Thursday, 9 May 2024
SDGS

'วีระศักดิ์' พาชม 10 ปีแห่งการพัฒนาที่ดินเพื่อสิ่งแวดล้อมของ ปตท. จาก 12 ไร่รกร้างกลางกรุง กลายร่างเป็นนิเวศป่ากลางเมืองแสนอุดม

เมื่อวานนี้ (8 ก.พ.67) ประธานและรองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำคณะกรรมาธิการฯ ไปสำรวจศึกษาตัวอย่าง 'ป่าในกรุง' ซึ่งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลงทุนซื้อที่ดินเอกชนที่เคยเป็นกองขยะรกร้างจำนวน 12 ไร่ ในเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มาพัฒนาให้กลายเป็นนิเวศป่ากลางเมือง ด้วยแนวคิดสถาปนิกญี่ปุ่น ดร.มิยาวากิ อากิระ ที่ต้องการเลียนแบบป่าท้องถิ่นธรรมชาติ เน้นให้พืชหลากชนิด หลากเรือนชั้น แข่งกันโตในแนวพุ่งสูงขึ้นสู่ฟ้า โดยปลูกต้นไม้อย่างน้อย 5 ต้นต่อตารางเมตร

จากนั้นสร้างทางเดินชมธรรมชาติที่ยกระดับต่าง ๆ ขึ้นจนถึงเรือนยอดไม้ และต่อด้วยหอคอยสูงเท่าอาคาร 9 ชั้น เพื่อให้สามารถชมสวนป่ากลางกรุงได้ด้วยวิว 360 องศา

จากประสบการณ์ปลูกป่าล้านไร่ ของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ที่นี่จึงเรียนรู้ที่จะรวบรวมดินปลูกตัวอย่างจากทั่วภาคกลาง รวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่เคยมีในเขตกรุงเทพเเละปริมณฑลมาไว้กว่า 270 ชนิด

เริ่มโครงการเมื่อ 2557 แบ่งพื้นที่เป็นสระน้ำ 10% ใช้เป็นที่ตั้งอาคารดินเพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ 15% อีก 75% ใช้ปลูกป่า ที่มีทั้งโซนไม้เบญจพรรณ ป่าผลัดใบไปจนถึงป่าชายเลน

เพียง 10 ปีผ่านไป ที่นี่ดึงดูดให้ได้พบเจอนกนานาพันธุ์ที่หาชมยาก เข้ามาปรากฏตัวมากถึง 74 ชนิด จาก 37 วงศ์ 

ที่นี่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมทุกวันอังคารถึงอาทิตย์ (มีกิจกรรมนำชมทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หากทำการจองเวลานัดหมายไว้ล่วงหน้า)

ที่นี่ยังอนุญาตให้หน่วยงานและกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาขอใช้สถานที่เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อ 'ปลูกป่าในใจคน' และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า "ที่นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสิ่งแวดล้อม ผ่านมุมมองด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่อัตคัดอย่างมหานครใหญ่ นับเป็นกรณีที่ควรแก่การยกย่อง และเหมาะสมต่อการผลักดันนโยบายสนับสนุนทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เช่นการได้รับยกเว้นภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง การได้รับอัตราค่าไฟฟ้าสาธารณะ การใช้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางวิชาการ  การฝึกปฏิบัติด้านการเพาะเลี้ยงกล้าไม้ สำหรับคนเมืองต่อไป…"

เปิดภารกิจ WHA ใต้ธงเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้อง ‘ใช้ซ้ำ-แบ่งปัน-แลกเปลี่ยน-ซ่อมแซม’

(6 ก.พ.67) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการสร้างนวัตกรรมบนห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่การนำวัสดุรีไซเคิลหรือพลังงานทดแทนมาใช้ในการผลิต (Circular Supplies) การออกแบบให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ (Circular Design) การเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดการสูญเสียในการผลิต (Circular Manufacturing) ตลอดจนการใช้ของที่ผลิตขึ้นมาแล้วให้คุ้มค่าที่สุด ให้เกิด Utilization สูงที่สุดไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ แบ่งปัน แลกเปลี่ยน หรือซ่อมแซม (Circular Consumption)

ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายได้พัฒนาโมเดลธุรกิจจากแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปแทรกในแต่ละหน่วยธุรกิจได้ตลอดซัพพลายเชน รวมถึงบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่ได้ริเริ่มสร้างโมเดลธุรกิจที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก 

นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มของบริษัท ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ WHA: WE SHAPE THE FUTURE ที่มุ่งสร้างอนาคตอันยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย

