Friday, 28 June 2024
ECONBIZ NEWS

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เดินหน้าโครงการ เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงิน ผ่านหลักสูตร “SMEs รอบรู้เรื่องบัญชี วางแผนดี ขอสินเชื่อกี่ทีไม่มีพลาด” เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ปัจจุบัน

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อม ได้พัฒนาหลักสูตร “SMEs รอบรู้เรื่องบัญชี วางแผนดี ขอสินเชื่อกี่ทีไม่มีพลาด” หลักสูตรออนไลน์ ภายใต้โครงการ เตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หรือผู้ประกอบการที่ต้องการขยายธุรกิจ ให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีแผนงานที่ชัดเจนในการสร้างสภาพคล่องทางธุรกิจ ทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบและทราบถึงสุขภาพทางการเงินของกิจการได้ โดยเนื้อหาของหลักสูตร แบ่งออกเป็น 5 บทเรียน

ประกอบด้วย ความรู้บัญชีเบื้องต้น การบริการจัดการเงิน ตัวอย่างการวิเคราะห์ธุรกิจ ภาษีธุรกิจ และการจัดการสินเชื่อ ผ่านการบรรยายให้ความรู้ในรูปแบบออนไลน์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกเรียนได้ทุกที่และทุกเวลากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นสื่อกลางให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งจากผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชน ประสบปัญหาด้านการบริหารการเงินของธุรกิจและการขอสินเชื่อเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นผลมาจากการขาดทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการบัญชีธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางส่วนมีหลักฐานทางบัญชียังไม่ชัดเจน ไม่สามารถระบุเส้นทางเข้าออกของรายได้ จึงพลาดการพิจารณาให้สินเชื่อ เพื่อนำเงินทุนมาพัฒนาและต่อยอดให้กับธุรกิจของตนได้เพียงพอ

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีพร้อม ในฐานะหน่วยงานที่อยู่เคียงข้างผู้ประกอบการและส่งเสริมในทุกมิติ ยังมีข้อแนะนำแนะนำ 6 ข้อที่ผู้ประกอบการต้องพัฒนาสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินดังนี้

F: Financial Intelligence : ความรู้ความเข้าใจในข้อมูลการเงินที่จำเป็น คือ ต้องมีความรู้ด้านบัญชีพื้นฐาน เพื่อให้ทราบถึงตัวแปรต่าง ๆ ที่มีผลต่อสถานะทางการเงินของธุรกิจ รวมทั้งการบันทึกบัญชีให้เป็นปัจจุบัน เพื่อการวางแผนรับมือ หรือเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงินได้ทันท่วงที

I : Investment : การลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้นอกจากการลงทุนในเครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตแล้ว ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนกับคน หรือ บุคลากรในองค์กร ให้มีทักษะที่สามารถทำงานได้หลายรูปแบบ

N: New Normal Opportunity : โอกาสและความเสี่ยงในสถานการณ์ปกติใหม่ คือ ความเสี่ยงทางธุรกิจ และโอกาสทางธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ในแผนการเงิน เนื่องจากภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมจะเปลี่ยนไป อาจมีทั้งโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นในบางประเภทของกิจการ อาทิ ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโลจิสติกส์และความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับกลุ่มธุรกิจที่อยู่นอกเหนือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ อาทิ ธุรกิจบริการ ธุรกิจแฟชั่น และธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

S: Statement for Loan : การเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อ คือการเตรียมแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ต้องแสดงให้สถาบันการเงินเห็นว่า ธุรกิจสามารถทำกำไร และมีหลักประกันทางธุรกิจที่มั่นคง พร้อมทั้งหลักฐานทางบัญชีที่แสดงถึงเส้นทางการเข้า-ออกของรายได้และรายจ่ายต่าง ๆ รวมทั้งแผนบริหารการเงินที่เหมาะสม

