รมว.อุตสาหกรรม เผย 8 เดือน ดัชนีเอ็มพีไอพุ่ง 7.13% หลังได้ปัจจัยบวกจากการคลายล็อก - ส่งออกขยายตัว - ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนในโรงงาน ช่วยดันเศรษฐกิจไทย

29 ก.ย. 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาคผลิตอุตสาหกรรมว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) 8 เดือนแรก ปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 7.13% จากทิศทางของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาครัฐ มาตรการควบคุมพื้นที่เฉพาะหรือบับเบิลแอนด์ซีล และโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหรือแฟคทอรี่แซนด์บอกซ์ ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสศอ. กล่าวว่า เอ็มพีไอเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.71 หดตัว 4.15% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม เดือนส.ค. 2564 หดตัวเช่นกันอยู่ที่ 2.52% นอกจากนี้เอ็มพีไอที่ลดลงยังมีสาเหตุจากการขาดแคลนชิปทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดจนกระทบต่อการผลิตและการจำหน่าย ในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

อย่างไรก็ตามเอ็มพีไอช่วง 8 เดือนเป็นปัจจัยบวก 7.13% เนื่องจากการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี ล่าสุดการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนส.ค. 2564 ขยายตัว 3.25% มูลค่า 17,100.80 ล้านเหรียญ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัว 19.74% มูลค่า 16,436.60 ล้านเหรียญ

"สศอ.ยังคงเป้าหมายเอ็มพีไอปีนี้อยู่ที่ 4-5% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3-4% โดยจะพิจารณาตัวเลขเป้าหมายอีกครั้งเดือนพ.ย.นี้ โดยเอ็มพีไอหลังจากนี้ต้องเกาะติดการระบาดและการฉีดวัคซีนโควิดในโรงงาน การขาดแคลนชิปทั่วโลก มาตรการคลายล็อกต่อเนื่อง และการส่งออกที่เป็นปัจจัยบวกสำคัญของภาคผลิตไทย" นายทองชัย กล่าว