Wednesday, 4 December 2024
ECONBIZ NEWS

สมาคมธนาคารไทย แจ้งปรับเปลี่ยนเวลาทำการหนีโควิด สาขาในห้าง ปิด 17:00 น. ส่วนสาขาภายนอกปิด ไม่เกินเวลา 15:30 น. พร้อมจำกัดช่องให้บริการ และจำกัดจำนวนลูกค้าในสาขา เว้นระยะห่างที่เหมาะสม

สมาคมธนาคารไทย แจ้งว่า ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ปรับปิดเวลาทำการธนาคารในพื้นที่เสี่ยง พร้อมสั่งปิดเวลาทำการแบงก์ในห้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยธนาคารอาจพิจารณาปิดสาขาบางแห่งชั่วคราวสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดตามประกาศของจังหวัดหรือรัฐบาล ซึ่งลูกค้ายังคงสามารถใช้บริการที่ตู้ ATM หรือทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตามปกติ โดยขอให้ตรวจสอบรายชื่อสาขาที่ปิดการบริการทาง website ของแต่ละธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารปรับเวลาปิดสาขาทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 16 เมษายน 2564 นี้ คือ สาขาในห้าง/สาขาที่เปิดให้บริการ 7 วัน ปิด ไม่เกินเวลา 17:00 น. ส่วนสาขาภายนอกปิด ไม่เกินเวลา 15:30 น. พร้อมกันนี้ยังจำกัดช่องให้บริการ และจำกัดจำนวนลูกค้าในสาขา เพื่อเว้นระยะห่างที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามในกรณีสาขาใดมีพนักงานหรือลูกค้าติดเชื้อเข้าใช้บริการ กำหนดให้แต่ละธนาคารปิดเพื่อพ่นฆ่าเชื้อทันที และเปิดทำการเมื่อเสร็จสิ้น, พนักงานที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ให้ตรวจเชื้อ/และทำการกักตัวเองในที่พักทันที (Self-Quarantine at Home) ในระยะเวลาตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข และจัดให้มีพนักงานปฏิบัติงานทดแทน ซึ่งเป็นพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องสัมผัสเชื้อ เข้าปฏิบัติหน้าที่แทน

ห้างสรรพสินค้า ยกระดับคุมเข้มการระบาดโควิดระลอกใหม่สูงสุด ประกาศปิด 3 ทุ่ม พร้อมงดกิจกรรมรวมตัวของคนจำนวนมาก เริ่มวันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน 64

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากรายงานศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด ประจำวันที่ 13 เมษายน 2564 ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าพันราย นับเป็นการแพร่ระบาดโควิดระลอกที่ 3 รอบใหม่ที่จะเป็นความเสี่ยงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย จึงประกาศยกระดับมาตรการการเฝ้าระวังการระบาดของโควิดครั้งนี้ด้วยการเพิ่มมาตรการเข้มข้นในการคัดกรองผู้บริโภคเข้าศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ในระดับสูงสุด

ทั้งนี้ ได้ประกาศเลื่อนปิดศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศเป็นเวลา 21.00 น. ทุกวัน พร้อมทั้งงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก รวมถึงการให้พนักงาน Work From Home เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทุกหน่วยงาน สามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด แจ้งว่า ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเดอะมอลล์ ทั้ง เดอะมอลล์ ทุกสาขา, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ขอปรับเวลาให้บริการ โดยเปิดให้บริการทุกวันตามเวลาปกติ และปิดเวลา 21.00 น. ทุกวัน ทุกสาขา ยกเว้น เดอะมอลล์ รามคำแหง ปิดเวลา 20.00 น. ทุกวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2564 เป็นต้นไป (หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง)

สมาคมภัตตาคาร ออกมาตรการ คุมเข้มรับมือโควิดระบาดรอบใหม่ พร้อมขั้นตอนปฏิบัติ หากพบผู้ใช้บริการร้านอาหารติดโควิด

