Thursday, 9 May 2024
ECONBIZ NEWS

ธุรกิจไทยไปเมียนมาอ่วม วอนรัฐช่วย

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจในเมียนมา เพื่อหารือถึงผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในเมียนมา โดยมีการประเมินว่าเศรษฐกิจของเมียนมาจะชะลอตัวลง และหากการชุมนุมยืดเยื้อก็ยิ่งชะลอตัวมากกว่าเดิมอีก 

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์จะรวบรวมผลการหารือ และข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนครั้งนี้ เสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เพื่อพิจารณาหาทางช่วยเหลือต่อไป เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นต้น

“การลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อยของไทยในเมียนมา ได้รับผลกระทบมากพอสมควร เพราะยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ได้ โดยบริษัทส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงและกำลังอยู่ในช่วงของการขาดสภาพคล่อง”
 

กระทรวงแรงงาน จับมือ ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ เสิร์ฟตำแหน่งงานกว่า 5 พันอัตรา เพื่อคนหางานใน “BANGKOK JOB FAIR 2021”

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน Bangkok Job Fair 2021 ณ ฟอร์จูนสตรีท ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ กรุงเทพมหานคร พบปะ 40 สถานประกอบการชั้นนำ และคนหางาน

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดำริให้จัดงาน BANGKOK JOB FAIR 2021 ในวันนี้โดยมีเป้าหมายในการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และลดปัญหาการว่างงาน โดยส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ ผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และคนไทยทุกคนที่ประสงค์จะหางานทำ ด้วยการจัดกิจกรรมเพิ่มโอกาสสมัครงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการจำนวนมากโดยตรงในคราวเดียว รวมทั้งเพิ่มโอกาสคัดเลือกตำแหน่งงานว่างที่ตรงกับความรู้ความสามารถ

“กระทรวงแรงงาน นำนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นแนวทางสู่การปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยการพัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้คนในวัยแรงงานสามารถเลือกทำงานได้ตามความรู้และความถนัดของตน ยกระดับจากผู้ใช้แรงงาน เป็นผู้ใช้พลังสมอง ที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน นวัตกรรม เทคโนโลยี และข่าวสารข้อมูลได้สะดวก มีทักษะในการทำงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน “เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอเชิญชวนผู้สนใจสมัครงาน ผู้กำลังมองหาไอเดียในการประกอบอาชีพเสริม และประชาชนผู้สนใจทุกท่าน เข้าร่วมงานได้ในวันศุกร์ที่ 26 และวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.30 น. ที่บริเวณลานฟอร์จูนสตรีท (หน้าอาคาร) ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้จัดกิจกรรมนัดพบแรงงาน โดยมีนายจ้าง/สถานประกอบการชั้นนำเข้าร่วมรับสมัครงาน จำนวน 40 แห่ง อาทิ บริษัท ซีพี แลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น 

ซึ่งกิจการที่เปิดรับสมัครมีทั้งประเภทกิจการธุรกิจค้าปลีก กิจการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ กิจการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ กิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม กิจการให้บริการด้านการเงิน และกิจการบริการขนส่งสินค้าและขนส่งสาธารณะ มีตำแหน่งงานว่างซึ่งต้องการแรงงานในทุกระดับการศึกษา จำนวนกว่า 5,000 อัตรา ตำแหน่งงานที่น่าสนใจ ได้แก่ วิศวกรโยธา สถาปนิก เขียนแบบ ผู้ช่วยผู้จัดการร้าน พนักงานบัญชี เจ้าหน้าที่ธุรการ พนักงานบริการ และพนักงานทั่วไป (ฝ่ายผลิต) เป็นต้น โดยแยกเป็นวุฒิปริญญาตรี 2,106 อัตรา วุฒิปวส. 461 อัตรา วุฒิปวช. 179 อัตรา วุฒิม.6 และต่ำกว่า 2,842 อัตรา รวมทั้งมีการสาธิตการประกอบอาชีพอิสระ วันละ 10 อาชีพต่อวัน รวมทั้งสิ้น 20 อาชีพ  และการแสดงการประกอบ อาชีพอิสระในรูปแบบ Food Truck จำนวน 4 คัน

