Tuesday, 1 July 2025
ECONBIZ NEWS

คลังเปิดผลมาตรการรัฐวันแรกคนใช้จ่าย 1,646 ล้าน

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ได้เปิดให้ประชาชนใช้จ่ายวันแรกเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 พบว่า การใช้จ่ายวันแรก มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวมกว่า 7.8 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวม ทั้งหมด 1,646 ล้านบาท

สำหรับสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้  

1.) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 3.5 ล้านราย โดยมียอดการใช้จ่ายรวม 791.3 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 399.4 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 391.8 ล้านบาท

2.) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 3,428 ราย โดยเป็นยอดการใช้จ่ายรวม 9.1 ล้านบาท  

3.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 4.2 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 826.3 ล้านบาท

และ 4.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิจำนวนกว่า 1 แสนราย มียอดการใช้จ่ายรวม 19.6 ล้านบาท 

“การใช้จ่ายในทุกโครงการ จะต้องเป็นการจ่ายเงินระหว่างประชาชนกับร้านค้าหรือผู้ให้บริการแบบพบหน้าเท่านั้น และจะต้องไม่มีกระบวนการใด ๆ รองรับการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ที่เป็นการหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว เช่น การนำ QR Code ไปคัดลอกส่งต่อแก่บุคคลอื่นเพื่อสแกนจ่ายเงิน และการสแกนจ่ายค่าสินค้าหรือบริการจะต้องระบุยอดเงินให้ตรงตามมูลค่าสินค้าหรือบริการนั้น เนื่องจากไม่สามารถทอนเงินหรือรับแลกสินค้าหรือบริการคืนเป็นเงินสดได้”

รมว.แรงงาน ชื่นชม เชิดชูเกียรติ 1,306 สถานประกอบกิจการดีเด่น ด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564

รมว.แรงงาน ชื่นชม เชิดชูเกียรติ 1,306 สถานประกอบกิจการ ที่มีระบบบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานที่ดี ฟันฝ่าอุปสรรควิกฤตโควิด-19 ทำให้สถานประกอบกิจการดำเนินกิจการอยู่ได้ จนได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564 ตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประกาศ

นายสุชาติ  ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดโครงการส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการที่ดีด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการลดปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงานที่อาจเกิดขึ้น โดยสนับสนุนให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบกิจการ ซึ่งส่งผลให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและมีความสุขในการทำงาน นายจ้างได้ผลผลิตสูงสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในและต่างประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยในปี 2564 มีการประเมินในเรื่องของความร่วมมือกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

โดยใช้กลไกของสหภาพแรงงานหรือคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบกิจการมาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย จึงขอชื่นชมและขอยกย่องเชิดชูเกียรติสถานประกอบกิจการที่ผ่านการพิจารณาตัดสินได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564 ทั้ง 1,306 แห่ง

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ มีสถานประกอบกิจการทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,339 แห่ง และผ่านเกณฑ์การพิจารณาได้รับรางวัล จำนวน 1,306 แห่ง โดยแบ่งเป็นประเภทรางวัลเกียรติยศสูงสุด 15-19 ปีติดต่อกัน จำนวน 101 แห่ง รางวัลเกียรติยศ 10-14 ปีติดต่อกัน จำนวน 203 แห่ง รางวัลเชิดชูเกียรติ 5-9 ปีติดต่อกัน จำนวน 431 แห่ง รางวัลระดับประเทศ 1-4 ปี จำนวน 530 แห่ง และรางวัลระดับจังหวัด จำนวน 41 แห่ง ซึ่งสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินได้รับรางวัลในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเข้ารับรางวัลในงาน Thailand Labour Management Excellence Award 2021 ที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 สำหรับสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินได้รับรางวัลในส่วนภูมิภาค กรมจะจัดส่งโล่รางวัลและเกียรติบัตรให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด มอบให้กับสถานประกอบกิจการต่อไป ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดประกาศผลรางวัลฯ ได้ที่ https://www.labour.go.th หรือ http://relation.labour.go.th

นักศึกษาช้อปกระหน่ำช่วงโควิด พบยอดซื้อออนไลน์พุ่ง 7.5 หมื่นล.

