Saturday, 5 July 2025
ECONBIZ NEWS

‘พลังงาน’ ชี้ โรงไฟฟ้าสำรองมีความจำเป็นแม้ไม่ได้เดินเครื่อง ย้ำ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

กระทรวงพลังงาน ชี้แจง จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองเพื่อรองรับความต้องการใช้ตลอดเวลา ถึงแม้บางโรงไฟฟ้าจะไม่ได้เดินเครื่องก็ตาม ซึ่งก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รองรับการลงทุนด้าน Data Center การใช้รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้าไทยก็อยู่ในระดับต้น ๆ ของอาเซียน

(14 ม.ค.68) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรอง เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงและการให้บริการกับประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีตัวเลขสำรองไฟฟ้า หรือ Reserve Margin อยู่ที่ 25.5% แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลให้แผนการผลิตไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่เกิดโควิดจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากดัชนีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ก็ไม่เป็นไปตามคาด แต่ใน PDP2024 ก็ได้มีการปรับแผนโดยจะมีการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น อีกทั้งราคาต้นทุนปัจจุบันเริ่มลดลง คาดว่าราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตก็จะปรับตัวลดลงด้วย

นอกจากนั้น ดัชนีแสดงค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง (SAIFI) ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับค่อนข้างเสถียรเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน หรืออยู่ที่ระดับ 0.88 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามและ สปป.ลาว ซึ่งมีค่าไฟฟ้าถูกกว่าเนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำ แต่ดัชนี SAIFI สูงถึง 3.23 และ 18.35 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปีตามลำดับ

“ต้องชี้แจงก่อนว่า โรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องแต่รัฐยังคงต้องจ่ายเงินให้ มีต้นทุนมาจาก 2 ส่วนสำคัญคือ 1) ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ครอบคลุมตั้งแต่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าผลิต ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย โดยเอกชนจะต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้พร้อมใช้ตลอดเวลาและสามารถผลิตไฟฟ้าตามความต้องการประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยไม่สะดุด การกำหนดค่า AP เป็นแนวปฏิบัติในทางสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่สะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องจ่ายไปก่อน และเอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงในการบริหารด้านต้นทุนเองทั้งหมด ซึ่งรัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ จริง ๆ แล้วค่าพร้อมจ่ายมีอยู่ในเกือบทุกโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า แต่อาจจะจัดเก็บในรูปแบบที่แตกต่างกัน”

“และ 2) ต้นทุนเชื้อเพลิง (Energy Payment : EP) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าจะได้รับค่า EP ตามปริมาณเชื้อเพลิงที่ กฟผ. สั่งการให้ทำการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ที่ผ่านมา ภาพรวมในการผลิตไฟฟ้า กระทรวงพลังงานก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้า ดังนั้น โรงไฟฟ้าสำรองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิด Peak และพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้” นายวีรพัฒน์ กล่าว

‘สุชาติ’ เร่งเครื่อง! แพลตฟอร์ม 'ITD Expert Anywhere' ตั้งเป้าพา SMEs ไทยฝ่าอุปสรรค สู่ความสำเร็จระดับโลก

(14 ม.ค.68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เตรียมจัดงานสัมมนา 'เสริมแกร่ง SMEs ในยุคดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์ม ITD Expert Anywhere' ภายใต้แนวคิด “เติบใหญ่ ไปไกลกว่าเดิม Grow Thrive” ในวันที่ 22 มกราคม 2568 ณ โรงแรมกราฟ โฮลเทล กรุงเทพฯ ซึ่งจะจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะเป็นการขยายผลจากความสำเร็จของการให้คำปรึกษาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มุ่งเน้นการช่วยผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะในด้านการส่งออก การพัฒนา และการปรับตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบออนไลน์ เพื่อให้ SMEs ไทยสามารถเติบโตและพัฒนาธุรกิจได้ในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน”

นายสุชาติ กล่าวต่ออีกว่า “ทาง ITD ได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องมือนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะยกระดับศักยภาพของ SMEs ไทย โดยในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดสากล ช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ โดยสำหรับปีที่ 2 นี้ มีการพัฒนาให้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบ Metaverse เพื่อจำลองการดำเนินธุรกิจในโลกเสมือนจริง และจัดกิจกรรมออนไลน์ ให้คำปรึกษาที่เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆได้  โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจมาก” 

“และนอกจากนี้ แพลตฟอร์ม ยังได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ การสัมมนาครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมแกร่งให้กับ SMEs ไทยให้สามารถเติบโตและแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพให้กับตนเองและธุรกิจให้มีความพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายสุชาติ กล่าวทิ้งท้าย

รถไฟความเร็วสูงสายแรก กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย ใช้เวลาวิ่งเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง คาดสร้างเสร็จทั้งเส้นทางปี 72

เมื่อวันที่ (13 ม.ค. 68) เพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ได้โพสต์ข้อความว่า ทำความรู้จักกับ รถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย ระยะทาง 607 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง!!! กับราคาเพียง 1,170 บาท!!!