WHA เรามีภารกิจ Mission to the Sun ซึ่งเป็นโครงการที่รวมยุทธศาสตร์ และโครงการที่สำคัญๆ ไว้ ซึ่งจะช่วยสร้างธุรกิจใหม่ให้กับกลุ่มบริษัท และยกระดับองค์กรสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 โดยมีการเริ่มโครงการ Circular Economy ภายใต้ภารกิจ Mission to the Sun ไปแล้วถึง 3 โครงการ ดังนี้

1.WHA Circular Innovation เป็นการวาง Roadmap ในการปฏิรูปทางธุรกิจ และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ของกลุ่มดับบลิวเอชเอภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 ของกลุ่มบริษัท

โดยเราได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Circular Business คือ การสร้างธุรกิจใหม่ และกลุ่ม Circular Process ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการต่างๆ ภายในของเราให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวันนี้เราได้เริ่มศึกษาและดำเนินการไปแล้วกว่า 40 Initiatives

2.WHA Waste Management เป็นโครงการที่ชนะเลิศจากการประกวด Bootcamp ซึ่งเป็นการแข่งขันสร้างโมเดลธุรกิจในกลุ่มพนักงาน เพื่อเปลี่ยน DNA องค์กร และสร้าง Tech Mindset

โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในประเทศไทยจำนวน 12  แห่ง มีวัสดุเหลือใช้ และของเสียจากกระบวนการผลิตปีละประมาณ 500,000 ตัน ที่จำเป็นต้องบำบัดและกำจัด โดยในจำนวนของเสียทั้งหมดนี้ มีสัดส่วนถึง 65% สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น เศษโลหะ กระดาษ พลาสติก

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตของเสีย (Waste Generator) และผู้บริโภคของเสีย (Waste Consumer) หรือ ผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย (Waste Processor) ซึ่งจะช่วยให้เกิดการนำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของโรงงานหนึ่งไปเป็นวัตถุดิบของโรงงานอีกแห่งหนึ่ง ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนได้อย่างลงตัว ทั้ง 2 ฝ่ายได้ขยะหรือวัตถุดิบที่ตัวเองต้องการ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำโมเดลธุรกิจที่ต้องหารือกับผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย และตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3.WHA Emission Trading คือ โครงการสร้างแพลตฟอร์ม Emission Trading ที่มีหน่วยงานรับรองในลักษณะเดียวกับการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต ซึ่งน่าจะเห็นความเป็นรูปธรรมได้เร็ว เนื่องจากเป็นการต่อยอดจากโครงการ Peer-to-peer Energy Trading ที่เป็นแพลตฟอร์มเทรดพลังงานที่จะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในรูปแบบโครงการแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox Project) แล้ว

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอพิจารณาให้เริ่มดำเนินโครงการภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ สำหรับแพลตฟอร์ม Emission Trading คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณไตรมาส 1 ปี 2567 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 

นอกจาก 3 โครงการ Circular Economy ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ภายใต้ภารกิจ Mission to the Sun ยังมีอีก 2 โครงการที่จะนำไปสู่เป้าหมายการเป็น Net Zero 2050 ได้แก่ 

1.โครงการ Green Logistics ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนการเปลี่ยนการใช้รถเชิงพาณิชย์ในการขนส่งจากรถเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจสีเขียวในแต่ละส่วนของห่วงโซ่อุปทาน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้า

บริษัท มีแผนที่จะจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอโดย ดับบลิวเอชเอ  ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับโครงการ Green Logistics ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม รับทราบข้อมูลในการตัดสินใจเลือกเส้นทางขนส่งสินค้าที่ประหยัด และใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ใช้เวลาน้อยที่สุด

2.โครงการ Carbon Footprint Platform ซึ่งเป็นระบบ Carbon Accounting ที่มีข้อมูลว่าในแต่ละพื้นที่ปล่อยก๊าซต่างๆ ออกมาได้เท่าไรเพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีปริมาณการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX), ออกไซด์ของซัลเฟอร์ (SOX) จำนวนมาก และต้องการเข้าสู่ Zero Emission อาทิ ผู้ประกอบการด้านปิโตรเคมิคอลในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง 

นายไกรลักขณ์ มองว่า “สำหรับเป้าหมาย Net Zero 2050 มีระยะเวลานานอีก 27 ปี จึงมองว่ามีโอกาสที่ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จะดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้อีกมาก และมองว่าการดำเนินการในปัจจุบันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยดับบลิวเอชเอ ยังจะมีโครงการในลักษณะดังกล่าวเปิดตัวออกมาอีกหลายโครงการ” 

