Tuesday, 30 April 2024
ECONBIZ NEWS

“เทมส์” พรรคกล้าภูเก็ต ขอประชาชนเข้ารับวัคซีน ฟื้นท่องเที่ยวภูเก็ต ดัน “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” รับนักท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัว ให้เกิดขึ้นได้จริง 1 ก.ค.นี้ เสนอรัฐร่วมมือเอกชนรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญในการฉีดวัคซีน

นายเทมส์ ไกรทัศน์ สมาชิกพรรคกล้า และเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ต กล่าวหลังเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยขอให้ประชาชนมั่นใจและเข้ารับการฉีดวัคซีนช่วยกันทำให้โมเดล “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” นำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวเกิดขึ้นได้จริงในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ แต่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ตามแผนการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐตั้งไว้ที่ 100,000 โดสภายในเดือนเมษายนนี้, อีก 300,000 ในเดือนพฤษภาคม, 260,000 โดสในเดือนมิถุนายน และเดือน ก.ค. อีก 260,000 โดส รวมเป็นทั้งสิ้น 920,000 โดส จึงจะมีความมั่นใจมากพอเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว

นายเทมส์ กล่าวว่า ทราบว่าบางพื้นที่ที่ได้รับการกระจายวัคซีน แต่การฉีดวัคซีนได้ไม่ตามเป้า ซึ่งภูเก็ตจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ เพราะภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด รายได้ของภูเก็ตเกือบทั้งหมดขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว เมื่อรัฐบาลให้โอกาสภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ก็ต้องช่วยกันฟื้นการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด

ส่วนเช้าวันที่ 3 เมษายนนี้ ที่ภูเก็ตนำร่องเปิดรับเที่ยวบินจากแฟรงก์เฟิร์ต รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีผลตรวจเป็นลบ กักตัว 7 วัน ท่องเที่ยวในพื้นที่จำกัด นายเทมส์ กล่าวว่า เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลเห็นศักยภาพภูเก็ต ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นภาคเอกชนอำนวยความสะดวกสถานที่ให้ภาครัฐจัดบริการให้วัคซีนหลายพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต และดียิ่งขึ้นหากหน่วยงานรัฐ บริษัทห้างร้าน กิจการต่างๆ เร่งประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่หรือแรงงานในสังกัดเข้ารับวัคซีน เพื่อเศรษฐกิจชาวภูเก็ตจะได้กลับมาฟื้นอีกครั้ง

รุกตลาดฮาลาล ! จุรินทร์ จับมือ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เข้มพาณิชย์ 6 มาตรการประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นสินค้าฮาลาล รุกตลาดโลกเพื่อส่งออกเป็นผล

1 เมษายน 2564 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สนับสนุนโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19นั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการกระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อหารือรายละเอียดโครงการและแนวทางการดำเนินงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับนโยบายช่วยประชาชนทุกส่วนอย่างทั่วถึง ล่าสุดได้ข้อสรุปที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คือ 

1.)ให้ประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นสินค้าฮาลาลของไทยโดยแบ่งเป็นสองกลุ่มเป้าหมาย คือ องค์กรศาสนาและหน่วยงานของต่างประเทศกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ 

2.) จัดสัมมนาผู้ประกอบการไทยด้านสินค้าฮาลาลโดยเชิญผู้แทนจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับการเจาะตลาดประเทศมุสลิมอย่างถูกต้อง 

3.) จัดส่วนแสดงสินค้าฮาลาลในงานแสดงสินค้า THAIFEX-Anuga Asia ในงานปีนี้และปีต่อไปโดยเน้นโซนสินค้าฮาลาลในนิทรรศการออกมาให้ชัดเจนมากขึ้นโดยจะใช้พี่น้องมุสลิมเป็นผู้ให้ข้อมูลรายละเอียดสินค้าในส่วนจัดแสดงดังกล่าวเพื่อความน่าเชื่อถือ 

4.) จับคู่ผู้ซื้อ - ผู้ขายเจรจาการค้าสินค้าฮาลาลออนไลน์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะมีจัดกิจกรรมทั้งประเทศมุสลิมที่เป็นตลาดเป้าหมายและประเทศที่ไม่ใช่แต่มีประชากรมุสลิมเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะให้ทางคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยสามารถส่งชื่อสมาชิกและร่วมเชิญผู้ส่งออกเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศจะติดต่อผู้นำเข้ากลุ่มเป้าหมายเจรจาการค้าให้ต่อไป 

