Wednesday, 4 December 2024
ECONBIZ NEWS

สมาคมธนาคารไทย ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 6 เดือน 1 แสนล.

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธนาคารต่าง ๆ กำลังเร่งพิจารณาคำขออนุมัติสินเชื่อที่สามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะเห็นยอดตัวเลขสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นไปตามเป้า 1 แสนล้านบาท ใน 6 เดือนแรก

“แม้ระยะเวลาที่เปิดให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการไม่นานนัก เพียงแค่ 3 สัปดาห์ ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว 15,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการ SMEs 5 พันกว่าราย ซึ่งจำนวนนี้เป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมกับธนาคาร ทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ ครอบคลุมทุกธุรกิจทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทย ยังได้ร่วมมือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยขอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวบรวมรายชื่อข้อมูลของผู้ประกอบการที่สนใจขอสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องและหาแนวทางข้อสรุปในการช่วยเหลือแต่ละราย ซึ่งสมาคมธนาคารไทยจะได้ส่งต่อให้กับธนาคารสมาชิกต่อไป

นอกจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว ยังมีอีกมาตรการที่ผู้ประกอบการธุรกิจให้ความสนใจอย่างมาก คือ โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปรกอบธุรกิจสามารถหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราว เพื่อรอเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยไม่สูญเสียกิจการไป แต่เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือนี้เป็นเรื่องใหม่ มีรายละเอียดเงื่อนไขเฉพาะธนาคาร มีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน ต้องอาศัยความเข้าใจและความเห็นชอบของลูกหนี้และเจ้าหนี้ อีกทั้งยังมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับภาษี ค่าธรรมเนียมในการโอนทรัพย์เพื่อพักชำระหนี้ ซึ่งต้องอาศัยระเบียบวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ

งานนี้ CP ไม่เกี่ยว! ปัดเอี่ยวรัฐบาล ซื้อ 'ซิโนแวค' เล็งเอาผิด หากพบคนบิดเบือนข้อมูล

CP ออกแถลงการณ์แจงไม่เกี่ยวข้องกรณีรัฐบาลสั่งซื้อวัคซีน 'ซิโนแวค' ชี้เป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ยืนยันไม่ได้ถือหุ้น 15% ขู่เอาผิดคนบิดเบือนข้อมูล

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 ระบุว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาล ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เนื่องจากปัจจุบันปรากฏข่าวสารสับสนเกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ทางโลกออนไลน์ โดยระบุว่า

1.) ซีพีถือหุ้นซิโนแวค 15% และ

2.) ซีพีอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้

1.) การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค เป็นแบบรัฐบาล ต่อรัฐบาล (G2G) เท่านั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับซีพี ทั้งทางตรง และทางอ้อม

2.) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น บริษัทซิโนแวค 15% ตามที่เป็นข่าว โดย

ข้อเท็จจริง ผู้ลงทุน คือ Sino Biopharmaceutical ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของจีน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยในบริษัท Sino Biopharmaceutical นี้ เท่านั้น

ข้อเท็จจริง ผู้ขายหุ้น คือ Sinovac Life Sciences เป็นบริษัทลูกของบริษัท ซิโนแวค ต้องการระดมทุน เพื่อต้องการขยายกำลังการผลิตวัคซีนซิโนแวค

ข้อเท็จจริง Sino Biopharmaceutical เข้าไปถือหุ้นใน Sinovac Life Sciences จำนวน 515 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15.03% ถือเป็นการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวเอง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีหุ้นใด ๆ และไม่ได้มีสิทธิการเป็นเจ้าของ ในบริษัท Sinovac Life Sciences ใด ๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยใน Sino Biopharmaceutical ที่เข้าไปลงทุนผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ไม่มีสิทธิในการบริหารและแทรกแซงการตัดสินใจใด ๆ ใน Sinovac

และเครือเจริญโภคภัณฑ์ขอยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กับการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาล เข้ามาในประเทศไทยอย่างที่เกิดการบิดเบือนในสื่อออนไลน์แต่อย่างใด ทั้งนี้ หากพบว่า ยังมีการเจตนานำข้อมูลไปบิดเบือน และ สร้างความเสียหาย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม เพิ่มโอกาสทางการตลาด กระตุ้นธุรกิจการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโต ผ่านการจัดแสดงสินค้าออนไลน์รูปแบบเสมือนจริง THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition”