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการกำหนดมาตรการสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน อาทิ CBAM, RE100, Green Supply Chain, Digital Product ภาคธุรกิจเริ่มมีข้อกำหนดถึงกระบวนการผลิตสินค้าที่ลดการปล่อยคาร์บอน ผู้นำเข้าสินค้าเพิ่มเงื่อนไขการจัดเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าที่ไม่ลดการปล่อยคาร์บอน

ในประเทศไทยเอง เริ่มเห็นกระแสความต้องการบริการสีเขียวที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิต จากผู้ผลิตสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายบริษัทที่มาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องพลังงาน เช่น การผลิตพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) ซึ่งผู้ให้บริการนิคมอุตสาหกรรมในหลายประเทศยังไม่สามารถทำ RE100 ได้ แต่ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียน 100%  

ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีแผนการขยายฐานการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย อาทิ บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีแผนเข้ามาลงทุน Data Center ในประเทศไทย ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้เอง ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงแต่สามารถช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำมาซึ่งภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ รวมถึงสร้าง Business Model หรือรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถสร้างผลกำไรให้กับกิจการไปพร้อมกับการดำเนินการตามเป้าหมายความยั่งยืน 

“WHA Circular Economy จึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”

‘ก.อุตฯ’ เดินหน้า!! เพิ่มโอกาส SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมหนุนความรู้ สร้างธุรกิจแกร่งอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน

(6 ก.พ. 67) ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ระบุว่า ปัจจุบันทางกระทรวงฯ ได้เดินหน้านโยบายในการสนับสนุน และขับเคลื่อนศักยภาพผู้ประกอบการ SME แบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแหล่งเงินทุน การลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน การวิเคราะห์ตลาดอย่างรอบคอบ การบริหารการเงินอย่างเป็นระบบ และการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยใช้กลไกของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME สู่ การเป็น Smart SMEs และ Global SMEs รวมถึงการยื่นรับรองมาตรฐาน อย่าง ฮาลาล GMP ตลอดจนการยกระดับด้วยเทคโนโลยี และ Ecosystem เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม มีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนให้ SME เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’

ปัจจุบันกระทรวงฯ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง โดยมีการถอดบทเรียน พัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยเจ้าหน้าที่ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 9 จังหวัด มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ จำนวน 2,138 ราย วงเงินรวมที่ขอ 2,833 ล้านบาท โดยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ มากที่สุด จำนวน 545 ราย คิดเป็น 25% รวมเป็นจำนวนเงิน 587.17 ล้านบาท

‘กกพ.’ ยัน!! เชื้อเพลิงก๊าซฯ ยังสำคัญช่วงเปลี่ยนผ่าน ในจังหวะพลังงานหมุนเวียนยังพึ่งพาไม่ได้ 100%

5 ก.พ. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงก๊าซในระบบการผลิตไฟฟ้าหลักยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อรองรับความมั่นคงและความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถพึ่งพาได้ 100%  

แม้ภาคนโยบายจะวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่องก็ตามในมิติด้านสังคมมองว่า ประเทศไทยยังมีนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าอัตราเดียวกันทุกพื้นที่เพื่อกระจายความเจริญ มีนโยบายที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มีนโบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสภาวะวิกฤตพลังงาน และมีนโยบายไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะเพื่อความปลอดภัยประชากรโดยไม่คิดค่าไฟฟ้า

ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ใช้ไฟฟ้าเป็นกลไกสนับสนุนสังคมให้มีการใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน การวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว (Energy Transition) จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยีประกอบด้วย เช่น การประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) การพัฒนาการของระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่รวดเร็ว (Disruptive Technology) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทันเวลา จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดราคาพลังงาน และสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ตรงเวลา เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เกิดการพัฒนาร่วมกันที่สมดุลและยั่งยืน

"อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียวสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากระบบได้ในราคาที่เป็นธรรมและไม่เอาเปรียบผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม"

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ความท้าทายบนกระแสความเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงานต่อการกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการพัฒนาภาคพลังงานให้เกิดความยั่งยืนจะมีทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย 

-การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เช่น พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ

-การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มา กที่สุดในราคาที่เหมาะสม

-การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ภาคพลังงานไทยมีความได้เปรียบซึ่งสามารถดึงเอาศักยภาพและความได้เปรียบเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ศักยภาพในเชิงที่ตั้งที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้และต่อเนื่องจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ภูมิประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมติดกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดสามารถเชื่อมต่อและรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก สปป.ลาว ได้เป็นจำนวนมาก และการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแหล่งอื่นๆ รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศให้เสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกันก็สามารถช่วยเสริมการให้บริการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ สถานการณ์รองรับความผันผวนพลังงานและยังสามารถพัฒนาให้เป็นหลุมกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย 

-การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม

สำหรับความท้าทายในการกำกับดูแลกิจการพลังงานในระยะต่อไป คือการสร้างความมั่นคงและความมีเสถียรภาพทางด้านพลังงานที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สามารถบรรลุเป้าหมายทำให้ภาคพลังงานรับใช้ประชาชนผู้ใช้พลังงานด้วยการพัฒนาสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ 

และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะนี้ประชากรโลกให้ความสำคัญกับสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น จึงร่วมกันตั้งเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ประเทศไทยมีเป้าหมายการเข้าสู่สังคม Carbon Neutral ในปี 2050 และ เข้าสู่สังคม Net Zero Emission ในปี 2065 เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังเริ่มมีมาตรการหรือกลไกเชิงบังคับ (CBAM) เพื่อให้ทุกประเทศร่วมกันใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดสภาวะโลกร้อนให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงนโยบายการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้พลังงานสะอาดที่สะดวกในราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันในตลาดโลกตามกติกาสากล จะต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีรูปแบบให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่กระทบต่อความมั่นคงในการให้บริการ ต้องมีรูปแบบการเปลี่ยนผ่านที่ยังคงสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานในสังคม และยังคงมีการให้บริการสาธารณะในระดับที่เพียงพอและเกิดความปลอดภัยในสังคมต่อไป

‘ส.อ.ท.’ เผย ยอดจดทะเบียน ‘รถบรรทุกอีวี’ พุ่งสูง 1,020% ใน 1 ปี รับมาตรการ ‘CBAM’ หนุนลดการปล่อยคาร์บอนของสหภาพยุโรป

(4 ก.พ. 67) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อรถในรูปแบบไฮบริด ถือว่าประเทศไทยได้เริมผลิตมามากว่า 10 ปีแล้ว เพราะสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับประเทศไทย รวมการผลิตที่ 5 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตถือว่าลดลง เพราะมีการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งปี 2567 คาดว่าจะผลิตมากขึ้น หลายบริษัทที่นำเข้ามาตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่รับสิทธิประโยชน์กับรัฐบาลจะต้องเริ่มผลิตในประเทศไทยในปีนี้

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลเริ่มมีการผ่านวาระที่ 1 เรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2567 คาดว่าจะทันใช้เดือน พ.ค. 2567 จะทำให้การลงทุนดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เกิดการจ้างงาน รายได้เดีขึ้น แต่จะยังกังวลสงครามความขัดแย้งทั้งที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งยอดขายในประเทศ และการส่งออก

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หวังว่านโยบายฟรีวีซ่าไทยกับจีน จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นตามเป้าหมาย 33.5 ล้านคน ซึ่งปี 2566 ที่คาดว่า 28 ล้านคน ก็ถือว่าได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และการย้ายฐานการผลิตนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในไทย ทำให้ซัพพลายเชนเติบโต การผลิตแบตเตอรี่จะตามเข้ามา เป็นช่วงภาวะการลงทุนตั้งแต่ปีที่แล้ว บางค่ายสามารถผลิตและส่งออกจากโรงงานในไทยแล้ว

ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนมาใช้อีวี คือราคาน้ำมันที่แพงขึ้น การผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจึงมากขึ้น จะเห็นได้ว่า รถบรรทุกไฟฟ้ามีการจดทะเบียนมากขึ้น มีจำนวน 303 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 ที่ 1,065.38% ถือว่าเติบโตมาก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) จะทำให้ยอดขายดีขึ้น เพราะต้องบรรทุกสินค้าส่งไปที่อียู เข้าสู่การลดการปล่อยคาร์บอน

สำหรับจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยประจำเดือน ธ.ค. 2566 มีทั้งสิ้น 133,621 คัน ลดลงจากเดือน ธ.ค. 2565 ที่ 5.75% เพราะผลิตขายในประเทศลดลงถึง 29.94% โดยเฉพาะรถกระบะที่ผลิตลดลงถึง 41.30% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.6% ของ GDP

นอกจากนี้ อีกปัจจัยมาจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลง 16.24% แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11.44% ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 11.30% และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และลดลงจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 18.19% เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ธ.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,326 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 10.88% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วที่ 17.48% ลดลงเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงตามการส่งออกที่ลดลง โรงงานจึงลดกะทำงานและลดทำงานล่วงเวลา คนงานขาดรายได้ ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เหลือเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างอื่นได้

ทั้งนี้ เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,117,539 คัน สูงกว่ายอดส่งออกก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2562 และสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกัน 11.73% เพิ่มขึ้นเพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแอฟริกาที่ลดลง แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 1,102,694 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 11.30 ส่งออกรถยนต์ HEV 14,845 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 56.02 มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.25%