“กรมการจัดหางาน ร่วมมือกับศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ จัด “BANGKOK  JOB  FAIR 2021” โดยมุ่งหวังให้คนหางานได้รับความสะดวกสบายและประโยชน์สูงสุด สำหรับผู้ที่เข้าร่วมงานสามารถสมัครงานง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน คือ 1. เลือกบริษัทที่ต้องการ 2. แสกนคิวอาร์โค้ด 3. เลือกตำแหน่งงานและกรอกข้อมูลส่วนบุคคลแล้วกดส่ง นายจ้าง/สถานประกอบการจะได้รับข้อมูล และผู้สมัครงานเข้ารับการสัมภาษณ์กับนายจ้าง/สถานประกอบการได้ทันที ในส่วนของการเดินทางได้เลือกจัดงานใจกลางเมืองที่มีความสะดวกในการเดินทาง โดยศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพระราม 9 ติดกับโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน และเทสโก้ โลตัส สามารถเดินทางทั้งด้วยรถยนต์ส่วนตัว  ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ลงสถานีพระราม 9 ทางออกที่ 1  หรือรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อรถเมล์ หรือรถตู้ปรับอากาศ มีนบุรี-อนุสาวรีย์ (ลงหน้า อสมท.) หรือลงสถานีอโศก ต่อรถไฟใต้ดินลงสถานีพระราม 9 ทางออกที่ 1 หรือเดินทางด้วยรถตู้ปรับอากาศ สะพานใหม่-อสมท., งามวงศ์วาน-อสมท., มีนบุรี-อนุสาวรีย์ (ลงหน้า อสมท.) หรือเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางสาย 172, 98 ,171 ,36 ,73 ,73ก ,137 ,168 ,204 ,206 ,514 ,517 ,528 และ 529” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

รัฐบาลปลื้ม 3 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชวนใช้สิทธิ์ “คนละครึ่ง” ก่อนสิ้นสุดโครงการ 31 มี.ค. นี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่โครงการคนละครึ่งจะหมดเขตในวันที่ 31 มีนาคมนี้ อยากเชิญชวนให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ เร่งใช้จ่าย เพื่อจะได้ใช้วงเงินสิทธิ์ครบเต็มจำนวน ขณะนี้ มีผู้ใช้สิทธิ์ครบ 3,500 บาท แล้ว 6.38 ล้านคน จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ 14.79 ล้านราย โดยมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นรวม ณ 20 มี.ค. จำนวน 100,042 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายจากภาคประชาชน 51,214 ล้านบาท รัฐช่วยจ่าย 48,828 ล้านบาท สำหรับโครงการฯ ในเฟส 3 ทางกระทรวงการคลังแจ้งว่าอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ ซึ่งจะออกมาได้หลังจากที่โครงการเราชนะ และ ม.33เรารักกัน สิ้นสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564

ในส่วนของจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์โครงการเราชนะ ขณะนี้มี 32.4 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1.53 แสนล้านบาท ขณะที่โครงการม33เรารักกัน มีผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว 7.4 ล้านคน เริ่มโอนเงินงวดแรก 1 พันบาท แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ เมื่อ 22 มีนาคมมียอดการใช้จ่ายประมาณ 750 ล้านบาท และจะเปิดให้ยื่นทบทวนสิทธิ์ ถึงวันที่ 28 มีนาคมนี้ ทาง www.ม33เรารักกัน.com โดยประกาศผล วันที่ 5-11 เมษายน 64 ทางเว็บไซต์เช่นเดียวกัน 

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ทั้ง 3 โครงการของรัฐบาล สามารถแบ่งเบาภาระประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ได้มาก รวมถึงเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบคาดว่าไม่ต่ำ 2.5 แสนล้านบาท ตัวเลข ณ วันที่ 25 มีนาคม ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯทั้งสิ้นมากกว่า 1.5 ล้านกิจการ รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากก็ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างมากด้วย

ทางหลวงชนบท สรุปการประชุมการศึกษาความเหมาะสม EIA เชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง - ต.เกาะลันตาน้อย จ.กระบี่ เลือกเป็นแบบสะพานคานขึง เน้นความทนทานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สรุปผลการประชุมและปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในขั้นรายละเอียด (EIA) สะพานเชื่อมเกาะลันตา ตําบลเกาะกลาง - ตําบลเกาะลันตาน้อย อําเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เพื่อนําไปประกอบแผนการดําเนินงานก่อสร้างในอนาคตให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ทช.ได้เล็งเห็นความจําเป็นของการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างบ้านหัวหิน ตําบลเกาะกลาง กับเกาะลันตาน้อย ตําบลเกาะลันตาน้อย อําเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญ สู่ชุมชน อํานวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนบนเกาะลันตา ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงแก้ไขปัญหาความยากลําบากในการเดินทางของประชาชน

เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางไปเกาะลันตาจะต้องผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ ท่าเรือบ้านหัวหินไปยัง ท่าเรือบ้านคลองหมาก ซึ่งท่าเรือดังกล่าวเชื่อมระหว่างเกาะกลางไปยังเกาะลันตาน้อย หลังจากนั้นจะมีสะพานสิริลันตาเชื่อมเกาะลันตาน้อย - เกาะลันตาใหญ่ จึงจะถึงตัวเมือง ย่านชุมชน/การค้า และตรงต่อไปยังหาดต่าง ๆ จนไปสุดถนนที่ท้ายเกาะบริเวณที่ทําการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ซึ่งการใช้แพขนานยนต์ แม้จะเป็นระยะทางสั้นเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์บรรทุกรถได้น้อย มีจํานวนจํากัดและให้บริการในช่วงเวลา 06.00 - 22.00 น. เท่านั้น ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงเวลาเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดําเนินโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทช.จึงได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้เชิญกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เป็นต้น โดยแบ่งเป็น การประชุมปฐมนิเทศโครงการ, การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 (2 กลุ่ม) และการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 (รวมทั้งหมด 3 ครั้ง) เพื่อสรุปแนวทางเลือกที่เหมาะสม ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันคัดเลือกเส้นทางพื้นที่ศึกษาจุดเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 ไปบรรจบกับจุดสิ้นสุดทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ความยาวสะพานรวมเชิงลาดประมาณ 2,240 เมตร

รูปแบบโครงการ สรุปได้ว่าเป็นแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) ซึ่งเป็นรูปแบบสะพานที่มีความยาวช่วงสะพานมากกว่าสะพานทั่วไปทําให้เกิดความสะดวกสบายในการสัญจรทางน้ำ มีขั้นตอนในการก่อสร้างซึ่งรบกวนระบบนิเวศน้อยที่สุด

ต่อมา ทช.ได้จัดการประชุมหารือมาตรการและประชุมปัจฉิมนิเทศ เพื่อนําเสนอแนวสายทาง รูปแบบโครงการ พร้อมผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันแก้ไขลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงสรุปผลการศึกษาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ โดยในส่วนของโครงสร้างที่อยู่ในทะเลนั้น จะมีมาตรการป้องกัน การสั่นไหวเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ป้องกันการกัดเซาะ ป้องกันการเกิดสนิม ซึ่งสายเคเบิลสะพานที่เป็นเหล็กได้ถูกออกแบบให้สามารถป้องกันการเกิดสนิม โดยลักษณะการป้องกันสนิมที่สายเคเบิ้ล ประกอบด้วย

การป้องกันด้วยท่อพลาสติกหุ้มอยู่ภายนอก ป้องกันไอน้ำทะเล และแสง UV, ภายในท่อพลาสติกดังกล่าว มีการอัดน้ำปูน-ทราย หุ้มสายเคเบิ้ลไว้อีกชั้นหนึ่ง ทําให้ไม่มีช่องว่างให้อากาศชื้นที่มีความเค็มของไอทะเลเข้าไปอยู่ภายในท่อพลาสติกได้, การป้องกันสนิมที่ตัวสายเคเบิ้ล โดยมีสารเคลือบป้องกันสนิมโดยตรงตามมาตรฐานสากล ตลอดจนมีระบบตรวจสอบสภาพการเกิดสนิมและใช้ระบบไฟฟ้าสถิตเหนี่ยวการเกิดสนิม ไม่ให้เกิดที่สายเคเบิ้ล แต่ให้มาเกิดที่บ่อดักสนิมด้วยกระแสไฟฟ้าสถิตแทน การป้องกันสนิมด้วยวิธีนี้เรียกว่า ระบบแคโทดิก เป็นการใช้ไฟฟ้ากระแสตรงจากแหล่งกําเนิดภายนอกเพื่อยับยั้งการเกิดสนิมของโลหะ