E: Earning / Cash Flow : ความเข้าใจด้านกำไรและกระแสเงินสด คือ ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ทางการเงินของธุรกิจในทุกด้านให้มีความพร้อม ซึ่งกระแสเงินสดถือเป็นปัจจัยหลัก เพราะหากมีกระแสเงินสดเพียงพอ ผู้ประกอบการสามารถใช้กลยุทธ์เพื่อสร้างกำไรให้กับสินค้าและบริการ แต่หากไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อให้มีเงินสดเข้าสู่บัญชีเพิ่มขึ้น แต่มีผลกำไรที่ลดลง

R: Re-Check : การตรวจสอบแผนการเงิน เพื่อให้ทราบถึงจุดแข็ง-จุดอ่อน และทราบถึงปัจจัยเสี่ยง ของแผนการเงิน รวมทั้งการวางแผนสำรองเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ อันแสดงถึงความรอบครอบและความพร้อมของผู้ประกอบการ

“นอกจากความรู้ด้านการเงินผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องหาแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ของธุรกิจลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์อนาคตให้รอบคอบ เพื่อที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านการเงินสามารถลงทะเบียนหลักสูตร “SMEsรอบรู้เรื่องบัญชี วางแผนดี ขอสินเชื่อกี่ทีไม่มีพลาด” ผ่านเว็บไซต์ https://www.dip-sme-academy.com/ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงสามารถสมัครเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงิน (วันที่ 29-30 เมษายน พ.ศ.2564) โดยเนื้อหาในหลักสูตรจะสอนตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการขอสินเชื่อธุรกิจ ตลอดจนการเขียนแผนธุรกิจเพื่อใช้ประกอบการขอสินเชื่อ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อธุรกิจสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564 ผ่านเว็บไซต์ https://i.industry.go.th/ ระบบลงทะเบียนลูกค้ากระทรวงอุตสาหกรรม เลือกลงทะเบียนกิจกรรม A664 กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงิน (จ.เชียงใหม่) สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ โทรศัพท์ 0 2202 4564 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th

โควิดทำพิษ! รัฐบาลรับจีดีพีปีนี้พลาดเป้า 4%

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อาจโตไม่ถึงเป้าหมาย 4% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดขงไวรัสโควิด-19 ในระลอกใหม่เดือนเมษายน อย่างหนัก แม้ว่าในปัจจุบันการส่งออกจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่รัฐบาลจะต้องกลับไปดูในเรื่องการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในประเทศว่าจะกระตุ้นอย่างไรด้วย 

“แม้ว่าจีดีพีที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4% อาจไม่เป็นไปตามเป้า แต่เราจะต้องกัดฟันสู้ พยายามหาโอกาส แม้จะเป็นรูที่เล็ก แต่ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อทุกคนในประเทศ  ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศยังเดินหน้าต่อ และมีโครงการดี ๆ ที่ยังรออยู่ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่และคนไทยทุกคน โดยการเดินหน้าเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งจะทำงานอย่างเต็มที่ทั้ง 2 ทาง”

รองนายกฯ ยอมรับว่า ขณะนี้ ต้องเอาเรื่องของความมั่นใจของประชาชนก่อน เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือต้องควบคุมการแพร่ระบาด โดยไม่ให้ประชาชนรู้สึกกังวล ซึ่งเชื่อว่าจะดีขึ้น เพราะเราปรับตัวกันพอสมควรแล้ว และยังเชื่อมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุข และศบค.จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดหลังระบาดในรอบนี้ได้ แต่ก็ขอให้ประชาชนมีความระมัดระวัง ส่วนจะกระทบกับแผนการเปิดประเทศในวันที่ 1 ก.ค.นี้ หรือไม่ คงต้องประเมินสถานการณ์รายวันต่อไป