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของประชาชน จำนวน 7,499 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภค ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.64) ใน 13 กลุ่มสินค้า ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์กันมากขึ้น โดยพบว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 75,000 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 45.05% จากที่เคยสำรวจช่วงเดือน พ.ย. 63 ที่มีมูลค่า 52,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือมีการซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น 68.97% จากการสำรวจครั้งก่อน  

ทั้งนี้ สินค้าทั้ง 13 กลุ่ม พบว่า กลุ่มเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อออนไลน์สูงสุด รองลงมา คือ อาหารและเครื่องดื่ม, สินค้าสุขภาพ เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนบุคคล, ของใช้ในบ้าน สำนักงาน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ, เครื่องกีฬา เครื่องเขียน, เพลง ภาพยนตร์ และสินค้าบันเทิงอื่นๆ, ซอฟต์แวร์ เกม, การจอง/บริการต่าง ๆ, คอมพิวเตอร์, ของเล่น, หนังสือ นิตยสาร โดยโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ เป็นสินค้าที่มีสัดส่วนใช้จ่ายออนไลน์สูงสุด

สำหรับ ผู้ที่เคยซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี เฉลี่ยคิดเป็น 87.00% รองลงมา คือ น้อยกว่า 20 ปี คิดเป็น 85.71% และช่วงอายุ 30-39 ปี คิดเป็น 80.13% โดยกลุ่มผู้ซื้อใกล้เคียงกับผลสำรวจเดือน พ.ย.63 และหากพิจารณาถึงปริมาณการใช้จ่าย พบว่า ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มอายุที่มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุด คือ ช่วงอายุ 20-29 ปี ประมาณ 2,379.30 บาท/เดือน รองลงมา อายุ 50-59 ปี 2,349.00 บาท/เดือน และหากจำแนกตามอาชีพ พบว่า ผู้ที่ใช้จ่ายออนไลน์สูงสุดมีอาชีพนักศึกษา คิดเป็น 92.88% โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ และกลุ่มคอมพิวเตอร์ รองลงมา คือ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ 84.57% และพนักงานบริษัท 84.36% 

โดยข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ เจ้าของแผงค้า มียอดค่าใช้จ่ายสูงสุด สอดคล้องกับความมั่นคงในอาชีพและการเงิน และหากจำแนกตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการใช้จ่ายผ่านออนไลน์มากที่สุด 81.62% ตามด้วย ภาคใต้ 71.68% ภาคกลาง 68.25% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 67.86% และภาคเหนือ 64.42%

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หนุน SUSUNN จาก เอสซีจี เซรามิกส์ จัดทำโครงการซื้อขายไฟฟ้าและคาร์บอนเครดิต

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO พร้อมกับ นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้แบรนด์ SUSUNN ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของ เอสซีจี เซรามิกส์ ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ระบบการรับรองของ TGO

สำหรับ เอสซีจี เซรามิกส์ ภายใต้แบรนด์ SUSUNN ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ล่าสุดได้คิดค้นพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าให้สามารถเชื่อมโยงกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และแนวทางของ TGO ที่มุ่งพัฒนาและส่งเสริมโครงการและตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก จึงได้ร่วมมือกันเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแบบแผนในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มของ เอสซีจี เซรามิกส์ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานตามแนวทางของ TGO ด้วย

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของ เอสซีจี ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักการ ESG ซึ่งครอบคลุมทั้งทางด้าน Environment, Social and Governance อันเป็นเรื่องที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยคาดหวังว่าจะนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้องและภาคธุรกิจต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาตลาดกลาง เพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศให้เป็นที่แพร่หลายในอนาคต