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง มาตรการของร้านอาหารในช่วงโควิด-19 เกี่ยวกับข้อปฏิบัติของร้านอาหารในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง โดยขอความร่วมมือร้านอาหารทุกร้าน หากยังจะเปิดดำเนินธุรกิจตามปกติ หากมีผู้ป่วยหรือบุคคลที่มีไทม์ไลน์ มาจากสถานที่สุ่มเสี่ยงเข้ามารับประทานอาหารที่ร้าน สมาคมฯ ขอให้มีการกำหนดมาตรการและขั้นตอนสำหรับร้านอาหารรวมทั้งเงื่อนไข ให้ปฏิบัติตามดังรายละเอียด

สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด หรือผู้ที่มีไทม์ไลน์ มาใช้บริการทางร้าน คือ 1. แจ้งปิดร้านอาหารทันทีทาง Social Media และสื่อต่างๆของร้านและหน้าร้าน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน 2.ให้พนักงานทุกคนที่สัมผัสผู้ป่วยหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีและเข้าตรวจหาเชื้อกับโรงพยาบาลทันทีและให้แยกกักตัว 14 วัน พร้อมแยกผู้มีความเสี่ยง ดังนี้

วงที่ 1 ลูกค้า และพนักงานเสิร์ฟที่ดูแลลูกค้าโต๊ะนั้น ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงสูง และลูกค้าที่นั่งโต๊ะติดกันกับผู้ติดเชื้อ หรือสุ่มเสี่ยงแจ้งให้ทราบทันทีเพื่อเข้ารับการดูตรวจหาเชื้อกับโรงพยาบาลและให้กักตัว 14 วัน

วงที่ 2 พนักงานเสิร์ฟ ส่วนหน้า โซนลูกค้าติดเชื้อ มีความเสี่ยงต่ำ ส่งพนักงานเข้าตรวจเชื้อกับทางโรงพยาบาลทันทีและสังเกตอาการเวลา 14 วัน พนักงานในส่วนอื่นๆและพนักงานเสิร์ฟที่ไม่ได้เสิรฺ์ฟกับลูกค้าโต๊ะที่มีลูกค้าติดเชื้อหรือสุ่มเสี่ยงให้กักตัวสังเกตอาการ 14 วัน เมื่อมีอาการผิดปกติให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อกับทางโรงพยาบาลทันที

วงที่ 3 ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง พนักงานในครัวและลูกค้าที่ใช้บริการก่อนและหลังรอบเวลานั้น หรือหลังวันถัดไปและพนักงานที่ไม่ได้ทำงานในวันนั้นปลอดภัยไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องตรวจหาเชื้อ เพราะไม่ได้สัมผัสเชื้อ แต่หากมีอาการผิดปกติให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อทันที

3. พนักงานที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด จะต้องเปิดไทม์ไลน์ ก่อนและหลังอย่างน้อยเป็นเวลา 5 วันเป็นต้นไป และทางร้านจะประสานงานกับโรงพยาบาลทันทีตามสิทธิประกันสังคมของพนักงานที่สัมผัสผู้ป่วยทุกคนตรวจหาเชื้อฟรี และติดตามการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เช่น โรงพยาบาลของรัฐหรือศูนย์ตรวจเชื้อ และโรงพยาบาลในกรุงเทพฯปริมณฑล 106 แห่งได้แก่ภาครัฐ 43 แห่ง

4. แจ้งเจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ทันทีเพื่อให้ดำเนินการป้องกัน และควบคุมรวมทั้งมาทำการฉีดพ่นฆ่าเชื้อที่ร้าน และ 5. ทำความสะอาด Big Cleaning ฆ่าเชื้อไวรัสแบคทีเรียในอากาศและพื้นผิวสัมผัสทุกที่ภายในร้านการฉีดพ่นสารทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำยาฟอกขาวสามารถใช้สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวได้ และสำหรับพื้นผิวที่เป็นโลหะ สามารถใช้แอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดได้