โดยทางเพจ ระบุว่า วันนี้ขอเอาภาพรวมโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-โคราช-หนองคาย ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับ โครงการรถไฟ ลาว-จีน มาฝาก โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม 

แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร - หนองคาย เชื่อมต่อ ไทย ลาว จีน

โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร จำนวน 6 สถานี มีจุดเริ่มต้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสิ้นสุดที่สถานีนครราชสีมา โดยจะใช้เวลาเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปยังสถานีนครราชสีมาเพียง 1 ชั่วโมง 40 นาที และมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 530 บาท

นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากไทยไปลาว และจีน โดยช่วงนครราชสีมา - หนองคาย มีระยะทางประมาณ 357 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี โดยจะเป็นการเดินทางต่อจากสถานีนครราชสีมา ผ่านสถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสิ้นสุดที่สถานีหนองคาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติดำเนินโครงการ

และเมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งเส้นทางภายในปี 2572 จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปยังสถานีหนองคาย โดยใช้ระยะเวลาเดินทางเพียง 3 ชั่วโมง 30 นาที และมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 1,170 บาท

สามารถติดตามข่าวสารระบบรางได้ที่ https://www.facebook.com/DRT.OfficialFanpage

OPPO-Realme ยอมรับไม่ได้ขออนุญาต ธปท. ปมติดตั้ง “แอปเงินกู้” อ้างเพิ่มความสะดวกระบบแตะจ่ายอัตโนมัติ

OPPO-Realme เผย “แอปเงินกู้” ถูกติดตั้งในเครื่องตั้งแต่โรงงาน เพิ่มความสะดวกในการใช้งานระบบแตะจ่ายอัตโนมัติ (NFC) ไม่ได้ขออนุญาต ธปท.

(13 ม.ค. 68) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO และ บริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Realme เข้าชี้แจงปมแอปเงินกู้ที่ในตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ ซึ่งโดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Office of the Personal Data Protection Commission – PDPC) และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เข้าร่วมรับฟัง

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยภายหลังการหารือกับ OPPO และ Realme ว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาด้วย ได้แก่ กสทช.ตรวจอุปกรณ์โทรศัพท์ว่าคลื่นความถี่ที่แพร่สัญญาออกมาจากตัวเครื่องเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และกำลังไฟในเครื่องปลอดภัยต่อประชาชนหรือไม่ ในส่วนของแอปพลิเคชัน กำลังพูดคุยกับ สคส. และ สกมช. ว่ามาตรฐานของการใช้แอปฯ ใครควรจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งในวันนี้ได้ข้อมูลไปเป็นข้อมูลส่วนบุคคลจากแอปฯ Fineasy ซึ่งทางคณะกรรมการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคส่วนบุคคลได้ขอให้ OPPO และ Realme ส่งข้อมูลภายในวันที่ 16 ม.ค.68 ว่าข้อมูลที่ได้ไปมีทั้งหมดเท่าใด และนำไปใช้อย่างไรบ้าง และ OPPO และ Realme ยืนยันว่าในโทรศัพท์รุ่นถัดไปจะไม่มีการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวแล้ว

มาตรการระยะเร่งด่วนที่ทำได้ทันที เครื่องใหม่ที่จำหน่ายในท้องตลาด ถ้ามีแอปฯ Fineasy หรือสินเชื่อมีสุข จะงดจำหน่ายทั้งหมด ถ้าพบว่ายังมีการจำหน่าย เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์จะที่จะแจ้งให้ลบทิ้ง ถือว่าเป็นการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยผิดวัตถุประสงค์โทรศัพท์มือถือ เพราะโทรศัพท์มือถือไม่มีมีวัตถุประสงค์กู้เงินหรืออะไรต่างๆ และสามารถร้องเรียนมาที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 3 ล้านบาท

สำหรับการเรียกชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 16 มกราคม 2568 นั้น สืบเนื่องจากการดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการจำหน่ายโทรศัพท์อาจจะมีข้อบกพร่อง คือ