สําหรับขั้นตอนกระบวนการหลังจากการประชุมปัจฉิมนิเทศนั้น ทช.จะส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ไปยัง สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 7 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่คณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้ ขั้นตอนสุดท้ายจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบและเสนอของบประมาณในปี 2565 คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,600 ล้านบาท


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ช่วยเกษตรกรข้าวโพด! จุรินทร์ นำเคาะ "รับประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564 ให้เกษตรกร"

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ) ครั้งที่ 2/5264 ที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 วงเงินงบประมาณ 311,418,600 บาท 

สำหรับ พื้นที่ประกันภัย 2.86 ล้านไร่ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของรัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า วงเงินคุ้มครอง 1,500 บาทต่อไร่ ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด วงเงินคุ้มครอง จำนวน 750 บาทต่อไร่ 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า โดยกรณีเป็นที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ของ ธ.ก.ส. รัฐบาลจะรับจ่ายค่าเบี้ยประกันให้ 96 บาท/ต่อไร่ ธ.ก.ส. รับชดเชย 64 บาท/ต่อไร่ รวมเป็น 160 บาท/ต่อไร่ กรณีเกษตรกรทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จะแบ่งการรับประกันเป็น 3 พื้นที่ คือ พื้นที่เสี่ยงต่ำ 150 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 350 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง 550 บาทต่อไร่

นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถซื้อประกันภัยเพิ่มเติมจากที่ได้เอาประกันภัยข้างต้นแล้ว โดยเกษตรกร จะเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยเองตามระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่  คือ พื้นที่เสี่ยงต่ำ 90 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 100 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่ วงเงินคุ้มครอง 240 บาท/ต่อไร่ เมื่อประสบภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย และ 120 บาท/ต่อไร่ เมื่อประสบภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด

"ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้นำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป โดยมีระยะเวลาขายประกันภัย แบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบที่ 1 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และรอบที่ 2 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 15 มกราคม 2565 " รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ชง ศบศ. เปิดประเทศรับคนฉีดวัคซีนไม่ต้องกักตัว คาดนำร่อง ภูเก็ต-พัทยา-เชียงใหม่

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. วันที่ 26 มีนาคมนี้ กระทรวงกหารท่องเที่ยวจะรายงาน แนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบ 2 โดสแล้วสามารถมาเที่ยวไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่จะทำเป็นแซนด์บ็อกซ์ หรือจำกัดพื้นที่เพื่อทำการทดสอบ เบื้องต้นมองว่ามี 3 พื้นที่ที่มีความพร้อม คือ จังหวัดภูเก็ต ชลบุรี (พัทยา) และเชียงใหม่ แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าทดลองทำเรื่องนี้จะต้องมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดให้ได้อย่างน้อย 70% ก่อนจึงจะเริ่มต้นทำได้

“ส่วนตัวมองว่าอยากให้เริ่มได้ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้  ที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้คุยกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว รวมไปถึงทางจังหวัดทั้ง 3 แล้ว โดยจะเริ่มต้นจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน คือ ภูเก็ต จากนั้นจึงทำที่พัทยา โดยขอให้ทางจังหวัดนำเสนอมาว่าต้องการวัคซีนจำนวนเท่าใด ล่าสุดทางภูเก็ต แจ้งมาว่าต้องการ 9.25 แสนโดส และพัทยา 9.5 แสนโดส ส่วนเชียงใหม่ยังไม่ได้แจ้งตัวเลขมา โดยรูปแบบการทำแซนด์บ็อกซ์นั้น จะทำก่อนในจังหวัดที่มีสนามบิน และเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวได้ในพื้นที่ หรือเส้นทางที่กำหนดไว้ หากครบ 7 วันไม่มีการติดเชื้อแน่นอน ก็สามารถเดินทางได้ทั่วประเทศ”

ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังได้รับหนังสือจาก 8 สมาคมท่องเที่ยว ประกอบด้วย สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว(แอตต้า) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ สมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย สมาคมสปาไทย และสมาคมธุรกิจสายการบินประเทศไทย ซึ่งได้เสนอแผนการบริหารจัดการวัคซีนและแผนการเปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัว 1 กรกฎาคม เพื่อต่อลมหายใจให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 1 ปี

“สุพัฒนพงษ์” เผย รัฐบาล เตรียมความพร้อม ​เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว​ไตรมาส​ 4 ด้านภูเก็ต นำร่องจังหวัดแรก​