‘ท็อป’ ยก ‘ดิจิทัล-กรีน’ เสียงสะท้อนหลักจากเวทีดาวอส หาก ‘ไทย’ ไม่อยากตกขบวน ต้องพัฒนา ‘คน-กลยุทธ์’ ด่วน

ไม่นานมานี้ ‘ท็อป’ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้เป็นมันสมองหลักของ ‘Bitkub’ ได้เปิดเผยผ่านรายการ Deep talk ว่า หลังจากได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum 2024 หรือ การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก เป็นปีที่ 3 เมื่อวันที่ 15-19 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ณ กรุงดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้แนวคิด ‘Rebuilding Trust’ หรือการฟื้นคืนความเชื่อมั่นให้กลับมา หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับการชะงักงันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดของโลกที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเติบโตของจีดีพีของโลกแล้ว

ท็อป เผยว่า โจทย์สำคัญต่อจากนี้ คือ โลกจะทำยังไงให้ ‘ความเชื่อใจ’ กลับมาได้ โดยหากอ้างถึงคำกล่าวของ ‘หลี่ เฉียง’ นายกรัฐมนตรีจีน จะเห็นถึง 6 โซลูชัน ที่เรียกว่า ‘ทรัสต์ระดับโลก’ ด้วยการกลับมาเริ่มต้นผ่าน...

1.ผู้นำโลกต้องพูดคุยกันมากกว่านี้ เพื่อแชร์มายเซ็ตในการขับเคลื่อนโลกไปด้วยกัน

2.แต่ละประเทศไม่ควรออกนโยบายระดับมหภาคระดับประเทศที่ขัดแข้งขัดขา เพราะโลกเราเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด ซึ่งควรต้องคำนึงถึงว่า จะออกกฎเกณฑ์อย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

3.สร้างความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนทั่วโลก เพื่อทำให้เทรดดิ้งพาร์ตเนอร์ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

4.ภาคพลังงานต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการผลิต ให้เป็น ‘สีเขียว’ โดยด่วนและต้องทำให้กรีนฮับที่ตอนนี้กระจุกตัวอยู่ในยุโรปกระจายตัวไปยังภูมิภาคอื่นด้วย เพื่อผลักดันให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงไปสู่กรีนซัพพลายเชนอย่างราบรื่นที่สุด

5.โลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ‘ดิจิทัล’ หรือ 4th Industrial Revolution ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จะทำยังไงให้ไม่เกิดการแย่งชิงและร่วมกันคิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งผลิตบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่ตลาด

สุดท้ายคือ 6.สร้างความเท่าเทียมระหว่างความสัมพันธ์ระหว่าง Global North รวมทั้งกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และ Global South ซึ่งประกอบด้วย แอฟริกา, อเมริกาใต้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งเกิดความไม่เท่าเทียม จาก Climate Tech เทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกระจุกตัวอยู่ใน Global North รวมไปถึงตัวเลขการลงทุนทิ้งห่าง แล้วจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไรในเมื่อโลกที่แตกเป็นเศษส่วนและกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านกันอย่างมหาศาล

ท็อป กล่าวอีกว่า ผู้นำทุกคนในเวทีดาวอสเห็นตรงกันว่า ในปี 2567 จะเป็นปีที่โลกจะเข้าสู่จุด ‘สมดุล’ มากขึ้น เริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มลดลงในทุกประเทศทั่วโลก ตามด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในโลก ทั้งการกระจายขั้วอำนาจ และ ‘เทรดแพทเทิร์น’ ที่จะเปลี่ยนกฎของโลกธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง

ท็อป กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาธีมของ ‘ดิจิทัล เซอร์วิส’ และ ‘กรีน’ มีการเติบโตอย่างเร็ว ยิ่ง ‘กรีน’ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานนั้นเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 300% ในปีที่ผ่านมา ดังนั้น สัดส่วนของจีดีพีจะมีโอกาสเติบโตนับต่อจากนี้ มาจากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ และการซื้อขายผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กรีนโปรเจกต์’ จะทำให้เกิดกฎใหม่ของโลกธุรกิจ ที่เข้ามาบีบเค้นให้บริษัทที่ไม่คำนึงถึง ‘ธุรกิจสีเขียว’ ให้ไม่สามารถส่งออกหรือนำเข้า ธนาคารไม่ปล่อยกู้ หรือถึงขั้นโดนแซงก์ชัน ทำให้เม็ดเงินกลุ่มเก่าเข้าสู่กลุ่มใหม่ และสร้างกำไรให้กับธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องกรีนมากขึ้น ซึ่งจะสามารถเรียกเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันเข้ามาลงทุนมากขึ้น เพราะโลกที่กำลังเคลื่อนที่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเรื่อง ‘กรีนซัพพลายเชน’ นั้น ต้องขับเคลื่อนด้วยเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันที่ต้องอาศัยเงินทุนสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ทุกปี ไปจนถึงปี 2050 ซึ่งคิดเป็น 5% ของจีดีพีโลกเพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ในเรื่องเกี่ยวกับ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่ถูกพูดถึง โดย ท็อป เผยว่า ในปี 2566 คือ ปีแห่งการทดลองเล่น AI แต่ปีนี้เป็นปีของการใช้จริง และ AI จะเป็นจุดกำเนิดของจริงสำหรับ Future of Job และ Future of Growth เพราะตลอดปีที่ผ่านมาโลกของเราอยู่กับที่ ไม่มีใครเป็น Growth Engine หรือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกรายใหม่ เว้นแต่อินเดียที่เติบโตเป็น The new winner ปีนี้จึงต้องมี Growth Engine ใหม่ที่จะปลดล็อก

ฉะนั้น ทุกเสียงในที่ประชุมดาวอส จึงมองว่า AI เป็น The most powerful of technology หรือ ที่สุดของเทคโนโลยีอันทรงพลังที่ไม่ได้มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเข้ามาปลดล็อก Productivity ใหม่ให้กับโลก และจะเป็น The New Driver สิ่งที่ขับเคลื่อนโลกต่อไป

ในแง่ของ AI กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนในอนาคตนั้น ท็อป เผยว่า การทำงานที่จะถูก Automated หรือควบคุมโดยขบวนการอัตโนมัติด้วย AI มากขึ้น ซึ่งกระทบมากที่สุดต่อคนที่ทำงานด้วย ‘สมอง’

ยกตัวอย่างกลุ่ม White-Collar Worker หรือคนที่ทำงานโดยที่ใช้มันสมองเป็นหลักนั้น น่าห่วงเพราะอีก 5 ปี ข้างหน้า 44% ของทักษะมนุษย์จะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ทุกงานที่ AI จะสามารถทำแทนมนุษย์ และอาจมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ถูกรวมเข้ากับเทคโนโลยี AI

นอกจากนี้ วิวัฒนาการของ AI จะขยายวงมากขึ้น จะมีการใส่ ‘ศีลธรรม’ ลงไปใน AI เพื่อดีไซน์ให้ AI มีศีลธรรมควบคู่ไปด้วย เพราะถ้าไม่มีการป้องกันเทคโนโลยีที่กำลังพลุ่งพล่านแล้ว ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในแง่ของการถูกนำมาใช้ในด้านลบ จึงต้องมีการกำหนดกรอบว่าอะไรไม่ควรล้ำเส้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั่วโลกต้องช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ของ AI

ในด้าน ‘รูปแบบการค้าใหม่’ (New Trade Pattern) ท็อป เผยว่า จะมีความน่าสนใจโดยอาเซียนเป็นจุดโฟกัส ซึ่งอาเซียนกำลังจะมี 3 สิ่งใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2025 ได้แก่...

1.One Asian Strong ทำให้การหมุนเวียนเม็ดเงินผ่านระบบชำระเงินในอาเซียนเกิดขึ้นได้ง่ายโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

2.ระบบโลจิสติกส์ ที่พูดคุยเป็นภาษากฎหมายเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การนำเข้าและส่งออกของภูมิภาค ที่ปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกนั้นไหลลื่น

3.ความลื่นไหลของคน ด้วย ‘One Visa’ หรือพาสพอร์ตเล่มเดียว จะทำให้ผู้คนไปได้ทั่วทั้งอาเซียน

คำถาม คือ จะทำยังไงให้อาเซียนจับมือกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และชนะไปด้วยกันทั้งอาเซียน เพราะอย่าลืมว่า สหรัฐฯ เริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและมุ่งเป้ามาที่อาเซียนมากขึ้น ขณะที่ที่จีนก็มองเอเชียเป็น Growth Engine ใหม่ ซึ่งมิตินี้ ถือเป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า ‘อาเซียนกำลังเข้าสู่ปีทอง’ และกำลังจะกลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ ภายใต้มุมมอง อาทิ เศรษฐกิจใต้น้ำที่ถูกค้นพบแค่ 16%, กลุ่มคนทำงานที่อยู่ในวัยกลางคน, การเป็นแหล่งแร่หายาก และที่สำคัญที่สุดคือ ภายในภูมิภาคไม่ทะเลาะกับใคร มีแต่ความสงบสุข