1. ในการจำหน่ายโทรศัพท์ถือว่าเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลลูกค้า ดังนั้นหน้าที่แรกจะต้องขอความยินยอมในการที่จะดูรายละเอียดในโทรศัพท์ให้ลูกค้าทราบ ทาง กสทช.จึงแจ้งให้ OPPO-Realme ได้ชี้แจงว่าที่ผ่านมาได้ทำหรือไม่ อย่างไร

2. เมื่อลูกค้านำโทรศัพท์ไปใช้แล้ว เห็นว่ามีแอปพลิเคชันหรืออะไรที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ก็มีสิทธิ์ที่จะแจ้งให้ลบหรือทำลายได้ ในประเด็นนี้ในการประชุมได้ข้อสรุปว่าทาง OPPO-Realme จะจัดทำช่องทางที่ให้ลูกค้าใช้สิทธิ์เข้ามาได้เลย โดยกำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 1 เดือน ทาง กสทช. เห็นว่านานเกินไป จึงให้บริษัททั้งสองกลับไปทบทวนว่าสามารถดำเนินการได้เมื่อใด

3. เครื่องยังไม่ได้จำหน่ายแต่มีแอปฯนี้ติดตั้งแล้ว ทาง กสทช.แจ้งให้ทั้งสองบริษัททราบแล้วว่าถ้าจำหน่ายไปถือว่าผิดวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์ที่จะแจ้งให้ลบ ซึ่งทางด้านทั้งสองบริษัทแจ้งว่าจะไม่มีการจำหน่าย เพราะหากมีการจำหน่ายจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

4. ไม่แน่ใจว่าการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลผ่านแอปฯ ที่ดำเนินการไปแล้ว เกิดความเสี่ยงหรือผลกระทบอะไรบ้าง ให้ทั้งสองบริษัทรายงานข้อมูลโดยละเอียดทั้ง 2 แอปฯ

เมื่อทั้งสองบริษัทมีการรายงานข้อมูลมาแล้ว สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะตรวจสอบ ถ้ามีประเด็นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หากสามารถแก้ไขเยียวยาได้ จะแจ้งให้ดำเนินการทันที แต่ถ้าเป็นความผิดและมีความเสียหาย มีผู้ร้องเรียน จะรายงานต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะพิจารณาโทษทางปกครองต่อไป

ด้านตัวแทนทั้งสองบริษัท กล่าวว่า แอปพลิเคชัน Fineasy ถูกติดตั้งมาในเครื่องตั้งแต่โรงงานก่อนผ่านการอนุมัติมาตรฐานมือถือจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานระบบแตะจ่ายอัตโนมัติ (NFC) และช่วยยกระดับการใช้งานของมือถือ ให้สามารถรองรับฟังก์ชันนี้ได้ดียิ่งขึ้น คล้ายกับแอปพลิเคชัน True Wallet โดยยอมรับว่าไม่ได้ขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัทต้องการตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง

สอน. หวังทุบสถิติรับอ้อยสด 90% สูงสุดในประวัติศาสตร์ ชี้!! หาก รง.น้ำตาล งดรับอ้อยเผาจะช่วยคุมฝุ่น PM 2.5 ถาวร

(13 ม.ค. 68) นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (ลอน.) เปิดเผยสถิติการรับอ้อยเผารายวันของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 มกราคม 2568 พบว่า โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ให้ ความร่วมมือในการรับอ้อยเผาน้อยกว่า 10% จำนวน 22 แห่ง โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาเกิน 10-25% จำนวน 32 แห่ง และยังมีโรงงานน้ำตาลที่ไม่ให้ความร่วมมือ ที่ยังคงรับอ้อยเผาเกิน 25% จำนวน 4 แห่ง เฉลี่ยการรับอ้อยเผารายวันทั่วประเทศ คิดเป็น 14.89% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

โดยภาพรวมเฉลี่ยโรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาสะสมตั้งแต่เปิดหีบอ้อยจนถึงปัจจุบันคิดเป็น 19.57% ซึ่งสะท้อนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือร่วมกับโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศงดรับอ้อยเผาเข้าหีบในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2568 จวบจนถึงวันเด็กแห่งชาตินี้ มีประสิทธิผลและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยตัวเลขสถิติรับอ้อยเผาเข้าหีบในปัจจุบันที่ลดต่ำลงกว่า 20% ส่งผลให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index หรือ AQI) ในหลายพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ 

