ.ค. 66) นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ AIS ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในโครงการ GULF X AIS SOLAR SYNERGY: A SPARK OF GREEN ENERGY NETWORK ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่ชุมชนพร้อมติดตั้งระบบสื่อสารจากสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่ชุมชนห่างไกล นำร่องที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ

GULF จะส่งมอบระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ให้แก่ชุมชนแต่ละแห่งตามสภาพปัญหาของชุมชนนั้นๆ เช่น ปัญหาด้านสาธารณสุข รวมทั้งการป้องกันและรักษาโรคในเบื้องต้น ระบบไฟฟ้าเพื่อการเรียนการสอน ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบกรองน้ำดื่ม ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เป็นต้น รวมไปถึงการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องพลังงานสะอาด การบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ และการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ส่วน AIS จะนำระบบสื่อสารโทรคมนาคมด้วยพลังงานโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ชุมชนนั้นๆ ได้ใช้ประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ บนโลกออนไลน์ พร้อมเติมเต็มโอกาสในการเข้าถึงระบบการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแบบ ‘แพทย์ทางไกล’ ผ่านเทคโนโลยี Telemedicine รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ โดยได้เริ่มโครงการนำร่องแห่งแรกที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขา ขาดแคลนไฟฟ้า มีประชากรประมาณ 700 คน รวม 160 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำไร่ข้าวโพด

แม้บ้านดอกไม้สดจะอยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยางเพียง 40 กิโลเมตร แต่ด้วยสภาพเส้นทางดินลูกรังและเส้นทางภูเขาที่คดเคี้ยว ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่พื้นที่กว่า 3 ชั่วโมง ยิ่งในช่วงฤดูฝน เส้นทางสัญจรแทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ประชาชนในพื้นที่จึงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค และระบบการสื่อสารต่างๆ ยังรวมถึงการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที เราจึงเลือกที่นี่เป็นพื้นที่นำร่อง ก่อนที่จะขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ทุกภาคทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

“เพราะเราทั้งสององค์กรต่างตระหนักดีว่า ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร คือ สาธารณูปโภคที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง ดังนั้นประชาชนในทุกพื้นที่ ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงถือเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อมาสู่พนักงานทุกคนที่ต่างสนับสนุนภารกิจนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละส่วนงาน โดยโครงการนี้ยังถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านความยั่งยืน ที่เกิดจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาโครงข่ายพร้อมบริการดิจิทัล ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ ครอบคลุมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Social) และการยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environment) นั่นเอง”

ด้านนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ร่วมกันกล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดในการทำงานของ GULF และ AIS คือ ใช้ขีดความสามารถทางธุรกิจของแต่ละบริษัท ในการยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทย ให้เท่าเทียมและทั่วถึง พร้อมสนับสนุนภารกิจของภาครัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการประสานความร่วมมือกัน โดยใช้องค์ความรู้และประสบการณ์จาก GULF ที่เชี่ยวชาญการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากเทคโนโลยีทันสมัย และ AIS ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล ส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและสื่อสาร อย่างระบบไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่คนไทยในพื้นที่ซึ่งยากแก่การที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะเข้าถึง

‘EGCO Group’ ชูแผนขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน มุ่งเป้า ‘ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’

(19 ธ.ค. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ร่วมสนับสนุนการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2023 (International Conference on Biodiversity: IBD 2023) พร้อมร่วมจัดบูธนิทรรศการ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในเวทีสัมมนา ในหัวข้อ ‘EGCO Group บนเส้นทางของความยั่งยืน สู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ เพื่อร่วมแสดงพลังกับเครือข่ายองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพและการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จัดขึ้น ณ อาคารหอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกว่า 600 คน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า ภายใต้การดำเนินธุรกิจบนวิสัยทัศน์ “เป็นบริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม” EGCO Group ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในทุกพื้นที่ที่ดำเนินกิจการรวม 8 ประเทศ ทั้งในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยความเชื่อขององค์กรที่ว่า ‘ต้นทางที่ดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี’ โดยมุ่งเน้นการควบคุมและลดผลกระทบเชิงลบจากกิจการและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งธุรกิจของ EGCO Group เป็นธุรกิจต้นทางที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ ‘Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth’ เพื่อสนองตอบและมีส่วนร่วมต่อเป้าหมายดังกล่าว และก้าวข้ามข้อจำกัดสู่ยุคเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายวรพงษ์ สินสุขถาวร ผู้จัดการฝ่ายแผนงาน EGCO Group ในฐานะวิทยากรบรรยายพิเศษบนเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการภายในงานนี้ กล่าวว่า EGCO Group ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่สังคมคาร์บอนต่ำไว้ที่ 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น คือ การลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2030 เป้าหมายระยะกลาง คือ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2040 และเป้าหมายระยะยาว คือ การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 