ธุรกิจท่องเที่ยวรายได้ทรุดหมื่นล้าน จากโควิดรอบใหม่ ชี้ มีโอกาสที่จะใช้ระยะเวลาควบคุมสถานการณ์นานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องที่สูญเสียไปคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากคาดการณ์เดิมในช่วงเดือน มี.ค. 64 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดระลอกที่ 3 ขณะที่ แผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงนี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด และมาตรการการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ยังมองว่า การระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ต่อเนื่องถึงเทศกาลสงกรานต์ ได้ส่งผลกระทบทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ รายได้ของการท่องเที่ยวในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ซึ่งน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.37 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นรายได้ท่องเที่ยวที่หายไปเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 นี้ มีโอกาสที่จะใช้ระยะเวลานานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในการควบคุมสถานการณ์ให้คลี่คลายกลับมา เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อในประเทศมีจำนวนค่อนข้างสูง เชื้อโควิดเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่แตกต่างจากเดิมที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุว่าสามารถแพร่ได้เร็ว อีกทั้งต้นตอของการระบาดมาจากพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสัดส่วนสูง ขณะที่ การระบาดรอบนี้ เกิดขึ้นหลังรอบก่อนหน้าภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน จึงส่งผลกระทบต่อตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

‘บิทคอยน์’ ยังแรงต่อเนื่อง ล่าสุดราคาพุ่งทำนิวไฮแตะ 63,800 ดอลลาร์ ขานรับเอกชน สนใจอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล และยอมรับบิทคอยน์มากขึ้น

บิทคอยน์ ทะยานขึ้นทำนิวไฮในวันนี้ (14 เม.ย.64)  ก่อนที่ Coinbase Global Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นแพลทฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลใหญ่ที่สุดในสหรัฐ จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq ในวันนี้ ซึ่งถือครั้งแรกที่บริษัทในธุรกิจดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ และเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความต้องการของนักลงทุนสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล

โดยเมื่อเวลา 10.50 น. ราคาบิทคอยน์พุ่งขึ้นแตะที่ 63,800 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังทำสถิติราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (All-time high )

นอกจากนี้ บิทคอยน์ยังได้ปัจจัยบวกจากการที่บริษัทขนาดใหญ่ เช่น เทสลา, มาสเตอร์การ์ด, โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนลีย์ และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป ซึ่งเป็นธนาคารเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ ให้การยอมรับในบิทคอยน์มากขึ้น

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า บริษัท เรนาสโซ มอเตอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายซูเปอร์คาร์ ลัมโบร์กินี ในประเทศไทย ได้เปิดรับการชำระเงินซื้อรถยนต์ด้วยบิทคอยน์ และสกุลเงินคริปโตอื่นๆ อีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้! การจ้างงานเจอพิษโควิดเต็มเปา แนะรัฐออกมาตรการช่วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในองค์กร โดยผลสำรวจระบุว่าสถานการณ์เลิกจ้างในเดือนมีนาคม 64 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 3.4% จาก 7.4% ในเดือนมกราคม 63 แต่อัตราการลดเวลาการทำงานล่วงเวลายังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการว่างงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ที่ระบุว่าอัตราการว่างงานปรับลดลงอยู่ที่ 1.5% ในเดือนธ.ค. 63 แต่จำนวนผู้เสมือนว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2,470 คน บ่งชี้ว่า แม้ว่าจะยังมีงานทำแต่แรงงานส่วนมากมีรายได้ที่ลดลง

สำหรับความเปราะบางของตลาดแรงงานจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่อง โดยล่าสุดสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ ที่มีจุดศูนย์กลางระบาดอยู่ในกลางเมืองและแพร่กระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ อาจจะทำให้มีการนำมาตรการควบคุมการระบาดกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานต่อไปได้ 

ดังนั้น มาตรการจากภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่จะเข้ามาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 ได้หมดอายุลงแล้วในเดือนมีนาคม 64 มียอดใช้จ่ายตลอดโครงการถึง 102,065 ล้านบาท และมีผู้เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 14.8 ล้านคน ขณะที่มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งโครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน (ม.33) จะเริ่มทยอยหมดโครงการในเดือนพฤษภาคม 64