นายใบน้อยฯ กล่าวว่า แม้ว่าปริมาณการรับอ้อยเผาเข้าหีบจะลดลงทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น แต่ยังพบว่า มีโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ให้ความร่วมมือ และยังคงมีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงเกิน 25% มาตั้งแต่วันเปิดหีบ ทำให้คุณภาพอากาศโดยรวมยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สอน. จึงย้ำมายังผู้บริหารและเจ้าของโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างจริงจัง เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงภาคการผลิตภายในประเทศให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงักจากสภาวะฝุ่นพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน

นายใบน้อยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของ สอน. พบว่า ถ้าโรงงานน้ำตาลรับอ้อยสดเข้าหีบได้กว่า 90% หรือสามารถลดการรับอ้อยเผาเฉลี่ยทั่วประเทศให้ไม่เกิน 10% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมดตลอดฤดูการผลิต 2567/68 จะทำให้สามารถลดการเผาอ้อยจากฤดูกาลผลิตที่แล้วลงได้กว่า 22 ล้านตัน หรือเทียบเท่าลดการเผาป่ากว่า 2.2 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังลดการปลดปล่อย PM2.5 ได้อีกกว่า 5,500 ตัน เมื่อเทียบปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพอากาศทั่วประเทศดีขึ้นเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ในฤดูการผลิตปี 2567/68 หากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้ความร่วมมือในการรักษาระดับการรับอ้อยเผาเข้าหีบให้ไม่เกิน 10% ซึ่งเทียบเท่ากับการเผาไร่อ้อยไม่เกิน 10,000 ไร่ต่อวัน จะส่งผลให้ค่า AQI ของอากาศในภาคกลางภาคตะวันออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่ส่งกระทบกับสุขภาพคนไทย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วงฤดูหีบอ้อย 4 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปีได้อย่างแท้จริง และจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ อย่างที่ควรจะเป็น

“พวกเรา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะร่วมกัน คืน “ฟ้าใส ไร้ฝุ่น PM 2.5” ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ ยกระดับศักยภาพการผลิตสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สอดรับกับกติกาสากล ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ได้อย่างยั่งยืน” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย

มาสด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ประกาศแต่งตั้ง ‘คนไทย’ ขึ้นเป็น ‘ประธานคนใหม่’ เผย!! อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ มีบทบาทสำคัญ บริหารงานมาแล้ว ครบทุกฟังก์ชั่น

(11 ม.ค. 68) มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ประกาศแต่งตั้ง นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (President & CEO) บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีบทบาทสำคัญในการบริหารองค์กรมาสด้ามายาวนาน สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนนับตั้งแต่ร่วมงานกับมาสด้า เมื่อปี พ.ศ. 2550 เริ่มจากการเป็นผู้ร่วมพัฒนารถยนต์มาสด้าในตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์ ฝ่ายการตลาด สั่งสมประสบการณ์กว่า 18 ปี บริหารงานครบทุกฟังก์ชั่น สร้างผลงานความสำเร็จมากมาย โดยเฉพาะการเปิดตัวมาสด้า2 ได้รับความนิยมสูงสุดจนสามารถก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งของตลาดรถยนต์นั่งซิตี้คาร์ ครองแชมป์ทำสถิติยอดขายสูงสุด 3 ปีติดต่อกัน รวมทั้งประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทแม่ ประเทศญี่ปุ่น ขยายการลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่ง โรงงานผลิตเครื่องยนต์ และเกียร์อัตโนมัตินอกประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกในประเทศไทย ผลักดันโครงการขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจมาสด้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 18 ปี นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารองค์กรมาสด้า ทั้งส่วนงานวางแผนด้านผลิตภัณฑ์ การวางกลยุทธ์การตลาด ส่งเสริมการขาย การพัฒนาผู้จำหน่าย การเอาใจใส่ดูแลลูกค้าเสมือนคนในครอบครัว และส่วนอื่นๆ อย่างรอบด้าน ถือเป็นผู้บริหารที่มีส่วนร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และอยู่ในทุกช่วงเวลา ทุกสถานการณ์ ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านอุปสรรคมากมาย ร่วมมือปลุกปั้นแบรนด์มาสด้าจนได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าชาวไทย แรกเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2558 จากยอดขาย 11,000 คันต่อปี ก้าวสู่การสร้างสถิติใหม่ด้วยยอดขายสูงสุดถึง 74,000 คันต่อปี