5.) สนับสนุนค่าธรรมเนียมในการรับรองฮาลาลของผู้ประกอบการส่งออกสินค้าร้านไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะได้มีการประสานข้อมูลเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมหลักเกณฑ์และให้การสนับสนุนตามระเบียบต่อไป 

6.) การจัดกิจกรรมเดินทางของคณะผู้บริหารระดับสูงเยือนและเจรจาการค้าต่างประเทศให้มีตัวแทนจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมคณะด้วย

"รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ความสนใจและใส่ใจนโยบายเป็นอย่างยิ่งจึงให้ติดตามการดูแลประชาชนตามนโยบายให้ครบทุกภาคส่วนและกำชับให้ฝ่ายราชการนั้นใส่ใจกำกับติดตามให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางนโยบาย ดังนั้น ในเรื่องความร่วมมือในการส่งเสริมตลาดสินค้าฮาลาลซึ่งเป็นนโยบายส่งออกสำคัญของกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว เป็นเป้าหมายการส่งออกที่กำหนดพันธกิจปี 2564 ด้วยหากมีผู้ใดสนใจสามารถประสานงานที่ สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ต่อไป “

มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ร่วมมือกรมขนส่งทางบกและผู้จำหน่ายรถยนต์มาสด้าทั่วประเทศ ผุดโครงการ “ตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์ 2564” ชวนลูกค้ามาสด้ามาตรวจเช็กสภาพรถฟรี 20 รายการ เริ่มวันนี้ 1 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความปลอดภัยในการเดินทางบนท้องถนนนับเป็นสิ่งที่มาสด้าตระหนัก และให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ที่ประชาชนจำเป็นต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา และใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก

"เรามีความห่วงใยและขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อยกระดับความปลอดภัยของพี่น้องชาวไทยทุกคนให้เดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ ผ่านโครงการ “ตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์ 2564” โดยมาสด้าพร้อมให้การบริการตรวจเช็กสภาพรถฟรี 20 รายการ พร้อมมอบส่วนลดและเครดิตเงินคืนกับบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ รวมถึงมอบข้อเสนอพิเศษต่างๆ มากมาย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เดินทางทุกคนได้เตรียมความพร้อมทั้งรถทั้งคนขับ เพื่อเดินทางอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์"

สำหรับรายการตรวจเช็กสภาพฟรี 20 รายการ ประกอบด้วย การตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องและความสกปรกของน้ำมันเครื่อง, ตรวจสภาพยาง, ตรวจระดับน้ำหม้อน้ำ หม้อพักน้ำ พร้อมฝาปิดหม้อน้ำ, ตรวจสภาพการทำงานของไฟส่องสว่างและไฟสัญญาณ, ตรวจสอบระบบไฟชาร์จ, ตรวจสภาพสายพานและความตึงของสายพานพร้อมปรับตั้ง, ตรวจสอบท่อยางหม้อน้ำและรอบรั่ว, ตรวจสอบน้ำมันเบรกและน้ำมันคลัตช์, ตรวจสอบคลัตช์, ตรวจสอบระดับน้ำมันกลั่นในแบตเตอรี่ ขั้วแบตเตอรี่, ตรวจระดับน้ำล้างกระจก, ตรวจสอบอุปกรณ์ปัดน้ำฝน, ตรวจสภาพการรั่วซึมของน้ำมันในห้องเครื่องยนต์, ตรวจสอบเบรก, ตรวจสอบเบรกมือ, ตรวจสอบไส้กรองอากาศ, ตรวจสอบสภาพการทำงานของเครื่องยนต์, ตรวจเข็มขัดนิรภัย, ตรวจสอบระบบส่งกำลัง ระบบบังคับเลี้ยวและระบบกรองน้ำหนัก และตรวจสอบระดับก๊าซไอเสีย

ลูกค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “ตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์ 2564” สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์โดยกดเพิ่มเพื่อนกับมาสด้าผ่านทาง Mazda Official LINE Account @MazdaThailand เพื่อรับคูปองตรวจเช็กฟรี 20 รายการ และนำมาใช้บริการได้ที่ศูนย์บริการมาสด้าทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการมาสด้าหรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่มาสด้าสปีดไลน์ 02-030-5666