“ม33 เรารักกัน” เงินงวดสุดท้าย-กลุ่มทบทวนสิทธิผ่าน รับครบ 4,000 บาท แล้ววันนี้

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง การดำเนินงานโครงการ ม33เรารักกันว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ของผู้ประกันตน มาตรา 33 ให้ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาท และให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com 

ซึ่งในวันนี้ 12 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นวันที่ได้มีการโอนเงินงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย ของโครงการ จำนวน 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาทแล้ว อีกทั้ง ในส่วนกรณีผู้ที่ทบทวนสิทธิผ่านแล้ว ในวันนี้ก็จะได้รับเงินครบ 4,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เช่นเดียวกัน โดยผู้ประกันตนสามารถเริ่มใช้จ่าย ซื้อสินค้าและบริการผ่านร้านค้า/ผู้ประกอบการ/บริการในร้านธงฟ้าที่ใช้ Application “ถุงเงิน” หรือภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ได้ในวันที่ 12 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2564

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้แต่งตั้งคณะทำงาน ออกตรวจสอบร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ/สถานประกอบการในพื้นที่ และดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียน รวบรวมข้อเท็จจริง กรณีมีเรื่องร้องเรียน/มีการแจ้งเบาะแสว่ามีการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดเงื่อนไขโครงการฯ เช่น ขึ้นราคาสินค้า พร้อมเฝ้าระวังการเบิกจ่ายเงินของร้านค้า เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดเงื่อนไขอย่างเด็ดขาด 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม ขอย้ำเตือนไปยังผู้ประกันตน ร้านค้า โปรดอย่าหลงเชื่อโฆษณาเชิญชวนที่ทำผิดเงื่อนไขโดยไม่มีการใช้จ่ายซื้อสินค้า หรือแลกเป็นเงินสด เพราะนอกจากจะถูกพ่อค้าหัวใสหักเปอร์เซ็นต์แล้ว ทำให้ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และถือว่าเข้าข่ายทุจริต ซึ่งอาจจะถูกตัดสิทธิและถูกดำเนินคดีด้วยความห่วงใยจากสำนักงานประกันสังคม

แรงงานเฮลั่น!! ม33เรารักกัน เงินเข้างวดสุดท้าย และ กลุ่มทบทวนสิทธิผ่านได้ครบ 4,000 บาท รับสงกรานต์

วันนี้ 12 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นวันที่โอนเงินงวดสุดท้าย จำนวน 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาทให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับสิทธิ และกลุ่มที่ทบทวนสิทธิผ่านก็จะได้รับเงิน จำนวน 4,000 บาทโดยจ่ายครั้งเดียวในวันนี้เพื่อรับเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย

เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ ม33เรารักกันว่า หลังจากที่วันนี้ 12 เมษายน 2564 เป็นวันที่ได้มีการโอนเงินงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของโครงการ จำนวน 1,000 บาท จบครบ 4,000 บาท ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับสิทธิ ส่วนกรณีผู้ที่ทบทวนสิทธิผ่านแล้วในวันนี้ก็จะได้รับเงินครบ 4,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง' เช่นเดียวกัน เพื่อให้พี่น้องแรงงานสามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านแอพพลิเคชั่น 'เป๋าตัง' ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า โครงการ ม33เรารักกัน ที่รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาท และให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ถือว่าได้ประโยชน์กับผู้ประกันตนหลายกลุ่ม ซึ่งพวกเขายังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเยียวยามาก่อน แม้ว่าเงิน 4,000 บาทจะดูเหมือนไม่มาก แต่ก็สามารถช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้มาก

เนื่องจากเขาสามารถนำเงินที่ได้รับสัปดาห์ละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท ไปจ่ายใช้ในสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เงินส่วนนี้สามารถนำไปใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’เพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่านร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อยอย่างร้านธงฟ้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ รวมถึงช่วยพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยอย่างหาบเร่แผงลอยได้ด้วยก็จะเกิดเงินหมุนเวียนในหลายรอบและส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวตามมาอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับเงินจากโครงการ ม33เรารักกัน สามารถนำเงิน ในแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้ตั้งแต่เวลา 06.00 - 23.00 น.ของทุกวัน ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เท่านั้น

