Tuesday, 1 July 2025
ECONBIZ NEWS

รัฐบาลเตรียมแผนแก้ปัญหาหนี้ครู หลังพบครู 9 แสนคนเป็นหนี้ 1.4 ล้านล.

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันพบว่าครูทั่วประเทศประมาณ 9 แสนคน คิดเป็น 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน วงเงิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับกระทรวงศึกษาธิการ เร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรอย่างยั่งยืน รวมถึงให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมพร้อมวงเงินปล่อยกู้ให้นักเรียนและนักศึกษาเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อใช้ในค่าใช้จ่าย ปีการศึกษา 2564 ด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบแล้ว ระยะแรกจะดำเนินการ 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานที่ 1. โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ จำนวน 12 แห่ง 4 ภาค ภาคละ 3 แห่ง ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัด ภายในเดือนตุลาคมนี้ และขยายผลการดำเนินไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศที่มีความพร้อม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป 

“มนัญญา” มอบนโยบายหวังขันน็อตพัฒนาสหกรณ์ทั่วประเทศ  

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบมอบนโยบายการทำงานเพื่อพัฒนาสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทั้งในเรื่องการทำงานเชิงการพัฒนา การส่งเสริมด้านธุรกิจและกำกับดูแลตรวจการสหกรณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้เน้นย้ำเรื่องการดำเนินงานของสหกรณ์ให้มุ่งเน้นการแบ่งปันกำไรคืนสู่สมาชิก เนื่องจากสหกรณ์เป็นของสมาชิกทุกคน เพราะประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินงานของสหกรณ์ควรจะต้องย้อนกลับไปหาสมาชิกสหกรณ์ให้มากที่สุด และเรื่องการผลิตสินค้าปลอดภัย และมีคุณภาพ และช่วยกันในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการในหลายโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ซึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาร้านค้าสหกรณ์ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณภาพจากจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าสหกรณ์ได้มากขึ้น โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกปลูกพืช/ผัก เพื่อสร้างทางเลือกที่มีศักยภาพและตลาดรองรับ ช่วยสร้างรายได้เสริมเพิ่มเติมจากอาชีพหลัก 

รวมไปถึงโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เพื่อสนับสนุนให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์หรือบุคคลทั่วไปที่จากบ้านไปประกอบอาชีพ ในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัด กลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าการเกษตรเพื่อเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว โดยมีสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่คอยเป็นพี่เลี้ยง ตลอดจนการจัดหาตลาดรองรับ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษา โดยคาดหวังว่าจะทำให้เกษตรกรมีอาชีพที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

หอการค้าฯ ประเมินกินเจปีนี้ใช้จ่ายติดลบต่ำสุดรอบ 14 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 4-13 ต.ค.2564 นี้ ว่า เทศกาลกินเจในปีนี้ ไม่คึกคักแม้คนส่วนใหญ่ยังสนใจที่จะบริโภคอาหารเจ แต่ด้วยปัญหาการติดเชื้อโควิดยังมีอัตราที่สูง และอาหารยังมีราคาสูง แม้ว่าภาครัฐจะคลายล็อกในหลายภาคธุรกิจมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ยังกลัวว่าโควิดที่จะติดเชื้อโควิดยังมีสูง ทำให้การกินเจในปีนี้ถือว่ายอดการใช้จ่ายตลอดการกินเจจะอยู่ 40,147 ล้านบาท ติดลบสูงถึง 14.5% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อนที่มีมูลค่า 46,967 ล้านบาท ถือว่าเทศกาลกินเจในปีนี้ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี

ทั้งนี้จากผลสำรวจ ส่วนใหญ่ระบุว่า เทศกาลกินเจปีนี้ คนที่กินเจส่วนใหญ่ยังมีความต้องการที่จะร่วมกินเจเพื่อทำบุญและลดการบริโภคอาหารสัตว์ แต่ยอมรับว่าจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหา ทำให้เทศกาลกินเจในปีนี้ไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังวิตกจากปัญหาการติดเชื้อโควิดรายวันยังมีอัตราที่สูง จึงไม่อยากให้ติดเองต้องไปรับเชื้อจากโควิดเพิ่มเติม ทำให้การกินเจในปีนี้พฤติกรรมการกินเจจะเน้นไปสั่งซื้อสินค้าอาหารเจทางออนไลน์มาบริโภคแทนการออกไปนั่งกินหรือการไปกินเจตามสถานที่ต่างๆ เหมือนที่ผ่านมา