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน​ กล่าวก่อนประชุม​คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ที่ประชุมจะพิจารณา​ความก้าวหน้า​ของคณะกรรมการและที​มงานปฏิบัติการเชิงรุกด้านเศรษฐกิจที่ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของประชาชน​ และจากการติดตามข้อมูลผ่านเวทีเสวนา​ต่างๆ​ มองเห็นถึงโอกาสของประเทศไทยหลังโควิด-16 คลี่คลาย​ จะเป็นประเทศที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ​ โดยเฉพาะการขยายฐานการผลิตรวมถึงยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่จะเดินทางมาพักอาศัยในประเทศไทยหลังเกษียณ​ที่จะสามารถทำประกันสุขภาพได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม​ทางการแพทย์​ 

นายสุพัฒนพงษ์​ กล่าวว่า ส่วนแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวตามกำหนดการเดิมที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในไตรมาส​ที่ 4​ ก็จะมีการพิจารณาจังหวัดท่องเที่ยวที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะพื้นที่แถบอันดามัน​มาเป็นจังหวัดนำร่อง​ แต่เนื่องจาก​ยังไม่ทราบจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเนื่องจากทุกประเทศเพิ่งจะเริ่มฉีดวัคซีน​โควิด-19​ จึงต้องมีการประเมินสถานการณ์​ภาพรวมอีกครั้งว่า มีความคุ้มค่าหรือไม่ที่จะเปิดประเทศ​ เบื้องต้นมี จ.ภูเก็ตที่แสดงความจำนงเป็นจังหวัดนำร่อง​โดยเสนอขอ​เปิดจังหวัดก่อนไตรมาส​ 4​ และจะเสนอมายังภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง​

สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อดำเนินการแล้วจะต้องมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพื่อความคุ้มค่าและต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย​ ทั้งนี้ได้ให้ทุกฝ่ายไปทำการบ้านในทุกมิติ​ ทั้งเชิงรุก-เชิงรับ ​โดยเฉพาะความพร้อมรองรับหากเกิดการแพร่ระบาดขึ้น​ โดยถอดบทเรียนจากจังหวัดสมุทรสาคร​ได้​ นอกจากนี้จะมีการรายงานการใช้ประโยชน์​จากโครงการต่างๆของรัฐบาล​ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน​เศรษฐกิจ​และบรรเทาความเดือดร้อนด้วย​ 

ดันเส้นทางไหว้พระ 15 เส้นทางทั่วไทย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำเส้นทางแห่งศรัทธาเพื่อเสริมสิริมงคล ความรุ่งเรืองแห่งชีวิต เชื่อมโยงชุมชนที่มีศักยภาพและแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่พร้อมเสนอขาย 

โดยนำร่อง 15 เส้นทางทั่วประเทศ คือ จังหวัดพิจิตร แพร่ น่าน เชียงราย ชัยนาท สระบุรี เพชรบุรี บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครพนม ระยอง ปราจีนบุรี พังงา สุราษฎร์ธานี และสงขลา หวังว่าจะช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศปีนี้ให้ได้ตามเป้าหมาย 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.5 แสนล้านบาท

นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีวัดกว่า 41,654 วัด ซึ่งในหลายวัดมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ทรงคุณค่า เป็นที่เลื่อมใสทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ด้วยพื้นที่ที่แตกต่างกัน ทำให้หลายวัดมีสถานที่ตั้ง ที่สวยงามเหมาะแก่การท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นริมฝั่งแม่น้ำ เช่น วัดอรุณราชวราราม กทม. วัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก หรือวัดที่ตั้งอยู่ริมทะเล เช่น วัดท่าไทร จ.พังงา วัดถ้ำเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ 

ขณะเดียวกันยังมีวัดที่ตั้งอยู่บนภูเขา เช่น วัดเฉลิมพระเกียรติ พระจอมเกล้าราชานุสรณ์ จ.ลำปาง วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว จ.เพชรบูรณ์ วัดป่าภูก้อน จ.อุดรธานี นอกจากนั้นหลายวัดยังเป็นที่สำหรับปฏิบัติธรรม เช่น วัดร่ำเปิง (ตะโปทาราม) จ.เชียงใหม่ วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี และวัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งรัฐบาลพร้อมส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว

สุดยอด! จุรินทร์ ดันราคายางพุ่งทะลุกิโลละ 60 บาทแล้ว! จับมือวุฒิสมาชิกหนุนส่งออก "ไม้ยาง-หลังคายาง-อาหารฮาลาล"

วันที่ 25 มีนาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ต้อนรับและหารือ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็น ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์

จากนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของวุฒิสภา ได้นำคณะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกระทรวงพาณิชย์ การช่วยส่งเสริมสินค้าฮาลาลและช่วยกันแก้ไขปัญหายางพาราในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเด็นที่มีความเห็นร่วมกัน

1.) ยางพาราเห็นตรงกันว่าควรช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้ราคายางในประเทศดีขึ้นจากการดำเนินการของรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯที่ผ่านมาราคายางสูงกว่ารายได้ที่ประกันแล้ว สำหรับราคายาง วันที่ 24 มีนาคม 2564 ยางแผ่นดิบตลาดกลางสงขลา กิโลกรัมละ 61.90 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 64.79 บาท ราคาน้ำยางสด กิโลกรัมละ 64 บาท ยางก้อนถ้วย กิโลกรัมละ 24.25 บาทภาพรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี สูงกว่ารายได้ที่ประกันตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางทุกตัว

2.) ช่วยกันส่งเสริมตลาดถุงมือยางธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่สามารถทำถุงมือยางธรรมชาติแบบโปรตีนต่ำ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกได้แล้ว และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังบริษัทถุงมือยางหลายราย ตรงกับยุทธศาสตร์  “ตลาดนำการผลิต” หวังว่าภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์กับคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาจะช่วยทำการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับทราบในตลาดโลกต่อไป

3.) เห็นร่วมกันในการส่งเสริมการส่งออกไม้ยางพารา ในตลาดต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลมีหลายโครงการที่ส่งเสริม 1) รัฐบาลจัดวงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้ผู้ที่ต้องการส่งออกไม้ยางพาราไปยังต่างประเทศช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3  2) กระทรวงพาณิชย์เคยนำสมาคมไม้ยางไทยไปเปิดตลาดที่อินเดียแล้ว 2 ครั้ง จะเป็นตลาดสำคัญในอนาคต รัฐบาลอินเดียต้องการส่งเสริมให้คนอินเดีย 1,000 กว่าล้านคน มีบ้านจำเป็นต้องใช้เฟอร์นิเจอร์และไม้ยางจะไปแทนไม้สักที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี 3) กระทรวงพาณิชย์ได้เจรจากับรัฐเตลังกานาและกำลังจะทำ mini FTA คาดว่าจะสามารถลงนามได้เร็วนี้ จะช่วยส่งเสริมให้มีตลาดไม้ยางพาราไทยและได้มีการแนะนำเอายางไปผลิตเป็นแผ่นมุงหลังคา ตนรับไปที่จะช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน เช่นบริษัทเอสซีจี เพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศส่งเสริมการใช้ยางพาราในหลังคาบ้าน
.
4.) ส่งเสริมสินค้าฮาลาล กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายชัดเจนส่งเสริมอาหารไทยอาหารโลก ทำให้อาหารไทยเป็นอาหารของโลก ปัจจุบันอาหารไทยอยู่ในลำดับที่ 1 ใน 10 และเชื่อว่าอีกไม่นานจะสามารถผงาดมาเป็น 1 ใน 3 ของโลกได้ อาหารที่เป็นเป้าหมายมี 3 ตัว คืออาหารมังสวิรัติ อาหารแนวใหม่ และอาหารฮาลาล ในการจัดงานเทศกาลอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คืองาน THAIFEX จะให้ความสำคัญต่อไปในอนาคต และประเด็นที่สองจะส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ขายสินค้าฮาลาลได้มีพื้นที่ร่วมส่งเสริมการขายของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเรามีนโยบายเอสเอ็มอีทุกประเภทต้องได้รับโอกาสในการไปแสดงในงานสินค้าระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

"ประเด็นที่สามวันนี้หารือร่วมกันกับเรื่องการขึ้นทะเบียนจดทะเบียนฮาลาลถือเป็นตราที่มีความสำคัญรับรองคุณภาพกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักศาสนา ได้รับแจ้งว่าขณะนี้การขอตราฮาลาลเปิดระบบออนไลน์สามารถขึ้นทะเบียนได้แล้ว" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

นักธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มใหญ่ บุกพบ “กรณ์” ขอให้ช่วย หลังถูก สสว.ฟ้องกราวรูด จากความเข้าใจไม่ตรงกันในการร่วมทุนและสัญญาที่ทำไว้กว่า 10 ปี

สมาพันธ์นักธุรกิจไทย นำโดย ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ผู้ประสานงานฯ นำคณะตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 40 ราย เข้าพบนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค และ นายภิมุข สิมะโรจน์ ที่ปรึกษาพรรค ที่ทำการพรรคกล้า ถนนรัชดาภิเษก เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยที่เข้าร่วมทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และถูกฟ้องร้อง สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ที่ให้จัดตั้งกองทุนร่วมทุนในวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งเพื่อเพิ่มบริษัทให้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้มากขึ้น โดยได้มอบหมายให้ สสว.เป็นผู้ดำเนินการ และต่อมา สสว.ได้เชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกองทุน “5,000 ล้าน หุ้นส่วนใหม่ธุรกิจไทย”

โดยแจ้งเป้าหมาย 6 ข้อ ได้แก่ 1. เป็นแหล่งระดมทุนของเอสเอ็มอี ที่ปลอดภาระดอกเบี้ยจ่าย 2. ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันใดในการระดมทุน 3.ผู้ร่วมลงทุนทุกฝ่ายมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการและรับผิดชอบร่วมกัน 4.มีระบบพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาคอยแนะนำต่าง ๆ 5. สนับสนุนด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอี เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสมรวมทั้งส่งเสริมด้านการบริหารจัดการการตลาด การบัญชี และอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ เอสเอ็มอีเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และสามารถพัฒนาตนเองระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ และ 6. อื่น ๆ เพื่อเชิญชวนให้เอกชนสนใจและเข้าร่วมลงทุน 

ผู้ประสานงานสมาพันธ์นักธุรกิจไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอี หลายรายได้เข้าร่วมกองทุนร่วมทุนดังกล่าว เนื่องจากมองวัตถุประสงค์ของการร่วมทุนเป็นโครงการที่ดี และช่วงปี 2547 ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ จึงทำให้เกิดความเดือดร้อนจำเป็นต้องมีเงินทุนเพื่อกอบกู้ธุรกิจ จึงได้เข้าร่วมทุนด้วย ต่อมาเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการของ สสว. ทำให้ไม่มีบริษัทใดเลยที่ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเหตุให้ สสว.ฟ้องดำเนินคดีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเรียกเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าพี่เลี้ยงคืน เนื่องจากผิดสัญญาร่วมลงทุน  

“การเข้าพบคุณกรณ์และคณะในวันนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือนักธุรกิจไทยที่ถูก สสว.ฟ้องร้องทั้งหมด อยากขอให้ช่วยส่งเสียงถึงท่านนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสัญญาที่ไม่ตรงกับการเชิญชวนมาร่วมทุน โดยขอให้ สสว.ยึดปฏิบัติตามนโยบายการร่วมลงทุนในกองทุน Venture Capital Fund และจัดทำระเบียบการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาท ในความบกพร่องผิดพลาดของการบริหารจัดการกองทุนฯ อย่างเร่งด่วน และสุดท้ายขอให้มีคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยยึด ข้อเท็จจริงมากกว่า ข้อกฎหมาย เพราะ หนังสือเชิญชวนให้ร่วมลงทุน กับ เงื่อนไขในสัญญา ไม่ตรงกัน และที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้อัดฉีดเม็ดเงินหลายหมื่นล้านไปที่ สสว.เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกันกับพวกตนได้ในอนาคต” ว่าที่ร้อยตรีสมชาย กล่าว 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า “ฟังแล้วเข้าใจ ปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคกล้าจะพยายามนำข้อเสนอของทางสมาพันธ์นักธุรกิจไทยในวันนี้ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้กำกับนโยบายโดยตรง ซึ่งพรรคกล้าเองมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี หรือคนตัวเล็กในภาคธุรกิจอยู่แล้ว เราอยากเห็นการเจรจาพูดคุยเพื่อจะหาทางออกร่วมกัน มากกว่า การหาทางออกด้วยการฟ้องร้องกันทางกฎหมาย”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top