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ของธุรกิจมาสด้า เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ท้าทาย และมีคุณค่ายิ่ง ความผูกพันกับทีมงานคนไทย ผู้จำหน่ายมาสด้า สื่อมวลชน และพันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดระยะเวลาที่ทำงานกับมาสด้า ผมสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เชื่อมั่นในศักยภาพของทีมงานทุกคน การที่มาสด้าทำงานลงลึกในรายละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขาย การดูแลและการบริการ การมอบความประทับใจให้ลูกค้า ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมและส่งเสริมให้มาสด้าก้าวเดินและเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาถึงทุกวันนี้ ต่อจากนี้ อีกหนึ่งบทบาทใหม่จะมีความท้าทายยิ่งขึ้น มาสด้าจะเดินหน้าอย่างเต็มกำลังและเข้มข้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจในทุกมิติ สร้างธุรกิจมาสด้าและผู้จำหน่ายให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ส่งมอบเทคโนโลยียานยนต์ที่มอบประสบการณ์ความสุขในการขับขี่ให้ลูกค้าตลอดไป

มาสด้ายังคงเดินหน้าตามแผนการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนในระยะยาว สิ่งสำคัญที่จะทำให้มาสด้าเกิดความแข็งแกร่งจึงไม่ใช่การขายรถใหม่เพียงอย่างเดียว ทุกภาคส่วนต้องสร้างความรัก ความผูกพัน ให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงประสบการณ์ที่ดี จนเกิดเป็นความประทับใจ กลับมาซื้อซ้ำ และเป็นเจ้าของรถยนต์มาสด้าได้ทุกรุ่น ทุกช่วงเวลาของชีวิต กลายมาเป็น ‘มาสด้า แฟมิลี่’ นั่นคือแก่นแท้ของการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของ Retention Business คือการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าให้ดีที่สุด รวมถึงการแนะนำจุดเด่นของรถมาสด้าให้กับคนอื่นๆ ต่อไป มาสด้าเชื่อว่าแนวทางการทำธุรกิจด้วยวิถีนี้จะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน พร้อมยกระดับประสบการณ์ลูกค้าอย่างเต็มกำลัง และให้ความสำคัญสูงสุดต่อการสร้างคุณค่าแบรนด์ โดยเฉพาะการบริการหลังการขายที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เป็นแบรนด์อันดับหนึ่งที่ลูกค้าเลือก และเป็นอันดับหนึ่งด้านการบริการ เพื่อส่งมอบรอยยิ้มและความสุขให้ลูกค้า รวมถึงผลประกอบการของผู้จำหน่ายต้องแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ถือเป็นประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนไทยคนแรกที่มาจากสายเลือดอันเข้มข้นของ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย เพียงคนเดียว เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการสูงสุดในองค์กรระดับโลก และมีเพียงคนไทยไม่กี่คนที่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคนานัปการมาได้ เป็นขุนศึกที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้บริหารระดับสูงมานับไม่ถ้วน โดยดำรงตำแหน่งล่าสุด คือ รองประธานกรรมการบริหาร มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย เมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา

มร. ทาดาชิ มิอุระ จะขยับขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาอาวุโส กล่าวสั้นๆ แต่มากด้วยความหมายว่า "ผมเชื่อมั่นในพลังของการทำงานเป็นทีม ด้วยศักยภาพของพนักงานทุกคนใน มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย และผู้จำหน่ายมาสด้าทุกราย ตลอดเวลาที่ผ่านมาทุกคนได้ทุ่มเทอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสร้างมาสด้าให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในประเทศไทย แน่นอนที่สุดการสนับสนุนและให้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วยดีมาโดยตลอดนั้น คือสิ่งสำคัญยิ่งต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ผมภูมิใจและมีความสุขกับบทบาทใหม่ที่กำลังจะมาถึง อีกไม่นานจากนี้ไป มาสด้ากำลังเร่งมือเดินหน้าแนะนำยนตรกรรมใหม่และรถยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงการสร้างความยั่งยืนที่ครอบคลุมทุกๆ ด้าน เพื่อให้เป็นแบรนด์ที่อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป ผมมั่นใจว่าเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่นำพามาสด้าในประเทศไทยประสบความสำเร็จและยั่งยืน ทำให้มาสด้าเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ลูกค้าภาคภูมิใจที่ได้ครอบครอง"

การปรับทัพผู้บริหารของมาสด้าในช่วงเวลาที่ตลาดรถยนต์ไทยมีการแข่งขันรุนแรงเช่นนี้ นับว่าน่าจับตามองอย่างยิ่ง ถือเป็นความท้าทายที่มาสด้าจะต้องก้าวผ่านเพื่อไปสู่ความสำเร็จในระดับสูงขึ้น โดยเฉพาะการแนะนำรถมาสด้ารุ่นใหม่ที่กำลังจ่อคิวลงตลาดตามแผนพัฒนาธุรกิจในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะส่งผลให้มาสด้ากลับมาทวงแชมป์ความยิ่งใหญ่ และได้รับความนิยมสูงสุดจากลูกค้าชาวไทยในเร็วๆ นี้