เช็คบัญชีด่วน คลังโอนเงิน 1,500 บาทใส่คนละครึ่งแล้ว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ต.ค.) กระทรวงการคลัง ได้โอนเงินคนละครึ่งรอบที่ 2 จำนวน 1,500 บาท เข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง แล้วโดยนำไปรวมกับวงเงินสิทธิคงเหลือจากในรอบแรกให้อัตโนมัติ ส่วนประชาชนที่ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3 หลังวันที่ 1 ต.ค.นั้น จะได้รับวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,000 บาท กระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเมื่อรวมมาตรการต่าง ๆ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น มียอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 39.08 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 78,611.1 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามในวันที่ 4 ต.ค.เป็นต้นไป ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิคนละครึ่งเฟส 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ ผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ อย่าง GRAB และ LINE MAN ได้ โดยตอนนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 30,000 ราย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ในยุคโควิด-19 และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ให้ขยายตัวมากขึ้นด้วย 

กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ กระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ ลงนาม MOU ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระดับทวิภาคีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน 

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายยูริ ยาร์วียาโฮ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Memorandum of Understanding on Cooperation in Circular Economy) ผ่านระบบออนไลน์ โดยรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า การจัดทำบันทึกความเข้าใจการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนครั้งนี้ เกิดขึ้นจากเมื่อเดือนกันยายน 2562 รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ได้ร่วมหารือกับรัฐบาลไทยเรื่องแนวปฏิบัติสำหรับความร่วมมือเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 

และแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งไทยและฟินแลนด์ต่างเล็งเห็นความสำคัญของการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยเป็นกลไกสำคัญสำหรับแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน และจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในระดับทวิภาคีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้ นโยบาย และกลยุทธ์ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน การดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในสาขาที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรม เคมี พลาสติก และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการจัดการกิจการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ผู้ประกันตน ปลื้ม!! นายก สั่ง รมว.เฮ้ง จ่ายเยียวยาลูกจ้าง นายจ้างแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท อ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการจากรัฐบาลใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี ระยอง สิงห์บุรี สระบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ และตาก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 ตามมาตรการของ ศบค.นั้นว่า ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกนะทบจากโควิด -19 จึงได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงแรงงาน

โดยสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการโครงการเยียวยานายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งตั้งแต่ช่วงเดือนต้น ถึง 28 กันยายน 2564 กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน เพื่อให้ความช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา ไปแล้วเป็นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 9 หมื่นล้านบาท ให้แก่นายจ้างกว่า 150,000 ราย ผู้ประกันตน ม.33,39 และ 40 จำนวนเกือบ 12 ล้านคน ส่วนที่เหลือผู้ประกันตน จำนวน 4 แสนกว่าราย และนายจ้าง จำนวนกว่า 2,100 ราย เงินยังไม่เข้าเนื่องจากสาเหตุบัญชียังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ หรือผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนไม่ได้ เช่น เป็นบุคคลล้มละลาย ถูกอายัดบัญชีจากกรมบังคับคดี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเยียวยาเพิ่มเติม 

รมว.อุตสาหกรรม เผย 8 เดือน ดัชนีเอ็มพีไอพุ่ง 7.13% หลังได้ปัจจัยบวกจากการคลายล็อก - ส่งออกขยายตัว - ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนในโรงงาน ช่วยดันเศรษฐกิจไทย

29 ก.ย. 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาคผลิตอุตสาหกรรมว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) 8 เดือนแรก ปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 7.13% จากทิศทางของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาครัฐ มาตรการควบคุมพื้นที่เฉพาะหรือบับเบิลแอนด์ซีล และโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหรือแฟคทอรี่แซนด์บอกซ์ ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสศอ. กล่าวว่า เอ็มพีไอเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.71 หดตัว 4.15% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม เดือนส.ค. 2564 หดตัวเช่นกันอยู่ที่ 2.52% นอกจากนี้เอ็มพีไอที่ลดลงยังมีสาเหตุจากการขาดแคลนชิปทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดจนกระทบต่อการผลิตและการจำหน่าย ในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

คาดกินเจปีนี้บรรยากาศเงียบ เงินสะพัดแค่ 3,600 ล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยสถานการณ์และบรรยากาศในการจับจ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 6-14 ต.ค. 2564 ว่า ในช่วงเทศกาลกินเจปี 2564 คนกรุงเทพฯ จะมีค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลคิดเป็นมูลค่า 3,600 ล้านบาท หดตัว 8.2% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน โดยส่วนใหญ่น่าจะยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน แม้ว่าผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า คนกรุงเทพฯ 55% ยังคงสนใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจ แต่มีการปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 

