Tuesday, 1 July 2025
ECONBIZ NEWS

โควิดพังดัชนีเชื่อมั่น!! ลดต่อเนื่องเดือนที่ 3 'อุตฯ' วอนรัฐเร่งฉีดวัคซีนให้ถึง 70% ด่วน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ระดับ 80.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 82.3 ในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563

สำหรับปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกสาม ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมทั้งการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างในหลายพื้นที่ จนภาครัฐต้องยกระดับมาตรการควบคุม COVID-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ อาทิ...

>> มาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเวลา 30 วัน

>> มาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร เป็นต้น

>> นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังทำได้อย่างจำกัด และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ ด้านการส่งออกสถานการณ์การขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้ายานยนต์ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือ (Freight) ที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ยังเป็นปัจจัยที่ผู้ส่งออกมีความกังวล

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกของไทยที่มีทิศทางดีขี้น สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว และสถานการณ์ COVID-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ทำให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาท ที่อ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นปัจจัยบวกต่อผู้ส่งออกทำให้สินค้าไทยถูกลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ขณะเดียวกันผู้ส่งออกยังมีรายได้ในรูปเงินบาทมากขึ้น

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,364 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 59.6 สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 47.4 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 37.2 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 58.2, และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 43.5 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 90.8 จากระดับ 91.8 ในเดือนพฤษภาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการควบคุม รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดอาจทำได้ยาก

ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังชะลอตัวลง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องจากการขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

1.) เร่งการจัดหาวัคซีนคุณภาพและเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศในทุกกลุ่มอาชีพก่อน พิจารณาเปิดประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

2.) ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างจนกระทบต่อภาคการผลิตการส่งออก

3.) ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19 ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งกิจการทุกประเภทเพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

4.) ภาครัฐควรจัดหา Soft loan พิเศษ ช่วยเหลือ SMEs กลุ่ม NPLs โดยอาจกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้ SMEs กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อาทิ กำหนดดอกเบี้ยพิเศษ หรือจัดทำเกณฑ์พิจารณาสำหรับ NPLs ที่มีโอกาสรอด เป็นต้น

5.) ออกมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภคร้อยละ 30 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดตามคาดจากโควิดระลอกสาม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย. 2564 พบว่า ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมทั้งการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างในหลายพื้นที่ จนภาครัฐต้องยกระดับมาตรการควบคุม ทำให้ดัชนีปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 80.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 82.3 ในเดือนก่อน โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ค. 2563

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,364 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมิ.ย. 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 59.6% สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 47.4% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 37.2% ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 58.2% และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 43.5%

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 90.8 จากระดับ 91.8 ในเดือนพ.ค. 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด ที่ยังไม่คลี่คลายซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการควบคุม รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดอาจทำได้ยาก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังชะลอตัวลง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องจากการขาดเงินทุนหมุนเวียน

ธอส. ออก 7 มาตรการช่วยลูกค้าเจอผลกระทบโรงงานระเบิด 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด-เพลิงไหม้ โรงงานย่านกิ่งแก้ว สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านอยู่อาศัยหรือผลกระทบด้านรายได้จากเหตุการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว ภายใต้กรอบวงเงินรวมของโครงการ 500 ล้านบาท ผ่าน 7 มาตรการเร่งด่วน โดยผู้ที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการสามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564

สำหรับ 7 มาตรการเร่งด่วน จะพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

1.) สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกัน หรือรายได้จากการประกอบอาชีพได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี

2.) ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ ดอกเบี้ยปีแรก 1% ต่อปี

3.) ลูกหนี้ที่หลักประกันเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด 4 เดือนแรก 

4.) ลูกหนี้ที่มีผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ย 1% ต่อปี

5.) กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี

6.) ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร

และ 7.) ลูกค้าที่หลักประกันได้รับความเสียหาย อาทิ กระจกแตก เกิดรอยร้าวตามตัวอาคาร ให้แจ้งเคลมความเสียหายได้โดยพิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้ตามมูลค่าของความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินทุนประกันอาคาร

ลุ้นพาณิชย์ชงครม.ดันไทยเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference ติดตามกรณีของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ว่า ทางคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะนำเสนอผลการศึกษาข้อสังเกตคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เสนอให้กับที่ประชุมครม.พิจารณาหรือไม่ หลังจากคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเห็นว่าไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพราะจะได้รับประโยชน์ และหากไม่เข้าร่วม จะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ส่วนวาระอื่น ๆ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เกี่ยวกับการขออนุมัติกรอบวงเงินตามมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดควบคุมไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 25 ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และนอกระบบ ในกิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ในระยะเวลา 1 เดือน หลังจากมาตรการนี้ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการแล้ว