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

รมว.อุตสาหกรรม ชี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 หลังพบดัชนีอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 2564 หดตัวลงเล็กน้อย 1.08% แต่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า การผลิตในอุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) และรายการพิเศษ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ขยายตัวร้อยละ 6.94 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยาง) เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ สอดรับกับตัวเลขการผลิตที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.05 เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 และอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ตามลำดับ เนื่องจากความเชื่อมั่นในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้บริการแก่ประชาชน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และโครงการเรารักกัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้อย่างหมุนเวียน รวมถึงเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภคดีขึ้น

ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 หดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 1.08 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก.พ.64 อยู่ที่ระดับร้อยละ 65.08 ลดลงจากเดือน ม.ค. 64 อยู่ที่ระดับร้อยละ 66.60 เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทำให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุม แม้ในเดือนนี้จะมีการผ่อนคลายบางส่วนแล้ว แต่ยังส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อย

นายทองชัย กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และโครงการเรารักกัน เป็นต้น อีกทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในบางพื้นที่ ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น และพร้อมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเร็วกว่าแผนเดิมจากไตรมาส 4 ขยับมาเป็นไตรมาส 3 และมีแผนนำร่องในเดือนเมษายน โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.85 จากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบมีมากกว่าปีก่อน 52.77 รวมถึงโรงงานที่ปิดหีบแล้วบางส่วนมีการละลายน้ำตาลดิบเป็นน้ำตาลทรายอย่างต่อเนื่อง

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.30 จาก ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยังมีความต้องการต่อเนื่อง

รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.97 จากรถบรรทุกปิคอัพ และเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีคำสั่งซื้อทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้ง ผู้ผลิตมีการผลิตรถรุ่นใหม่ ๆ

เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.43 จากความต้องการที่ขยายตัวในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ทั้งบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ประกอบกับปีก่อนมีผู้ผลิตหลายรายหยุดซ่อมบำรุงตามรอบการซ่อมบำรุง

เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.04 การเร่งผลิตเพื่อขายทำกำไรในช่วงที่ยังมีภาวะขาดแคลนสินค้า (Short Supply) และผลิตรองรับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ รวมทั้งความต้องการจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ (DIPROM) เร่งสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ ให้มีความพร้อมผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect)

รุ่นที่ 2 มุ่งเน้นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อขยายฐานตลาด และสร้างเครือข่าย ผลักดันการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ผ่านกลยุทธ์ในการขยายเครือข่ายผู้ประกอบการ ขยายเครือข่ายเงินทุน ขยายเครือข่ายตลาด และขยายเครือข่ายนานาชาติ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 25 ทีม ในกลุ่มอุตสาหกรรมดีพเทค เจรจาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการตลาด (Business Matching) กับบริษัทภาคเอกชนที่สนใจร่วมลงทุน (CVC) เพิ่มศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจเชิงพาณิชย์ คาดว่าเกิดการร่วมลงทุนคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ (Startup) ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2,000 ราย ให้มีทักษะทางธุรกิจเพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งพบว่าอุปสรรคของการเติบโตของสตาร์ทอัพ คือ ปัญหาด้านต้นทุนของธุรกิจ ทั้งต้นทุนในเชิงทักษะทางธุรกิจและต้นทุนในเชิงจำนวนเงิน จึงได้จัดกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup Connect

ในประเภทอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ อุตสาหกรรมดีพเทค (Deep Technology) สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพจากบริษัทเอกชนชั้นนำที่สนใจลงทุน (CVC) ในการต่อยอดธุรกิจ โดยมีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมทักษะและการพัฒนาโมเดลธุรกิจ จำนวน 25 ทีม คาดว่าจะเกิดความร่วมมือทางธุรกิจผ่านการสนับสนุนเงินทุนกว่า 500 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ใช้กลไกการเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อส่งเสริมเงินทุนและการตลาด ในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ การขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพ เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ มาบ่มเพาะให้มีความพร้อมในการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน การขยายเครือข่ายเงินทุนโดยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพและสนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะ เพื่อสร้างความมั่นใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ การขยายเครือข่ายตลาด

โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมหรือเครือข่ายนำโซลูชั่นของสตาร์ทอัพไปใช้งานจริง เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพและนวัตกรรมของไทยและการขยายเครือข่ายนานาชาติ เพื่อต่อยอดไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้น รองรับความต้องการจากต่างประเทศ

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กล่าวว่า ดีพร้อม ดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) คัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 25 ทีม จากจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 100 ทีม ดำเนินการบ่มเพาะความรู้ด้านธุรกิจอย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และจัดกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการตลาด (Business Matching) สนับสนุนให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพและสามารถต่อยอดธุรกิจในตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสในการขยายฐานตลาดไปยังต่างประเทศ

โดย ดีพร้อม มุ่งเน้นคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 4 สาขา ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดโลก ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Tech) สาขาเทคโนโลยีการแพทย์ (Medical Tech) สาขาเทคโนโลยีการเงิน (Fin Tech) และสาขาไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Tech) ซึ่งมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นวัตกรรมแพลตฟอร์มวินิจฉัยปัญหาและควบคุมระบบปรับอากาศแบบอัจฉริยะที่สามารถประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 นวัตกรรมระบบเก็บข้อมูลหมายเลขทะเบียนรถยนต์และรถบรรทุกแบบอัตโนมัติผ่านระบบ AI และกล้อง CCTV นวัตกรรมช่องทางการรับชำระเงินที่หลากหลาย (Payment Gateway)

พร้อมระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM Feature Subscription) นวัตกรรมเครื่องช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าวิธีการกายภาพบำบัดและนวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้จุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นกระแสไฟฟ้า (BioCircuit) เป็นต้น

“นวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือกและบ่มเพาะส่วนใหญ่ อยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์ม ที่เกิดขึ้นจากการกำหนดปัญหาเป็นมูลเหตุ ต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรม โดยผนวกองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย โดย ดีพร้อม พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงสู่แหล่งเงินทุนคุณภาพ เพิ่มอัตราการอยู่รอดของธุรกิจใหม่ และสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมในอนาคต” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ดี โครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจการส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการประกอบการ เป็นกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการตลาด (Business Matching) ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ The Grounds ชั้น 31 อาคาร G Tower กรุงเทพฯ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ข้าราชการได้เฮ!! ธนารักษ์ดีเดย์ เปิดจองคอนโดราคาถูก 12 จังหวัด ผ่านออนไลน์ 1 - 30 เมษายนนี้ ทีเด็ดคอนโดทำเลสุขุมวิทไม่ถึงล้าน

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์เตรียมเปิดให้จองสิทธิเข้าร่วมโครงการสวัสดิการที่พักอาศัยของข้าราชการในที่ราชพัสดุ ประจำปี 64 เพิ่มอีก 12 แปลง ผ่านทางเว็บไซต์กรมธนารักษ์ http://www.treasury.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 เม.ย. 64

โดยมีไฮไลต์เป็นคอนโดมิเนียม ในกรุงเทพมหานคร ย่านถนนสุขุมวิท 1 โครงการ อาคาร สูง 28 ชั้น จำนวน 650 ห้อง ขนาดพื้นที่ห้องพัก ประมาณ 34 ตารางเมตรต่อห้อง ราคาเริ่มต้น ชั้น 4-6 จำนวน 78 ห้อง ราคา 999,999 บาท และหลังจากนั้นราคาจะเพิ่มขึ้นตามความสูงของอาคาร ชั้น 7 - 15 จำนวน 234 ห้อง ราคา 1.25 ล้านบาท ชั้น 16 - 28 จำนวน 338 ห้อง ราคา 1,499,999 บาท

ส่วนอีกจำนวน 11 แปลง ในต่างจังหวัดประกอบด้วยพื้นที่เชียงราย นครนายก อุบลราชธานี อุดรธานี สุราษฎร์ธานี ยะลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นนทบุรี นครราชสีมา และจันทบุรี โดยเป็นอาคารพักอาศัยรวม สูง 7 ชั้น จำนวน 76 ห้อง ขนาดพื้นที่ห้องพัก 40 ตารางเมตรต่อห้อง ราคาห้องละ 999,999 บาท