ทั้งนี้แม้ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า คนกรุงเทพฯ 55% ยังคงสนใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจ แต่มีการปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่สะดวกในการบริโภค เนื่องจากเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปสู่การ Work From Home และลดการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเข้าถึงแหล่งจับจ่ายที่คุ้นเคยในปีก่อนๆ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารข้างทางบริเวณสถานที่ทำงาน ทั้งแบบตักขายและนั่งทานในร้านอาจได้รับผลกระทบจากความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องของความปลอดภัยและไม่สะดวกในการออกไปจับจ่าย

สานพลังความร่วมมือ EEC Automation Park ปั้นโรงงาน 4.0 นำร่องผู้ประกอบการ 200 แห่ง ดึงดูดการลงทุน

อีอีซี จับมือ มิตซูบิชิและพันธมิตรเครือข่าย สานพลังความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น ในงาน EEC connecting Thailand and Japan Collaboration 2021 เดินหน้าอีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค ดึงผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 200 ราย นำร่องสู่อุตสาหกรรม 4.0 พร้อมสร้างบุคลากรรองรับ 15,000 คนใน 5 ปี ยกระดับให้ไทยก้าวสู่ยุคใช้นวัตกรรมขั้นสูง

(29 ก.ย. 64) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริก EEC Automation Park และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น จัดงาน EEC connecting Thailand and Japan Collaboration 2021 "Digital Manufacturing Platform" แสดงความพร้อมของ EEC Automation Park ที่จะเป็นฐานสำคัญ ขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี ก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะ ตอบโจทย์การพัฒนากระบวนการผลิตที่ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า สร้างทักษะแรงงานอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน

โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี, ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร (EEC HDC), นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO ร่วมกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สกพอ., นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และ ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC Automation Park และผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 200 ราย เข้าร่วมงาน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การจัดงานฯ ครั้งนี้ แสดงถึงความสัมพันธ์และเข้มแข็งของภาคเอกชนญี่ปุ่นในพื้นที่ อีอีซี ที่มีมายาวนาน และยังคงต่อเนื่องเดินหน้ายกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมแบบดิจิทัล (Digital Manufacturing Platform) แม้จะเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งนำโดย บ. มิตซูบิชิฯ ที่ริเริ่มแนวคิด e-F@ctory Alliance พร้อมพันธมิตรเครือข่ายร่วมพัฒนา EEC Automation Park ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics & Automation สร้างความเชื่อมโยง Ecosystem เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะใช้นวัตกรรมนำการผลิต เกิด Industry 4.0 ขึ้นจริงในพื้นที่ อีอีซี ดึงดูดเงินลงทุนนวัตกรรมขั้นสูงจากนักลงทุนทั่วโลก

โดยคาดว่า การลงทุนด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) เป็นเครื่องมือสำคัญให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า จะเกิดการลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้โรงงานในอีอีซี เริ่มประยุกต์ใช้เตรียมความพร้อมสำรวจการออกแบบระบบและเชื่อมหาแหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ยกระดับรายได้แรงงานไทย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน   

คลังเปิดวิธีคนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้ สั่งซื้ออาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประชาชนผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่จะใช้สิทธิซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่จะเปิดให้ใช้บริการตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป เวลา 06.00 – 20.00 น. ของทุกวัน สามารถดำเนินการได้ดังนี้

1. เข้าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กดแถบแบนเนอร์ (Banner) ฟู้ดเดลิเวอรี่ในหน้าแรก หรือสามารถเข้าผ่าน g-Wallet กด Banner โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แล้วจึงกด Banner ฟู้ดเดลิเวอรี่
2. กด “สั่งผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม” บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วจึงเลือกผู้ให้บริการฟู้ด เดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ต้องการใช้งาน หรือสามารถกด “ค้นหาเมนูหรือร้านอาหาร” เพื่อเลือกซื้ออาหาร/เครื่องดื่มได้
3. หลังจากเลือกตามข้อ 2 ระบบจะเชื่อมไปที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มเพื่อสั่งอาหาร/เครื่องดื่มจากร้านอาหาร/เครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยประชาชนจะต้องชำระค่าส่งที่แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มก่อน
4. ประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนให้ชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มบน g-Wallet และกดปุ่มชำระค่าอาหาร/เครื่องดื่มพร้อมใช้สิทธิผ่าน g-Wallet โดยต้องชำระเงินภายใน 5 นาที


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top