ขณะที่ กระทรวงการคลัง เสนอยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนระดับประเทศระหว่างประเทศไทยและธนาคารพัฒนาเอเชีย ฉบับที่ 3 สำหรับปี 2564-2568 ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง เสนอการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 2 และ กระทรวงกลาโหม เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนำสายไฟลงใต้ดินเพื่อส่งเสริมสภาพพื้นที่สำหรับเมืองการบินภาคตะวันออก

พท.บี้ “ประยุทธ์” ลาออกหลังแก้โควิดเหลว จ่อเอาผิดตาม กม.ฐานประเมินเลินเล่อ จงใจปล่อยคนตาย

พรรคเพื่อไทยจัดเสวนา “วิกฤตโควิด-19 : ทางออกก่อนถึงทางตัน” โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และประธานอนุกรรมการนโยบายสาธารณสุข พรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมเสวนา

นายพิชัย กล่าวว่า ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยจะมาถึงจุดที่เละเทะขนาดนี้ได้ จากฝีมือการบริหารของรัฐบาลและผู้นำที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนพล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนจะหมดสภาพแล้ว บอกตรง ๆ ว่าไม่แปลกใจ เชื่อมาตลอดว่าด้วยหลักคิดที่ย่ำแย่ของพล.อ.ประยุทธ์ต้องทำประเทศเละแน่ แต่ไม่คิดว่าจะเละได้มากและเร็วขนาดนี้ ส่วนสภาวะเศรษฐกิจจะยิ่งทรุดหนัก เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้น ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 1.8% โดยที่ธนาคาร CIMB บอกว่าถ้ายังคุมโควิดไม่อยู่ เศรษฐกิจอาจจะขยายตัวได้ไม่ถึง 1% และ ธปท.ยังได้ลดการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจของปีหน้าเหลือเพียง 3.9% ซึ่งอาจจะต่ำกว่าได้อีก ซึ่งเมื่อรวม 2 ปีแล้วก็ยังต่ำกว่าเศรษฐกิจปี 63 ที่ติดลบถึง -6.1% เสียอีก ตอนนี้พลเอกประยุทธ์กลายเป็น โมฆะบุรุษของประชาชนส่วนใหญไปแล้ว จึงอยากเสนอ 7 ทางออกดังนี้

1.) เร่งสั่งซื้อวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์และโมเดอร์นารวมแล้วประมาณ 60 ล้านโดสให้เข้ามาเร็วที่สุด ระงับการซื้อวัคซีนซิโนแวคได้แล้ว เพราะไม่เกิดประโยชน์ และต้องเร่งฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าโดยด่วน

นายพิชัย กล่าวต่อว่า 2.) จัดการให้มั่นใจว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาจะส่งมอบตามจำนวนที่ตกลง พร้อมเปิดสัญญาให้ประชาชนรับรู้ เพราะข้อมูลล่าสุดบอกว่าโรงงานผลิตได้ไม่ครบจำนวนที่คาดหมาย ถ้าจำเป็นก็ต้องห้ามการส่งออกเพื่อใช้วัคซีนเพื่อกระจายฉีดให้ประชาชนในประเทศก่อน

3.) เร่งกระจายการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้เร็วและมากที่สุด กำหนดวันเปิดประเทศที่พร้อมและทำได้จริง ไม่ใช่ขายฝัน เพื่อเอกชนจะได้เตรียมพร้อมและทำการตลาดรองรับได้

4.) จัดวิธีการเยียวยาใหม่ ยกเลิกการแจกเงินสะเปะสะปะแจกหว่าน

5.) เร่งออกซอฟท์โลน 0% ให้ภาคธุรกิจเพื่อสอดคล้องกับการเปิดประเทศ เพื่อภาคธุรกิจจะได้มีเงินทุนฟื้นฟูและดำเนินธุรกิจต่อได้

6.) เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว.อย่าปล่อยให้ประเทศเดินไปสู่ความวุ่นวายและถึงทางตัน เมื่อประชาชนไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์แล้ว แต่ ส.ว.จะพยายามจะดึงดันกัน