‘เอกนัฏ’ หนุน!! เปลี่ยนใบอ้อยเป็นเงิน สร้างรายได้เกษตรกร วอน!! หยุดเผา ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 สร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างยั่งยืน

(11 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด และเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลหรือโรงงานที่ใช้พลังงานชีวมวล ซึ่งมาตรการดังกล่าว

จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เนื่องจากจะทำให้ชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของใบและยอดอ้อย ทำให้ลดการเผาใบและยอดอ้อยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ด้านนายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ สอน. ได้ทำจดหมายขอความร่วมมือไปยังโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 แห่ง ให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาไฟเข้าหีบ ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2568 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น. เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กสำหรับเยาวชนไทยทั้งประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล สะท้อนได้จากสถานการณ์อ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ณ วันที่ 8 มกราคม 2568 ที่มีตัวเลขอ้อยถูกเผาอยู่ในระดับคงที่กว่า 4 ล้านตัน คิดเป็น 20.18% ของปริมาณอ้อยที่รับเข้าหีบทั้งหมดกว่า 19 ล้านตัน 

“สอน. จึงขอความร่วมมือมายังเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ช่วยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีผลิตส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาล รวมทั้งไม่เผาใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยว ขณะเดียวกันขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลให้งดรับซื้ออ้อยเผา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งผลักดันมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และสร้างอากาศสะอาดและบริสุทธิ์ ไร้มลภาวะฝุ่น PM 2.5 ปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างถาวรตามนโยบาย รัฐมนตรีฯ” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย

'พิชัย' ถกเข้ม 10 นโยบายเร่งด่วนพาณิชย์ ยกระดับเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสเกษตรกรส่งออกข้าวเสรี ดันราคามันสำปะหลัง เตรียมบิน UAE เจรจาการค้าการลงทุน กุมภาฯนี้ 

(10 ม.ค.68) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมติดตามและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุม 20610 ชั้น 6 กรมการค้าภายใน โดยมีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วม

นายพิชัย กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ในการติดตามผลงานและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ตามแนวทางของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุมได้มีประเด็นสั่งการสำคัญดังนี้ 

(1) ให้เร่งติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า สื่อสารประชาชนให้ทราบแนวทางของกระทรวงฯและแนวทางเศรษฐกิจของรัฐบาล 

(2) เรื่อง FTA ถ้าเราปิดจบได้มาก การค้าการลงทุนเราจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเราพยายามจี้ให้สำเร็จ มีเรื่องของ FTA ไทย-UAE ที่เราอยากดำเนินการให้สำเร็จ ซึ่งจะมีการลงทุนขนาดใหญ่จาก UAE เข้ามาอีกหลายเรื่อง โดยจะมีการร่วมมือกันในหลายระดับและตนจะเดินทางไป UAE เพื่อจะได้มีความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในเรื่อง ของ FTA Data Center และ Food Security

(3) เตรียมการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่ดาวอส จะไปเซ็นสัญญา FTA กับเอฟตา และจะมีประเด็นต่างๆเข้าไปร่วมเจรจาด้วย 

(4)เรื่อง Food Storage เพื่อแก้ปัญหา Food Security คลังอาหารของโลกให้กับประเทศต่างๆ เป็นทิศทางที่กระทรวงเร่งดำเนินการ 

(5) เรื่องเปิดเสรีข้าว ปลดล็อก/
ปรับลด เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นนโยบายหลักของท่านนายกรัฐมนตรีที่อยากให้เปิดเสรี เพื่อให้มีการแข่งขันมากขึ้น ไทยจะได้สามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น มีการลดปริมาณสต๊อกและยกเว้นธรรมเนียมให้รายย่อย โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมและแถลงอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 17 มกราคมนี้

