Wednesday, 2 July 2025
ECONBIZ NEWS

รฟม.ดันรถไฟฟ้าสีม่วงใต้-สีส้มสุวินทวงศ์

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูนราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ว่า หลังจาก รฟม.ได้เปิดขาย ซองเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ตั้งแต่ 5 ก.ค.-7 ต.ค.2564 ปัจจุบันมีเอกชนสนใจซื้อเอกสาร 8 ราย แบ่งเป็นเอกชนไทย 6 ราย และต่างชาติ 2 ราย โดยขั้นตอนต่อจากนี่ รฟม.กำหนดให้เอกชนยื่น ข้อเสนอได้ในวันที่ 8 ต.ค.2564 โดย รฟม.จะใช้เวลาพิจารณาถึงปลายเดือน ธ.ค.2564 และคาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้าง งานโยธาทั้ง 6 สัญญา ภายในเดือนม.ค.2565  

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.ได้ยกเลิก ประกวดราคา และอยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคาครั้งใหม่ ขณะนี้ รฟม. ได้เปิดรับฟังความเห็นเอกชนไปแล้ว แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ ไม่สามารถจัดประชุมคณะกรรมการ ตามมาตรา 36 เพื่อพิจารณาร่างทีโออาร์ใหม่ได้ เพราะการประชุมด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่บังคับใช้กับกรณีโครงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน แต่ล่าสุด รฟม.ได้มีหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อบรรจุสายสีส้มเข้าข้อตกลงคุณธรรม และกำลังรอหนังสือตอบกลับ เพื่อนำตัวแทนเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ จากนั้น จะประชุมคณะกรรมการ ม.36 และพิจารณาทีโออาร์ครั้งใหม่ 

นายภคพงศ์ กล่าวว่า จากการประเมินกรอบ การดำเนินงาน คาดว่าเมื่อสามารถ เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมได้แล้ว จะมี การจัดประชุมคณะกรรมการ ม.36 พิจารณาร่างทีโออาร์ฉบับใหม่ใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน และออกประกาศเชิญชวนเอกชน โดยเบื้องต้นจะเชิญชวนเอกชนภายใน ต.ค.นี้ และให้เวลาเอกชนทำข้อเสนอ 60 วัน คาดว่าปลายไตรมาส 1 ปีหน้า ประมาณเดือนมี.ค.-เม.ย.2565 จะได้เอกชน ร่วมลงทุนในโครงการ

จับตา คลังเตรียมเสนอ ครม. ยืดเก็บ VAT 7% ต่ออีก 2 ปี          

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ขยายเวลามาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 7% ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2564 ออกไปอีก 1-2 ปี เพื่อเบาเทาความเดือดร้อนประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19"สถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดโควิด-19 ตอนนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการขึ้นภาษี VAT ดังนั้นกรมสรรพากรจึงเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาการเก็บภาษี VAT 7% ออกไป 1 หรือ 2 ปี โดยการที่เสนอทางเลือกให้ขยายนานถึง 2 ปีด้วยนั้น เพราะเห็นว่าโควิด-19 ยังกระทบกับเศรษฐกิจอีก 1-2 ปี ถึงจะเริ่มฟื้นตัวได้ และที่ผ่านมาการเสนอคง VAT ก็จะมีทั้ง 1 ปี และขอขยายทีเดียว 2 ปีเลย หากเห็นว่าเศรษฐกิจมีปัญหามาก เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีความมั่นใจและวางแผนธุรกิจในระยาวได้" แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การคงเก็บภาษี VAT ที่ 7% จะไม่กระทบกับการเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 เนื่องจากการทำงบประมาณในส่วนของการประมาณการเก็บรายได้มีการประเมินไว้แล้วว่าจะไม่มีการเพิ่มภาษี VATอยู่แล้ว โดยการขึ้นภาษี VATทุก 1% จะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่านายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง จะนำข้อเสนอเรื่องการขยายเวลามาตรการลดการจัดเก็บภาษี VAT จาก 10% เหลือ 7% ออกไปอีก 1 ปี หรือ 2 ปี ให้ ครม. พิจารณาภายในเดือนนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้วางแผนในการลงทุนและเกิดความมั่นใจเศรษฐกิจมากขึ้น