จุดนี้เองจะทำให้บทบาทของอาเซียนบนเวทีโลกเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับ ‘ไทย’ ที่ถูกส่องแสงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ทำให้ประเทศไทยกลับมามีแสงส่องสว่างบนเวทีโลก ด้วยการเรียกนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ภายใต้จุดขายใหม่ จากการเป็นพื้นที่ที่มีความสามัคคี ผู้นำในกลุ่มอาเซียนสื่อสารกัน นอกเหนือจากการเป็นแค่กลุ่มประเทศแรงงานราคาถูก

ดังนั้น นี่อาจเป็นโอกาสที่ใหญ่มากของไทย เพียงแต่ต้องปรับทัพขบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่บริษัทเล็กระดับ, SME ไปถึงบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องมุ่งสู่ ‘กรีนซัพพลายเชน’ มากขึ้น

ท็อป สรุปตอนท้ายอีกด้วยว่า ‘ดิจิทัล’ และ ‘กรีน’ เป็น 2 คำที่ภาคธุรกิจไทยต้องเริ่มพูดถึงในทุก ๆ หมุดหมายในการดำเนินการ เพื่อคว้าเม็ดเงินลงทุนในระยะยาว ต้องสร้างความตระหนักรู้ในเรื่อง Climate Tech ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทสำคัญมาก...เศรษฐกิจดิจิทัลและกรีน จะเป็นตัวชูโรง GDP ไทยในอนาคต ประเทศไทยต้องพัฒนาบุคลากรและเตรียมกลยุทธ์ใหม่ ๆ ไว้เพื่อคว้าโอกาส

‘รมว.ปุ้ย’ รับมอบอุปกรณ์ซ่อมบ้านจาก SCG มูลค่า 1 ลบ. เร่งนำส่ง ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 3 จังหวัดภาคใต้

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท เอสซีจี (SCG) นำโดยนายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น และนายสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรันโซลูชั่น และคณะ ได้มอบวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ผ่าน ‘โครงการอุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระ และแสดงความห่วงใย พร้อมส่งกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยใน 3 จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้อย่างเร็วที่สุด 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน ผ่านโครงการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกภูมิภาคจัดหามาตรการความช่วยเหลือให้อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งมอบ ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งเป็นถุงยังชีพที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันจัดทำขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

“ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออันดีจากเอสซีจี ในการร่วมส่งมอบอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย อาทิ ปูน กระเบื้อง ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประสบภัย การสนับสนุนครั้งนี้เป็นการเยียวยาความเดือดร้อนอย่างตรงจุด และเป็นประโยชน์แก่ผู้รับมอบอย่างยิ่ง ต้องขอขอบคุณทางเอสซีจีและภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือและร่วมส่งกำลังใจประชาชนเป็นอย่างดีเสมอ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม จะนำส่งสิ่งของให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า สำหรับวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านที่เอสซีจีร่วมบริจาค มีดังนี้ ปูนซีเมนต์ ตราเสือ 4,000 ถุง ปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์ 1,000 ถุง กระเบื้องปูพื้น 5,500 แผ่น โดยมูลค่ารวมของวัสดุอุปกรณ์ที่ทางเอสซีจี นำมามอบให้ในครั้งนี้ มูลค่ารวมทั้งสิ้นจำนวน 1 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการนำวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านดังกล่าว ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยอุทกภัยในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยเร็วที่สุด

'รมว.ปุ้ย' เปิดงาน Thailand Green and Smart Mining Forum 2024 'เหมืองแร่ไทยใต้หลักธรรมาภิบาลและมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม'

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ ที่จะดำเนินกิจการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาล ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า กิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' เป็นกิจกรรมสำคัญของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อให้การประกอบกิจการเหมืองแร่เป็น 'เหมืองแร่ของประชาชน' ลดความขัดแย้งในการพัฒนาแร่ เกื้อกูลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและชุมชน 

โดยกิจกรรมวันนี้ ได้นำมาตรการทางสังคมเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่และมาตรการทางกฎหมาย อาทิ เวทีให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้ร่วมแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบและหลักธรรมาภิบาลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การมอบรางวัล Thailand Green and Smart Mining Awards ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการร่วมกันประกาศและลงนามในเจตนารมณ์การเป็นเหมืองแร่ที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการเหมืองแร่

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ การเกษตร เทคโนโลยีชั้นสูง และพลังงานหมุนเวียน การผลักดันให้สถานประกอบการเหมืองแร่มีการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำเหมืองสมัยใหม่มาใช้ในการทำเหมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามกรอบแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 โดยกิจกรรมที่จัดในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรมแบบ Net Zero คือ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วย

ด้าน นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวถึงรายละเอียดของกิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' ประกอบไปด้วย...