นายยุทธนา กล่าวต่อว่า ในปีนี้กรมฯ ได้ขยายสิทธิการจองเข้าร่วมโครงการสวัสดิการที่พักอาศัยของข้าราชการในที่ราชพัสดุให้ข้าราชการ 14 ประเภท และข้าราชการบำนาญ รวมทั้งสามารถจองข้ามเขตสถานที่ทำงานหรือภูมิลำเนาได้ แต่ในการพิจารณาคัดเลือกจะพิจารณาผู้ที่มีสถานที่ทำงานหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ก่อน โดยผู้จองสามารถเลือกจองได้เพียง 1 ห้อง เท่านั้น และต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิในโครงการบูรณาการสวัสดิการที่พักอาศัยกับสถานที่ทำงานและศูนย์บริการของข้าราชการพลเรือนสามัญ

สำหรับขั้นตอนในการจองต้องเตรียมเอกสารในการจองสิทธิให้พร้อม อาทิ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาบัตรข้าราชการ สำเนาทะเบียนบ้าน สลิปเงินเดือน และเอกสารยินยอมให้ต้นสังกัดหักเงินเดือน ส่วนสิทธิประโยชน์จะได้รับสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุที่เป็นที่ตั้งโครงการฯ เป็นระยะเวลา 30 ปี และยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุสัญญาเช่า รวมทั้งการนำสิทธิการเช่าไปผูกพันในการกู้เงินกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/834297


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

‘คลัง’ เตรียมดันคนละครึ่งเฟส 3 คาดเริ่มใช้ มิ.ย. นี้ มั่นใจเสริมแรงเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง หลังเฟส 1 - 2 ยอดเงินหมุนในประเทศสะพัดแตะหลักแสนล้าน พลาดเป้าเล็กน้อย

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมทำคนละครึ่ง เฟส 3 คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงเดือน มิ.ย. นี้ หลังจากที่มาตรการ ‘เราชนะ’ และ ‘ม33 เรารักกัน’ สิ้นสุดลงในวันที่ 31 พ.ค. 64

ล่าสุดอยู่ระหว่างการออกแบบมาตรการให้มีความเหมาะสม รวมทั้งป้องกันการทุจริต การใช้จ่ายจากมาตรการให้รัดกุมมากขึ้น รวมทั้งพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นให้ผู้ที่มีเงินออมนำมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

ทั้งนี้ในเบื้องต้นกระทรวงการคลัง กำหนดเงื่อนไขว่า สำหรับผู้ที่ใช้จ่ายเงินในมาตรการคนละครึ่ง เฟส 2 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.นี้ไม่ทัน วงเงินที่เหลือจะไม่ถูกนำไปรวมกับมาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 ได้ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

“ในวันที่ 31 มี.ค.64 เป็นวันสุดท้ายที่ผู้ได้สิทธิจากมาตรการคนละครึ่ง ทั้งเฟส 1 และ 2 กว่า 14.8 ล้านคน จะสามารถใช้จ่าย หลังจากนั้นแม้ว่าจะมีเงินเหลืออยู่ในระบบก็จะไม่สามารถใช้จ่ายได้อีก จึงขอให้ผู้ที่ยังใช้จ่ายไม่หมดใช้จ่ายภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ ซึ่งจากข้อมูลขณะนี้มีผู้ใช้จ่ายครบวงเงิน 3,500 บาท แล้ว 7 ล้านคน และใช้จ่ายเกินกว่า 3,000 บาทแล้ว 13.47 ล้านคน”

สำหรับมาตรการคนละครึ่งในเฟส 1 - 2 มีการเตรียมงบประมาณร่วม 52,250 ล้านบาท ที่ผ่านมามีการใช้จ่าย โดยประชาชนร่วมจ่ายรวม 101,315 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้เล็กน้อยที่ 1.05 แสนล้านบาท โดยคาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในปี 64 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 63 โดยเฉลี่ย 2 ปี ที่ 0.4%


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

“สุพัฒนพงษ์” โต้! รัฐบาลมีเสถียรภาพไม่มีถังแตก ยันไม่ขึ้นภาษีจาก 7% เป็น 10 % เตรียมดันอุตสาหกรรมใหม่ 4 ประเภท เพิ่มรายได้เข้าประเทศ ตั้งเป้าปี 2573 ไทยเลิกใช้รถน้ำมันใช้รถไฟฟ้าแทน