7.) พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลต้องออกไปได้แล้ว เพราะล้มเหลวเกินเยียวยา ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับคนในประเทศและต่างประเทศได้แล้ว รัฐบาลที่เคยโม้ว่าเป็นดรีมทีมกลายเป็นรัฐบาลฝันร้ายของประชาชนไปแล้ว นี่เป็นทางออกที่เร่งด่วนและสามารถทำได้จริง ก่อนจะถึงทางตันที่ประเทศจะยิ่งล้มเหลวหนักและเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ความดื้อรั้นและเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเก่งสุดและดีสุด ประเทศถึงได้ย่ำแย่สุดๆจนมาถึงจุดนี้ ถ้าหากมาถึงขั้นนี้แล้วยังคิดไม่ได้ก็แย่แล้ว แสดงว่าไม่ได้เห็นแก่ความยากลำบากของประชาชนเลย 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่บนเหว และทุกคนจะตกลงไปตายหากไม่มีการจัดการสถานการณ์ที่ถูกต้อง โดยสัญญาณที่กำลังบอกว่าเรากำลังจะตกเหว คือ

1.) รัฐบาลชุดนี้ โดย ศบค.ไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ และส่งต่อเชื้อเหล่านี้ไปต่างจังหวัดทั่วประเทศอีก ระบบทางการแพทย์ และทางสาธารณสุขเรากำลังจะล่มสลาย

2.) ระบบทางการแพทย์เราไม่สามารถรับมือไหวแล้ว

3.) เราไม่มีวัคซีนที่ดี ที่มีประสิทธิภาพที่ป้องกันการแพร่เชื้อได้

4.) เราไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ทั้งนี้ ตนขอเสนอ 4 เรื่องให้กับประเทศนี้ คือ

1.) ขอเรียกร้องให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองได้ และต้องพยายามให้สถานบริการตรวจเชื้อได้ได้มากที่สุด

2.) เราต้องสามารถจำกัดคนติดเชื้อได้ ต้องแยกคนติดเชื้อ ออกจากคนไม่ติดเชื้อให้ได้ เราต้องปรับแผน เช่น กักตัวที่บ้านโดยมีทีมคอยดูแล

3.) วัคซีนเฉพาะหน้า เพราะวัคซีนเรามีจำกัด โดยในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ วัคซีนที่ผลิตในประเทศต้องใช้ในประเทศก่อน และคุณต้องกำหนดเป้าหมายฉีดแบบโฟกัสจุด เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง คุณจะหว่านแหไม่ได้เพราะวัคซีนเรามีจำกัด โดยต้องหาวัคซีน mRNA มาฉีดให้คนกลุ่มนี้ด้วย

นอกจากนี้ ศบค.ต้องรีบจัดหาวัคซีนทุกตัวให้เข้ามาเร็วที่สุด ตนเรียกร้องให้ยกเลิกซิโนแวค อาจจะติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์เป็นอารยะขัดขืนเลยว่า ถ้าเป็นซิโนแวคไม่ฉีด ยอมตายจากโควิดดีกว่าที่จะตายจากความอัปยศจากการบริหารงานไม่เป็น ให้รู้ไปเลยว่าคุณฆ่าพี่น้องประชาชนอย่างเลือดเย็น

และ 4.) ล็อกดาวน์หรือไม่ ต้องตรวจทุกคน ไม่จำเป็นต้องปิดสถานที่ แต่ต้องตรวจทุกคน และต้องมีทีมเฝ้าระวังเข้าสอบสวนโรค ดำเนินการกักกันตัวภายใน 24 ชั่วโมง ตนเรียกร้องให้ กทม.ดำเนินการเขตละ 3 ทีม

