Thursday, 9 May 2024
SDGS

‘ล็อกซเล่ย์’ ผนึก ‘AEL’ เปลี่ยน ‘เศษอาหาร’ เป็นพลังงาน หวังลดการสูญเสียทรัพยากร - ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(31 ม.ค.67) นายพิเศษ ดิศวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลฝ่ายธุรกิจสิ่งแวดล้อม บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ มร.จู๊ด เชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท AEL (International Holdings) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยมี นายภัทร พจน์พานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ บมจ.ล็อกซเล่ย์ และ มร.สตีฟ ชวง ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) ให้เกียรติเป็นสักขีพยานภายในงาน ‘Thai-Hong Kong Business Forum’ จัดโดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) และสมาคมการค้าไทย-ฮ่องกง (THKTA) ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

นายพิเศษ เผยว่า บริษัทมองว่าขยะอาหาร (Food Waste) จากแหล่งต่างๆ อาทิ ฟู้ดคอร์ท ศูนย์อาหาร ร้านอาหารขนาดใหญ่ มีจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน หากถูกนำไปกำจัดอย่างไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และเพื่อไม่ให้ขยะอาหารถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า จึงนำมาสู่การผนึกความร่วมมือระหว่าง ล็อกซเล่ย์ และ AEL ในการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างยั่งยืน

‘ซีพีเอฟ’ รับบท ‘ตลาดรับซื้อ’ หนุน 5,500 เกษตรกรรายย่อย ป้องกันตลาดผันผวน ตัดวงจรเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกร

(31 ม.ค. 67) นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ได้มุ่งยกระดับการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศมากกว่า 5,500 ราย ในรูปแบบ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ที่ดี ภายใต้การบริหารจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์ที่มีมาตรฐาน ด้วยการนำขีดความสามารถของบริษัทฯ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเลี้ยงแก่เกษตรกร ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีตลาดรองรับผลผลิต บริษัทฯ จึงทำหน้าที่เป็นตลาดรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกร เพื่อให้มีอาชีพที่ไร้ความเสี่ยงด้านราคาและการตลาด และมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาสุกรผันผวนมาก จากการเข้ามาของขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน หากแต่เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการทำสัญญาตกลงราคากันไว้ล่วงหน้า และบริษัทฯ รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไว้ทั้งหมด

“นอกจากการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยได้รับทั้งความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ เกษตรกรไม่ได้รับความเสี่ยงตลาดผันผวน โดยสินค้าที่ซีพีเอฟผลิตส่งจำหน่ายในตลาดและห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ก็มาจากเกษตรกรรายย่อยที่บริษัทฯ รับความเสี่ยงโดยตรง และยังมีเกษตรกรรายกลางอีกร่วม 500 ราย ที่ซีพีเอฟ เข้าไปช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในห่วงโซ่คุณค่าเติบโตไปด้วยกัน” นายสมพร กล่าว

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2518 ที่ซีพีเอฟนำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบพันธสัญญาแก่เกษตรกรรายย่อย ภายใต้หลักคิด ‘เกษตรกรคือคู่ชีวิต’ ร่วมสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยของไทย มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็ง มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศ ควบคู่กับการผลิตเนื้อสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันผลิตและส่งมอบสินค้าอาหารคุณภาพมาตรฐานสูง สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนไทย 

เอกชนญี่ปุ่น สนลงทุน BCG ใน ‘อีอีซี’ หนุนพัฒนา ‘เมืองน่าอยู่-พลังงานสะอาด’

(31 ม.ค. 67) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ได้นำคณะจากอีอีซี เยือนเมืองนาโกย่า และเมืองโอชาก้า ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ดร.สุวิทย์ ธนณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร. นลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อชักจูงภาคเอกชนชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด โดยเฉพาะไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานใหม่แห่งอนาคตภาคขนส่ง ซึ่งจะเป็นการลงทุนสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนให้พื้นที่อีอีซี และประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้พบกับ Mr. Yasuhiko Yamazaki, Executive Vice President และผู้บริหารระดับสูงจาก บริษัท DENSO Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก และได้พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่อเนื่อง โดยหารือถึงโอกาสการขยายลงทุนจากบริษัทฯ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาด และอีอีซี ได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าของอีอีซี สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจการลงทุนดังกล่าวมายังประเทศไทย รวมทั้งเข้าพบผู้บริหาร บริษัท Toyota Motor Corporation เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รูปแบบแบตเตอรี่ ไฮบริด และไฮโดรเจน ณ พิพิธภัณฑ์ Toyota Kaikan Museum พร้อมเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจน ที่ Toyota Eco ful Town ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่นำไฮโดรเจนมาใช้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้หารือถึงแนวทางการขยายผลนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ภาคขนส่งในพื้นที่อีอีซี 