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถาการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายสาขา แต่อุตสาหกรรมอาหารยังได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว โดยรายงานของสถาบันอาหาร ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2563 อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 11 เดือน อยู่ที่ 981,430 ล้านบาท หดตัวลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 7.39 แต่แนวโน้มในปี 2564 นี้ มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมอาหารจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 12 และจะมีมูลค่าราว 1.08 -1.10 ล้านล้านบาท เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการเลือกสินค้าอาหาร หรือวัตถุดิบ เพื่อมาประกอบอาหารเองเพิ่มมากขึ้น

“ดีพร้อม เล็งเห็นถึงโอกาส และความสำคัญของการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มให้สามารถเดินหน้าต่อได้ ภายใต้สถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ จึงเร่งออกมาตรการและแนวทางการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเร็วในหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการขยายช่องทาง

"ขณะเดียวกันเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดกิจกรรมผ่านเวทีการแสดงสินค้านานาชาติรูปแบบออนไลน์เสมือนจริงในงานแสดงสินค้าอาหาร 2564 หรือ THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition” ซึ่งการจัดงานเกิดจากการ่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับหอการค้าไทย"

การจัดงานในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด Driving the next normal ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม "สู่วิถีใหม่” เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารเติบโตได้อย่างต่อเนื่องภายในปี 2564

ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการแสดงคูหาเสมือนจริงผ่านรูปแบบ 3 มิติ โดยผู้ชมงานจากต่างประเทศสามารถเข้าไปเลือกสินค้าในชั้นวางสินค้า ชมคลิปวิดีโอ เปิดแคตตาล็อกสินค้า ฝากข้อความนัดเวลาเจรจาการค้าล่วงหน้า หรือเจรจาการค้าได้ทันที โดยจะเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมแสดงสินค้างาน ได้โอกาสใหม่ ๆ ในการเข้าถึงตลาดในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ทาง ดีพร้อม ยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารที่มีศักยภาพและความพร้อมเข้าร่วมงานในครั้งนี้ จำนวน 20 ราย อาทิ บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน, บริษัท ทิกเกิ้ล ไทม์ จำกัด, บริษัท โคโคเน่ น้ำมันมะพร้าว จำกัด, บริษัท ใบชาโชคจำเริญ จำกัด, บริษัท แคปหมึก ฟู้ดแอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, บริษัท ด.เด็กกินผัก จำกัด, บริษัท พีอันต้า จำกัด, บริษัท ชาโลม เฮลท์ จำกัด, บริษัท จตุพล ชาไทย (ดอยแม่สลอง) ฯลฯ โดยนำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องหอมไทย ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป เข้าร่วมในงานครั้งนี้

คาดว่าการสนับสนุนในครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะผู้ซื้อชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานกว่า 1,230 ราย นายณัฐพล กล่าวเสริม

ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้างานแสดงสินค้าอาหาร 2564 พร้อมชมนิทรรศการเสมือนจริง ภายในงาน THAIFEX-Virtual Trade Show ระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2564 และงาน THAILEX-ANUGA “The Hybrid Event” ได้ในระหว่างวันที่ 29 กันยายน-3 ตุลาคม 2564 ผ่านทาง www.dipromvirtual.com


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

อินเตอร์ลิ้งค์ พบนักลงทุน ประจำไตรมาส 1 ปี 2564 เดินหน้าสร้าง New-S curve ใหม่ ๆ มั่นใจแนวโน้มรายได้ในปีนี้จะนิวไฮแน่นอน

ILINK พบนักลงทุน Opp Day Q1/64 (25 พ.ค. 64) นำโดย คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ พร้อมด้วย คุณวริษา อนันตรัมพร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยสาระสำคัญ “สำหรับผลการดำเนินงาน มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 21% โดยเป็นผลมาจากกระแส Digital และลุยสร้าง New-S curve ใหม่ ๆ มั่นใจได้ว่าแนวโน้มรายได้ในปีนี้จะนิวไฮตามเป้าอย่างแน่นอน” ทั้งนี้ เป็นการ Live จาก อาคาร สนง.ใหญ่ รัชดา


 

จับตาวาระครม.ด้านเศรษฐกิจเสนอที่ประชุมหลายเรื่อง

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 มีวาระน่าสนใจเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา โดยพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะฝ่ายเลขาของ ศบค. เสนอมติที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา ให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค. 2564 รวมเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากพบการระบาดหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ ที่ตรวจพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ หลายแห่ง 