ภายใต้เป้าหมายดังกล่าวนี้ EGCO Group ได้วางโรดแมปการดำเนินกิจการจะต้องไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss) และมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพจากกิจกรรมตลอดทั้งวงจรชีวิตของโครงการโรงไฟฟ้า รวมทั้งไม่ประกอบกิจการโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ใกล้กับพื้นที่ที่เป็นเขตป้องกันขององค์การระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือเป็นพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage areas) ตลอดจนหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด (No Gross Deforestation) และมุ่งดำเนินธุรกิจโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้สุทธิ (Net Zero Deforestation) โดย EGCO Group ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยผ่าน ‘มูลนิธิไทยรักษ์ป่า’ องค์กรสาธารณกุศลที่ EGCO Group ก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี

'กฟผ.' เร่งเดินหน้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์  ผลิตไฟฟ้ารักษ์โลก-เสริมความมั่งคงด้านพลังงานให้ประเทศ

(18 ธ.ค. 66) ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้ทั่วโลกเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกผ่านโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์

สำหรับในปี 2566 กฟผ. เร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งที่ 2 ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์ พัฒนาต่อยอดเพิ่มการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) แบบลิเธียมไอออนขนาด 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ช่วยให้ระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำมีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

ปัจจุบันโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในระหว่างดำเนินงานประกอบแผงโซลาร์เซลล์เข้ากับทุ่นลอยน้ำ โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 48,000 แผง ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 320 ไร่ ส่วนการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 22 กิโลโวลต์ เชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลรัตน์ และการก่อสร้างอาคารอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) มีความล่าช้าเล็กน้อยจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของ จ.ขอนแก่น ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปี 2566

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแห่งอนาคตที่จะเข้ามาแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะเป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดจะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำเช่วงที่แสงแดดน้อยหรือไม่มีแสงแดด ส่วนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่จะกักเก็บพลังงานส่วนที่เหลือจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และช่วยจ่ายไฟฟ้าเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านตอนหัวค่ำ จึงสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น

ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาใช้เป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double Glass ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ทนความชื้นได้ดี สามารถออกแบบวางชิดผิวน้ำซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 10 - 15 และใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติกชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปาจึงเป็นมิตรต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถทนต่อความเสื่อมจากการกระทบของรังสี UV ได้เป็นอย่างดี จึงมีอายุการใช้งานได้นานถึงประมาณ 25 ปี

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดยังตอบโจทย์พลังงานเพื่อทุกคน เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการที่มีขนาดใหญ่ (Economy of Scale) โดยใช้ที่่ดินและอุปกรณ์โครงข่ายไฟฟ้าของเขื่อนอุบลรัตน์ที่มีอยู่เดิมให้เต็มประสิทธิภาพ จึงสามารถช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ อีกทั้งในช่วงการก่อสร้างยังได้จ้างแรงงานท้องถิ่นทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ กฟผ. ได้เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ของ จ.ขอนแก่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย

โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นก้าวสำคัญของการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้ และแสดงถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพลังงานสะอาดของไทย โดยให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และเดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริง เพื่อคนไทยทุกคน

ถอดบทเรียน ‘ถั่วเหลืองอเมริกา’ คาร์บอนต่ำกว่าคู่แข่ง 10 เท่า ตัวแปรสำคัญสินค้าส่งออกไทย หากคิดพิชิตเวทีโลกแบบยั่งยืน