นอกจากนี้ ยังได้พบกับ Mr. Yoshihiro Miwa กงศุลใหญ่กิตติมศักดิ์ เมืองนาโกย่า และผู้บริหารระดับสูงบริษัท Kowa ซึ่งสนใจจะลงทุนผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น โดยได้หารือถึงการขยายลงทุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฮโดรเจน ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้การลงทุน BCG รวมทั้งคณะฯ ได้เข้าพบ Mr. Hideyuki Yokoyama นายกเทศมนตรีนครโอซากา โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างเมือง (City-to-City) รวมทั้งได้จัดงานสัมมนาเชิงธุรกิจ ร่วมกับเทศบาลนครโอซากา และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา (OCCI) เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงการอีอีซี ตลอดจนสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ให้แก่กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น รวมทั้งคณะฯ ยังได้เข้าหารือกับ Mr. Junichi Ohmori, Executive Officer และคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Daikin Industries ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศอันดับ 1 ของโลก เพื่อประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของโครงการ สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือถึงโอกาสการขยายการลงทุนของบริษัทฯ มายังพื้นที่อีอีซีต่อไป

ดร.จุฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยือนประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ อีอีซี ยังได้ร่วมกับธนาคาร Mizuho Bank จัดงานประชุมสัมมนารับฟังความเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ณ อาคาร Mizuho Bank Marunouchi Head Office กรุงโตเกียว โดยเป็นการพบปะนักลงทุนต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงเป้าหมายการเป็นเมืองธุรกิจคู่กรุงเทพฯ (EEC Capital City) และเมืองน่าอยู่ระดับสากล รวมถึงการให้ข้อมูลกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในพื้นที่โครงการฯ โดยมีกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ทั้งกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยี ให้ความสนใจ อาทิ Ministry of Land, Infrastructure, Transportation and Tourism (MLIT), Urban Renaissance Agency (UR), บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น, Tokyo Corporation และบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 39 หน่วยงาน 

สำหรับ ภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี 2561 – พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจในการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 โดยมีมูลค่าที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่า 183,702 ล้านบาท 

ทั้งนี้ อีอีซี ได้กำหนดเป้าหมายในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2567 - 2569) ให้เกิดมูลค่าการลงทุนจริง ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประมาณ 4 แสนล้านบาท 

'รมว.ปุ้ย' สั่งการ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลัง 'โตโยต้า' ดึงระบบ 'ไคเซ็น' ช่วย 'ต่อยอด-เสริมแกร่ง' ธุรกิจชุมชน

(30 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อยอดการพัฒนาและยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติในรูปแบบ Big Brother 'พี่ช่วยน้อง' ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ พร้อมดึงระบบการผลิตแบบโตโยต้าและโตโยต้าคาราคุริไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชน หวังลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้ให้ธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และต่อยอดธุรกิจชุมชนสู่เกษตรอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คาดว่าสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เพราะหากฐานรากแข็งแกร่งก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบกับปัจจุบันโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน มีกติกาใหม่ที่เข้ามาบังคับ กีดกัน ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคอุตสาหกรรมในตอนนี้ และส่วนที่ควรให้ความสำคัญ คือ...