(6) เรื่องการดูแลราคาสินค้าเกษตร ในเรื่องมันสำปะหลังปีนี้ทางจีนมีการซื้อช้าหน่อย แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาซื้อแล้วทำให้การส่งออกมันสำปะหลังไปจีนเริ่มดีขึ้น และจะมีการเร่งรัดเพื่อนำไปทำอาหารสัตว์เพิ่มเติมให้ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น และจะมีการดำเนินการอีกหลายโครงการ ซึ่งกรมการค้าภายในได้เชิญชวนผู้ซื้อมันสำปะหลังจากจีนผ่านสถานทูตจีนประจำประเทศไทย จะมีการซื้อขายมันเส้นอีกประมาณ 300,000 ตัน จะช่วยพยุงราคามันสำปะหลังให้ดีขึ้น และจะช่วยดันราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นปีทองของสินค้าเกษตรต่อไป 

(7) เรื่องการปรับโฉม Thai SELECT ให้เทียบชั้น MICHELIN Star ยกระดับให้มีมาตรฐาน

(8) แก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้บริโภคของไทย ซึ่งที่ผ่านมามีสินค้าไหลเข้ามาในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องมีการจับนอมมินีมากขึ้น 
(9) ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล APP กระทรวงพาณิชย์ ครอบคลุมทุกกรมฯให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวข้องกับประชาชนในวงกว้างให้สะดวกและครอบคลุม เป็นตัวอย่างให้กับกระทรวงอื่นในการดำเนินการต่อไป
(10) เรื่อง Thailandbrand ให้มี SME ใหม่ๆเกิดขึ้น โดยใช้สัญลักษณ์ Thailand brand มอบให้ท่านปลัดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ให้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ ซึ่งคนในอาเซียนมองสินค้าไทยเป็นสินค้าพรีเมียม อยากให้คนไทยมองสินค้าไทยเป็นพรีเมียมด้วย สินค้าเรามีคุณภาพสูงอยากให้ส่งเสริมใช้สินค้าไทยกันเยอะๆ ทั้งอาหาร เสื้อผ้า ของไทยให้ได้รับการยอมรับอย่างสูง

“และจากนี้ตนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมกรมต่าง ๆ ซึ่งคนกระทรวงพาณิชย์มีความสามารถดีเยี่ยมอยู่แล้ว จะได้ไปกระตุ้นให้มีงานออกมาเยอะขึ้น ให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น  เราต้องการให้คนตัวเล็กเกษตรกรสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมและลดสต๊อกส่วนผู้ประกอบการค้าข้าว ซึ่งจะมีการติดตามและประเมินผลต่อไป และเฟสต่อไปจะอำนวยความสะดวกให้มาจดทะเบียนที่เดียว สามารถเป็นทั้งผู้ประกอบการค้าข้าวและผู้ส่งออกข้าว เป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อำนวยความสะดวกผู้ประสงค์ประกอบธุรกิจค้าข้าวและการส่งออกข้าว จะได้ข้อสรุปภายในมีนาคมนี้ในเฟสแรก และถ้าเป็นไปด้วยดีจะเปิดเสรีเลยในอนาคต ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี อยากเห็นการทำลายการผูกขาดและเปิดเสรีในทุกด้าน“ นายพิชัย กล่าว

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ นั่งหัวโต๊ะ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมฯ’ รากฐานการพัฒนาประเทศด้านเกม - กำลังคนดิจิทัล - เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ

(10 ม.ค.68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. ….  เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเสนอความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่กฎหมายที่มีความสมบูรณ์และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนและประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีนายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี , นายอัฐฐเสฏฐ จุลเสฏฐพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี , นางสาวยุพาภรณ์ ศิริกิจพาณิชย์กูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ , ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า , ดร.กษิติธร ภูภราดัย และ นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ , นางสาวกษมา กองสมัคร และ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ , 

รวมถึงคณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (THACCA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกม ฯลฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ว่า อุตสาหกรรมเกมขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศด้านเกม ซึ่งเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนากำลังคน การส่งเสริมให้เกิดการยกระดับผู้ประกอบการเกมไทยผ่านกลไกต่าง ๆ การกำหนดแนวทางป้องกันผลกระทบทางสังคม และการดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการระดับโลกเข้ามาในประเทศไทย

"ดังนั้นการดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม นักพัฒนาเกม นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับในวันนี้จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานของอุตสาหกรรมเกม เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสู่ระดับสากล ต่อยอดโอกาสสู่อาชีพใหม่ อีกทั้งสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและพัฒนา ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกระจายการจัดจำหน่าย และสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกมในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พัฒนามาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการกำกับ และควบคุมอุตสาหกรรมเกม เพื่อนำไปสู่การกำกับและบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเกมตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าเกมผ่านกองทุนส่งเสริม