พิษโควิดหลังสงกรานต์ ทุบหุ้นไทยเปิดลด 8.96 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยเปิดภาคเช้า วันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2564 ดัชนีอยู่ที่ 1,532.16 จุด ลดลง 8.96 จุด มูลค่าการซื้อขาย 12,038.03 ล้านบาท โดย บล.กรุงศรี ประเมินว่า ดัชนีหุ้นไทยวันนี้อ่อนตัว 1,530 - 1,535 จุด ก่อนจะสลับรีบาวด์จากแรงกดดันยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศพุ่งขึ้นสูงถึงวันละ 1,500 คน ส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบยังดีดตัวขึ้นเหนือ 63 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลด้วย

ด้าน บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองแนวโน้มเช่นกันว่า ดัชนีคาดว่าจะแกว่งตัวลงก่อนค่อยปรับตัวขึ้นทีหลังระหว่าง 1,525 - 1,550 จุด จากปัจจัยลบภายในประเทศเป็นหลัก โดยการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศยังคงทวีความรุนแรง ติดตามตัวเลขหลังเทศกาลสงกรานต์โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศยังคงเดินหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,543 ราย ประกอบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ในภาพรวมทางฝ่ายวิจัยจึงยังไม่เห็นทิศทางที่ผู้ติดเชื้อรายวันจะปรับตัวลดลงได้ในระยะเวลานสั้น และคาดว่าปัจจัยนี้จะกดดันตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลงในระยะสั้นด้วย

ทั้งนี้ยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ โดยล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 16 เมษายนว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัว 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แม้น้อยกว่าที่มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโต 19% แต่สถิติล่าสุดที่ออกมา ถือเป็นการขยายตัวรายไตรมาสของจีดีพีจีน ในระดับมากที่สุดตั้งแต่ปี 2535

แห่แก้หนี้บัตรเครดิตกว่า 2 แสนคน!! ธปท.เล็งขยายเวลาแก้หนี้ออกไปถึง 30 มิ.ย. 64 หลังประชาชนตอบรับล้นหลาม พร้อมเตรียมจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ให้ครอบคลุมสินเชื่อเช่าซื้อ คาดเริ่มพฤษภาคมนี้

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี ได้ร่วมกันจัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” (หนี้บัตรฯ) โดยเดิมได้กำหนดช่วงเวลาของงานไว้ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 14 เมษายน 2564 ปรากฏว่าผลตอบรับโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก กล่าวคือ มีประชาชนมากกว่า 2 แสนคน ให้ความสนใจและได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้เกือบ 5 แสนบัญชี ทั้งนี้ เมื่อใกล้ครบช่วงเวลาที่กำหนดไว้ มีข้อเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้ขยายระยะเวลาที่จัดงานออกไป

ธปท. ได้หารือเรื่องดังกล่าวกับผู้ให้บริการทางการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นร่วมกันที่ให้ขยายระยะเวลาจัดงานออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากและกว้างขวางยิ่งขึ้น ธปท. เห็นว่าแม้เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวจะมีทิศทางดีขึ้น และเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ความเสี่ยงที่อาจจะมีการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ยังมีอยู่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รายได้ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2564 ประชาชนให้ความสนใจเข้ามาลงทะเบียนจำนวน 234,906 คน หรือ 481,936 บัญชี ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการอยู่ระหว่างเร่งติดต่อ รวมทั้งตรวจสอบสถานะ และทยอยแจ้งผลเข้ามาต่อเนื่อง โดยภาพรวมการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พบว่า กลุ่มลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไข ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีอยู่จำนวน 110,956 บัญชี (ระหว่างนี้ยอดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามการพิจารณาของผู้ให้บริการที่ทยอยรายงานเข้ามา) โดยลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถตกลงเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ประมาณ 63% ส่วนกรณีที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุป บางส่วนอยู่ระหว่างกำลังตรวจสอบเอกสาร และเป็นผลจากลูกหนี้ยื่นขอไกล่เกลี่ยเข้ามาผิดกลุ่ม เช่น สถานะยังผ่อนชำระดี แต่ยื่นขอไกล่เกลี่ยในช่องทางของกลุ่มที่มีคำพิพากษาแล้ว เป็นต้น รวมทั้งบางกรณีลูกหนี้ยังไม่พร้อมที่จะผ่อนชำระตามแผน และบางรายต้องการข้อเสนอที่แตกต่างจากข้อตกลงของงานมหกรรมในครั้งนี้ โดยในช่วงที่ต่อเวลาคาดว่าสัดส่วนที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถไกล่เกลี่ยกันได้จะเพิ่มสูงขึ้น

นางธัญญนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท. ได้รับแจ้งมาว่าประชาชนในหลายกลุ่ม ยังไม่ทราบเกี่ยวกับงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรในครั้งนี้ จึงต้องการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรในครั้งนี้ให้ประชาชนทราบมากขึ้นในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนที่มีหนี้บัตรใช้โอกาสที่มีการจัดงานในครั้งนี้แก้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่ โดยความพิเศษของงานครั้งนี้ คือ ข้อเสนอการผ่อนชำระหนี้จะมีความผ่อนปรน และอยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะสามารถปฏิบัติได้ ให้เวลาผ่อนชำระยาวเพียงพอ

นอกจากนี้ งานมหกรรมครั้งนี้จะมีข้อเสนอสำหรับลูกหนี้ทุกกลุ่มสถานะ กล่าวคือ

กลุ่มแรก เป็นหนี้บัตรฯ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสียแต่รู้สึกฝืดเคือง หรือหนี้บัตรฯ ดีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 ท่านสามารถลดภาระดอกเบี้ยได้ โดยหยุดการจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งใช้เวลานานกว่าหนี้จะลด และขอเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อบัตร มาเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดเวลา ซึ่งจะได้รับดอกเบี้ยถูกลงจาก 16% เหลือ 12% สำหรับบัตรเครดิต โดยสามารถคงวงเงินที่เหลือไว้ใช้ได้ และประวัติเครดิตบูโรจะไม่เสีย

กลุ่มที่สอง เป็นหนี้บัตรฯ ที่เป็นหนี้เสียแล้ว ยังไม่ฟ้อง หรือฟ้องแล้วแต่ยังไม่พิพากษา สามารถผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ดอกเบี้ยต่ำเพียง 4%-7% ตามเงื่อนไขของคลินิกแก้หนี้

กลุ่มที่สาม เป็นหนี้บัตรฯ เป็นคดีมีคำพิพากษาแล้ว ไปจนถึงบังคับคดียึดทรัพย์แต่ยังไม่ขายทอดตลาด ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ และถือเป็นความพิเศษของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ คือ ปกติเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้ เจ้าหนี้มักจะไม่ยินยอมให้ผ่อนยาว แต่ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวน 23 แห่งที่ร่วมโครงการ เห็นความจำเป็นที่ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายเดินต่อไปได้ โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในชั้นบังคับคดีเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง โดยลูกหนี้จะผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 5 ปี และยกดอกเบี้ยที่ค้างให้หากลูกหนี้จ่ายชำระตามแผนได้สำเร็จ

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร 1213 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. กรณีนอกเวลาทำการท่านสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์มาที่ [email protected] เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของ ธปท.จะได้ติดต่อกลับไป

นางธัญญนิตย์ กล่าวด้วยว่า ธปท. ได้รับข้อแนะนำจากหลายภาคส่วนให้จัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับสินเชื่อประเภทอื่นเพิ่มเติม ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยเมื่อรายละเอียดต่าง ๆ มีความชัดเจนแล้วจะได้ชี้แจงให้ทราบต่อไป

สมาคมธนาคารไทย แจ้งปรับเปลี่ยนเวลาทำการหนีโควิด สาขาในห้าง ปิด 17:00 น. ส่วนสาขาภายนอกปิด ไม่เกินเวลา 15:30 น. พร้อมจำกัดช่องให้บริการ และจำกัดจำนวนลูกค้าในสาขา เว้นระยะห่างที่เหมาะสม