เศรษฐกิจฐานราก หรือ ชุมชน โดยเทรนด์การอุปโภคบริโภคของคนเปลี่ยน การปรับตัวให้อยู่รอดในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-Curve) เข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจชุมชนให้สามารถเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับอาชีพชุมชนสู่การผลิตที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อันจะทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในอนาคต 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมาโดยตลอด จึงสั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ดีพร้อม และบริษัท โตโยต้าฯ ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการขยายเครือข่ายความร่วมมือ หรือ DIPROM Connection ด้วยการบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเชื่อมโยงกับ Big Brother ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม อันจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ/กิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ ผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ การพัฒนาและส่งเสริมให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต้นทุนต่ำ หรือ Low Cost Technology ในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดต้นทุนด้านต่างๆ 

รวมถึงการถ่ายทอดความรู้เชิงขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการชุมชนผ่านกิจกรรมโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการชุมชน อาทิ ทักษะการบริหารจัดการ การตลาด การเงิน การบัญชี การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาการผลิตต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้าน นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด กล่าวว่า บริษัท โตโยต้าฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายผลต่อยอดความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยทางโตโยต้าเองได้ดำเนินโครงการ 'โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' มากว่า 10 ปีแล้ว และได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น 'พี่เลี้ยงทางธุรกิจ' ด้วยการร่วมศึกษาถึงปัญหาต่างๆ พร้อมนำองค์ความรู้และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และหลักการ ไคเซ็น (Kaizen) เข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนต่างๆ สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างผลกำไรจนเป็นผลสำเร็จทั้งสิ้น 32 ธุรกิจทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มีการเปิด 'ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' 6 แห่งครอบคลุมพื้นที่ครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ โตโยต้าฯ ยังได้มีการขยายผลเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใน 'โครงการ Big Brother พี่ช่วยน้อง' ซึ่งความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในรูปแบบการดำเนินงานผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในจังหวัดกรุงเทพฯ, นครราชสีมา, ชลบุรี รวมถึงโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง 

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดการยกระดับในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจรควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนผ่านองค์ความรู้ด้านการผลิตที่เป็นจุดเด่นของโตโยต้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาศักยภาพการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองได้อย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐสู่อุตสาหกรรม 4.0 และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป

"การลงนามความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าฯ ในครั้งนี้ ดีพร้อมเชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจะสามารถนำองค์ความรู้ ทักษะการประกอบการในทุกๆ มิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ได้รับไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของชุมชน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม เช่น ระบบลำเลียงกล้วย เครื่องทุ่นแรงลากอวน และเครื่องจักรในการเพิ่มมูลค่ามูลวัว เป็นต้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการดึงอัตลักษณ์ชุมชนผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และเชื่อมโยงไปสู่เชิงพาณิชย์ อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายไปสู่ตลาดสากล รวมถึงการพัฒนาและยกระดับธุรกิจชุมชนให้เชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบชุมชน ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

‘CPF’ ชูนวัตกรรม ‘โปรไบโอติกส์’ ในอาหารสัตว์ ส่งมอบ ‘หมู-ไก่-เป็ด-กุ้ง’ คุณภาพสู่ผู้บริโภค

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค. 67) กระบวนการเลี้ยงที่ใช้นวัตกรรมโปรไบโอติกส์ (Probiotics) ผสมในอาหารสัตว์ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ไก่ เป็ด กุ้ง ตอบโจทย์ดีต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ล่าสุด พัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับจุลินทรีย์ในไบโอแก๊ส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในฟาร์มสุกร ช่วยบำบัดน้ำเสีย ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักวิชาการอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ใส่ใจและให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตอาหารสัตว์ที่เรามุ่งมั่นวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ ภายใต้หลักคิดอาหารที่ส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงตามธรรมชาติ ส่งผลให้เนื้อสัตว์มีคุณภาพดี พร้อมส่งมอบสู่ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ตอบโจทย์การผลิตอาหารปลอดภัยและยั่งยืน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับหลักโภชนาการแม่นยำ ด้วยการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ตรงกับความต้องการของสัตว์ในแต่ละช่วงวัย ควบคู่กับกระบวนการเลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่มีการป้องกันโรค ทำให้สัตว์มีความเป็นอยู่สุขสบายในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงทำให้สัตว์ไม่ป่วยและไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ส่งผลทำให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดี ปลอดสารตกค้าง ลดการปลดปล่อยสารอาหารส่วนเกินสู่สิ่งแวดล้อม อาทิ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เป็นต้น