• การปาฐกถาหัวข้อ 'การบริหารจัดการแร่อย่างยั่งยืนภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2' โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

• การมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์กิจกรรม Thailand Green and Smart Mining และรางวัล “Thailand Green & Smart Mining Awards 2023” ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 รางวัล ได้แก่...

1. ประเภทกิจการเหมืองแร่ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่...
(1) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด
(2) บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน)
(3) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด
(4) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด
(5) บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด

2. ประเภทกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับแร่ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่...
(1) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด

• พิธีการประกาศเจตนารมณ์และลงนามการเป็นเหมืองแร่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกิจการเหมืองแร่ไทย ครั้งที่ 3 ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ จำนวน 10 ราย

• การจัดนิทรรศการของผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับรางวัล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 7 ราย

• การนำเสนอแนวทางการประกอบกิจการของผู้ที่ได้รับรางวัล Thailand Green & Smart Mining Awards 2023 

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยาย เรื่อง 'Net zero emissions' จากผู้แทนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และการเสวนา เรื่อง 'การประกอบกิจการเหมืองแร่ไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ' โดย ผู้ประกอบการเหมืองแร่อีกด้วย

‘BIG-BGC’ ผนึกกำลัง ดันนวัตกรรม Climate Technology ลดคาร์บอนในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ ‘แก้ว-พลาสติก’

(1 ก.พ. 67) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี (BIG) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมจาก Climate Technology ในการตรวจสอบและช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วและพลาสติกของบีจีซี โดยจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน และตอบรับเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ของบีจีซีในปี 2593

“การดำเนินดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองบริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ซึ่งบริษัทฯ ถือเป็นพันธกิจสำคัญในการดำเนินธุรกิจและสานพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะเกิดมูลค่า (Value)”

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า บริษัทตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน จึงมีการพัฒนา Carbon Accounting Platform เพื่อมอนิเตอร์การใช้และลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ในกระบวนการผลิตเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น สามารถนำไปวางแผนการลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ จากกระบวนการผลิตโดยอาศัยความชำนาญของบีไอจีมาช่วยสนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจ

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดการใช้ Carbon Accounting Platform ไปสู่อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจร และร่วมผลักดันในพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกันศึกษาการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนซึ่งเป็นหนึ่งใน Climate Technology มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในเตาหลอมแก้วเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาประยุกต์ใช้กับรถโฟล์คลิฟท์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนและนำมาทดลองใช้ในโรงงาน โดยตั้งเป้าในการร่วมขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่บีไอจีและบีจีซีต่างให้ความสำคัญร่วมกัน และมีส่วนช่วยตอบเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งสองบริษัท อีกทั้งช่วยยกระดับและแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่สามารถนำไปใช้จริงโดยภาคอุตสาหกรรม

'กนอ.' พิสูจน์ชัด 'นโยบายธงขาวดาวเขียว' เป็นไปตามเป้า หลังคว้ารัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมฯ ปี 66 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ตอกย้ำความสำเร็จในการยกระดับให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(1 ก.พ.67) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้แนวคิด 'รัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล ENHANCING THAINESS TOWARDS GLOBAL OPPORTUNITIES' โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 

โดยรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ เป็นเครื่องสะท้อนความสำเร็จและความมุ่งมั่นของ กนอ. ในการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการและการบริหารจัดการโรงงานบนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจประเมินโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีชุมชนโดยรอบนิคมฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม 

รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ที่ กนอ. ได้รับเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว หรือ Green Star Award) มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 โดยเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ก่อนที่จะขยายการดำเนินโครงการไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างมีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งมอบใบประกาศเกียรติคุณและมอบธงที่มีสัญลักษณ์ดาวสีเขียวให้แก่โรงงานที่มีผลการประเมินการบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม นอกจากนี้ โรงงานที่รักษามาตรฐานการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ยังได้รับมอบประกาศเกียรติคุณและมอบธงธรรมาภิบาลยอดเยี่ยม (Gold Star Award) ด้วย

"ผมรู้สึกภาคภูมิใจแทนพนักงาน กนอ. ทุกคน เพราะรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราได้รับในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ กนอ. มุ่งมั่นดำเนินงาน เพื่อการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะชุมชนรอบนิคมฯ ด้วยความจริงใจมาอย่างต่อเนื่องถึง 17 ปี เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สคร. และเชื่อมั่นว่าชาว กนอ. จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำในมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนต่อไป" นายวีริศ กล่าวปิดท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top