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ออมสิน ขยายความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจร้านอาหาร พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน จากเดิมที่ให้สิทธิ์เฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ แจ้งเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 23 ก.ค. นี้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง รัฐจำเป็นต้องประกาศยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้น โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังมอบนโยบายให้ธนาคารออมสิน ขยายความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารจึงปรับเกณฑ์มาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เงินงวดเป็นศูนย์ ตลอด 6 เดือน โดยเปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่ได้นำเงินกู้ไปประกอบกิจการร้านอาหาร สามารถขอเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ด้วย จากเดิมที่ให้สิทธิ์เฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 250 ล้านบาท และมีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน สามารถขอเข้าร่วมมาตรการฯ เพื่อรับสิทธิ์ยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มีผลตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม-เดือนธันวาคม 2564 โดยแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่บัดนี้ ที่สาขาธนาคารออมสิน หรือศูนย์สินเชื่อธุรกิจลูกค้า SMEs ที่ได้ติดต่อขอสินเชื่อไว้ หมดเขตแจ้งความประสงค์วันที่ 23 กรกฎาคม 2564

อนึ่ง ที่ผ่านมาธนาคารได้จัดทำมาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ SMEs โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจะหมดเขตให้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เช่นเดียวกัน โดยธนาคารมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถประคับประคองธุรกิจจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะคลี่คลาย และกิจการกลับมามีรายได้อีกครั้ง


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เริ่มแล้วภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เที่ยวแรก 24 คนจากยูเออี

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เที่ยวบินแรกที่เดินทางเข้ามาถึงภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 คือ เที่ยวบิน EY 430 ของสายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์ ซึ่งบินมาจากเมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ลงแตะพื้นท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เวลา 11.09 น. ถือเป็นเที่ยวบินแรกที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศไทยโดยไม่ถูกกักตัว ตามโครงการภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ที่เริ่มต้นเป็นวันแรก 

สำหรับผู้โดยสารที่มาเที่ยวบินนี้ ได้ถือใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ (COE) ตามโครงการภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ มีจำนวน 24 คน โดยกลุ่มนี้เมื่อมาถึงจะถูกทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากนั้นจะขึ้นรถไปยังโรงแรม และต้องรออยู่ในห้องพัก หากผลตรวจออกมาเป็นลบหรือไม่ติดเชื้อ จึงจะออกมานอกห้องพักได้ และสามารถเดินทางไปได้ทั่วเกาะภูเก็ต 

ทั้งนี้ในวันแรกของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเดินทางมากับ 4 สายการบิน ได้แก่ เอทิฮัด, กาตาร์ แอร์เวย์ส, แอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ และสิงคโปร์ แอร์ไลน์ รวมจำนวน 300 คน ซึ่งได้ COE ทั้งหมด 100% สามารถเข้าพักในโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA PLUS แม้จำนวนนักท่องเที่ยวในวันแรกจะลดลงจากที่เคยประเมินไว้ เพราะออก COE ให้ไม่ทัน ทำให้นักท่องเที่ยวเลื่อนการเดินทางเข้าภูเก็ต แต่หลังจากนี้จะทยอยเข้ามามากขึ้น

บอร์ดสับปะรดไฟเขียวแผนดันส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่ม

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ เห็นชอบแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมสับปะรด โดยให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการปรับปรุงบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างงานแรงงานระยะสั้นในภาคการเกษตรกับประเทศ ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม และนำกลับมารายงานให้ที่ประชุมทราบ

ทั้งนี้ยังเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการผลิต เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป เพิ่มศักยภาพการส่งออก โดยที่ประชุมเน้นย้ำถึงการใช้นโยบายเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ/Bio เศรษฐกิจหมุนเวียน/Circular และเศรษฐกิจสีเขียว/Green) ของรัฐบาลเป็นแนวทางการดำเนินการของทุกภาคส่วน ส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรด เพื่อเกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้เตรียมพร้อมการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตออกมามากในช่วง ต.ค. - ธ.ค. ทั้งนี้ 10 จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสับปะรดของประเทศ ได้มีความพร้อมในเรื่องนี้อยู่แล้ว เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ร่วมกับหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ได้จัดคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด ที่จะมาเป็นหลักในการกระจายผลผลิต การเพิ่มช่องทางการขายonline และ offline การส่งเสริมการบริโภค การเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า การทำสัญญาข้อตกลงกับโรงงานแปรรูป การส่งเสริมการแปรรูป