ส่วนวาระอื่น ๆ กระทรวงการคลัง เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งร่างกฎกระทรวงการอนุญาตจัดตั้งและการเลิกดำเนินการเขตปลอดอากร และร่างกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร 

รวมถึง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรรวม 4 ฉบับ คือ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 และมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) จากที่สิ้นสุดระยะเวลาไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 

ส่วนกระทรวงพาณิชย์เสนอ ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถจักรยานยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และปรับลดขั้นตอนการนำเข้ารถจักรยานยนต์ใช้แล้วบางประเภทเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว

สปส.ห่วงความปลอดภัยนายจ้าง ผู้ประกันตน แนะติดต่องานประกันสังคม ห่างไกลโควิด-19 ผ่านช่องทาง SSO e-Service หรือระบบออนไลน์

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดสถานที่บางแห่งเป็นการชั่วคราว การงดจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งให้ลดการรวมตัวกันเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำนักงานประกันสังคมได้ตอบสนองมาตรการภาครัฐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของผู้ประกันตน ผู้ใช้บริการ และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมกับสำนักงานประกันสังคม ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่ไม่ต้องเดินทางเข้ามายังสำนักงานประกันสังคม ได้หลากหลายช่องทาง ดังนี้

กรณีผู้ประกันตน ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และชราภาพ ท่านสามารถรับแบบขอรับสิทธิประโยชน์ได้ที่ช่องทาง download แบบฟอร์มขอรับประโยชน์ทดแทนใน www.sso.go.th และส่งแบบพร้อมเอกสารได้ที่ไปรษณีย์ลงทะเบียน (AR ตอบรับ) โทรสาร (Fax) ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) แอพพลิเคชั่น (Line) รายละเอียดของแต่ละหน่วยงานท่านสามารถเข้าดูได้ที่ www.sso.go.th หรือ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับงานประกันสังคม สามารถติดต่อสอบถามที่หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th ผ่านช่องทาง E-mail : [email protected] Webboard (กระดานสนทนา) Live Chat รวมทั้ง Facebook.com/ssofanpage สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

กรณีนายจ้างขอทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้นายจ้างเข้าช่องทาง e-Service ในเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ในหัวข้อบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขอ User สถานประกอบการ และ Password เพื่อการนำส่งข้อมูลเงินสมทบ แจ้งผู้ประกันตน เข้า-ออก จากงาน หรือแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ประกันตน พร้อมชำระเงินสมทบของผู้ประกันตน ผ่านระบบ e-payment ได้ตลอดเวลา

กรณีการตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกันตน สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบ ยอดเงินชราภาพ และการรับสิทธิประโยชน์รวมถึงเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทุกกรณี โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลและสิทธิประโยชน์ ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ ช่องทางระบบสมาชิก ผู้ประกันตน ในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือทางโทรศัพท์มือถือ สามารถดาวน์โหลด Application SSO Connect หรือสอบถามผ่าน facebook Messenger ของสำนักงานประกันสังคม หรือโทรสายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำนักงานประกันสังคมจึงขอความร่วมมือ นายจ้าง ผู้ประกันตน ใช้ช่องทางดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการรวมตัวกัน ป้องกันการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี สำนักงานประกันสังคม พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีความมุ่งมั่นช่วยเหลือป้องกันและควบคุมโรค เพื่อความมั่นคงต่อชีวิตและความปลอดภัยต่อสุขภาพของพี่น้องผู้ประกันตนเป็นสำคัญ

'ล็อกเป้า เล็งทิศ' เศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทย ใน 5​ ปี พร้อมแผนจุดติดเศรษฐกิจไทย หลังยุคโควิด

(24 พ.ค. 64) สัมมนาวิชาการ ประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า “EEC Macroeconomic Forum” ในรูปแบบออนไลน์ (VDO conference) โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นผู้ดำเนินการ และมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่...

ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง พร้อมกลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมกว่า 600 คน

สัมมนาวิชาการฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่นักวิชาการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ร่วมหารือแนวทางเตรียมพร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อผลักดันเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยการสัมมนาวิชาการฯ ได้นำเสนอภาพเศรษฐกิจไทยว่าจะเติบโตจากปัจจัยใดหลังโควิด-19 อาทิ...

>> การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่สร้างมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มเทคโนโลยีการผลิต และส่งออกสินค้าให้เท่าทันโลก

>> ความจำเป็นของข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งการกระจายความเท่าเทียม สร้างโอกาสทางรายได้และการศึกษา

>> การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

สำหรับประเด็นสำคัญ สัมมนาประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า พบว่า...

เศรษฐกิจไทยปี 2564-2565 และการบริหารภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยที่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น โดยประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 กรอบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่าง 1.0-2.0% และปี 2565 จะขยายตัวระหว่าง 1.1-4.7% ซึ่งการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นตัว และมาตรการการคลังของภาครัฐมีความสำคัญช่วยบรรเทาเยียวยาได้ ให้ระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ในเกณฑ์ รวมทั้งนโยบาย

ด้านการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการเต็มที่ ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดประวัติการณ์ และมาตรการช่วยเหลือประชาชน เอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงิน จะช่วยคลายความกังวล อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ให้มีแนวโน้มลดต่ำลง และช่วยลดการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจากโควิด-19

มาตรการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ และประมาณการความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลางจากมาตรการบรรเทาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้อนุมัติโครงการแล้ว 8.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 83% ของวงเงิน และครอบคลุม ด้านสาธารณะสุข ด้านผลกระทบระยะสั้น และด้านการฟื้นฟูระยะยาว

ทั้งนี้ ในส่วนหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 54.3% ต่อ GDP ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์กรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 60% และอยู่ในวิสัยที่ประเทศไทยเคยเผชิญจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ด้านการก่อหนี้ภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินในรูปแบบเงินบาท ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ โดยการกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท นั้น อาจส่งผลต่อหนี้สาธารณะขั้นต้น (Gross debt) เกินกว่า 60% ต่อ GDP เล็กน้อย แต่จะไม่กระทบต่อความยั่งยืนของการคลังในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีหนี้สาธารณะระดับไม่น้อยกว่า 30% ต่อ GDP เพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร (Bond) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน

ความเหลื่อมล้ำ : โจทย์สำคัญหลังโควิด-19 ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยจะมีโจทย์สำคัญ 3 ด้าน ที่ต้องเผชิญ ได้แก่

การเติบโตที่ไม่สมดุลเชิงพื้นที่ จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก่อนโควิด-19 เมืองหลักที่เป็นเมืองเศรษฐกิจมีเพียง 15 จังหวัด คิดเป็น 70% ของ GDP ประเทศ เมืองรองยังคงเป็นจังหวัดที่ยากจน โดยโควิด-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับด้าน (Reverse trend) ย้ายออกเพราะตกงาน และย้ายเข้าเมืองหลวง เพื่อหางานทำ ความยากจนเหลื่อมล้ำเรื้อรัง โควิด-19 ทำให้คนจนเพิ่มขึ้นทั่วโลก 15 ล้านคน เป็นคนไทย 1.5 ล้านคนจากฐานคนจนเดิม 4.3 ล้านคน ส่งให้ผลคนจนในไทยเพิ่มขึ้นรวม 5.8 ล้านคน (เท่ากับจำนวนคนจนปี 2559)

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี 30 จังหวัด ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว​ โดยสหประชาชาติประเมินว่า ในปีหน้า 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) และในปี 2573 จะเข้าสู่อย่างเต็มที่ (Super aged society) และในอีก 10 ปี ประชากรและวัยแรงงานของไทยจะลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาระการคลัง และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะมีศักยภาพลดลง

ในส่วนของประมาณการศักยภาพของประเทศ ในแผน 13 (5 ปีข้างหน้า) นั้น​ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประเทศ หายไปสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นชนวนสำคัญเร่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าช่วงปกติก่อนโควิด-19 ที่ประมาณการไว้เพียง 3-4 % ซึ่งเป็นเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ทั้งนี้ การจัดทำแผน ฯ 13 ในปี 2565 ที่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจาก 2.5% เป็น 4.5% จำเป็นต้องเกิดการลงทุนเพิ่มปีละ 6 แสนล้านบาท ซึ่งมีข้อจำกัดแหล่งเงินในการสนับสนุนลงทุนในประเทศ และภาครัฐไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่น เช่น สภาพคล่องส่วนเกินที่มีในระบบ และการเร่งดึงเงินลงทุนจากภาคเอกชน และต่างประเทศ โดยเงินลงทุนในระยะยาวของประเทศต้องดำเนินการอย่างมีระบบในพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพ และจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