นอกจากนั้น ซีพีเอฟ ได้คิดค้น วิจัยและพัฒนานวัตกรรมโปรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ ทำให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง สามารถต่อต้านเชื้อก่อโรคได้ดี โดยคัดเลือกจากฐานข้อมูลจุลินทรีย์ในห้องปฏิบัติการ จนได้โปรไบโอติกส์ที่ดีที่สุดเพียง 10 สายพันธุ์ ผสมในอาหารสัตว์ ทั้งหมู ไก่ เป็ด ได้เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ แบรนด์ CP อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อเป็ด และผลิตภัณฑ์กุ้ง CP Pacific ซึ่งผลิตภัณฑ์กุ้งมาจากกระบวนการเพาะเลี้ยงตามหลัก 3 สะอาด คือ ลูกกุ้งสะอาด น้ำสะอาด บ่อสะอาด ใส่ใจทุกขั้นตอน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กลุ่มผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เน้นการเลี้ยงด้วยอาหารนวัตกรรมจากธรรมชาติ 100 % อาทิ หมูชีวา (Cheeva Pork) จากแบรนด์ U FARM เนื้อหมูที่อุดมด้วย โอเมก้า 3 มาจากการเลี้ยงสุกรด้วย Super Food เช่น Flax Seed น้ำมันปลา สาหร่ายทะเลลึก ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล ปลอดสาร  ปลอดภัย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง ได้รับการรับรองมาตรฐานโดย NSF สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ช่วยลดไนโตรเจนในมูลสุกร 20-30 % ผลิตภัณฑ์ไก่เบญจา (Benja Chicken) มาจากการเลี้ยงไก่ด้วย ข้าวกล้อง Flax Seed ทำให้เนื้อไก่มีโอเมก้า 3 กลิ่นหอม เนื้อนุ่มและฉ่ำได้รับการรับรองมาตรฐานโดย NSF เช่นกัน  ผลิตภัณฑ์เป็ดจักรพรรดิ (Chakkraphat Duck) แบรนด์ U FARM มาจากเป็ดที่ถูกคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี เลี้ยงด้วยอาหารจากธัญพืชที่อุดมด้วยโอเมก้า 3 ทำให้เป็ดเนื้อนุ่มฉ่ำกว่าเนื้อเป็ดทั่วไป  

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญสูงสุดในการส่งมอบเนื้อสัตว์คุณภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคแล้ว บริษัทฯ ยังตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ในบ่อไบโอแก๊ส ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย เพิ่มผลผลิตแก๊สมีเทนเพิ่มความเข้มข้นแก๊สมีเทนสำหรับใช้ในการปั่นไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้คุณภาพน้ำเสียจากการบำบัดดีขึ้น โดยในปี 2566 นำไปใช้ในฟาร์มสุกรแล้วรวม 70 แห่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปั่นไฟ ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าในฟาร์ม และในอนาคตวางแผนวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในฟาร์มของซีพีเอฟและฟาร์มภายนอก

‘มล.ชโยทิต’ ชี้!! ก.พ.67 ‘อัตราภาษีสีเขียว’ ใกล้คลอด เสริมนิเวศการลงทุนไทยยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ทุนยุโรป

(29 ม.ค.67) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นอีกกำลังหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การลงทุนโดยตรงสุทธิจากสหภาพยุโรป (EU) ในไทยในปี 2565 มีมูลค่า 49,220.33 ล้านบาท และประเทศที่ลงทุนเป็นอันดับ 2 จาก EU คือ เยอรมนี มูลค่า 15,530.07 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศักยภาพการลงทุนจากเยอรมนี ยังสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าให้มากขึ้นไปอีก แต่ในอนาคตเงื่อนไขทางการค้าของนักลงทุนจากยุโรปไม่ใช่แค่ ‘กำไร-ขาดทุน’ แต่คือโจทย์ด้านความยั่งยืน

ฉะนั้นในโอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือเต็มคณะ ร่วมกับ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีสาระสำคัญในประเด็นดังกล่าวอยู่อย่างชัดเจน

โดย มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ผลการหารือเป็นไปได้ด้วยดี สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจไทยเยอรมนี ที่ได้เน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยในประเด็นต่างๆ ได้แก่... 