31 มีนาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง กระแสข่าวว่ารัฐบาลกำลังถังแตกจนต้องมีการขึ้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7 % เป็น 10 % ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีสัญญาณใดๆว่ารัฐบาลถังแตก เพียงแต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้มีการรายงานเรื่องความเสี่ยงทางการซึ่งเป็นรายงานประจำปี ที่เป็นครบรอบวาระรายงานเพื่อทราบ ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรที่น่าเป็นห่วง ส่วนเรื่องข้อสังเกตุเรื่องความเสี่ยงถือเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับรายงานประจำปีของบริษัทมหาชนทั่วไป ที่ปรากฎถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ในเรื่องการใช้เงินในช่วงวิกฤตโควิด-19 และพูดถึงรายได้ในการจัดเก็บภาษีในช่วงที่ผ่านมา 

ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงว่ามีการจัดเก็บรายได้ลดน้อยลง เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2564 จะมีการฟื้นฟู โดยในรายงานมีการประเมินความเสี่ยงที่คิดเป็นตัวเลข 2.47 ถือเป็นระดับความเสี่ยงไม่สูงมาก และในเชื่อว่าในอีก 2 ปี สถานการณ์ความเสี่ยงในเรื่องวิกฤตการเงินการคลังของประเทศไทยจะไม่มีเกิดขึ้น ตนไม่เข้าใจว่ามีความกังวลในเรื่องนี้เกิดขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงการปรับขึ้นการจัดเก็บภาษีเป็น 10 % ว่า ยืนยันว่าในระยะเวลา 2 ปี เรื่องขึ้นภาษีในเร็ว ๆ นี้ยังไม่มี ไม่ได้มีการพูด ไม่มีข้อเสนอแนะใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่สิ่งที่ ที่ประชุม ครม. เป็นห่วงคือจำนวนประชาชนที่มีอยู่ในระบบภาษียังมีจำนวนน้อย อยากให้กระทวงการคลังไปศึกษาโครงสร้างระบบภาษีให้ประชาชนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้นและรู้ว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ ช่วยเหลือประเทศ และเงินเหล่านั้นกลับมาทำประโยชน์อย่างไร ซึ่งตนก็ยังแปลกใจที่มีข่าวเรื่องขึ้นภาษีและรัฐบาลถังแตกออกมาซึ่งไม่มีสัญญาณใด ๆ ทั้งสิ้น 

ขณะเดียวกัน นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึง ในการหาเงินเข้าประเทศไทยจะต้องมีการปรับตัว อุตสากรรมใหม่ 4 ประเภทที่จะเป็นโอกาสเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในประเทศ และจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการรับนักท่องเที่ยว ได้แก่

1.) อุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถน้ำมัน โดยตั้งเป้าในปี 2573 - 2578 ตั้งเป้าประเทศจะเลิกใช้รถประเภทน้ำมันโดยจะใช้รถไฟฟ้าแทน

2.) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่จะปรับเปลี่ยนเป็นอิเล็กทรอนิกส์อัฉริยะ

3.) เมดิคอลฮับ ที่ไทยเก่งในเรื่องการรักษาพยาบาลแต่ยังไม่สามารถผลิตยาได้ จึงต้องทำให้เป็นศูนย์กลาง

4.) อุตสาหกรรมดิจิตอล ที่ไทยเพิ่งเริ่มโดยจะต้องเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุน

“จุรินทร์” จัดทัพลุยจีน เน้นไห่หนานเป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ หลังจีนฟื้นตัวจากโควิด "สั่งงาน" พาณิชย์ จับมือ สมาคมการค้าไทย - ไห่หนาน เดินหน้า เศรษฐกิจมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่อง

31 มีนาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสมาคมการค้าไทย-ไห่หนาน จัดกิจกรรมการบุกตลาดจีน “พาณิชย์บุกตลาดจีน เชื่อมโยงตลาดศักยภาพ (ไทย - ไห่หนาน)” ภายใต้โครงการผลักดันการค้าระหว่างประเทศพันธมิตร (Strategic Partnership) ในตลาดจีน โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อเร่งผลักดันการส่งออกไปตลาดจีน เน้นธุรกิจอาหารและบริการ หลังเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มสดใส ฟื้นตัวจากโควิด หวังใช้ มินิเอฟทีเอ (Mini - FTA) เชื่อมจีนรายมณฑล 

งานนี้มีนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน นายนที เมฆรุ่งโรจน์ นายกสมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมการค้าไทยไหหลำและคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมทีห้องสัมมนา 4 (Auditorium) สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ถนนรัชดาภิเษก)พร้อมสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประจำประเทศจีนและพาณิชย์จังหวัดเป้าหมายเข้าร่วม ผ่านระบบออนไลน์