TFMA ถอดบทเรียนการผลิตถั่วเหลืองยั่งยืนจากสหรัฐอเมริกา หลังปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าประเทศคู่แข่งประมาณ 10 เท่า ตอบโจทย์ตลาดโลกต้องการสินค้าถั่วเหลืองที่ผลิตอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับการจัดหาอาหารปลอดภัย เพื่อนำมายกระดับการพัฒนาระบบจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศไทยให้ทัดเทียมสากล

(15 ธ.ค. 66) นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย (TFMA) เปิดเผยในงานสัมมนา ‘เจาะลึกกลยุทธ์ปฏิบัติการที่ยั่งยืน: ระดมความคิดจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์’ ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และ สภาการส่งออกถั่วเหลืองแห่งสหรัฐอเมริกา (USSEC) ว่า…

ความร่วมมือครั้งนี้ ตอกย้ำว่าผู้ประกอบการอาหารสัตว์ของไทยมีความพร้อมและขานรับกระแสโลกที่ต้องการการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงภาคปศุสัตว์ ที่กำลังมุ่งสู่ปศุสัตว์สีเขียว เชื่อว่ากลยุทธ์ที่ได้จากเวทีสัมมนาไนวันนี้จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยชนิดอื่น ๆ ได้

นายพรศิลป์ กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตถั่วเหลืองของประเทศสหรัฐฯ เมื่อเทียบต่อกิโลกรัมแล้ว ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งประมาณ 10 เท่า ถั่วเหลืองของสหรัฐฯ จึงมีข้อได้เปรียบด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าคู่แข่ง ขณะที่ไทยมีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองปีละเกือบ 6 ล้านตัน เชื่อว่าการสั่งซื้อหรือนำเข้าวัตถุดิบในอนาคต ต้องมองความเป็นมาของวัตถุดิบ ก่อนคิดถึงเรื่องราคา ถั่วเหลืองจึงเป็นต้นแบบที่ดีที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดหาวัตถุดิบชนิดอื่น ๆ ต่อไป ที่สำคัญคือ ประเทศไทยต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ และต้องทำงานร่วมกันตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต

"แม้ถั่วเหลืองจะเป็นสินค้านำเข้า ก็ถือเป็นหนึ่งในข้อต่อของห่วงโซ่ปศุสัตว์ที่ต้องให้ความสำคัญ ขณะที่วัตถุดิบหลักภายในประเทศอย่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง, ผลิตภัณฑ์ข้าว และปลาปั่น ก็อยู่ในแผนการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเช่นกัน ทั้งหมดก็เพื่อให้อาหารส่งออกจากประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ก้าวข้ามอุปสรรคด้านการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ทันการณ์"

‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ กางแผน ‘ลดคาร์บอน’ ระยะยาว ปักหมุดปี 2050 ต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 90%

(14 ธ.ค. 66) นายณัฏฐพัชร์ ชลภัทรธนัทสิริ ผู้อำนวยการกลุ่ม Digital Energy ของ ‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ บริษัทมหาชนข้ามชาติในสหภาพยุโรปผู้ผลิตอุปกรณ์ทางไฟฟ้า ผู้ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา กล่าวในงาน ‘SUSTAINABILITY FORUM 2024’ ในหัวข้อ ‘Climate Tech for Business’ จัดโดย ‘กรุงเทพธุรกิจ’ วันที่ 14 ธ.ค. 2566 ว่าในภาคธุรกิจการเข้าสู่เป้าหมายสู่ Net Zero ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค นั้น ตั้งเป้าไว้ในปี 2050 บริษัทต้องเข้าใจสถานการณ์ก่อนแล้วจึงขยับเปลี่ยนแปลงมากขึ้น อย่างการใช้พลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน โดยชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดการองค์กรมีระยะยาวไว้ 4 ช่วง คือ...