"การคงภาษี VAT 7% ไม่ได้ขึ้นเป็น 10% ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง แต่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า เพราะในวิกฤตโควิด-19ที่เศรษฐกิจขยายตัวลดลงมาก ประชาชนและผู้ประกอบการมีรายได้ลดลง แต่รายจ่ายยังเท่าเดิม การขึ้น VATตอนนี้จะเป็นการซ้ำเติมให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีภาระมากขึ้น จนทำให้มีปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวลดลงเพิ่มมากขึ้นไปอีก" แหล่งข่าว ระบุ

กระทรวงแรงงาน ออกระเบียบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฉบับใหม่ อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างใช้สิทธิรับเงินสงเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้น

กระทรวงแรงงานเผยราชกิจจานุเบกษาประกาศเผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.2564 เป็นต้นไป อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างใช้สิทธิรับเงินสงเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้น

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งส่งผลกระทบต่อลูกจ้างที่ได้รับ ความเดือดร้อนจากการเลิกจ้าง และอาจไม่ได้รับการชดเชยตามกฎหมาย กรณีที่ลูกจ้างได้ยื่นเรื่องขอใช้สิทธิรับเงินช่วยเหลือจากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งติดระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว กระทรวงแรงงานจึงได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณาคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศระเบียบดังกล่าวแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป การแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างครั้งนี้ประเด็นสำคัญคือให้ลูกจ้างได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าถึงสิทธิการขอรับเงินสงเคราะห์อย่างทั่วถึง

นางโสภา เกียรตินิรชา โฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฉบับใหม่นี้ มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ กรณีนายจ้างนำคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานจะต้องรอคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดลูกจ้างจึงมีสิทธิขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งได้แก้ไขระเบียบดังกล่าวเป็นลูกจ้างสามารถยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ โดยไม่ต้องรอคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด หรือนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปโดยพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว แม้คำสั่งนั้นไม่เป็นที่สุด และขยายระยะเวลาการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ เดิมลูกจ้างต้องยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด แก้ไขระเบียบเป็น ลูกจ้างสามารถยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด นอกจากนี้การรักษาสิทธิในการยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ เดิมลูกจ้างจะต้องมารับเงินสงเคราะห์ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ทราบผลการพิจารณาจ่ายเงินสงเคราะห์ หากไม่มารับเงินภายใน 60 วัน สิทธิการรับเงินสงเคราะห์นั้นเป็นอันระงับ แก้ไขระเบียบดังกล่าวเป็นกรณีลูกจ้างไม่สามารถมารับเงินภายใน 60 วัน ลูกจ้างสามารถยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ใหม่ได้ภายใน 1 ปี หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1546 หรือ 1506 กด 

บอร์ดพืชน้ำมัน เคาะแผนบริหารการนำเข้ามะพร้าวปีนี้

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการบริหารการนำเข้ามะพร้าวผล ตามกรอบความตกลง AFTA ปี 2564 ช่วงที่ 2 (เดือนก.ย. – ธ.ค. 2564) โดยใช้ผลการรับซื้อผลผลิตมะพร้าวในประเทศของผู้ประกอบการฯ ตั้งแต่วันที่  1 ม.ค. - 6 ส.ค. 2564 มาพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้มีสิทธินำเข้าในอัตรา 1 : 2.5 (นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2.5 ส่วน) จำนวน 15 ราย รวมปริมาณจัดสรรนำเข้า 78,477 ตัน  

นอกจากนี้ เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ได้มีมติเห็นชอบการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ  ภายใต้ความตกลง WTO ปี 2564 โดยใช้หลักการคำนวณที่ปริมาณสินค้ามะพร้าว 311,235 ตัน ซึ่งคำนวณจากข้อมูลปริมาณการนำเข้ามะพร้าว ย้อนหลังเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2561 – 2563) โดยหากมะพร้าวที่นำเข้ามาในประเทศไทยรวมกันเกินกว่าปริมาณ 311,235 ตัน ทางกรมศุลกากรจะจัดเก็บอากรในอัตราที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ สศก. คาดการณ์ ว่า ปี 2564 จะมีผลผลิตมะพร้าว 0.876 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 1.269 ล้านตัน และคาดว่าในปีนี้ จะมีการนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์รวม 0.418 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคามะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรขายได้ในเดือนสิงหาคม 2564 เฉลี่ยผลละ 8.19 บาท ลดลงจาก 11.91 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือลดลง 31.23%

