‘ขาณุโมเดล’ ต้นแบบความสำเร็จ ‘ข้าว-ชาวนา’ ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาระดับโครงสร้างของภาครัฐ

แม้สังคมจะพยายามตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของ ‘ชาวนาไทย’ ที่ผ่านไปนานเท่าไร ก็ยังวนเวียนอยู่กับวังวน ‘หนี้สิน’ แต่คำตอบที่ได้มันก็จะยังวนเวียนเหมือนปัญหาใหญ่ของสินค้าเกษตรของไทยทุกตัว เช่น การโทษไปที่สถานการณ์โลก สงคราม โรคระบาด ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ จนนำมาสู่ความยากลำบากของชาวนาและเกษตรกร

ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่ง!!

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาที่แท้ และไม่มีใครแคร์จริง มันอยู่ที่ ‘โครงสร้าง’ ปัญหาโครงการทั้งระบบที่ไม่เคยถูกแก้ ก็จะแผ่วงในห่วงโซ่อุปทาน ให้ โรงสี และ ผู้ส่งออก อ่วมต่อไปเป็นทอด ๆ

แน่นอนว่า การแก้ปัญหาให้ได้ทั้งระบบ มันไม่ใช่แค่ประกาศนโยบายมาตัวเดียวแล้วครอบคลุม แต่ยังมีเรื่องที่ยิบย่อยที่บางครั้งก็ต้องใช้ทั้งแนวทางประชานิยม หรือบางครั้งก็ต้องลงไปวาดยุทธศาสตร์เฉพาะถิ่นเอาเอง

แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวดีเรื่องของข้าวที่มีปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 63 โดยรัฐบาลมีการปรับระบบการผลิตข้าว ให้เข้าสู่ ‘วงจรปกติ’ 

คำนี้สำคัญ!! เพราะเดิมทีไทยเรามีระบบการผลิต ที่มุ่งเน้นมาตรฐานคุณภาพ แต่มันดันไป ‘ล่มสลาย’ ช่วงนโยบาย ‘จำนำข้าว’ ที่ทำให้ชาวนาขาดความสนใจในจุดสำคัญนี้ไป

ช่างมัน!! เริ่มกันใหม่!!

เป้าหมายใหญ่ของรัฐบาลนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการช่วยเรื่องราคาข้าวแบบชั่วครั้งชั่วคราว หากแต่ในระยะยาว การแก้ปัญหาที่เห็นผล คือ ชาวนาต้องยืนได้ด้วยตัวเอง และรัฐบาลไหนเข้ามารับไม้ต่อ ชาวนาก็ไม่ต้องรอความช่วยเหลือแบบเป็นครั้ง ๆ ไป 

ดังนั้นช่วงปี 2563 ยุทธศาสตร์ของภาครัฐ จึงอยู่ที่การรื้อระบบคิดของชาวนาออกจากวังวนเดิม วังวนของผู้รอรับการช่วยเหลือแบบจบเป็นครั้ง ๆ แต่รัฐมุ่งเข้าไปส่งเสริมเรื่ององค์ความรู้, เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์, สนับสนุนเทคโนโลยี, มุ่งเน้นการผลิตที่คำนึงระบบนิเวศ รวมถึงการส่งเสริมข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ 

>> ถ้าพูดให้เห็นภาพ คือ รัฐส่ง ‘คันเบ็ด’ แทนการให้ ‘ปลา’ แก่ชาวนามากขึ้น 

เมื่อระบบการผลิตข้าวได้มาตรฐานคุณภาพ โรงสี/ ผู้ส่งออก ก็สามารถกลับเข้าไปในตลาดที่เลิกซื้อข้าวของเรา เช่น ประเทศอิรัก จำนวนมากกว่าหนึ่งแสนตัน รวมไปถึงกลับมาเป็นประเทศผู้นำพันธุ์ข้าวชั้นดีแบบที่เคยเป็นในอดีต

ที่ผ่านมา ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแม้แต่หน่วยงานอย่างกรมการข้าว ได้ทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันภาพใหญ่ให้เกิดขึ้นกับวงการข้าวไทย โดยใช้แนวทาง ‘ตลาดนำการผลิต’ ไว้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ก็เข้าไปเปลี่ยนแนวคิดชาวนา ให้เขาสร้างเป้าหมายใหม่ ๆ เช่น ต้องปลูกข้าวเพื่อสู้กับเวียดนาม ต้องสร้างมาตรฐานข้าวยั่งยืนเพื่อให้ข้าวเป็นบ่อแห่งความมั่งคั่งและยั่งยืนของชาวนา

เรียกว่าอดีตเคยใช้ ‘เหงื่อแลกเงิน’ ปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นสร้างคุณค่าให้ ‘งานหรือผลผลิต’ ไปแลกเงิน 

>> ‘ขาณุโมเดล’ ความสำเร็จจากการปรับที่โครงสร้างระบบนิเวศ ‘ข้าว-ชาวนา-ชุมชน’