1.) ปี 2025 เข้าสู่การดำเนินงาน ‘Carbon Neutral’ ด้วยการลดคาร์บอนในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทโดย มีส่วนร่วม และสนับสนุนผู้ให้การสนับสนุนเพื่อลดคาร์บอน การจัดหาวัสดุคาร์บอนต่ำ และสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างอิทธิพลต่อการลดคาร์บอนทั่วโลก

2.) ปี 2030 ‘Net-Zero’ พร้อมในการดําเนินการ ผลิตภัณฑ์ที่ปลอยก๊าซเรือนกระจกลดลง 25% ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

3.) ปี 2040 ‘คาร์บอนที่เป็นกลาง’ ในการลดก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 50 - 75% ของผลิตภัณฑ์ ยิ่งลดก๊าซเรือนกระจกมากเท่าไร ก็ยิ่งการละเว้นการสูญเสีย รวมถึงชดเชยตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป ซึ่งการชดเชยคาร์บอนจะต้องเท่ากับการปล่อยห่วงโซ่มูลค่าคงเหลือ และชดเชยการปล่อยมลพิษที่เหลือด้วยการกําจัดคาร์บอนคุณภาพสูง

4.) ปี 2050 ลดก๊าซเรือนกระจกลง 90% อย่างสมบูรณ์

การก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนนั้นไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญแก่องค์กรตนเองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างซัพพลายเออร์ให้แข็งแกร่ง เพื่อก้าวสู่ความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน อย่างการช่วยลดมลพิษในอากาศสามารถช่วยซัพพลายเออร์ ลดการใช้วัสดุต่างๆ หรือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นสีเขียว รวมถึงบรรจุภัณฑ์หลัก และรองปราศจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และใช้กระดาษแข็งรีไซเคิลเพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

รวมถึงการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยเสริมสร้างระดับความเชื่อมั่นของพนักงานในการรายงานพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณ เพิ่มความหลากหลายทางเพศในการจ้างงาน 50% การจัดการพนักงานแนวหน้า 40% และการจัดการความเป็นผู้นํา 30%

ทั้งนี้ ยังเพิ่มโอกาสการจ้างงานสองเท่าสําหรับนักศึกษาฝึกงาน เด็กฝึกงาน และผู้สําเร็จการศึกษาใหม่ ส่งเสริมคนในการจัดการพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความยั่งยืนมากขึ้น และสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสีเขียวให้กับประชาชนอีกด้วย

‘EXIM BANK’ เล็งออก ‘บลูบอนด์’ 5 พันล้าน หนุนธุรกิจรับ ESG พร้อมตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 50% ภายในปี 71

(13 ธ.ค. 66) นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในเวทีสัมมนา ‘SUSTAINABILITY FORUM 2024’ จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ หัวข้อ ‘Sustainable Finance ถอดสูตรการเงิน สู่ความยั่งยืน’ ว่า ในมุมของสถาบันการเงินที่จะช่วยสนับสนุนทิศทาง ESG คือ การระดมทุน และการปล่อยสินเชื่อด้วยการสร้างกลไกให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารก็ได้ออกกรีนบอนด์ เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อธุรกิจสีเขียวให้ต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจต่ำลงเรื่อยๆ ภายใต้หลักการที่ว่า เมื่อคนตัวใหญ่ได้ต้นทุนการเงินที่ถูก คนตัวเล็กก็ต้องได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงเช่นเดียวกัน

เขาเห็นว่า ในระยะต่อไป การระดมทุนจะไม่ได้มุ่งไปที่กรีนบอนด์เท่านั้น แต่จะพัฒนาไปยังบลูบอนด์คือ บอนด์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยในปีหน้า ธนาคารมีแผนจะระดมทุนผ่านบลูบอนด์จำนวน 5 พันล้านบาท จะส่งผลให้ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท หรือ 45% ของพอร์ตสินเชื่อกว่า 1.8 แสนล้านบาท และตั้งเป้าว่า ภายในปี 2571 พอร์ตสินเชื่อสีเขียวจะขยับเป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่า เครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวกับธุรกิจสีเขียวหรือสีฟ้ายังมีไม่เพียงพอ จึงอยากขอให้ภาคเอกชน และภาคการเงินช่วยกัน เพราะสิ่งที่ออกมาช่วยกันทำให้มีซัพพลายทางการเงินตลาดสีเขียวมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าจะได้รับต้นทุนที่ต่ำลง