1. การทำให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนในฐานะแหล่งผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่มีพลังงานสะอาด

2. การนำเสนอด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทรถยนต์เยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ในประเทศไทย

3. การพัฒนาดิจิทัล ไทยมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีการปรับปรุง พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

4. การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทด้านการผลิตไมโครชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรม EV

5. การสนับสนุนความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยภายในเดือน ก.พ. 2567 นี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างอัตราภาษีสีเขียว (Green Tariff) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้การดูแล ติดตามทุกบริษัทที่ลงทุนในไทย รวมไปถึงการสร้างพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากเขื่อนกักเก็บน้ำ 7 แห่งในไทย ซึ่งทางบริษัทเยอรมันหลายแห่ง ให้ความสนใจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเห็นพ้องที่จะส่วนร่วมในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในไทยต่อไป

6. ด้านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เน้นย้ำการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนอื่นๆ โดยข้อหารือทั้งหมดจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU และของฝ่ายไทยครั้งที่ 15 (15th Senior Officials' Meeting) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศ สมาชิก EU เห็นควรให้ EU เริ่มต้นการเจรจา FTA กับประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงยกระดับความร่วมมือทวิภาคี กับฝ่ายไทย ในการนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ EU จะนำประเด็นเรื่องการปล่อยคาร์บอนมาเป็นเงื่อนไข อย่างหนึ่งในการเจรจาด้วย

ด้านประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่า เชื่อมั่นในการร่วมกันพัฒนาอนาคตที่สดใสร่วมกัน รวมถึงชื่นชมการมีเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งสะท้อนว่า ไทยพร้อมเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ โดยเยอรมนีพร้อมที่จะยกระดับทางการค้าการลงทุนร่วมกัน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมมี Roadmap ที่ชัดเจนมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

สำหรับผู้แทนเอกชนเยอรมนีมาจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ 1.สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 3.พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม 4.บริการ ดิจิทัลและการศึกษา และ 5.วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน

ในเดือน มี.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีไทยมีกำหนดเดินทางเยือนเยอรมนี ซึ่งเป็นช่วงที่นิเวศด้านความยั่งยืนของไทยโดยเฉพาะด้านภาษีสีเขียวน่าจะแล้วเสร็จ ก็น่าจะเป็นอีกผลงานอวดโลกได้ว่า ไทยพร้อมตอบโจทย์เงื่อนไขการลงทุนที่มีความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ

‘ไทย สมายล์ กรุ๊ป’ เดินแผนปลดระวางรถเมล์ NGV 350 คัน แล้วเสร็จ ผันตัวเป็น ‘ขนส่งไร้มลพิษ’ ให้บริการ ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ เต็มรูปแบบ 

(29 ม.ค. 67) นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นควันพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของผู้คนซึ่งบริษัทได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ก่อนหน้านี้ได้ทำการประกาศนโยบายพัฒนาระบบขนส่งของไทยให้ก้าวสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า 100% ด้วยการปลดประจำการรถเมล์ NGV ทั้งหมด 350 คัน จะต้องถูกยกเลิกการใช้งานทั้งหมดภายในเดือน ม.ค.นี้

โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ยกเลิกการใช้งานรถ NGV คันสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นส่วนสำคัญในภาคการขนส่งที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ ทั้งยังเตรียมตัวสู่ยุค Net Zero Carbon ที่สอดคล้องกับแนวคิดขององค์กร “เดินทางด้วยรอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

ขณะเดียวกัน TSB ได้ประกาศเป็นนโยบายให้รถทุกคันเปิดรับชำระค่าโดยสารทั้ง 2 ระบบ ผู้เดินทางสามารถใช้ ‘เงินสด’  จ่ายผ่านบัสโฮสเตส (พนักงานเก็บค่าโดยสาร) เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่มากขึ้น ด้วยอัตราค่าโดยสารเริ่มเพียง 15-20-25 บาท ตามระยะทาง

นอกจากนี้ ยังมีบริการรองรับสำหรับคนใช้งานประจำ ในการใช้บัตร HOP Card เพื่อรับสิทธิประโยชน์ ‘เดลิ แมกซ์ แฟร์’ Daily Max Fare เดินทางกี่ต่อ กี่สาย กี่ครั้งก็ได้ไม่จำกัดจำนวนภายในหนึ่งวัน ด้วยการชำระค่าโดยสารสูงสุดเพียง 40 บาทต่อวันเท่านั้น หรือจะนั่งรถต่อเรือ เรือต่อรถ ชำระค่าโดยสารสูงสุดเพียง 50 บาทต่อวัน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถหาซื้อบัตรได้ง่าย ๆ ผ่านทางแอปพลิเคชัน Shopee