“ประเด็นสำคัญที่สุด ผอ.ศบค.ต้องออก ถ้าไม่ลาออก เราจะใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการคุณ เหมือนที่อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาฯ เสนอว่าท่านประมาท เลินเล่อ ปล่อยให้เชื้อแพร่กระจาย และจงใจปล่อยให้คนตายอย่างต่อเนื่อง ถ้าคุณไม่ออกด้วยจิตสำนึก หรือโนธรรมของคุณเอง ก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการทางสภาฯ” นพ.ชลน่าน กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญคือรัฐบาลใช้การทหารนำการสาธารณสุข การสาธารณสุข มีแพทย์ทางเลือก มีทางเลือกในการรักษา การทหาร ไม่มีทางเลือก มีแต่รวดเร็ว รุนแรง เปลี่ยนแปลงได้ เลยได้เห็นการออกประกาศตอนตี 1 ใช้ความมั่นคงนำการสาธารณสุข ระวังม็อบมากกว่าระวังโรค ระบบรำวงต้องเลิก ศบค.ชุดเล็กไปชุดใหญ่ แก้ปัญหาไม่ทันโรค ล็อกดาวน์ผิดพลาด เยียวยาล้มเหลว วางแผนวัคซีนผิด ชนิดยอมรับเองเลย ถ้าหาวัคซีนดี ๆ มาฉีดให้ประชาชนตั้งแต่แรกปัญหาคงไม่หนักขนาดนี้ แต่กลับผิดซ้ำซาก ทำตัวเหมือนร้านข้าวราดแกง บังคับทุกคนต้องกินแกงฟักไก่เหมือนกันหมด ทั้งที่มีคนที่พร้อมและอยากกินกุ้งแม่น้ำล็อบสเตอร์ แต่ห้ามสั่งกับข้าวหมดยังไงก็ต้องกินแกงฟักไก่ เป็นผู้ร้ายปากแข็ง ถามยี่ห้อไหนมีหมด กำลังจะเข้ามาหมด จนคนสงสัยว่าเป็นวัคซีนทิพย์ เพราะไม่มีวันเวลาที่ชัดเจน วัคซีนบางยี่ห้ออยู่ดี ๆ ก็หายไลน์ไม่ตอบ สะท้อนวิธีคิดแบบทหาร คือไม่ผ่อนปรน ไม่มีทางเลือก เคยทำอย่างไร ก็ทำแต่อย่างนั้น วันนี้รัฐบาลถึงทางตัน ต้องถอยยาว ไปต่อไม่ได้แล้ว โดยขอเสนอทางถอยดังต่อไปนี้ 

1.) เร่งฉีดวัคซีน mRNA ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าโดยเฉพาะพื้นที่สีแดง

2.) แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการวัคซีน นำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดทุกสายพันธุ์ให้กับประชาชน

3.) เร่งตรวจเชิงรุก โดยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจเชื้อด้วยตัวเอง และเตรียมระบบรองรับการดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน

4.) เร่งเยียวยาประชาชนเดือนละ 5,000 บาท อย่างน้อย 3 เดือน เร่งชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ทั้งการยกเว้น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าสถานที่ ลดหรือหยุดดอกเบี้ยสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ

และ 5.) ยกเลิก ศบค.ไม่ต้องมีทั้ง ศบค.ชุดเล็ก ชุดใหญ่เพราะล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ กลับไปใช้โครงสร้างการทำงานปกติ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้ปัญหาวิกฤตได้รับการแก้ไข ตราบที่ยังคงคิดเหมือนเดิม ทำแบบเดิม สถานการณ์ข้างหน้าจะวิกฤตมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนยากที่จะแก้ไข

น.ส.อรุณี กล่าวว่า ในสถานการณ์แบบนี้ ทางออกที่เราควรพิจารณา คือการใช้อำนาจทางกฎหมายผ่านองค์กรตุลาการ เนื่องจากความผิดพลาดและล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดของรัฐบาล ตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมา และพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผอ.ศบค.ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะอำนาจในการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้กฎหมายจะได้ให้เกราะคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่รัฐตามมาตรา 17 ยกเว้นความผิดทางแพ่งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้า ทางเลือกวัคซีนที่ไม่หลากหลาย และความหละหลวมของรัฐบาลตั้งแต่มีการระบาดมาเกิดขึ้น ตั้งแต่ระลอก 1-3 จนถึงระลอกที่ 4 ที่มีสายพันธุ์อินเดีย ที่แพร่ได้ไวและมีอัตราการติดเชื้อในปอดสูง ยอดคนตายพุ่งสูงตั้งแต่เม.ย.-ก.ค.รวมมากกว่า 2000 คน และมีอาการหนัก 2147 ราย แม้แต่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ปลอดภัย

ทั้งนี้ พรรคพท.เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เรามองว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ประมาท เลินเล่อ ละเว้นและล่าช้าในการบริหารสถานการณ์ในยามวิกฤติแบบนี้ พรรคพท.จะใช้กระบวนการทางกฎหมาย เอาผิดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ งดเว้นหน้าที่ที่พึงต้องกระทำ และจงใจที่จะกระทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชน เราจะศึกษาข้อกฏหมายและทำทุกวิถีทางที่จะปกป้องชีวิตประชาชน และเอาผิดพล.อ.ประยุทธ์ให้ได้ 

น.ส.อรุณี กล่าวอีกว่า เรื่องที่ขอพูดถึงในการหาทางออกจากวิกฤต ถือเป็นมุมมองความห่วงใยในอนาคตของเด็กไทยก่อนจะสายเกินไป จากการประเมินของ กศส.ในเบื้องต้นปี 64 จะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ประมาณ 70,000 คนภายในสิ้นปี เพราะผู้ปกครองตกงาน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพโรงแรม งานบริการ ภาคการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และอีกหลายอาชีพ ครัวเรือนที่ยากจนต้องแบกรับภาระด้านการเรียนสูงกว่า 4 เท่า ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยความยากจนแบบเฉียบพลันตั้งแต่ปี 63 แต่รัฐบาลกลับไม่เคยเตรียมความพร้อมของเด็กไทยเลย ตั้งแต่มีการระบาดตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ปัญหายังคงอยู่ที่เดิม ตนจึงขอเสนอกระทรวงศึกษา