“แม้เราพยายามแค่ไหน จำนวนความต้องการของโลกที่จะใช้กรีนไฟแนนซ์ เพื่อคุมไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีปริมาณสูงกว่าสิ่งที่ซัปพลายในวันนี้มากถึง 6 เท่า หมายความว่าผลิตภัณฑ์ในการออกกรีนบอนด์ กรีนโลน รวมทั้ง บลูบอนด์นั้น จะออกมายังไงก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดปัจจุบัน เชื่อว่า ทุกคนในวันนี้อยากจะเดินหน้าสู่โลกสีเขียว เราจะต้องช่วยกันมากขึ้นกว่าเดิมถึง 6 เท่า” นายรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับสมการ การให้สินเชื่อ และการระดมทุนใหม่ให้สอดคล้องกับธุรกิจยุคใหม่ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ได้ดูเพียงกระแสเงินสดของบริษัทเท่านั้น แต่ยังดูถึงเรื่องการจ้างแรงงาน รวมทั้ง การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทที่ทำดีมากๆ ธนาคารจะให้สินเชื่อกรีนสตาร์ต ที่ออกมาช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเอสเอ็มอีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีการดูแลชุมชน แม่น้ำ หรือลำคลองได้ดี จะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%

เขาย้ำว่า ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องร่วมมือกันสร้างบุญใหม่กลบกรรมเก่า เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งขออธิบายง่ายๆ ในภาษาพุทธศาสตร์ว่า ที่เราทำมาในอดีต ถือเป็นกรรมเก่า ต่อไป เราต้องสร้างกรรมดี เพื่อกลบกรรมเก่า ที่สามารถทำได้ด้วยตัวของคุณเอง กล่าวคือ หากต้องการให้การปล่อยคาร์บอนจากในอดีต เหลือศูนย์ เราสามารถสร้างกรรมดีได้ด้วยการซื้อคาร์บอนจากชาวบ้าน แต่หากต้องการเป็น NET ZERO เราต้องปลูกป่า ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต จากเดิมที่อาจจะใช้เครื่องจักรที่ไม่ทันสมัย ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องผู้ประกอบการต้องเข้าใจ เพราะการนำงบดุลย้อนหลังมาโชว์ 3-5 ปี แต่มีตัวเลขสีเขียวอันดับสุดท้าย ธนาคารก็ไม่ได้มีการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเป็นหลักอีกแล้ว เราจะพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจาก DNA ของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม” นายรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ธนาคารได้เป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ของหลายบริษัทในไทย เพื่อช่วยสนับสนุนไปสู่การเป็นบริษัทเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเรามี KPI ในการตรวจวัดบริษัทเหล่านี้ เช่น เรือด่วนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา และธนาคารก็ได้เดินหน้าทำโซล่าฟาร์มตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ธนาคารเดินทางมาตลอด ทำให้เราเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียนเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นการสร้าง DNA ให้กับเราด้วย

‘บพข.’ ผนึก ‘รัฐ-เอกชน-ชุมชน’ แก้ปัญหาขยะพลาสติก เปลี่ยน ‘ขยะซองขนม’ ไร้ราคา เป็น ‘อะลูมิเนียม’ ที่มีค่า

(11 ธ.ค.66) รายงานข่าวจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มเความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพข.ได้ร่วมมือ UNDP ประเทศไทย, CIRAC, บริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด, ทีมวิจัยเคมีเทคนิคจุฬาฯ และชุมชนวัดจากแดง ในโครงการแก้ปัญหาขยะพลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียมอย่างยั่งยืน ด้วยเครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องออกแบบโดยคนไทย เพื่อรีไซเคิลอะลูมิเนียมและพลาสติกใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 

โดยได้เปิดตัวเครื่องจักรไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องสำหรับรีไซเคิลอะลูมิเนียมจากขยะพลาสติกผสมชั้นอะลูมิเนียม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ถุงวิบวับ’ เพื่อแยกชั้นอะลูมิเนียมออกจากพลาสติก (Laminated Plastic) และนำอะลูมิเนียมที่แยกได้มาหลอมเป็นอะลูมิเนียมก้อนที่มีความบริสุทธิ์สูงมากกว่า 97% นำกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้อะลูมิเนียมได้ ขณะที่ขยะพลาสติกที่เหลืออยู่จะเปลี่ยนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และขายต่อได้ 