'อลงกรณ์' เดินหน้าเพชรบุรีโมเดลขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ '1 ปิด 1 เปิด' สู้ภัยโควิด-19 ลงพื้นที่ระดมพลคนเกษตรร่วมมือภาครัฐภาคเอกชนขยายเศรษฐกิจการค้าตลาดกลางสินค้าเกษตร 'ท่ายาง-บ้านลาด' ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มยอดขายขยายการค้าช่วยเกษตรกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายใต้ข้อสั่งการของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทีมเกษตรเพชรบุรี ได้เริ่มเดินหน้าเพชรบุรีโมเดล ด้วยยุทธศาสตร์ '1 ปิด 1 เปิด' อย่างต่อเนื่องหลังจากช่วยฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโควิดในชุมชนโรงงานกลุ่มคลัสเตอร์แคลคอมพ์แล้ว

โดยเมื่อวันอาทิตย์ (23 พ.ค.) ที่ผ่านมาตนและคณะประกอบด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด นางวันเพ็ญ มังศรี, นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย, นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซของกระทรวงเกษตร, นายอรรถพร พลบุตร คณะที่ปรึกษารมช.สาธารณสุข, ดร.ทัดทอง พราหมณี ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, ดร.บัญญัติ ศิริธนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ AIC และคณบดีคณะเกษตรพร้อมด้วยพาณิชย์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด พร้อมด้วยนายพันธุ์ธัช หิรัญจิรวงศ์ประธานหอการค้า, นางอารี โชติวงศ์ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานบริษัทประชารัฐเพชรบุรี ทีมกรมประชาสัมพันธ์, นายหยัน เยื่อใยประธานและคณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรท่ายาง, นายฟื้น พูลสมบัติ ประธานและคณะกรรมการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด และผู้บริหารแพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ต (Thailand postmart) ได้ลงพื้นที่ตลาดกลางสินค้าเกษตรท่ายางและตลาดกลางสินค้าเกษตรบ้านลาดพร้อมรับฟังบรรยายสรุปและร่วมประชุมหารือโครงการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางการตลาดใหม่เสริมการค้าแบบออฟไลน์ เพื่อเพิ่มยอดขายและขยายเศรษฐกิจการค้า ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวโดยจะเร่งดำเนินการเริ่มคิดออฟการค้าออนไลน์ทั้งการค้าแบบ B2B และ B2C ภายใน 10 วัน

นอกจากนี้ยังให้ส่งเสริมเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ สมุนไพร สินค้าประมงและปศุสัตว์ในตลาดกลางสินค้าเกษตรทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ในการกำกับของกระทรวงเกษตรฯ เพียงจุดเดียวในรัศมี ตั้งแต่จังหวัดชุมพรจนถึงกาญจนบุรีและสมุทรสาคร พร้อมกับให้คณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซนำระบบสั่งซื้อล่วงหน้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (Pre order platform) มาใช้ด้วยหลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดทุเรียนในประเทศจีน ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ ระบบประกันสินค้า ระบบสร้างแบรนด์สหกรณ์และสินค้าเกษตรมาใช้ด้วยและจะร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ AIC เพชรบุรีในการอบรมบ่มเพาะด้านอีคอมเมิร์ซซึ่งจะให้ทีม Local Hero ที่ผ่านการฝึกอบรมการขายออนไลน์ของกระทรวงเกษตรมาช่วยสนับสนุนการทำงานและการสร้างคอนเท้นต์ของสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานกระทรวงเกษตรเร่งตรวจประเมินขึ้นทะเบียนรับรอง GAP และ GMP เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

นอกจากนี้บริษัทไปรษณีย์ไทยจะจัดตั้งหน่วยบริการพิเศษในตลาดกลางทั้ง 2 แห่ง เพื่อบริการการขนส่งทั้งระบบปกติและระบบควบคุมความเย็น (Cool container) สำหรับผักและผลไม้โดยใช้แพลตฟอร์มไทยแลนด์โพสต์มาร์ต

ในขณะที่พาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจะช่วยด้านข้อมูลสถานประกอบการและโรงงานในกลุ่มเป้าหมาย B2B

สำหรับสหกรณ์การเกษตรท่ายางและบ้านลาดรับผิดชอบการพัฒนาตลาดกลางและการคัดเลือกเกษตรกร รวมถึงสินค้าเกษตรให้พร้อมขึ้นด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์