‘เชียงใหม่’ นำร่อง!! ‘รถสองแถว EV’ พัฒนาโดย ‘มช.’ ช่วยลดมลพิษ-ประหยัดค่าใช้จ่าย หวังขยายผลทั่วประเทศ

(27 ม.ค. 67) รถเขียวเริ่มใช้งานแล้ว หลังผู้ขับรถสองแถวลองขับรถสองแถว EV ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ซึ่งโครงการนี้มาพร้อมกับรถสีเขียวทั้งคันตอบโจทย์สโลแกนการรักษ์โลก และลดมลพิษ ลดฝุ่น PM 2.5 โดยรถสองแถวไฟฟ้าคันดังกล่าว อยู่ในระหว่างการพัฒนาโดยมหาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

‘นายบริสุทธิ์ สันติวัฒนพันธ์’ คนขับรถสองแถว EV ที่เปลี่ยนจากการขับรถน้ำมันมาเป็นรถ EV เปิดเผยว่า รถสามารถใช้งานได้ดี และเป็นเรื่องที่ดีที่มีการใช้การมีรถโดยสาร EV เพราะตนได้รับรายได้เพิ่มขึ้น หลังจากไม่ต้องหมดไปกับค่าน้ำมัน โดยปกติจะเสียค่าน้ำมัน กิโลเมตรละ 3 บาท แต่การเปลี่ยนมาใช้ EV จะเหลืออยู่ที่กิโลเมตรละ 70 สตางค์

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา พรมวังขวา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้จัดการโครงการฯ รถสองแถว EV นี้ กล่าวว่า อยากต่อยอดโครงการรถสองแถว EV ให้ขยายออกไปใช้กับรถโดยสารประจำทางที่มีลักษณะเดียวกันได้

อย่างรถ ‘รถแดง’ ซึ่งเป็นรถสองแถว EV ที่คนเชียงใหม่ใช้กันมากอยู่แล้ว และควรมีโครงการนำร่องในการรถแดง EV จำนวนประมาณ 100 คัน เพื่อจะให้เห็นภาพอย่างชัดเจนในการเปลี่ยนรถสองแถวแบบน้ำมัน ไปเป็น EV เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนในการดำเนินงานต่อไป และมีต้นทุนราว 600,000 บาทต่อคัน ซึ่งทุนที่สูงมาก จึงควรมีรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ

โดยรถสองแถว EV ที่แล้วเสร็จทั้ง 2 คัน จะสามารถวิ่งได้ไกลประมาณ 270 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งเพียงพอแล้วต่อการวิ่งรับส่งทั้งวัน โดยปกติรถสองแถวจะวิ่งอยู่ที่ระยะทาง 150 ถึง 160 กิโลเมตรต่อวัน

‘กรีนสปอต-DHL’ เปิดตัวรถขนส่งไฟฟ้า 18 ล้อ เดินหน้าโลจิสติกส์พลังงานสะอาด เป็นครั้งแรก

(26 ม.ค.67) นายสตีฟ วอล์กเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอชแอล ซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจประเทศไทย กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับความมุ่งมั่นของทั้งสองบริษัทสู่การสร้างสรรค์อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน รถขนส่งพลังงานไฟฟ้าที่เราเปิดตัวครั้งนี้ สามารถวิ่งได้ในระยะทางสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งใช้เวลาชาร์จพลังงานเต็มประสิทธิภาพประมาณ 2 ชั่วโมง โดยคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 60 ตันต่อปี

การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้านี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในการขนส่งสินค้าของกรีนสปอต เพื่อให้มั่นใจว่าการขนส่งสินค้าทั้งภายในและภายนอกบริษัทจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเส้นทางการขนส่งสินค้าจะครอบคลุมตั้งแต่การขนส่งวัตถุดิบจากโรงงานผลิตขวดไปยังโรงงานกรีนสปอต หนองแค และรังสิต และขนส่งสินค้าจากโรงงานทั้งสองแห่งไปยังคลังสินค้าคลองหลวง หลังจากนั้น สินค้าจะถูกขนส่งไปยังผู้บริโภคผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ อาทิ บิ๊กซี โลตัส และ 7-11