นายจุรินทร์ เปิดงานและกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “นโยบายการค้าสู่ตลาดจีน ในยุค New Normal” ในงานกิจกรรมการบุกตลาดจีนฯ “พาณิชย์บุกตลาดจีน เช่ือมโยงตลาดศักยภาพ (ไทย - ไห่หนาน) หลังจากนั้นนายจุรินทร์ กล่าวว่าสำหรับมินิเอฟทีเอระหว่างไทยกับมณฑลไห่หนานหรือไหหลำของจีน มีการดำเนินการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบรายละเอียดระหว่างไทยกับจีน ฝ่ายไทยนั้นเสร็จสิ้นแล้วรอฝ่ายจีนซึ่งต้องมีกระบวนการตรวจสอบรายละเอียดในระดับประเทศและระดับมณฑลคาดว่าปลายเดือนเมษายนนี้ จะมีการลงนามได้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการค้าหรือประเทศที่เรามีมินิเอฟทีเอเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกคาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไหหลำมากขึ้น 

ปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้าไทยส่งออกไปไหหลำประมาณ 7,000 ล้านบาท เชื่อว่าตัวเลขจะมากขึ้นเพราะไหหลำจะได้รับการพัฒนาเป็นฟรีพอร์ต เป็นฮ่องกง 2 ถือเป็นโอกาสดีที่สุดและเรามองเห็นตั้งแต่ท่านสีจิ้นผิง ประกาศนโยบายแล้ว เราถึงเข้าไปทำมินิเอฟทีเอด้วยกัน และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนทั้งสมาคมการค้าไทยไหหลำก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมูลค่าการค้าปีที่แล้วระหว่างไทยกับจีน บวก 4.4% คาดว่าปี 64 จะมากกว่านั้นเพราะเศรษฐกิจจีนถือว่าฟื้นตัวเร็วที่สุดในโลกและไทยมีความสำคัญทางการค้าที่ดีกับจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทยต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 8 แล้ว

" นอกจากไทย - ไห่หนานแล้วจะยังมีมินิเอฟทีเอ ไทยกับรัฐเตลังกานาของอินเดีย รัฐนี้เป็นรัฐที่จะมีการพัฒนาไปเป็นเมืองเฟอร์นิเจอร์ มีเฟอร์นิเจอร์ปาร์ค เกิดขึ้นที่ไฮเดอราบัด เป็นโอกาสทองของการส่งออกไม้ยางไทยที่จะนำไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือส่งออกไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป และจะทำกับเมืองไทฟูของญี่ปุ่นที่เป็นเมืองอัญมณี หวังว่าจะช่วยให้การส่งอัญมณีเครื่องประดับของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และเมืองคย็องกีของเกาหลี ซึ่งมีกลุ่มชาวเอเชียอยู่จำนวนมากหวังว่าจะช่วยเพิ่มตัวเลขการส่งออกอาหารด้วย เชื่อว่าปีนี้น่าจะจบได้ทั้งหมด ผมคิดว่าเอฟทีเอในภาพรวมอย่างเดียวไม่พอ เราต้องลงลึกในระดับมณฑลในระดับรัฐต่อรัฐ โดยเฉพาะในประเทศที่มีรัฐขนาดใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3.5 - 4% และมีความเป็นได้เป็นไปได้ที่จะถึงเป้าหรือเกินเป้าถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วและวัคซีนกระจายไปได้เร็วทั้งโลกในภาพรวม" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

​รายงานข่าว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุด้วยว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งรัดการสร้างความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเจรจารายมณฑล/รัฐ/เมือง กับประเทศพันธมิตรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่มีแผนความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าเพื่อขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร (Joint Economic and Trade Committee : JETCO) ​จีนในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอด 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 (ค.ศ. 2013)  ประกอบกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่จะเสริมสร้างศักยภาพให้แต่ละมณฑลมีความแข็งแกร่ง โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของแต่ละมณฑล โดยเฉพาะในเชิงภูมิศาสตร์