โดยที่ประชุมกำหนดเป้าหมายให้เริ่มการขายออนไลน์ภายใน 10 วัน ภายใต้ความพร้อมทั้งต้นน้ำการผลิต การแปรรูปการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ การจัดการตลาด การพัฒนาคน การบริหารโลจิสติกส์ การบริหารธุรกิจและแพลตฟอร์มออนไลน์ภายใต้แบรนด์สินค้าเกษตรเพชรบุรีที่สดสะอาดปลอดภัยจากไร่ถึงลูกค้า

นายอลงกรณ์กล่าวในตอนท้ายว่า "เราระดมพลคนทุกภาคส่วน ปิดเกมโควิดให้เร็วที่สุดพร้อมกับเปิดธุรกิจการค้าให้กว้างที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน 'ยุทธศาสตร์ 1 ปิด 1 เปิด' โดยเริ่มที่เพชรบุรีโมเดลเป็นจังหวัดแรกก่อนขยายไปจังหวัดอื่น ๆ ประการสำคัญคือเพชรบุรีอยู่ในกลุ่ม 10 จังหวัดแรกที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดรับการท่องเที่ยวจึงต้องเร่งมือเตรียมจังหวัดเพชรบุรีให้พร้อมสำหรับโอกาสในอนาคต"


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

สศช.เปิดสถิติสังคม ไตรมาส1/2574 คนว่างงานพุ่ง 7.6 แสนคน

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2564 ว่า ภาวะการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้น 0.4% จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคเกษตรตามภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวยังหดตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นสูง โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 0.76 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.96%สูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิด ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามขณะจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมอยู่ที่ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 การทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 129.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ จากภาพรวมที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ซึ่งจะทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน

ทั้งนี้มีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ ถ้าโควิดยังไม่จบลงง่าย ๆ จะส่งผลกระทบต่อแรงงานในกลุ่มเอสเอ็มอีตกงานมากขึ้น หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน เช่นเดียวกับแรงงานในภาคการท่องเที่ยวกว่า 7 ล้านคน อาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่ และยังพบว่าตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอจะรองรับนักศึกษาจบใหม่ในปี 64 ที่จะมีอีกประมาณ 4.9 แสนคน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง 6 ไตรมาส ติดต่อกัน และการว่างงานเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าแรงงานมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ผู้ว่างงานจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเป็นผู้ว่างงานระยะยาวมากขึ้น หรือว่างงานมากกว่า 12 เดือน โดยการว่างงานเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อรายได้ และทำให้ทักษะแรงงานลดลง อีกทั้งแรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้างจำนวนมากได้กลายเป็นแรงงานนอกระบบ ตั้งแต่การระบาดรุนแรงในปี 63 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และขาดหลักประกันทางสังคมด้วย

สำหรับแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 64 คาดว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อน COVID-19 ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ปี 64 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง

ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม

ทั้งนี้ไตรมาส 1/64 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง 65.4% เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง 94.3% ผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลง 74.0% และผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลง 41.4%แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว รวมทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว อาทิ การบริโภคผักและผลไม้น้อย การบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงกว่ากลุ่มอื่น

จับตาหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกระทบกำลังซื้อ-แรงงานรายได้หาย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 64 ว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปี 64 จะยังคงอยู่ในระดับสูง หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักตั้งแต่ต้นปี โดยตลาดแรงงานจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจนทำให้รายได้ลดลง และส่งผลให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจากนี้ประเมินว่า ครัวเรือนจะมีการกู้เงินมาใช้ประคองชีวิตตัวเองมากขึ้น ทั้งสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต  

ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นต้องดูดัชนีมูลค่าเงินฝากต่อบัญชีที่ต่ำกว่า 100,000 บาท ปัจจุบันนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นว่าคนเอาเงินฝากมาใช้จ่ายมากขึ้น หลังจากครัวเรือนประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือดูแลในช่วงต่อไป สภาบันการเงินต่าง ๆ ควรช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ย เพื่อให้ครัวเรือนที่เดือดร้อนได้มีเงินไปใช้จ่ายรายเดือนมากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องเฝ้าระวังเรื่องหนี้นอกระบบที่อาจเพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะครัวเรือนรายได้น้อยอาจหันไปกู้หนี้นอกระบบจนซ้ำเติมปัญหาหนี้เดิมที่มีอยู่ 

สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 4 ปี 63 พบว่า มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top