1.) จัดสรรงบประมาณอุดหนุนกับกลุ่มเด็กเปราะบาง ยากจน ในต่างประเทศอย่างรัฐนิวยอร์กมีโครงการให้ยืมไอแพดและระบบซิมการ์ดให้เด็กที่ยากจน เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่พรรคเพื่อไทยในสมัยท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็เคยเสนอและตระหนักเห็นความสำคัญเรื่องนี้มาก่อน

2.) ยกเลิกการสอบวัดผลทุกระดับในสถานการณ์แบบนี้   เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความกดดันและถูกกีดกันจากระบบการศึกษา

3.) ส่งเสริมการเรียนการสอนแบบ Active Learning มากขึ้น กำหนดรูปแบบการเรียนที่เด็กเสนอ Project Base ของตนเองตามความถนัด เพื่อพัฒนา Soft Skill ขอบตนเอง

และ 4.) เน้นเนื้อหาที่จำเป็นในวิชาพื้นฐานที่ควรรู้ แต่เพิ่มเติมเนื้อหาที่จะพัฒนาทักษะด้าน DQ Digital Intelligent ความฉลาดทางด้านดิจิตอล นอกจากทางด้าน IQ และ EQ โดยเด็กสามารถเรียนได้จากฐานข้อมูลที่มี

สศช. รับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วง

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 64 ว่า สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีพีพี ยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย สศช. ประเมินว่าในปี 64 จีดีพีจะขยายตัวระหว่าง 1.5 - 2.5% ประกอบ กับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ทำให้ชั่วโมงการทำงานลดลงต่อเนื่อง และยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย  

ทั้งนี้เห็นได้จากเงินฝากต่อบัญชีหลังการระบาดของโควิด ระลอกแรก (มี.ค. 63) ที่พบว่า บัญชีที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100,000 บาท ลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนรายได้น้อยอาจเจอปัญหาขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ทำให้ในปี 64 ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ซึ่งมีมูลค่าสูงอาจชะลอออกไป ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อชะลอตัวลง  

ส่วน ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ที่ส่งเสริมการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 

“ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลได้ออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินในวงกว้าง แต่จากสถานการณ์การระบาดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้กระทบต่อรายได้ของแรงงาน และส่งผลสืบเนื่องไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของรัฐในการหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาสภาพคล่อง ที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจในระยะต่อไป” 

“บิ๊กตู่” พอใจ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch ให้ Rating ไทยที่ BBB+ อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ สะท้อนภาพความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจากข้อมูลจาก Fitch Ratings (Fitch) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สะท้อนความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ที่ได้รายงานไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาโดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) สะท้อนภาพความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ การจัดอันดับของ Fitch Rating มีตัวชี้วัดจากภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ซึ่งสะท้อนภาพความแข็งแกร่งของการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบและเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง ซึ่งแม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ที่ยังคงมีความเข้มแข็ง และส่งผลต่อการจัดอันดับความเชื่อถือของประเทศไทย โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง เพียงพอสำหรับใช้จ่ายถึง 10.8 เดือน ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Peers) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.3 เดือน นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2564 ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะยังคงเกินดุลที่ร้อยละ 0.5 ต่อ GDP และจะเกินดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนั้น Fitch ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็ง ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ เดือนเมษายน 2564 มีอายุเฉลี่ย (Average Time to Maturity: ATM) ค่อนข้างยาว คือ 9.5 ปี และมีสัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินบาทมากกว่าร้อยละ 98 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (BBB peers) เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส ฮังการี บัลกาเรีย รัสเซีย และคาซัคสถาน เป็นต้น ที่มีค่ากลางของหนี้สกุลท้องถิ่นอยู่ที่ร้อยละ 68.8 นอกจากนั้น สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP ของประเทศไทย  

ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 52.7 ต่อ GDP จากการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และการมีกฎหมายการกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกันที่ร้อยละ 59.4 
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 Fitch เชื่อมั่นว่า น่าจะเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าและการเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ อีกทั้ง คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 เนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวและรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจะทำให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลง 