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. กล่าวว่า เครื่องจักรดังกล่าวใช้หลักการของไพโรไลซิสในการแยก Laminated Plastic โดยเฉพาะอะลูมิเนียมออกกัน คาดว่าจะสามารถรับขยะประเภทกล่องนม และถุงขนมขับเคี้ยวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน และได้อะลูมิเนียมจากการรีไซเคิลประมาณ 20 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งยังมีผลพลอยได้เป็นน้ำมันจากการหลอมละลายพลาสติก ซึ่งสามารถขายต่อได้ รวมถึงได้ Fuel Gas ที่สามารถนำมาใช้หมุนเครื่องจักรแทนก๊าซ LPG ได้อีก จึงตอบโจทย์ บพข. ทั้งด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยการเอาอะลูมิเนียมกลับมาใช้ใหม่ ด้านการลดของเสีย และการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก เนื่องจาก Fuel Gas นำมาใช้แทน LPG ได้ เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง

“ต้องขอบคุณ UNDP และ CIRAC ที่เริ่มต้นดำเนินโครงการกันมาตั้งแต่ระดับ Lab Scale ขอบคุณทีมวิจัยจากภาควิชาเคมีเทคนิค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท โกลบอล อาร์แอนด์ดี จำกัด ที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ไพโรไลซิสแบบต่อเนื่องจากระดับ Lab Scale สู่ระดับ Pilot Scale ทำให้ได้เครื่องจักรที่จัดการกับขยะกลุ่ม Laminated Plastic ได้อย่างมีประสิทธภาพ ที่ขาดไม่ได้เลยคือความร่วมมือจากทางวัดจากแดงที่อนุเคราะห์สถานที่สำหรับดำเนินโครงการ และชาวบ้านในชุมชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

ด้าน ดร.ศิขริน เตมียกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง CIRAC กล่าวเสริมว่า ปัญหา คือโอกาส เนื่องจากขยะพลาสติกมีอะลูมิเนียมซึ่งเป็นโลหะที่มีมูลค่าสูงผสมอยู่ หากแยกออกมาได้ จะเปลี่ยนขยะที่ไม่มีมูลค่าให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง และเติบโตได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์กลุ่ม Aluminum Plastic ต่างให้ความสนใจแก้ไขปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ชนิดดังกล่าว ซึ่ง CIRAC เป็นหนึ่งใน Solution Provider ให้บริษัทต่าง ๆ คาดว่าหากโครงการนี้ได้รับการขยายผลในเชิงพาณิชย์สำเร็จจะมีกำไรสุทธิ (Potential Profit) จากการจำหน่ายอะลูมิเนียมรีไซเคิลได้ถึง 140-340 เหรียญสหรัฐต่อตัน นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกผสมชั้นอะลูมเนียมที่ยังไม่มีใครสามารถจัดการอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน และระดับประเทศ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจากกระบวนการผลิตอลูมิเนียม และลดการนำเข้าของอะลูมิเนียมจากต่างประเทศอีกด้วย

จากการสำรวจของทีมวิจัย พบว่าขยะพลาสติกในประเทศไทยมีที่มีอะลูมิเนียมผสมอยู่คิดเป็นปริมาณ 50 ตันต่อวัน เพียงพอต่อการสร้างรถยนต์ได้ถึง 150 คัน ถ้าหากรีไซเคิลอะลูมิเนียมกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ จะเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมได้มหาศาลจากการไม่ต้องนำเข้าอะลูมิเนียมจากต่างประเทศ และสามารถที่จะใช้อะลูมิเนียมที่รีไซเคิลมาจากขยะได้เอง

ตลาดอะลูมิเนียมในไทย (Total Market) มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ผลิตอะลูมิเนียมเองได้ ต้องนำเข้า 100% หากคิดเฉพาะอะลูมิเนียมที่แทรกซึมอยู่ตามถุงขนม ซองกาแฟ กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ต่างๆ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลนำกลับมาใช้ได้ มีมูลค่าถึง 35 ล้านเหรียญสหรัฐ

รายงานข่าวระบุว่า ประเทศไทยได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่สิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และปัจจุบันการรีไซเคิลขยะพลาสติก เช่น ขวดน้ำพลาสติก (PET) หรือถุงแกง กลับมาใช้งานใหม่หรือเปลี่ยนสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นทำได้ไม่ยากนักด้วยกระบวนการทางเคมี 