สำหรับรถขนส่งพลังงานไฟฟ้านี้จะถูกบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการด้านการขนส่งของดีเอชแอล มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมายมาใช้ อาทิ Paragon Route Optimization System, Transport Management System, Telematics และ DHL’s MySupplyChain digital platform

นายสตีฟ กล่าวต่อว่า เรากำลังเดินหน้าอย่างมั่นคงสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้วยพลังงานสะอาดและยั่งยืนในทุกขั้นตอน ความร่วมมือของเรากับกรีนสปอตในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของทั้งสองบริษัทที่มีร่วมกัน

โดยเฉพาะความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ต่อแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าของเราถือเป็นเครื่องพิสูจน์อันเด่นชัดถึงความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยให้เราสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการวางแผนเส้นทางการเดินรถที่มีประสิทธิภาพและการส่งมอบสินค้าอย่างปลอดภัย โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้ในทุกขั้นตอนการทำงาน

>> กรีนสปอต ลดขยะ-ลดใช้พลังงาน

ด้านนายโชติ โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัท กรีนสปอต จำกัด กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของเราจะมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยด้านอาหาร และมีคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลักเสมอ การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าเพื่อขนส่งเครื่องดื่มของเราในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นไปอีกก้าวต่อการปฏิบัติงานที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกับดีเอชแอล ซัพพลายเชน ประเทศไทย ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของเราในการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เราจะยังคงมุ่งมั่นนำโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ความมุ่งมั่นของกรีนสปอตในด้านความยั่งยืน ยังครอบคลุมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดการสร้างขยะให้น้อยที่สุด และลดอัตราการใช้พลังงาน ด้วยความพยายามอันเต็มเปี่ยมและจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทได้กำหนดเป้าหมายที่จะสร้างเสริมสุขภาวะและยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งผู้บริโภคและชุมชนในวงกว้าง นโยบายนี้สะท้อนผ่านการให้ความสำคัญต่อแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

>> ดีแอชแอลเดินหน้าโลจิสติกส์ยั่งยืน

ปัจจุบัน ดีเอชแอล ซัพพลายเชน ประเทศไทย มีการนำรถขนส่งพลังงานไฟฟ้ามาใช้จำนวนมากและมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องในปี 2567 และปีต่อ ๆ ไป การนำรถขนส่งพลังงานไฟฟ้ามาใช้ขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport Policy) ซึ่งเป็นแผนงานเชิงกลยุทธ์ในการใช้โซลูชั่นการขนส่งที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามแผนงานความยั่งยืนของกลุ่มบริษัท

นโยบายนี้ยังทำหน้าที่เป็นแบบแผนในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรถขนส่งโดยใช้ทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาทิ การนำน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน (hydrotreated vegetable oil) ก๊าซชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ไฮโดรเจน มาใช้ เป็นต้น ซึ่งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มนี้ ดีเอชแอล ซัพพลายเชน ตั้งเป้าที่จะปรับเปลี่ยนรถขนส่งประมาณ 2,000 คัน ทั่วโลกไปใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นในอนาคต 

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งศึกษากม. ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม-น้ำ ในครัวเรือน เตรียมชงเข้า ครม. พร้อม ‘โซลาร์รูฟท็อปเสรี’ หวังลดค่าไฟ ปชช.

(25 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และน้ำภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลักเกี่ยวกับเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือน และไม่ให้มีปัญหาเรื่องของไฟฟ้า เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาพร้อมกับนโยบายโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) เสรีในส่วนครัวเรือนของพรรคครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

ขณะที่ความคืบหน้านโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรีในส่วนครัวเรือนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยปัจจุบันได้ปลดล็อกเรื่องการขอใบอนุญาตแล้วทั้งระบบ 

"กระทรวงฯ อำนวยความสะดวกให้แล้ว ด้วยการปลดล็อกการขอใบอนุญาต รง.4 ได้สบายมากขึ้น ไม่ต้องมาขอ ในภาคครัวเรือนด้วยเช่นเดียวกัน"

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าการติดตั้งโซลาร์ของครัวเรือนส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ จะไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 อยู่แล้ว 

ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเป็นการปลดล็อกทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ และขนาดเล็กในครั้งเดียว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top