เรื่องนี้มีภาพเชิงรูปธรรมที่อยากให้มองไปยัง ‘อำเภอขาณุวรลักษบุรี’ ซึ่งมีการทำโมเดลขับเคลื่อน ผ่านการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร ตำบลแสนตอ ตำบลเกาะตาล ตำบลบ่อถ้ำ ตำบลยางสูง และตำบลป่าพุทรา อำเภอขาณุวรลักษบุรี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการกว่าพันคน ที่มารวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวพันธุ์ กข79 และ และ กข87 จนเป็นโครงการ ‘ขาณุโมเดล’ ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวพื้นนุ่ม จากกรมการข้าว ผลักดันให้จังหวัดกำแพงเพชรเป็นแหล่งปลูกข้าวพื้นนุ่มคุณภาพ มีการบริหารจัดการน้ำจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ 

นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการนำร่อง ที่จะเชื่อมโยงไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ชาวนาได้เห็นต้นแบบที่แท้จริงว่าทำนาอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ จึงเกิดเป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะสามารถเชื่อมโยงสร้างรายได้ระหว่างธุรกิจชุมชนได้หลายทาง ตามแนวทางเศรษฐกิจของชุมชน เปลี่ยนกระบวนทัศน์เกษตรกรจาก ‘การรับค่าแรง’ มาเป็น ‘ผู้ผลิตวัตถุดิบคุณภาพดี’ 

ฟังแค่นี้ก็น่าตื่นเต้นแล้ว!!

แต่การจะทำเช่นนั้นได้ หรือจะเกิดการรวมกลุ่มได้ ก็ต้องมาจาก ‘อินเนอร์’ ของเกษตรกรผู้ต้องการปรับตัวเข้าสู่โลกการค้ายุคใหม่ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีความพร้อมในการสนับสนุน และมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาวงการข้าวและเกษตรกรไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนจริงๆ ถึงจะไปต่อได้ด้วย

>> ‘ขาณุโมเดล’ โครงสร้างที่ถูกปรับจนแข็งแกร่ง
‘ขาณุโมเดล’ เกิดจากความเพียรของเกษตรกร นำมาสู่ การรวมกลุ่มเกษตรกร เป็นองค์กรมีรูปแบบการจัดการ มีระบบระเบียบ มีวิสัยทัศน์และ เป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้กลุ่มสมาชิกและสังคมได้ในอนาคต ภายใต้การดำเนินงานแบบ ‘ทฤษฎีจอมปลวก’ หรือเชื่อมต่อกับธุรกิจชุมชน เปรียบเทียบเหมือนจอมปลวกที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากปลวกงานที่มีความเพียรและรู้จักหน้าที่ จึงสามารถเชื่อมโยงสร้างรายได้ระหว่างธุรกิจชุมชนได้หลายทาง ทำให้เกิดพลวัตทางเศรษฐกิจของชุมชน จากนั้นก็แบ่งส่วนข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ขายกันภายใต้แนวคิด ‘คนกำแพงกินข้าวกำแพง’

โดยได้รับความร่วมมือกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ที่นำเรื่องเสนอไปที่นายกรัฐมนตรี ขออาสาสร้าง กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวพื้นนุ่มคุณภาพดี จากนั้นกรมการข้าวก็ให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ฤดูปลูกข้าวนาปี 2563 จำนวน 3,500 ไร่ โดยมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ตามกลไกของห่วงโซ่อุปทาน มีการรวบรวมข้าวของกลุ่มเพื่อตรวจสอบก่อนส่งคู่ค้าโรงสี และเมื่อเดือน มีนาคมที่ผ่านมาคณะนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรการบริหารเศรษฐศาสตร์สาธารณะสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่น19 ได้ลงมาทำงานวิจัยเชิงวิชาการ