“รัฐบาลพึงพอใจกับการจัดอันดับ และเสนอมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว และพยายามเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างกว้างขวางให้ครอบคลุม รวมถึงการเปิดจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง (Phuket Sandbox) ไปแล้ว เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และจะเริ่มเปิดพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความพร้อมต่อไป เช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ตามนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรี” นายอนุชา กล่าว

“รัฐบาล” หนุน ก.พาณิชย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ พบ ไทย อันดับ 1เอเซีย-ติดระดับโลก เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย-ละครรักวัยรุ่น ส่งออกทะลุ พันล้าน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวเด่นที่มีศักยภาพส่งออกสูงและเป็นที่นิยมในภูมิภาค ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าขับเคลื่อนสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ครอบคลุม ภาพยนตร์และซีรีส์ออนไลน์ แอนิเมชั่น เกมส์ การ์ตูน และคาแรคเตอร์ เป็นต้น 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ได้กำหนดแผนดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาผู้ประกอบการทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้ การสร้างแรงบันดาลใจ การขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงการขายผลงานและเจรจาผ่านระบบออนไลน์ ที่คาดว่าจะนำไปสู่การซื้อขายผลงานของผู้ประกอบการไทย มูลค่ารวมประมาณ 3.6 พันล้านบาท ตลาดที่มีศัยภาพของผู้ประกอบการไทย คือ ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เนื่องจากมีอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ขนาดใหญ่ทั้งด้านแอนิเมชั่นและคาแรคเตอร์ และมีแนวโน้มที่จะว่าจ้างผู้ประกอบการต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการจ้างผลิตและร่วมกันผลิต

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จัดโครงการส่งเสริมผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย ซึ่งซีรีส์ละครเกี่ยวกับความรักวัยรุ่นเพศเดียวกัน เมื่อ 29 – 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการคอนเทนต์วายของไทยเข้าร่วมจำนวน 10 ราย เกิดการนัดหมายเจรจาธุรกิจรวมกว่า 158 นัดหมาย ทำรายได้ทะลุเป้ากว่า 360 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีหลัง ผลงานของผู้ประกอบการไทย ได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาตินอเมริกา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 พันล้านบาท ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ซีรีวายระดับโลกและเป็นอันดับหนึ่งในเอเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328 เปอร์เซ็นต์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า อุตสาหกรรมเกมส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ด้วยว่า กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามการพัฒนาของเทคโนโลยี และประเทศไทยไทยถือเป็นที่หนึ่งในอาเซียน มีโอกาสขยายสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) รายงานว่า ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเกมในประเทศ ขยายตัวสูงขึ้น14-15 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 29,000 ล้านบาท เนื่องจากวิกฤติโควิด คนอยู่บ้านมากขึ้น เกมเข้ามาช่วยแก้เหงาและคลายเครียด โดยสำนักงานฯ ได้เดินหน้าและจับมือกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมส์ไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพนักพัฒนาเกมส์ไทย และขับเคลื่อนงานภายใต้แผนการส่งเสริมระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเกมไทย ปี2564- 2565 อาทิ จัดตั้งบริษัทเอเย่นต์ส่งออกเกมส์ไทยไปต่างประเทศ สร้างศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพเกมส์ใน “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” ที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)

“อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกมาก รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการไทยมีพื้นที่ในตลาดระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมือภาครัฐและเอกชน สร้างกลไกส่งเสริมและการพัฒนาบุคลากร เพื่อผู้ประกอบการมีศักยภาพทั้งการผลิตและการเข้าถึงตลาดมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ ผู้ประกอบการไทยควรตระหนักว่าตนเองมีศักยภาพสามารถไปไกลถึงตลาดระดับโลกได้ เพราะขณะนี้ก็มีศักยภาพสูงเป็นผู้นำในอาเซียนและระดับต้นของภูมิภาค การเจาะตลาดสากลจึงเป็นสิ่งที่ไม่เกินความสามารถของคนไทยอย่างแน่นอน” น.ส.รัชดา กล่าว

รัฐบาลดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ครอบคลุม ภาพยนตร์/ซี่รี่ออนไลน์ แอนิเมชั่น เกม การ์ตูน และคาแรคเตอร์ โดยกำหนดแผนดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาผู้ประกอบการทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้ การสร้างแรงบันดาลใจ การขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงการขายผลงานและเจรจาผ่านระบบออนไลน์ 