การบินไทย เปิดตารางบิน ส.ค. – ต.ค.นี้ ทั้งในและต่างประเทศ

นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศ ระหว่างเดือนส.ค. – ต.ค. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการการเดินทาง รวมทั้งปรับตารางบินให้เป็นไปตามกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในเส้นทางในประเทศ ประกอบด้วย เส้นทาง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ได้แก่ เที่ยวบินที่ ทีจี 922 ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสบดี และเที่ยวบินที่ ทีจี 916 ออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์ โดยเริ่มทำการบิน ตั้งแต่ เดือนก.ย.-ต.ค.2564 

ส่วนเส้นทางสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ คือ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-แฟรงก์เฟิร์ต ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสบดี, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-ลอนดอน ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์, เส้นทาง กรุงเทพฯ-ปารีส-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออก จากกรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสบดี และเส้นทาง กรุงเทพฯ-ซูริก-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์

ขณะที่ เส้นทางยุโรปและออสเตรเลีย คือ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ลอนดอน ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ และอาทิตย์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-แฟรงก์เฟิร์ต ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน  โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันเสาร์ และอาทิตย์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โคเปนเฮเกน ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร และเสาร์ (หมายเหตุ : เดือนกันยายนทำการบินเฉพาะวันเสาร์), เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ซิดนีย์ ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ และอาทิตย์

รวมถึงเส้นทางเอเชีย คือ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ โดยให้บริการในเดือนต.ค. 2564, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โอซากา ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกพฤหัสบดี และเสาร์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) ทำการบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร พฤหัสบดีและเสาร์

เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (ฮาเนดะ) ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันอังคาร และเสาร์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นาโกยา ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสบดี และอาทิตย์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โซล ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสบดี และอาทิตย์, เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ไทเป ทำการบินสัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ และศุกร์ และเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-จาการ์ตา ทำการบินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน โดยออกจากกรุงเทพฯ ทุกวันพุธ

ว่างงานยังน่าห่วงไตรมาสที่ 2 พุ่งเกือบ 2%

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยอัตราการว่างงานของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 64 ว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง โดยการว่างงานยังอยู่ที่ระดับ 1.9% ใกล้เคียงกับ 2% ในไตรมาสก่อน แต่ยังคงอยู่สูงกว่า 1% ในปี 62 ช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อพิจารณาในรายสาขาการผลิตพบว่าสาขาท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งสาขาด้านการผลิตสื่อและกิจกรรมบันเทิงอื่น ๆ ยังได้รับผลกระทบรุนแรง และมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในช่วงนี้ที่กำลังเกิดวิกฤตจากการบาดของไวรัสโควิดอย่างหนัก  

สำหรับสาขาที่มีการว่างงานสูงสุด พบว่า สาขาตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยว มีอัตราการว่างงาน 23.8% สาขาการขนส่งทางอากาศ 21.2% สาขาที่พักแรม 10.6% สาขาการผลิตภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ การบันทึกเสียงลงบนสื่อและการจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ดนตรี 5.3% สาขาการจัดผังรายการและการแพร่ภาพกระจายเสียง 4.8% สาขากิจกรรมด้านการกีฬา ความบันเทิง และการนันทนาการ 3.6% สาขากิจกรรมไปรษณีย์และการรับส่งพัสดุภัณฑ์ 3.1% และสาขากิจกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะและความบันเทิง 2.8%  

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกตามสาขาอาชีพ จากข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 63 ทุกอาชีพมีอัตราการว่างงานสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดีในปี 64 ยังมีอัตราการว่างงานในบางสาขาอาชีพลดลงจากปีก่อน ทั้ง พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด ผู้ปฏิบัติการเครื่องจักรโรงงานและเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้าน การประกอบ ขณะที่ในบางสาขาอาชีพอัตราการว่างงานยังคงเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ช่างเทคนิคสาขาต่าง ๆ และผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเสมียน  

ไชโย! “จุรินทร์” เคาะจ่ายชดเชยฝายหัวนา 350 ราย 34.66 ล้านบาท หลังรอมา 20 ปี

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้เวลา 14.30  น. มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ Zoom ณ ห้อง 201 สภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาครั้งที่ 2 / 2564 ซึ่งฝ่ายเลขาคือสำนักกฎหมายและที่ดินกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าขนย้าย กรณีที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770-1-59 ไร่ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน


 โดยมติที่ประชุม เห็นชอบรายชื่อราษฎรผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเขตการก่อสร้างที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนค่าขนย้าย (ที่ดิน) ตามหลักเกณฑ์แห่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการฯ ทั้งสองคณะ จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770-1-59 ไร่ เป็นเงิน 34.66 ล้านบาท โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

"และรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ยังได้กำชับให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ทั้งนี้ไม่ให้เป็นปัญหายืดเยื้อและให้อำนวยความสะดวกให้กับราษฎรอย่างเต็มที่เนื่องจากที่ผ่านมาใช้เวลาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้นานมากแต่สำเร็จในยุคนี้ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์แก่ราษฎร " รองโฆษกรัฐบาล  กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ใช้เวลาพอสมควรเนื่องจากนายจุรินทร์ต้องการเร่งรัดแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งยืดเยื้อมานานสำหรับการประชุมครั้งนี้นอกจากตัวแทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องแล้วยังมีผู้แทนกลุ่มราษฎรในพื้นที่ทุกฝ่ายเข้าร่วมด้วย เช่น ตัวแทนสมัชชาคนจนตัวแทนราษฎรตำบลโนนสัง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยืดเยื้อมา 20 ปีเพราะการพิสูจน์สิทธิและการแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่มีผู้แทนหลายกลุ่ม แต่ยุติได้ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาชุดนี้เพราะมีนายจุรินทร์ เป็นประธาน เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ใช้ข้อมูลประสบการณ์การแก้ไขปัญหาเกษตรกรควบคุมการประชุมให้ความขัดแย้งในตัวแทนชาวบ้านยุติและเกิดความยุติธรรม ซึ่งหลังจากนี้ไปจะมีการนำเข้าอนุมัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและจ่ายเงินให้เกษตรกรตามสิทธิเป็นลำดับถัดไป

เดินหน้า "5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย" ฝ่าวิกฤติโควิด กระทรวงเกษตรฯ ผนึกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์คิกออฟสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส.ครั้งแรกในไทย “อลงกรณ์”เล็งเป้าตลาดแสนล้านปั้นไทยฮับอาเซียน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางและแผนดำเนินการขับเคลื่อน”สภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส.แห่งประเทศไทย”วันนี้ว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมากโดยมีมูลค่ากว่า1แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า3ล้านล้านบาท มีอัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ ส่วนตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทยมีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท ยังขยายตัวได้อีกมากด้วยนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ๆ

คาดว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องสุขภาพจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ทวีมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ รวมทั้งเป็นสินค้าเกษตรแห่งอนาคต(Future Food)ที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกได้อย่างมากจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การแปรรูป การบริโภค การค้าสินค้า และ การบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและได้จัดให้มี "ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564" โดยมีคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติและคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกระดับนโยบายและมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนภายใต้3คณะทำงานได้แก่คณะกรรมการด้านเกษตรอินทรีย์ คณะทำงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสานและคณะทำงานด้านวนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ


ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดงบประมาณปี 2564จำนวน 1.9 พันล้านบาทสนับสนุนโครงการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆรวมทั้งสิ้น 209 โครงการเช่นโครงการข้าวอินทรีย์ ที่ขยายพื้นที่ได้ปีละประมาณ 3 แสนไร่ 

สำหรับปี2563ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานได้เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการปี 2564-2565เดินหน้าจัดทำร่าง พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืนพร้อมกับอนุมัติให้มีการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติรวมทั้งการจัดทำโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Urban Farming)และโครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank) เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติโควิด19ได้มอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)จัดทำหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม(PGS)พร้อมกับจัดตั้ง”สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.(PGS)แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก

วันนี้จึงถือเป็นวันดีเดย์ก้าวแรกของสภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส. ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรเกษตรอินทรีย์หลักๆเช่น มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิ เกษตรกรรมยั่งยืน สมําพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่ง ประเทศไทย  ยังมีกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส ในเครือข่ายอื่นๆ อีกเป็นจํานวนมากที่พร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส และแผนดําเนินงานขับเคลื่อนระบบ พี จี เอสของประเทศให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
(1) เพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์
(2) เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์
(3) เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
(4) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาค

การจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องบริหารเชิงกลยุทธ์แบบSand Box Modelให้เกิดความคล่องตัวเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นทั้งนี้จะต้องพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์โดยเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC)อย่างใกล้ชิดด้านการวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการอบรมบ่มเพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบออนไลน์และออฟไลน์เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเชื่อมโยงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผลผลิตทั้งพืชและสัตว์กับโครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมเกษตรอุตสาหกรรม ประการสำคัญคือจะต้องมีรวมศูนย์ข้อมูลกลางของเกษตรอินทรีย์ซึ่งสามารถใช้ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(National Agriculture Big Data Center:NABC)ได้ทันทีและควรยึดหลัก”Zero Kilometer”คือ”ผลิตที่ไหนขายที่นั่น”จะได้ผลิตตามความต้องการของตลาดที่ใกล้ตัวที่สุดจากในชุมชนสู่ภายในจังหวัดในระดับภาคระดับประเทศและต่างประเทศตาม5ยุทธศาสตร์ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แก่ตลาดนำการผลิต,เทคโนโลยีเกษตร4.0,3S(safety-security-sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน,ศาสตร์พระราชาและบูรณาการเชิงรุกทุกภาคส่วน
เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4ประการ
(1) เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่ ภายในปี 2564
(2) เพิ่มจำนวนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ภายในปี 2564
(3) เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออกโดยให้มีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 40 ต่อตลาดส่งออกร้อยละ 60
(4) ยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น

“สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส.ต้องบูรณาการ360องศา เปิดกว้างสร้างพันธมิตรทำงานเชิงโครงสร้างและระบบ วันนี้เป็นวันแรกเป็นช่วงของการจัดตั้งและเดินหน้า(Setup Startup)ต่อด้วยการเชื่อมโยงต่อยอดให้สำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ สภาเกษตรอินทรีย์เปรียบเสมือนคานงัดที่จะสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่ออนาคตของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยของเรา”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

การประชุมสัมนาเชิงปฏิบัติครั้งนี้มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษมอบนโยบายโดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวรายงาน  ผ่านระบบ zoom cloud meeting โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมกว่า300คนรวมทั้งนายสำราญ สารบรรณ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรและอดีตอธิบดีกรมการข้าว นางจินตนา อินทรมงคล ผู้แทนมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย นายอนันตโชค ศักดิ์สวัสดิ์ ผู้แทนสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส นายอนุรักษ์ เรืองรอบ ตัวแทนสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย นายชฤทธิพร เม้งเกร็ด ผู้แทนสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย  นายสมนึก ยอดดำเนิน จากบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด และผู้แทนเกษตรกร และผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านเกษตรอินทรีย์ 

กระทรวงอุตสาหกรรม วอนโรงงานตรวจเข้มมาตรการป้องกันโควิด ด้วย “Bubble and Seal” และเข้าประเมินตนเองออนไลน์ TSC ด้านผลวิเคราะห์ชี้!! ประเมินแล้ว​ ช่วยลดการระบาดโควิด ได้ 4.5 เท่า

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมหารือร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานที่ยังคงพบ ผู้ติดเชื้อโควิดต่อเนื่อง เพื่อให้การผลิตของภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งต่อการพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ  จากการส่งออก การบริโภค การจ้างงานและธุรกิจ ที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศ โดยจะดำเนินการร่วมกันดังนี้

1.) ปรับมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation ภายในสถานประกอบการ ให้เหมาะสมกับโรงงานทุกขนาด พร้อมกับการสื่อสารให้กับแรงงานและชุมชนเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่หยุดประกอบกิจการ

2.) สร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำการทำ Bubble and Seal ในรูปแบบ Coaching คือคอยให้คำแนะนำแนวทางและให้ความช่วยเหลือ ทั้งรูปแบบ Online และ Offline เพื่อให้โรงงานทุกขนาดสามารถดำเนินมาตรการได้ พร้อมกันทั่วประเทศ

3.) ปรับเกณฑ์ Good Factory Practice : GFP เพื่อปิดช่องว่างที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด โดยเสนอเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) และเข้มงวดการตรวจกำกับหอพัก การรถรับส่งแรงงาน รวมทั้งการเว้นระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน

4.) เร่งขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าประเมินตนเอง Online ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน (Onsite) เพื่อแนะนำการใช้มาตรการต่าง ๆ ในเชิงรุก อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากฐานข้อมูลที่ได้รับจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรงงานที่เข้าประเมิน TSC แล้ว  มีแนวโน้มการติดเชื้อโควิดน้อยกว่าโรงงานที่ไม่ได้เข้าประเมินถึง 4.5 เท่า ดังนั้นจึงขอเชิญชวนโรงงานทุกขนาด ได้เข้าประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงาน

ด้านนายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ CMC : Crisis Management Center กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 17 สิงหาคม 2564 พบการระบาดของโรงงานทั้งสิ้น 749 แห่ง มีผู้ติดเชื้อจำนวน 53,135 คน ครอบคลุมพื้นที่ 62 จังหวัด สำหรับ 5 อันดับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี 4,597 คน ฉะเชิงเทรา 3,648 คน สระบุรี 3,647 คน  สมุทรสาคร 3,571 คน และเพชรบูรณ์ 3,487 คน

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร 136 โรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 103 โรงงาน อุตสาหกรรมโลหะ 65 โรงงาน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 64 โรงงาน และอุตสาหกรรมพลาสติก 57 โรงงาน

“แม้ว่าภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันพบมีผู้ติดเชื้อใหม่ในโรงงานเพิ่มวันละประมาณ 13 แห่ง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละกว่า 800 คน หรือประมาณ 4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของประเทศ โดยแนวโน้มการระบาดในช่วงนี้จะไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ แต่จะกระจายตัวไปในหลายโรงงาน หลายจังหวัดและพบผู้ติดเชื้อเป็นหลักสิบ

ขณะที่ผู้ติดเชื้อในช่วงเมษายน - 17 สิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้หายป่วยและกลับมาทำงานได้แล้วจำนวนมาก เช่น ใน 10 ลำดับโรงงานที่พบการระบาดของเชื้อโควิดมากที่สุด มีผู้ติดเชื้อรวมจำนวน 16,798 คน พบแรงงานหายป่วยแล้ว 12,954 คน หรือคิดเป็น 77% ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ติดเชื้อในโรงงานจะใช้เวลารักษาตัว 14-28 วัน ก็จะกลับมาทำงานได้ เนื่องจากอยู่ในวัยหนุ่มสาว สุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีบางส่วนได้รับการฉีดวัคซีนด้วยแล้ว

สำหรับข้อมูลโดยละเอียดกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการรายงานฯ ให้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ครอบคลุมทุกมิติ และพร้อมเชื่อมต่อข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ในข้อมูลร่วมกัน”

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีโรงงานเข้าประเมินออนไลน์ใน TSC แล้วจำนวน 20,032 แห่ง คิดเป็น 31% จากโรงงานทุกขนาด 64,038 แห่ง โดยรวมพบโรงงานผ่านเกณฑ์ จำนวน 13,235 แห่ง หรือคิดเป็น 66% และไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 6,797 แห่ง หรือคิดเป็น 34% ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับเมื่อเข้าประเมินตนเองในแฟลตฟอร์ม TSC คือ เราจะทราบทันทีว่า สิ่งที่โรงงานดำเนินการอยู่ ผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ กรณีไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนใด ซึ่งการดำเนินการยกระดับให้ผ่านเกณฑ์ TSC ควบคู่ไปกับการทำ Bubble and Seal จะเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายเดชาฯ กล่าว


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

พาณิชย์ยันยอดส่งออกผลไม้ไทยยังโตสูง 

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้การส่งออกผลไม้สดของไทยไปยังประเทศจีนในครึ่งปีแรก (ม.ค. -มิ.ย. 2564) มีมูลค่าสูงถึง 74,539.44 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 64.89%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยผลไม้สดที่มีอัตราขยายตัวสูงได้แก่ สับปะรด 90.94% ทุเรียน 83.56% และ ลำไย 70.71% ซึ่งประเทศจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงของไทย

ทั้งนี้แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำให้จีนได้มีมาตรการที่เข้มข้นในเรื่องความปลอดภัยด้านโควิดที่อาจปนเปื้อนมากับสินค้ามากขึ้น แต่ล่าสุดกรมฯ ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ในจีนได้เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นได้ภาพลักษณ์สินค้าอาหารของไทยว่าปลอดการปนเปื้อนจากเชื่อโวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเข้าใจด้านอาหารปลอดภัยของไทย โดยผลไม้ที่ส่งออกจะมีการควบคุมมาตรฐานทุกขั้นตอนตามระเบียบปฏิบัติการส่งออกที่กำหนดไว้

พร้อมกันนี้ ทูตพาณิชย์ของไทยในจีนยังได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายและยกระดับการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดจีนในเมืองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อเช่น การจัดงาน Thai Fruits Golden Months ร่วมกับห้างสรรพสินค้า ในเมืองชิงต่าว คุนหมิง และเมืองเซี่ยเหมิน โดยผลไม้ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว ส้มโอ เป็นต้น และกรมฯมีแผนจะจัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปีต่อไป เพื่อกระตุ้นยอดขายและสร้างการรับรู้ผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จัดของผู้ซื้อมากขึ้นด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top