สำหรับการส่งออกสับปะรดรวมทุกผลิตภัณฑ์ ตัวเลขช่วง ม.ค.- เม.ย. 64 มีมูลค่า 6.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปี 63 ที่มีมูลค่า 5.83 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.14 % อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มการส่งออกจะดีขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงก่อนปี 2562 พบว่ามีมูลค่าลดลง 

รอเลยพรุ่งนี้เงินเข้าแล้ว “คนละครึ่ง” 1,500 บาท

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ซึ่งจะเริ่มโอนเงินให้ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ว่า กระทรวงการคลังพร้อมโอนเงินโครงการคนละครึ่ง เข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง ให้ผู้มีสิทธิ 25.5 ล้านคน ได้เริ่มใช้วันแรก 1 ก.ค. นี้ เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในการโอนเงินลงไปให้นั้น ในรอบแรกจะโอนก่อน 1,500 บาท เพื่อใช้จ่ายระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 64 และรอบที่ 2 โอนวันที่ 1 ต.ค. อีก 1,500 บาท เพื่อใช้เดือน ต.ค.-ธ.ค. 64

ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้จะเริ่มใช้จ่ายได้ 1 ก.ค. นี้ เช่นกัน โดยมีผู้ผ่านสิทธิแล้ว 4.2 แสนคน และคลังยังได้ปรับเงื่อนไขให้สามารถใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10,000 บาท ซึ่งจะเสนอ ครม. เพื่อให้เริ่มทันวันที่ 15 ก.ค. นี้ เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น

ทั้งนี้ คลังขอย้ำว่าสำหรับประชาชนที่ได้รับเอสเอ็มเอส ระบุข้อความลงทะเบียนสำเร็จ โปรดใช้สิทธิผ่านแอปเป๋าตัง เริ่มวันที่ 1 ก.ค. 64 หากเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง แล้วขึ้นข้อความว่าไม่พบข้อมูลการลงทะเบียน หรือระบบกำลังดำเนินการตรวจสอบ ขอให้อัปเดตแอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นเวอร์ชันล่าสุดก่อนเข้าใช้งาน เมื่ออัปเดตแอปพลิเคชันเป๋าตังเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันแล้ว จะได้รับข้อความ โครงการคนละครึ่ง สามารถใช้ได้ 1 ก.ค. 64


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ธปท. ชี้ โควิดระลอกสาม พาแรงงานตกงาน แถมทักษะหาย

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย ในเดือนพ.ค. ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ระลอก 3 จนทำให้เครื่องชี้การบริโภคลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน 

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ ส่วนมาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาครตั้งแต่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยอมรับว่ามาตรการเหล่านี้มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่ง  ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอีกครั้ง

ทั้งนี้ ธปท. ยอมรับว่า ยังมีความกังวลสถานการณ์การระบาดของโควิดจะยืดเยื้อ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคแรงงาน มีอัตราการว่างงานนานกว่าที่คาด และอาจจะกลายเป็นแผลเป็นที่แก้ได้ยากขึ้นในอนาคต เนื่องจากแรงงานบางส่วนที่ไม่ได้ทำงานเป็นระยะเวลานานอาจจะสูญเสียทักษะไปเพราะฉะนั้นเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นก็ต้องเร่งฟื้นฟูทักษะให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว

"บิ๊กตู่" เตรียมลงพื้นที่ภูเก็ต 1 ก.ค. นี้ นำร่องเปิดประเทศ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” คาดการณ์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 100,000 คน ในไตรมาส 3 นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐ เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีกำหนดลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจเยี่ยมระบบการคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกจังหวัดภูเก็ตทางบก ทั้งยานพาหนะ บุคคล และเอกสารต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเศรษฐกิจท่องเที่ยวตามโครงการ Phuket Sandbox จังหวัดภูเก็ต ณ ด่านตรวจภูเก็ต จากนั้น จะเป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ภายใต้โครงการ Phuket Sandbox ร่วมกับส่วนราชการ และภาคเอกชน ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อำเภอเมืองภูเก็ต และเปิดโครงการ “ฮักไทย ฮักภูเก็ต” (HUG THAIS HUG PHUKET) ภายใต้โครงการ “ฮักไทย” ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต และตรวจเยี่ยมความพร้อมการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว  ณ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะตรวจเยี่ยมการคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกจังหวัดภูเก็ตทางอากาศ และให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศตามโครงการ Phuket Sandbox ที่สนามบินนานาชาติภูเก็ตด้วยก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในเย็นวันเดียวกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ให้สามารถกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว เพิ่มโอกาสการจ้างงาน ต่อยอดสินค้าบริการ ในธุรกิจกิจการท่องเที่ยวในระดับต่าง ๆ รวมถึงการลงทุนด้วย ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ New Normal หรือการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป รัฐบาลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประมาณการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ภายใต้โครงการ Phuket Sandbox จำนวน 100,000 คน ในไตรมาส 3 (เดือน ก.ค. - ก.ย. 64) ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้อยู่ที่ 8.9 พันล้านบาท    

ทั้งนี้ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2564 มียอดจอง Booking ของผู้โดยสารที่จะเข้ามา Phuket Sandbox ประมาณ 11,894 คน ข้อมูลจาก 6 สายการบิน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้าประมาณ 8,281 คน ขาออก 3,613 คน คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดประมาณ 426 เที่ยวบิน เฉลี่ยที่ประมาณ 13 เที่ยวบิน/วัน 

อย่างไรก็ตาม ศบค. ได้กำหนดแผนการชะลอหรือยกเลิกโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ กรณีสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 ราย/สัปดาห์ ในลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล ที่มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้างที่หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้ รวมทั้งความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย กรณีมีผู้ติดเชื้อครองเตียงโรงพยาบาล ตั้งแต่ 80% ของศักยภาพของจังหวัดที่มีการพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้าง แบบควบคุมไม่ได้ ด้วย

อนึ่ง จังหวัดภูเก็ตได้ออกกำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รองรับการเปิดเมือง Phuket Sandbox ดังต่อไปนี้

1.) การเดินทางเข้าภูเก็ตจากต่างประเทศ ดังนี้ เดินทางจากประเทศที่กำหนด โดยพำนักในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน มีหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE) ได้รับวัคซีนครบโดส อย่างน้อย 14 วัน กรณีเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ สามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องมีใบรับรองว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง มีกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งรวมถึงกรณีโรคโควิด-19 ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PRC ใน 3 ระยะเวลาดังต่อไปนี้ ครั้งที่ 1 ณ วันที่เดินทางถึงภูเก็ต (วันที่ 0) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7 และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 12-13 หลังจากเข้าพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus) ในจังหวัดภูเก็ตเป็นระยะเวลา 14 คืน จึงสามารถเดินทางออกไปจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ ติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus และ Tracing Application : Morchana เมื่อเดินทางออกจากภูเก็ตเมื่อครบ 14 วัน โดยต้องมีหลักฐานยืนยันการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่แสดงว่าตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 14 คืนที่พำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ต

2.) การเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตจากภายในประเทศ ดังนี้

(1) ต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หรือครบโดสตามจำนวนวัคซีนแต่ละชนิด หรือได้รับวัคซีนชนิด AstraZeneca จำนวน 1 เข็ม มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test ผลเป็นลบอายุไม่เกิน 7 วันก่อนการเดินทางหากเป็นผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 และได้รับการรักษาหายมาแล้วไม่เกิน 90 วัน และต้องมีหนังสือรับรองการได้รับการรักษา (ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 1-2)  ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ภายในจังหวัดภูเก็ตและไม่จำเป็นต้องอยู่ภูเก็ตถึง 14 วัน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top