สมาคมธนาคารไทย แจ้งว่า ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ปรับปิดเวลาทำการธนาคารในพื้นที่เสี่ยง พร้อมสั่งปิดเวลาทำการแบงก์ในห้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยธนาคารอาจพิจารณาปิดสาขาบางแห่งชั่วคราวสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดตามประกาศของจังหวัดหรือรัฐบาล ซึ่งลูกค้ายังคงสามารถใช้บริการที่ตู้ ATM หรือทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตามปกติ โดยขอให้ตรวจสอบรายชื่อสาขาที่ปิดการบริการทาง website ของแต่ละธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารปรับเวลาปิดสาขาทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 16 เมษายน 2564 นี้ คือ สาขาในห้าง/สาขาที่เปิดให้บริการ 7 วัน ปิด ไม่เกินเวลา 17:00 น. ส่วนสาขาภายนอกปิด ไม่เกินเวลา 15:30 น. พร้อมกันนี้ยังจำกัดช่องให้บริการ และจำกัดจำนวนลูกค้าในสาขา เพื่อเว้นระยะห่างที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามในกรณีสาขาใดมีพนักงานหรือลูกค้าติดเชื้อเข้าใช้บริการ กำหนดให้แต่ละธนาคารปิดเพื่อพ่นฆ่าเชื้อทันที และเปิดทำการเมื่อเสร็จสิ้น, พนักงานที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ให้ตรวจเชื้อ/และทำการกักตัวเองในที่พักทันที (Self-Quarantine at Home) ในระยะเวลาตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข และจัดให้มีพนักงานปฏิบัติงานทดแทน ซึ่งเป็นพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องสัมผัสเชื้อ เข้าปฏิบัติหน้าที่แทน

ห้างสรรพสินค้า ยกระดับคุมเข้มการระบาดโควิดระลอกใหม่สูงสุด ประกาศปิด 3 ทุ่ม พร้อมงดกิจกรรมรวมตัวของคนจำนวนมาก เริ่มวันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน 64

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากรายงานศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด ประจำวันที่ 13 เมษายน 2564 ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าพันราย นับเป็นการแพร่ระบาดโควิดระลอกที่ 3 รอบใหม่ที่จะเป็นความเสี่ยงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย จึงประกาศยกระดับมาตรการการเฝ้าระวังการระบาดของโควิดครั้งนี้ด้วยการเพิ่มมาตรการเข้มข้นในการคัดกรองผู้บริโภคเข้าศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ในระดับสูงสุด

ทั้งนี้ ได้ประกาศเลื่อนปิดศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศเป็นเวลา 21.00 น. ทุกวัน พร้อมทั้งงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก รวมถึงการให้พนักงาน Work From Home เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทุกหน่วยงาน สามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด แจ้งว่า ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในกลุ่มเดอะมอลล์ ทั้ง เดอะมอลล์ ทุกสาขา, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ขอปรับเวลาให้บริการ โดยเปิดให้บริการทุกวันตามเวลาปกติ และปิดเวลา 21.00 น. ทุกวัน ทุกสาขา ยกเว้น เดอะมอลล์ รามคำแหง ปิดเวลา 20.00 น. ทุกวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2564 เป็นต้นไป (หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง)

สมาคมภัตตาคาร ออกมาตรการ คุมเข้มรับมือโควิดระบาดรอบใหม่ พร้อมขั้นตอนปฏิบัติ หากพบผู้ใช้บริการร้านอาหารติดโควิด

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง มาตรการของร้านอาหารในช่วงโควิด-19 เกี่ยวกับข้อปฏิบัติของร้านอาหารในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง โดยขอความร่วมมือร้านอาหารทุกร้าน หากยังจะเปิดดำเนินธุรกิจตามปกติ หากมีผู้ป่วยหรือบุคคลที่มีไทม์ไลน์ มาจากสถานที่สุ่มเสี่ยงเข้ามารับประทานอาหารที่ร้าน สมาคมฯ ขอให้มีการกำหนดมาตรการและขั้นตอนสำหรับร้านอาหารรวมทั้งเงื่อนไข ให้ปฏิบัติตามดังรายละเอียด

สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด หรือผู้ที่มีไทม์ไลน์ มาใช้บริการทางร้าน คือ 1. แจ้งปิดร้านอาหารทันทีทาง Social Media และสื่อต่างๆของร้านและหน้าร้าน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน 2.ให้พนักงานทุกคนที่สัมผัสผู้ป่วยหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีและเข้าตรวจหาเชื้อกับโรงพยาบาลทันทีและให้แยกกักตัว 14 วัน พร้อมแยกผู้มีความเสี่ยง ดังนี้

วงที่ 1 ลูกค้า และพนักงานเสิร์ฟที่ดูแลลูกค้าโต๊ะนั้น ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงสูง และลูกค้าที่นั่งโต๊ะติดกันกับผู้ติดเชื้อ หรือสุ่มเสี่ยงแจ้งให้ทราบทันทีเพื่อเข้ารับการดูตรวจหาเชื้อกับโรงพยาบาลและให้กักตัว 14 วัน

วงที่ 2 พนักงานเสิร์ฟ ส่วนหน้า โซนลูกค้าติดเชื้อ มีความเสี่ยงต่ำ ส่งพนักงานเข้าตรวจเชื้อกับทางโรงพยาบาลทันทีและสังเกตอาการเวลา 14 วัน พนักงานในส่วนอื่นๆและพนักงานเสิร์ฟที่ไม่ได้เสิรฺ์ฟกับลูกค้าโต๊ะที่มีลูกค้าติดเชื้อหรือสุ่มเสี่ยงให้กักตัวสังเกตอาการ 14 วัน เมื่อมีอาการผิดปกติให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อกับทางโรงพยาบาลทันที

วงที่ 3 ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง พนักงานในครัวและลูกค้าที่ใช้บริการก่อนและหลังรอบเวลานั้น หรือหลังวันถัดไปและพนักงานที่ไม่ได้ทำงานในวันนั้นปลอดภัยไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องตรวจหาเชื้อ เพราะไม่ได้สัมผัสเชื้อ แต่หากมีอาการผิดปกติให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อทันที

3. พนักงานที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด จะต้องเปิดไทม์ไลน์ ก่อนและหลังอย่างน้อยเป็นเวลา 5 วันเป็นต้นไป และทางร้านจะประสานงานกับโรงพยาบาลทันทีตามสิทธิประกันสังคมของพนักงานที่สัมผัสผู้ป่วยทุกคนตรวจหาเชื้อฟรี และติดตามการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เช่น โรงพยาบาลของรัฐหรือศูนย์ตรวจเชื้อ และโรงพยาบาลในกรุงเทพฯปริมณฑล 106 แห่งได้แก่ภาครัฐ 43 แห่ง

4. แจ้งเจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ทันทีเพื่อให้ดำเนินการป้องกัน และควบคุมรวมทั้งมาทำการฉีดพ่นฆ่าเชื้อที่ร้าน และ 5. ทำความสะอาด Big Cleaning ฆ่าเชื้อไวรัสแบคทีเรียในอากาศและพื้นผิวสัมผัสทุกที่ภายในร้านการฉีดพ่นสารทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำยาฟอกขาวสามารถใช้สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวได้ และสำหรับพื้นผิวที่เป็นโลหะ สามารถใช้แอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดได้