แต่โครงการนี้มุ่งเน้นการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในกลุ่มที่เรียกว่า ‘Aluminum Plastic Packaging’ หรือก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีชั้นอะลูมิเนียมเป็นเลเยอร์อยู่ด้านในตรงกลางระหว่างชั้นพลาสติก เรียกอีกอย่างว่า Laminated Plastic ที่ยากต่อการรีไซเคิล และไม่สามารถขายต่อได้ จนกลายเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

‘พีระพันธุ์’ เปิดอาคาร ‘Net zero energy building’ ใหญ่สุดในไทย หนุน ไทยมีอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ 2,000 แห่ง ภายในปี 79 

(10 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ‘Net Zero Energy Building’ (อาคาร 70 ปี พพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสร้างอาคารใหม่ ๆ ของไทยได้นำแนวคิดด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน โดยการทำให้การใช้พลังงานสุทธิเท่ากับศูนย์ (Net Zero Energy Building : NZEB) เริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอาคารและที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาอาคารที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลงให้ได้ 45% ในปี พ.ศ. 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593

ในขณะที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ถึง 25% ภายในปี พ.ศ. 2573 ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ในแผนธุรกิจและแผนการบริหารจัดการองค์กรมากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้เห็นความสำคัญที่จะต้องวางแผนและเริ่มการศึกษา ออกแบบ และก่อสร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ซึ่งมีการดำเนินการในต่างประเทศอย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศยังไม่มีตัวอย่างที่สมบูรณ์ให้ศึกษาเรียนรู้

โดยในปี 2562 พพ. ได้เริ่มศึกษาและได้จัดสรรงบประมาณกว่า 81,600,000 บาท เพื่อสร้างอาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ‘Net Zero Energy Building’ หรือ ‘อาคาร 70 ปี พพ.’ แห่งนี้ โดยมีการออกแบบภายใต้หลักการการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อลดการใช้พลังงานอาคารผ่านการออกแบบที่ใช้ประโยชน์จากสภาวะแวดล้อม และการใช้วัสดุอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง พร้อมการใช้พลังงานทดแทนจากระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดอาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building : NZEB)

ตลอดจนมีการออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียวภาครัฐ ‘G–GOODs’ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การก่อสร้างอาคารมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังเป็นโครงการที่เข้ารับการประเมินการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES-NC) ให้การรับรองโดยสถาบันอาคารเขียวไทย ระดับ Platinum และยังเป็นอาคารสำนักงาน ‘Zero Energy Building’ ที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกด้วย

นายโสภณ มณีโชติ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่าภายในปี 2579 ประเทศไทยจะมีอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์มากกว่า 2,000 อาคาร แม้ต้นทุนในการพัฒนาอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์จะสูงกว่าอาคารทั่วไป แต่ก็มีความคุ้มค่าในระยะยาว ไม่เพียงอาคารใหม่ที่สามารถพัฒนา เพื่อเป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ อาคารเก่าที่เปิดใช้งานไปแล้ว ก็ยังสามารถปรับปรุงเพื่อเป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ได้เช่นเดียวกัน

‘ทรู-ดีแทค’ ประกาศ ‘เลิกใช้กระดาษ’ ในศูนย์บริการ 100% เดินหน้าใช้ AI ช่วยเซฟเวลาทำงาน 5 แสนชั่วโมงต่อปี

(7 ธ.ค.66) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ยกเลิกการใช้เอกสารแบบฟอร์มกระดาษทั้งหมดในศูนย์บริการทรูและดีแทค ด้วยระบบการทำงานแบบดิจิทัลที่เร็วกว่าและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าดียิ่งขึ้น การให้บริการแบบไร้กระดาษ (Paperless) จะช่วยให้บริษัทฯ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) จากกิจกรรมการทำงานของบริษัท และเป็นส่วนหนึ่งที่เดินหน้าใช้ระบบอัตโนมัติ 100% ในงานพื้นฐานประจำวันที่ซ้ำๆ ภายในปี 2570 โดยการพลิกโฉมการดำเนินงานในครั้งนี้จะช่วยประหยัดเวลาดำเนินการในศูนย์บริการได้รวม 400,000 ชั่วโมงต่อปี

นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “นี่คือการมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าในทุกศูนย์บริการและทุกช่องทาง เรากำลังนำนวัตกรรมโซลูชัน อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์เสมือน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการและปกป้องข้อมูลของส่วนบุคคลของลูกค้า ทั้งนี้ จากการยกเลิกการใช้เอกสารแบบฟอร์มกระดาษ 100% ในศูนย์บริการทำให้ลูกค้าของเราใช้บริการได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบยังช่วยปกป้องข้อมูลลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเราอีกด้วย”

ทั้งนี้ จากเดิมก่อนปรับเป็นระบบดิจิทัล หรือไร้กระดาษ (Paperless) 100% ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้มีการใช้เอกสารในรูปแบบต่างๆ สำหรับการทำรายการ 24 ประเภท ซึ่งการทำธุรกรรมต่างๆ ลูกค้าต้องกรอกเอกสารที่ใช้เวลานาน และการใช้กระดาษยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว แบบฟอร์มกระดาษอาจจะเกิดความเสี่ยงข้อผิดพลาดในการนำข้อมูลมาป้อนลงในระบบ แพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่จะพลิกโฉมขั้นตอนนี้และเพิ่มการปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้เข้มงวดยิ่งขึ้นในการเข้าถึงได้

นอกจากการพลิกโฉมสู่การดำเนินการแบบไร้กระดาษ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังปรับระบบการทำงานสู่รูปแบบอัตโนมัติ โดยนำระบบหุ่นยนต์เสมือนมาช่วยในส่วนของการทำงานที่สิ้นเปลืองเวลามากแต่มีการปฏิบัติซ้ำๆ และชัดเจน ซึ่งสามารถจัดการกระบวนการที่ลูกค้าต้องรอในร้านค้าได้ถึง 80% ทำให้ดำเนินการได้เร็วขึ้นทันที นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อดำเนินการอัตโนมัติเพิ่มอีก 20% เพื่อให้ประหยัดเวลาของลูกค้าโดยรวมได้มากขึ้นจาก 400,000 เป็น 500,000 ชั่วโมงต่อปีในไตรมาสที่ 1 ปี 2567

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับเพื่อทำให้ช่องทางบริการทรูและดีแทคเป็นอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น ขณะนี้ ศูนย์บริการทรูและดีแทค พร้อมกับตัวแทนร้านค้าได้นำโซลูชัน AI มาใช้งาน ทำให้สามารถวินิจฉัยปัญหาและเสนอแนะได้ทันที ลดเวลาในการจัดการลง 35% รวมถึงการนำ AI มาใช้กับแชทบอท บริการลูกค้าประมาณ 150,000 รายการต่อเดือน

ระบบอัตโนมัติเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มกว่า 100 โครงการที่ทรู คอร์ปอเรชั่นกำลังดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ Synergies มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 2.5 แสนล้านบาท ระหว่างปี 2566-2573 โดยส่วนหนึ่งของ Synergies ประมาณ 65,000-70,000 ล้านบาทมาจากการผสานองค์กรและการดำเนินงานแบบครบวงจร ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงการดำเนินการให้ทันสมัยและระบบอัตโนมัติ

นอกเหนือจากการติดตั้ง AI ไว้ในระบบการให้บริการและการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจอีกด้วย โดยกลุ่มทรู ดิจิทัล ได้พัฒนาโซลูชั่นด้านการค้าปลีก เกษตรกรรม และสุขภาพ โดยผสานข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT การใช้งาน 5G และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine learning) เข้าด้วยกันเพื่อการใช้งานรูปแบบต่างๆ ดังนั้น จึงสามารถยกระดับสู่โรงพยาบาลอัจฉริยะไปจนถึงฟาร์มอัจฉริยะและการค้าปลีกอัจฉริยะ รวมถึงการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine learning) ยังมาช่วยเพิ่มความปลอดภัย การขนส่งสินค้ารวดเร็ว และลดการใช้พลังงาน

“ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย เรามุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานนำเสนอบริการที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า และยั่งยืนยิ่งขึ้นเพื่อลูกค้าของเรา เรายังมุ่งมั่นในการนำโซลูชันเพื่อพัฒนาทุกภาคส่วน และยกระดับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของประเทศร่วมกัน” นายชารัด กล่าวในที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top