ทั้งนี้คาดว่าจะนำไปสู่การซื้อขายผลงานของผู้ประกอบการไทย มูลค่ารวมประมาณ 3,600 ล้านบาท ตลาดที่มีศัยภาพของผู้ประกอบการไทย คือ ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เนื่องจากมีอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ขนาดใหญ่ทั้งด้านแอนิเมชั่นและคาแรคเตอร์ และมีแนวโน้มที่จะว่าจ้างผู้ประกอบการต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการจ้างผลิตและร่วมกันผลิต

สำหรับในช่วง 2 ปีหลัง ผลงานของผู้ประกอบการไทย ได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ทั้ง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาตินอเมริกา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 พันล้านบาท ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ซีรีวายระดับโลกและเป็นอันดับหนึ่งในเอเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328% ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

น.ส.รัชดา กล่าวถึงอุตสาหกรรมเกมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ด้วยว่า กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามการพัฒนาของเทคโนโลยี และประเทศไทยไทยถือเป็นที่หนึ่งในอาเซียน มีโอกาสขยายสู่ตลาดโลก โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) รายงานว่า ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเกมในประเทศ ขยายตัวสูงขึ้น14-15% คิดเป็นมูลค่า 29,000 ล้านบาท 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจ หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 90.5% ต่อ จีดีพี สูงสุดรอบ 18 ปี

ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 1/2564 สะท้อนสถานการณ์หนี้สินของประชาชนที่ยังคงมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปีตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563 

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อม ๆ ตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีรายได้ลดลงจนมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้ และสำหรับแนวโน้มในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับทบทวนตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพี (กรอบเดิมคาดที่ 89-91% ต่อจีดีพี)

2 มิ.ย. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานผลการศึกษาเรื่องหนี้ครัวเรือนของไทย พบว่า ปัญหา หนี้สินในภาคครัวเรือนของไทยยังคงมีทิศทางขาขึ้นสวนทางภาพความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ยังคงถูกกดดันจากผลกระทบของวิกฤตโควิด 19 โดยหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาสที่ 1/2564 อยู่ที่ระดับ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อจีดีพี (สูงสุดในรอบ 18 ปี) ขยับขึ้นจาก 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563 ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Quarter on Quarter: QoQ) หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/2564 มียอดคงค้างเพิ่มขึ้นประมาณ 88,138 ล้านบาท โดยหลัก ๆ เป็นผลมาจากการเร่งขึ้นของหนี้รายย่อย 3 กลุ่ม ได้แก่ หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวัน 

1.) หนี้บ้าน (ยอดคงค้างหนี้บ้านเพิ่ม 5.53 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อน) ซึ่งสอดคล้องกับแคมเปญกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบราคาประมาณ 1-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งผู้กู้หรือครัวเรือนยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ รายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (ไม่ถูกกระทบมากนักจากสถานการณ์โควิด) ซึ่งทำให้ยังคงมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้

2.) หนี้เพื่อประกอบอาชีพ (ยอดคงค้างหนี้ประกอบอาชีพเพิ่ม 4.01 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อน) โดยผู้กู้หรือครัวเรือนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อหนุนสภาพคล่อง และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการประคับประคองกิจการในช่วงที่โควิด-19 ยืดเยื้อ ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องต่อรายได้และยอดขาย

3.) หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไป (ยอดคงค้างหนี้อุปโภคบริโภคทั่วไป เพิ่ม 3.35 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อน) ซึ่งเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ฝืดเคือง รายได้ไม่สมดุลกับภาระค่าใช้จ่าย จนทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในชีวิตประวัน
 
อย่างไรก็ดี วิกฤตโควิด-19 ระลอกสามของไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นไตรมาส 2/2564 มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของประชาชนหลายกลุ่ม โดยผู้กู้รายย่อยมีรายได้ที่ฝืดเคือง และประเมินว่า ตนเองจะมีปัญหาความสามารถในการชำระคืนหนี้มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการเปรียบเทียบผลสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจัดทำขึ้นในเดือนมี.ค. 2564 และเดือนมิ.ย. 2564 ที่เป็นช่วงก่อน-หลังโควิดรอบสาม) พบว่า สถานการณ์รายได้และหนี้สินของประชาชนรายย่อยถดถอยลงมากจากผลของโควิด 19 ระลอกที่สาม โดยในผลสำรวจเดือนมิ.ย. 2564 (หลังโควิดรอบสาม) ผู้ตอบแบบสอบถามที่ “มีรายได้ไม่ปกติ” มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 59.6% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด สูงกว่าสัดส่วน 56.2% ในผลสำรวจเดือนมี.ค. 2564 (ก่อนโควิดรอบสาม) และโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามในรอบเดือนมิ.ย. 2564 มี “จำนวนบัญชีสินเชื่อ” และ “สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR” เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจฯ เดือนมี.ค. 2564 โดย DSR จากผลสำรวจฯ เดือนมิ.ย. 2564 ขยับขึ้นมาที่ 46.9% เทียบกับ DSR ที่ 42.8% จากผลสำรวจฯ เดือนมี.ค. 2564  

โดยหากพิจารณาเฉพาะในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความเปราะบางทางการเงิน ซึ่งเป็นประชาชน-ครัวเรือนที่กำลังเผชิญแรงกดดัน 3 ด้านพร้อมกัน ทั้ง “ปัญหารายได้ลด-ค่าใช้จ่ายไม่ลด-DSR สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ต่อเดือน” จะพบว่า สัดส่วนของกลุ่มเปราะบางในผลสำรวจเดือนมิ.ย. 2564 ขยับขึ้นมาที่ 22.1% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เทียบกับสัดส่วนประมาณ 10.8% ในผลสำรวจเดือนมี.ค. 2564 ภาพสะท้อนดังกล่าวตอกย้ำปัญหาหนี้สินของประชาชนที่มีสัญญาณน่ากังวลมากขึ้นในระดับครัวเรือน 

สำหรับมุมมองต่อสถานการณ์หนี้สินของตัวเองนั้น ผลสำรวจฯ พบว่า ลูกหนี้ห่วงปัญหาหนี้สินของตัวเองมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามในเดือนมิ.ย. ส่วนใหญ่ราว 79.5% ประเมินว่า ปัญหาหนี้ของตัวเองยังไม่น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยสัดส่วนของผู้ที่ “มองว่าปัญหาหนี้จะแย่ลง” เพิ่มขึ้นมาที่ 26.6% ของผู้ตอบแบบสำรวจในรอบมิ.ย. เทียบกับสัดส่วนเพียง 7.8% ในรอบมี.ค. ซึ่งโควิดระลอกสามมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของครัวเรือนหลายส่วนให้อ่อนแอและเปราะบางมากขึ้น และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีภาระหนี้อยู่ในปัจจุบันสนใจที่จะสมัครเข้ามาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินมากขึ้น โดยผู้ที่สนใจมีสัดส่วนประมาณ 62.8% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ขณะที่ภาพสะท้อนจากมุมของประชาชน-ครัวเรือน บ่งชี้ว่า สินเชื่อที่ต้องการรับความช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต+สินเชื่อส่วนบุคคล (45.3%) สินเชื่อเช่าซื้อ (25.3%) และสินเชื่อบ้าน (14.3%) ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 วิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มีผลกระทบทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ขณะที่ประชาชน-ครัวเรือนหลายส่วนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสถานะรายได้จากการทำงานของตัวเอง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนจากการค้นหาช่องทางเพื่อหารายได้เสริมใน Google Trends ที่กลับมาปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่โควิดระบาดรอบสาม ซึ่งเป็นภาพที่คล้ายกับการระบาดของโควิดในรอบแรก สำหรับข้อมูลลูกหนี้รายย่อยที่เข้ารับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์นั้น ขยับขึ้นมาที่ 1.69 ล้านบัญชีในเดือนเม.ย. 2564 (จาก 1.68 ล้านบัญชีในเดือนมี.ค.) คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 12.4% ของลูกหนี้รายย่อย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบที่หนักและชัดเจนมากขึ้นของโควิดรอบสาม อาจทำให้จำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยเข้ามาตรการช่วยเหลือฯ มีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนมิ.ย. ถึงต้นไตรมาส 3/2564 นี้

ดังนั้น ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในปี 2564 น่าจะเติบโตในระดับที่สูงกว่า หรือใกล้เคียงกับอัตรา 4.1%  ในปี 2563 ตอกย้ำภาพหนี้สินครัวเรือนที่โตกว่าทิศทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับทบทวนสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2564 ขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 90-92% ต่อจีดีพี (กรอบคาดการณ์เดิมที่ 89-91% ต่อจีดีพี) 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนโตสวนทิศทางเศรษฐกิจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดีศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ไม่มีปัญหาโควิด-19 หนี้ครัวเรือนก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างลำดับต้นๆ ของไทยที่รอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแนวทางแก้ไข ซึ่งสำหรับในปีนี้ น่าจะเห็นการเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPLs และ/หรือทบทวนเพดานดอกเบี้ยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย (เพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด) ตลอดจนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมไปถึงการวางแนวทางในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สินของภาคครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ และดูแลให้การก่อหนี้ของภาคประชาชน สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองมากขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top