​ไห่หนาน เป็นมณฑลที่เล็กที่สุด ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area : GBA) และเชื่อมโยงมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงภูมิภาคตามเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ปัจจุบัน ไห่หนานได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่งในการพัฒนาให้ก้าวสู่เขตการค้าเสรีระดับโลกในปี 2593 ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นระหว่างไทยกับมณฑลไห่หนานจะเป็นโอกาสในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย

ด้วยศักยภาพและความสำคัญของมณฑลไห่หนาน การเร่งสร้างความร่วมมือทางการค้าในเวทีระดับมณฑลระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับมณฑลไห่หนานจึงเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญของรัฐในการส่งเสริมโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจกับจีนผ่านมณฑลไห่หนาน ควบคู่กับการใช้ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในเชิงชาติพันธุ์ของภาคเอกชน สำหรับโอกาสของสินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดไห่หนาน ได้แก่ สินค้าเกษตร / เกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารสำเร็จรูป ของใช้ตกแต่งบ้าน สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ตลอดจนธุรกิจบริการด้านการเงิน เป็นต้น

การค้าระหว่างไทย – จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.21 ของการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยปี 2563 ไทย – จีนมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 2.5 ล้านล้านบาท (79,606 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไทยส่งออกไปยังจีนมูลค่า 9.2 แสนล้านบาท (29,530 ล้านเหรียญสหรัฐ) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ และเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ไทยนำเข้าจากจีนมีมูลค่ามากถึง 1.5 ล้านล้านบาท (49,852 ล้านเหรียญสหรัฐ) สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

นายกฯ หารือเอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานฯ กระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการค้า การลงทุน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี (H.E. Mr. Issa Abdullah Jaber Al-Alawi) เอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับและยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความใกล้ชิด ครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต 40 ปี เมื่อปี 2563 พร้อมเชื่อมั่นว่าเอกอัครราชทูตฯ จะสามารถสืบสานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ตลอดจนผลักดันให้เกิดความร่วมมือในสาขาที่ไทยกับโอมานมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ด้านยางพารา ด้านอาหารฮาลาล ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านสาธารณสุข โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังยินดีที่ทราบว่า เอกอัครราชทูตฯ มีประสบการณ์การทำงานด้านสาธารณสุขจึงหวังว่าจะเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น 

ด้านเอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานฯ กล่าวว่า ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ดำรงตำแหน่งในประเทศไทย พร้อมยืนยันที่จะสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ไทยและโอมานมีร่วมกันในทุกมิติ ทั้งนี้ ไทยและโอมานเป็นมิตรประเทศที่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายมีพลวัต และครอบคลุมในทุกด้าน ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ หวังว่าไทยและโอมานจะใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีร่วมกันนำไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลงทางด้านสาธารณสุข ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์ โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางการปฏิบัติร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

ทั้งสองฝ่าย หารือถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างเห็นพ้องว่า ไทยและโอมานต่างเป็นพันธมิตรด้านการค้าและการลงทุนที่สำคัญของกันและกัน จึงควรใช้ความสัมพันธ์อันดีนี้ ผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเพิ่มมูลค่าการค้า และการลงทุนระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพของทำเลที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยและโอมาน ซึ่งมีชายฝั่งติดกับอ่าวอาหรับและมหาสมุทรอินเดีย เป็นช่องทางให้ทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงตลาดที่กว้างมากขึ้น ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้โอมานเข้ามาลงทุนในสาขาต่าง ๆ ที่มีความสนใจ ทั้งทางด้านเกษตรกรรมประมง 

รวมถึงการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ด้านเอกอัครราชทูตฯ ยินดีส่งเสริมให้นักลงทุนโอมานเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นเช่นกัน พร้อมกันนี้ได้หารือเรื่องการจัดตั้งตลาดที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ของไทยในโอมาน เนื่องจากชาวโอมานจำนวนมากชื่นชอบผลิตภัณฑ์ของไทย และจะเป็นช่องทางเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายให้มากยิ่งขึ้น สำหรับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยเป็นเป้าหมายที่สำคัญของชาวโอมานในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยกำลังพิจารณาปรับลดจำนวนวันในการกักตัวจากเดิม 14 วัน เหลือ 10 วัน และผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศสำหรับบุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จึงพร้อมสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวชาวโอมานเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง ด้านเอกอัครราชทูตฯ ยินดีกระชับความร่ววมือทางด้านการท่องเที่ยวกับไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top