ราเมศ สนับสนุน พาณิชย์ คุมเข้ม จำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร ขออย่าซ้ำเติมประชาชน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สั่งการให้กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด และเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร ว่า

เห็นด้วยที่กระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คุมเข้มการจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร ซึ่งจากเดิมมีการเข้มงวดกวดขันอยู่แล้ว แต่ช่วงสถานการณ์ปัจจุบันเห็นด้วยที่จำต้องเข้มงวดมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ป้องกันไม่ให้พ่อค้าแม่ค้าฉวยโอกาสเอาเปรียบซ้ำเติมประชาชน ทั้งร้านค้าทั่วไปและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการของรัฐด้วย หากอาศัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แสวงหากำไรเกินกว่าที่ควรได้ตามปกติ การเพิ่มราคา ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนด้วย 

ในส่วนพี่น้องประชาชนที่ได้เกินทางกลับต่างจังหวัด ก็ต้องตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ความถูกต้องของหัวจ่ายน้ำมัน ที่จะมีผลต่อการเติมว่ามีปริมาณเต็มลิตรหรือไม่ รวมถึงผู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ขาย ผู้บริการก็จะต้องติดป้ายแสดงให้เห็นถึงราคาสินค้าและค่าบริการให้ชัดเพื่อให้ประชาชนได้เห็นราคาก่อนใช้บริการ

นายราเมศ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ไปด้วยกันหากพบเห็นการกระทำผิด จำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร หรือจำหน่ายในราคาไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ สามารถแจ้งไปได้ที่กรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งร้องเรียนได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หากพบการกระทำความผิดก็จะมีความผิด กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธ การจำหน่ายต้องโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บขส. - รถไฟ เริ่มคึกคึก หลังคนทยอยเดินทางสงกรานต์

บรรยากาศการเดินทางช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 9 เมษายน 2564 นี้ หลาย พื้นที่เริ่มมีคนทยอยเดินทางออกต่างจังหวัด โดยเฉพาะบริเวณสถานีขนส่ง ล่าสุด นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยตัวเลขผู้โดยสารเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า เมื่อวานนี้ (วันที่ 8 เมษายน 2564) บขส. ได้จัดรถบขส.,รถร่วม,รถตู้ (เที่ยวไป) จำนวน 3,443 เที่ยว รองรับผู้โดยสาร จำนวน 40,017 คน ส่วนเที่ยวกลับ ได้จัดรถ บขส., รถร่วม, รถตู้ จำนวน 3,470 เที่ยว รองรับผู้โดยสาร จำนวน 31,868 คน 

ส่วนในวันที่ 9 เมษายน 2564 บขส. ประเมินว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางกลับภูมิลำเนา ประมาณ 50,000 คน โดย บขส. ยังคงจัดรถโดยสารรองรับการเดินทางในเที่ยวไปกว่า 5,000 เที่ยว สามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 100,000 คน  

ขณะที่ สถานีรถไฟ โดยบรรยากาศที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในวันที่ 9 เม.ย. นี้ ยังคงมีผู้โดยสารทยอยเดินทางกลับหนาตาขึ้น ส่วนใหญ่เป็นขบวนรถระยะใกล้ เช่น ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี บ้านภาชี ตะพานหิน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะให้บริการขบวนรถพิเศษเพิ่มเติม มีทั้งประเภทรถนอนปรับอากาศ และรถนั่งชั้น 3 ไป - กลับ รวม 16 ขบวน แบ่งเป็นเส้นทางสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 9 - 14 เม.ย. 2564 (เที่ยวไป 8 ขบวน) และวันที่ 10 และ 15 เม.ย. 2564 (เที่ยวกลับ 8 ขบวน) รวมทั้งยังได้มีการพ่วงตู้โดยสารเพิ่มจนเต็มหน่วยลากจูงในขบวนรถที่วิ่งให้บริการปกติทุกสายทั่วประเทศ ซึ่งทำให้สามารถรองรับปริมาณการเดินทางของประชาชนได้สูงสุดถึง 100,000 คนต่อวัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top