ธุรกิจท่องเที่ยวรายได้ทรุดหมื่นล้าน จากโควิดรอบใหม่ ชี้ มีโอกาสที่จะใช้ระยะเวลาควบคุมสถานการณ์นานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องที่สูญเสียไปคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากคาดการณ์เดิมในช่วงเดือน มี.ค. 64 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดระลอกที่ 3 ขณะที่ แผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงนี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด และมาตรการการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ยังมองว่า การระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ต่อเนื่องถึงเทศกาลสงกรานต์ ได้ส่งผลกระทบทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ รายได้ของการท่องเที่ยวในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ซึ่งน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.37 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นรายได้ท่องเที่ยวที่หายไปเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 นี้ มีโอกาสที่จะใช้ระยะเวลานานกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในการควบคุมสถานการณ์ให้คลี่คลายกลับมา เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อในประเทศมีจำนวนค่อนข้างสูง เชื้อโควิดเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่แตกต่างจากเดิมที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุว่าสามารถแพร่ได้เร็ว อีกทั้งต้นตอของการระบาดมาจากพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสัดส่วนสูง ขณะที่ การระบาดรอบนี้ เกิดขึ้นหลังรอบก่อนหน้าภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน จึงส่งผลกระทบต่อตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

‘บิทคอยน์’ ยังแรงต่อเนื่อง ล่าสุดราคาพุ่งทำนิวไฮแตะ 63,800 ดอลลาร์ ขานรับเอกชน สนใจอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล และยอมรับบิทคอยน์มากขึ้น

บิทคอยน์ ทะยานขึ้นทำนิวไฮในวันนี้ (14 เม.ย.64)  ก่อนที่ Coinbase Global Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นแพลทฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลใหญ่ที่สุดในสหรัฐ จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq ในวันนี้ ซึ่งถือครั้งแรกที่บริษัทในธุรกิจดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ และเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความต้องการของนักลงทุนสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล

โดยเมื่อเวลา 10.50 น. ราคาบิทคอยน์พุ่งขึ้นแตะที่ 63,800 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังทำสถิติราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (All-time high )

นอกจากนี้ บิทคอยน์ยังได้ปัจจัยบวกจากการที่บริษัทขนาดใหญ่ เช่น เทสลา, มาสเตอร์การ์ด, โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนลีย์ และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป ซึ่งเป็นธนาคารเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ ให้การยอมรับในบิทคอยน์มากขึ้น

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า บริษัท เรนาสโซ มอเตอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายซูเปอร์คาร์ ลัมโบร์กินี ในประเทศไทย ได้เปิดรับการชำระเงินซื้อรถยนต์ด้วยบิทคอยน์ และสกุลเงินคริปโตอื่นๆ อีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้! การจ้างงานเจอพิษโควิดเต็มเปา แนะรัฐออกมาตรการช่วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในองค์กร โดยผลสำรวจระบุว่าสถานการณ์เลิกจ้างในเดือนมีนาคม 64 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 3.4% จาก 7.4% ในเดือนมกราคม 63 แต่อัตราการลดเวลาการทำงานล่วงเวลายังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการว่างงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ที่ระบุว่าอัตราการว่างงานปรับลดลงอยู่ที่ 1.5% ในเดือนธ.ค. 63 แต่จำนวนผู้เสมือนว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2,470 คน บ่งชี้ว่า แม้ว่าจะยังมีงานทำแต่แรงงานส่วนมากมีรายได้ที่ลดลง

สำหรับความเปราะบางของตลาดแรงงานจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่อง โดยล่าสุดสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ ที่มีจุดศูนย์กลางระบาดอยู่ในกลางเมืองและแพร่กระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ อาจจะทำให้มีการนำมาตรการควบคุมการระบาดกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานต่อไปได้ 

ดังนั้น มาตรการจากภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่จะเข้ามาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 ได้หมดอายุลงแล้วในเดือนมีนาคม 64 มียอดใช้จ่ายตลอดโครงการถึง 102,065 ล้านบาท และมีผู้เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 14.8 ล้านคน ขณะที่มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งโครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน (ม.33) จะเริ่มทยอยหมดโครงการในเดือนพฤษภาคม 64


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top