"ทั้งนี้ โครงของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงนิยาม การตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง การขึ้นทะเบียน การกำกับ และกองทุนส่งเสริม โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการปกป้องสังคม โดยเฉพาะการดูแลเยาวชน การป้องกันผลกระทบทางจิตใจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้อุตสาหกรรมเกมในเชิงบวก ซึ่ง ดีป้า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนจะส่งผลให้ พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมไทย ทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพ และขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไป จากนี้ ดีป้า จะนำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาเร่งปรับปรุงร่างกฎหมาย โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน และจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2568" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ขณะที่ผู้แทนจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม พร้อมเสนอให้มีการเพิ่มประเด็นเรื่องการพัฒนากำลังคนในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเสนอให้มีภาคเอกชน ภาคการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านเกมเพิ่มขึ้นในส่วนของคณะกรรมการ เนื่องจากอุตสาหกรรมเกมพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนจะทำให้คณะกรรมการสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและรับความรู้ในประเด็นต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ชัดเจน และถูกต้อง

วาระ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 'อลงกรณ์' ปาฐกถามั่นใจความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทย-จีนมีแนวโน้มสดใส

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์(FKII Thailand) และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกและร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมนักธุรกิจและประกาศเกียรติคุณกิจการและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นในวาระเฉลิมฉลอง 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราชอาณาจักรไทยจัดโดยสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย ร่วมกับองค์กรปานามา แปซิฟิก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กโปซิชั่น( Panama Pacific International Exposition ) ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ โฟวิงก์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานครโดยนายอลงกรณ์ปาฐกถาแสดงความมั่นใจว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทย-จีนมีแนวโน้มสดใส พร้อมกับโชว์ธนบัตรฉบับแรกของไทยที่นำออกใช้ในปี 2445 (ค.ศ 1902)หรือเมื่อ 123 ปีก่อนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5มีภาษาจีนปรากฏในธนบัตรดังกล่าวซึ่งในหลวงรัชกาลที่5ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คนจีนสามารถทำมาหากินทำการค้าธุรกิจในประเทศไทย (สยาม) ต่อมาอีก100ปีรัฐบาลไทย จึงให้จัดพิมพ์ธนบัตรดังกล่าวโดยพิมพ์เพิ่มด้านหลังเป็นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงทั้ง 2 พระองค์ซึ่งในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสถาปนาความสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2518 ซึ่งได้รับความสนใจจากที่ประชุมเป็นอย่างมาก 

นอกจากนี้นายอลงกรณ์ยังกล่าวยกย่อง ม.ล.สุภาพ ปราโมชว่าเป็น1ในคนไทยที่ทุ่มเทสานสัมพันธ์ไทย-จีนโดยเดินทางไปเยือนแผ่นดินใหญ่จีนถึง 157 ครั้งนับแต่ร่วมคณะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไปสถาปนาความสัมพันธ์ที่กรุงปักกิ่งในปี พ.ศ.2518

โดยนายอลงกรณ์กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า “…วันนี้ เราทุกคนมารวมกัน ณ ที่แห่งนี้ ก่อนอื่น ขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุขในปีใหม่ และในปีนี้ เราร่วมกันเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันทรงคุณค่า และร่วมกันหารือถึงโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและไทย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างจีนและไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการค้าทวิภาคีทำสถิติสูงสุดใหม่ การแลกเปลี่ยนทางการค้าในภาคสินค้าเกษตรผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลและไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์เคมีมีมากขึ้นเรื่อยๆ ผลไม้คุณภาพสูงและข้าวของไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ในขณะที่เครื่องจักรกลและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนก็มีบทบาทสำคัญในตลาดไทยเช่นกัน   

ภายใต้การผลักดันของนโยบาย 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' ของรัฐบาลจีน การเชื่อมโยงระหว่างจีนและไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย ได้สร้างช่องทางที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นสำหรับการค้าระหว่างกัน ในขณะเดียวกัน การแลกเปลี่ยนในด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรมและการศึกษาของทั้งสองฝ่ายก็มีการพัฒนาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน เราจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อร่วมกันขยายตลาดสู่ระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ       

เมื่อมองไปสู่อนาคต โอกาสในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและไทยมีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะในวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เราจะส่งเสริมมิตรภาพดั้งเดิม เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ และแสวงหาโอกาสความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานทดแทน เพื่อผลักดันความร่วมมือในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนและไทยให้บรรลุผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้นไม้แห่งมิตรภาพจีน-ไทยเจริญงอกงามยิ่งขึ้น นำมาซึ่งความสุขและความเจริญให้แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ และมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น…”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top