>> ทีนี้มาดูกระบวนการของ ‘ขาณุโมเดล’ กันบ้างว่าทำไมถึงมองเป็นธุรกิจได้ย่อมๆ
...ทุกข้อต่อของการผลิตข้าวของชาวนา ต้องได้รับการดูแล โดยให้ชาวนาทำได้ด้วยตัวเอง 
...ตลาดใหญ่ เป็นเรื่องที่ไกลตัวชาวนามาก ดังนั้น ชาวนาจึงต้องคุยกับโรงสี แบบเท่าเทียม แบบมีอำนาจต่อรอง 
...การปลูกข้าวตามที่โรงสีต้องการ โรงสีต้องการข้าวที่มีคุณภาพ มีเท่าไหร่ก็รับซื้อหมด ถ้าข้าวคุณภาพดี ไม่ปะปน พันธุ์เดียวกัน ปริมาณมาก จะทำให้ชาวนามีอำนาจต่อรอง ได้ราคาดี โรงสีจะแย้งกันซื้อ โรงสีใหญ่ๆ ซื้อข้ามจังหวัด
...ชาวนาทำลานข้าวเอง เพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์เดียวกัน เกรดเดียวกัน 
...พันธุ์ข้าวคือหัวใจสำคัญ ปัจจุบัน คือ พันธุ์ กข 79 และ กข87 หรือข้าวพื้นนุ่ม ที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อการผลิตเพื่อการแข่งขันได้
...การปรับสภาพดิน เพื่อลดการใช้สารเคมี (ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และปุ๋ย) โดยการปรับมาใช้ จุลินทรีย์ ที่มาจากโรงงานที่คัดจุลินทรีย์ตัวดี ที่เหมาะสม ซึ่งผลลัพธ์ จะค่อยๆดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นการลดต้นทุนที่ยั่งยืน 
...การใช้เครื่องทุ่นแรง ทางการเกษตร สำหรับชาวนา เครื่องหยอดข้าว ดีที่สุด ดีกว่าหว่าน และ ปักดำ เพราะการหยอดข้าวประมาณ 9 เมล็ดต่อหลุม ในระยะที่ห่างกันตามความเหมาะสมของอายุข้าว จะทำให้ข้าวขึ้นและแตกก่อแข็งแรงทำให้ข้าวเมล็ดสมบูรณ์ และเพิ่มปริมาณรวงข้าว 
...การใช้โดรน ฉีดพ่นจุลินทรีย์ ในนาข้าว การทำนาข้าวแห้งสลับเปียก เป็นทางเลือกที่ช่วยให้การปลูกข้าวได้ดีขึ้นสามารถทำได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งการไม่ใช้สารเคมีในนาข้าว จะทำให้ชาวนาสามารถเลี้ยงสัตว์น้ำในนาข้าวได้ด้วย รวมทั้งสิ่งที่คนไม่ค่อยนึกถึงต้นทุนที่ชาวนาต้องใช้คือไฟฟ้าเช่นเดียวกัน สามารถมีทางเลือกในการใช้เครื่องกำเนิดพลังงาน หรือ ระบบโซลาร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคุ้มค่า
...การขึ้นทะเบียนการเป็น เกษตรชีวภาพ หรือ เกษตรรักษ์โลก เป็น GAP (God Agriculture Practice) เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพ เพื่อให้ข้าวมีราคาดีขึ้น 
...ชาวนา ช่วยเหลือ ชาวนา ด้วยกัน เอง เป็นโค้ช ทำให้ดู ชาวนาที่เก่ง ช่วยชาวนาที่ยังไม่เก่ง ส่งผลถึงการนำผลผลิตมารวมกัน (ผลผลิตแปลงใหญ่) เพื่อเกิดอำนาจต่อรองในการเรื่องราคา

>> พร้อมทะยาน++
‘ขาณุโมเดล’ ถูกชื่นชมในฐานะของกลุ่มแก้ไขปัญหาข้าว โดยใช้ ‘แนวทางการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน’ ของรัฐบาลสามารถนำงบประมาณที่ได้รับ มาขยายผลต่อยอด นำไปสู่ความยั่งยืน โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวนุ่ม กข79 ปี2563/64 แค่ 2 ฤดูกาล ก็สามารถขยายผล-ต่อยอด เช่น ได้ใบรับรอง GAP ยกระดับการผลิตเป็น GAP+ เป็น 'ข้าวรักษ์โลก' เป็นการผลิต ใช้ชีวภาพชีวภัณฑ์ ไม่เผาฟาง ทำให้ข้าวสวย โรงสีให้ราคาดีเป็นที่น่าพอใจ คุณภาพดีสม่ำเสมอจนต้องจองล่วงหน้า ต่อยอดไปสู่มาตรฐาน SRP ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับจาก Tops Market และ ตลาดจริงใจ จนสามารถนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่าย 

นี่คืออีกตัวอย่างความยั่งยืนที่เกิดขึ้น ภายใต้ความต้องการสร้างวิถียั่งยืนให้พี่น้องชาวนาไทย ในแบบเดียวกับขาณุโมเดล และทุกกลุ่ม เป็นแหล่งผลิตข้าวมีคุณภาพดีและยั่งยืนต่อไปจากรัฐบาลไทย

แน่นอนว่า หนึ่งในภารกิจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมคณะ ที่จะลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อตรวจราชการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตร การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการน้ำ ในวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565 นี้นั้น จะเป็นการไปตรวจเยี่ยมกลุ่มปลูกข้าว GAP ขาณุวรลักษบุรี โมเดล ที่หมู่ 2 ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี พร้อมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม โครงการขาณุวรลักษบุรีโมเดล จากประธานกลุ่มปลูกข้าว GAP ขาณุวรลักษบุรี 

โมเดลการแก้ปัญหาข้าวที่สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชาวนา เปลี่ยนลูกจ้าง ไปเป็นนายจ้าง ภายใต้การผลักดันของภาครัฐ ที่เข้ามาพัฒนาโครงสร้างของระบบนิเวศข้าวในท้องถิ่นให้แข็งแรง เลี้ยงดูตัวเองได้ และพร้อมพัฒนาเป็นกระดูกชิ้นสำคัญให้เศรษฐกิจไทยได้ดั่งเช่นอดีต อีกทั้งยังเป็นการตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นรูปธรรมที่สุดอีกด้วย